ชิติพัทธ์ แทนกลาง : แชมป์ไทยลีก 5 สมัย ผู้เอาชนะความ “เกลียดชัง” ด้วย “ความรัก”

ชิติพัทธ์ แทนกลาง : แชมป์ไทยลีก 5 สมัย ผู้เอาชนะความ “เกลียดชัง” ด้วย “ความรัก”

ชิติพัทธ์ แทนกลาง : แชมป์ไทยลีก 5 สมัย ผู้เอาชนะความ “เกลียดชัง” ด้วย “ความรัก”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากความเกลียดชังคือสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับความรัก… ถ้าอย่างนั้น คุณต้องมีความรักในสิ่งที่ทำ มากขนาดไหน จึงจะสามารถเอาชนะใจคนที่อคติ ต่อตัวคุณได้

“CT14” ฉายาของนักฟุตบอลไทยลีกคนหนึ่ง ที่ถูกวิจารณ์ ตำหนิ มากสุดตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่ลงเล่นให้กับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด

เขามองถูกว่าเป็นเพียงแกะดำของทีมฟุตบอล ที่เต็มไปด้วยความสมบูรณ์แบบ ในทุกๆขุมกำลัง และมีคำครหามากมายเกี่ยวกับฝีเท้าของเขาตลอด 6 ฤดูกาลที่ค้าแข้งให้สโมสรแห่งนี้


“16 แชมป์” คือถ้วยรางวัลที่ ชิติพัทธ์ แทนกลาง มีส่วนร่วมในความสำเร็จกับทีมปราสาทสายฟ้า มาตลอด แชมป์ทุกรายการในประเทศเขากวาดมาหมดแล้ว แต่อย่างที่กล่าวไป เขาอยู่ตรงข้ามกับความรักของแฟนบอล ในการตกเป็นเป้าโจมตีด้วยความเกลียดชัง หรือความรู้สึกไม่พอใจจากแฟนๆ ยามเห็นเขาลงสนาม

ที่น่าสนใจก็คือ ปีแล้วปีเล่า ที่เขาโดนกระแสวิจารณ์จากผู้คนในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก เรากลับไม่เห็นแม้แต่ครั้งเดียวที่เจ้าตัวจะเลือกตอบโต้แฟนบอล ในยุคที่นักเตะหลายคนเลือกที่จะฆ่าตัวตายบนโลกออนไลน์ อย่างไม่ทันยั้งคิด

ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องราวความคิด ตัวตนของเขา แทบไม่เคยถูกนำเสนอผ่านบทสัมภาษณ์ยาว จากที่ไหนเลย ทำให้เราไม่อาจแน่ใจได้เลย ที่เขาไม่ตอบโต้คอมเมนท์ เป็นเพราะเขาไม่คิด หรือเขาคิดแต่เลือกจะไม่ทำกันแน่

a2
“ผมไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองต้องไปตอบคำถาม หรืออธิบายกับสังคมว่าผมเป็นอย่างไร เมื่อไหร่ก็ตามที่ผลงานออกมาดี ผู้คนจะให้การยอมรับไปเอง แต่ไม่ใช่ว่าผมเล่นดี เพื่ออยากจะเอาชนะคำพูดของใคร หรือต้องการบอกสังคมว่า สิ่งที่คุณพูดกันน่ะมันผิด?”

“ผมแค่ทำในสิ่งที่ผมรัก ผมไม่ใช่นักฟุตบอลแบบที่ ต้องมีคนมาด่าก่อน ถึงจะตั้งใจเล่นให้ดี” คำตอบของเขาทำให้เรามองเห็นอะไรบางอย่างในตัวของเด็กหนุ่มคนนี้ โดยเฉพาะแพชชั่น (Passion) ความรักที่มีต่อฟุตบอล ที่เขาไม่เคยบอกที่ไหนมาบอก

ที่ไม่ว่าคุณจะเกลียดหรือรัก CT14 เราก็อยากเชิญชวนให้อ่านจนถึงบรรทัดสุดท้ายของบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

a3
ครั้งแรกที่ได้ยินเสียงวิจารณ์เรื่องฟอร์มการเล่นของคุณ เกิดขึ้นเมื่อไหร่
ผมเป็นคนที่ไม่ชอบเล่นโซเชียลมาตั้งแต่เด็กแล้ว ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจุดเริ่มต้น (ที่โดนวิจารณ์) มันเกิดขึ้นตั้งแต่ปีไหน แต่ก็ได้ยินมาเรื่อยๆ ไม่ได้รู้ด้วยว่าช่วงไหนโดนโจมตีหนักๆ เพราะผมชอบอ่านหนังสือ ดูทีวี มากกว่า

ย้อนเวลากลับไปวันที่เริ่มต้นอยากเล่น ฟุตบอล ตอนนั้นคิดอะไรอยู่
เริ่มจากครอบครัวก่อนครับ คุณพ่อชอบฟุตบอลตั้งแต่ผมจำความได้ ผมก็คลุกคลีอยู่กับตรงนี้มาตั้งแต่ยังเล็กๆ เหมือนเป็นรักแรกของเรา ต่อมามันกลายเป็นความสนุก ที่เราได้ออกไปเตะบอลกับเพื่อน ไปเจอประสบการณ์หลายๆอย่าง จนทำให้ผมเริ่มรักในกีฬาฟุตบอล

b2
ผมก็เตะเล่นกับเพื่อนมาตั้งแต่ ป.2-ป.3 ไม่ได้รู้สึกว่าฟุตบอลเป็นเรื่องที่ยากหรือง่าย แค่รู้สึกว่าเป็นกีฬาที่ผมรัก และอยากจะเล่นทุกวันมากกว่า เปรียบกับการเรียนหนังสือ ถ้าวิชาไหนที่เราชอบ เราก็อยากจะเข้าเรียน วิชาไหนเราไม่ชอบ เราก็จะไม่ตั้งใจเรียน

ฟุตบอลเป็นผมสิ่งที่ชอบ และไม่ได้มองว่าวันนี้ผมเก่งแค่นี้ พรุ่งนี้ต้องเก่งกว่าเพื่อนคนอื่น ไม่ใช่เลย แค่อยากเตะบอลกับทุกๆคนแค่นั้นเอง ไม่ได้คิดว่าตัวเองต้องเหนือกว่าใคร ก็เล่นอยู่เรื่อยๆ จนได้มาเรียนที่โรงเรียนกีฬา และย้ายไปอยู่ที่สวนกุหลาบฯ

b3
ได้เรียนรู้อะไรจากการได้เป็นนักฟุตบอล โรงเรียนสวนกุหลาบฯ ที่มีชื่อเสียงด้านฟุตบอล
ผมได้อะไรหลายอย่างมาก ไม่ใช่เรื่องฟุตบอล แต่ยังเป็นเรื่องสังคม ความเป็นอยู่ มีผู้ใหญ่คอยสอนคอยบอกเรา เพื่อนก็จะเป็นอีกอารมณ์หนึ่ง ไม่เหมือนตอนอยู่โรงเรียนกีฬาที่เจอแต่นักกีฬาด้วยกัน แต่ที่นี่เรามีเพื่อนหลากหลายมาก บางคนเป็นเด็กเรียนจริงจัง เราก็ได้เข้าใจว่าในสังคม มีคนใช้ชีวิตหลากหลายแบบ

ถ้าในเรื่องฟุตบอล ผมยังรู้สึกเหมือนเดิมว่า ผมโอเคที่จะได้ฝึกซ้อม ได้เล่นฟุตบอลทุกวัน ได้พัฒนาฝีเท้าตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้ตั้งเงื่อนไขว่ามันยากหรือง่าย แค่อยากทำ เพราะเรารักมัน แค่นั้นพอ

b4
แต่ความรัก ก็พาคุณมาเจอโอกาสครั้งสำคัญที่จะได้เซ็นสัญญากับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด
ช่วงนั้นมีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้น ผมเล่นฟุตบอลกรมพละฯ ปีสุดท้าย ทีมเราได้แชมป์ถ้วย ก. ก็เลยได้ข้อเสนอจากสองทีม คือ บีอีซี เทโรฯ กับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด

ตอนนั้น พี่เน (เนวิน ชิดชอบ) ผมขออนุญาตเรียกพี่เน แล้วกัน เพราะว่าท่านเป็นรุ่นพี่ผมที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ก็ชักชวนให้ผมไปอยู่ด้วย ร่วมกับเพื่อนๆชุดนั้นที่คว้าแชมป์มาด้วยกัน ผมเห็นว่ามีเพื่อนตามมาด้วยเยอะ เลยตัดสินใจไม่ยากที่จะย้ายมาอยู่ในแคมป์ของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เป็นอคาเดมีรุ่นแรก

b9
ด้วยความที่ผมอยู่กรุงเทพฯ มานาน วันแรกที่มาอยู่ที่ จ.บุรีรัมย์ ผมค่อนข้างประหลาดใจ เพราะว่าที่นี่ เวลาทุ่มหนึ่งเมืองเงียบกริบ ทุกบ้านปิดไฟนอนหมด เราก็งงๆว่า อ้าว เขานอนกันแล้วเหรอเวลานี้? พ่อกับแม่ก็โทรมาถามว่า เป็นอย่างไรบ้าง อยู่ได้ไหม?

แต่ผมก็ไม่ได้รู้สึกคิดถึงกรุงเทพฯนะ ผมเคยผ่านการอยู่โรงเรียนประจำมาแล้ว ที่เช้าตื่นไปเรียน เย็นซ้อมบอล กินนอนอยู่ในโรงเรียน

อีกอย่างสิ่งอยู่ที่ตรงหน้าผม  คือประสบการณ์ ที่ผมสนุกไปกับมัน ได้เรียนรู้ว่าฟุตบอลอาชีพ เขาทำอะไรบ้าง ได้มาเห็นอะไรที่ไม่เคยเจอมาก่อนในบอลนักเรียน บวกกับมีเพื่อนที่มาด้วยกัน เลยไม่มีปัญหาอะไร ผมอยู่ได้

c1
ย้อนกลับไปตอนอายุ 18 คิดว่าเป็นการตัดสินใจที่เสี่ยงไหม ที่เลือกไม่เรียนต่อระดับปริญญาตรี เพื่อเลือกเดินในเส้นทางนักฟุตบอล ที่ไม่มีทางรู้เลยว่าตัวเองจะไปถึงจุดไหน
ตั้งแต่เด็กแล้ว ที่บ้านไม่เคยชี้นำให้ผมเดินไปทางไหน ถ้าสิ่งไหนที่ผมอยากทำ และไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิด ครอบครัวพร้อมที่จะสนับสนุน ไม่ได้กีดขวางอยู่แล้ว ผมจึงไม่รู้สึกว่ากำลังตกอยู่ในความเสี่ยงหากเลือกเดินเส้นทางนี้

เพราะผมเคยถามตัวเองเหมือนกันว่า ถ้าเลือกระหว่างไปเรียนหนังสือทุกวัน กับเตะบอลทุกวัน จะเลือกอะไร? คำตอบของผมมีอย่างเดียวคือ ฟุตบอล ผมขอเตะบอลทุกวันดีกว่าไปนั่งเรียนทุกวันแข่งกับคนอื่น

c2
พอเปลี่ยนจาก นักฟุตบอลโรงเรียน มาเป็นฟุตบอลอาชีพ รู้สึกมันยากขึ้นมากไหม สำหรับเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง
มันเป็นช่วงเวลาที่เราได้เรียนรู้ว่า กว่าจะก้าวมาขึ้นเป็นนักฟุตบอลอาชีพ จริงๆ คุณต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง ซึ่งมันแตกต่างกับนักฟุตบอลโรงเรียนที่เช้าไปเรียน เย็นซ้อมบอล

พอเป็นนักฟุตบอลอาชีพ คุณต้องรู้ว่ากำลังทำอะไร อยากพัฒนาตัวเองด้านไหนบ้าง และต้องดูแลตัวเองตั้งแต่เช้ายันเย็น ไม่ใช่แค่ในสนามอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงนอกสนามด้วย ผมไม่ได้คิดว่ามันยากหรือง่ายนะ ในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ขึ้นชื่อว่าชีวิตมันยากหมดแหละ ไม่ใช่แค่ฟุตบอล

c3
เพราะในแต่ละวัน ทุกคนเจออุปสรรคไม่เหมือนกัน ทุกคนมีอาชีพ ทุกคนทำงาน ทุกคนรู้อยู่ว่า ทุกอย่างในชีวิตที่ผ่านเข้ามาไม่ได้มีอะไรได้มาง่ายๆหรอก คนจะบอกว่าเป็นนักฟุตบอลสบาย ก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเขาไม่ได้รู้ว่ากว่าที่จะสบาย เราผ่านความลำบากมาก่อนหรือเปล่า

ตราบใดที่ยังหายใจผมว่าคนเราก็หนีไม่พ้นอุปสรรค ความยากลำบากหรอก เราผ่านอุปสรรควันนี้ไป วันพรุ่งนี้ตื่นมา มันก็จะมีอุปสรรคใหม่เข้ามา เรามีหน้าที่แค่ต้องก้าวข้ามผ่านมันไปให้ได้ ต่อให้เลิกเล่นฟุตบอลไปแล้ว เราก็ต้องก้าวข้ามผ่านการใช้ชีวิตที่เราอยากจะได้ อยากจะเป็นไปอีก  

c4
ดังนั้นทุกอาชีพมีความยากหมดแหละ ต้องผ่านช่วงเวลาและการสั่งสมประสบการณ์หลายๆอย่าง แต่ถ้าหัวใจเรายังรักในสิ่งที่ทำอยู่ ก็แค่ต้องพยายามทำต่อไปให้ดีที่สุด แค่นั้นเอง ผมคิดแบบนี้นะ

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า คุณไม่มีพรสวรรค์ และต้องพยายามฝึกซ้อมให้มากกว่าคนอื่น เพื่อแย่งชิงโอกาสตัวจริง การไม่มีพรสวรรค์เป็นอุปสรรคสำหรับการเล่นฟุตบอลมากแค่ไหน
พรสวรรค์เป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด ซึ่งแต่ละคนมีไม่เท่ากัน และไม่มีใครสามารถกำหนดได้ แต่พรแสวงเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถกำหนดได้ คนเรามีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน อยู่ที่ว่าคุณจะใช้เวลาอย่างไร เพื่อทำให้ได้มากกว่าเขา ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความอดทน พยายาม และเวลา

chittaz
คุณทำใจยอมรับได้ว่า ตัวเองมีต้นทุนไม่เท่าคนอื่น?
ผมไม่ได้ทำใจยอมรับ ผมแค่พยายามทำในสิ่งที่ตัวเองรักให้ดีที่สุด คุณแค่ต้องรู้ว่าเป้าหมายของตัวเองคืออะไร ต้องทำอย่างไรถึงจะไปตรงนั้น ต่อให้ไปไม่ถึง เราก็ยังมีความสุขที่ได้ทำ

รับมือกับความคาดหวัง และแรงกดดัน ภายใต้การอยู่สโมสรใหญ่อย่างไร
ผมมองว่าทุกคนในสโมสร ไม่ใช่แค่นักฟุตบอล รวมถึงผู้บริหาร ทีมสต๊าฟฟ์โค้ช ทุกฝ่ายมองไปยังเป้าหมายเดียวกัน คือ ต้องการเป็นแชมป์ทุกรายการ อย่างซีซั่นที่ผ่านมา เราได้แชมป์ไทยลีกก่อนจบฤดูกาล แต่ทีมเรายังมีจุดมุ่งหมายต่อไป ในการทำลายสถิติคะแนนของปีที่แล้ว

d1
บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ไม่เคยหยุดลิมิตของตัวเอง สมมุติเรามีลิมิตแค่นี้ เราก็จะพยายามไปให้ไกลกว่าขีดจำกัดของตัวเอง มันทำให้นักฟุตบอลทุกคนในทีม ไปในทิศทางเดียวกัน คือ พยายามพัฒนาตัวเอง เพื่อก้าวข้ามลิมิตของตัวเอง เพื่อช่วยเหลือทีมให้บรรลุเป้าหมาย

ไม่ใช่แค่ผมคนเดียวที่เจอกับแรงกดดัน นักฟุตบอลทุกคนต่างเจอกับแรงกดดัน ความคาดหวังที่ไม่น้อยไปกว่ากัน พอลงไปในสนาม แค่มองตากันทุกคนก็รู้แล้วว่า เราต้องช่วยกัน เพื่อผ่านมันไปให้ได้

อย่างพี่แชมป์ ศิวรักษ์ (เทศสูงเนิน) เขาอาจจะไม่ได้ถูกวิจารณ์แบบผม แต่เขาก็ต้องเจอแรงกดดันที่มากกว่าผมอีก เขาบอกผมว่า “พี่ไปสนามไหน โดนแฟนบอลตะโกนด่าตลอด” ด้วยตำแหน่งที่เขาเล่นเป็นด่านสุดท้าย ถ้าพลาดก็เสียประตู เขาจึงสอนให้ผมโฟกัสในสนามอย่างเดียว มีสมาธิกับเกม อย่าไปสนใจเรื่องนอกสนาม

ผมมองว่าสังคมเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาคน สังคมบุรีรัมย์ เป็นสังคมที่ทำให้ทุกคนพยายามเอาชนะขีดจำกัดของตัวเอง และสร้างความท้าทาย จุดมุ่งหมายใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ จะไม่มีการอยู่กับที่ แล้วบอกว่า ฉันพอใจนะ

ในความพยายามของคุณยามลงเล่น บางครั้งอาจไม่เข้าตาคนดูบ้าง จนนำมาซึ่งเสียงวิจารณ์ คุณจัดการกับฟีดแบ็กเหล่านี้อย่างไร
ผมก็เข้าใจนะว่า เหมือนเราเชียร์ทีมหนึ่ง เราก็อยากเห็นทีมนั้นชนะ อยากเห็นทีมประสบความสำเร็จ อย่างที่ผมบอก ผมแค่ทำในสิ่งที่ผมรัก และพยายามจะทำให้มันดีที่สุด แต่ในเกมฟุตบอลบางครั้ง มันก็ไม่สามารถเป็นไปได้อย่างที่ทุกคนคาดหวังเสมอไป

คนดูอาจจะคิดว่าเป็นทีมใหญ่ต้องชนะทีมเล็กตลอด ผมว่าไม่ใช่หรอก เพราะฟุตบอลเล่น 11 คนเท่ากันในสนาม อะไรก็เกิดขึ้นได้ ถึงทีมใหญ่จะมีผู้เล่นที่ดีกว่า แต่อย่าลืมว่าคนเรามีหัวใจดวงเดียวเท่ากัน ทุกคนที่ลงสนามต่างสู้เพื่อทีมของเขา ทุกคนก็อยากจะเอาชนะให้ได้
การจะเอาชนะคู่แข่ง ไม่ได้อยู่แค่เรื่องฝีเท้าอย่างเดียว แต่บางครั้งอยู่ที่จิตใจด้วยว่า ใครมีความอยากเอาชนะมากกว่ากัน ในสถานการณ์ตอนนั้น

d3
คำวิจารณ์เคยทำให้เรารู้สึกแย่ไหม
สิ่งเดียวที่ทำให้ผมรู้สึกแย่ ในการเล่นฟุตบอลอาชีพ คืออาการบาดเจ็บ ผมเชื่อว่าทุกคนเคยผ่านการโดนวิจารณ์มาไม่มากก็น้อย เรื่องเสียงวิจารณ์เป็นเรื่องที่ผมเข้าใจได้นะ เขาเชียร์บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เพราะเขาอยากเห็นทีมชนะ พอทีมไม่ชนะ เขาก็เสียใจ เป็นเรื่องปกติที่เขาจะวิจารณ์ผม เพราะผมเป็นคนทำผลงานออกมาไม่ดี

แต่นั่นไม่ได้ทำให้เราท้อนะ สิ่งที่ทำให้นักกีฬาท้อได้มากที่สุดคือ อาการบาดเจ็บ ยิ่งบาดเจ็บหนักมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้รู้สึกว่าตัวเองจะกลับมาได้ยากขึ้นมากเท่านั้น

มันเป็นเรื่องนอกสนามล้วนๆ เพราะในสนาม เราไม่ต่างอะไรกับนักแสดงหรอก ที่คนดูจะสนใจแค่หน้าฉากว่าเราเล่นดีหรือไม่ดีเท่านั้น เขาไม่ได้มาดูว่าหลังฉากเราพยายามมากแค่ไหน เพื่อให้ได้มาซึ่งโอกาส

อาการบาดเจ็บทำให้คุณรู้สึกแย่ขนาดไหน
นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้รับบาดเจ็บหนักๆ จนต้องผ่าตัดหัวเข่า หนักจนเคยคิดว่าตัวเองจะกลับมาเดินใช้ชีวิตปกติได้หรือไม่?

ผมไม่เคยผ่าตัดมาก่อน ก็ไม่รู้ว่าความรู้สึกของคนที่ต้องผ่านการผ่าตัดเป็นอย่างไร จนได้มาเจอกับตัวเอง วันแรกหลังการผ่าตัด ผมรู้สึกเหมือนขาข้างนี้ไม่ใช่ของเรา เราบังคับมันไม่ได้ เราไม่มีความรู้สึกกับขาเลย ต้องมาเริ่มตั้งแต่การฝึกหัดยกขา งอขา ซึ่งในช่วงอาทิตย์แรก ผมทำอะไรง่ายๆแค่นี้ยังไม่ได้เลย

ก็วิตกเหมือนกันว่า ถ้าวันหนึ่งเราไม่สามารถเดินได้ แบบที่ตัวเองเคยเดิน มันคงเป็นอะไรที่รู้สึกแย่แน่ๆ เราจะเตะบอลไม่ได้อีกแล้วเหรอ? เป็นช่วงเวลาที่จิตใจแย่พอสมควร

d6
ถือเป็นช่วงเวลาที่คุณห่างกับฟุตบอลมากสุดไหม ตั้งแต่เริ่มเล่นมา
ใช่ๆ ครั้งนี้แหละที่ผมห่างกับฟุตบอลมากสุด ประมาณ 4-5 เดือน ทำกายภาพอย่างเดียว เริ่มจากงอขา ยกขา ขาเราจะต้องวางไว้สูงตลอด ผมต้องทำกายภาพฝึกยืดเข่า งอเข่าให้สุด มันก็เจ็บทุกครั้งที่ไป แต่ต้องไป เพราะหมอบอกว่าถ้าไม่ฝึกไว้ มันจะล็อก และทำให้เราไม่สามารถงอหรือยืดได้สุด

ช่วงที่บาดเจ็บนานๆ มันน่าเบื่อ วันๆเราไม่รู้จะทำอะไร เมื่อก่อนตื่นเช้าไปยิมบ้าง ไปฟิตเนส ตกเย็นมาซ้อมกับเพื่อนร่วมทีม พอช่วงเวลานี้ขาดหายไป มันก็เหงาๆ ทำได้แค่ นั่งๆ นอนๆ ดูทีวี เพื่อรอเวลาตอนเย็นที่จะไปดูเพื่อนร่วมทีมซ้อม ถึงผมจะไม่สามารถลงไปเล่นกับเขาได้ แต่แค่นั่งดูเพื่อนซ้อม ก็รู้สึกมีความสุข เหมือนเป็นส่วนหนึ่งที่ชีวิตขาดไม่ได้

นอกนั้นเรื่องความฟิตผมใช้เวลาไม่นาน ก็สามารถทำให้ตัวเองกลับมาสมบูรณ์ได้ ผมว่าส่วนสำคัญคือเรื่องความรู้สึกในการเล่นฟุตบอลต่างหากที่ต้องใช้เวลา เรียกความรู้สึกนั้นกลับมา ทั้งเรื่องการอ่านเกม เรื่องสภาพจิตใจ จังหวะฟุตบอล พอได้กลับมาลงสนามในช่วงเลกสอง ก็รู้สึกตื่นเต้นดี เพราะว่าเราหายไปนานจากสนาม

ตำแหน่งที่เล่น (เซนเตอร์แบ็ก ตัวสต็อปเปอร์) เป็นตำแหน่งที่มีความเสี่ยงบาดเจ็บง่ายมาก เพราะว่าเป็นด่านแรกในการเข้าปะทะ และสกัดกั้นเกมรุกของฝ่ายตรงข้าม  ถามจริงคุณไม่กลัวเจ็บ หรือจริงๆแล้วก็กลัว?
(หัวเราะ) ผมเป็นนักฟุตบอลสไตล์ที่ชอบเข้าปะทะอยู่แล้ว ด้วยสไตล์ของทีมเรา และโค้ช (โบซิดาร์ บันโดวิช) ที่เน้นย้ำว่า เราต้องชนะทุกครั้งที่เข้าปะทะ มันทำให้เราซึบซับ และเตือนตัวเองเสมอว่า ทุกครั้งที่เข้าปะทะ ต้องเอาชนะให้ได้

ผมเชื่อในการฝึกซ้อม ถ้าเราซ้อมมายังไง ตอนแข่งมันคงไม่ต่างหรอก ดังนั้นผมไม่ได้เอาเรื่องอาการบาดเจ็บ มาเป็นข้ออ้าง ไม่ให้ผมเข้าปะทะคนอื่น แค่พยายามเข้าปะทะทุกครั้ง ให้แม่นยำที่สุด

d7
ในวันที่ปะทะไม่ชนะคู่แข่ง ทีมเสียประตู เสียจุดโทษ หรือแพ้ โดยเริ่มต้นความผิดพลาดจากตัวคุณ คุณมีวิธีฟื้นจิตใจของตัวเองกลับมาอย่างไร ไม่ให้ย่ำแย่ลงไป
ผมยอมรับว่า บอสโก (โบซิดาร์ บันโดวิช) มีส่วนสำคัญต่อเรื่องนี้ เขาบอกลูกทีมเสมอว่า “ฟุตบอลก็เหมือนการใช้ชีวิต ในสนามคุณผิดพลาด แต่ทุกคนต้องช่วยกัน” ถามว่าเวลาทำงาน ถ้าคุณทำผิดพลาด คุณต้องแก้ไขมันใช่ไหม ถ้าคุณก้าวเดินไปแล้วล้ม มันก็คือล้ม คุณไม่สามารถย้อนเวลากลับมาได้

โค้ชพยายามบอกว่า โอเค ถ้าคุณพลาด คุณก็แค่ลุกขึ้นมาแล้วเริ่มต้นใหม่ ถ้าเพื่อนทำพลาด เพื่อนอีกคนต้องช่วยกัน นี่คือฟุตบอล นี่คือทีมของพวกเรา ทุกคนมีโอกาสพลาดได้เหมือนกัน ดังนั้น เราทุกคนมีหน้าที่ช่วยเหลือกัน

ผมมองความผิดพลาดเป็นประสบการณ์ที่สอนให้ผมได้เรียนรู้ ถ้าวันหนึ่งที่พลาด ก็แค่เรียนรู้ไปกับประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามา และพยายามอย่าทำให้มันพลาดอีก

นอกจาก Instagram ที่นานๆคุณจะลงรูปสักใบ คุณก็ไม่เล่น โซเชียลเน็ตเวิร์ก อย่างอื่นเลย มีเหตุผลไหม
อย่างที่ผมบอก ผมไม่ได้เป็นคนที่ติด โซเชียล มาตั้งแต่เด็กแล้ว ไม่ใช่คนที่ตื่นเช้าอัพ Facebook เย็น อัพ Facebook

ผมเล่น Instagram เพราะว่าผมชอบดูรูปภาพ ผมมีความสุขเวลาไปไหนมาไหน ได้ถ่ายรูปเก็บไว้ เวลาไม่มีอะไรทำ ก็จะย้อนกลับมาดูรูปภาพว่า ช่วงเวลานั้นเราไปทำอะไร มีความรู้สึกยังไง นั่นคือความรู้สึกที่ผมที่มีต่อรูปภาพ ผมชอบดูรูปในอินสตาแกรม ไม่ใช่แค่รูปตัวเอง ก็ดูรูปอื่นด้วย

d8
ไม่รู้สิ ผมอาจจะไม่ชอบไปดูว่าคนอื่นเขาคุยอะไรกัน อาจจะเป็นเด็กหัวโบราณมั้ง (หัวเราะ) เลยไม่เล่น Facebook เพราะปกติไม่ใช่คนที่ชอบโพสต์อะไรขนาดนั้น ผมเขินด้วยแหละ ถ้าต้องมาโพสต์อะไรแปลกๆ ผมไม่ค่อยถนัดแนวนี้เท่าไหร่  ถ้าจะคุยกับเพื่อน ก็คุยใน Line กันอยู่แล้ว

รับรู้บ้างไหมว่า บางครั้งก็มีกระแส คำพูดแรงๆ โจมตีคุณ ใน Facebook
ผมไมได้ชอบเข้าไปอ่านอะไรพวกนี้อยู่แล้ว แต่เคยมาได้ยินจากคนรอบข้าง จากครอบครัวที่เขาเป็นห่วงเราถามว่า ไหวไหม?

ผมก็บอกทุกคนแหละว่า ไม่ได้ซีเรียสกับเรื่องพวกนี้เท่าไหร่ เสียงวิจารณ์ที่มี เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว เพราะสโมสรเราเป็นทีมใหญ่ ความคาดหวังจากแฟนบอลมีสูง ผมแค่อยากจะทำสิ่งที่ผมรักให้ดีที่สุด

แต่ถ้าจะบอกไม่เคยเห็นคำพูดพวกนั้นเลย ก็คงเป็นเรื่องโกหกเกินไป ก็มีผ่านตามาให้เห็นบ้าง จากคนรอบข้างที่ส่งมาให้ดู แต่ผมเข้าใจได้ ไม่ได้เก็บมาคิดให้รู้สึกแย่

รู้สึกยังไงกับฉายา CT14
ผมมองว่า มันก็คือตัวเรา เขาตั้งฉายาให้เรา เราจะปฏิเสธว่ามันไม่ใช่เราเหรอ? ผมไม่ได้มองว่าฉายาที่เขาตั้งให้ มันดีหรือไม่ดี เพราะยังไงมันก็คือตัวเราอะ ต่อให้เขาจะพูดถึงเราในแง่ที่ดีหรือไม่ดี สุดท้ายนั่นคือตัวเราอยู่ดี เราโกหกตัวเองไม่ได้หรอกว่า มันไม่ใช่เรา

e1
คุณจึงเลือกที่จะไม่ตอบโต้กับเสียงวิจารณ์เหล่านั้น และไม่ได้ไปอธิบายให้คนอื่น เข้าใจในตัวตนที่แท้จริงของคุณผ่านโชเชียล
ผมไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองต้องไปตอบคำถาม หรืออธิบายกับสังคมว่าผมเป็นอย่างไร อย่างที่ผมพูดเสมอมา ผมแค่รักในสิ่งที่ผมทำ และอยากทำมันออกมาให้ดีที่สุด เมื่อไหร่ก็ตามที่ผลงานออกมาดี ผู้คนจะให้การยอมรับไปเอง

แต่ไม่ใช่ว่าผมเล่นดี เพื่ออยากจะเอาชนะคำพูดของใคร หรือต้องการบอกสังคมว่า สิ่งที่คุณพูดกันน่ะมันผิดนะ? ผมแค่ทำในสิ่งที่ผมรัก ผมไม่ใช่นักฟุตบอลแบบที่ ต้องมีคนมาด่าก่อน ถึงจะตั้งใจเล่นให้ดี

ผมเป็นคนชอบอ่านและดูสารคดี ชีวประวัติของคนที่ประสบความสำเร็จ อย่างเช่น สตีฟ จ๊อบส์, แจ็ค หม่า ทำให้ผมได้เห็นว่า ชีวิตคนเรามันไม่ง่าย ที่เราเห็นว่าเขาประสบความสำเร็จ ร่ำรวย เขาผ่านอุปสรรคมามากมายกว่าเราอีก

เราเจอแค่นี้เอง ยังไม่เท่ากับคนที่ประสบความสำเร็จ แล้วเราจะมานั่งเสียใจอยู่กับมันทำไม เพราะคนที่เขาประสบความสำเร็จกว่าเรา เขาฝ่าฟันมากกว่าผมเยอะ

ฟุตบอลไม่ใช่กีฬาที่วันนี้คุณตั้งใจซ้อม แล้วพรุ่งนี้ตื่นมาจะเก่งขึ้นเลย ยิ่งผมไม่ใช่คนเก่งมาตั้งแต่แรก ก็ต้องอาศัยการสั่งสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ อาจต้องใช้เวลานานกว่าคนอื่น เลยต้องพยายามไปเรื่อยๆ จนมาถึงวันหนึ่งที่ดูเหมือนอะไรมันเริ่มดีขึ้นแค่นั้นเอง

e3
ในวัย 27 ปี สำหรับนักฟุตบอลถือว่าเป็นช่วงเวลาที่กำลังเข้าสู่จุดพีค คิดว่าตัวเองตกผลึกกับอะไรบ้าง
ผมว่ามันเป็นช่วงวัยที่ความคิดเปลี่ยนไป บางครั้งผมถามว่าตัวเอง เราอายุมากขึ้นทุกปี เราจะยังเล่นฟุตบอลอาชีพไปได้อีกนานแค่ไหน วันนี้ถ้ามีโอกาสได้เล่น ต้องทำให้ดีที่สุดนะ

ความสนุกแบบวัยเด็กเริ่มลดลง เพราะเรามองไปถึงการดูแลตัวเองที่มากขึ้น โดยดูจากรุ่นพี่ในทีมว่า เขาดูแลตัวเองอย่างไร ตั้งแต่การพักผ่อน การรับประทานอาหาร การดูแลสภาพร่างกาย เหมือนเป็นช่วงเวลาที่เราต้องหันมาใส่ใจตัวเองมากขึ้นกว่าตอนวัยรุ่น

ขีดจำกัดและเป้าหมายต่อไปที่ ชิติพัทธ์ แทนกลาง อยากก้าวข้ามไปให้ได้
เป้าหมายผมก็เหมือนกับนักฟุตบอลทุกคน คืออยากติดทีมชาติ ไม่ได้มีอะไรลึกซึ้งกว่านี้เลย คุณไปถามเด็กทุกคนที่หัดเล่นฟุตบอล เชื่อเถอะ ไม่มีคนไหนไม่อยากติดทีมชาติ ทุกคนฝันถึงทีมชาติอยู่แล้ว ผมก็เหมือนกัน ส่วนจะไปถึงหรือไม่นั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

คุณน่าจะเป็นนักเตะที่ได้แชมป์ไทยลีก 5 สมัย ที่ถูกพูดถึงน้อยที่สุด เคยรู้สึกน้อยใจไหมว่า ทำไมตัวเองถึงยังไม่ได้รับการยอมรับในวงกว้างสักที
ผมไม่ได้รู้สึกอะไรกับตรงนี้เท่าไหร่นะ การได้แชมป์เป็นความสำเร็จของทีม ผมมองอย่างนี้นะ คุณลองถามนักฟุตบอลสิ วันนี้ถ้าเขายิงได้ แต่ทีมแพ้ เขาจะดีใจกับประตูที่ทำได้ไหมละ มันเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยนะ  ต่อให้ไม่สามารถทำประตู แต่ทีมเป็นแชมป์ นั่นก็หมายความว่า ทีมประสบความสำเร็จ

end
ผมว่านักฟุตบอลทุกคน เลือกที่จะทำเพื่อทีมมากกว่าเพื่อตัวเอง ผมไม่เชื่อจะมีนักฟุตบอลที่สนใจแค่เรื่องของตัวเองอย่างเดียว ฉันจะเก่ง ฉันจะดัง โดยไม่สนใจว่าผลงานของทีมจะดีขึ้นหรือแย่ลง ไม่มีหรอกครับ ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ชนะกันด้วยคน 11 คน

สำหรับผม ผมมีความสุขกับการได้เห็นทีมชนะ ได้เห็นทีมเป็นแชมป์ ไม่ได้สนว่าตัวเองจะเป็นที่รู้จักหรือเปล่า ผมสนใจเพื่อนร่วมทีม ที่เราทำงานร่วมกันมากกว่า จนถึงวันที่เราประสบความสำเร็จได้แชมป์ร่วมกัน ตรงนั้นต่างหากที่เป็นความสุขของผม

ถ้าไมใช่เรื่องชื่อเสียง และการยอมรับ คุณนิยามความสำเร็จในแบบของ ชิติพัทธ์ แทนกลาง ไว้อย่างไร
ผมขอนิยามเป็นการใช้ชีวิตแล้วกัน การประสบความสำเร็จของผมเกิดขึ้นมาจากการเริ่มต้น ผมไม่ได้มองว่า การลงมือทำแล้วไม่สำเร็จคือความล้มเหลว

ถ้าไม่สำเร็จ นั่นคือประสบการณ์ แต่ถ้าไม่เริ่มต้นทำอะไรเลย คุณไม่มีทางประสบความสำเร็จแน่นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook