ถอดวิธีคิดแบบ "วิชัย ศรีวัฒนประภา" ที่สโมสรฟุตบอลไทยน่าศึกษา
โลกไม่ได้พูดถึง วิชัย ศรีวัฒนประภา ในฐานะมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่มีทรัพย์สินนับแสนล้าน แต่โลกยกย่องเขา จากคุณงามความดีและสิ่งที่เขาได้ทำตลอดช่วงหนึ่งลมหายใจ
เช้ามืดวันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม ตามเวลาประเทศไทย
อาจเป็นเช้าที่หลายล้านชีวิตทำใจได้ยากลำบาก เมื่อทราบข่าวว่า วิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานบริหารกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ และเจ้าของสโมสรฟุตบอล เลสเตอร์ ซิตี้ ได้จากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับ
นับเป็นการสูญเสียบุคลากรคนสำคัญของไทย รวมถึงโลกฟุตบอล ผู้ที่จุดประกายความหวัง แรงบันดาลใจ และมอบโอกาสให้แก่ผู้คนมากมาย ที่อยู่รายรอบอาณาจักรที่ชายไทยวัย 60 ปี สร้างไว้เมื่อครั้งยังมีลมหายใจ
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า โลกแทบไม่เคยพูดถึงว่า วิชัย ศรีวัฒนประภา ร่ำรวยขนาดไหน มีทรัพย์สินจำนวนมากมายเท่าไหร่? แต่สิ่งที่เขาถูกเชิดชู ภายหลังจากสิ้นลมหายใจ กลับเป็นเรื่องราวความเป็น มนุษย์ของเขา ในการเป็น “ผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่”
สิ่งเหล่านั้น สะท้อนผ่านวิธีการทำธุรกิจฟุตบอลของ ประธานสโมสรผู้ล่วงลับ ที่น่าสนใจและนำศึกษาไม่น้อย สำหรับการทำสโมสรอาชีพในไทย แน่นอนว่าอาจเป็นเรื่องที่เกินตัวสักนิด ที่จะเปรียบเทียบขนาดสโมสรของ เลสเตอร์ ซิตี้ กับสโมสรฟุตบอลอาชีพในไทย เมื่อเทียบกันด้วยมูลค่าของทีม รายรับ ร่ายจ่าย ที่ห่างกันไกลลิบตา
แต่หากมองตามความเป็นจริง “เลสเตอร์ ซิตี้” เป็นสโมสรที่ใช้งบประมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับบรรดาสโมสรต่างๆในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ แต่พวกเขากลับสามารถยืนระยะอยู่ในพรีเมียร์ลีกได้เป็นปีที่ 5 อย่างมั่นคง เปรียบเทียบกับแล้ว ก็แทบไม่ได้แตกต่างกับ ทีมขนาดกลางค่อนไปทางล่าง ในลีกสูงสุดไทย
เคสของ เลสเตอร์ จึงเป็นกรณีศึกษา ที่สามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกๆ ทีมกีฬาทั่วโลก ที่พลิกทีมนอกสายตา ให้กลายมาเป็น สโมสรกีฬาที่ประสบความสำเร็จในยุคนี้ โดยที่ไม่ได้ลงทุนเกินตัว... ผ่านคมความคิด และศิลปะในการบริหารจากฝีมือของคนไทยระดับโลก ที่ชื่อ “วิชัย ศรีวัฒนประภา”
ลูกน้องต้องมาก่อน
“ผมเป็นแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก ตอนที่ผมเรียนอยู่ที่ ไต้หวัน พ่อแม่ส่งเงินมาให้ผมเท่าไหร่ ผมเอาไปเลี้ยงเพื่อนหมด ไม่คิดว่าตัวเองจะอดอยากอะไร นี่คือคาแรกเตอร์ส่วนตัวของผม พอวันหนึ่งที่ผมเริ่มมีเงินทอง ผมก็ยังคงทำเหมือนเดิม”
“เริ่มจากองค์กร คิง เพาเวอร์ ที่ผมทำมา 27 ปี (ให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2016) ถามลูกน้องที่ทำงานกับผมได้ ไม่ว่าเราจะล้มลุกคลุกคลานแค่ไหน จะไม่มีอย่างไร ผมต้องหาทางเอาเงินมาจ่ายโบนัสพวกเขาให้ได้ นี่เป็นสิ่งที่ผมคิดเสมอว่า พวกเขามีภาระมากกว่าผม ผมเป็นผู้นำองค์กร ถึงต้องกู้เงินมาจ่าย ผมก็ต้องทำ”
“ผมใช้หลักการนี้เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนว่า คนของเราต้องอยู่ดีกินดีเสียก่อน เขาถึงจะทำงานให้เราได้” วิชัย เปิดเผยถึงหลักการทำงานที่เขายึดมาตลอดชีวิต คือ การให้ความสำคัญกับคนในองค์กรก่อนเป็นอันดับแรก
ครั้งหนึ่ง ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง “ประธานวิชัย” เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกไม่ได้ จากธุรกิจสินค้าปลอดอากร ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ต้องปิดตัวร่วม 2 เดือน ทำให้เวลานั้น บ.คิง เพาเวอร์ ไม่มีรายรับเข้ามา
เขาตัดสินใจเรียกพนักงานเข้ามาพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และได้ทำการกู้เงินจากธนาคาร เพื่อนำเงินตรงนี้มาจ่ายเงินเดือนและโบนัสให้กับพนักงานกว่า 1,000 ชีวิต อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
ในปี 2010 ภายหลังจากกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ เข้ามาเทคโอเวอร์ สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ เขาได้นำเอาหลักการที่เคยใช้กับการทำธุรกิจ มาใช้กับทีมลูกหนัง ที่ตนเองเพิ่งเป็นเจ้าของ ด้วยแนวคิดที่ว่า “ลูกน้องต้องมาก่อน”
อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ลูกชายคนรอง ถูกแต่งตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ รองประธานสโมสร เขาได้รับมอบหลักการตรงนี้จากผู้เป็นพ่อ และเทพนิยายเลสเตอร์ ซิตี้ มีจุดเริ่มต้นขึ้นจากโต๊ะทำงานของ อัยยวัฒน์
ลูกชายของวิชัย เปิดโอกาสให้ พนักงานทุกฝ่าย ทุกคน เข้ามาพูดคุย แนะนำ ในสิ่งที่สโมสรต้องปรับปรุง แก้ไข เจ้าของใหม่ชาวไทย ละลายความกังวล พร้อมกับรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นกับสโมสร จากในอดีตที่ผ่านมา รวมถึงจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อทำให้แต่ละแผนก มีความกลมเกลียวกันมากขึ้น จากเดิมที่ต่างคนต่างทำงาน
ผลที่ออกมา เลสเตอร์ ซิตี้ กลายเป็นสโมสรที่แทบจะไม่มีข่าวเรื่องความขัดแย้ง แตกคอในองค์กรเลย ทุกฝ่ายให้ความไว้เนื้อใจกัน โดยเริ่มจากวิธีคิดที่ วิชัย ศรีวัฒนประภา ทำให้เห็นว่า เขาคือ ลูกพี่ที่ให้ใจลูกน้อง คำไหนคำนั้น… ไม่แปลกที่ลูกน้องจะให้ใจเขากลับไปแบบเต็มๆ และทำให้ทีมนี้แข็งแกร่งมาจากภายใน
โดย ปกติวิสัย ของ ผู้บริหารสโมสรต่างชาติในอังกฤษ ส่วนมากมักจะมีระยะห่างพอสมควร กับ คนในองค์กร รวมถึงแฟนบอล
คำสั่ง นโยบาย ทุกอย่างถูกดำเนินการ จากบนลงไปล่าง แต่กลับกันกับ วิชัย ศรีวัฒนประภา เขามีความสนิทสนมกับนักฟุตบอลทุกคน สตาฟฟ์โค้ช แม้กระทั่งบรรดามดงานในสโมสร ที่เขารับฟัง และนำเอาปัญหาจากล่างขึ้นบน เพื่อมาปรับปรุงพัฒนาสโมสรให้ดียิ่งขึ้น
ระบบวิทยาศาสตร์การกีฬาที่ทันสมัย การปรับปรุงสนามฝึกซ้อม แผนการต่อเติมสนามเหย้า การทำศูนย์ฝึกกีฬามูลค่านับ 100 ล้านปอนด์ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับสโมสรเลสเตอร์ ในยุคของเจ้าของคนที่ผ่านๆมา
ด้วยความตั้งใจของ เจ้าสัววิชัย ที่ต้องการให้ ลูกน้องมีความสุขในการทำงาน ก่อนจะหวังงานที่ดี เขาจึงยอมลงทุนกับส่วนนี้ เพื่อให้ เลสเตอร์ ซิตี้ เป็นทีมที่มีเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์การกีฬา ก้าวหน้าอยู่หัวแถวของลีก...โค้ช นักฟุตบอล เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายทำงานด้วยความแฮปปี้ เพราะทุกเสียงของเขา ไมใช่เสียงที่ไร้ค่า แต่เป็นเสียงที่เจ้านายรับฟัง
กลับมาที่สโมสรในไทย เป็นเรื่องปกติ หากทีมส่วนใหญ่ จะมีแนวคิดที่ว่า “เจ้านายต้องมาก่อน” อันหมายถึง ทุกฝ่ายจะพยายามปฏิบัติงานเพื่อความพึงพอใจของเจ้านาย โดยที่ไม่มีการพูดถึงข้อบกพร่อง ข้อเสีย สิ่งที่ควรปรับปรุงแก้ไขของสโมสร เพราะหวั่นเกรงว่าอาจกระทบหน้าที่การงาน สร้างความไม่พอใจ หรือดูเป็นคนที่ไม่เคารพผู้หลักผู้ใหญ่
ความสัมพันธ์ของเจ้าของทีม กับพนักงาน, นักฟุตบอล จึงเป็นไปในลักษณะของ ลูกจ้างกับเจ้านาย, ผู้บังคับบัญชา กับ ผู้ใต้บังคับบัญชา ที่พูดคุยกันเฉพาะแค่เรื่องงาน ไม่ได้มีกิจกรรมร่วมกัน หรือการสร้างความรู้สึกให้กับ ลูกจ้างได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสโมสร
“ช่วงที่เราหนีตาย (ฤดูกาล 2014-2015) นักฟุตบอลเลสเตอร์ทุกคน บอกกับผมว่า เขาสัญญาว่าจะต้องทำให้สโมสรอยู่รอดให้ได้” วิชัย ย้อนความหลังถึงช่วงเวลาปาฏิหาริย์ที่สโมสรพลิกจากอันดับ 20 มาจบอันดับ 14 ของตารางของฤดูกาล
กรณีนี้มีความคล้ายคลึงกับ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ที่หลายๆครั้ง ในสถานการณ์ที่ แข้งเทพ ตกเป็นรองด้วยสกอร์ตามหลังคู่แข่ง พวกเขามักจะรวบรวมสปิริตทีม เร่งเครื่องกลับมาทำประตูคืน ได้อยู่เสมอ
ส่วนสำคัญมาจากการที่ สโมสรทรู แบงค็อกฯ มีหลักการตรงนี้ที่คล้ายกับ หลักการ ของประธานวิชัย ในการทำให้ทุกคนในสโมสรเกิดความสุขก่อน
ผ่านกิจการต่างๆ ทำด้วยกัน สวัสดิการ การจ่ายเงินเดือน โบนัสที่ตรงเวลา การสร้างความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันของโค้ช นักฟุตบอล ผู้บริหาร นั่นทำให้พวกเขาสามารถพลิกตัวเองจากทีมหนีตาย ในช่วงที่ ขจร เจียรวนนท์ เข้ามาซื้อทีมใหม่ๆ กลายมาเป็นสโมสรลุ้นแชมป์ ได้ในช่วงแค่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ดังนั้น ข่าวคราวการฟ้องร้อง ทวงถาม เรื่องค่าเหนื่อยที่ถูกค้างชำระ การถูกยกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรม การจ่ายเงินที่ล่าช้า ไม่ครบจำนวน จากเหล่านักฟุตบอลต่อสโมสร เป็นสิ่งที่บ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่า สโมสรที่เกิดปัญหาลักษณะนี้ เป็นสโมสรอย่างไร? ให้ความสำคัญกับลูกน้องแค่ไหน?
การที่สโมสรประสบภาวะขาดทุน ไม่สามารถบริหารจัดการงบประมาณได้ เป็นความผิดพลาดของฝ่ายบริหาร ไม่ใช่การปัดภาระมาตกอยู่กับ ลูกน้องนักฟุตบอล ที่ทำงานเต็มอัตรา ว่าไม่สามารถจ่ายเงินให้ได้ ด้วยเหตุผลและข้ออ้างต่างๆ
แม้บางกรณี เงินที่ค้างชำระอาจจะไม่ใช่ตัวเลขที่มากมากนัก เท่ากับรายได้ของนักฟุตบอลคนหนึ่ง แต่ในแง่ของความรู้สึก เมื่อลูกจ้างคนหนึ่งสูญเสียศรัทธาแก่องค์กร… ยากที่องค์กรนั้นๆ จะประสบความสำเร็จได้
“ตอนที่ผมไปทำฟุตบอลที่อังกฤษ อะไรก็ตามที่ผมเคยให้คำมั่นสัญญากับพวกเขา ผมต้องทำให้ได้อย่างที่เคยพูดไว้ สิ่งต่างๆที่ผมมอบให้กับพวกเขา แม้มันจะเป็นเพียงแค่สิ่งเล็กๆน้อย เทียบไม่ได้หรอกครับกับเงินเดือนของพวกเขา”
“แต่ผมก็ตั้งใจไปแสวงหามา นั่งทำให้เขา เพื่อให้เขาเกิดความประทับใจ เวลาเราพูดอะไรกับเขา มันก็จะง่ายเหมือนพ่อคุยกับลูก หรือบางอย่างที่ผมให้เขา ถ้าคิดเป็นตัวเลข ก็อาจจะกินไม่ได้ นอนไม่หลับ แต่ผมให้เขา เพราะผมมีความสุข” บิ๊กบอสวิชัย กล่าวผ่านรายการแชมป์จัดไป
อย่ามองแค่กำไรและขาดทุน
“ผมไปอยู่อังกฤษมาหลายสิบปี คิดอยู่เสมอว่าอยากจะซื้อทีมฟุตบอลสักทีม แต่ไม่ได้ทำเพื่อการค้านะ ผมแค่อยากเห็นเยาวชนบ้านเราไปไกลกว่าแค่ในอาเซียน ผมทำโปโลมา 15 ปี (สัมภาษณ์เมื่อปี 2010) แต่มีข้อจำกัดเพราะคนมีโอกาสเล่นน้อยมาก จึงหันมาทำฟุตบอลคน ที่ส่วนมากจะได้รับประโยชน์ด้วย”
“ครั้นจะซื้อทีมใหญ่ ผมคงไม่มีปัญญา ผมขอเลือกที่จะเฝ้ามองหาทีมเล็ก เพื่อปั้นให้เติบโต เลสเตอร์ ซิตี้ ทีมนี้มีความพร้อมมากที่สุดสำหรับผม การสร้างทีมเล็กหรือใหญ่ไม่ใช่ปัญหา ทุกอย่างขึ้นอยู่กับคุณภาพพัฒนาการของนักเตะ และวิธีบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”
“หากคิดเป็นธุรกิจตั้งแต่วันแรก ก็คงทำไม่สำเร็จแน่นอน เนื่องจากไม่รู้ชะตากรรมว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ทุกอย่างอยู่ที่ความพึงพอใจมากกว่าว่าลงทุนเพื่ออะไร เหมือนกับการเช่าพระเครื่อง เซียนแต่ละคนมองคุณค่าตีราคาต่างกันไป”
บทสัมภาษณ์ส่วนหนึ่งจาก ประชาชาติ ของ วิชัย ศรีวัฒนประภา เมื่อตอนที่เจ้าตัวตัดสินใจซื้อสโมสรฟุตบอล เลสเตอร์ ซิตี้ ในลีก แชมเปียนชิพ สะท้อนให้เห็นถึงจุดยืนในการเทคโอเวอร์ครั้งนี้ของเขา ไม่ได้เกิดจากความต้องการที่จะมาแสดงหากำไรจากธุรกิจกีฬาอาชีพตั้งแต่แรก
เรื่องดังกล่าวเชื่อว่า เจ้าของสโมสรฟุตบอลในไทย ต่างเข้าใจความจริงข้อนี้เป็นอย่างดีที่ว่า ทีมอาชีพลูกหนัง ยากที่จะสร้างกำไร แถมมีแต่เจ็บตัว จากเงินที่จ่ายออกไปในทุกๆฤดูกาล
วิชัย เผชิญกับคำดูถูก และเสียงสบประมาทมากมายกับหลายๆสิ่งที่เขาลงทุนไป ในวันที่ทุกคนยังไม่เห็นว่า มันจะตอนแทนกลับมาให้เขาได้อย่างไร? กับเม็ดเงิน ที่เขาทุ่มลงไปในเมืองเลสเตอร์ รวมถึงโครงการต่างๆ ที่สนับสนุนเด็กไทยให้ได้ไปฝึกฟุตบอลที่สโมสรเลสเตอร์ และโอเอช ลูเวิน ที่เสียค่าใช้จ่ายปีละหลายสิบล้านบาท
“เราเป็นคนไทย ที่ต้องการทำให้คนในเมืองเลสเตอร์ และทั้งโลกเห็นว่า เรามีความสามารถ และมีความพยายาม เราต้องการทำให้แฟนบอลที่นี่มั่นใจในตัวเรา ในสิ่งที่เรากำลังทำลงไป แรกๆ แฟนบอล ก็มีความสงสัยว่าเราจะทำอะไร แต่พอเวลาผ่านไป แฟนๆก็ชื่นชมและไว้วางใจผู้บริหารทั้งหมดว่าเราตั้งใจทำทีมจริงๆ”
“ผมสอนให้ลูกทุกคนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ถึงแม้จะล้มเหลว แต่อย่างน้อยก็ยังได้รู้ ฟุตบอลเป็นอีกอย่างที่ทำให้เขาเรียนรู้ เพราะมันเป็นกีฬา มีแพ้มีชนะ ทำให้เขารู้จักสมหวังและผิดหวัง เปรียบเป็นบทเรียนชีวิต เหมือนกับเขาได้เรียนรู้ทั้งตอนมีและไม่มีนั่นเอง” วิชัย กล่าวผ่านรายการแชมป์ จัดไป และบทสัมภาษณ์ในนิตยสารแพรว
เขามอบหมายให้ อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ลูกชายคนรอง บริหารสโมสรแห่งนี้ โดยให้ยึดถือแฟนบอลเป็นส่วนสำคัญ
แม้บางส่วนอาจต่อต้านครอบครัวเศรษฐีชาวไทยในช่วงแรก แต่บุตรชายของวิชัย ก็แสดงให้เห็นถึงความจริงใจ ในการลงไปพูดคุยเพื่อรับฟังสิ่งที่ แฟนบอลอยากเห็น และเกือบทั้งหมดต้องการให้เจ้าของคนไทย พัฒนาทีมไปข้างหน้า โดยไม่เปลี่ยนแปลงขนบ ธรรมเนียม วัฒนธรรมที่พวกเขาสร้างมา
ในทุกๆครั้งที่ วิชัย เดินทางไปที่อังกฤษ เขาจะโบกมือทักทายแฟนบอลเสมอ รวมถึง ทุกๆเทศกาล วาระพิเศษ เขามักที่จะเลี้ยงเครื่องดื่ม อาหาร แจกผ้าพันคอ เสื้อเชียร์ ตุ๊กตาแก่เด็กๆ เขาปฏิบัติตัวกับแฟนบอลเป็นอย่างดี ราวกับเป็นคนในครอบครัว ไม่ใช่แค่ลูกค้าที่มาซื้อตั๋วชมเกมฟุตบอล จบเกมแยกย้ายกลับบ้าน
ทุกอย่างต้องแลกมาด้วยเงิน และเป็นเงินที่เสียไป โดยที่ไม่รู้จะได้ผลตอบแทนเม็ดเงิน กลับมาจากแฟนบอลเหล่านั้นอย่างไร
“เราเพียงเเต่ต้องการที่จะเเสดงให้แฟนบอลเห็นว่าเราคิดว่าพวกเขามีคุณค่าต่อเรามากเเค่ไหน เราอยากที่จะปฎิบัติต่อแฟนบอลเหมือนครอบครัวเเละเราจะฉลองความสำเร็จไปด้วยกัน” วิชัย กล่าวเริ่ม
“สำหรับเรา สิ่งเหล่านี้มีความหมาย มากกว่าแค่การที่แฟนบอลได้รับเค้กวันเกิดฟรี,เครื่องดื่มฟรี หรือธงในสนาม เราทำเพื่อให้แฟนบอลทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วม และแสดงให้พวกเขาเห็น เขาเป็นส่วนสำคัญของสโมสร พวกเรามีความสัมพันธ์ที่ก้าวข้ามเวลาเก้า 90 นาทีของการแข่งขันฟุตบอล”
“เมื่อเราฉลองช่วงเวลาที่ดีด้วยกัน เราจะสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและพร้อมจะทำให้พวกเราสามารถผ่านอุปสรรคต่างๆที่เราอาจต้องเผชิญกับความท้าทายในอนาคตด้วยกัน”
ถ้าคิดในแง่ของกำไร-ขาดทุน การจ่ายเงินจำนวนนี้เพื่อแลกกับอาหาร เครื่องดื่ม ธง เสื้อเชียร์ แก่แฟนบอล ยังไงก็ไม่คุ้มค่า และไม่มีเหตุผลเลยที่สโมสร จะต้องเสียเงินจำนวนนี้ไปในหลายๆเกมที่เขาทำ
กลุ่มผู้บริหารชาวไทย มองในมุมที่ต่างไป และประเมินว่าสิ่งเหล่านี้มีคุณค่า พวกเขาเชื่อมั่นว่า ทีมฟุตบอลอยู่ได้เพราะมีแฟนบอลหนุนหลัง...ผลที่ตามมา เลสเตอร์ มียอดผู้ชมที่เพิ่มขึ้นในสนาม และยอดขายสินค้าที่ระลึกที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นผลจากการที่สโมสรเริ่มเป็น “ผู้ให้ที่จริงใจก่อน” แก่แฟนบอล
นอกเหนือจากฟุตบอล นายใหญ่เลสเตอร์ ซิตี้ วัย 60 ปี ยังถือเป็นผู้มีอุปการะคุณสำคัญต่อเมืองที่ตั้งของทีมลูกหนังที่เขาเป็นเข้าของ วิชัย ออกเงินสร้างโรงพยาบาล ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก รวมถึงทำกิจกรรมการกุศลมากมายในเมือง ด้วยเม็ดเงินจำนวนมากที่ทีมฟุตบอลทีมหนึ่ง สามารถนำเงินตรงนี้ไปซื้อนักเตะฝีเท้าดี เข้าสู่ทีมได้สบายๆเลย
แต่จะมีประโยชน์อันใด หากท้ายที่สุด เลสเตอร์ ซิตี้ ประสบความสำเร็จ โดยปราศจากแฟนบอล และผู้คนในเมือง มาร่วมชื่นชมยินดีกับถ้วยรางวัลที่พวกเขาได้มา แนวคิดนี้ ถ้าเปรียบกับสโมสรในไทย ก็คงคล้ายๆกับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในบางมุม
“ปราสาทสายฟ้า” เป็นทีมฟุตบอล ที่มียอดผู้ชมเข้าสนามมากสุด มียอดจำหน่ายสินค้าที่ระลึกมากสุด และเป็นเพียงไม่กี่สโมสรของไทย ที่สร้างกำไรได้จากทำทีมฟุตบอล
“กำไร คนดู และรายได้ที่สโมสรได้รับ” เกิดขึ้น เพราะสโมสรแห่งนี้ กล้าจะลงทุนกับสิ่งที่หลายสโมสรมองข้าม และไม่คิดว่าสำคัญก่อน
เช่น ทุกๆ เทศกาลประจำปี อย่าง ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่, งานวันเด็ก, เทศกาลสงกรานต์ เป็นที่ทราบกันดีว่า “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” จะนำเงินจำนวนหลายสิบล้านบาท มาจัดเทศกาลเหล่านี้ เพื่อให้แฟนบอล และ ประชาชนทั่วไปในจังหวัด พื้นที่ใกล้เคียง ได้เข้ามาร่วมงาน กันแบบฟรีๆ ไม่คิดค่าใช้จ่าย
มีผู้คนสงสัย และตั้งคำถามเสมอมาว่า บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จัดงานแบบนี้ไปทำไม? ทำแล้วได้อะไร? เอานักบอลมาเต้นปีใหม่ทำไม? มันไม่ใช่เรื่องจำเป็นเลย ที่ทีมฟุตบอลทีมหนึ่ง ต้องมาทำหน้าที่บริการความสุขให้แก่ประชาชน นอกสนามฟุตบอล
คำตอบเพราะ บุรีรัมย์ฯ ต้องการทำให้ผู้คนในเมืองเกิดความสุข และรู้สึกได้เป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์บุรีรัมย์ก่อน ไม่ใช่แค่มิติของฟุตบอลเพียงอย่างเดียว
อาจจะผ่านกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง เพราะแต่ละคนคน มีความชอบที่ไม่เหมือนกัน บางคนอาจมีความสุข จากการได้ชมฟุตบอล บางคนมีความสุขจากการได้ชมคอนเสิร์ต บางคนมีความสุขจากการพาลูกหลานมาวิ่งเล่นในวันเด็กเท่านั้น หลายกิจกรรมที่เกิดขี้นที่นี่ ทำให้ทุกคนเกิดความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับสโมสร และเมื่อมีโอกาสพวกเขาไม่ลังเลที่จะเข้ามาสนับสนุนทีม…
ความรู้สึกของชาวเมืองเลสเตอร์ ที่มีต่อ ประธานวิชัย จึงแทบไม่ต่างกับ ชาวจังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีต่อ เนวิน ชิดชอบ ที่ทำให้เมืองๆนั้น เจริญขึ้น ดีขึ้น และมีความสุขมากขึ้น ผ่านสิ่งที่สโมสรฟุตบอลทำ
อ.อาจินต์ ทองอยู่คง อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยให้สัมภาษณ์กับ Main Stand ถึงประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจว่า “ทุกวันนี้สโมสรต่างๆ ทำกิจกรรมกับแฟนบอลน้อยลง ย้อนกลับไปดูช่วงปี 2009-2011 ทุกสโมสรพยายามเรียกร้องหาแฟนบอล จัดกิจกรรมกับกองเชียร์อยู่ตลอด ทั้งก่อนแข่ง หลังแข่ง หรือแม้แต่วันที่ไม่มีแข่ง แต่พอการแข่งขันมันสูงขึ้น ทุกสโมสรก็ไปมุ่งเน้นเรื่องฟุตบอล มากเป็นอันดับ 1 จนลืมทำกิจกรรมร่วมกับแฟนบอล”
“ทั้งที่ความจริง กองเชียร์ที่ดูฟุตบอลจริงๆ เขาไม่ได้สนใจ เรื่องผลการแข่งขันเป็นอันดับแรกหรอก เขาสนใจว่า สโมสรจะปฏิบัติกับเขายังไง? เข้ามาทำทีมด้วยความจริงใจหรือเปล่า? ผลการแข่งขันเป็นแค่เรื่องรอง แต่คนทำฟุตบอล กลับมุ่งเน้นเรื่องในสนามมากไป จนลืมเรื่องนอกสนาม”
หากมองตามความเป็นจริง จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนเคยได้สัมผัสกับสโมสรฟุตบอลในไทย ส่วนใหญ่เป็นไปตามที่ อ.อาจินต์ ว่ามาทั้งสิ้น ทีมลูกหนังอาชีพของไทย ขาดการทำกิจกรรมร่วมกับท้องถิ่น และไม่ได้สร้างความรู้สึกร่วมกันระหว่างสโมสรกับแฟนบอล จึงเห็นได้ว่า หลายๆสโมสรมียอดผู้ชมขึ้น-ลงอิงกับผลงานของสโมสรในช่วงเวลานั้น
นั่นทำให้ สโมสร ต่างคิดว่าต้นตอ ยอดผู้ชมที่ลดลง มาจากผลงานในสนามที่แย่ จนให้ความสำคัญกับฟุตบอลมากเกินไป เพราะคิดว่าถ้าฟอร์มดี คนจะกลับมาดูเอง ความเชื่อเช่นนี้ ไม่ใช่ความเชื่อที่ผิดเสียทีเดียว สำหรับประเทศไทย ที่ว่ากันตรงๆ เรายังมีวัฒนธรรมการเชียร์ฟุตบอล ที่ไม่ได้ยาวนาน และฝังรากลึกเท่ากับ อังกฤษ
ถึงต่อให้แฟนบอลอังกฤษ จะมีวัฒนธรรมการเชียร์ที่ยาวนานแค่ไหน หากพวกเขาไม่รับการปฏิบัติที่ดีจาก เจ้าของทีม ก็ไม่มีทางเป็นได้เลยที่สโมสรนั้น จะยังมีผู้คนหนุนหลัง “แฟนบอลมีเลือดเนื้อ จิตใจ และรับรู้ดีว่าสโมสรจริงใจกับเขาไหม”
ยกตัวอย่าง วินเซนต์ ตัน ประธานสโมสรชาวมาเลเซีย เคยเปลี่ยนสีและโลโก้สโมสร คาร์ดิฟฟ์ จนทำให้แฟนบอลไม่พอใจ ประท้วง โห่ไล่ สุดท้ายต้องกลับมาใช้สีเดิม หรือในกรณีของ เอ็มเค ดอนส์ ที่ซื้อสิทธิ์และเปลี่ยนชื่อทีมจาก วิมเบิลดัน มาเป็น เอ็มเค ดอนส์ ก็ทำให้แฟนบอลบางส่วนโกรธแค้น ย้ายไปตั้งสโมสรใหม่ในชื่อ เอเอฟซี วิมเบิลดัน
แฟนบอล คือกลุ่มคนที่เสียเงินซื้อตั๋วเข้ามาชมฟุตบอล เพื่อดูฟุตบอล แต่แฟนคลับจะเป็นกลุ่มคนที่เสียเงินซื้อตั๋วชมฟุตบอล เพื่อสนับสนุนสโมสรของคุณ.. เมื่อไหร่ก็ตามที่สโมสรมีแฟนคลับ มากกว่าแฟนบอล แน่นอนว่าพวกเขาจะมี กลุ่มคนที่หนุนหลังสโมสรมากกว่า ไม่ว่าในวันที่ผลบอลจะเป็นใจ อยู่ในลีกใดก็ตาม
หลายๆสโมสรในไทย เกิดกระแสขึ้นมาได้ เพราะแฟนบอลหันไปเชียร์ที่สนาม แต่น้อยทีมนัก ที่รักษากระแสเหล่านั้นให้ต่อเนื่อง จนทำให้แฟนบอลแปรเปลี่ยนมาเป็นแฟนคลับ สิ่งที่ เลสเตอร์ ซิตี้ ทำนอกสนามฟุตบอล เป็นกิจกรรมต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความสุข และทำให้เกิดแฟนคลับต่อสโมสร โดยที่สโมสรแทบไม่ต้องปริปากขอร้องเลยด้วยซ้ำ
บางจังหวัดในไทยมีประชากรมากกว่า เมืองเลสเตอร์ เสียอีก แต่ทีมประจำจังหวัด กลับมีคนดูในสนามแค่หลักร้อย หลักพัน ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า สโมสรเหล่านั้น ยังไม่สามารถสร้างความรู้สึก หรือมีกิจกรรมอะไรที่ทำให้เกิดความผูกพันซึ่งกันและกัน ระหว่างทีมกับกองเชียร์
เลสเตอร์ ซิตี้ สนับสนุนกิจกรรมสาธารณะกุศลในเมืองฯ ไปเยี่ยมเยียนผู้ป่วย เด็กๆ ตามสถานพยาบาล พานักเตะไปสร้างแรงบันดาลใจให้กับหนูน้อยในเมือง รวมถึงการสร้างโครงการต่างๆ ในไทย ทั้ง สร้างสนามฟุตบอลหญ้าเทียมนับ 100 แห่ง การมอบทุนสำหรับนักฟุตบอลเยาวชน ฯ ที่มีความสามารถผ่านโครงการ ฟ็อกซ์ ฮันท์, การเป็นผู้สนับสนุนหลักรายการ Super 10 ที่สนับสนุนเด็กนับ 100 ชีวิต
วิชัย ศรีวัฒนประภา อาจมีเงินทองมากมาย จนสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง แต่คงไม่มีประโยชน์อะไรเลย หากเขาไม่แบ่งปันเงินเหล่านั้น มาเพื่อสาธารณประโยชน์ รวมถึงเพื่อความสุขของแฟนคลับ
ต้องอย่าลืมว่าเมื่อเทียบกับสโมสรอื่น เลสเตอร์ ยังไม่ใช่ทีมใหญ่ขนาดนั้น แต่สิ่งที่เขาทำอยู่สม่ำเสมอ คือการเป็นผู้ให้ที่ไม่คิดเรื่องกำไรขาดทุนก่อน สิ่งนี้เป็นเรื่องที่สโมสรในไทยน่าศึกษา หากพวกเขาต้องการแฟนคลับมากกว่าแฟนบอล และต้องการสร้างความสัมพันธ์กับ กลุ่มคนเหล่านี้มากกว่าแค่ 90 นาทีในสนามแข่งขัน
อย่างน้อยที่สุด การพานักเตะในสังกัดไปเปิดคลีนิกฟุตบอลสอนเด็กๆ ในจังหวัด ไปพบเจอทำกิจกรรมในสถานศึกษาอยู่เป็นประจำ ก็น่าจะเป็นกิจกรรมที่ใช้ต้นทุนน้อยมาก ที่สโมสรในไทย สามารถทำได้อย่างไม่มีปัญหา รวมถึงการสนับสนุนกองเชียร์ที่เข้ามาในสนาม เปิดโต๊ะ รับฟัง เสียงของพวกเขา รวมถึงการจัดกิจกรรมคืนกำไรแก่ท้องถิ่นบ้าง ตามกำลังของสโมสร
มองให้ไกล ไปให้ถึง อย่างมีระบบแบบแผน
“ผมตัดสินใจลงทุนในเลสเตอร์ ไม่ใช่แค่เพราะแพสชั่นที่ผมมีต่อฟุตบอล แต่เป็นความปรารถนาอันแรงกล้าของผม ที่อยากพาสโมสรแห่งนี้กลับสู่พรีเมียร์ลีก และผมต้องการทำให้สโมสรแห่งนี้ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา” วิชัย ศรีวัฒนประภา เคยกล่าวถึงจุดมุ่งหมายในการเข้ามาทำสโมสรแห่งนี้
จากเงินก้อนแรก 40 ล้านปอนด์ที่ เจ้าสัวชาวไทย จ่ายซื้อเพื่อซื้อหุ้น 51 เปอร์เซนต์ ครอบครองสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของทีม “เลสเตอร์ ซิตี้”
วันเวลาผ่านไป 8 ปี ปัจจุบันสโมสรเติบโต สร้างกำไรให้กับสโมสรได้อย่างมากมายมหาศาล กลายเป็นทีมฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงสุดในโลกอันดับ 19 จากการจัดอันดับของ Forbes ประจำปี 2018 โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 500 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือ 371 ล้านปอนด์ เติบโตขึ้นจากปี 2017 มากถึง 21 เปอร์เซนต์
ที่สำคัญ พวกเขาเป็นสโมสรที่ไม่มีหนี้สินสะสมแม้แต่เพนนีเดียว ขณะที่สโมสรใหญ่ๆ บางทีม เช่น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เอซี มิลาน, อาแอส โรมา, ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ต่างมีหนี้เป็นของตัวเอง ผิดกลับ เลสเตอร์ ซิตี้ ที่ใช้จ่ายไม่มาก และได้ผลกำไรอย่างฟู่ฟ่า
แม้ความตั้งใจแรกในการเข้ามาซื้อสโมสรนี้จาก มิลาน มันดาริช ของ วิชัย ศรีวัฒนประภา จะไม่ได้คิดถึงตัวเลขกำไรที่งอกเงยมาอย่างทุกวันนี้ แต่ทั้งหมดเกิดขึ้นมา จากความกล้าที่จะฝันไกล ในสิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นไปไม่ได้ การวางแผนบริหารสโมสรอย่างระบบ ตั้งแต่วินาทีแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้
“ผมคงภูมิใจไปมากกว่านี้ไม่ได้อีกแล้วที่ผมได้เป็นคนขายเลสเตอร์ให้กับวิชัย มันเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ผมขายสโมสรให้เขาในเวลาแค่ 30 นาที ผมเสียใจมาตลอดที่ปล่อยพอร์ทสมัธให้ไปอยู่ในมือของคนซื้อผิดๆ เลสเตอร์จึงอยู่ในส่วนลึกของหัวใจผมมาก ผมต้องแน่ใจว่าผมจะปล่อยสโมสรไปอยู่ในมือของคนที่ใช่จริงๆ"
“ผมเล่าความรู้สึกของผมที่ขายสโมสรที่ผมรักให้กับคนผิดที่พอร์ทสมัธ วิชัยยิ้มกว้างกลับมาและพูดว่า 'คุณไม่ต้องกังวลในตัวผมเลย’ เขาผ่อนคลายมาก เป็นมิตร สื่อสารได้ดี และเป็นคนที่สนุกที่ได้คุยด้วย”
“เขาอธิบายสิ่งที่เขาต้องการทำให้สำเร็จกับเลสเตอร์ และสัญญาว่าจะทำให้เลสเตอร์เป็นจุดศูนย์กลางของเมือง ๆ นี้ และเป็นสิ่งที่ชาวเมืองเลสเตอร์ทุกคนต้องภาคภูมิใจ และเขาสัญญาจะดูแลสโมสรแห่งนี้ และเคารพธรรมเนียมที่ปฏิบัติต่อกันมา”
"ผมจ้องตาเขา (วิชัย) และบอกเขาไปว่าผมจะปล่อยสโมสรให้อยู่ในมือของคนที่ใช่เท่านั้น จากประสบการณ์ที่เคยทำผิดพลาดมาแล้วกับการขายพอร์ทสมัธ แต่ ณ เวลานั้นผมรับรู้ได้ทันทีว่าเขาพิเศษกว่าคนอื่นและเป็นคนที่ผมน่าจะทำธุรกิจด้วย" มันดาริช ให้สัมภาษณ์ถึงโมเมนต์ประทับใจในตัวคู่ค้าของเขา
วิชัย ศรีวัฒนประภา จัดการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด และความเชื่อสโมสรใหม่ ภายใต้ไอเดียที่ว่า “ทำทุกอย่างให้เหมือนกับทีมในพรีเมียร์ลีก” แม้ในช่วงเวลานั้น เลสเตอร์ ซิตี้ ยังเป็นแค่ทีมในระดับลีก แชมเปียนชิพ เท่านั้น
การซื้อตัวผู้เล่น กลายเป็นศิลปะการต่อรองที่ จิ้งจอกสีน้ำเงิน ทำได้อย่างเหนือชั้น และมีระดับ พวกเขาเคยผิดพลาดในการซื้อผู้เล่นจากโปรไฟล์ ในยุคที่ได้ สเวน โกรัน อีริคส์สัน มาทำหน้าที่เจ้านายใหญ่ จนทำให้ระบบการเงินของสโมสรผันผวน ยากจะควบคุม
ด้วยความเป็นทีมเล็กในเวลานั้น เลสเตอร์ ซิตี้ เลือกใช้ข้อมูลสถิติ ตัวเลข เพื่อทำการวิเคราะห์ว่า ควรซื้อใครเข้ามาสู่ทีม และควรปล่อยนักฟุตบอลในสังกัดคนใดออกไป จากสถิติตัวเลขที่ฟ้องอยู่ในสนามแข่งขัน และสนามฝึกซ้อม
ตัวเลขเหล่านั้นทำให้ เลสเตอร์ ไม่ต้องทุ่มเงินซื้อนักเตะแบบเกินกำลัง แต่ก็ได้แข้งฝีเท้าดีอย่าง ริยาด มาห์เรซ, เอ็นโกโล กองเต, เจมี วาร์ดี, แคสเปอร์ ชไมเคิล ฯ มาร่วมทีมแบบสบายกระเป๋า
หลายๆสโมสรในไทย มีปัญหาอย่างมากในการบริหารจัดการงบประมาณ ทั้ง เรื่องงบแต่ละฤดูกาลที่บานปลาย หนี้สิน รวมถึงการต้องจ่ายค่าเหนื่อยแพงๆ ให้แก่ผู้เล่นต่างชาติ, แข้งไทยโปรไฟล์ดี เพื่อแลกกับสัญญาระยะสั้น 1-2 ปี เป็นสิ่งที่สโมสรไม่ได้อะไรกลับมาเลย
เพราะการซื้อขาย-ย้ายทีมยังเป็นไปในลักษณะเซ็นฟรี และแต่ละทีม มีการเปลี่ยนผู้เล่นหลายราย แทบทุกปี น้อยทีมนักที่จะมีการวิเคราะห์ ซื้อ-ขาย ผู้เล่นจากสถิติ และทำกำไรได้อย่างที่ เลสเตอร์ ซิตี้ ทำได้
อีกส่วนหนึ่ง คือเรื่องของทีมเลื่อนชั้นหลายสโมสร มักประสบปัญหาในเรื่องของความไม่พร้อม ในเรื่องสนามแข่งขัน, งบประมาณ, ขุมกำลังผู้เล่น เพราะขาดการเตรียมพร้อมมาตั้งแต่สมัยอยู่ในลีกล่าง ส่วนใหญ่ที่เป็นเช่นนี้ มาจากการที่สโมสรขาดการวางแผนในระยะยาว และมักเตรียมทีมแค่ปีต่อปี อาจจะตั้งเป้าหมายว่า อยากเลื่อนชั้น แต่ขาดแผนงานต่อเนื่องที่จะรองรับ หากได้เลื่อนชั้นจริง
ที่ เลสเตอร์ ซิตี้ ทุกอย่างถูกวางแผน มาเป็นอย่างดี จนสามารถมั่นใจได้เลยว่า ถ้วยแชมป์พรีเมียร์ลีก, การได้ไปเล่นแชมเปียนส์ลีก ครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร รวมถึงมูลค่าของสโมสรที่พุ่งสูงขึ้น 9 เท่า ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้น แต่มาจากผลของการทำงานหนักอย่างเป็นระบบ
ในปี 2011 วิชัย ศรีวัฒนประภา เซ็นสัญญา แคสเปอร์ ชไมเคิล ผู้รักษาประตูชาวเดนมาร์ก มาร่วมทีมด้วยค่าตัว 1.26 ล้านปอนด์ เขาบอกกับนายด่านลูกชายปีเตอร์ ชไมเคิล ถึงความฝันที่ใครๆก็ไม่อยากเชื่อว่าจะเป็นไปได้
“ตอนที่ท่านเซ็นสัญญาผมมาในปี 2011 ท่านบอกผมว่าเราจะไปแชมเปี้ยนส์ลีกในอีก 6 ปีข้างหน้า และเราจะทำเรื่องยิ่งใหญ่ด้วยกัน ท่านให้แรงบันดาลใจผม และผมเชื่อในท่าน ท่านทำให้ผมรู้สึกว่าไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ หากไม่มีท่านและครอบครัว ทุกสิ่งที่เราทำมาด้วยกัน ประสบความสำเร็จมาด้วยกัน อาจไม่มีทางเกิดขึ้นเลย ท่านได้มอบประสบการณ์ที่ผมจะมีได้แค่ในจินตนาการเท่านั้น”
“ท่านมีวิสัยทัศน์เพื่อสโมสรแห่งนี้ ท่านต้องการสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรา ไม่มีอะไรที่ท่านจะไม่ทำให้เรา ท่านช่างเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่น เราต้องให้เกียรติกับสิ่งที่ท่านมอบไว้ให้ ด้วยผลงานในสนามอย่างที่ท่านต้องการมาตลอด และรักษาความเป็นครอบครัวเหนียวแน่นในสโมสรที่ท่านสร้างไว้ต่อไป”
“ครอบครัว” คือคำแทนของ “สโมสรฟุตบอล” ที่ แคสเปอร์ ชไมเคิล เปรียบให้เห็นภาพถึงการปกครองทีมภายใต้หัวเรือใหญ่อย่าง วิชัย ศรีวัฒนประภา เจ้านายผู้ปลุกความเชื่อให้กับลูกน้องทุกคน และส่งมอบพลังบวก จากข้างในจิตใจผ่านภาษากายภายนอก ให้ผู้คนที่อยู่รอบๆอาณาจักร ที่เขาสร้าง เชื่อในสิ่งที่เขาคิด
วิชัย แบ่งตำแหน่งและขอบเขตการทำงานที่ชัดเจน เขานั่งแท่นเป็นประธาน คอยทำหน้าที่วางแผนในภาพกว้าง ให้กำลังใจและสนับสนุนผู้คนโดยรอบสโมสร ทั้ง นักเตะ, สตาฟฟ์โค้ช, แฟนบอล โดยมี บุตรชาย ทำหน้าที่บริหารจัดการทีมให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่วน ทีมสตาฟฟ์โค้ช มีอำนาจเด็ดขาดในเรื่องการจัดตัวผู้เล่น เรื่องแท็คติก เทคนิค ในทุกเกม และในทุกการฝึกซ้อม
เจ้านายในแบบวิชัย จึงเป็นเจ้านายที่ไม่ได้ลงมานั่งอยู่กับโค้ชบนซุ้มตัวสำรอง หรือลงมาบีบกดดันให้โค้ช นักเตะรู้สึกไม่ดี กลับกันประธานสโมสรชาวไทย เลือกที่จะสร้างบรรยากาศการทำงานให้มีความสุข และทุกคนรู้สึกได้ว่ากำลังอยู่ในครอบครัวเดียวกัน
“ผมอาจแปลกกว่าคนอื่นนะ ตรงที่ใช้ชีวิตด้วยความสุขเป็นตัวขับเคลื่อน ตั้งแต่เล็ก ถ้าผมจะทำอะไรต้องมีความสุข ถ้าไม่มีความสุขก็อย่าคิดเลยว่าจะทำ ฉะนั้นแพง ถูก ไม่ใช่เหตุผล เหตุผลคือความชอบ เป็นคนชอบอะไรก็เต็มที่ สุดขั้ว ไม่คิดหรอกว่ามีต้นทุนเท่าไหร่” บทสัมภาษณ์ส่วนหนึ่งจาก แพรว ของ ประธานวิชัย
แนวคิดการปกครองลูกน้องของ วิชัย ศรีวัฒนประภา จึงเป็นเรื่องที่ไม่ว่าสโมสรนั้นจะร่ำรวย หรือมีทุนน้อย ก็สามารถนำไปปฏิบัติได้ สิ่งสำคัญที่สุด คือ คุณสร้างความสุข และทำให้ทุกคนในองค์กรเกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันได้หรือไม่?
“เขาเป็นคนดีมาก และมีคำพูดดีๆ ให้ทุกคนเสมอ เขาเป็นคนมีพลังบวกและความสามารถที่จะทำให้ทุกคนรักเขาเป็นเรื่องที่ทุกคนเห็นได้ชัดเจน”
"เขาเข้ามาในห้องแต่งตัวเพื่อมอบแต่คำพูดดีๆ ให้เท่านั้น เขาไม่เคยตำหนิคุณเลย มีอยู่ครั้งหนึ่ง ไม่นานหลังจากวันเกิดของผม เขาเข้ามาในห้องแต่งตัว พร้อมเค้กก้อนโตและให้ทุกคนร้องเพลงแฮปปี้ เบิร์ธเดย์ให้ผม”
"เขาเป็นคนที่เปล่งประกาย ทุกสิ่งที่เขาจับล้วนแล้วแต่ดีขึ้น” เคลาดิโอ รานิเอรี่ อดีตผู้จัดการทีมเลสเตอร์ ซิตี้ ชุดแชมป์พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2015-16 กล่าวถึง เจ้านายผู้ล่วงลับ
เช่นเดียวกับ เบน ชิลเวลล์ ปราการหลังดาวรุ่ง ที่พูดถึง วิชัย ศรีวัฒนประภา ว่า “ท่านเป็นหนึ่งในบุคคลที่ดีสุดเท่าที่ผมเคยพบเจอมา ท่านทำให้เรามีความสุขเสมอ ด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่ท่านให้กับพวกเราตลอดมา ท่านสร้างสิ่งที่มหัศจรรย์ที่ไม่ใช่แค่กับทีมเลสเตอร์ แต่ยังรวมถึงเมืองนี้ด้วย ท่านทำให้พวกเราทั้งหมดในเมืองเป็นหนึ่งเดียวกัน”
น่าเสียดายที่โลกฟุตบอล จะไม่มีวันได้เห็นรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ของผู้ชายที่ชื่อ วิชัย ศรีวัฒนประภา อีกต่อไปแล้ว แต่อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่เขาฝากไว้ในโลกก่อนสิ้นลม จะยังทรงคงคุณค่า และเป็นประโยชน์อยู่เสมอ ไม่ใช่แค่เฉพาะกับสโมสรฟุตบอลในไทย แต่ยังรวมถึงทั้งโลก
ผ่านความรัก, แนวคิด วิธีการปฏิบัติ รวมถึงความสำเร็จที่จับต้องได้ของ ชายชาวไทย ผู้เคยก้าวไปถึงจุดสูงสุดของลีกฟุตบอลที่ดีสุดในโลกมาแล้ว...
“ผมรู้สึกโชคดีมาก เพราะผมได้ทำในสิ่งที่ผมรัก ... ดังนั้น ผมจึงใส่ความรักลงในทุกสิ่งที่ผมทำ”
อัลบั้มภาพ 15 ภาพ