กาลครั้งหนึ่งในญี่ปุ่น "เลิศชาย อิสราสุวิภากร" กับบันทึกหยดน้ำตาที่ไม่มีใครรู้

กาลครั้งหนึ่งในญี่ปุ่น "เลิศชาย อิสราสุวิภากร" กับบันทึกหยดน้ำตาที่ไม่มีใครรู้

กาลครั้งหนึ่งในญี่ปุ่น "เลิศชาย อิสราสุวิภากร" กับบันทึกหยดน้ำตาที่ไม่มีใครรู้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“วันที่ ชลบุรี บลูเวฟ ได้แชมป์สโมสรเอเชีย พี่กินข้าวไปร้องไห้ไป… เรื่องนี้ไม่เคยมีใครรู้ เพราะพี่ไม่ชอบร้องไห้ให้ใครเห็น”

“Time and tide wait for no man” - เวลาและสายน้ำไม่หยุดรอใคร อาจเป็นคำกล่าวที่คอยย้ำเตือนผู้คนเสมอว่า เมื่อไหร่ที่นาฬิกายังคงเดินต่อไป ก็ไม่มีใครหวนย้อนเวลา กลับไปยังนาทีที่ผ่านมาแล้วได้..

แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า “ความเร็วของเกมฟุตซอล” กับ “เวลาบนหน้าปัดนาฬิกา” สิ่งไหนจะผ่านไปรวดเร็ว เพราะเผลอแป๊ปเดียว… ชายอยู่ที่เบื้องหน้าอย่าง  “เลิศ” เลิศชาย อิสราสุวิภากร อดีตนักฟุตซอลทีมชาติไทย ก็ผ่านอายุเข้าสู่วัย 36 ย่าง 37 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หลายคนยังคงจดจำเขาได้ในฐานะ แข้งโต๊ะเล็กแถวหน้าของเมืองไทยในยุคบุกเบิก หลายคนยังจำข่าวที่เจ้าตัวเซ็นสัญญากับสโมสรชั้นนำของ ญี่ปุ่น ในขณะที่ยังถือครองเพศบรรพชา เป็นพระภิกษุอยู่  แม้แต่บางคนที่อาจไม่รู้ว่า เขายังเล่นอยู่ หรือ ลืมชื่อของเขาไปแล้ว ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อ เจ้าตัวหันหลังให้กับการเล่นทีมชาติมากว่า 2 ปีแล้ว

ถึงกระนั้น เกียรติประวัติในการรับใช้ทีมชาติมาอย่างยาวนาน, ผ่านฟุตซอลโลกถึง 3 สมัย และกวาดแชมป์ทุกรายการในระดับสโมสร กับ ทีม ชลบุรี บลูเวฟ (ธอส.อาร์แบค) และ การท่าเรือ ฟุตซอลคลับ ในปัจจุบัน คงเป็นเรื่องราวที่ไม่อาจลบออกไปจากตัวเขาได้ ไม่ว่าจะด้วยกาลเวลา หรือ สายน้ำ ก็ตาม

 1

ช่วงเช้าภายในสนามโกดัง สเตเดียม ท่ามกลางเสียงเอี๊ยดอ๊าดของพื้นรองเท้าฟุตซอล ที่เสียดสีกับผิวยางพื้นสนาม ในระหว่างการฝึกซ้อมประจำวันของ “สิงห์คลองเตย” การท่าเรือ ฟุตซอลคลับ ชายวัย 36 ปีที่เราพูดถึง ยังคงลงไปวิ่งกับเหล่าผู้เล่นหนุ่มที่เปี่ยมไปด้วยพละกำลัง แม้ท่าทางอาจดูไม่กระฉับกระเฉงมากนักตามวัยที่เพิ่มขึ้น แต่ยังดูมีพิษสง และสายตาของการอ่านเกมยังเฉียบแหลมอยู่ไม่ลดลง

ไม่นานนัก เจ้าตัวก็วิ่งสปรินท์แซงเพื่อนร่วมทีมคราวน้อง หลุดเดี่ยวก่อนแตะหลบผู้รักษาประตู ยิงเบียดเสาแรกเข้าไป เรียกเสียงปรบมือจากดาวเตะรุ่นน้อง ในระหว่างการฝึกซ้อมที่เข้มข้นกินเวลาไปร่วม 2 ชั่วโมงครึ่ง

 2

เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าตลอดการเล่นฟุตซอลที่ยาวนาน มาตั้งแต่ยุคบุกเบิกเมื่อเกือบหลายสิบปีที่แล้ว เขา ผ่านการฝึกซ้อมลักษณะนี้ มาแล้วกี่พันครั้ง เพราะดูเหมือนว่าครั้งล่าสุดที่ได้ไปเห็นด้วยสายตาตัวเอง เลิศชาย ยังดูสีหน้ามีความสุขดี แม้จะต้องหอบร่างกายในวัย 36 ปี มาวิ่งไล่ลูกฟุตซอลที่นับวัน ยิ่งเคลื่อนที่ไปได้เร็ว ตามจังหวะเกม และวิวัฒนาการของกีฬาชนิดนี้

อะไรกันที่ทำให้เขายังต้องตั้งนาฬิกามาปลุกตัวเองทุกเช้า เพื่อไปฝึกซ้อมฟุตซอล ราวกับเด็กหนุ่มทั่วไป ทั้งที่เจ้าตัวก็ผ่านความสำเร็จมาแทบทุกรูปแบบ ซึ่งรวมไปถึงประสบการณ์ในการไปค้าแข้งที่ประเทศญี่ปุ่น ถึง 2 ครั้ง 2 ครา ในช่วงปี 2010-2012

 3

หลังแข้งจอมเก๋าจัดการภารกิจส่วนตัวเสร็จเรียบร้อย เราใช้เวลาช่วงบ่ายจนถึงเย็น เพื่อพูดคุยกับเขา ประโยคหนึ่งที่เราได้ยินบ่อยสุดตลอดการสนทนากับ อดีตผู้เล่น ทีมแชมป์ฟุตซอลลีกญี่ปุ่น 10 สมัย คือคำว่า “นี่คือเรื่องจริง”... จนเราเชื่อเหลือเกินว่าเมื่ออ่านข้อความไปถึงบรรทัดสุดท้าย  คุณอาจจะได้เห็นตัวตนที่แท้จริงของ ตำนานหมายเลข 5 ฟุตซอลทีมชาติไทย มากกว่าที่เคยเห็น และรู้จักเขา ผ่านการดูถ่ายทอดสดบนจอทีวี หรือดูสดๆ ในสนาม

คนบ้าบอลที่เล่นฟุตซอล

“ฟุตซอล ถือว่าเป็นกีฬาที่เปลี่ยนชีวิตมากพอสมควร เมื่อก่อนพี่เป็นแค่เด็กผู้ชายคนหนึ่ง ที่ชอบเล่นฟุตบอลมาก่อน แต่เมื่อมองย้อนกลับไป โอกาสดีๆในชีวิตหลายอย่างของพี่เกิดขึ้นมาจากฟุตซอล จากคนที่ไม่มีอะไรเลย แต่ทุกวันนี้เรามีชีวิตที่พร้อมในทุกๆด้าน ก็ได้มาจากฟุตซอล”

 44

“พี่รู้จักฟุตซอลครั้งแรก ตอนมัธยมฯ (ร.ร.เทพศิรินทร์) เมื่อก่อนมันยังเป็นแค่ทัวร์นาเมนต์เล็กๆ ยังไม่มีรูปแบบอะไรที่ชัดเจน ส่วนใหญ่โรงเรียนต่างๆ ก็จะเอานักฟุตบอลตัวโรงเรียน ไปเตะฟุตซอลด้วย สังเกตดูนักฟุตซอลรุ่นเก่าๆ ทีมชาติ เป็นพวกที่เล่นบอลใหญ่มาก่อนทั้งนั้น ซึ่งพี่คิดว่า ฟุตซอล มันก็เหมือนฟุตบอลแหละ ไม่น่ายาก แค่สนามมันเล็กลง”

“พอได้มาสัมผัสจริงๆ ก็รู้สึกสนุกดี เพราะเกมมันเร็ว และอีกหนึ่งมันสามารถทำประตูได้ตลอดเวลา ก็เป็นเสน่ห์ที่ทำให้เราเริ่มสนใจกีฬาฟุตซอล แต่สมัยนั้นยังไม่มีลีกอาชีพ พี่ไปเตะฟุตซอลเดินสายบ้าง จากนั้นก็ถูกเรียกเข้ามาติดทีมชาติตอนอายุ 20 โดยเริ่มจากชุด B ที่เขาจะหยิบเอาพวกดาวรุ่งไปรวมทีมกัน เพื่อเอามาเป็นตัวแทนพวกพี่ๆในอนาคต แต่ก็ยังเล่นทั้งฟุตบอลและฟุตซอลพร้อมกันอยู่หลายปี”

“พี่เคยเล่นให้ การท่าเรือ ชุดเยาวชน และก็เล่นโปรลีก จนขยับมาเล่นดิวิชั่น 2 ดิวิชั่น 1 กับ ปตท. ถึงอายุ 25 ทางสโมสร ก็ให้พี่ตัดสินใจเลือกทางไหนสักทาง เพราะเวลาซ้อมมันคาบเกี่ยวกันกับฟุตซอลทีมชาติ ปีนั้น (2007) พอดีเป็นจังหวะที่มีลีกฟุตซอลเกิดขึ้น รายได้ที่ได้จากสโมสร กับโบนัสตอนทีมชาติ มันก็ไม่ได้หนีกับที่เราได้จากฟุตบอล ก็เลยเลือกเดินสายฟุตซอลยาวเลย อีกอย่างมันเป็นเกียรติยศของเราด้วยที่ได้เล่นให้กับ ทีมชาติไทย”

“ตอนแรกพี่เล่นตำแหน่ง หน้าเป้า ให้กับทีมชาติ ยุคนั้นก็จะเป็นตัวสอดแทรกของพี่บัง อนุชา มั่นเจริญ กับ พี่ประเสริฐ อินนุ้ย พอหลังจากพี่เอ๋ พัทยา เปี่ยมคุ้ม เลิกเล่นทีมชาติ พี่ก็ขอสตาฟฟ์โค้ช เล่นตำแหน่งตัวรับ รายการแรกที่เปลี่ยนตำแหน่ง ทำผลงานได้ดี  ไทย เอาชนะ อิหร่านชุดใหญ่ ชนะจีน เสมอ ฮอลแลนด์ ในฟุตซอลชิงเงินรางวัล ที่มาเลเซีย ก็เลยยึดตำแหน่งตัวรับมาโดยตลอด”

 5

“แต่ตอนนั้นไม่เคยคิดหรอกว่า วันหนึ่งเราจะได้ไปเล่นลีกต่างประเทศ ฟุตซอลเมื่อหลายสิบปีก่อน ยังไม่ได้เป็นกีฬาที่แพร่หลายมาก ยังไม่ชัดเจนมากนัก เพราะทัวร์นาเมนต์ใหญ่ อย่างชิงแชมป์อาเซียน ชิงแชมป์เอเชีย นานๆจะมีจัดที รวมถึงฟุตซอลโลก ซึ่งเป็นรายการที่เปิดโลกฟุตซอลให้กับพี่อย่างมาก”

สู่เวทีโลก

“พี่เล่นฟุตซอลโลก ครั้งแรก ตอนปี 2004 ที่ประเทศไต้หวัน ครั้งนั้นทำให้พี่ได้เห็นฟุตซอลในอีกโลกหนึ่ง ที่เราไม่เคยเห็นในเมืองไทย เราไม่เคยเห็นลูกเซ็ทเพลย์ ไม่เคยเห็นการเล่นที่เป็นรูปแบบ หรือแม้กระทั่งความสามารถเฉพาะตัวของผู้เล่นระดับสูง เราไปแบบที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ต้องเล่นแบบไหน ในพื้นที่ไหน จนมาเห็นชาติอื่นเล่น ก็รู้สึกเหมือนว่า เราเรียนอยู่ชั้นประถม แต่เขาเรียนระดับมหาลัยกันแล้ว เพราะพวกวิธีการเล่นแบบนั้น เราไม่มีองค์ความรู้ไง”

 6

“เราไม่ได้ผิดนะ ที่เราไม่รู้ แต่เขารู้ ต้องยอมรับว่า ฟุตซอลบ้านเราตอนนั้น ยังเรียนไปไม่ถึงเขาไง พูดแบบง่ายๆก็คือ ได้เห็นเลยว่า เราสู้เขาไม่ได้ เพราะเรายังขาดองค์ความรู้ ความเข้าใจ แท็กติก แบบที่ชาติอื่นมี”

“ครั้งนั้น เราอยู่สายเดียวกับ บราซิล เช็ก และ ออสเตรเลีย ซึ่งเราก็มีโอกาสเกือบเข้ารอบเหมือนกัน เพราะชนะออสเตรเลีย น่าเสียดายที่ไปแพ้ เช็ก ทั้งที่เกมนั้นเราขึ้นนำก่อนด้วย ส่วนบราซิลต้องยอมรับเลยว่า ชุดนั้นดีแทบทุกตำแหน่ง สไตล์การเล่นของพวกเขา เปิดโลกให้กับเรามาก คือเกิดมาไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อนเลย”

“หลังจบรายการนั้น ทีมชาติไทย ก็จ้างโค้ชจากสเปน (ปูลปิส) เข้ามาคุมทีม ซึ่งแตกต่างจากโค้ชก่อนๆที่มาจากอเมริกาใต้ ตรงที่จะเน้นให้เราเรียนรู้การเล่นอย่างเป็นระบบ และรูปแบบการเล่นที่ค่อนข้างชัดเจน เช่น เวลาขึ้นบอล เมื่อบอลอยู่ตรงนี้ แต่ละคนควรจะเคลื่อนที่ไปยังจุดไหนบ้าง เราก็รู้สึกว่า นี่แหละคือสิ่งที่พวกเรากำลังตามหา และอยากได้คือ เรื่องระบบ ซึ่งทางยุโรปเขาจะเด่นเรื่องนี้กว่าทางอเมริกาใต้ ที่เน้นใช้ความสามารถเฉพาะตัว บวกกับรูปแบบการขึ้นเกมนิดหน่อย”

“แต่พอถึงฟุตซอลโลก 2008 กลายเป็นว่า พวกเราอินกับระบบมากเกินไป เหมือนทุกคนเล่นเป็นออโตเมติก เล่นตามที่โค้ชบอกมากเกินไป จนไม่เป็นตัวของตัวเอง บางจังหวะเราเห็นว่าน่าจะทำแบบนี้นะ แต่ก็ไม่กล้าทำ เพราะกลัวไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โค้ชปูลปิส ก็พยายามบอกว่า สิ่งที่เขาสอนคือ แนวทางในการเล่น แต่ในสถานการณ์จริง เราสามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยคงคอนเซปท์ วิธีการเล่นไว้ ผลงานเลยออกมาไม่ค่อยดีนัก ต้องใช้เวลาอีกพอสมควร กว่าหลายๆอย่างจะเข้าที่เข้าทาง”

“หลังจบฟุตซอลโลก 2008 หลายๆชาติก็เริ่มมีการพัฒนาลีกฟุตซอลอาชีพ แต่ส่วนใหญ่ในเอเชียตอนนั้น มันยังไม่เป็นลีกอาชีพระยะยาวเลย แม้กระทั่งที่ญี่ปุ่นเอง เขาเริ่มจัดตั้งลีกปี 2007 ยุคแรกเริ่มมีแค่ 6 ทีมเอง กว่าจะทำจริงจังและเริ่มขยายฤดูกาลให้ยาวนานขึ้นก็เข้าปี 2009-2010 แล้ว”

“มันเป็นไปได้ยากที่เราจะได้ไปเล่นต่างประเทศ เพราะเราต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ระดับฝีเท้าอย่างเรา คงไม่น่าจะไปถึงระดับลีกยุโรป ที่หลายประเทศ เป็นลีกอาชีพจริงจังแล้ว เราไม่ใช่บราซิลนะที่จะสามารถปั้นนักเตะไปเล่นลีกต่างๆของโลกได้ ก็ต้องยอมรับความเป็นจริง เราก็ก้มหน้าก้มตา พัฒนาตัวเองต่อไปในทุกๆรายการที่ลงเล่น”

“จนเกิดจุดเปลี่ยนในเอเชียนอินดอร์เกมส์ 2009 ที่เวียดนาม บังเอิญว่ารายการนั้น เคียวเฮ นากามูระ โค้ชของ ฟูจู แอธเลติก เขารับงานคุมฟุตซอลหญิงทีมชาติญี่ปุ่น ไปแข่ง แล้วก็ติดผ่านทางพี่ป๋อม ส่วนพี่ไม่รู้เรื่องเลย ก็ไปแข่งให้ทีมชาติไทยตามปกติ”

 7

“ระหว่างนอนพักอยู่ในโรงแรมตามปกติ พี่ป๋อม (อดิศักดิ์ เบญจศิริวรรณ) ก็เดินเข้ามาในห้องพัก มาบอกกับพี่ว่า “เลิศๆ เนี่ยมีทีมจากลีกญี่ปุ่น เขาสนใจ เอ็งอยากไปเล่นไหม เขาจะให้ไปทดสอบฝีเท้าที่นั่น” ด้วยความที่เราก็งงๆ ไม่รู้กันเหมือนว่า เขาเข้ามาเห็นเราตอนไหน ชอบอะไรในตัวเรา ก็ตบปากไปว่า “ได้ครับ” จนมีการพูดคุยกัน และติดต่อกัน จากนั้นก็เดินทางไปที่ญีปุ่่น เป็นเวลาสองสัปดาห์ ในช่วงก่อนปิดฤดูกาล”

ฟูจู ในครึ่งเวลาแรก

“พี่บินไปที่สโมสรฟูจูฯ ที่ตั้งอยู่ในเมืองโตเกียว เพื่อไปทดสอบฝีเท้า และทำเวิร์กเพอร์มิต พอหมดวีซ่า 15 วันก็เดินทางกลับไทย ที่นี้ทางญี่ปุ่นเขาก็หายไปเลยเกือบ 4 เดือน จนเราคิดว่าเขาคงไม่เอาเราแล้วล่ะ สุดท้ายเขาติดต่อกลับมา พี่จึงบินไปเซ็นสัญญาที่โน่นนะ ไม่ได้เซ็นที่ไทย”

 8

“พี่ไปด้วยตัวคนเดียว ไปแบบไม่มีล่าม ไม่มีเอเยนต์ ไปถึงวันแรกๆก็งงเหมือนกัน เพราะเราพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้เลย ภาษาอังกฤษพอได้นิดหน่อย โชคดีที่ได้เจอคนไทยในญี่ปุ่น เขาติดตามข่าวเราอยู่ ก็มาช่วยดูเรื่องเอกสาร แปลภาษาให้บ้าง หาที่พักให้ พาไปรู้จักเมือง ร้านอาหาร แม้แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตแบบไทย ก็มีนะ ขายทุกอย่างเหมือนบ้านเรา สะตอยังมีเลย (หัวเราะ)”

“แนะนำเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันว่า ควรทำอะไร ยัไง เพราะที่ญี่ปุ่นบ้านเมืองเขาเป็นระเบียบ อย่างการทิ้งขยะ เขาจะกำหนดเลยว่า วันไหน ช่วงเวลาไหน แล้วทิ้งยังไงด้วยนะ สมมุติบ้านเรากินน้ำดื่ม 1 ขวด เวลาจะทิ้ง อย่างเต็มที่เลยนะ ก็แค่หยอดลงถังที่เขียนว่า ขวดพลาสติก ใช่ไหม? แต่ที่ญี่ปุ่น ก่อนทิ้ง คุณต้องหมุนฝา แกะพลาสติกข้างขวดออกก่อนนะ แยกส่วนกัน มันคือวิธีการแยกขยะ เพื่อนำไปรีไซเคิลของเขา”

“หลังจากนั้นวิธีการปรับตัวของพี่ คือพยายามสังเกตเยอะๆว่า คนญี่ปุ่นเขาทำอะไร ช่วง 2-3 สัปดาห์แรก พี่สังเกตหมดเลยว่า บ้านเมืองเขาเป็นอย่างไร จะขึ้นรถไฟก็ต้องรู้ว่า สีไหนเป็น ขบวนรถเร็ว ขบวนรถช้า บางวันก็สะพายเป้ เข้าไปในตัวเมืองโตเกียว ไปดูว่าในเมืองเขาเป็นอยู่กันอย่างไร เพราะว่าเขตที่พี่อยู่ มันเป็นย่านที่พักอาศัยที่เป็นชานเมือง ก็จะไม่เหมือนในโตเกียวซะทีเดียว”

“บางวันตอนเช้าแดดเปรี้ยงเลย แต่คนแถวนั้นถือร่มออกมา พี่ยังขำเลยตอนแรกว่า จะถือร่มมาทำไม อ๋อ เขารู้วันนี้ช่วงบ่ายฝนจะตก เขามีแจ้งเตือนพยากรณ์อากาศผ่านแอพฯ ทุกคนก็จะเช็กจากตรงนี้ วันหลังพอเรารู้ก็ได้เตรียมพร้อมไว้บ้าง”

 9

“อาการคิดถึงบ้านมันก็มี แต่พี่เป็นไม่นาน แค่เดือนเดียว เพราะเรายังอยู่ในช่วงปรับตัว และอยู่ตัวคนเดียวด้วย ยังไม่ค่อยรู้จักคนไทย ช่วงเวลาที่มีความสุขสุด ก็คือ ตอนซ้อม เพราะเราได้เจอคน แต่พอกลับมาถึงบ้าน มันก็เหงา”

“หลังจากแข่งไปได้สัก 2-3 นัด ก็มีคนไทยมาตามดู จากนั้นพี่ที่ชื่อเอ็ม เขาก็เริ่มพาไปทำความรู้จักพวกคนไทยที่ทำงานในโตเกียว เช่น นักเรียนไทยที่เรียนอยู่ในโรงเรียนวิศวะ เขาแนะนำหลายๆอย่างให้เรา เราก็มีสังคมคนไทย วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ไม่มีเกม ก็จะไปหาพวกน้องๆ ไปพูดคุย ไปกินข้าว ไปเตะบอลกัน คราวนี้ก็ไม่โฮมซิกแหละ เพราะเราปรับตัวได้แล้ว”

“แต่ต้องยอมรับว่าสังคมคนไทยในญี่ปุ่น มันมีทั้งด้านที่ดี และด้านที่ดาร์กเหมือนกันนะ สังคมคนที่ทำงานอาชีพดีๆ เงินเดือนสูงๆ ก็จะเป็นอีกแบบ สังคมคนที่ทำงานร้านอาหาร ร้านเหล้า ร้านนวด คาราโอเกะ ก็จะเป็นอีกแบบ สังคมนักเรียนก็ต่างออกไป”

“ถ้าเป็นเรื่องในสนาม มันให้ความรู้สึกที่แปลกออกไป เราไม่เคยเล่นลีกอาชีพจริงๆเลย ไม่รู้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ซึ่งเราก็ต้องพยายามปรับตัวอยู่กับเขาให้ได้ หันไปรอบข้างไม่มีคนไทยเลย เราจะอยู่อย่างไร”

“ช่วงแรกๆที่ย้ายไป มีเพื่อนร่วมทีมแค่บางคนเท่านั้นแหละที่โอเคกับเรา อาจจะด้วยเขาคิดว่าตัวเองก็มีดีเหมือนกัน ฟุตซอลไทยกับญี่ปุ่น ก็สูสีกัน เขาต้องคิดว่าตัวเองดีไม่แพ้เรา มันเป็นเกมของลูกผู้ชายจริงๆ ที่สู้กันในสนาม เพื่อพิสูจน์ว่าใครดีกว่ากัน แข่งขันภายในทีม ภายใต้ยกฏ กติกา ความสามารถ”

“เพราะเกมๆหนึ่ง แต่ละสโมสรสามารถส่งรายชื่อได้แค่ 12 เกมต่อนัด ทีมฟูจู มีนักเตะประมาณ 15 คน + 2 คนเยาวชน ที่ลีกบังคับต้องมีไว้ในทีม ที่ในทุกๆเกมจะต้องใส่ชื่อเยาวชนไว้ใน Bench อย่างน้อย 1 คน ตัดประตูไปอีก 2 คน เท่ากับว่าเหลือโควต้า 9 คนสำหรับผู้เล่นคนอื่นๆ ที่เราต้องแข่งขันด้วย”

 10

“สิ่งหนึ่งที่เราต้องทำความเข้าใจก็คือ เราไม่สามารถเล่นตามใจตัวเองได้ เราไม่สามารถเอาตัวเองไปปรับทิศทางได้ ฉะนั้นตัวเรานี่แหละ ที่ต้องปรับให้เล่นกับเขาได้ เพราะระบบ รูปแบบการเล่นของทีมชาติไทย กับ ทีมฟูจู ไม่เหมือนกันเลย”

“นักเตะแต่ละคนอีโก้ไม่เหมือนกัน อย่างพวกที่เคยเล่นทีมชาติญี่ปุ่น เขาคุ้นเคยกับพี่อยู่แล้ว แต่คนอื่นๆ บางทีเราไปคุยด้วยจะถามว่า เขาชอบเล่นสไตล์ไหน เราจะปรับให้เข้ากับคุณ เขาก็ทำเป็นไม่สนใจ ไม่ได้ยินคำพูดเรา พี่เลยคิดว่า วิธีการที่จะทำให้ เพื่อนร่วมทีมทุกคนยอมรับเราได้ มันไม่ใช่คำพูดแล้วไง แต่เราต้องไปลงเล่นให้มันดูเลยว่า เฮ้ย กูเล่นกับมึงได้นะ กูช่วยทีมได้นะ”

“บางจังหวะ พี่หลุดเดี่ยวไป แต่มันก็ไม่จ่ายให้พี่ พี่เลยคิดว่า ไม่เป็นไร พอเราได้บอลในมุมที่ยิงได้ กูจ่ายให้มึง บางจังหวะที่เขาทำบอลเสีย แล้วไม่ลงมาไล่ พี่ไล่เอง เหมือนเป็นการผูกมิตรก่อน ถ้าเราอยากได้อะไรจากเขา เราก็ต้องเริ่มจากการเป็นคนให้ก่อน ก็ให้ตลอด จนแบบมันคงอายเราอ่ะ เลยให้คืนบ้าง พี่ใช้วิธีนี้กับนักเตะทุกคน พอถึงจุดหนึ่ง เพื่อนร่วมทีมเขาก็ยอมรับว่า เราเล่นได้จริงๆนะ”

 11

“แต่สิ่งที่พวกนักกีฬาอาชีพญี่ปุ่นซีเรียสที่สุด คือเรื่องอะไรรู้ไหม? เรื่องมาสาย พี่เจอกับตัวครั้งหนึ่ง แล้วเป็นครั้งเดียวที่มาสาย วันนั้นทีมนัดซ้อม 9 โมงเช้า พี่ก็ตั้งนาฬิกาตอนเช้าตามปกติเลย แต่พอเสียงนาฬิกาดังขึ้น พี่เผลอไปกดปิด แล้วหลับต่อ ตื่นมาอีกทีคือตอนที่โค้ชโทรถามว่า ยู อยู่ไหน พี่แต่งตัวไปสนามเลย สายไปประมาณชั่วโมงกว่า เชื่อไหมว่าทีมซ้อมตามปกติ แต่ทุกคนทำเหมือนพี่ไม่มีตัวตนเลย เขาไม่สนใจพี่ ตอนนั้นรู้สึกผิดมากๆเลย เหมือนว่าเราไม่ให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน ในการมาซ้อมสาย”

“ถ้าเป็นบ้านเรา มาสายกันเป็นเรื่องปกติเลย แค่ขอโทษกับหาเหตุผลนิดหน่อย ฝนตก รถติด มีธุระ ก็ได้แล้ว แต่ที่โน่นไม่ใช่เลย มีอยู่ครั้งหนึ่งคนนี้เป็นนักเตะที่อยู่กับทีมมานานแล้ว ไม่เคยมาสายเลย แต่วันนั้นไม่รู้เป็นอะไร มันมีนาฬิกาแขวนอยู่ที่สนาม อีก 1 นาทีจะถึงเวลาที่เขานัด 9 โมงเช้า เขากำลังเรียกรวมทีม ไอ้นี่ขับรถมาถึงสนามแล้วนะ มันรีบจอดรถ ทุกคนก็ลุ้นว่ามันจะมาทันไหม สรุป มันวิ่งสุดชีวิตเลย มาทันเข้าแถวพอดี”

 12

“ลีกฟุตซอลอาชีพญี่ปุ่น ตอนนั้น มันก็พออยู่ได้ รายได้อาจเทียบกับ J.League ไม่ได้อยู่แล้ว แต่พวกสวัสดิการอื่นๆจากสโมสร เช่น เขาออกค่าเช่าบ้าน โทรศัพท์ อินเตอร์เน็ตให้ มีแค่ภาษีเราต้องจ่ายเอง แล้วก็มีโบนัสในแต่ละเกม นัดหนึ่งถ้าชนะก็จะได้ 10,000 เยน ถ้าเดือนหนึ่งเราแข่ง 4 แมตช์โดยชนะรวด เราก็ได้ 40,000 เยน เราสามารถใช้เงินตรงนี้ได้เลย โดยไม่ต้องใช้เงินเดือน เพราะพี่ไม่ใช่คนที่ชอบออกไปเที่ยวอะไรไง วันๆก็อยู่ บ้าน - สนามฟุตซอล - บ้าน - สนามฟุตซอล วนอยู่แบบนี้”

“ด้วยความที่พี่ย้ายไปก่อนเปิดฤดูกาลแค่ 2 สัปดาห์ ทำให้ช่วงแรกโค้ชนากามูระ ยังไม่ค่อยกล้าใช้งานพี่ พี่ไม่ได้อยู่ใน ชุด 1 ชุด 2 เลยนะ เป็นแค่ตัวเสียบ หมายความว่า เกมหนึ่ง พี่จะได้ลงเล่นแค่ครึ่งละ 5 นาทีเท่านั้น แต่ด้วยความที่เราเคยผ่านแรงกดดันสมัยซ้อมกับ ปูลปิส มาเยอะ คือมันเคยหนักกว่านี้ ก็เลยทำใจยอมรับได้ว่า เราเป็นมืออาชีพ คุณจ้างผมมา คุณไม่ใช้งานไม่เป็นไร แตถ้าคุณให้ผมลงสนาม ผมก็เล่นเต็มที่ทั้งนั้น ไม่ว่าจะกี่นาที”

“พี่เป็นตัวเสียบอยู่ประมาณ 5 เกมแรก หลังจากนั้นเกิดจุดเปลี่ยนในเกมที่ 6 ไปเยือน โชนัน เบลมาเร  แมตช์นั้นพี่ยิง 2 ประตู ทีมชนะ 6-2 ตั้งแต่นั้นมา พี่ก็ได้ลงสนามบ่อยขึ้น แทรกมาอยู่ชุด 1 ชุด 2 โค้ชนากามูระ เขาเคยมาพูดตอนหลังว่า ที่ช่วงแรกเขาไม่ส่งลงเล่น เพราะต้องการให้เรามีเวลาปรับตัว”

“พี่ก็คิดเหมือนกันว่า เท่าที่สัมผัส เรื่องฝีเท้าไม่ได้ห่างกันเท่าไหร่ เรารู้วิธีการเล่นฟุตซอลแล้ว เพียงแต่อาจต้องรอเวลาเพื่อเรียนรู้เพื่อนร่วมทีม รวมถึงการยอมรับจากคนในทีม เพราะฟุตซอลเป็นกีฬาที่เล่นคนเดียวไม่ได้ไง แล้วมันก็เป็นเรื่องใหม่มากๆ สำหรับคนญี่ปุ่น ที่มีคนไทยไปเล่น F.League (ลีกฟุตซอลอาชีพญี่ปุ่น) แม้แต่กองเชียร์ แรกๆ เขาก็งงๆนะ ว่าเราเป็นใครมาจากไหน ปกติญี่ปุ่นเขานำเข้าต่างชาติแต่พวกอเมริกาใต้”

 13

“พอเราเริ่มมีผลงาน เขาเริ่มรู้จักเรา แฟนคลับฟูจูบางคนก็ทำขนมมาให้กินเป็นถังเลย เอาธงชาติไทยมาติดที่่สนามบ้าง ส่วนเรื่องสื่อญี่ปุ่น เขาไม่ได้สนใจเรามากขนาดนั้น เขาพยายามพุ่งเป้าที่ ปูลปิส มากกว่า โดยปกติหลังจบเกม นักเตะต้องเข้าห้องแถลงให้สัมภาษณ์กับสื่อ นักข่าวญี่ปุ่นเขาจะถามเราตรงๆแหละว่า ยู มาเล่นที่นี่ได้ยังไง? ใช้เส้นสายของปูลปิสหรือเปล่า? โค้ชทีมชาติคุณอะเก่งจริงไหม? หรือบางคำถามที่เลี่ยงได้ก็ต้องเลี่ยง เช่น คุณคิดว่า ไทย กับ ญี่ปุ่น ใครเก่งกว่ากัน? แม้กระทั่งถามว่า ดีลนี้เป็นเรื่องของธุรกิจหรือเปล่า?”

“ถึงเราบอกว่าเขามันไม่เกี่ยวกับธุรกิจ แต่เราก็ห้ามความคิคคนไม่ได้หรอก ถ้าเราตั้งใจเล่นในสนามให้ดีที่สุด ให้มีผลงานออกมา ก็น่าจะทำให้ข้อสงสัยพวกนี้หายไป ผมไม่รู้เหมือนกันว่า เจ้าของทีม, ผู้จัดการทีม ฟูจู แอธเลติก เขาต้องการอะไรในตัวผม เพราะภาษาเราก็ไม่ได้คล่องขนาดนั้น ทำได้แค่พยายามเล่นดีที่สุดเท่านั้นพอ”

ฟูจู ในครึ่งเวลาหลัง

“ผลงานทีมดีขึ้นตามลำดับ เพราะว่าช่วงเลกสอง เราแทบจะไม่แพ้ใครเลย แพ้คู่แข่งน้อยมาก ในบรรดาสามเลก เลกสองถือว่าเป็นเลกที่ผลงานดีสุดเลย จบอันดับ 2 ของตาราง ตามหลัง นาโกยา แค่ไม่กี่คะแนนเท่านั้น รวมถึงได้เป็นทีมวางบอลถ้วย พูมา คัพ”

 14

“แต่จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในช่วงเลกสาม ด้วยความที่ช่วงเบรกระหว่างเลกสอง กับเลกสอง มันนานพอสมควร พี่เดินทางกลับมาเล่นเกมอุ่นเครื่องให้ ทีมชาติ 2 นัด หลังจากนั้นผลงานทีมเริ่มแกว่ง ด้วยศักยภาพและขุมกำลังของ ฟูจู มันยืนระยะสู้ นาโกยา ไม่ได้ ก็มาแผ่วปลาย จบฤดูกาลด้วยอันดับ 4”

“เปรียบเทียบง่ายๆ นาโกยา เขามีผู้เล่น 14 คนที่แน่นๆเลย ปีนั้นมี ตัวทีมชาติญี่ปุ่น 6 คน รวมผู้รักษาประตู, นักเตะต่างชาติ 4 คน, นักเตะถือสองสัญชาติ ญี่ปุ่น-อาร์เจนตินา ชื่อมาร์ติน คนนั้นถูกนับเป็นญี่ปุ่น ประตูสำรองอีก 1 คน นักเตะเยาวชน 2 คน”

“สมมุติ ถ้าผู้เล่นตัวหลักคนไหนของ นาโกยา มีอาการบาดเจ็บ คนอื่นๆในทีมก็สามารถทดแทน แต่เทียบกับ ฟูจู เรามีผู้เล่นทีมชาติญี่ปุ่นแค่ 4 คน จะมีตัวหลักที่ใช้งานได้จริงๆ อยู่แค่ 6-7 คนเท่านั้น ที่เหลือก็ต้องไปลุ้นในสนามว่า วันนั้นลงไปแล้วเขาจะเล่นได้ดีไหม”

“เราจึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลด้วยตัวเองเพิ่มเติมก่อนแข่งด้วย นอกเหนือจากวิดีโอเกมการเล่น และข้อมูลที่ทีม สเกาท์ให้มาแล้วส่วนหนึ่ง เช่น พี่เล่นตำแหน่งตัวรับ ตำแหน่งที่พี่ต้องเจอบ่อยสุดคือ หน้าเป้า ก็ต้องไปหาเจาะดูเทป วิเคราะห์ว่า ธรรมชาติของเขาเป็นอย่างไร เล่นสไตล์ เวลาได้บอลชอบยิง หรือ จ่าย ถ้ายิง ยิงจังหวะแรก หรือหลอกยิงจังหวัดสอง จะไม่มีการวัดดวงแล้วลงไปเจอในสนาม มันเป็นสิ่งที่เราต้องศึกษามาตั้งแต่ก่อนเกมเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ”

“ยกเว้นทีมที่เราเจอมันใหม่มาก จนเราไม่สามารถหาเทป หรือหาข้อมูลมาได้ ก็จำเป็นต้องอาศัยการสังเกตพฤติกรรมของผู้เล่นคู่แข่ง ตั้งแต่เดินลงสนาม วอร์ม วิ่ง ดูว่าเขาทำอะไร จะเล่นลักษณะไหน ประมาณ 4-5 นาทีแรก ในเกม ก็น่าจะเริ่มอ่านทางคู่แข่งได้ เพราะธรรมชาติของคน มันจะทำอะไรซ้ำๆเดิมๆ ไม่หนีไปจากสิ่งที่ตัวเองคุ้นเคยมากมายหรอก”

“ถ้าเราจับทางเขาได้ก่อน ก็ได้เปรียบ มันเป็นเกมที่ชิงไหวชิงพริบกัน  สมมุติมีลูกสูตร 10 ลูก บางทีมที่เราเห็นจุดอ่อนเขา เราใช้แค่ลูกเดียว ในจังหวะที่คู่แข่งตั้งตัวไม่ทัน และยังแก้ทางเราไม่ได้ ก็ได้ประตูเรื่อยๆ”

 15

“พี่ว่าฟุตซอลมันมีความคล้ายคลึงกับ บาสเกตบอล สังเกตดูดิ ตัวรีบาวด์ข้างใน เหมือนผู้เล่นตำแหน่งตัวเป้าของฟุตซอล เพราะพวกนี้จะเก่งใต้แป้น ในพื้นที่ทำคะแนน บางทีวิ่งแล้วแตะ ครองบอลอยู่กับตัวไม่นาน หรือการจ่ายแบบโอเวอร์แลป พี่ว่ามันมีหลายๆอย่างของฟุตซอล ที่เหมือนกับ บาสฯ”

“ปีนั้นบอกได้เลยว่า F.League บูมที่สุด เพราะหลังงานประกาศรางวัลต่างๆ ญี่ปุ่น เขาจะมีการเปิดยอดตัวเลขสถิติต่างๆ ขึ้นบนจอให้เห็นเลยว่า ยอดคนดูเพิ่มขึ้นหรือลดลง เพื่อนำไปประเมินและพัฒนาต่อไป ถ้าลีกบูมขึ้น บูมขึ้นเพราะอะไร ถ้าลดลง เกิดจากสาเหตุอะไร แล้วนำไปแก้ไข ญี่ปุ่น เป็นสังคมที่ยอมรับความเป็นจริง เพราะไม่มีอะไรในโลกที่มันจะอยู่สูงสุดไปได้ตลอดเวลาหรอก มีขึ้นก็ต้องมีลง เป็นเรื่องธรรมดา”

“แต่ส่วนหนึ่งที่ทำให้ ปีนั้น F.League ได้รับความนิยมขึ้นมา ก็มาจาก ริคาร์ดินโญ ซึ่งเวลานั้นกำลังเป็น ซูเปอร์สตาร์ทีมชาติโปรตุเกส ย้ายมาเล่นให้กับ นาโกยา โอเชียนส์ เขาไปเปิดมิติบางอย่างให้วงการฟุตซอลญี่ปุ่นได้เห็น ลูกบางลูก จังหวะบางจังหวะที่เขาทำได้อย่างสวยงาม ซึ่งคนไทยอาจจะไม่เห็นความเก่งกาจของเขาในปีนั้น เพราะที่นั่นไม่ได้มีถ่ายทอดสดและฟรีๆ ใครที่อยากดูถ่ายทอดสด ก็ต้องจ่ายเงิน ทุกอย่างเป็นลิขสิทธิ์หมด”

“การมาของ ริคาร์ดินโญ ทำให้ลีกฟุตซอลญี่ปุ่น ที่เริ่มต้นพร้อมๆกับเรา (ปี 2007) ตื่นตัวขึ้นมา พี่กล้าพูดได้เลยนะว่า พี่รู้สึกโคตรอยากลงไปเล่นแล้วเจอ ริคาร์ดินโญ ต่อให้รู้ว่าเกมนั้นจะแพ้นะ ก็ยังอยากเล่นอยู่ มันเหมือนเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่ว่า เราเป็นนักฟุตซอลไทย โอกาสที่จะได้ดวลกับนักฟุตซอลระดับโลกอย่าง ริคาร์ฯ ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ก็อยากจะรู้เหมือนกันว่า เราจะเอาเขาอยู่ไหม หลอกเขาได้หรือเปล่า”

“แม้ว่าจะแพ้ทั้งสองนัดที่เจอกัน แต่ไม่เคยรู้สึกเสียใจเลย ยิ่งเกมที่ไปเยือนที่ สนามของนาโกยา บรรยากาศเกมนั้น โคตรสนุก ครึ่งแรกสู้ได้ ยังเสมอกันอยู่ แต่ครึ่งหลังมาเกิดจุดเปลี่ยนที่โดน ริคาร์ดินโญ เปลี่ยนเกม จนเราโดนยิงรวดเดียว 4 ประตู”

“ซึ่งลูกสุดท้ายก่อนหมดเวลา เป็นจังหวะที่ ริคาร์ฯ ตัดบอลจากครึ่งสนาม แล้วดีดด้วยไซด์ก้อยปุ๊บ มันวิ่งไปที่ อุโมงค์ตรงกลางสนามเข้าห้องแต่งตัวเลยนะ คือถ้าเป็นละครก็เหมือนจัดฉากจบให้กับ ริคาร์ดินโญ เป็นช็อตที่เนียนตาและคลาสสิกมาก มันเป็นความพ่ายแพ้ที่โคตรมีความสุขเลย และไม่มีอะไรต้องติดใจ เพราะเราแพ้ด้วยระบบ ด้วยความสามารถของเขาจริงๆ”

“พูดตามตรงว่าดีลนี้ นาโกยา โอเชียนส์ โคตรคุ้ม สิ่งที่ได้กลับมานั้น ทั้งฟอร์มการเล่น ผลงานทีม การตลาด-ประชาสัมพันธ์ การขายสินค้าที่ระลึก พวกซีดี หนังสือที่มีแต่รูป ริคาร์ดินโญ เล่มหนึ่งตกเกือบ 1,000 เยน แม้แต่การเอาตัว ริคาร์ดินโญ ไปสอนฟุตบอลให้เด็ก มันคุ้มเงินค่าตัว เงินค่าเหนื่อย ที่จ่ายไปอีก”

 16

“เรื่องรางวัลผู้เล่นต่างชาติหน้าใหม่ยอดเยี่ยม ที่ผมได้รับ จริงๆเขาจะมอบให้ ริคาร์ฯ ก็ได้นะ เพราะเราเป็นต่างชาติที่ย้ายมาเล่นที่ ญี่ปุ่น ปีเดียวกัน เพียงแต่ที่เขาเลือกเรา น่าจะเป็นเพราะเขาให้เกียรติเรามากกว่า เพราะสุดท้ายแล้ว ริคาร์ดินโญ ไปได้รางวัลที่ใหญ่กว่าอย่าง นักเตะยอดเยี่ยมประจำฤดูกาล ซึ่งงานประกาศผลที่นั้นจะมีแยกหลายรางวัล”

“ถ้าฟุตบอลมันก็จะมีรางวัล ทีมยอดเยี่ยม ที่มอบให้ 11 นักเตะในแต่ละตำแหน่งใช่ไหม ที่นั่นก็มีเหมือนกันรางวัล 5 ผู้เล่นยอดเยี่ยม (Best 5) ซึ่งเป็นรางวัลที่เขาเปิดโอกาสให้ นักกีฬาและสตาฟฟ์โค้ชทุกคนในลีกสูงสุด มีส่วนร่วมในการเลือก 5 ชื่อ ในแต่ละตำแหน่ง โดยห้ามเลือกตัวเอง บังเอิญว่าผมก็มีชื่อเข้าไปติดในรอบ 15 คนสุดท้าย (ตำแหน่งละ 3 คน) แต่ไม่ได้เป็น Best 5 ในตำแหน่งตัวรับ”

“ส่วนตัวพี่มองว่ามันเป็นวิธีการเลือกที่แฟร์มากนะ แล้วทั้ง 5 คนที่ได้รับเลือก ก็เป็นคนที่ทุกคนยอมรับอยู่แล้วว่า ผลงานดีจริงๆ เพราะว่าที่ญี่ปุ่นเขาค่อนข้างซื่อสัตย์ ว่ากันด้วยผลงานเลย ไม่มีเรื่องพวกพ้องเข้ามาเกี่ยว พี่ว่ามันดีกว่าการตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาแล้วเลือก คำถามคือ แล้วคณะกรรมการฯ พวกนั้นเคยมาดูที่สนามครบทุกนัดไหม มันก็เกิดข้อถกเถียงขึ้นมาได้”

 17

“หรือถ้าจะทำแบบสองพาร์ท คือ มีกรรมการเลือกด้วย แล้วก็ให้ นักเตะเลือกกันเอง ก็น่าจะทำให้รางวัลต่างๆในบ้านเรา มันคานกันได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องมุมมองของแต่ละคน แต่แน่นอน เมื่อเขาเลือกให้เราเป็น ผู้เล่นต่างชาติหน้าใหม่ของ F.League ฤดูกาลนั้น (2010/11) พี่รู้สึกดีใจมากกว่าที่สามารถทำให้ คนญี่ปุ่นยอมรับได้ว่า คนไทยก็มีดีเหมือนกัน สามารถเล่นในลีกเขาได้”

“เราเหมือนมาอยู่ที่นี่ตัวเขาเดียว เหมือนเราเล่นเพื่อตัวเอง แต่ในความเป็นจริง หากเปิดดูแมตช์เดย์ทุกนัดก็จะเห็นรูปของพี่ มีธงชาติติดอยู่  เรื่องนี้แม้จะเป็นรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ แต่สำคัญมากนะ อย่างนักฟุตซอลในลีกคนไหนติดทีมชาติญี่ปุ่น ก็จะมีธงชาติญี่ปุ่น ติดตรงชื่อ คนไหนไม่มี แสดงว่ายังไม่เคยติด เพื่อเป็นการให้เกียรตินักกีฬาทีมชาติ”

“นั่นทำให้พี่ระลึกเสมอว่า เราไมได้มาเล่นเพื่อตัวเองอย่างเดียว เราแบกชื่อเสียงของประเทศไทยมาด้วย ดังนั้นพี่ค่อนข้างซีเรียสว่าจะไม่ทำให้เสียชื่อคนไทย”

 18

“พี่ว่า วงการฟุตซอลญี่ปุ่น เขามองภาพรวมเป็นหลักมากกว่า เช่น การช่วยเหลือที่ยังเป็นทีมเล็ก ดูแลตัวเองไม่ค่อยได้ หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล อย่างสมมุติทีมส่วนใหญ่อยู่ภาคกลาง แล้วทีมอยู่เหนือจะโอเคไหม ถ้าเตะสามเลก แล้วต้องออกมาเยือน 2 ครั้ง ยกตัวอย่าง ฟูจู แอธเลติก อยู่โตเกียว เขาก็จะให้ ฟูจู ไปเยือน ฮอกไกโด ที่อยู่ตอนเหนือ 2 ครั้ง แล้วเป็นแบบนี้ตลอดเลย มันเป็นวิธีการช่วยเหลือประคองทีมอย่างหนึ่ง ที่ญี่ปุ่นเขามองเห็น”

“สโมสรต่างก็จะพยายามจัดกิจกรรมตอบแทนสังคม พาเราไปทำความรู้จักคนในเมือง กับเด็กๆ เพื่อใหผู้คนซึบซับ อย่างเรื่องการแจกโปสเตอร์ เคยเห็นนักบอลไทยลีกมาเดินแจกใบปลิวด้วยตัวเองตามเมือง เพื่อเชิญชวนคนไปดูทีมไหม ไม่มีนะครับ แต่ที่ญี่ปุ่น เขาถือเป็นหลักการตลาดอย่างหนึ่ง ที่นักกีฬาต้องมาแจกเอง”

“แล้วจะติดโปสเตอร์ตามข้างทางไม่ได้นะครับ ผิดกฏหมาย ถ้าจะติดได้ ก็มีแค่ร้านอาหารที่ต้องไปคุยกับเจ้าของร้านว่า เขาอนุญาตไหม ถ้าได้ ก็อาจจะมีตั๋วฟุตซอลให้เขาไปแจกลูกค้าต่อ แม้แต่ในโรงเรียน ก็จะให้ นักฟุตซอลเข้าไปหาเด็กๆ ไปสร้างสังคมขึ้นมา”

 19

“รวมถึงการเดินสายขอบคุณสปอนเซอร์ การพานักกีฬาไปเข้าวัด สวดมนต์  บางวันก็จะเปิดสนามฟุตซอล ให้เด็กท้องถิ่นในฟูจู เข้ามาเล่น เข้ามาทำกิจกรรมกับเรา เราก็สอนเด็กๆในสนาม เพื่อให้สโมสรมีความผูกพันกับท้องถิ่น และแฟนคลับ หรือไปหาเด็กพิเศษตามโรงพยาบาล”

“อันนี้ก็ต้องยอมรับว่า วัฒนธรรมแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นเมืองไทย อย่างพวกดาราไทยส่วนใหญ่ ก็จะไปแจกของ เลี้ยงอาหารใช่ไหม? แต่ถ้าเป็นที่ญี่ปุ่น เขาให้ความสำคัญกับเด็กพิเศษ เด็กที่ป่วยจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดยวิธีการไปเล่นกับเขา ไปให้กำลังใจเขา คือเขาไม่เน้นว่าต้องบริจาคสิ่งของให้ แต่พยายามให้เรามอบความสุขทางใจให้กับเด็กๆพวกนี้มากกว่า พี่ว่ามันเป็นกิจกรรมที่ดีมากๆเลยนะ อยากให้เกิดขึ้นในบ้านเรา เราปกติดีครบ 32 เราเห็นแบบนี้ เราก็จะรู้ว่า เรายังโชคดีกว่าเขาเยอะมา เขาก็เป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งให้เราได้”

Time out

“ก่อนหมดสัญญา เคยได้พูดคุยกับสโมสรไว้บ้าง ทางทีมเขาก็อยากให้พี่อยู่ต่อ ส่วนพี่มีความตั้งใจเหมือนกันที่อยากจะเล่นที่ญี่ปุ่นต่อ เพราะทุกอย่างมันลงตัวหมดแล้ว เรามีความผูกพันกับทีม กับเมืองนั้นไปแล้ว แต่มันดันเกิดจุดเปลี่ยนเสียก่อน”

 20

“บ่ายวันนั้น ฟูจู มีคิวไปเตะฟุตบอลถ้วย พูม่า คัพ เจอกับ โกเบ วันนั้นพี่มีอาการกล้ามเนื้อกระตุก ถูกเปลี่ยนตัวออกมา พอแข่งเสร็จก็คุยกับทีมแพทย์ว่าจะเอายังไงต่อ แต่พี่คิดว่าตัวเองเล่นต่อวันพรุ่งนี้ ในรอบรองฯ ไม่ไหวแน่ๆ จู่ๆ คนในทีมก็บอกให้พี่หยุดก่อน อยู่เฉยๆ เหมือนเขารู้ว่าเกิดแผ่นดินไหว สักพักเพดานมันสั่นแรงมาก”

“ด้วยความที่พี่ตกใจ ไม่เคยเจอมาก่อน เลยวิ่งออกนอกโรงยิม สิ่งที่เห็นก็คือ รถยนต์บนถนนอะ เลื่อนไปเลื่อนมา เหมือนของเล่น พี่กลัวมาก ไม่รู้จะทำยังไง เลยวิ่งกลับเข้าในอาคารต่อ เชื่อไหมว่าสิ่งที่เห็นคือ ทุกคนยังอยู่ที่เดิม เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น”

“เขาคงชินแล้วอ่ะ มันมีนักเตะอยู่คนหนึ่ง นั่งพิงเก้าอี้ มือข้างหนึ่งถือข้าวปั้นกินสบายใจเลย ตอนนั้นสัญญาณโทรศัพท์ถูกตัดขาดไปช่วงหนึ่ง พี่ไม่รู้ว่าตอนนั้น เกิดสึนามึเข้าที่เซนได เพราะที่โตเกียวกับเซนได ห่างกันหลายร้อยกิโล แต่ขนาดที่เรายังหนักขนาดนี้ ถ้าจุดศูนย์กลาง ก็น่าจะหนักน่าดู”

“เรื่องนี้ มิเกล โรดริโก เขายังเคยเอามาแซวพี่เลย วันนั้นเขานั่งอยู่อัฒจันทร์ เป็นโค้ชทีมชาติญี่ปุ่นอยู่ สักพักนักเรียนไทยที่นั่นก็บอกให้รู้ว่า เกิดแผ่นดินไหวที่เซนได ระบบรางถูกตัดหมดเลย พี่ก็ไม่รู้จะทำยังไง ถ้าเดินเท้าจากสนามกลับไปบ้าน เดินไม่ถูกแน่ เลยตัดสินใจเดินเท้ากับพวกนักเรียนไทย ไปพักกับเขาวันหนึ่ง เดินอยู่ 2 ชั่วโมงกว่า หลังจากแผ่นดินไหว มันก็ยังมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้น คืนนั้นพี่นอน หลับๆตื่นๆ แต่ใจเราไม่อยากอยู่แล้ว วันรุ่งขึ้นพี่กลับบ้าน ก็ขนของกลับไทยเลย”

“ผู้จัดการทีมเขาดูออกนะว่าเรากลัว เขาพยายามอยากจะรั้งตัวไว้ มีออปชั่นอะไรก็ยื่นมาหมด เขาปล่อยให้พี่มาพัก 1 เดือน แล้วจะเรียกกลับไปปรีซีซั่นใหม่ เราปฏิเสธตรงๆไม่ได้ ก็ต้องถนอมน้ำใจเขาไว้ ถึงขนาดที่ ผู้จัดการทีมฟูจู บินมาเมืองไทย เพื่อมาเจอพี่ เขาก็โน้มน้าวว่า ยู ต้องกลับไปนะ เพราะว่าทุกอย่างถูกโปรโมตไปหมดแล้วว่า ปีหน้าจะมีใครเล่นบ้าง”

“เขาขอร้องแม้กระทั่งว่า มาเล่นสัก 1-2 เกมก็ได้ พี่ยังรู้สึกผิดกับเขาอยู่ถึงทุกวันนี้นะ ที่ไม่ได้กลับไปคราวนั้น แต่เราก็กลัวสึนามิจริงๆ ปี 2011 เลยกลับมาเล่นให้ ธอส.อาร์แบค (ชลบุรี บลูเวฟ) แต่ก็แอบคิดเหมือนกันว่า คงไม่ได้กลับไปเล่นญี่ปุ่นอีกแล้ว”

ทางแยกของชีวิต

“บังเอิญว่าปีนั้น ธอส.อาร์แบค ได้ไปแข่งชิงแชมป์เอเชียที่ ประเทศกาตาร์ พอดีตอนนั้นในทีมชลบุรี มีนักเตะบราซิลที่พูดญี่ปุ่นได้ชื่อ อาเดรียโน บังเอิญจังหวะนั้น ผู้จัดการทีมนาโกยาฯ เขาเข้ามาคุยกับพี่ว่า “เลิศชาย คุณกลับไปเล่นกับ ฟูจู อีกสักปีสิ เดี๋ยวปีต่อมาผมจะซื้อตัวคุณ” เราก็งงว่าเขาพูดจริง หรือพูดเล่น อารีเราเปล่าวะ? ก็เลยยิ้มๆไป”

 21

“แต่หลังจบฤดูกาล พี่ป๋อม ก็มาบอกว่า “เลิศ นาโกยาเขาสนใจเอ็งอ่ะ อยากไปเล่นกับเขาไหม?” คือ เราก็ไม่คิดเหมือนว่า ตอนนั้น เขาจะพูดจริง เพราะว่ากันตามตรงว่า นาโกยา กับ ฟูจู ก็เป็นไม้เบื่อไม้เมา คู่แข่งกันในทางฟุตซอลอยู่แล้ว ความจริงถ้าไม่มีข้อเสนอ นาโกยา เข้ามา พี่อาจจะเลิกเล่นฟุตซอลไปเล่นฟุตบอลอาชีพแล้ว”

“ตอนนั้นมีเอเยนต์คนหนึ่งติดต่อมา บอกว่า “พี่เลิศ มาเล่นให้ ชัยนาทไหม? เงินเดือน 150,000 บาท มีนะพี่” พี่ก็งงว่า ชัยนาท มาสนใจอะไรพี่ เพราะพี่ก็ไม่ได้เล่นฟุตบอลอาชีพมานานแล้ว ก็เลยโทรถามพี่ป๋อมว่า “พี่ป๋อมเช็คกับทางชัยนาทได้ไหมว่า เขาสนใจผมจริงหรือเปล่า” แกเลยโทรไปคุยกับพี่แฮงค์  (อนุชา นาคาศัย) สรุปว่า ชัยนาท สนใจพี่จริงๆ”

“แต่ว่าพี่ตัดสินใจไม่ยากนะ เพราะนาโกยา เป็นสโมสรใหญ่ แล้วฟุตซอลมันเป็นสิ่งที่เราถนัดมากกว่า ถ้าเรากลับไปเล่นฟุตบอล มันก็เหมือนต้องไปนับหนึ่งใหม ตอนอายุ 30 ประกอบกับสัญญา 2 ปีที่นาโกยาให้ ก็เลยตกลงปลงใจเลือก นาโกยา แต่ถ้าไม่มีข้อเสนอของนาโกยา พี่ก็คงเลือกชัยนาท เงินขนาดนั้นใครจะปฏิเสธ (หัวเราะ)”

“อีกอย่างตอนนั้น มันเป็นจังหวะที่พี่มีปัญหากับ ทีมชาติชุดใหม่ ก็ไม่ถูกเรียกติด ความจริงพี่ตั้งใจไว้มากเลยนะว่า จะปิดฉากการเล่นทีมชาติ ในฟุตซอลโลก 2012 ที่บ้านเรา เพราะในตอนนั้น ด้วยอายุ ด้วยประสบการณ์ สภาพร่างกาย มันถึงจุดพีคแล้วอะ เราก็อยากเล่น พี่อยากเล่นหนนี้ (ปี 2012) มากกว่าตอนกลับมาติดอีกครั้งในฟุตซอลโลก 2016 (เลิศชาย ไม่ถูกเรียกติดทีมชาติมา 5 ปี)”

“ใจจริงครั้งนั้น (ฟุตซอลโลก 2016) พี่อยากจะถอนตัวมาก เพราะสภาพร่างกายเราไม่เหมือนเดิม น่าจะเรียกคนอื่นที่ดีกว่า แต่สตาฟฟ์โค้ชก็ยังมองว่า เรามีประโยชน์บางสิ่งที่สามารถช่วยทีมได้ ไม่ใช่แค่ในสนาม แ่ตพี่ไปตอบคำถามแฟนบอลไม่ได้หรอก ว่าทำไมพี่เล่นไม่เหมือนเดิมในตอนนั้น”

“แต่ตอนที่ทำได้แค่เป็น คนนั่งดู ในฟุตซอลโลก 2012 พี่เสียดายและก็เสียใจ เสียดายในเรื่องของการเล่นที่เราไม่มีโอกาสตรงนั้น แต่เสียใจที่คนบางกลุ่ม คนดูบางคน เขาตีค่าเราทั้งที่ยังไม่รู้จักเราดีพอ ตลอดการเล่นทีมชาติ พี่ไม่เคยทำอะไรเพื่อตัวเอง พี่ยึดส่วนรวมเป็นหลัก ปัญหาที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เพราะว่า พี่เรียกร้องเพื่อตัวเองนะ โอเค มนุษย์ทุกคนมีความเห็นแก่ตัวเหมือนกันหมด ถ้าถึงจุดที่ไม่มีจะกิน ก็ต้องเอาตัวรอด”

“พี่ไม่เคยแบ่งแยกว่าเป็น ทีมงานเก่า ทีมงานใหม่ หรือร่วมงานได้แค่บางคน พี่ผ่านการเล่นทีมชาติมานาน พี่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พี่ร่วมงานได้กับทุกคน เพราะเราต้องมองภาพรวมเป็นหลักนะ แต่สิ่งที่พี่เสนอไปในหลายๆเรื่อง ใครได้ประโยชน์? เช่น ถ้าเราจะเตรียมทีมแข่ง ซีเกมส์ อย่างน้อยเราก็ควรต้องมีแมตช์อุ่นเครื่องไหม? ไม่ต้องเก็บตัวที่ยุโรปก็ได้ แต่ควรมีเกมระดับนานาชาติบ้าง นักเตะบางคนเก่งก็จริง แต่ไม่เคยประสบการณ์ในทีม ก็ใช้ตรงนี้เพื่อให้เขาได้มีประสบการณ์”

“ไม่จำเป็นต้องเชิญทีมระดับ ญี่ปุ่น อิหร่าน อย่างแย่ที่สุด คุณเชิญทีมในฟุตซอลลีกบ้านเรามาอุ่นเครื่องก็ได้ เพราะระดับของสโมสรในไทย ก็ยังดีกว่า ทีมชาติหลายๆชาติในอาเซียน แต่ถ้าเอาทีมชาติไปอุ่นเครื่องกับทีมโรงเรียน ถามว่าใครได้ประโยชน์ ทีมโรงเรียนได้ประโยชน์นะ ทีมชาติไม่ได้อะไรเลย แต่กลับกัน ถ้าเรามีเกมกับสโมสร บอกว่า คุณลองเล่นแบบคล้ายๆทีมนี้ให้หน่อย เราจะจำลองสถานการณ์ แบบนี้ถึงจะเป็นประโยชน์กับทีมชาติ”

“อันนี้ตัวอย่างหนึ่งนะ มันมีหลายๆอย่างที่เกิดขึ้นนะ พอเราเสนอไป กลายเป็นว่า พี่เป็นคนอคติกับทีมชาติอีก สำหรับพี่แล้ว พี่ยึดความถูกต้องมาก่อนพวกพ้องเสมอ เราเอาความถูกต้องมาคุยกัน เพราะทีมชาติมันไม่ได้เป็นของใคร หรือกลุ่มไหน คนทำทีมต้องคิดเสมอว่า นักฟุตซอลทุกคนในลีกที่มีบัตรประชาชน เขาคือทรัพยากรของทีมชาติไทยทั้งหมด”

“เพราะจุดประสงค์ของการทำลีก ก็คือ การสร้างทรัพยากรให้กับทีมชาติ ไม่งั้นจะสร้างลีกไปทำไม ในเมื่อผูกขาดกับนักเตะแค่บางกลุ่ม คนอื่นพี่ไม่รู้ แต่สำหรับพี่ ทีมชาติชุดใหญ่ ต้องเป็นทีมที่ดีที่สุดของชาติ ยิ่งถ้าเป็นทีมชาติชุดใหญ่ในปัจจุบัน ก็ต้องเลือกผู้เล่นที่ดีที่สุด ณ ปัจจุบัน”

 22

“เราไม่ได้เล่นฟุตซอลกับอดีต หรือเล่นฟุตซอลในอนาคต แต่เราเล่นฟุตซอลอยู่กับปัจจุบัน ถามว่าสร้างอนาคตดีไหม ดี เราวางแผนได้ ถ้ามัวแต่มองอนาคต วาดฝันไว้สวยงาม ถามหน่อย อนาคตมันหยิบจับได้ไหม มันหยิบจับยังไม่ได้ แต่ถ้าคุณอยู่กับปัจจุบัน โดยวางแผนอนาคตไว้รองรับ แบบนี้ดีกว่าไหม? ถ้าปัจจุบันมันยังไม่ดี แล้วคุณคิดว่าอนาคตมันจะดีเหรอ?”

“กีฬาเป็นเรื่องของปัจจุบัน ต่อให้คุณมีชื่อเสียงในอดีต แต่ถ้าปัจจุบันคุณเล่นไม่ดี คุณก็ไม่ควรได้รับโอกาสนะ ถ้าชื่อเสียงในอดีตดี ปัจจุบันยังเล่นได้ คุณก็ต้องให้เขาได้เล่น”

“ทีมชาติต้องแฟร์กับทุกคนนะ เพื่อให้เกิดแข่งขันกัน และพัฒนา ยิ่งทรัพยากรเปิด ยิ่งเป็นผลดีต่อทีมชาติ ว่าจะหยิบจับใครเล่น ณ ช่วงเวลานั้นๆ ถ้าเป็นทีมชาติญี่ปุ่น เขาไม่สนหรอกว่า เด็กหรือผู้ใหญ่ ถ้าเล่นดีที่สุดในปัจจุบัน เขาก็พร้อมเรียกมาติดทีมชาติ”

ความจริงที่นาโกยา

“ถึงจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ กับ นาโกยาฯ แต่พี่ก็ยังรู้สึกภูมิใจ ที่ครั้งหนึ่งเราได้มาอยู่ในสโมสรที่เป็นมืออาชีพจริงๆ ทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบของตัวเอง ทำให้เราเข้าใจแล้วว่าเหตุใด ญี่ปุ่น เขาถึงเจริญด้านในฟุตบอล เพราะทุกคนรู้หน้าที่ตัวเองกันหมด”

 23

“หลังจากที่พี่มีปัญหากับทีมชาติ ก็เลยตัดสินใจง่ายขึ้น ด้วยสัญญาที่เขาให้มา 2 ปี ก็วางแผนกับครอบครัวแล้วว่า จะแต่งงาน แล้วพาภรรยาไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ความตั้งใจจริงเลยคือ พี่อยากอยู่ให้ครบสัญญา จนถึงอายุ 32”

“ตอนไป ฟูจู แอธเลติก พี่ไม่รู้ว่าเขาคาดหวังอะไรในตัวพี่ แต่ที่นาโกยา เขาชัดเจนมากว่า ต้องการ ผู้เล่นตัวรับที่ถือสัญชาติในเอเชีย”

“ถ้าว่ากันตามตรง ช่วงนั้นญี่ปุ่น เขาพยายามเปิดตลาดให้ผู้เล่นต่างชาติฝีเท้าดี เข้ามาเล่นเยอะๆ เพื่อพัฒนาผู้เล่นท้องถิ่นของเขา และคงอยากหาผู้เล่นตำแหน่งนี้จากชาติอื่นๆ เพราะเท่าที่สัมผัสมา ญี่ปุ่น ในตอนนั้น เขายังขาดผู้เล่นตัวรับที่ดีอยู่”

“ถ้ามองในระดับทวีป ก็มีแค่ ไทย กับ อิหร่าน ที่พอเล่นได้ใช่ไหม แต่มันก็แปลกตรงที่ไม่ค่อยมี นักเตะอิหร่าน ย้ายมาเล่นลีกญี่ปุ่น อาจจะด้วยภาษา วัฒนธรรม ศาสนา ที่แตกต่างกัน อีกอย่างในลีกอิหร่าน เขาก็ให้รายได้นักเตะสูงอยู่แล้ว คงไม่อยากจะมาที่ญี่ปุ่นสักเท่าไหร่”

“ด้วยความที่ นาโกยา เป็นทีมแชมป์ ในสโมสรเขาจะมีถ้วยแชมป์เต็มไปหมด ปีๆหนึ่งเขาจะวางเป้าไว้เลยว่า ต้องการเป็นแชมป์ 4 ถ้วย พอเขาประสบความสำเร็จในประเทศมาเยอะแล้ว เขาเริ่มมองความสำเร็จในระดับถ้วยเอเชีย ก็เซ็นพี่ไปร่วมทีม เพราะเขาต้องการผู้เล่นตัวรับ โควต้าเอเชียได้ด้วย”

“ช่วงที่ย้ายไป พี่ได้รู้จักกับ เปโดร คอสต้า โค้ชของนาโกยาในปัจจุบัน ตอนนั้นเขายังเป็นผู้เล่นต่างชาติอยู่ บอกตรงๆเลยว่า เขาเป็นคนที่มีทัศนคติฟุตบอลที่ดีมากๆ คนหนึ่ง เท่าที่พี่เจอมา วิธีปฏิบัติตัวทุกอย่างเป็นมืออาชีพจริงๆ รวมถึงยังเป็นผู้นำทั้งในและนอกสนาม พี่เข้าใจอารมณ์ อุ้ม (ธีราธร บุญมาทัน) เลยนะ ว่าเขาจะเจออะไรบ้าง ตอนได้อยู่ทีมเดียวกันกับ อันเดรส อิเนียสต้า พวกนี้โคตรมืออาชีพ”

“เวลาพี่ทำบอลเสีย คอสต้า จะรีบวิ่งลงมาไล่ให้ แล้วตะโกนว่า “เลิศชาย ลงมา ลงมา” กล้าพูดได้เลยว่าทุกวันนี้ เขายังเป็นต้นแบบให้พี่อยู่ แม้พี่จะได้อยู่แค่ช่วงปรีซีซั่นเท่านั้น เพราะว่าเงื่อนไขด้านร่างกาย และอาการบาดเจ็บ ทำให้เราต้องบินกลับมาอยู่ที่เมืองไทย”

 24

“ตอนนั้นมันเป็นช่วงที่ทีมกำลังเก็บตัว และลงเล่นเกมอุ่นเครื่องนัดที่ 2 เจอกับ ไฟร์ฟ็อกซ์ ฟูจู จังหวะนั้นมันเป็นการเบียดธรรมดานี่แหละ แต่อยู่ดีๆก็รู้สึกว่า ทำไมเราถึงเบียดสู้นักเตะญี่ปุ่นไม่ได้วะ สักพักคนที่เขาเสียบอล วิ่งทันหมดเลย เล่นไปไม่นาน ร่างกายซีกซ้ายตั้งแต่หัวไหล่ ลงไปถึงขา มันชาไปหมดเลย เราก็แบบว่า เฮ้ย ไม่ใช่แล้ว ต้องมีอะไรผิดปกติแน่ๆ”

“พี่ตัดสินใจไปหาหมอ ทำ MRI หัวไหล่ เจอแค่ว่า กล้ามเนื้อมันฉีกนิดหน่อย แต่หมอที่ญี่ปุ่่นเขา ก็บอกว่า ไม่น่าใช่นะ ถามพี่ว่าเคยทำ MRI คอยัง? ก็เลยไปทำ ในฟิล์มมันเห็นชัดเลยว่า ตามปกติกระดูกไขสันหลัง มันจะมีท่อน้ำไขสันหลังใช่ไหม? แต่หมอนรองกระดูก มันไปกดทับ ไว้ประมาณครึ่งหลอดแล้ว ถ้ามันมิดเมื่อไหร่ พี่เป็นอัมพาตเลยนะ”

“จากนั้นบินกลับมารักษาตัวที่เมืองไทย กับ นายแพทย์ ทายาท บูรณกาล (ผู้อำนวยการสถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ) คุณหมอท่านนี้ดีมากๆเลยนะ เขาไม่คิดค่าผ่าตัดพี่เลย เขายังบอกด้วยว่าที่พี่อยู่ได้ ไม่รู้สึกอะไร เพราะพี่อยู่ได้ด้วยกล้ามเนื้อ”

น้ำตาที่ไม่เคยมีใครเห็น

“ถ้าเป็นคนปกติก็แค่ใส่หมอนรองกระดูกเทียมเข้าไปใช่ไหม แต่ถ้าพี่ใส่แบบนั้น การหันตัว เอี้ยวตัวมันจะไม่เหมือนเดิม จะแข็งๆเหมือนหุ่นยนต์ คุณหมอทายาท จึงโทรไปปรึกษากับแพทย์ที่เยอรมันว่าในเคสของนักกีฬาที่ต้องการกลับไปเล่นอีกครั้ง มีอุปกรณ์แบบไหนรองรับได้บ้าง”

 25

“ซึ่งทางเยอรมันเขาก็แนะนำให้ใส่ หมอนรองกระดูกแบบที่เป็นเหล็ก และมีสปริงหมุนเดียว 360 องศา ตัวเดียวกับที่นักอเมริกาฟุตบอลใส่ เพราะพวกนี้นะ กระดูกมันแตกบ่อย ชิ้นนี้จริงๆก็ราคาหลายแสนอยู่ แต่พี่เสียแค่แสนกว่าบาทเอง ขนาดแกอนุเคราะห์ไม่คิดค่าผ่าแล้วนะ ยังเสียไปประมาณ 2 แสนกว่า ถ้าไม่งั้นเคสนี้พี่อาจจะต้องเสีย 6-7 แสนบาทเลยนะ”

“หลังผ่าตัด ด้วยความที่กล้ามเนื้อซีกหนึ่งมันไม่ค่อยถูกใช้งาน แต่อีกซีกมันเป็นกล้ามเนื้อเก่า พี่รู้สึกว่ามันเหมือนฝั่งซ้ายอ่อนแรงกว่า เวลาเดินก็จะไม่เท่ากัน บาลานซ์มันเสียไป เพราะกระดูกเราไปทับเส้น คนไม่รู้หรอกว่า ปีนั้นทั้งปี พี่เดินทางเข้าออกโรงพยาบาลเป็นบ้านเลย เพราะพี่ไม่เล่นโชเซียล ไม่เคยลงเฟส เขาเห็นพี่แต่ในสนาม เห็นว่าพี่เล่นอย่างไร แต่เขาไม่ได้รู้ว่าพี่เป็นอยู่อย่างไร”

“ 1 ปีเต็มๆนะ ที่พี่ทำได้แค่นั่งดูคนอื่นซ้อมวันละ 2 ชั่วโมง แล้วต้องเดินทางไปโรงพยาบาลแทบทุกวัน เพื่อไปตรวจและฟื้นฟูกล้ามเนื้ออีก 2 ชั่วโมง จากนั้นก็เล่นฟิตเนสอีกวันละ 2 ชั่วโมง  แล้วก็ขับรถไปมาอีก 2 ชั่วโมง ต้องใช้เวลาอยู่หลายเดือน กว่าจะได้กลับมาซ้อม”

“พี่ยังจำวินาทีแรกที่ได้กลับมาจับบอลอีกครั้ง โอ้โห แม่งโคตรมีความสุข พูดเหมือนเวอร์นะ แต่นี่คือเรื่องจริง คนเราเคยใช้ชีวิตปกติ ทำอะไรได้เร็วๆ วันหนึ่งทำอะไรไม่ได้ มันทรมานมากนะ ช่วงแรกๆแค่จะเอาเท้าเขี่ยบอลพี่ยังทำแทบไม่ค่อยได้เลย”

“เวลาวิ่งก็จะรู้สึกเจ็บไปทั่วทั้งตัว เคลื่อนไหวได้ไม่เป็นอิสระ ทำให้สปีดเราช้าลง แรงขาจะไม่มีกำลังมากเหมือนก่อน เมื่อยเร็วขึ้น พูดง่ายๆก็คือ ร่างกายไม่ทนทานเหมือนแต่ก่อน เราจึงต้องปรับสมดุลร่างกายใหม่หมด ซึ่งต้องใช้เวลาที่นานพอสมควร จนเคยถอดใจอยากจะเลิกเล่นนะ แต่ก็ได้ ปูลปิส นี่แหละมาพูดให้พี่ไม่ถอยว่า “ผมเชื่อว่าคุณเล่นได้ แต่คุณก็ต้องเชื่อมั่นในตัวเองด้วยนะว่า คุณจะกลับมาได้” ก็ทำให้ไม่ท้อ”

“ฤดูกาลนั้น (2012) ชลบุรี บลูเวฟ ได้แชมป์ลีกก่อนจบฤดูกาล 6 นัด ปูลปิส เลยส่งพี่ลงสนามทุกนัดที่เหลือ เพื่อให้พี่สร้างความมั่นใจ ไม่ว่าจะพี่ทำพลาด หรือทำบอลเสีย ผลการแข่งขันออกมาไม่ดี เขาไม่ว่าพี่สักคำเลย เขาพยายามสร้างแรงบันดาลใจให้พี่กลับมาเล่น”

“ปีต่อมา ชลบุรี ได้แข่งชิงแชมป์ถ้วยเอเชีย ความจริงพี่รู้ร่างกายตัวเองว่า ถ้าเป็นเกมในลีกไทย เราพอเล่นได้ โดยอาศัยระบบ แต่ถ้าเป็นเกมระดับสูงแบบเอเชีย เรารู้ว่าร่างกายปะทะสู้ไม่ได้ ตอนแรกพี่พยายามบอกพี่อ๋อ (คมกฤช นภาลัย - อดีตผู้จัดการทีมชลบุรี บลูเวฟ) ว่า “พี่เชื่อผม เอาคนอื่นไปเถอะ” แกก็บอกว่า ปูลปิส ไม่ได้หวังให้เอ็งลงไปเล่นอย่างเดียว อยากให้เอ็งไปช่วยดูน้องๆในทีมด้วย พี่ก็บอกเขาเลยว่า ถ้าผมเล่นได้แค่ไหน แค่นั้นนะ”

“แมตช์แรกเจอ ทาชเคนท์ ทีมจากอุซเบฯ ปูลปิส บอกพี่ว่าเกมนี้จะยังไม่ให้เล่น แต่จะให้ลงเล่นอีกนัดหนึ่งที่เจอ กิติ ปาซานด์ (ทีมจากอิหร่าน) เกมนั้น ปูลปิส ให้พี่ออกสตาร์ทเป็น 5 คนแรก พี่ลงไปเล่นได้ไม่นาน อยู่ดีๆ ก็รู้สึกเจ็บขึ้นมา ทั้งที่ไม่ได้ถูกปะทะนะ แต่เป็นความรู้สึกที่เจ็บออกมาจากข้างใน เลยขอเปลี่ยนตัวออกมา เชื่อไหมว่าตั้งแต่วันนั้น พี่ต้องนอนพักอยู่โรงแรม ไม่ได้ไปไหนมาไหนกับทีมเลย เจ็บจนนอนเตียงไม่ได้ ต้องนอนกับพื้น เวลาลุกขึ้นมาอาบน้ำ แค่ยืนยังเซเลยอะ (มีอาการกระดูกสันหลังช่วงเอวเสื่อม) ”

 26

“ปูลปิส พี่อ๋อ ก็เอาข้าวขึ้นมาให้พี่กิน มาพูดคุยกัน แต่พี่พยายามไม่แสดงอาการมานะว่า เราเจ็บขนาดไหน พี่ไม่ชอบร้องไห้ให้ใครเห็น แต่ใครจะรู้บ้าง วันที่่ ชลบุรี บลูเวฟ ได้แชมป์เอเชียสมัยแรก (ปี 2013) พี่ทำได้แค่นั่งดูอยู่ในโรงแรม กินข้าวไป ก็ร้องไห้ไป มันทรมานที่สุด คิดในใจว่า เกิดอะไรขึ้นกับเราอีกแล้ว เพิ่งผ่านอาการเจ็บหนักมาได้ไม่นาน ต้องกลับไปเจ็บอีกแล้วเหรอ”  

“หลังจากวันนั้น พี่ต้องกลับไปแบบเดิมอีก 2-3 ปี เพื่อปรับร่างกาย ต้องเล่นฟิตเนสทุกวัน เพื่อสร้างกล้ามเนื้อขึ้นมาใหม่ แต่คนดูไม่รู้ว่า ที่เห็นพี่กลับไปลงเล่น พี่ไม่เคยสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซนต์ แต่พี่ไปอธิบายให้ทุกคนฟังไม่ได้หรอก เราทำได้แค่พยายามลงเล่นไปแล้ว ไม่ทำให้ทีมเสียหาย นี่คือเรื่องจริงที่พี่แทบไม่เคยบอกใครเลย”

“มีแค่ช่วง 1-2 ปีหลังนี่แหละที่ร่างกาย เริ่มดีขึ้น เพราะว่าพี่เล่นฟิตเนสทุกวัน เพื่อสร้างกล้ามเนื้อใหม่ และปรับสภาพร่างกาย ซึ่งต้องใช้เวลามากพอสมควร แต่มันก็คงไม่เหมือนเดิม ร้อยเปอร์เซนต์หรอก ต่อให้คนนั้นไม่เคยเจ็บหนักแบบพี่ ลองไปตรวจดู ไปทำ MRI สิ ทุกคนมีปัญหากระดูกเหมือนกัน ขึ้นอยู่ว่าร่างกายมันจะฟ้องตอนไหนแค่นั้น”

“ทุกวันนี้พี่พยายามเตือนเด็กรุ่นใหม่ว่า อย่าใช้ชีวิตประมาท ตอนที่ยังมีแรงเล่นฟุตบอล มึงเล่นไปเถอะ ถ้าถึงวันหนึ่งที่มึงเล่นไม่ได้ เจ็บหนัก มึงจะได้ไม่เสียใจ เด็กบางคนก็ฟัง บางคนก็ไม่ฟัง คิดว่าเราวุ่นวายหรือเปล่า แต่เราทำได้แค่บอก แค่สอน สิ่งที่เราเจอมา ถ้าคุณโชคดีไม่เคยมีอาการบาดเจ็บ ก็ดีไป แต่ถ้าวันหนึ่งโชคร้าย คุณจะเข้าใจความรู้สึกนั้นได้ดี”

เติมไฟให้ฝัน

“แรงบันดาลใจสำคัญที่ยังทำให้พี่ เล่นฟุตซอลอาชีพอยู่ คือ การที่พี่พยายามตั้งเป้าให้กับตัวเองไปเรื่อยๆ อย่างตอนเป็นเด็ก พี่ก็ตั้งเป้าหมายไว้ว่า อยากจะเล่นกับพี่บัง อนุชา มั่นเจริญ พอเป้าหมายแรกเราสำเร็จ เราได้เล่นกับเขาได้ ก็เริ่มเปลี่ยนเป้าหมายมาเป็น อยากเล่นทีมชาติ, อยากประสบความสำเร็จกับสโมสร พอจุดหนึ่ง เราก็วางเป้าใหม่ไว้ว่า อยากไปค้าแข้งต่างประเทศ สักครั้ง”

 27

“ถ้าเราสร้างเป้าหมายให้ตัวเองได้อยู่ตลอด มันก็จะมีแรงบันดาลใจในการเล่นอยู่เสมอ ถ้าเป็นตอนนี้ พี่ไม่ได้คาดหวังความสำเร็จอะไรอีก เพราะเราผ่านจุดนั้นมาหมดแล้ว ตอนนี้พี่ก็ตั้งเป้าไว้ว่า อยากลงเล่นในสนามฟุตซอลใหม่ท่าเรือสักครั้งก่อนเลิกเล่น และพยายามเก็บเกี่ยวความสุขสุดท้ายให้ได้มากที่สุด ก่อนที่วันหนึ่งพี่จะไม่ได้เป็น นักฟุตซอลอาชีพอีก”

 28

“พี่พยายามเล่นให้ตัวเองมีความสุข เล่นให้เพื่อนร่วมทีมแฮปปี้ และคนที่เสียตังมาดู ประทับใจ เด็กสมัยใหม่บางคนเกิดไม่ทันดูเราเล่นทีมชาติยุคนั้น ก็อยากให้เขาได้มาเห็นว่า “เฮ้ย อาคนนี้ ลุงคนนี้ ยังเล่นอยู่นะ” นึกออกไหม ลองไปถามเด็กตัวเล็กๆสิว่า รู้จักนักฟุตซอลคนไหน แน่นอนว่ารุ่นอายุเขาต้องเป็นพวก ศุภวุฒิ (เถื่อนกลาง) กฤษดา (วงษ์แก้ว) ที่เขาทันดูในนามทีมชาติ”

“เด็กไม่ผิดหรอกที่ไม่รู้จักพี่ มันเป็นเรื่องของยุคสมัย ยิ่งเด็กคนไหนไม่รู้จักพี่ พี่ยิ่งชอบไปเล่นกับเขา มันอาจจะเป็นความรักในฟุตบอลมั้ง ที่ทำให้ตอนนี้พี่ยังอยากเล่นมันอยู่ ไม่ว่าจะเจออุปสรรคอะไร เจอปัญหาด้านร่างกาย แต่สุดท้ายมันไม่สามารถแยกเราออกจากชีวิตประจำวันได้ ถ้าไม่เตะบอล ต่อให้เป็นช่วงปิดฤดูกาล พี่ก็จะต้องถือรองเท้าไปตามที่เขาเตะฟุตบอลกัน บางครั้งเมียกับแม่ยังเคยแซวเลยว่า “ไปแต่งงานกับลูกบอลไหม” (หัวเราะ)”

 29

“หรือวันไหนว่างๆ พี่จะกลับไปที่โรงเรียนเก่า เพื่อไปสอนรุ่นน้อง เราอยากถ่ายทอดความรู้ให้เขา เพื่อที่เขาจะได้มีมุมมองที่ดี คือไม่ต้องเอาเราเป็นไอดอลก็ได้นะ แต่พยายามค้นหาแรงบันดาลใจในการเล่นของตัวเอง แต่ละคนมีเป้าหมายไม่เหมือนกันอยู่แล้ว บางคนฐานะทางบ้านดี เขาก็ไม่ได้มาเล่นฟุตซอลเพื่อเงินอยู่แล้ว ฉะนั้นเขาก็ต้องหาแรงบันดาลใจอื่นๆ ในการเล่น

“ถ้ามีสิ่งหนึ่งที่อยากให้จดจำพี่ ในวันที่พี่เลิกเล่น? พี่อยากให้คนจดจำการเล่นของพี่นะ ไม่จำเป็นที่แฟนบอลจะต้องมารับรู้ว่าพี่ผ่านอะไรมาบ้าง มันเหมือนเป็นข้อแก้ตัวมากกว่า พี่ก็พยายามเล่นให้ดีที่สุด เพื่อให้คนดูได้จดจำการเล่นที่ดีๆของเราไว้นะ”

 30

“พี่พูดตรงๆว่า ไม่อยากลงไปในสนาม แล้วเล่นไม่ดี ให้คนเขาติดภาพนั้น อยากให้คนดูเขามีความสุข ดูแล้วสนุก แล้วกลับมาดูใหม่”

อัลบั้มภาพ 30 ภาพ

อัลบั้มภาพ 30 ภาพ ของ กาลครั้งหนึ่งในญี่ปุ่น "เลิศชาย อิสราสุวิภากร" กับบันทึกหยดน้ำตาที่ไม่มีใครรู้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook