โกดัง สเตเดียม : สนามฟุตซอลที่ไม่เหมือนใครและเป็นความภาคภูมิใจของคลองเตย

โกดัง สเตเดียม : สนามฟุตซอลที่ไม่เหมือนใครและเป็นความภาคภูมิใจของคลองเตย

โกดัง สเตเดียม : สนามฟุตซอลที่ไม่เหมือนใครและเป็นความภาคภูมิใจของคลองเตย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ว่ากันว่านี่คือ สนามฟุตซอลแห่งเดียวของโลก ที่ถูกดัดแปลงจากโกดังเก็บสินค้า มาเป็นสังเวียนแข้งโต๊ะเล็กมาตรฐาน ด้วยดีไซน์และบรรยากาศที่ไม่เหมือนใครจึงทำให้ โกดัง สเตเดียม เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กของวงการฟุตซอลไทย

ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย กีฬา ยังคงถูกจัดเป็นกิจกรรมบันเทิงประเภทหนึ่ง สำหรับคนทุกชนชั้น ในทุกๆสังคม ไม่ต่างกับภาพยนตร์ ที่ไม่มีใครสามารถคาดเดาฉากจบของหนังแต่ละเรื่อง เกมแต่ละนัด จะออกมาเช่นไร

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ ผู้คน ยังคงโหยหาความสุข ในการเข้าไปชมการแข่งขันกีฬาในสนามอยู่เสมอ โดยหนึ่งในกีฬาที่ขายดีสุดของโลกใบนี้ แน่นอนว่าย่อมต้องเป็น ฟุตบอล กีฬามหาชนอันดับ 1 ตลอดกาล

ซึ่ง ฟุตบอลเอง ก็มีวิวัฒนาการไม่หยุดยั้ง จนสามารถแตกแขนง ออกไปเป็นในประเภทอื่นๆ เช่น ฟุตบอลชายหาด, ฟุตซอล หรือแม้แต่ ฟุตวอลเลย์ เปรียบได้กับหนังที่มีหลากหลายแนว สุดแล้วแต่ว่าคนดูอยากจะซื้อตั๋วเข้าไปภาพยนตร์แนวไหน เรื่องอะไร

ถ้าหากกีฬาเปรียบได้ดั่ง ภาพยนตร์ สนามแข่งขันก็คงไม่ต่างอะไรกับ โรงภาพยนตร์ ที่ทำหน้าที่เปิดประตูต้อนรับ ผู้มีจิตศรัทธา เข้ามาหาความสุข ความบันเทิง ปล่อยความเป็นตัวเองออกมาผ่านการเชียร์ ร้องรำทำเพลง ตะโกนด่า กดดันคู่แข่ง

เวมบลีย์ สเตเดียม, แคมป์ นู, โอล์ด แทรฟฟอร์ด, แอนฟิลด์ ฯ อาจเป็นชื่อของโรงภาพยนตร์ลูกหนังชั้นนำของโลก ที่โอบล้อมไปด้วยประวัติศาสตร์ และบรรยากาศที่มีมนต์เสน่ห์ จนสามารถสร้างแรงดึงดูด ให้คนดูฟุตบอลทั่วโลก อยากจะไปแสวงบุญสัมผัสสนามเหล่านี้สักครั้งในชีวิต

ในวงการฟุตซอลบ้านเรา  “โกดัง สเตเดียม” อาจไม่ใช่สนามที่สามารถไปเทียบเคียงกับเหล่าสนามเมกะของโลกได้  แต่หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ติดตามชมการแข่งขัน โต๊ะเล็ก อย่างสม่ำเสมอ เรากล้าพูดได้เต็มปากว่า สนามแห่งนี้ จัดเป็นหนึ่งในรังเหย้า ที่ครั้งหนึ่งในชีวิต ต้องหาโอกาสมาสัมผัสให้ได้

ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่มีการดัดแปลงโกดังเก็บสินค้า มาทำเป็นสนามฟุตซอล บรรยากาศและวัฒนธรรมการเชียร์ของแฟนฟุตซอลสิงห์คลองเตย ล้วนมีส่วนทำให้ โรงภาพยนตร์ฟุตซอลแห่งนี้ มีความน่าสนใจ และแตกต่างจากสนามฟุตซอลที่อื่นๆ บนโลกใบนี้…

ที่แม้แต่คนไม่ดูฟุตซอล ก็อาจตกหลุมรักบรรยากาศของสนามแห่งนี้ได้ง่ายๆ เพียงแค่นัดเดียวที่เข้ามาชมเกมใน โกดัง สเตเดียม

ก่อนจะเป็นโกดัง

“จุดเริ่มต้นมันเกิดขึ้นจากที่ทีมเราไม่มีสนามแข่งขัน ไม่มีสนามฝึกซ้อมเป็นของตัวเอง” นคร พวงบุบผา ประธานสโมสร การท่าเรือ ฟุตซอลคลับ กล่าวถึงที่มาของสนามโกดัง สเตเดียม

 1

“เราต้องไปเช่าสนามแข่ง ฟุตซอลภายในมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ซึ่งมันอยู่ไกล และทำให้แฟนคลับเราตามไปเชียร์ได้ยาก ส่วนสนามซ้อมในโรงยิมการท่าเรือ มันก็ค่อนข้างแคบ และมีพื้นที่จำกัด เนื่องจากถูกออกแบบมาให้ใช้กับ แบดมินตันมากกว่า ก็เลยเริ่มมองหาพื้นที่ จนมาเจอโกดังนี้แหละ”

แม้สโมสร การท่าเรือ ฟุตซอลคลับ จะถือเป็นหนึ่งในสโมสรที่ร่วมก่อตั้ง ไทยแลนด์ ฟุตซอล ลีก ตั้งแต่ปี 2007 แถมยังมีศักดิ์ศรีเป็นทีมชั้นนำของประเทศ และเจ้าของแชมป์ลีก 1 สมัย แต่ทว่าในความเป็นจริง พวกเขาแล้วยังไม่เคยมีสนามเหย้าของตัวเองอย่างแท้จริง

เดิมที ฟุตซอลไทยแลนด์ ลีก ในช่วงปีแรกๆ จะเป็นการแข่งขันสนามกลาง (ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์) ต่อมาได้เปลี่ยนมาใช้ระบบหมุนเวียนสนามเหย้า จนสุดท้ายพัฒนามาถึงยุคที่ทุกสโมสรบนลีกสูงสุด ต้องมีสนามแข่งขันรองรับ เพื่อสามารถจัดการแข่งขันในรูปแบบเหย้า-เยือน

ด้วยเหตุผลที่การสร้างสนามแบบ ฟุตซอลสเตเดียม เพียวๆนั้น ต้องใช้งบประมาณพอสมควร จึงทำให้หลายๆสโมสร นิยมใช้การเช่าสนามของ หน่วยงาน, สถานศึกษา, องค์กรต่างๆ ฯ มีเพียงไม่กี่ทีมเท่านั้น ที่มีสนามเป็นของตัวเอง นั่นทำให้สนามทั่วๆไปของสโมสรฟุตซอล จะเป็นการแข่งขันกันภายในโรงยิมเนเซียม หรือในอาคารอเนกประสงค์

“ทีแรกไม่ได้คิดว่าจะต้องเอามาใช้เป็น สนามแข่งขัน แค่อย่างน้อยอยากได้สนามฝึกซ้อม ที่มันมาตรฐานหน่อย และมีพื้นที่เพียงพอหน่อย”

 2

“โค้ชดม (อุดม ทวีสุข) ก็แนะนำว่า มันมีโกดังตรงนี้ที่ไม่มีเสาเข็มตรงกลาง สามารถพอปรับปรุงได้ จึงไปคุยกับทางผู้ใหญ่การท่าเรือฯ ท่านก็อนุเคราะห์ให้เรามาใช้พื้นที่ตรงนี้ชั่วคราว ซึ่งแต่เดิมเป็น โกดังที่เก็บสินค้า เพื่อเตรียมส่งออก แต่พอดีผู้เช่าเก่า หมดสัญญา”

“พอเริ่มมาปรับปรุงไปสักระยะ ก็มองเห็นว่าพอจะพัฒนาเป็นสนามแข่งขันได้ จึงเดินหน้าทำกันแบบหามรุ่ง หามค่ำเลย เพราะเหลือเวลาอีกแค่ 30-40 วัน ก่อนเปิดฤดูกาลใหม่ (ปี 2016)เราก็อยากใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นสนามเหย้าของทีม”

“เราไม่ใช่ทีมที่มีเงินมากมายเท่าไหร่ แต่ก็ได้น้ำใจจากหลายๆฝ่าย อย่างพื้นสนาม เราได้ทีมงานจาก สโมสรห้องเย็นท่าข้าม ที่เขาทำพื้นสนามขาย มาทำสนามให้ได้ ผสมผสานกับทีมงานของเราที่ช่วยกันคนละไม้ คนละมือ”

“ทุกคนพยายามดัดแปลงและทำให้ทันใช้นัดเปิดฤดูกาล แทบไม่มีหยุดพักเลย หมดค่าปรับปรุงไปก็หลักล้านอยู่ โชคดีที่ทาง ท่าข้ามฯ เขาอนุญาตให้เราผ่อนจ่ายได้ เพราะเห็นว่าเราตั้งใจทำฟุตซอลจริงๆ” ประธานสโมสรฟุตซอลการท่าเรือ กล่าวถึง การดำเนินการปรับปรุงโกดังสินค้า มาเป็น สนามฟุตซอล ที่ได้มาตรฐาน นั่นไม่ใช่ภารกิจที่ง่ายเอาเสียเลย แถมยังถูกบีบด้วยเงื่อนไขของเวลา และงบประมาณ

แต่สุดท้าย การทำงานหนักตลอดทั้งวัน ทั้งคืน ของทุกฝ่าย ในช่วง 1 เดือนก่อนเปิดฤดูกาล 2016 ก็ออกดอกออกผล เมื่อสนามฟุตซอลแห่งนี้ สร้างเสร็จได้ทันเกมนัดเปิดสนาม ที่มีคิวเปิดบ้านต้อนรับ ม.ภาค-ขอนแก่น พร้อมกับตั้งชื่อว่า “โกดัง สเตเดียม” ตามสถานที่ตั้งของสนาม

เพียงแค่เกมนัดแรก แฟนฟุตซอลสิงห์คลองเตย ก็แห่กันมาชมเกมเหย้า ในสนามแห่งใหม่ ที่มีความแปลกตาออกไปกันเต็มความจุ 700 คน ซึ่งสโมสรก็ไม่ทำให้แฟนๆผิดหวัง เอาชนะทีมเยือนไปได้ 3-1

 3

และนับตั้งแต่นั้นมา จำนวนแฟนคลับโต๊ะเล็กเจ้าท่า ก็เพิ่มขึ้นอย่างไม่มีลดลง จนทำให้หลายๆคน ขนานนาม โกดัง สเตเดียม ว่า…

“นรกทีมเยือน”

เพียงแค่ก้าวเท้าพ้นรั้วที่ติดถนน เดินเข้ามาเฉียดทางขึ้นของสนามโกดัง สเตเดียม ในวันแข่งขัน เราสัมผัสได้พลังและเสียงเชียร์ที่กระหึ่ม จนคลื่นเสียงเหล่านั้น สะท้อนออกถึงข้างนอก

บริเวณด้านนอก ในวันธรรมดา หากมองเข้ามาผ่านๆ สนามฟุตซอลแห่งนี้แทบไม่มีความแตกต่าง กับ โกดังเก็บสินค้าอื่นๆเลย ที่เป็นอาคารขนาดใหญ่ และมีพื้นที่โล่งด้านนอกเยอะ เพื่อรองรับการถ่ายเท กักเก็บ และเตรียมพร้อมไว้สำหรับขนส่งสินค้า

 4

แต่ในวันแข่งขันนั้น โกดัง สเตเดียม จะเต็มไปด้วยแฟนคลับ ที่เดินทางกันมาตั้งแต่ช่วงสาย และรถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่นับร้อยคัน

ไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงก่อนเกม พื้นที่ด้านหน้าทางเข้าสนาม ก็ถูกจับจองด้วยแฟนฟุตซอลการท่าเรือ ที่จะมาพูดคุย พบปะ และดื่มเบียร์กันก่อนเข้าชมสนาม จนดูเหมือนว่าทุกคนรู้จักกันหมด และคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

ทั้งที่ สนามโกดัง สเตเดียม ก็เพิ่งถูกเปิดใช้งานมาได้แค่ 2 ปีกว่าเท่านั้น…แต่สนามแห่งนี้ กลับถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้มี แฟนๆ หันมาเชียร์สโมสร เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

 5

“ป๋ากับมะ (ภรรยา) ติดตามทีมฟุตซอลของการท่าเรือ มาตั้งแต่ปีแรกๆ เมื่อก่อนจะเตะกันที่สนามกลาง มีกองเชียร์ไปตามดูแค่ 10 กว่าคนเท่านั้น บางนัดคนน้อยถึงขนาดที่สโมสร ยังให้ป๋าติดรถไปกับนักกีฬาได้เลย”

“จากนั้นก็มีคนตามอยู่ราวๆ 100 คน จนกระทั่งย้ายมาเล่นที่่ โกดัง สเตเดียม นี่แหละที่ทำให้มีแฟนคลับมาดูเยอะเต็มสนาม เราใช้วิธีการบอกต่อกัน ชักชวนพวกคนที่ดูฟุตบอล (การท่าเรือ เอฟซี) ว่า มาช่วยกันเชียร์ การท่าเรือ หน่อย เราได้ที่ 2 ตลอดเลย”

“จากนั้นแฟนคลับก็พูดกันปากต่อปาก เพราะเขามาดูแล้วสนุก จนทุกวันนี้ป๋ากล้าท้าเลยว่า ไม่มีสโมสรไหน มีแฟนคลับที่เป็นฝรั่ง เยอะเท่ากับเราอีกแล้ว”  บังซอน - จารึก เหมนิหมัด แฟนคลับรุ่นลุงของ การท่าเรือ ฟุตซอลคลับ กล่าว

 6

ด้าน “หมึก ท่าเรือ” ธวัชชัย กราบกรานธรรม เปิดเผยกับ Main Stand ถึงเหตุผลที่ทำให้เขาเลือกติดตามทีมโต๊ะเล็กแห่งนี้ จนขันอาสามาเป็น มือกลองประจำ โกดัง สเตเดียม ว่า “จริงๆ บ้านพี่อยู่แถววิภาวดี ใกล้ๆกับสนามอาร์มี่ฯ พี่เป็นคนชอบดูบอลนะ เมื่อก่อนเคยไปตามเชียร์ ทอ. (แอร์ฟอร์ซฯ) แต่พอไปสัมผัสแล้ว รู้สึกว่ามันไม่ใช่ จนมีรุ่นน้องแนะนำให้ลองไปดู การท่าเรือ เอฟซี”

“พอเริ่มเชียร์ไปได้สักพัก ก็ได้มารู้จักกับแฟนบอลที่นี่ จากนั้น พี่หวาน (รังษี บุญส่ง ผู้ประสานงานแฟนคลับ ทีมฟุตซอลการท่าเรือ) ก็มาชักชวนว่า ไปช่วยเชียร์กันหน่อย ตอนนี้ยังไม่ค่อยมีกองเชียร์เท่าไหร่ ก็เลยลองไปเชียร์ดู รู้สึกประทับใจ ตั้งแต่นั้นตามเชียร์มาทุกนัด ไปไหนไปตลอด แม้แต่เกมที่ไปเยือน สุราษฏร์ฯ กลางสัปดาห์ ที่คนอื่นไม่สะดวก พี่ยังนั่งรถไฟไปคนเดียวเลย”

“ก่อนหน้านั้น พี่ไม่เคยดูฟุตซอลมาก่อน พี่ไม่รู้ว่าการเชียร์มันเป็นอย่างไร แต่พอไปสัมผัสจริงๆ ทุกที่ บรรยากาศในโกดัง ไม่เหมือนใครจริงๆ”

“อย่างจำนวนคนดูที่อื่น แฟนคลับน้อยกว่าเรานะ แล้วก็ไม่ได้ส่งเสียงเชียร์ เหนียวแน่นเท่ากับเรา ยกเว้นแค่ สุราษฏร์ธานี ทีมเดียว ที่ต้องยอมรับว่า กระแสฟุตซอลในจังหวัดเขาตื่นตัวมาก คนดูเยอะกว่าฟุตบอลใหญ่”

“สองคือบรรยากาศด้านในสนาม เราตีกลอง เราส่งเสียงเชียร์ ตะโกนด่า ได้ยินชัดเจน เพราะเป็นโกดังไง เสียงพวกนี้จะสะท้อนพื้นลงมา ถ้าเป็นสนามอื่นๆ สนามเขาไม่ได้เป็นแบบนี้ ไม่ได้ใกล้ชิดคนดูเท่าเรา เหมือนเราคุ้นเคยกับอะไรอย่างนี้อยู่แล้ว น้องดู แพท สเตเดียม ดิ เขาสร้างมาให้กองเชียร์ใกล้ชิดกับนักเตะ ฟุตซอลก็เหมือนกัน คนดูก็เลยอิน”

 7

แม้จะเป็นสนามที่มีความจุผู้ชมได้แค่ประมาณ 700 คน และไม่มีเครื่องปรับอากาศ แต่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนอบอ้าวในช่วงบ่ายของการแข่งขัน ก็ไม่ได้ทำให้แฟนคลับปริปากบ่นเลย หรือเกิดความรู้สึกไม่อยากมาดู

กลับกัน พวกเขายังส่งเสียง ส่งพลัง ไปให้นักเตะในสนาม กันอย่างสุดเชียร์ น้อยคนนักในสนามที่นั่งอยู่กับเก้าอี้เฉยๆ เพราะส่วนใหญ่ ถ้าไม่เกาะขอบรั้วตรงบริเวณทางเดิน ก็จะยืน กระโดดอยู่บนอัฒจันทร์

เสียงอันทรงพลังภายในโกดัง สเตเดียม ที่สะท้อนลงมานี่เอง ถือเป็นอาวุธสำคัญ ที่ทำให้รังเหย้าแห่งนี้  กลายเป็น สนามปราบเซียนของเหล่าคู่แข่ง โดยนับตั้งแต่เปิดใช้งานเมื่อฤดูกาล 2016 พวกเขาเคยแพ้เกมลีกในสนามแห่งนี้ แค่นัดเดียวเท่านั้น

“เสียงกลองที่มีอยู่ทุกจุดของสนาม ทำให้นักเตะรู้สึกเหมือนกำลังจะไปออกรบเลย บางครั้งผมยังสงสารโค้ชดม เลย ที่ตะโกนสั่งนักเตะในสนามไม่ได้ยิน บางนัดเขาเสียงแหบ เสียงแห้งเลยนะ แต่นั่นแหละเพราะกองเชียร์รักทีม เขาเลยส่งเสียงเชียร์” นคร พวงบุบผา ปธ.สโมสรการท่าเรือ ฟุตซอลคลับ กล่าว

ส่วนดาวเตะมากประสบการณ์อย่าง เลิศชาย อิสราสุวิภากร เผยผ่านรายการ The Player ว่าตลอดการเล่นฟุตซอลของเจ้าตัวมานับสิบปี และเดินทางไปมาหลายประเทศ ไม่เคยเห็นสนามลักษณะนี้มาก่อน โดยทุกครั้งที่ลงเล่นในโกดัง สเตเดียม นักเตะจะมีความรู้สึกตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา

 8

เนื่องจากสนามแห่งนี้เป็น โกดังสินค้า ที่สามารถเก็บเสียงได้ดี ดังนั้นนักเตะที่ลงเล่นอยู่ในสนาม ทั้ง 10 คน จะได้ยินเสียงเชียร์ เสียงกลอง ดังกึงก้องอยู่ในนี้ เปรียบได้ดั่งเป็นคอนเสิร์ตที่มีทุกคนสามารถจับจ้องอยู่ และถือเป็นแรงกระตุ้นชั้นดีให้แก่นักเตะ ต้องวิ่งอยู่ตลอดเวลา

ถึงกระนั้น วัฒนธรรมการเชียร์ที่ทรงพลัง และดุดันของ การท่าเรือฯ ก็ยังมีผู้คนบางส่วนที่ตั้งคำถาม และยังมองพวกเขาในด้านลบเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อครั้งหนึ่ง พวกเขาเคยถูกนำเสนอผ่านสื่อ ในฐานะทีมฟุตบอล หัวรุนแรงและป่าเถื่อน จนบางคน พลอยไม่กล้าเฉียดกายเข้ามายังสนามฟุตซอลไปด้วย

เรื่องนี้ สามารถ ด่านดอน แฟนบอลฮาร์ดคอร์ของ สิงห์คลองเตย กล่าวว่า “ไอ้คนที่เขาคิดว่า ท่าเรือเถื่อน ท่าเรือไม่ดี เราอยากให้ลองมาสัมผัสก่อน มาลองดูสักนิดว่า พวกเราเป็นอยู่กันอย่างไร แล้วค่อยมาตัดสินพวกเรา”

“ถ้าเป็นเวลาแข่งขันครึ่งละ 20 นาที เราด่าคู่แข่ง กดดันคู่แข่ง ส่งเชียร์ตลอดทั้งเกม เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ถามหน่อย สนามไหน คนดูไม่มีด่ากันบ้าง เราว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการเชียร์กีฬาอะ แต่ถามหน่อยว่า หลังจบเกม พวกเราไปทำร้ายกรรมการไหม แม้เราจะไม่เห็นด้วย ไม่เลย จบเกมก็จบกัน ปรบมือ ตะโกนเรียกชื่อกองเชียร์ทีมเยือน และผู้เล่นทีมเยือน”

“เราเถื่อนแค่ตอนเชียร์ในเกมเท่านั้น แต่ไม่ได้เถื่อนแบบว่า ไปไล่ตีกรรมการ ไปไล่กระทืบนักเตะคู่แข่ง อันนั้นอ่ะไม่ใช่แล้ว ถามว่าสนามมันใกล้แค่นี้ ถ้าเราจะทำ เราก็ทำได้ แต่กองเชียร์เราไม่มีใครทำไง เพราะเราถือว่า จบเกมแล้วก็คือจบกัน”

ด้าน ทิม วอล์กเกอร์ แฟนคลับขาประจำชาวอังกฤษ ชี้ให้เห็นว่าการเชียร์ของ ท่าเรือ นั้น ไม่ได้เถื่อนน่ากลัว ตรงกันข้าม เขากลับรู้สึกประทับใจมากกว่า โดยเฉพาะการให้เกียรติคู่แข่ง “ผมรู้จักทีมนี้เพราะว่าตามมาจากสโมสร (การท่าเรือ) และผมอยู่ไม่ไกลจากสนามด้วย ถ้าเดินก็ใช้เวลาไม่กี่นาที ซึ่งตอนนี้ผมเข้ามาชมเกมที่นี่ทุกๆนัด”

 9

“ผมชอบบรรยายกาศที่สนามนี้มาก พวกเราสามารถรวมตัวกับแฟนบอลคนอื่นๆ จิบเบียร์ เชียร์ไปด้วย”

“สำหรับผม ความแตกต่างของการตามเชียร์ทีมรักที่อังกฤษและที่นี่ค่อนข้างต่างกัน แฟนบอลชาวไทยน่ารักมาก ทุกคนเป็นกันเอง แม้ว่าจะเป็นแฟนบอลของฝ่ายตรงข้ามก็ตาม พวกเขาให้ความเคารพซึ่งกันและกัน แน่นอนว่ามันค่อนข้างต่างกับฟุตบอลอังกฤษ”

“ฟุตซอลที่นี่ จะดูเป็นกันเองมากกว่า ทั้งกับนักเตะและแฟนๆ อย่างการท่าเรือ จะมีแฟนฟุตซอลประมาณ 500-600 คน ที่เข้ามาชมเกม ทำให้นักเตะและกองเชียร์จำหน้ากันได้ ในขณะที่ฟุตบอล มีแฟนบอลเข้ามาชมเกมเยอะ ซึ่งการที่เราจะมีโอกาสได้เข้าไปพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขาก็ค่อนข้างยาก”

ความทรงจำและคำอำลา

เมื่อกาลเวลาผ่านไปเข้าสู่ฤดูกาลที่ 3 ความพิเศษของสนามโกดัง สเตเดียม จึงไม่ใช่แค่เพียง สนามฟุตซอล ที่มีรูปทรงแตกต่างไม่เหมือนใคร แต่กลับเป็นความรู้สึกที่ก่อตัวในจิตใจของทุกคนในสโมสรแห่งนี้

 10

“ทุกนัดในบ้าน ผมมาตลอด ถามว่าอยากดูบอลก็ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้องมา เพราะมันเหมือนเราได้มาเจอกับเพื่อนฝูง พี่น้อง ที่นี่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว วันไหนไม่มีแข่ง ก็ยังนัดกันในไลน์กับกองเชียร์คนอื่นเลยว่า ป่ะ ไปนั่งกินเบียร์ ดูเขาซ้อมกัน” สามารถ ด่านดอน กองเชียร์ทีมฟุตซอล ท่าเรือฯ กล่าวเริ่ม

“รู้ไหมบอลปิดฤดูกาลไป 3-4 เดือน โคตรเหงาเลยนะ สโมสรอื่นบอลจบ ต่างคนต่างแยกย้ายกันกลับบ้าน แต่สโมสรเรา บอลจบทุกคนยังมานั่งกินเบียร์ พูดคุยกันต่อ มีที่ไหนเป็นแบบเราบ้าง อย่างต่ำต้องมี 4-5 ชั่วโมง ยิ่งถ้าวันไหนบอลชนะ เตะบ่ายสอง นั่งกันยาวถึงเที่ยงคืน”

ด้าน จารึก เหมนิหมัด แฟนตัวยงของ การท่าเรือฯ เผยว่า “ที่แฟนคลับเราเหนียวแน่น คนดูเยอะ เพราะฟุตซอลเราสู้ตลอด วิ่งตลอด เล่นตามที่โค้ชสั่ง นักเตะก็มีจิตใจเป็นนักสู้ ถ้าเป็นฟุตบอลสนามใหญ่ บางทีเขาอาจจะไม่ได้วิ่งทุกจังหวะ แต่ฟุตซอลมาดูได้เลย ท่าเรือเราไม่เป็นรองใคร โดยเฉพาะเมื่อเล่นในโกดัง”

“ถ้าวันไหนจะมีแข่งตรงกับฟุตบอลใหญ่ ก็จะมีแฟนคลับส่วนหนึ่งยังอยู่เชียร์ฟุตซอล ป๋า ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ถ้าวันที่ไม่มีฟุตซอล พวกที่เป็นแฟนคลับฟุตซอล ก็จะไปช่วยเชียร์ฟุตบอลใหญ่”

 11

อย่างไรก็ดี โกดัง สเตเดียม อาจถูกเปิดใช้งานเป็นฤดูกาลสุดท้าย ในซีซั่นนี้ เนื่องจากทาง การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้มีการวางแผนที่สร้างสนามใหม่ ด้วยงบประมาณ 160 ล้านบาท โดยสนามใหม่ ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับ โกดัง สเตเดียม

ขณะที่โกดังแห่งนี้ก็จะถูกนำไปปรับปรุง และเปิดโกดังเช่าสำหรับธุรกิจต่อไป โดยสนามแห่งใหม่ จะมีสิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภคทุกอย่างที่ครบครัน และทันสมัย ต่างจาก โกดัง สเตเดียม ที่มีปัญหาหลายด้าน ทั้ง อากาศร้อน สภาพโกดังที่ดูเก่า แถมยังมีห้องน้ำจำกัด

“ตั้งแต่ย้ายมาเล่นที่นี่ เราเห็นได้เลยว่า แฟนคลับสโมสรท่าเรือเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทางสโมสรพยายามใกล้ชิดกับแฟนๆ ถ้าเขาอยากมาเตะบอลแฟนคลับ เราก็อนุญาตให้ใช้สนามนะ” นคร พวงบุบผา กล่าวเริ่ม

“แฟนบอลท่าเรือไม่เคยแสดงความไม่พอใจ วันไหนที่ทีมแพ้ มีแต่มาปลอบใจ เข้ามากอดนักเตะ บอกว่า สู้ๆนะ ไม่เป็นไร ช่างมัน เหมือนกับทุกคนเป็นหนึ่งเดียวจริงๆ”

“ใจจริงผมก็ไม่อยากจะย้ายสนามนะ ถึงแม้มันจะร้อนหน่อย มีปัญหาเรื่องหลังคารั่วบ้าง แต่มันเป็นนโยบายของผู้ใหญ่ตั้งแต่แรกแล้วว่า เขาจะทำสนามอเนกประสงค์ ถึงแม้เราผูกพันกับโกดังไปแล้ว ถ้าเป็นไปได้ ผมยังอยากติดแอร์ ปรับปรุงที่นี่ให้ดีมากกว่า”

“แม้ว่าเราจะเจอปัญหาเข้ามาบ้าง แต่เราก็ยังอยากจะพัฒนาทีมต่อไป เรายอมรับว่าเราไม่ได้เป็นทีมใหญ่ขนาดชลบุรี แต่พอเราเห็นแฟนคลับมีความจริงใจต่อเรา ก็เป็นพลัง ที่ทำให้เรายังสู้ต่อไป เพื่อเป็นแชมปฺ์ลีกให้ได้”

 12

โกดัง สเตเดียม อาจจะเป็นแค่ความทรงจำที่เลือนลางของคนทั่วไปในสักวันหนึ่ง หากสนามแห่งใหม่ สร้างเสร็จ และที่นี่จะกลับไปสู่สภาพเดิมในการเป็น คลังเก็บสินค้า

แต่สำหรับแฟนบอลสิงห์คลองเตยแล้ว โกดัง สเตเดียม ยังคงมีความหมายต่อจิตใจพวกเขา ไม่ว่าอนาคตข้างหน้า พื้นที่เก่าๆตรงนี้ จะยังเป็นสนามฟุตซอลหรือโกดังเช่า เพราะหลายๆความทรงจำ มิตรภาพที่ดี ถูกสร้างขึ้นและถือกำเนิดขึ้นที่นี่

ธวัชชัย กราบกรานธรรม มือกลองที่ถูกเซอร์ไพรส์วันเกิด โดยเหล่ากองเชียร์และนักเตะหลังจบเกม ที่เสมอกับ พีทีที ชลบุรี บลูเวฟ 1-1 เผยความรู้สึกว่า “พี่ไม่รู้มาก่อนว่าเขาจะมีเซอร์ไพรส์ ไม่คิดเหมือนกันว่า จะมีนักฟุตซอลยืนร้องเพลงแฮปปี้ เบิร์ธเดย์ให้เรา ความรู้สึกตอนนั้น มันตื้นตันใจนะ อยากจะร้องไห้ออกมา แต่ก็กลัวคนอื่นว่า เราเป็นเด็ก เกิดมาพี่ไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อน พี่ปลื้มใจมาก”

“เหมือนสโมสรให้ใจเรา เราก็ให้ใจสโมสร มันเหมือนครอบครัวเดียวกันไปแล้ว เราไม่รู้ว่าสนามแห่งใหม่จะเป็นอย่างไร โอเค อาจจะมีแอร์ แต่ถามว่าที่นี่อากาศร้อน มีแค่พัดลม เราทนได้ไหม เราทนได้ เพราะเรารักทีมนี้”

 13

ส่วน ทิม วอล์กเกอร์ แฟนคลับท่าเรือ ชาวอังกฤษ ทิ้งท้ายกับเราด้วยประโยคสั้นๆว่า  “ถ้าผมได้กลับไปที่อังกฤษ แน่นอนว่าผมจะเล่าเรื่องราวของฟุตบอลและฟุตซอลไทยให้เพื่อนๆหรือครอบครัวผมฟัง รวมถึงทีมการท่าเรือฯ เพราะผมมีความทรงจำที่ดี หลายๆอย่างเกิดขึ้นที่นี่ครับ”

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ โกดัง สเตเดียม : สนามฟุตซอลที่ไม่เหมือนใครและเป็นความภาคภูมิใจของคลองเตย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook