เพื่อนร่วมทีม...ไม่ใช่เพื่อนกัน : "ร็อดแมน vs จอร์เเดน & พิพเพ่น" บิ๊กทรีภาษาอะไร?

เพื่อนร่วมทีม...ไม่ใช่เพื่อนกัน : "ร็อดแมน vs จอร์เเดน & พิพเพ่น" บิ๊กทรีภาษาอะไร?

เพื่อนร่วมทีม...ไม่ใช่เพื่อนกัน : "ร็อดแมน vs จอร์เเดน & พิพเพ่น" บิ๊กทรีภาษาอะไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ผมเบื่อเต็มทีกับการเปรียบเทียบระหว่าง เลบรอน และ จอร์แดน พวกเขาเกิดคนละยุคกัน ผมไม่ต้องการเปรียบเทียบนะ แต่คิดว่าถ้า เลบรอน เล่นช่วงปลายยุค ‘80 หรือต้นยุค ‘90 เขาอาจเป็นเพียงผู้เล่นธรรมดาๆ ก็ได้" นี่คือสิ่งที่ เดนิส ร็อดเเมน จอมรีบาวด์แห่งดรีมทีมยุค '90 ของ ชิคาโก้ บูลส์ พูดถึง เลบรอน เจมส์ กับ ไมเคิ่ล จอร์เเดน

 

ดูเผินๆ เหมือนเขากำลังจะยกย่องเพื่อนร่วมทีมของเขาอย่าง จอร์เเดน ที่เป็นหัวหอกนำกระทิงจากชิคาโก้ไล่ถลุงคู่แข่งยับแบบไม่ไว้หน้าจนถูกขนานนามว่า "3 มหัศจรรย์" หรือ “The Magic Trio”

ด้วยชื่อที่เพิ่งกล่าวไป คุณอาจจะนึกถึงเรื่องราวของกลุ่มผู้เล่นที่มีฝีมือในระดับสูงรวมตัวกัน ทุกคนสอดประสานกันอย่างดีทำหน้าที่ในสนามได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ราวกับร่ายเวทมนตร์บนคอร์ทบาส แน่นอนว่า เดนิส ร็อดเเมน ในตำแหน่งเพาเวอร์ฟอร์เวิร์ด, ไมเคิ่ล จอร์เเดน ในตำแหน่งชูตติ้งการ์ด และ สก็อตตี้ พิพเพ่น ในตำแหน่งสมอลล์ฟอร์เวิร์ด คือ "สุดในรุ่น” อย่างแท้จริง

ทว่าสำหรับเรื่องราวนอกสนามล่ะ การเป็นดรีมทีมหมายถึงเพื่อนซี้ที่มองตาก็รู้ใจด้วยหรือไม่? หากคุณกำลังคิดว่าความสัมพันธ์ฉันเพื่อนร่วมทีมจะทำให้ผลงานในสนามดีขึ้นเสมอไป เราอยากให้คุณได้รับรู้เรื่องราวอริ 2 รุม 1 ของ ชิคาโก้ บูลส์ เรื่องนี้ เหตุใดกันหนอ ร็อดแมน จึงไม่เคยพูดคุยกับ จอร์เเดน เลยแม้แต่ครั้งเดียว และทำไม พิพเพ่น จึงโดนหางเลขไปได้ ... ลืมท่อนเปิดหัวของบทความนี้ซะ และไปร่วมค้นหาความจริงกับ Main Stand ได้ที่นี่

เสือร้ายจากเเดนไกล

"ผมไม่มีพ่อคอยดูแลตั้งแต่เด็กเหมือนใคร ผมสู้ด้วยตัวเองมาตังแต่จำความได้" ร็อดเเมน พูดถึงชีวิตวัยเด็กของเขา ในวันที่ตัวเองมีชื่อเสียงกับฐานะ “The Worm” ราชารีบาวด์ผู้มีคาแร็คเตอร์โดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์  NBA

 1

นี่อาจจะเป็นเรื่องที่เขาให้สัมภาษณ์พร้อมกับรอยยิ้ม ทว่าหากย้อนไปช่วงที่ยังเด็ก ชีวิตของ ร็อดแมน ไม่ใช่ชีวิตที่ใครถวิลหาแน่นอน พ่อเขาเป็นทหารผ่านศึกของกองทัพสหรัฐฯ และอยู่ได้ด้วยเงินสวัสดิการ อย่างไรก็ตามน่าเสียดายที่เขาเลือกจะทิ้งครอบครัวให้สู้ชีวิตที่สหรัฐอเมริกา ขณะที่ตัวเองลุยใช้ชีวิตเพลย์บอยไปทั่ว ก่อนไปตั้งต้นชีวิตใหม่ด้วยการเปิดบาร์ที่ประเทศฟิลิปปินส์ จนทำให้เขามีลูกถึง 28 คน ซึ่ง ร็อดแมน คือพี่ใหญ่ของตระกูล หน้าที่นี้เหมือนกับหัวหน้าครอบครัวอยู่กลายๆ ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยว่าอุปนิสัยไม่กลัวใครคือสิ่งที่เขาจำเป็นต้องมี เพื่อทำให้น้องๆของเขาปลอดภัยจากเหล่าอันธพาลและการถูกรังแก

การเป็นนักกีฬานี่แหละที่จะทำให้เขาหลุดพ้นความจนและใช้ชีวิตแบบร็อคสตาร์ได้ นั่นจึงทำให้เขาเลือกที่จะเล่นบาสควบคู่ไปกับการทำงานตั้งแต่ยังเด็ก อย่างไรก็ตามส่วนสูงในช่วงวัยรุ่นทำให้ชีวิตในวงการยัดห่วงของเขาไม่ค่อยสวยนัก

ในชีวิตช่วงแรกที่เริ่มเล่นบาสเกตบอลนั้น เขาสูงเพียงแค่ 168 เซนติเมตร จนทำให้เขาถูก เท็กซัส A&M ถูกตัดออกจากทีม นอกจากเรื่องของส่วนสูงเเล้วฝีมือก็แย่ไม่แพ้กัน แกรี่ แบลร์ โค้ชของเขาสมัยเรียนไฮสคูลยืนยันว่า ณ ตอนนั้นแม้แต่การเลย์อัพธรรมดาๆ เขาก็ทำไม่เป็นเลยด้วยซ้ำไป  

ทว่าความพยายามหลังจากนั้นต่างหากที่ทำให้เขามายืนอยู่บนจุดสูงสุดได้ เขากลับมาเล่นบาสในช่วงมหาวิทยาลัย นอกจากจะฝึกหนักหน่วงแล้วส่วนสูงของเขาก็พุ่งปรี๊ดจนทำให้กลายเป็นดาวเด่นของ วิทยาลัยคุ้ก เคาน์ตี้ (ปัจจุบันชื่อมหาวิทยาลัย นอร์ธ เซ็นทรัล เท็กซัส) ก่อนไปโดดเด่นกับมหาวิทยาลัยเซาธ์อีสต์เทิร์น โอกลาโฮม่า สเตท อีกแห่ง จนได้โอกาสไปอยู่กับ ดีทรอยต์ พิสตันส์ แม้เขาจะเป็นดราฟท์รอบสอง แต่ก็ถือว่าเป็นการหาเพชรในตมสำหรับ พิสตันส์ อย่างแท้จริง

ร็อดแมน ได้เล่นลีกอาชีพ และได้เจอกับ ไอเซย์ โธมัส ที่เปลี่ยนสไตล์ของเขาเเละยัดเทคนิคระดับเทพซึ่งดึงออกมาจากพรสวรรค์ที่แอบแฝงลึกๆ ในแบบที่ตัวเขาเองยังไมรู้เลยด้วยซ้ำ เรียกได้ว่านี่คือหนึ่งในโค้ชคนสำคัญที่สุดในชีวิตของเขาเลยทีเดียว ช่วงเวลากับ พิสตันส์ คือช่วงเวลาแจ้งเกิดในฐานะฟอร์เวิร์ดจอมห่ามที่ไม่กล้วใคร ร็อดแมน เองยอมรับเรื่องนี้ด้วยตัวเองว่า ไอเซย์ โธมัส เปรียบเหมือนพี่ชายของเขา ขณะที่โค้ช ชัค เดลี่ ก็มีความสำคัญกับเขาราวกับเป็นพ่อ-ลูกกันเลยทีเดียว

 2

ชีวิตของเขาสุดโลดโผน สไตล์ที่โดดเด่น และเทคนิคที่หาใครเลียนแบบยาก ทำให้เขาแจ้งเกิดเต็มตัว ก่อนจะย้ายไปอยู่กับ ซาน อันโตนิโอ สเปอร์ส ในปี 1993 หลังจากต้องการเปลี่ยนบรรยากาศใหม่ๆ บ้างหลังคว้าแชมป์ NBA ได้ถึง 2 สมัย

ทว่าช่วงที่อยู่กับ สเปอร์ส นั้น เป็นช่วงที่ ร็อดแมน มีปัญหาเรื่องพฤติกรรมเยอะมาก ทั้งการปฎิบัติตัวนอกสนามและการเอาหัวโขก สเตซี่ คิง และ จอห์น สต็อคตัน ในสนาม นอกจากนี้เขายังเคยขึ้นพาดหัวเป็นข่าวคบหาดูใจกับป๊อปสตาร์ชื่อดังอย่าง มาดอนน่า อีกด้วย นี่อาจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาไม่ประสบความสำเร็จมากนักในฐานะนักบาส และดูเหมือนว่าเขาเองก็ไม่ได้สนเรื่องนี้สักเท่าไหร่

"ผมมันพวกหาโอกาสให้ตัวเอง คำแนะนำของผมคืออะไรรู้ไหม? ถ้าไม่ชอบก็ชั่งหัว-ึงสิ! คนทั่วโลกทำงานงกๆ เพื่ออยากจะหลุดเป็นอิสระทำสิ่งที่ตัวเองต้องการ คนพวกนั้นอยากเป็นแบบผมทั้งนั้นแหละ พวกเขาคงคิดในใจไอ้หมอนี่แตกต่างกับคนอื่นดี "เฮ้! ดูไอ้หมอนั่นสิ ทำไมชีวิตมันช่างเอนเตอร์เทนขนาดนี้ อะไรประมาณนั้น ... นั่นล่ะผมเอง" เขากล่าวทิ้งท้ายก่อนจะได้ย้ายไปอยู่กับ ชิคาโก้ บูลส์ ทีมที่กำลังขาดผู้เล่นแบบเขา และหลังจากนั้นเรื่องราววุ่นๆ จากผู้มาใหม่ก็เริ่มขึ้น

สวัสดี เราคือขาใหญ่ของที่นี่!

ร็อดแมน เก็บกระเป๋าข้ามฟากมาอยู่กับ ชิคาโก้ บูลส์ ในปี 1995 เขากำลังคะนองสุดขีดเพราะดีกรีติดตัวที่มีมาของเขาก็ถือว่าไม่น้อยหน้าใคร ดังนั้นเขาจึงฝันหวานที่จะได้เป็นนัมเบอร์ 1 ตามแบบฉบับคนเพี้ยนยุค '90 อย่างไรก็ตามเขาก็ต้องติดเบรกดังเอี๊ยดเมื่อเจอนัมเบอร์วันแห่งชิคาโก้อย่าง จอร์เเดน และเพื่อนซี้ของเขาอย่าง พินเพ่น ยืนตระหง่านขวางหน้าหนทางความเป็นพี่ใหญ่ของ ร็อดแมน อยู่

 3

จริงๆ แล้ว ร็อดแมน ควรจะเข้าใจกับเรื่องนี้ตั้งแต่แรก บูลส์ ในยุคนั้นเป็นทีมที่เน้นการทำแต้มจากการบุกวงนอก ดังนั้นการที่เขาเข้ามามันชัดเจนอยู่แล้วว่าหน้าที่ปิดทองหลังพระ หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า "Dirty Job" คือสิ่งที่ทีมต้องการจากเขามากที่สุด และนั่นหมายความความโดดเด่นเป็นซูเปอร์สตาร์จะตกเป็นของ จอร์เเดน และ พิพเพ่น ไม่เปลี่ยนแปลง

เมื่อ บูลส์ เป็นทีมที่เน้นแต้มจากการยิงนอก นั่นหมายความว่าผู้เล่นที่คอยรีบาวด์ จะต้องเก่งกาจมากๆ เพราะถ้ารีบาวด์ไม่ได้โอกาสแพ้จะก็จะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว เมื่อผู้เล่นอย่าง จอร์เเดน, พิพเพ่น หรือคนอื่นๆ ยิงพลาด ร็อดแมน จะต้องสแตนด์บายอยู่ใต้แป้นและจัดการเอาบอลกลับมาให้ทีมได้บุกอย่างต่อเนื่อง

เอาล่ะอาจจะมีหลายคนเถียงว่าก่อนที่ ร็อดแมน จะมา บูลส์ก็เป็นเเชมป์ NBA ถึง 3 สมัยอยู่แล้ว ทว่าหลังจากที่ ร็อดแมน เข้ามานี่สิ พวกเขากลายเป็นทีมที่ดีขึ้นถนัดตา สิ่งที่ยืนยันได้คือ บูลส์ ชุดนั้นยังคงถือสถิติเกมรับตลอดกาลของ NBA มาจนถึงทุกวันนี้ คำกล่าวที่ว่า "บูลส์ ต้องมี ร็อดแมน" อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่เกินจริงมากไปนัก เพราะเขาก็พา บูลส์ คว้าแหวน NBA อีกถึง 3 สมัยรวดเลยทีเดียว และเขาติดทีมรับยอดเยี่ยมแทบจะทุกปีอีกต่างหาก

 4

อย่างไรก็ตาม ความยอดเยี่ยมในสนามไม่ได้หมายความพวกเขาจะดีต่อกัน จอร์เเดน และ พิพเพ่น คือทีมเดียวกันแบบไม่ต้องสงสัย พวกเขาอยู่ด้วยกันมานาน สนิทกันมาก มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ทั้งสองคน จอร์เเดน เองมีอิทธิพลอย่างสูงกับชีวิตที่ ชิคาโก้ ของ พิพเพ่น เขาคอยช่วยเหลือ พิพเพ่น ในวันที่ย้ายมาอยู่กับทีม นอกจากนี้ทั้งสองคนยังเป็นคู่ซ้อมดวล 1-1 หลังจากการฝึกซ้อมของทีม ความกลมเกลียวนี้ทำให้ทั้งคู่เลือกกันและกันเมื่อจัด “ดรีมทีม” ของพวกเขา

ทั้ง จอร์เเดน และ พิพเพ่น อยู่กับทีมมานานกว่า ร็อดแมน นั่นคือเหตุที่คู่หูขาเก๋าเป็นลูกรักของเหล่าผู้บริหารและโค้ชอย่าง ฟิล แจ็คสัน และเป็นเรื่องที่ ร็อดแมน ไม่ชอบใจมากที่สุด เขาเป็นพวกหัวขบถไม่ชอบการเล่นพรรคเล่นพวก และที่สำคัญเขาไม่ชอบคุยกับใครแบบนอบน้อมเพียงเพื่อหวังผลว่าจะได้เป็นที่ยอมรับของคนนั้นๆ

 5

เรื่องแบบนี้ จอร์เเดน กับ พิพเพ่น ก็ไม่สนอยู่แล้ว พวกเขาเป็นซีเนียร์ผู้น่าเคารพ ใครไม่อยากคุยด้วยกับข้าก็ช่างปะไร เชื่อหรือไม่ว่าตลอด 3 ปีที่ "บิ๊กทรี" ทั้ง 3 คนนี้อยู่ด้วยกันพวกเขาไม่เคยคุยกันในเรื่องส่วนตัวเลยแม้แต่ครั้งเดียว การลงสนามเท่านั้นจะทำให้พวกเขาปริปากคุยกันได้ ต่างคนต่างเป็นพวกยอมหักไม่ยอมงอ ดังนั้นสถานการณ์ในห้องแต่งตั่วของ บูลส์ จึงอึมครีมตลอดศก แต่โชคยังดีที่ความเก่งกาจช่วยให้ปัญหาเหล่านี้ไม่เกิดในสนามแข่งขัน

"ผมไม่คิดว่าการคุยกันมันจะสำคัญตรงไหน คนอย่างผมสิ่งสำคัญอย่างเดียวคือ ไป! ออกไปคว้าชัยชนะกัน จะไปคุยด้วยทำไม งานของผมคืออะไร คุยเล่นเฮฮากับคนอื่นงั้นเหรอ?"

"งานของผมคือการเชื่อมโยงเเละเข้าใจวิธีการทำงานเป็นทีม แสดงความสามารถออกมาสิและคนอื่นจะรู้ว่าคุณควรร่วมงานด้วย นี่แหละคือสถานะที่เราอยู่กัน แล้วจะบอกให้ว่าผมชอบมากจริงๆ ที่เป็นแบบนี้ ผม, สก็อตตี้ (พิพเพ่น) และ ไมเคิ่ล (จอร์เเดน) ไม่เคยปริปากคุยกันเลยตลอด 3 ปีที่ชิคาโก้ โอกาสเดียวที่ผมจะคุยกับพวกเขาคือการสื่อสารกันตอนแข่งขันแค่นั้นเอง"

ไอ้หมอนี่ทำไมมันห่ามแบบนี้?

หลายคนสงสัยว่ามันจะเป็นอะไรกันนักหนากับการแค่แสดงความยินดีกันแบบเพื่อนร่วมงาน ซ้อมเสร็จตบไหล่ชวนกันไปสังสรรค์ สร้างความสนิทชิดเชื้อกันไว้ก่อน เพราะอย่างน้อยๆ ความสนิทสนมนอกสนามจะนำมาซึ่งการเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกันในสนามและทีมก็จะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น จริงอยู่ที่ บูลส์ ชุดนั้นยอดเยี่ยมคว้าแชมป์ 3 สมัยซ้อน ทว่าหากทั้ง 3 คนเป็นหนึ่งเดียวกันอารมณ์ แก-ข้า เพื่อนตาย พวกเขาอาจจะเป็นทีมที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์เท่าที่โลกเคยมีโดยไม่มีใครกล้าโต้แย้งเลยก็ได้ เรื่องแค่นี้ทำไม ร็อดแมน จึงไม่ยอมเข้าใจกันนะ?

 6

จริงๆ แล้ว ร็อดแมน เองก็ไม่ได้เป็นพวกหัวแข็งคุยภาษาคนไม่เข้าใจไปเสียเดียวหรอก เขาอาจจะพูดไปว่างานของเขาคือการลงแข่งไปและชนะ ความสัมพันธ์นั้นไม่มีความจำเป็น บลาๆๆ อะไรประมาณนั้น แต่หากย้อนกลับไปในช่วงที่เขาสร้างชื่อกับ พิสตันส์ สิ่งที่ทำให้เขาแจ้งเกิดได้คือความสัมพันธ์แบบพี่น้องกับเพื่อนๆ ร่วมทีม และการนับถือคนอย่างอย่าง ไอเซย์ โธมัส และ ชัค เดลี่ ให้เป็นเหมือนพ่อคนที่ 2 ไม่ใช่หรือ? ทำไมเขาจึงทำมันอีกครั้งที่ตอนที่อยู่กับ บูลส์ ไม่ได้?

เวลาเปลี่ยนคนเปลี่ยน สภาพเเวดล้อมทำให้การปฎิบัติตัวของเขาเปลี่ยนไป มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่เปลี่ยนทัศนคติของ ร็อดแมน กับชีวิตในชิคาโก้เสียใหม่ เหตุการณ์วันนั้นเริ่มขึ้นจากปาร์ตี้เล็กๆ ในบ้านของ ฟิล แจ็คสัน โค้ชของทีมที่นัดทั้ง จอร์เเดน พิพเพ่น และ ร็อดแมน มาเจอกันโดยนัดหมาย … วันนั้นเป็นวันก่อนที่ฤดูกาลจะเริ่ม

แจ็คสัน เองอยากให้ทีมของเขาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อย่างไรก็ตามความเป็นน้ำหนึ่งในเดียวของเขาต้องมี จอร์เเดน เป็นอันดับ 1 นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมเขาจึงเรียกบิ๊กทรีมารวมกันที่บ้านของเขา

ร็อดแมน รู้สึกแปลกใจ ทำไมบรรยากาศมันแปลกๆ ไม่เหมือนการสังสรรค์ มีการจัดเก้าอี้ 3 ตัวเป็นรูปสามเหลี่ยมและตัวเขานั่งอยู่ตรงยอด ราวกับว่าเขาจะต้องโดนรุมจากเรื่องอะไรสักเรื่อง

"เอาล่ะ เดนนิส ผมมีอะไรจะพูดกับคุณหน่อย" แจ็คสัน เปิดประเด็นใหญ่ประจำวัน "คุณช่วยบอกกับ สก็อตตี้ หน่อยได้ไหมว่าคุณอยากจะขอโทษกับสิ่งที่คุณเคยทำลงไปกับเขา?"

ร็อดแมน งงเป็นไก่ตาแตก เขาเพิ่งมาอยู่ชิคาโก้ได้ไม่กี่วันทำไมอยู่ดีเขาจึงต้องเอ่ยปากขอโทษ พิพเพ่น ด้วย? "ห๊ะ คือไรเนี่ย? อยู่ดีๆ ให้ผมขอโทษอะไร สก็อตตี้ ทำไม?

"ก็เรื่องเมื่อปี 1991 นั่นไง" ฟิล แจ็คสัน บอกก่อนที่ภาพเก่าๆ จะย้อนมา ...

ย้อนกลับไปในปี 1991 สมัย ร็อดแมน ยังอยู่กับ ดีทรอยต์ พิสตันส์ ตอนนั้นทีมของเขาถูกเรียกว่า "Bad Boys" เพราะเป็นทีมที่ใช้แท็คติกการเล่นที่ผสมความรุนแรงเข้าไปด้วย เรียกได้ว่าลูกตุกติกลูกแถมมาเต็มตามประสาทีมพันธุ์ระห่ำ

เหตุการณ์ในวันนั้น พิสตันส์ เปิดบ้านรับ บูลส์ ซึ่งฝ่ายหลังเป็นฝ่ายชนะ 115-94 จากการนำทัพของ จอร์เเดน และ พิพเพ่น … ร็อดแมน ตามประกบ พิพเพ่น ด้วยความยัวะที่สกอร์ตามหลัง ร็อดแมน เล่นนอกเกมผลัก พิพเพ่น จากด้านหลังจนกระเด็นหัวทิ่มใส่เก้าอี้คนดู เขานอนนิ่งอยู่สักพักก่อนจะขึ้นมานั่งจ้อง ร็อดแมน ด้วยสายตาเเห่งความเกลียดชังปนกับความเอือมระอา หลังเกม ร็อดแมน โดนปรับเงิน 5,000 เหรียญและตัวเขาเองก็เขียนจดหมายไปขอโทษพิพเพ่นเป็นการส่วนตัวไปแล้วอีกต่างหาก ทำไมเรื่องการผลักจากด้านหลังต้องถูกนำมาพูดอีกครั้ง?

นี่คือเหตุการณ์ที่ ฟิล แจ็คสัน อยากให้ ร็อดแมน ขอโทษ พิพเพ่น อีกครั้งจนเป็นเหตุของการนัดหมายครั้งนี้ "เอาน่า ถือว่าทำเพื่อผมแล้วกัน คุณแค่บอกพิพเพ่นว่าคุณขอโทษ คิดซะว่าทำเพื่อผมเเล้วกันนะ"

สิ่งแรกที่ ร็อดแมน คิดในใจคือ "คุณจะบ้าหรือไง นั่นมันเรื่องของเกมการเเข่งขันโว้ยไอ้หอก" อย่างไรก็ตาม เขาตัดสินใจบอกกับ พิพเพ่น ว่า "เอาล่ะผมขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้นนะ" เขาต้องบอกขอโทษอีกครั้งหลังจากเคยขอโทษไปครั้งหนึ่งเเล้วเมื่อ 4 ปีก่อน

"ไม่เป็นไร พวกเราแค่อยากจะชนะกันทั้งคู่ และนั่นคือวิธีชนะของแต่ละคน" พิพเพ่นตอบกลับราวกับจะยกโทษให้ แต่ดูเหมือนว่าบางคนไม่ค่อยอยากจะได้รับคำยกโทษนี้

เรื่องในวันนั้นจบลงแบบเป็นไปตามแผน ร็อดแมน ขอโทษ, พิพเพ่น ยกโทษ และ แจ็คสัน สบายใจกับสภาพความสัมพันธ์ในทีม แต่ในทางตรงกันข้าม ร็อดแมน เกิดการต่อต้านในใจ เขากลับบ้านด้วยอารมณ์ที่สงสัยว่าทำไมถึงต้องรื้อเรื่องเก่าๆ เอามาเป็นเรื่องใหญ่โต และนั่นคือครั้งสุดท้ายที่เขาคุยกับ พิพเพ่น นอกสนาม

คิดต่างช่อง มองต่างมุม

หลังจากนั้น ร็อดแมน ไม่สนใครอีกเเล้ว เขาทำตามหน้าที่เพียงอย่างเดียว เขาไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นทีมมากนัก และ ไมเคิ่ล จอร์เเดน ไม่ชอบเรื่องแบบนี้เอามากๆ แม้ ร็อดแมน จะเข้ามาเสริมให้ทีมของเขากลายเป็นทีมที่เก่งขึ้น แต่การเจอกับคนที่รับมือยากแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่เขาเคยเจอบ่อยๆ แน่นอน

 7

จอร์เเดน เป็นคนที่พวกมืออาชีพเต็ม 100% พยายามทุกสิ่งเพื่อให้ได้มาจนมีคำพูดติดตัวเป็นสโลแกนว่า "ผมยอมรับความล้มเหลวได้ แต่ผมรับไม่ได้หากไม่ได้ลองพยายาม" นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมเขาจึงชอบคอถูกใจกับ พิพเพ่น นัก ทั้งสองคนเป็นคู่ซ้อมของกันและกัน ขณะที่นอกสนามเหมือนกับแฝดตัวติดกันตลอด

ตัดภาพมาที่ ร็อดแมน เขาไม่รู้สึกว่านี่คือทีมของเขาตั้งแต่วันเปิดใจกับ ฟิล แจ็คสัน ครั้งนั้น สำหรับเขามีช่วงชีวิตเดียวที่ ร็อดเเมน รู้สึกว่าเขาคือ 1 เดียวกับทีม เขาไม่ใช่คนตัวคนเดียว นั่นคือช่วงที่เขาอยู่กับ พิสตันส์ ที่เป็นเหมือนครอบครัว และนั่นคือเหตุผลที่ว่าปี 1993 เขาเกือบฆ่าตัวตายเมื่อรู้ว่า โค้ช ชัค เดลี่ ลาออกจากตำแหน่ง ร็อดแมน เสียใจมาก เมื่อบวกกับเรื่องชีวิตสมรสของเขาที่พังทลายในเวลาไล่เลี่ยกัน คืนหนึ่งเขาจึงเอาปืนไรเฟิลมาบรรจุกระสุนหวังยิงตัวตายในรถ แต่เดชะบุญที่เขาเปลี่ยนใจในภายหลัง ... นี่คือเรื่องราวฝังใจที่เกิดขึ้น

ร็อดแมน ไม่สน จอร์เเดน และเเหกกฎทีมเป็นประจำ ครั้งหนึ่งเขาเคยทำเซอร์ไพรส์ (ในด้านไม่ดี) กับเพื่อนร่วมทีมด้วยการโดดซ้อมโดยไม่บอกกันก่อน และเกมที่เขาโดดซ้อมคือก่อนเกมนัดชิงชนะเลิศของ NBA เมื่อปี 1998 เสียด้วย ส่วนเหตุผลที่โดดคือเขาไปแข่งมวยปล้ำ WCW ซึ่งเป็นเรื่องที่ จอร์เเดน ออกตัวแรงด้วยความโกรธอย่างที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตนักบาสเกตบอลเลยทีเดียว ยิ่งเขาเห็นภาพที่ ร็อดแมน กำลังสนุกสนานกับ ฮัลค์ โฮแกน เขาก็ยิ่งยัวะขึ้นไปอีก

ขณะที่ ร็อดแมน ยังเหมือนเดิม ก็แล้วจะทำไมล่ะ? ฉันลงสร้างชัยชนะให้ทีมก็พอแล้วไม่ใช่เหรอ? เขายังคงยืนยันคำเดิมไม่เปลี่ยนแปลง "กับ จอร์เเดน นี่ผมบอกเลยว่าผมกับเขาคนละขั้ว ถ้าเขาจะเดินไปทางเหนือผมก็ขอเดินไปทางใต้ เราต่างกันสุดขั้วโดยมี พิพเพ่น เป็นเส้นศูนย์สูตรตรงกลาง"

ขณะที่ จอร์เเดน พูดถึง ร็อดแมน ไว้ในทิศทางเดียวกันเพียงแต่ต่างกันแค่ตอนจบนิดหน่อยเท่านั้นเอง ทั้งคู่มีความสัมพันธ์แบบเพื่อนร่วมทีมกันจริง ... แต่ จอร์เเดน เข้าใจบางอย่างต่างไปนิดเดียว

"ผมไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะรู้จักเขาดีจนเป็นเพื่อนกันได้ เขาเป็นเพื่อนร่วมทีมแค่นั้น แต่ผมก็แปลกใจ คนชอบมองว่าเราไม่ถูกกันแต่จริงๆ แล้วเขาเป็นคนที่เฟรนด์ลี่นะ เราต่างคนต่างมีพื้นที่ส่วนตัว แรกๆ เราแค่ไม่ได้คุยกัน แต่หลังจากนั้นมันก็ดีขึ้น ต้องขอบคุณ ฟิล แจ็คสัน เขาควรได้เครดิตที่ช่วยสร้างบรรยากาศสงบเช่นนี้" จอร์เเดน กล่าว

 8

เหตุการณ์ที่จอร์เเดนเล่าตรงกันในแง่ของความสัมพันธ์ และเหตุการณ์ที่ ฟิล แจ็คสัน เปิดใจคุยกับ ร็อดแมน ต่อหน้าเขาและพิพเพน ... เพียงแต่ว่าทั้งสองคนตีความต่างกัน จอร์เเดน มองว่านี่คือจุดเริ่มต้นของคำว่าทีม ขณะที่ ร็อดแมน คิดว่ามันเป็นจุดจบของมิตรภาพ และจากนั้นเขาจึงมีหน้าที่เป็นเครื่องจักรรีบาวด์คอยสร้างความสำเร็จให้กับทีมเท่านั้น

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ เพื่อนร่วมทีม...ไม่ใช่เพื่อนกัน : "ร็อดแมน vs จอร์เเดน & พิพเพ่น" บิ๊กทรีภาษาอะไร?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook