ดูเหมือนง่ายแต่น่าค้นหา : ศาสตร์แห่งจุดโทษ…โชคชะตา หรือลิขิตเอง?
ผู้คนจำนวนไม่น้อยมีความเชื่อว่า การยิงจุดโทษ เป็นเรื่องของดวงและโชคชะตากำหนด แต่อีกส่วนหนึ่งกลับบอกว่า ไม่มีความบังเอิญในการดวลเป้า ทุกอย่างสามารถลิขิตเองได้ แล้วความจริงบนจุด 12 หลาอยู่ตรงไหน?
หนึ่งในเสน่ห์ที่ผู้คนหยิบยกมาพูดถึงได้ไม่รู้จบ เมื่อเอ่ยการแข่งขันฟุตบอลโลก ก็คือ “การดวลจุดโทษ” ที่หากย้อนความทรงจำไปถึง เวิลด์คัพ ทีไร เป็นอันต้องคิดถึงช่วงเวลาที่ตื่นเต้นเร้าใจ ยากจะคาดเดา เพราะต่อให้เป็นนักเตะระดับโลก ก็ยิงลูกโทษพลาดได้
โดยเฉพาะใน ฟุตบอลโลก 2018 ฉบับรัสเซีย ที่มีการนำเทคโนโลยีวิดิโอช่วยตัดสิน (VAR) เข้ามาเป็นเครื่องมือให้ ผู้ตัดสิน ได้พิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนพื้นที่กรอบ 18 หลา ในจังหวะที่ไม่แน่ใจ ก็ยิ่งทำให้ ผู้ชมได้ดูการสังหารจุดโทษกันแบบเต็มอิ่ม ตั้งแต่รอบแรก ยันนัดชิงชนะเลิศ ที่กรรมการมอบจุดโทษให้กับ ฝรั่งเศส หลังจากดูภาพ VAR
นอกจากนี้ เรายังได้เห็น สเปน, เดนมาร์ก, โคลอมเบีย หรือแม้กระทั่งเจ้าภาพ รัสเซีย กระเด็นตกรอบจากความพ่ายแพ้ในการดวลลูกโทษชี้ขาด ที่ไม่ว่าใครจะเสียดายแค่ไหน ก็ไม่มีทางย้อนเวลากลับไปแก้ไข หรือขอยิงใหม่ได้
เซร์คิโอ รามอส กัปตันทีมชาติสเปน กล่าวหลังจบเกมที่แพ้จุดโทษ ต่อ รัสเซีย ว่า “การยิงจุดโทษก็เหมือนการซื้อล็อตเตอรี่ วันนี้สเปนก็แค่โชคร้ายที่ซื้อผิด” สะท้อนความเชื่อหนึ่งที่ว่า ฏีกาสุดท้ายของการชี้ขาดเกมฟุตบอล เป็นเรื่องของ โชคชะตา และจังหวะในสถานการณ์นั้น
แต่ในรอบการแข่งขันเดียวกัน แกเรธ เซาธ์เกต อิงลิชแมนคนแรก ผู้พาประเทศเอาชนะจุดโทษ ในฟุตบอลโลก เหนือ โคลอมเบีย กลับบอกว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องของโชคชะตา แต่เป็นทักษะในการรับมือต่อแรงกดดัน”
Main Stand จึงขอพาผู้อ่านไปเปิดความจริงเกี่ยวกับ ศาสตร์แห่งการยิงจุดโทษ ผ่านมุมมองด้านฟิสิกส์, จิตวิทยา และตัวเลขสถิติ รวมถึงสัมภาษณ์นักฟุตบอลที่มีประสบการณ์ การดวลเป้าในสนามจริง ถึงบางเรื่องและแง่มุมที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน เกี่ยวกับการยิงจุดโทษในโลกฟุตบอล
เตรียมตัวอย่างไรก่อนยิงจุดโทษ
“การซ้อมยิงจุดโทษนั้น ถ้าเป็นก่อนแข่งฟุตบอลถ้วย (อเล็กซานเดร) กามา จะเรียกนักบอลมาซ้อมอยู่ตลอด ไม่ว่าเกมนั้นจะเจอทีมเล็กหรือทีมใหญ่ เพราะฟุตบอลอะไรก็เกิดขึ้นได้”
“ส่วนฟุตบอลลีก ทีมโค้ชผู้รักษาประตู เขาก็จะไปทำการบ้านเอาข้อมูลมาให้เราว่า ทีมคู่แข่ง มีใครเป็นมือยิงจุดโทษ คนที่ 1-3 แต่ละคน จะยิงในลักษณะไหน ไปในมุมใด เพื่อให้มีข้อมูล หากทีมเสียจุดโทษระหว่างเกม”
ซูเปอร์บอย - ฉัตรชัย บุตรพรม ผู้รักษาประตู สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด คือหนึ่งในสุดยอดนายทวาร ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น จอมเซฟจุดโทษแถวหน้าของเมืองไทย เล่าถึงการเตรียมตัวของทีมฟุตบอลที่อยากจะเป็นผู้ชนะในการดวลเป้านั้น จำเป็นต้องมีการซักซ้อมเตรียมตัวไว้อยู่เสมอ ในทุกๆการฝึก ไม่ใช่แค่เฉพาะเกมสำคัญ หรือแมตช์ใหญ่ๆ เท่านั้น
หากแบ่งการยิงจุดโทษตามรูปแบบเวลาที่ ฉัตรชัย บุตรพรม กล่าวมา ก็จะมีด้วยกัน 2 แบบ แบบแรกคือ จุดโทษในเวลาปกติ (รวมช่วงต่อเวลาพิเศษ) คือ จุดโทษที่มาจากการทำผิดกติกาของผู้เล่นในกรอบ 18 หลา ตามดุลยพินิจผู้ตัดสิน
ส่วนแบบที่สอง คือ จุดโทษหลังหมดเวลาปกติ ที่ใช้การยิงฝั่งละ 5 คน ตัดสินกัน ใครทำประตูได้มากกว่าเป็นฝ่ายชนะ หากเสมอก็จะยิงตัดสินแบบ Sudden Death หรือ 1 ต่อ 1
ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเล่นดี ครองบอลได้ตลอดทั้งเกม เหมือนกับ ทีมชาติสเปน ที่เป็นฝ่ายโขกสับใส่ ทีมชาติรัสเซีย ตลอด 120 นาที ในรอบน็อกเอาท์ ฟุตบอลโลก 2018 แต่เมื่อมาถึงช่วงเวลาตัดสินแค่ไม่กี่นาที หาก 5 คนที่เลือกมา ยิงได้ไม่ดีพอ, ผู้รักษาประตู ป้องกันไม่ได้ สิ่งที่ทีมทำดีมาตลอด 2 ชั่วโมงในเกม ก็แทบหมดความหมายทันที
ขั้นตอนในการเลือกผู้เล่น 5 คน ที่จะออกมาชี้เป็นชี้ตายทีมนั้น จึงเป็นอีกหนึ่งทักษะที่ เฮดโค้ช จำเป็นต้องมี ในการวิเคราะห์ว่า ผู้เล่นคนไหนเหมาะสมจะออกมายิง ในลำดับที่เท่าไหร่ ท่ามกลางช่วงเวลาที่มีความกดดันมหาศาล และบรรยากาศที่แทบหยุดหายใจ
“ขั้นตอนในการเลือกนั้น จะมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือ คนที่สมัครใจขอออกไปยิง กับอีกส่วนหนึ่งเป็นคนที่ โค้ชเลือก อย่างนัดรองชนะเลิศ ฟุตบอลถ้วย ช้าง เอฟเอ คัพ ปีที่แล้ว อยู่ดีๆ กามา ก็เดินมาบอกให้ผม ยิงคนที่ 5 ผมก็งง เพราะปกติแทบไมได้ซ้อมยิงเหมือนกับผู้เล่นคนอื่นๆ”
“โดยปกติ ถ้ามีการล็อก 5 คนแรกไว้แล้ว จะไม่มีการมาเปลี่ยนภายหลัง เว้นเสียว่า 1 ในนั้น มีอาการบาดเจ็บระหว่างเกม ก็ต้องหาคนอื่นมาแทน แต่ต้องแทนในลำดับนั้น สมมุติ คนยิงที่ 2 บาดเจ็บ คนที่จะมาแทน ก็ต้องยิงคนที่ 2 จะมาขอเปลี่ยนยิงคนแรก หรือคนสุดท้ายไม่ได้ ส่วน Sudden Death อันนั้นขึ้นอยู่ที่นักฟุตบอลแล้วว่า คนไหนพร้อม คนไหนมั่นใจ ก็ออกไปยิง ไม่ก็เกี่ยงกันให้เพื่อนร่วมทีมออกไปยิงแทนตัวเอง (หัวเราะ)”
“แล้วพอสถานการณ์จริงๆตอนนั้น เชียงราย ตามหลัง เมืองทอง 2-3 ผมถูกวางเป็นคนที่ 5 ถ้ายิงไม่เข้าทีมแพ้เลย เราก็ทำสมาธิ ยิงไปตามมุมที่เราเลือกมา พอบอลเข้าก็โอเค รู้สึกโล่งอก หลังจบเกมผมเลยไปถาม กามา ว่า คุณบ้ามากเลยนะ ทำไมเลือกผมยิงคนที่ 5 เขาบอกว่า เขามั่นใจในตัวเรามาก บางที โค้ชกับนักฟุตบอล อาจมองไม่เหมือนกัน เขาคงเห็นบางอย่างในตัวเราว่า ยิงจุดโทษได้” ฉัตรชัย กล่าว
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นทีมระดับโลก หรือทีมรองบ่อน ก็ล้วนแล้วแต่ ต้องมีการเผื่อใจ และเตรียมซ้อมยิงจุดโทษไว้บ้าง ส่วนรายละเอียด ความเข้มข้น มากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่ที่ มุมมองของโค้ช แต่ละคน ว่าจะให้น้ำหนักกับการยิงลูกโทษแค่ไหน
ยกตัวอย่าง กุนซือบางรายอาจเน้นเรื่องของเกม แท็คติก เพื่อต้องการชนะในเวลาปกติ แต่โค้ชบางคน ก็เน้นที่จะยื้อเกม เพื่อเอาชนะคู่แข่งในการดวลจุดโทษอย่างนี้ เป็นต้น
และไม่ว่า โค้ชคนนั้น จะจริงจังหรือไม่จริงจังกับจุดโทษ ช่วงเวลาที่จะจำลองการฝึกซ้อมดวลเป้าให้ได้ผลที่สุด ก็เป็นสิ่งที่ โค้ชควรรู้ไว้เช่นกัน
เว็บไซต์ Active ได้อธิบายเคล็ดลับง่ายๆนี้ว่า ทีมฟุตบอลควรฝึกซ้อมยิงจุดโทษ ในช่วงท้ายของโปรแกรมเทรนนิ่งหนักๆ ของสัปดาห์นั้น เพื่อให้นักฟุตบอล เกิดความรู้สึกเหนื่อยล้า และมีพละกำลังเหลืออยู่จำกัด
ซึ่งเป็นการจำลองที่ใกล้เคียงกับ ช่วงหลังต่อเวลาพิเศษ 120 นาที ได้ดีที่สุด เพราะอย่าลืมว่าการยิงจุดโทษจริงๆ นักบอลต้องหอบร่างอันสะบักสะบอมมาดวลเป้า และการฝึกแบบนี้จะช่วยให้นักบอลเกิดความคุ้นชิน เมื่อถึงสถานการณ์จริง
รวมถึง นักฟุตบอล ควรสร้างกิจวัตรประจำวัน ด้วยการจับคู่เพื่อนร่วมทีม มาฝึกซ้อมยิงจุดโทษเป็นประจำ และสม่ำเสมอ ตั้งแต่การวางลูกฟุตบอล, สเต็ปการถอยหลัง, การยิงไปที่มุมประจำ เพื่อให้กล้ามเนื้อจดจำ รวมถึงต้องฝึกซ้อมยิงมุมรอง เพื่อเป็นทางเลือก ในกรณีที่มีแนวโน้มว่า ผู้รักษาประตูฝ่ายตรงข้าม จะอ่านทางได้
เปิดก่อนได้เปรียบ
แม้ทั้งสองทีม จะมีโอกาสได้ใช้ผู้เล่นฝั่งละ 5 คนเท่ากัน ในการยิงจุดโทษชี้ขาดข้างต้น แต่หากมองในแง่จิตวิทยาแล้ว ดูเหมือนว่าจะมีบางอย่างที่ไม่เท่าเทียมกันอยู่
ในหนังสือ 12 Yards : ‘The Art & Psychology of the Perfect Penalty Kick’ ของ เบน ลิตเติลตัน ได้เขียนไว้ว่า ฝ่ายที่ยิงก่อน มีโอกาสเป็นผู้ชนะสูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นฝ่ายกุมความได้เปรียบ และโยนความกดดัน ความเครียด ให้กับคู่แข่ง ได้ง่ายกว่าฝ่ายที่ยิงหลัง
สอดคล้องกับงานวิจัยของ ศ.อิกนาซิโอ ปาลาซิออส ฮูอาร์ต้า จาก London School of Econnomic ที่ได้ทำการวิเคราะห์จุดโทษ 1,343 ครั้ง จากการดวลเป้า 129 คู่ พบว่า ทีมที่เริ่มยิงก่อน จะเป็นผู้ชนะในบั้นปลายถึง 60.5 เปอร์เซ็นต์
งานวิจัยชิ้นนี้ ยังระบุอีกว่า คนที่จะยิงลูกตัดสินชี้ชะตาให้ทีมชนะนั้น มีโอกาสยิงเข้าสูงถึง 92 เปอร์เซนต์ เนื่องจากมีความกดดันที่ไม่มากนัก บวกกับความมั่นใจ และแรงจูงใจที่มีชัยชนะเป็นผลตอบแทน หากยิงเข้า
ตรงกันข้าม หากคนที่ยิงชี้ชะตา สังหารพลาด ย่อมส่งผลไปถึงความมั่นใจของ บรรดานักเตะที่เหลืออยู่ในช่วง Sudden Death จนโอกาสยิงเข้า ลดเหลือเพียงแค่ 60 เปอร์เซนต์ เท่านั้น
ตัวอย่าง จอห์น เทอร์รี ที่มีโอกาสสวมบทฮีโร่ ในนัดชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก 2008 หากยิงลูกสุดท้ายเข้าไป
แต่เจ้าตัวดันไปลื่นส่งบอลออกข้างหน้าต่าง และท้ายที่สุดกลายเป็น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่พลิกกลับมาชนะจุดโทษ คว้าแชมป์ในครั้งนั้นไปได้ (ความจริงคนยิงลำดับสุดท้ายของ เชลซี คือ ดิดิเยร์ ดร็อกบา แต่กองหน้าชาวไอวอรี โคสต์ ถูกไล่ออกจากสนามในช่วงต่อเวลาพิเศษ ทำให้ เทอร์รี ต้องมายิงแทน)
นี่จึงเป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็น การยิงจุดโทษหลังต่อเวลาพิเศษนั้น มีรายละเอียดที่มากกว่าแค่ การส่งผู้เล่น 5 คนลงไปแข่งกันยิง เพราะเต็มไปด้วย ความเครียด, ความกดดัน, ความคาดหวัง ที่ทำให้ นักฟุตบอลบางคน ไม่สามารสลัดสิ่งเหล่านี้ออกจากหัวไปได้ และส่งผลให้พวกเขายิงผิดพลาดไปแบบเหลือเชื่อ
ทิศทาง
หากลองนำเอา หลักฟิลิกส์ มาแต่จับกับการยิงจุดโทษ...เรื่องการกำหนดทิศทางที่จะยิงนั้น เป็นสิ่งที่นักฟุตบอล สามารถเตรียมตัววางแผนล่วงหน้าได้ ในการหามุมสังหารที่ดีที่สุด เช่นเดียวกับ ผู้รักษาประตูที่สามารถใช้ฟิสิกส์ เป็นตัวช่วยในการเซฟได้เช่นกัน
มีการวิเคราะห์กันว่า หากยิงลูกฟุตบอลจากจุดโทษ ระยะ 12 หลา ด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไปยังมุมบน จะทำให้ลูกฟุตบอลเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 0.3 วินาที และมีโอกาสสูงที่เป็นประตู เพราะตามธรรมชาติแล้ว ผู้รักษาประตู จะต้องใช้เวลาราว 0.4 วินาที ในการประมวลผล คาดเดาทิศทาง แกว่งแขน หรือพุ่งลำตัวเหยียดออกไปป้องกันลูกบอล
The Economist ร่วมกับ Opta เจ้าพ่อด้านการเก็บสถิติ ได้รายงานข้อมูลว่า การยิงมุมบนตรงกลางประตู ด้วยความเร็วตามที่วิเคราะห์ข้างต้นนั้น คือ จุดยุทธศาสตร์ ที่มีโอกาสถูกเซฟเพียงแค่ 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ซึ่งเป็นแนวทางที่เหมาะกับทั้ง นักเตะที่มีทักษะขั้นสูงในการยิงจุดโทษ เช่น การชิพบอลแบบ ปาเนนก้า และสามารถนำมาใช้ได้กับ ผู้เล่นที่มีสกิลการยิงจุดโทษไม่ดีนัก ให้เลือกหวดอัดบอลแรงๆ ตู้มเดียว ให้เข้ามุมบนกลางประตูไปเลย
สาเหตุที่มุมบนกลางประตู ประดุจขุมทรัพย์ทองคำ ของ นักแสวงโชคในการยิงประตู เพราะเป็นทิศทางที่ ผู้รักษาประตู ใช้เสี่ยงเดาน้อยสุด ซึ่งตรงกับงานวิจัยจาก มหาวิทยาลัยชิคาโก ที่ศึกษาโดย Ameracan Economic Review เผยแพร่เมื่อปี 2002 ระบุว่า ผู้รักษาประตูส่วนมาก จะเลือกพุ่งไปทางขวามือของตัวเอง หรือมุมซ้ายของคนยิง
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่นอน เพราะรายงานของ The Guardian ที่ทำการวิเคราะห์ทิศทางการ ป้องกันจุดโทษทั้งหมด 286 ลูก ของผู้รักษาประตู มีข้อมูลที่ตรงกันว่า มือโกล มักเลือกพุ่งไปทางซ้ายมือของคนยิง มากสุดถึง 49 เปอร์เซนต์, พุ่งไปทางขวา 44 เปอร์เซนต์ มีเพียงแค่ 6.3 เปอร์เซนต์ เท่านั้นที่ยืนอยู่ตรงกลาง
กรณีศึกษาเดียวกัน ยังแสดงให้เห็นว่า ผู้เล่น เลือกยิงไปที่ มุมบนหรือตรงกลาง มากถึง 39.0 เปอร์เซนต์, ยิงมุมขวา 32.1 เปอร์เซนต์ และยิงทางไปซ้าย มุมยอดนิยมของที่ ผู้รักษาประตู จะบินไปเซฟเพียง 28.7 เปอร์เซนต์
ข้อมูลที่ได้ยังตรงกับ สถิติที่มีการเก็บในช่วงฟุตบอลที่ผ่านๆมา จากจุดโทษ 241 ครั้ง มีเพียงแค่ 49 ครั้งเท่านั้นที่ ผู้รักษาประตูเซฟได้ แบ่งเป็น พุ่งไปเซฟมุมซ้าย (ของคนยิง) 24 ครั้ง พุ่งไปเซฟทางขวา 25 ครั้ง
และจากสถิติของ Opta ระบุอีกว่า ยังไม่เคยมี นายทวารคนไหน กระโดดยืดเหยียดมือตรงๆ ไปเซฟลูกบอลที่ ผู้เล่นยิงมุมโด่งตรงกลางประตู ในมหกรรมฟุตบอลโลก
แฮร์รี เคน กัปตันทีมชาติอังกฤษ คว้ารางวัลดาวซัลโวฟุตบอลโลก 2018 มาครอง จากการยิงไปทั้งหมด 6 ประตู โดยครึ่งหนึ่งของลูกยิงที่ทำได้ มาจากการยิงจุดโทษที่คมกริบเด็ดขาด
เกมรอบแบ่งกลุ่มที่ชนะ ปานามา 6-1 แฮร์รี่ เคน จัดการยิง 2 จุดโทษ ไปในมุมบนซ้าย ด้วยน้ำหนักและทิศทางที่เป๊ะสมบูรณ์ จนผู้รักษาประตูไม่สามารถเซฟได้ทัน ซึ่งการยิงในลักษณะดังกล่าวที่เป็น การยิงมุมบน มีโอกาสเข้าประตูสูงถึง 90 เปอร์เซนต์
ขณะที่รอบ 16 ทีมสุดท้าย ที่พบกับ โคลอมเบีย แฮร์รี เคน ทำการเปลี่ยนมุมยิงจุดโทษ เนื่องจาก เจ้าตัวอ่านว่า ดาวิด ออสปินา จะพุ่งไปยังมุมซ้ายที่เขาเคยยิงใส่ ปานามา ซึ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามที่คาด ออสปินา พุ่งไปทางซ้าย ส่วน เคน เลือกยิงยัดความสูงระดับหน้าอก ตรงกลางประตู พาอังกฤษขึ้นนำ 1-0
“ผมฝึกซ้อมอย่างหนัก และทดลองยิงหลากหลายรูปแบบ ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เพื่อให้แน่ใจว่า เมื่อเวลานั้นมาถึง ตัวผมจะได้มีความพร้อมมากสุด ไม่ว่าจะเป็นจุดโทษ หรือลูกเซ็ตพีซ” แฮร์รี เคน ผู้ยิงจุดโทษในเกมระดับสากลเข้า 22 ลูกจาก 27 ครั้ง กล่าวถึงเบื้องหลังการยิงจุดโทษที่เฟอร์เฟคใน เวิลด์คัพหนนี้
ส่วนมุมที่แย่สุดในการยิงจุดโทษ คือ มุมต่ำยิงเรียดไปทางซ้าย ที่มีโอกาสเข้าประตูแค่ 58 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ยกตัวอย่างง่ายๆ ให้นึกถึง ลูกยิงจุดโทษที่ไร้น้ำหนักของ แกเรธ เซาธ์เกต ที่ซัดไปติดเซฟ อันเดรียส ค็อปเค่ ในรอบตัดเชือก ยูโร 1996 นั่นแหละ
บาดแผลจากการยิงจุดโทษไม่เข้าของ เซาธ์เกต ที่ทำให้อังกฤษชวดเข้าชิง ศึกชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป บนแผ่นดินเกิดของตัวเองเมื่อ 22 ปีก่อน คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ แกเรธ เซาธ์เกต เมื่อถึงคราวก้าวขึ้นมาเป็น ผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ จึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
ว่ากันว่าโปรแกรมการฝึกซ้อมของ เซาธ์เกต นั้น อัดแน่นไปด้วยการเล่น ลูกเซ็ตพีซ รวมถึงการยิงจุดโทษ ที่เน้นประสิทธิภาพ มีการทำการบ้านอย่างละเอียด มีทีมวิเคราะห์ข้อมูล มีการวางตัวเลือกยิงอย่างชัดเจน เพื่อหวังลบอาถรรถพ์ ชาติที่มักเป็น “ขี้แพ้” ยามดวลจุดโทษ
“การยิงจุดโทษไม่ใช่สิ่งที่พวกเราคุ้นเคย อย่างเช่น เอฟเอ คัพ มีการใช้กฎเสมอกัน แข่งใหม่ นักฟุตบอลของเรา จึงไม่ได้เผชิญหน้ากับสถานการณ์เช่นนี้บ่อยนัก เราพิจารณาทั้งวิธีการ เทคนิครายบุคคล เพื่อให้แน่ใจว่า คนที่เราเลือก มีความพร้อมทั้งทางร่างกายและสมาธิที่แน่วแน่” นายใหญ่ทีมชาติอังกฤษกล่าว
ผู้รักษาประตูไม่ควรพุ่ง
บทความของ The Guardian ได้แนะนำว่า ในการดวลจุดโทษนั้น บางครั้ง ผู้รักษาประตู ควรต้องทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับความรู้สึกในใจ จากการพุ่งไปในทางใด ทางหนึ่ง เปลี่ยนมาเป็น การยืนรอเซฟลูกที่กลางประตู
ดาเนียล คาฮ์นะมัน นักจิตวิทยารางวัลโนเบล เรียกอาการดังกล่าวว่า “Loss Avension” หรือการหลีกเลี่ยงที่จะสูญเสีย โดยให้เหตุผลว่า เพราะช่วงเวลาในการยิงจุดโทษตัดสินนั้น นักฟุตบอลจะมีความเครียด ความกดดัน และความกังวล ที่จะต้องเป็นผู้แพ้ ยิ่งโดยเฉพาะเกมระดับสูง อย่างทีมชาติ
ดังนั้น ผู้รักษาประตู จึงเลือกที่จะทำอะไรสักอย่าง เพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกผิดในภายหลัง หากตัดสินใจไม่พุ่งแล้วยืนอยู่เฉยๆ รอรับบอล
แม้จะพุ่งผิดทาง เซฟไม่ได้แฟนบอลก็ยังพอทำเนาเข้าใจได้ ว่ามันเป็นเรื่องโชคที่ไม่เข้าข้าง สวนทางกับ ผู้รักษาประตู ที่ยืนเฉยๆ แล้วพลาดปล่อยให้บอลเข้าประตูไป แฟนบอลก็จะรู้สึกไม่สบายใจ และมองว่าประตูคนนี้ ขี้เกียจ ไม่ยอมทำอะไรสักอย่าง
เมื่อเป็นเช่นนี้ “ผู้รักษาประตู” จำนวนไม่น้อย จึงเลือกที่จะพุ่งตัวไปทางใด ทางหนึ่ง หรือพุ่งนำจังหวะก่อนนักฟุตบอลยิง แม้สุดท้ายอาจจะเป็น นายทวารเองที่หลงเหลี่ยม ถูกผู้เล่นชะงักเท้าหลักที่จะยิง แล้วแปง่ายๆ ฉีกอีกมุมก็เป็นได้
ฉัตรชัย บุตรพรม มือกาวดีกรีทีมชาติไทย แสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ว่า “ไม่เสมอไปนะครับ ว่าผู้รักษาประตูจะต้องพุ่งไปก่อน สำหรับที่สุด คือเราต้องศึกษาและอ่านให้ออกว่า ผู้เล่นแต่ละคน เขาเป็นอย่างไร บางคนจะดึงจังหวะก่อนยิง ถ้าเราพุ่งก่อนอาจเสียเปรียบ หรืออย่างบางคนยิงแรง ยิงเข้ามุมดี ก็อาจจะต้องเอนตัวไปก่อนสักนิดเพื่อไปป้องกันได้”
“แต่สุดท้ายพอถึงสถานการณ์จริง มันก็จะมีแค่ตัวเรา กับ คนยิง ที่ต้องช่วงชิงความได้เปรียบกัน ในด้านจิตวิทยา ซึ่งผมก็จะชิงเล่นจิตวิทยาใส่เขาก่อน ด้วยท่าทาง หรืออะไรก็ตาม ที่ทำแล้วไม่ผิดกติกา”
หากว่ากันไปตามข้อมูลทางฟิสิกส์ และความเห็นตามหลักจิตวิทยา บางครั้ง ผู้รักษาประตู ก็น่าลงทุนที่จะเสี่ยงกับฝืนความรู้สึกในใจตัวเองซะบ้าง ด้วยการยืนเซฟตรงกลาง ในบางกรณีที่เหมาะสม เพื่อลดความผิดพลาด และเป็นอีกทางเลือกไว้ปรับใช้กับสถานการณ์จริง
ยุทธศาสตร์ยิ่งใหญ่ ความตั้งใจเด็ดเดี่ยว
“ผมใช้เวลาถึง 22 ปี ในการทำการบ้าน นับตั้งแต่ยูโร 1996 ที่ผมเคยอาสาไปยิง ในบางครั้งการปฏิเสธขอไม่ยิงจุดโทษ เมื่อตัวเองไม่พร้อมนั้น เป็นทางเลือกกล้าหาญกว่าการออกไปยิงในช่วงเวลาที่ตัวเองไม่มั่นใจ” แกเรธ เซาธ์เกต ยอมรับความผิดพลาดในอดีตที่เกิดขึ้นจากสภาพจิตใจที่ไม่พร้อม
ความมั่นใจ จึงเป็นเรื่องสิ่งสำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ทักษะความสามารถ ทั้งฝั่งคนยิง และคนเซฟ เพราะต่อให้จะมีการฝึกซ้อมที่ดีแค่ไหน, มีข้อมูลทำการบ้านมาอย่างดี แต่หากสภาพจิตใจไม่เอื้ออำนวย ก็มีโอกาสสูงที่จะผิดพลาดได้ ในการยิงจุดโทษชี้ขาด
เพราะในทางจิตวิทยานั้น ทุกอย่าง มีผลต่อการยิงจุดโทษหมด ตั้งแต่ การตัดสินใจ, การหายใจ, เทคนิค ไปจนถึงระบบวิธีคิดของนักฟุตบอล ดังข้อมูลที่ได้มีการศึกษาว่า การยิงจุดโทษที่ผิดพลาดนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนใจกะทันหันของนักฟุตบอล ที่เกิดความลังเลในวินาทีสุดท้ายก่อนสังหาร จนแพ้ภัยตัวเอง
ข้อมูลจาก Psychologytoday บ่งชี้ว่า การยิงจุดโทษในเวลาปกตินั้น มีโอกาสเป็นประตูสูงถึง 78 เปอร์เซนต์ แต่การยิงจุดโทษหลังเวลาปกติ เปอร์เซ็นต์การยิงเข้าไป ลดเหลือเพียง 72 เปอร์เซนต์ เท่านั้น แสดงให้เห็นว่า การยิงจุดโทษหลังเวลาปกติ เป็นช่วงเวลาที่ทั้งสองทีม ต่างสู้ด้วยกันสภาพจิตใจ และความพร้อมในสถานการณ์ตอนนั้นจริงๆ
ตัวอย่างเช่น ฟุตบอลโลก U-20 ปี 2015 ที่ประเทศนิวซีแลนด์ มีการยิงจุดโทษพลาดถึง 18 ครั้งจาก 53 จุดโทษ สามารถบ่งบอกได้ว่าผู้เล่นเยาวชน ที่ลงเล่นในทัวร์นาเมนต์สำคัญ อาจรับมือกับแรงกดดันไม่ดีนัก และมีสภาวะจิตใจที่ไม่มั่นคง จนส่งผลให้เกิดความผิดพลาดหลายครั้ง ในระยะ 12 หลา
นอกจากนี้ ศ.อิกนาซิโอ ปาลาซิออส ฮูอาร์ต้า ได้อธิบายเสริมอีกว่า ผู้เล่นที่มีอารมณ์ฉุนเฉียว หรือสูญเสียความมั่นใจ จากการเล่นเกมปกติ 120 นาที มีผลกระทบต่อเนื่อง ไปถึงการยิงจุดโทษ ที่จะทำได้ไม่ดีพอ
ขณะเดียวกัน ผู้เล่นที่มีความมั่นใจจากเกมปกติ หรืออยู่ในสภาวะจิตใจที่ดี ก็มีสิทธิ์เป็นผู้ชนะในการดวลเป้า อย่างในฟุตบอลโลก 2014 หลุยส์ ฟาน กัล เลือกที่จะสร้างความมั่นใจให้กับ ทิม ครูล นายด่านตัวสำรองทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ด้วยการเปลี่ยนที่ลงสนามในช่วงต่อเวลาพิเศษ เพื่อไปทำหน้าที่เซฟจุดโทษ ซึ่งก็ได้ผลเป็นอย่างดี ทิม ครูล โชว์ความเหนียวหนึบ พาพลพรรคอัศวินสีส้ม เข้าไปรอบต่อไปได้
ทั้งหมดทั้งมวล จึงน่าจะพอเป็นข้อสรุปให้ผู้อ่านได้เห็นภาพแล้วว่า ความผิดพลาด กับ ความแม่นยำ ที่เกิดขึ้นในการยิงจุดโทษนั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถสร้างได้ ไม่ใช่ถูกเนรมิตด้วยโชคชะตาเสมอไป
การยิงลูกโทษ จึงนับเป็นศาสตร์ฟุตบอลแขนงหนึ่ง ที่ต้องมีการนำองค์ความรู้หลายๆ ด้านมาประยุกต์ใช้ทั้งในสนามซ้อม และสนามแข่งขัน เพื่อผลลัพธ์ที่ดีสุด….หลังสิ้นเสียงนกหวีดจาก ผู้ตัดสิน ที่ส่งให้สัญญาณ ผู้เล่น เริ่มยิงลูกโทษได้
“สมาธิ การฝึกซ้อม การศึกษาข้อมูล เป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมตัวอยู่แล้ว แต่คนที่จะไปยิงจุดโทษได้ ต้องมีความมั่นใจ เพราะจุดโทษมันไม่ได้เกี่ยวกับ ใครยิงดีกว่าใคร บรรยากาศตอนซ้อมกับวันแข่งมันเทียบกันไม่ได้เลย”
“บางทีพอถึงสถานการณ์จริง เอาคนที่ไม่เคยซ้อม แต่กำลังมั่นใจไปยิง ผมว่ามีสิทธิ์เป็นประตูกว่า เอาคนซ้อมดี แต่ไม่มั่นใจไปยิงอีกนะครับ เรื่องหัวใจสำคัญมาก สำหรับการยิงจุดโทษ บางทีแพ้ชนะกันได้ที่ตรงนี้เลย” ฉัตรชัย บุตรพรม ทิ้งท้ายผ่าน Main Stand