เรียนไปเพื่ออะไร? : ตอบข้อสงสัยทำไมนักกีฬาอเมริกันเกมส์ต้องเข้ามหาวิทยาลัย

เรียนไปเพื่ออะไร? : ตอบข้อสงสัยทำไมนักกีฬาอเมริกันเกมส์ต้องเข้ามหาวิทยาลัย

เรียนไปเพื่ออะไร? : ตอบข้อสงสัยทำไมนักกีฬาอเมริกันเกมส์ต้องเข้ามหาวิทยาลัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากสังเกตในช่วงก่อนการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล NFL รวมถึงบาสเกตบอล NBA ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดสด หรือแม้กระทั่งในสนามแข่งขัน จะพบได้ว่าสิ่งหนึ่งที่ผู้บรรยายต้องพูดถึงเสมอเวลาแนะนำตัวนักกีฬา รวมทั้งกราฟฟิกที่ขึ้นบนหน้าจอ คือ สถานศึกษาที่นักกีฬาคนนั้นเรียนจบมา ไม่ใช่เมืองที่นักกีฬาเกิดแต่อย่างใด

แม้โลกยุคสมัยนี้เชื่อมต่อกันมากขึ้น จนทำให้นักกีฬาจากต่างประเทศเข้ามาเล่นอาชีพที่ดินแดนแห่งเสรีภาพมากกว่าสมัยก่อน แต่เรื่องที่นักกีฬาในสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่ล้วนต้องผ่านชีวิตการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยก่อนมาเล่นอาชีพ ก็ถือเป็นเสน่ห์ที่ยากจะหาลีกกีฬาใดเหมือน

 

ถึงกระนั้นก็ยังมีคำถามสำคัญเกิดขึ้นว่า แล้วเหตุใดนักกีฬาอเมริกันเกมส์ถึงจำต้องเข้าไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัยเสียก่อน ต่างจากลีกกีฬาของประเทศอื่นๆ ซึ่งหาได้ค่อนข้างยากที่นักกีฬาจะเรียนต่อหลังจบชั้นมัธยมศึกษากันล่ะ?

ทางเลือกที่ดีที่สุด?

อันที่จริง หากเราไปกางกฎระเบียบของทาง NFL และ NBA มาดูก็จะเห็นว่า พวกเขาไม่ถึงกับบังคับให้นักกีฬาทุกคนต้องเข้าศึกษาในระดับมหา’ลัยเสียก่อน ถึงจะสามารถเข้าสู่การดราฟท์ได้

2018-draft-podium-stage-all

เพราะในกฎของ NFL ระบุเพียงแค่ว่า นักกีฬาที่จะเข้าสู่การดราฟท์ ต้องจบชั้นมัธยมเป็นเวลา 3 ปีขึ้นไป ขณะที่ NBA ระบุว่า นักกีฬาจะต้องจบชั้นมัธยม 1 ปีขึ้นไป รวมถึงต้องมีอายุตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไปในปีที่จะเข้าสู่การดราฟท์

จากข้อความข้างต้นเห็นได้ชัดว่า ทางลีกกีฬาอาชีพของสหรัฐอเมริกาเองก็เปิดช่องให้นักกีฬาสามารถเลือกเส้นทางชีวิตตัวเองก่อนเข้าสู่การดราฟท์ได้ ทั้งการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย, ออกไปหาประสบการณ์ที่ลีกระดับล่างหรือแม้แต่ต่างประเทศ รวมถึงอยู่เฉยๆ ซ้อมอย่างเดียว ไม่ไปเล่นทั้งในระดับมหาวิทยาลัยหรือที่ต่างประเทศ ไม่มีวิธีไหนผิด

อย่างไรก็ตามสำหรับวงการอเมริกันเกมส์นั้น การแข่งขันที่ได้รับความสนใจรองลงมาจากระดับอาชีพ ก็คือระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งมีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา มีฐานแฟนคลับมากมายหลายล้านคนจากทั้งแฟนกีฬา, ศิษย์เก่า รวมถึงประชาชนในละแวกที่ตั้งสถาบัน อีกทั้งยังเป็นเวทีที่แมวมองจากทีมอาชีพให้ความสนใจมากที่สุด มากกว่าการออกไปเล่นในต่างประเทศเสียอีก รวมถึงมาตรฐานของทีมในระดับมหา’ลัยนั้นก็สูงไม่น้อย ถึงขนาดที่ ฌอน เมย์ อดีตนักบาสเกตบอลใน NBA ที่ออกไปหาประสบการณ์ในทวีปยุโรปช่วงบั้นปลายอาชีพมองว่า ทีมมหา’ลัยระดับท็อปของสหรัฐอเมริกา สามารถเอาชนะกับทีมระดับกลางๆ ของศึกยูโร ลีก หรือ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ในวงการบาสเกตบอลได้อย่างสบายๆ

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงทำให้เวทีระดับมหาวิทยาลัย กลายเป็นเวทีที่ดีที่สุดสำหรับนักกีฬาชาวอเมริกัน ในการบ่มเพาะฝีมือและประสบการณ์ขั้นสุดท้ายก่อนก้าวเข้าสู่การเล่นระดับอาชีพไปโดยปริยาย

โอกาสที่อาจสูญเสีย?

อย่างไรก็ตาม สำหรับนักบาสเกตบอลหลายคนที่มีฝีมือเก่งกาจตั้งแต่ระดับมัธยมกลับเห็นต่าง โดยมองว่ากฎของลีกที่เหมือนเป็นการบังคับกลายๆ ให้ต้องเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยเสียก่อนจึงจะเข้าสู่การดราฟท์ได้นั้น เป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาสูญเสียโอกาสที่ควรจะได้รับไป

000_was947839

เรื่องแรกก็คือ นักบาสฯ กลุ่มนี้มองว่า ในเมื่อคนในวงการมองว่าพวกเขามีฝีมือและศักยภาพที่ดีพอสำหรับการเล่นในระดับอาชีพแล้ว จะจำกัดสิทธิ์พวกเขาให้ต้องรออีก 1 ปีทำไม?

ยิ่งไปกว่านั้น นักแม่นห่วงบางคนก็ไม่ได้มีพื้นฐานครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ พวกเขามีแรงผลักดันสำคัญในการเล่นบาสเกตบอล คือหวังเข้าลีกอาชีพอย่าง NBA เพื่อให้มีรายได้นำพาพวกเขาหลุดจากสภาพแวดล้อมเดิมๆ สู่วิถีชีวิตใหม่ที่ดีกว่า ซึ่งต่างจากการไปเล่นในระดับมหา’ลัย ที่พวกเขาไม่ได้อะไรเลยนอกจากทุนการศึกษาที่แต่ละสถาบันเสนอเพื่อชักชวนให้มาเรียนและเล่นให้

และเหตุผลสุดท้ายคือ หากพวกเขาประสบกับอาการบาดเจ็บในช่วงมหาวิทยาลัย มันจะส่งผลกระทบกับอนาคตเป็นอย่างมาก เพราะแน่นอนว่าเหล่าแมวมองจะมองนักกีฬาคนนั้นในมุมมองที่ต่างจากเดิมจนส่งผลถึงการดราฟท์ ซึ่งอันดับที่แย่ลงก็หมายถึงค่าเหนื่อยที่ได้รับจะลดลงด้วยเช่นกัน

เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับนักกีฬาชนิดอื่นๆ ซึ่งสามารถเทิร์นโปรได้ตั้งแต่อายุยังน้อยแล้ว เหล่านักกีฬาอเมริกันเกมส์จึงมองว่านี่คืออุปสรรคอันไม่ยุติธรรมที่สำคัญ และพวกเขาต้องการเปลี่ยนแปลง

เฮนรี่ วอล์คเกอร์ อดีตนักบาสเกตบอลของ บอสตัน เซลติกส์ และ นิวยอร์ก นิกส์ เป็นคนหนึ่งที่ออกมาส่งเสียงต่อต้านนโยบายดังกล่าวตั้งแต่สมัยที่เรียนไฮสคูลว่า “บอกตรงๆ ว่าผมต่อต้านนโยบายนี้สุดตัว คือผมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องรอถึงอายุ 19 ปีถึงจะมีสิทธิ์ได้เล่นบาสเกตบอลอาชีพ ทั้งๆ ที่ตอนอายุ 18 ปี คุณสามารถสมัครเป็นทหาร ซึ่งอาจไปตายในสนามรบก็ได้เนี่ยนะ บ้าบอจริงๆ”

 bill-walker-photo

ขณะที่ เจอร์ริด เบย์เลส นักแม่นห่วงของ ฟิลาเดลเฟีย เซเว่นตี้ซิกเซอร์ส ในปัจจุบันก็คัดค้านเรื่องนี้เช่นกัน “คือมันไม่ยุติธรรมเลยนะ ดูอย่างนักเทนนิส พวกเขาสามารถเทิร์นโปรได้ตั้งแต่อายุ 13 ปี แต่นักบาสเกตบอลอายุ 18 ปีกลับไม่สามารถเล่นอาชีพที่นี่ได้”

เรื่องดังกล่าวทำให้เหล่านักบาสใน NBA นำโดย เควิน ดูแรนท์ เจ้าของรางวัล MVP ในรอบชิงชนะเลิศ 2 สมัยของ โกลเด้นสเตท วอร์ริเออร์ส มองว่าควรมีการแก้กฎใหม่ ให้นักกีฬาสามารถเลือกได้ด้วยตัวเองว่า จะเข้าสู่ NBA เลยหลังจบจากไฮสคูล หรือเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเรื่องนี้ทางลีกเองก็ยอมรับว่า กำลังพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง

มากกว่าเรื่องในสนาม

ถึงกระนั้น โจเอล ลิตวิน อดีตประธานฝ่ายปฏิบัติการของ NBA ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังการผลักดันนโยบายที่เหมือนเป็นการบังคับให้นักกีฬาต้องเข้ามหาวิทยาลัยกลายๆ ก็ยืนกรานว่า สิ่งที่ทำไปนั้นมีเหตุผล

 xswhjghzyja7fbhibz3vrzdwlm

“การที่เราออกนโยบายดังกล่าว ก็เพราะเราอยากให้นักกีฬาได้มีทักษะ, ความสามารถ, ประสบการณ์, ความเป็นผู้ใหญ่ รวมถึงทักษะชีวิต เพื่อให้พร้อมสำหรับการเป็นมืออาชีพ นอกจากนี้ พวกเขายังจะมีเวลาเพิ่มเติมในการพัฒนาสู่การเป็นผู้ใหญ่อีกด้วยเช่นกัน”

ซึ่ง แบรนแดน ไรท์ นักยัดห่วงมากประสบการณ์ที่ผ่านประสบการณ์กับทีมใน NBA มากมาย ก็เห็นด้วยในเรื่องนี้ โดยมองว่า “มันอาจจะเจ็บปวดสำหรับนักกีฬาดาวรุ่งที่ต้องการเงินมาพลิกชีวิต แต่มันช่วยคุณในการพัฒนาและเติบโตในทุกๆ ด้านได้”

ซึ่งเรื่องการพัฒนาและเติบโตที่ไรท์กล่าว ไม่ได้จำกัดแค่เรื่องในสนามเท่านั้น เราอาจจะเคยได้ยินเรื่องราวของนักกีฬาชื่อดังมากมายที่ประสบปัญหาชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเงิน ไม่ว่าจะเป็น วินซ์ ยัง อดีตควอเตอร์แบ็คของ เทนเนสซี่ ไททันส์, อัลเลน ไอเวอร์สัน ตำนานนักบาสเกตบอลของ ฟิลาเดลเฟีย เซเว่นตี้ซิกเซอร์ส หรือแม้แต่ เดนนิส ร็อดแมน อีกตำนานนักแม่นห่วงของ ชิคาโก้ บูลส์ พวกเขาไม่สามารถบริหารจัดการเงินจำนวนมหาศาลที่ได้มาระหว่างการเล่นอาชีพ หลายคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว และบางคนกลายเป็นบุคคลล้มละลาย

ยิ่งเมื่อดูสถิติก็จะพบกับเรื่องน่าวิตก เมื่อ 60% ของผู้เล่นใน NBA ล้มละลายในระยะเวลาเพียง 5 ปีหลังเลิกเล่น ขณะที่ NFL ยิ่งหนักกว่า เพราะมีผู้เล่นที่ประสบปัญหาเดียวกันสูงถึง 78% เลยทีเดียว

และเรื่องนี้เอง ที่ทำให้ ชาคีล โอนีล หรือ แชค เซนเตอร์ระดับตำนานของ NBA ยอมรับว่า ความรู้ในมหาวิทยาลัยคือสิ่งที่สำคัญยิ่ง

“อันที่จริงผมก็เหมือนนักกีฬาอีกหลายๆ คนนะที่ตัดสินใจดร็อปการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยเพื่อหวังมาแสวงหาความร่ำรวยในระดับอาชีพ และก็คิดว่าได้เรียนรู้มาพอสมควรในนั้น แต่พอเช็กค่าเหนื่อยใบแรกออกเท่านั้นแหละ ผมก็ละลายเงิน 1 ล้านดอลลาร์ในเวลาเพียง 30 นาทีเท่านั้นเอง ถึงจุดนั้นผมรู้ตัวเลยว่า ผมไม่ได้ฉลาดอย่างที่เคยคิดไว้เลย เรื่องดังกล่าวบวกกับคำสอนของแม่ที่บอกว่า อย่าทิ้งการเรียน ทำให้ผมตัดสินใจไปเรียนต่อให้จบ”

แชค ซึ่งปัจจุบันจบการศึกษาระดับปริญญาเอกแล้วยังเสริมด้วยว่า

“การศึกษานั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากนะสำหรับผม เพราะมันทำให้เราต้องมีระเบียบวินัยในตัวเอง ทำให้กล้าที่จะแบ่งปันความรู้กับผู้อื่น ทำให้เราเรียนรู้อยู่กับความเป็นจริง และที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้เราเข้าใจโลกมากขึ้นด้วย”

 shaquille-o-neal-receives-d

ด้าน คารีม อับดุล-จาบาร์ ตำนานนักบาสเจ้าของสถิติทำแต้มสูงสุดใน NBA มองว่า การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยสามารถช่วยให้นักกีฬาสามารถเรียนรู้และเข้าใจแง่มุมต่างๆ ที่ต้องเจอในชีวิตได้มากขึ้น

“เรื่องการเงินเนี่ยถือเป็นจุดอ่อนร้ายแรงของนักกีฬาเลยก็ว่าได้ โดยทั่วไปแล้ว มันแทบไม่มีทางเลยที่จะบริหารจัดการทรัพย์สินเงินทองมหาศาลได้ด้วยประสบการณ์ชีวิตอันน้อยนิด แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถช่วยให้เรื่องราวเปลี่ยนแปลงได้ คือการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก และทำให้คุณรู้ตัวมากขึ้นว่า อยากใช้ชีวิตอย่างไร”

“อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ตำแหน่งงานในฐานะนักกีฬาอาชีพที่สหรัฐอเมริกาเองก็มีจำกัด อย่างใน NBA มีผู้เล่นเพียงแค่ราว 450 คนเท่านั้น และถ้านับรวมทุกวงการ ก็จะมีแค่ราวๆ 3,000 คนเอง แต่หากคุณมีการศึกษา คุณก็สามารถเบนเข็มไปสู่เส้นทางอื่นๆ ได้แม้ไม่อาจเป็นนักกีฬาอาชีพได้อย่างที่หวัง”

ซึ่ง โรเจอร์ สตอแบค อดีตควอเตอร์แบ็คดีกรีแชมป์ซูเปอร์โบวล์กับ ดัลลัส คาวบอยส์ ก็ถือเป็นนักกีฬาอเมริกันเกมส์อีกรายที่ประสบความสำเร็จหลังเลิกเล่น กับการเป็นนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างรายได้ให้เขามากกว่าสมัยโลดแล่นใน NFL เสียอีก และเจ้าตัวก็ยอมรับว่า การศึกษามีส่วนช่วยเขาไม่น้อย

“หนึ่งในเคล็ดลับสู่ความสำเร็จของผมคือการทำงานหนัก ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาเองก็เป็นตัวช่วยที่สำคัญ เพราะมันทำให้คุณเข้าใจสิ่งต่างๆ ของโลกมากขึ้น รวมถึงเข้าใจด้วยว่า ความสำเร็จที่เกินคาด หลายๆ ครั้งมันก็ก่อร่างจากการเตรียมความพร้อม รวมถึงการกระทำอันแสนธรรมดา”

 pro27_1

เรื่องต่างๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้นจึงเป็นสิ่งที่ชี้ว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญของการศึกษาสำหรับนักกีฬาไม่น้อย เมื่อพวกเขาวางระบบโครงสร้างของวงการกีฬาอย่างมีแบบแผน จากระดับมัธยมศึกษา สู่มหาวิทยาลัย เพื่อก้าวไปเป็นมืออาชีพ

ซึ่งเรื่องราวความสำเร็จ และความล้มเหลวของคนกีฬาที่มีนับไม่ถ้วนนี้ คือเหตุผลที่ทำให้ผู้มีอำนาจในองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนักกีฬา ต้องการให้นักกีฬามีการศึกษา เพราะพวกเขาไม่ได้มองนักกีฬาเหล่านี้ในฐานะนักกีฬาเท่านั้น แต่ยังเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ รวมถึงเป็นแบบอย่างให้กับนักกีฬารุ่นหลังด้วยเช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook