สโมสรตะกร้อราชบุรี : ทีมกีฬาต้นแบบที่สร้างกำไรแม้ไม่ได้อยู่ในลีกอาชีพ

สโมสรตะกร้อราชบุรี : ทีมกีฬาต้นแบบที่สร้างกำไรแม้ไม่ได้อยู่ในลีกอาชีพ

สโมสรตะกร้อราชบุรี : ทีมกีฬาต้นแบบที่สร้างกำไรแม้ไม่ได้อยู่ในลีกอาชีพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตะกร้อถือเป็นกีฬาที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักเป็นอย่างดี แต่น้อยคนนักที่จะคิดมาลงทุนทำสโมสรตะกร้ออย่างเป็นมืออาชีพ และสร้างรายได้ตามรูปแบบธุรกิจกีฬา

หากวัดตามกระแสความนิยมของลีกอาชีพในไทย ต้องยอมรับว่า ฟุตบอล, ฟุตซอล หรือแม้กระทั่ง วอลเลย์บอล ดูเหมือนจะเป็นลีกกีฬาอาชีพ ที่คนไทยให้ความสนใจเข้าไปชมในสนามมากกว่า เซปัคตะกร้อ กีฬาที่ผูกขาดความสำเร็จให้แก่ ไทย มาอย่างต่อเนื่องในเวทีระดับนานาชาติ

ทั้งที่ กีฬาตะกร้อ ก็เป็นกีฬาที่คนไทยชื่นชอบและติดตามดู นักหวดลูกหวายทีมชาติไทย ลงแข่งขันอยู่เสมอในทัวร์นาเมนต์ต่างๆ อาทิ ซีเกมส์, เอเชียนเกมส์, คิงส์ คัพ ฯ ทว่าเมื่อเอาเข้าจริง ในการแข่งขันลีก กลับมีคนดูเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่ติดตามไปชม

ถ้าพูดตามความเป็นจริง ตะกร้อเดินสาย (ตะกร้อเดิมพัน) ในระดับท้องถิ่น กลับได้รับความสนใจมากกว่าในลีกเสียอีก

 

นั่นจึงทำให้ ไม่ค่อยมีใครคิดจะมาลงทุนสร้าง “ทีมตะกร้อ” ให้เป็นสโมสรกีฬาอาชีพอย่างจริงจังและยั่งยืนในบ้านเรา เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะขาดทุนย่อยยับ ในลีกอาชีพ ที่ไม่มีแม้แต่การถ่ายทอดสด และการประชาสัมพันธ์ในวงกว้างผ่านสื่อ

แต่ในโอกาสที่หลายคนมองไม่เห็น ของตะกร้ออาชีพในไทย “เอ-อวยชัย ศรีสุวรรรณ" นักธุรกิจท้องถิ่นในจังหวัดราชบุรี กลับมองเห็น และเริ่มลงมือทำสโมสรตะกร้ออาชีพขึ้นมา ภายใต้ชื่อ Ratchaburi Takraw Club (สโมสรตะกร้อราชบุรี)

ด้วยแนวคิด คอนเซปท์ รวมถึงระบบของการทำธุรกิจกีฬาที่ไม่เหมือนใครในศึกตะกร้อ ไทยแลนด์ ลีก จนถูกยกให้เป็น “ราชบุรีโมเดล” ที่แม้แต่สโมสรฟุตบอลอาชีพในไทยบางทีม อาจจะยังไม่สามารถทำได้เหมือนกับพวกเขา

มีหลายๆเสียงชื่นชมสโมสรแห่งนี้ แต่คำชวนเชื่อเหล่านั้น ไม่อาจทำให้เราปักใจเชื่อได้ว่า จะมีสโมสรอาชีพของกีฬาตะกร้อเกิดขึ้นจริงในบ้านเรา

 1

การเดินทาง 2 ชั่วโมงครึ่งจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่จังหวัดราชบุรี มายังสโมสรแห่งนี้...ภาพที่ปรากฎอยู่ตรงหน้า ในการเยี่ยมชม ทุกๆพื้นที่ของ ราชบุรีตะกร้อคลับ กลับทำให้เราเกิดความรู้สึกตื่นตาตื่นใจ มากกว่าที่เสียงชื่นชม หรือคอมเมนท์ที่มีคนพูดถึงสโมสรนี้เสียอีก

โดยเฉพาะการได้รับรู้ว่า สโมสรอาชีพแห่งนี้ สามารถทำกำไรได้ แม้ในวันที่ไม่ได้ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันลีกอาชีพ ก็ตาม มีคำถามมากมายเกิดขึ้นในหัว และคำตอบก็อยู่ในบรรทัดถัดจากนี้แล้วว่า “พวกเขาทำสิ่งนี้ได้อย่างไร”

โอกาสและตะกร้อ

“พี่ไม่เคยมีความคิด อยากจะเป็นเจ้าของทีมตะกร้อเลย” อวยชัย ศรีสุวรรณ ประธานสโมสรตะกร้อราชบุรีคนปัจจุบัน ย้อนถึงจุดเริ่มต้นที่ได้มาทำสโมสรนี้ แบบไม่ได้ตั้งใจ

 2

“พี่เป็นเด็กหัวไม่ดี ค่อนไปทางโง่เลย แต่มีความสามารถทางกีฬาอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เมื่อก่อนก็ชอบเล่นแบดมินตัน แต่ว่ามันไม่มีลู่ทางไปต่อได้ จนมีเพื่อนคนหนึ่งแนะนำว่า “ไอ้อวย มึงไปเล่นตะกร้อสิ วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ เขาเปิดรับโควต้านักตะกร้อนะ”

“พี่ก็เลยจริงจังกับตะกร้อ เล่นจนได้โควต้าไปเรียนที่นั่น เล่นจนมีโอกาสไปรู้จักคนที่พาเราไปเรียนต่อจนจบปริญญาตรี วิศวกรรมอุตสาหการ แล้วก็เล่นมาอยู่ตลอด ไม่รู้เลยว่ารักมันตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่รู้ตัวอีกทีก็รักมันเข้าไปแล้ว”

“พี่มีความคิดว่า ตะกร้อให้โอกาสในชีวิตพี่หลายๆอย่าง พอถึงจุดหนึ่งที่เราเริ่มมีรายได้ ก็จะทำหน้าที่เป็นผู้ใหญ่ใจดี แบ่งเงินส่วนหนึ่งไปให้กับ ครูและเด็ก ที่เขามาขอเงินไปทำเสื้อ ไปส่งทีมแข่ง หรือขอค่าเดินทางไปแข่งตะกร้อรายการต่างๆ”

แม้อาชีพที่เขาประกอบอยู่นั้นจะไม่ค่อยเกี่ยวเนื่องกับตะกร้อมากนัก แต่เขาก็มักจะช่วยเหลือเด็กๆที่เล่นตะกร้ออยู่เป็นประจำ ตั้งแต่สมัยที่เจ้าตัว ยังทำงานเป็น ผู้จัดการโรงงานอุตสาหกรรม จนถึงช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ในปี พ.ศ.2540 จากนั้นก็ผันตัวเองมาทำธุรกิจโรงงานอาหาร ที่จังหวัดบ้านเกิด

อวยชัย ค่อยๆพัฒนาธุรกิจตัวเองจนเติบโต ก่อนจะขยับขยายไปทำธุรกิจค้า-ปลีก จนวันหนึ่งเขาได้รับการติดต่อจากสโมสรตะกร้อราชบุรี ให้ไปทำหน้าที่เป็น เหรัญญิกสโมสร ลงสู้ศึกตะกร้อไทยแลนด์ ฤดูกาล 2012 และนั่นกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ ผลักให้เขาได้มาสวมหัวโขน ที่ไม่เคยคิดมาก่อน อย่างตำแหน่ง “ประธานสโมสร”

“ฮะ! ให้พี่ไปทำตำแหน่งอะไรนะ เหรัญญิกเหรอ?” อวยพร กล่าวด้วยน้ำเสียงที่ตกใจ เพื่อบรรยายให้เห็นภาพความรู้สึกของเขาตอนที่ได้รับการติดต่อ

“พี่ไม่เคยรู้มาก่อนว่า เหรัญญิกต้องทำอะไรบ้าง เขาก็บอกว่าอยากให้พี่ไปช่วยดูแลเรื่องเงินของทีม เพราะเห็นว่าพี่ทำธุรกิจประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง น่าจะช่วยดูแลตรงนี้ได้ จุดเริ่มต้นมีแค่นั้นเลยครับ”

 3

“ปกติแล้ว การทำทีมตะกร้อในไทยแลนด์ลีก ทีมส่วนใหญ่จะใช้เงินที่เป็นงบสนับสนุนของ กกท. ประมาณ 500,000 บาท มาบริหารจัดการทีม ซึ่งเขาอยากให้พี่ถือเงินก้อนนี้ และดูแลค่าใช้จ่ายทีมตะกร้อ”

“ทีมก็หานักกีฬามาเซ็นสัญญา จ่ายเงินเดือน คนนี้มีดีกรี 5 หมื่น, คนนี้ 2 หมื่น มีเบี้ยซ้อม เงินเดือน สนามฝึกซ้อมก็ต้องเช่า ทุกอย่างเสียเงินหมด ผ่านไปได้สักประมาณ 1 เดือนจะเปิดฤดูกาลอยู่แล้ว แต่เงิน 500,000 บาท ยังไม่มาเลย ทีนี้ เหรัญญิก เริ่มเดือดร้อนแล้ว พอถึงวันแข่งก็ต้องเช่ารถตู้อีก เพราะรถสโมสรไม่มี”

“หลังจากแข่งไปได้ 3-4 แมตช์ เงิน 500,000 บาทจาก กกท. หมดแล้ว พี่คิดว่าไม่ดีแล้วมั้ง มันน่าจะมีทางออกที่ดีกว่านี้นะ พี่เลยตัดสินใจไปหา คนที่เขาแต่งตั้งขึ้นมาเป็น ประธานสโมสร นั่นก็คือ นายก อบจ. ซึ่งท่านเองก็ไม่ได้อยากเป็นหรอก แต่มีคนมาขอให้ท่านเป็น ท่านก็ดูแลได้ตามอัตภาพ แต่เรื่องเงินแกคงไม่มีให้"

"พี่กลับมาคิดว่าไหนๆ ถ้าเราจะเสียเงินขนาดนี้แล้ว ก็ขอเป็นประธานเองเลยแล้วกัน ท่านนายกฯ แกก็ดีใจมากนะ ยกตำแหน่งให้พี่เลย ก็เลยได้เป็นประธานมาจนถึงทุกวันนี้ (หัวเราะ)”

ภายหลังจากได้รับตำแหน่ง อวยชัย ศรีสวุรรณ ประธานสโมสรตะกร้อใหม่แกะกล่อง ก็ต้องเจอกับปัญหามากมายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการบริหารธุรกิจกีฬา ที่เจ้าตัวไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน

แถมยังต้องเสียเงินไปในทุกๆวัน รวมแล้วประมาณ 3 ล้านบาทในซีซั่นแรก ถือเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยสำหรับนักธุรกิจท้องถิ่นคนหนึ่ง จนเกือบมีความคิดที่จะล้มเลิกไปแล้ว

“มันยากมากๆ เพราะเราไม่เคยทำธุรกิจกีฬาเลย แต่ด้วยความรักที่เรามีต่อกีฬาชนิดนี้ ก็เลยพยายามทำทุกอย่างออกมาให้ดีที่สุด แต่ในปีแรก เรามีแต่รายจ่าย ไม่มีรายได้เลย ตะกร้อแข่งฤดูกาลหนึ่งแค่ 4 เดือน เหมือนเราเอาเงิน 3 ล้านไปทิ้งเปล่าๆ”

“พี่มีความคิดอยากจะเลิกทำหลายครั้งมาก ในปีแรก ด้วยความไม่พร้อมหลายๆอย่าง อีกอย่างมันก็เกิดคำถามกับตัวเองว่า เราทำไปเพื่ออะไร จบปีนี้แล้วปีหน้ายังไงต่อ สปอนเซอร์ก็ไม่มี ทุกอย่างต้องเช่า ต้องซื้อ ต้องเสียเงินหมด เพื่อนฝูงในวงการกีฬาก็ไม่ได้กว้างขวางขนาดนั้น พี่ไม่ได้เล่นการเมืองด้วย เป็นแค่นักธุรกิจธรรมดาคนหนึ่ง”

“ก็ถามตัวเองซ้ำๆว่า จะทำต่อไหม ถ้าเราต้องจ่ายทุกปี ปีละ 3 ล้านแบบนี้ เอาเงินไปปลูกบ้าน ไปซื้อรถดีกว่าไหม? มีคำถามแบบนี้ในหัวอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายก็ตัดสินใจลุยต่อปีที่ 2 ด้วยความตั้งใจที่อยากจะได้แชมป์ เพราะปีแรกเหมือนเรายังทำได้ไม่สุดตัว ไหนๆจะเจ็บแล้ว ก็ขอเจ็บ แบบได้ชื่อว่า เป็นแชมป์สักครั้งในชีวิต”

เพื่อนเลิกคบ

อวยชัย ตัดสินใจเพิ่มงบประมาณในการลงทุนทำทีมเพิ่มอีกเท่าตัว จากเดิม 3 ล้านบาท มาเป็น 8 ล้านบาท พร้อมกับได้สปอนเซอร์รายใหญ่อย่าง หนองโพ เข้ามาเซ็นสัญญาหนุนทีมปีละ 1 ล้านบาท ภายใต้สัญญา 3 ปี ที่ถือเป็นมิติใหม่ของตะกร้อไทยแลนด์ลีกเลย ที่มีการจ่ายเงินสูงหลักล้านจากผู้สนับสนุน

 4

งบประมาณ 8 ล้านบาทที่เสียไป ได้มาซึ่งถ้วยแชมป์ ตะกร้อ ไทยแลนด์ ลีก สมัยแรกของสโมสรตะกร้อราชบุรี พร้อมกับแนวคิดในการทำธุรกิจกีฬาที่เปลี่ยนไปของ ประธานสโมสรรายนี้

“ฤดูกาลที่สอง เราประสบความสำเร็จอย่างมาก เราเป็นทีมแรกของตะกร้อ ที่มีสปอนเซอร์ให้เงินหลักล้าน จากหนองโพ นั่นทำให้พี่เริ่มคิดแล้วว่า สโมสรกีฬาอาชีพ จริงๆก็สามารถสร้างรายได้ ได้เหมือนกันนะไม่ได้มีแต่รายจ่าย”

“พี่เปลี่ยนวิธีคิดเลย วางระบบและแผนงานใหม่ทั้งหมด เงินที่เราจ่ายไปในปีที่สอง นอกเหนือจากแชมป์ที่เราได้มา เรายังได้ที่พักนักกีฬา ได้รถตู้ รถยนต์ และทีมงานสตาฟฟ์โค้ชใหม่ยกชุด พร้อมแบบแผนที่เราวางไว้ล่วงหน้าอีก 10 ปี ที่เราจะสร้างกำไร จากการทำธุรกิจกีฬาในระยะยาว เพื่อให้สโมสรอยู่ได้ด้วยตัวเอง”

“พี่ก็ไปศึกษาข้อมูลของสโมสรกีฬาอาชีพในต่างประเทศว่า เขาทำอย่างไรบ้าง มีองค์ความรู้ใดที่เรายังขาด เพื่อนำมาปรับใช้กับสโมสรเรา”

หลังจากทำทีมตะกร้อราชบุรี คว้าแชมป์ ไทยแลนด์ ลีก สำเร็จ เขาเปลี่ยนความตั้งใจที่จะล้มเลิกในปีนั้น มาเป็นการเดินหน้าต่อ แม้จะต้องเผชิญกับคำดูถูกต่างๆ นานา รวมถึงการต้องเสียมิตรสหายไปหลายๆคน จากปณิธานในการทำทีมกีฬาอาชีพของเจ้าตัว

 5

“พี่อาจจะบ้ายอหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะปีนั้น นสพ.สยามกีฬา เขียนชื่นชมสโมสรราชบุรีว่า เป็นทีมตะกร้ออาชีพต้นแบบ ลงไว้หน้าเบ้อเร่อเลย” อวยชัย พูดพร้อมกับทำภาษามือบ่งบอกถึงขนาด

“มันเกิดความรู้สึกในใจพี่ว่า เราเป็นความหวังของตะกร้ออาชีพหรือเปล่า? เราเพิ่งทำได้แค่ 2 ปี แต่มีสื่อพูดถึงเราเหมือนกับว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีทีมไหนคิดทำแบบนี้มาก่อน แล้วถ้าเราทำต่อไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งที่ตะกร้อมันเป็นลีกอาชีพจริงๆล่ะ เราคงรู้สึกดีมากๆเลยนะ แต่ว่าในความเป็นจริงมันไม่ได้สวยงามแบบนั้นหรอก” เขาลดโทนเสียงลง

“พี่โดนคนเกลียด โดนคนด่าเยอะมาก เสียเพื่อนไปจากตรงนี้ไม่น้อย ปกติเวลาดูตะกร้อ เขาจะเปิดให้มาดูฟรีใช่ไหม บางที่จ้างคนมาดูอีก ต้องหาข้าวมาให้กิน หาเสื้อมาให้ใส่ แต่ของราชบุรี พี่ต้องการเปลี่ยนวิธีคิดของคนดูตะกร้อให้เป็นอาชีพ เราเก็บเงินคนดู 50 บาทเท่ากันหมด ทำใจแล้ว จะไม่มีคนดูก็ช่าง แต่เราต้องเก็บ”

“เหตุผลก็เพราะมันเป็นกีฬาอาชีพไง รายได้ของตั๋วคือส่วนหนึ่งของการพัฒนาทีม ถามว่าเกมหนึ่งเราเก็บเงินได้แค่ 4,000 บาท พี่ได้อะไรจากตรงนี้ พี่ไม่ได้อะไรเลยนะ เอาไปจ่ายเงินเดือนนักกีฬายังไม่ได้เลย”

 6

“แต่พี่ต้องทำ เราต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมการดูกีฬาในบ้านเรา ผู้ชมต้องเข้ามาเป็นคนสนับสนุนทีม ไม่ใช่มาเป็นภาระให้ทีม เพื่อนพี่บางคนบอกว่า ไอ้อวย กูเพื่อนมึงนะ มึงจะเก็บตังค์กูเหรอ? พี่บอกเขาไปว่า ก็มึงเป็นเพื่อนกูเนี่ยแหละ มึงต้องช่วยกู บางคนเห็นพี่เก็บค่าตั๋ว เขาเดินกลับบ้านเลย แล้วก็ไม่กลับมาดูอีก”

“บางคนเขาก็ดูถูกพี่ว่า พวกหน้าใหม่ไฟแรง เดี๋ยวก็ไฟไหม้ฟาง เงินหมดก็เลิกทำเอง บางคนบอกเป็นแชมป์มันง่าย รักษาแชมป์ยากกว่า สารพัดคำจะด่า แต่เราเป็นประเภท ไม่ค่อยยอมแพ้อะไรง่ายๆอยู่แล้ว”

ขอสปอนเซอร์แบบไม่ต้องจ่ายเงิน

ความตั้งใจของ สโมสรตะกร้อราชบุรี จึงไม่ใช่เป็นแค่เพียงทีมกีฬาอาชีพที่ลงทุนเพื่อความสำเร็จในแง่ของถ้วยรางวัล หากยังรวมถึงความยั่งยืน และการดำรงให้อยู่รอดในภาคของธุรกิจ

 7

สโมสรเริ่มวางแพลนตั้งแต่ การดัดแปลงโกดังของโรงงานทำอาหาร มาเป็นสนามฝึกซ้อมตะกร้อ ตกแต่งพื้นด้านบนให้กลายมาเป็น ห้องพักขนาด 12 คน, 7 คน, 4 คน ตามขนาดพื้นที่ รวมถึงห้องฟิตเนส, ห้องเก็บถ้วยรางวัล (กึ่งๆ พิพิธภัณฑ์สโมสร)

โดยที่ทุกๆมุม จะมีรูปภาพ และเรื่องราวของสโมสรติดไว้อยู่ตลอด แม้กระทั่ง รองเท้าผ้าใบของนักตะกร้อที่เคยสวมใส่ ก็ถูกจัดเก็บเอาไว้ใส่โชว์ตู้อย่างดี

 8

นอกจากนี้ สโมสร ยังได้มีการทำอคาเดมีขึ้นมาควบคู่กับการทำทีมชุดใหญ่ โดยมีการเปิดรับสมัคร-คัดตัวเด็ก ตั้งแต่อายุ 13 ปีขึ้นไป เพื่อมาฝึกซ้อมตะกร้อ และส่งแข่งขันในนามสโมสร

นักตะกร้อทุกคนจะมีเบี้ยเลี้ยงซ้อมวันละ 150 บาท เงินเดือน 5,000 บาท รวมถึงการส่งนักกีฬา ให้เรียนจนจบระดับชั้นปริญญาตรีทุกคน

ส่วนเรื่องแฟนคลับ สโมสรตะกร้อราชบุรี เน้นเจาะไปที่ คนเล่นตะกร้อภายในจังหวัด ด้วยการจัดแข่งขัน ตะกร้อชมรม ในระบบลีกทุกปี เพื่อชิงเงินรางวัล และสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเหล่าคนรักตะกร้อ ที่จะกลายมาเป็นแฟนคลับของสโมสรในเวลาต่อมา จนทำให้ในช่วงที่ ราชบุรีฯ ส่งทีมเข้าร่วมลีก พวกเขาจึงเป็นทีมที่มีกองเชียร์เยอะสุด และสร้างสีสันแก่ลีกได้ไม่น้อย

อีกทั้ง สโมสรยังจัดกิจกรรมเปิดคลีนิกสอนตะกร้อให้กับเด็ก เยาวชน ตามสถานศึกษาต่างๆ ประมาณ 15 ครั้งต่อปี ครั้งละ 200 คน เพื่อให้เด็กท้องถิ่นได้มีส่วมร่วมกับสโมสร และถือเป็นกิจกรรมคืนกำไรแก่สังคมของสโมสร

คำถามก็คือ ด้วยโปรเจกต์มากมายที่สโมสรทำ พวกเขาเอาเงินจากไหนมา หมุนเวียนให้ระบบดังกล่าวอยู่ได้ เพราะลำพังสโมสรตะกร้ออย่างเดียว ก็ไม่น่าจะหาเงินได้มากพอที่จะมาใช้จ่ายดูแลส่วนอื่นๆ

 9

“เมื่อก่อนพี่ก็เคยแบกหน้าไปขอสปอนเซอร์ ด้วยวิธีปกตินี่แหละ”  อวยชัย ศรีสุวรรณ เริ่มอธิบาย

“แต่เขาก็จะพูดจาไม่ดีกับเรา บางเจ้าเราขอแค่ป้ายโฆษณา 2 แผ่นมาติดสโมสร กับรถแห่ 1 คัน เขาพูดอยู่ 2 ชั่วโมงเหมือนมาสร้างสนามให้เราอะ พี่ก็เลยรู้สึกว่า วิธีการหาเงินแบบเดิม มันไม่น่าจะเวิร์ก อายเขาเปล่าๆ”

“ถ้าอยากให้สปอนเซอร์มาสนับสนุนเรา โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงิน คุณคิดว่ามันมีวิธีไหนบ้างแหละ เชื่อไหมว่าพี่เคยหารายได้ ได้มาประมาณ 26 ล้านบาทต่อปี พูดไป คนอาจคิดว่า มันจะเป็นได้ไง ไม่บ้าก็เมาแน่ๆ ทำทีมตะกร้อ แต่สามารถหาเงินได้มากขนาดนี้”

“เราเปลี่ยนวิธีจากขอเงิน มาเป็นของานทำจากสปอนเซอร์ สมมุติคุณต้องการสร้างบ้าน 1 หลัง ด้วยเงิน 2 ล้านบาท ถ้าคุณจ้างผู้รับเหมาทำบ้าน คุณก็ต้องจ่าย 2 ล้านบาท แต่ถ้าคุณจ้างสโมสรเรา สร้างบ้านให้คุณ ด้วยเงิน 2 ล้านบาท คุณก็จะได้บ้านหนึ่งเหมือนกัน โดยที่ไม่ได้จ่ายเงินเพิ่มเลย แถมยังได้สนับสนุนสโมสรไปอีกทาง”

 10

รูปแบบที่ว่ามานี้ คือ การเปิดบริษัทขึ้นมาอีกแห่ง รับงานจาก ลูกค้า สปอนเซอร์ เมื่อนำรายได้มาหักต้นทุนของงานทั้งหมดแล้ว ส่วนของกำไร ก็จะถูกนำไปหมุนเวียนใช้จ่ายกับสโมสรตะกร้ออาชีพต่อไป หรือเป็นทุนในการต่อเติมสาธารณูปโภคของสโมสร

งานที่สโมสรรับทำ มีตั้งแต่ สร้างสิ่งปลูกสร้าง, ตกแต่งภายนอก-ภายใน, งานออกแบบ, ตลอดจนการทำสื่อโฆษณา, ป้าย โดยในพื้นที่ของสนามซ้อม จะมีส่วนหนึ่งถูกเซ็ทไว้สำหรับการทำงานของบริษัท เพื่อเป็นแหล่งรายได้ และพื้นที่สำหรับการรับงานจากสปอนเซอร์เข้ามาทำ

“ลูกค้าอย่าง แคท เทเลคอม เขาก็เริ่มจากทดลองให้พี่ไปทำงานดูก่อน ในการจัดอีเวนต์ ด้วยงบประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรตที่เท่ากับที่เขาจ้างที่อื่น ปรากฏว่างานแรกพี่ทำได้ดี เขาก็เลยจ้างต่อให้ไป Renovate ศูนย์บริการ 12 สาขา ก็ได้มาหลายสิบล้านอยู่”

“หรืออย่างหนองโพ เขาก็จ้างบริษัทพี่ไปทำป้าย ไปทำไวนิลขนาดใหญ่ แม้แต่ คูล สปอร์ต ที่สนับสนุนเสื้อแข่งเรา พี่ก็เข้าไปคุยกับโรงเรียนที่เป็นพันธมิตรกัน โรงเรียนก็สั่งเสื้อ 4,000 ตัวสำหรับการแข่งขันกีฬาสี  คูล สปอร์ต บริษัทที่เขาให้เงินพี่ เขาก็รู้สึกดีด้วย เพราะว่าสนับสนุนทีม ก็ได้เรื่องยอดขายเพิ่มเติมด้วยนี่หว่า พี่พยายามทำให้สปอนเซอร์รู้สึกวิน-วิน ทั้งเราและเขา เราไม่ได้ขอเงินเปล่าๆนะ แต่เราขอทำงาน แค่นี้ก็เหมือนเป็นการช่วยสนับสนุนสโมสร”

“ธรรมชาติพี่เป็นคนมือซนอยู่แล้ว ชอบทำอะไรด้วยตัวเองมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ทำบ้านเอง ทำโรงงานตัวเอง เสื้อทุกตัวเราเฟล็กซ์เองทุกอัน เวลาจ้างผู้รับเหมา พี่จะชอบสังเกตดูว่าเขาทำอย่างไร” ปธ.สโมสรตะกร้อราชบุรี ตอบคำถามถึงความสงสัยของเราที่ว่า เขาไปศึกษามาจากไหน ถึงสามารถทำอีกธุรกิจที่ครอบธุรกิจสโมสรตะกร้อได้

“ประกอบกับพี่เรียนจบวิศวะฯ มา เพื่อนเราก็มีทั้ง วิศวะโยธา, ไฟฟ้า ฯ มีหลายอย่าง เราก็ไปปรึกษาเพื่อนว่า มึงมาออกแบบอันนี้ให้กูหน่อย คิดเท่าไหร่, มึงว่างไหม มาคุมก่อสร้างให้กูหน่อย แบ่งสัดส่วนให้ชัดเจน ที่เหลือก็จะเป็นกำไรไปให้น้องๆ”

“โลกสมัยนี้ง่ายกว่ายุคก่อนเยอะ เราเข้าถึงองค์ความรู้ได้มากมาย อยู่ที่คุณจะหยิบมาใช้ยังไง เราสร้างระบบแบบนี้ขึ้นมา ทำให้เราขาดทุนน้อยลงๆเรื่อยๆ แต่ก็แลกมากับการใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้น ทุกอย่างที่คุณเห็นในสโมสรเรา มันเกิดขึ้นจากการต่อยอดธุรกิจเล็กๆ ทั้งสิ้น เราพยายามหาว่าธุรกิจแต่ละอย่างจะเชื่อมโยงกันอย่างไร”

 11

“คนที่บอกว่า ทำทีมกีฬาอาชีพแล้วหาสปอนเซอร์ยาก ผมว่าต้องมองมุมกลับนะว่า คนทำทีมแต่ละคน นำเสนออะไร ในการไปขอเงินจากผู้สนับสนุน คิดดูเอาว่า สปอนเซอร์เจ้าหนึ่งให้เงิน 10-20 ล้านบาท สโมสรตะกร้อของพี่ก็เคยได้มาแล้ว”

เราเปลี่ยนวงการไม่ได้

สโมสรตะกร้อราชบุรี ประสบความสำเร็จด้วยถ้วยแชมป์ไทยลีก สมัยที่ 2 รวมถึงการส่งทีมหญิงเข้าร่วมการแข่งขันในรายการต่างๆระดับประเทศ จนมาถึงปี 2016 สโมสรตัดสินใจยุติการส่งทีมชาย ลุยต่อในศึก ไทยแลนด์ ลีก มาตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้…

 12

“ที่เราตัดสินใจหยุดพักส่งทีมเข้าไปแข่ง เพราะว่าลีกอาชีพต้องลงทุนสูง แต่ปัจจัยรอบข้างมันไม่เอื้อ มีแค่ราชบุรี ทีมเดียวมั้งที่บ้าทำอะไรแบบนี้ แต่สโมสรอื่นเขาไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกับเรา เราเป็นทีมต้นแบบตะกร้ออาชีพได้ แต่วงการจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับทีมเราทีมเดียว เราเปลี่ยนวงการไม่ได้หรอก”

“ทุกคนรู้หมดเราทำอะไร โมเดลที่เราทำก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แล้วสิ่งที่เรามองเห็นก็ไม่ใช่ว่า ไม่เคยมีใครมองเห็น ในประเทศไทยมีคนที่เก่งกว่าพี่เยอะมาก มีคนที่ทำธุรกิจร่ำรวยกว่าพี่เป็นร้อยล้าน พันล้าน ตั้งกี่คน แต่ทำไมคนเหล่านั้นถึงไม่ลงมาทำทีมตะกร้อ?”

“เพราะว่าปัจจัยบวกที่จะส่งเสริมให้เขาทำธุรกิจกีฬาที่สร้างรายได้กลับคืนมา มีน้อยมาก? ถ้าจะต้องลงทุนกับอะไร ที่มีปัจจัยความสำเร็จน้อยขนาดนี้ สู้เขาเอาเงินไปลงทุนอย่างอื่นไม่ดีกว่าเหรอ”

“รวมถึงปัจจัยที่เอื้อหนุนทั้ง ภาครัฐ, สมาคมฯ คนทำทีมต่างๆ บรรยากาศของลีกก็ไม่ได้เอื้อให้เอกชนอยากลงมาทำ มีแค่ราชบุรี นี่แหละที่เป็นเอกชนทำแบบร้อยเปอร์เซนต์ ที่ผ่านมาก็จะเป็นทีมของข้าราชการ, ทีมองค์กรฯ”

“วิธีการบริหารงาน ก็ยังอยู่ในกรอบเดิมๆ คือ การรอรับเงินสนับสนุน แล้วค่อยเอางบประมาณตรงนี้มาบริหารแบบปีต่อปี แค่นั้นเอง เป้าหมายของพี่ พี่ต้องการสร้างธุรกิจกีฬาที่มีกำไร ภายใต้แผนงานธุรกิจที่ชัดเจน เพื่อให้คนที่เขามีเงินมากกว่า มาลงทุนสร้างทีมใหม่ๆมาแข่งขันกับเรา”

“เมื่อไหร่ก็ตามที่คนมีกำลังกว่าพี่ เขาลงมาทำ พี่ก็เป็นได้แค่ทีมระดับ เอฟเวอร์ตัน (สโมสรฟุตบอลอังกฤษ)  แต่นั่นแหละคือภาพที่พี่อยากเห็น คนเอาไอเดียเราไปต่อยอด ไปพัฒนา เพื่อให้วงการตะกร้ออาชีพมันอยู่ได้จริงๆไง”

 13

สโมสรตะกร้อราชบุรี หันหลังให้กับระบบลีกอาชีพก็จริง แต่พวกเขายังคงไม่หยุดที่จะเดินหน้าทำทีมต่อ โดยเฉพาะทีมหญิง เนื่องจากมีความคิดว่า ผู้หญิงที่เล่นตะกร้อ มีลู่ทางที่จะไปต่อ ในเส้นทางนี้ ได้ยากกว่าผู้ชาย ที่สามารถไปติดยศรับราชการได้

ดังนั้น 37 ชีวิตนักตะกร้อที่ยังอยู่ในสโมสรแห่งนี้ จึงเป็นนักตะกร้อหญิงทั้งหมด โดยมีทีมงานฝ่ายต่างๆ รวมแล้วประมาณ 60 ชีวิตที่ สโมสรต้องดูแลและจ่ายเงินเดือนให้ราวๆ 4 แสนบาทต่อเดือน ไม่ใช่เงินจำนวนน้อยๆ ที่เลี้ยงดูให้สโมสรแห่งนี้ไปต่อได้ตามแผนงาน ในวันที่ไม่ได้อยู่ลีกอาชีพแล้ว

ตะกร้อฟรีสไตล์ จึงเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการจัดการแข่งขันของสโมสร ที่พยายามทำให้ กีฬาตะกร้อ ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น โดยเป็นการยกระดับจาก ตะกร้อเดินสาย หรือตะกร้อเดิมพัน ที่เล่นในสนามไม่ได้มาตรฐาน และแข่งกันเพื่อกินเงินเดินพัน

 14

มาจัดเป็นการแข่งขันให้มีมาตรฐานมากขึ้น ตั้งแต่ การจัดแข่งในร่ม, ใช้พื้นคอร์ตยาง รวมถึงความปลอดภัยของผู้ชมที่มีรั้วกั้นชัดเจน มีกรรมการ รวมถึงเงินรางวัลส่วนกลาง ที่ไม่ต้องใช้เดิมพัน รวมถึงการการถ่ายทอดสดออกไปยังผู้ชม โดยมีไอเดียมาจากมวย MMA ที่ผสมผสานศิลปะการต่อสู้หลายๆแขนงมาเจอกันในกรง

“การจัดตะกร้อฟรีสไตล์ครั้งแรก เรามีเวลาเตรียมงานแค่ 15 วันเอง มีเวลาโปรโมต 1 อาทิตย์ แมตช์นั้นเรานำเสนอคอนเทนท์ที่ว่า เอานักตะกร้อทีมชาติ มาเจอกับ นักตะกร้อเดินสายที่เก่งๆ ในกฎ กติกา ที่เอื้อให้นักตะกร้อเดิมพันได้เปรียบเล็กๆ คนนั้นแมตช์เดียวพี่มีคนดู 2.6 ล้านวิว พี่เลยคิดว่า ถ้าแบบนี้ เราก็ยังมีโอกาสรอดนะ”

“คิดดูเล่นๆ ถ้าเราจัดในโปรดักชั่นดีๆ สนามดีๆ มีคนซื้อบัตรมาดู ตั้งเงินรางวัลสูงๆ จัดที่ไหน ยังไงก็มีคนดู สปอนเซอร์ก็แฮปปี้ นักตะกร้อมีรายได้เพิ่มขึ้น คนจัดได้กำไร พี่อยากทำให้เหมือน UFC เลย ที่คนดู เขาจะตื่นตาตื่นใจ กับการดูตะกร้อ”

ทำไมตะกร้อเดินสายถึงได้รับความนิยมกว่าการแข่งขันในลีก ผู้เขียนย้อนถาม “เพราะลีกมันไม่สร้างรายได้ไง ตะกร้อเดินสายเติบโตขึ้นมาได้ เพราะว่าคนที่เล่นไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเหลี่ยม ขอแค่เก่งอย่างใด อย่างหนึ่ง ก็เล่นได้แล้ว บางคนเก่ง หน้าเท้า, บางคนเล่นแต่ ข้างเท้าด้านใน ข้างเท้าด้านนอก ไหล่ หรือ หัว บางคนเล่นสามคนแบบทีมไม่เก่ง แต่ถ้า 1-1 สู้ได้ทั่วโลก แค่นี้เขาก็มีรายได้แล้ว”

“บางคนเล่นแค่วันเดียว ยันสว่าง มีรายได้มากกว่างานประจำอีก เดี๋ยวนี้ตะกร้อเดิมพัน ยิ่งใหญ่มากกว่าสมัยที่พี่เป็นวัยรุ่น ยุคนั้นเต็มที่คู่ละ 500-2,000 บาท ทุกวันนี้คู่ใหญ่ เงินเดิมพัน 500,000 บาท คุณคิดดูสิ เล่น 15 แต้ม ได้เงิน 500,000 บาท คนเลยหันไปเล่นตะกร้อเดิมพันเพราะมันสร้างรายได้ที่จับต้องได้”

“พี่ว่าตราบใดที่ตะกร้อยังไม่เป็นลีกอาชีพ คงยากที่ชาติอื่นจะมาสู้เราได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มันเป็นลีกอาชีพอย่างแท้จริง ไทย อาจจะไม่ใช่เบอร์ 1 แบบปัจจุบันก็ได้ ลองดูนักมวยไทยสิ ไปต่อย UFC เดี๋ยวนี้สู้ไม่ได้แล้ว เจอพวกยืนสู้เหมือนกันยังเหนื่อยเลย เพราะมันเรียนรู้ทันกันหมดแล้ว ถ้าถึงวันนั้นที่การเล่นตะกร้อ สร้างรายได้ได้เหมือนกับเทนนิส ฟุตบอล ที่คนได้อันดับ 1-8 มีเงินรางวัลหมด ชาติอื่นๆเขาก็พร้อมจะพัฒนามาสู้กับเรา”

 15

“ด้วยวิทยาศาสตร์การกีฬา เขาพร้อมที่จะลงทุนและพัฒนาให้เก่งกว่าเรา ไม่ต้องอะไร ดูอย่าง พม่า รู้ไหมว่าตัวเก่งๆของเขา 2 คนที่ข้ามเล่นตะกร้อเดิมพันในไทย เขามีรายได้ดีกว่านักตะกร้อในไทยแลนด์ ลีก ซะอีก เขาใช้เท้าเปล่า กินเงินคนไทยมานักต่อนักแล้ว ทำไมเขาถึงเก่งกว่าเรา เพราะตะกร้อแบบนี้มันสร้างรายได้ให้เขาได้ไง คนเราต้องกิน ต้องใช้เนอะ เล่นตะกร้อไปวันๆ มันต้มกินได้ไหมล่ะ”

โมเดลจากวัด

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนสงสัยหลังจากผ่านการสนทนาอย่างยาวเหยียดนาน นับชั่วโมงก็คือ “อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้สโมสรแห่งนี้ กล้าที่จะลงทุน” ในวันที่หลายๆอย่างยังจับต้องไม่ได้ และมีความเสี่ยงสูงที่จะล้มเหลว

 16

“ผมถามคุณกลับว่า คุณเคยไปวัดดังๆไหม ทำไมผู้คนถึงเอาเงินไปใส่ในตู้บริจาค เอาเงินไปถวายวัด บางคนสร้างห้องน้ำให้ ไปจนถึงสร้างวัดใหม่ทั้งหลัง คำถามคือเขาทำแบบนั้นเพื่ออะไร” - ความสุขทางใจมั้งครับ? ผู้เขียนตอบ

“ศรัทธาต่างหาก ที่ทำให้คนเชื่อและกล้าที่จะทำทุกอย่างให้เกิดขึ้นมาได้ พี่พยายามทำให้ทุกคนศรัทธาในสโมสรเรา ด้วยการทำให้เห็นเราลงมือทำจริง และมองเห็นว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อคนข้างหลัง พี่ยกตัวอย่าง เด็กๆ ที่ผ่านมาการคัดตัวเข้ามาอยู่ในอคาเดมีเรา เราไม่ได้เลือกเขาเพราะว่าใครมาจากครอบครัวที่ลำบากนะ และพี่ก็ไม่เคยรู้ปูมหลังชีวิตของเด็กมาก่อน”

“แต่พอเขามาอยู่กับเรา เด็กประมาณ 60 เปอร์เซนต์ คือเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีปัญหา พ่อแม่หย่าร้างกัน, ครอบครัวฐานะยากจน ไม่มีเงินส่งเสียให้เรียน ผู้ปกครองเด็กบางคนถูกคุมขัง มีโอกาสได้เจอหน้า ก็ต้องผ่านลูกกรงเหล็ก”

“เด็กที่เจอปัญหาหนักๆในชีวิตแบบนี้ เขามีสองทางเลือก ถ้าไม่เสียคน ก็จะใฝ่ดี เพื่อสร้างอนาคตใหม่ให้แก่ตัวเอง แต่คนที่ใฝ่ดี บางครั้ง เขายังขาดคนที่จะมาสนับสนุน ให้เขามีการศึกษา มีรายได้ และเติบโตอย่างมีคุณภาพ เราก็แค่ไปทำหน้าที่ตรงนั้น”

“มีเด็กคนหนึ่งมาจากจังหวัดพัทลุง แม่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า พ่อติดสุราหนักมาก มีน้องสาวอีกหนึ่งคน เขาเก็บเบี้ยเลี้ยงซ้อมทุกวัน ไม่กิน ไม่ใช้ เพื่อส่งเงินกลับไปที่บ้าน ตัวเองใช้แค่เงินเดือนที่ได้ ตอนนี้เรียนอยู่ชั้น ม.5 แล้ว”

หากคิดตามระบบอุตสาหกรรมกีฬา “การศึกษา” อาจจะไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นอันดับ 1 เสียทีเดียว ในเมื่อสโมสรหวังผลลัพธ์จากพวกเขาจากการเล่นในสนามมากกว่า

แล้วทำไมสโมสรอาชีพแห่งนี้ ยังให้ทุนและส่งให้เด็กๆทุกคนในชายคา ราชบุรีตะกร้อคลับ ได้เรียนจนจบชั้น ป.ตรี ล่ะ? หรือแม้กระทั่งรับเข้าทำงานต่อในสโมสร

 17

“ไม่งั้นโลกนี้ก็มี โรนัลโด เมสซี่ ทุกคนสิ” อวยชัย ที่เคยผ่านประสบการณ์ เอ็นหัวเข่าขาดจากการเล่นตะกร้อ ตอบคำถามนี้ด้วยน้ำเสียงอารมณ์ดี

“คนเราไม่เหมือนกันทุกคน บางคนโครงสร้างร่างกายอาจไม่เหมาะกับการเล่นกีฬา ถ้าเล่นไปแล้วเกิดได้รับบาดเจ็บหนักขึ้นมาจะทำยังไง ถ้าไม่มีการศึกษารองรับ...พี่มองว่าคนเราถ้าได้ทำงานที่เกี่ยวกับกีฬาที่เรารัก มันเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว”

“รู้ไหมว่าเด็กรุ่นแรก 3-4 คนที่เราส่งเรียนกำลังจะจบ ปริญญาตรี เขาเรียนสาขาอะไร? เราส่งเขาเรียน วิทยาศาสตร์การกีฬา เมื่อเขาจบแล้ว เขาสามารถนำเอาความรู้มาทำงานต่อที่สโมสรได้เลย ส่วน รุ่นสอง พี่ส่งเรียน แพทย์แผนไทย”

“เพราะนักกีฬาต่างชาติเวลามาเมืองไทย เขาชอบนวดอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเป็นการนวดที่แก้อาการ ตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬาด้วยแล้ว ชั่วโมงละ 800-900 บาทนะครับ ที่สำคัญ คนที่เรียนแพทย์แผนไทย สามารถขอใบอนุญาตทำธุรกิจได้ แค่นี้นักตะกร้อผม ก็มีรายได้ อยู่รอดแล้ว”

อย่างที่กล่าวไปว่า เด็กทุกคนในอคาเดมี สโมสรตะกร้อราชบุรี นอกจากจะได้รับการันตีการส่งเรียนจนจบระดับปริญญาตรีแล้ว

พวกเขายังได้บรรจุเข้าทำงานที่นี่เป็นเวลา 3 ปี ตามข้อตกลงในเรื่องของทุนการศึกษา แต่หลังจากนั้น นักตะกร้อของสโมสรราชบุรี สามารถเลือกได้ว่า พวกเขาจะทำงานต่อในเครือศรีสุวรรณกรุ๊ป ทำงานต่อในสโมสร หรือออกไปทำงานข้างนอกก็ได้ ตามสิทธิ์ของเขา

ผลกำไรจากเม็ดเงินที่หาได้จากนอกสนาม อาจจะเป็นส่วนสำคัญที่เข้ามาหล่อเลี้ยง ให้สโมสรกีฬาอาชีพแห่งนี้ ยืดหยัดอยู่ได้ ท่ามกลางปัจจัยหลายอย่างที่ไม่เอื้อหนุนหนัก

แต่ผลกำไรอีกอย่างที่วัดไม่ได้ด้วยตัวเลข และมูลค่าของเงิน น่าจะเป็นเหมือนแรงขับเคลื่อนชั้นดีกว่าเงินตรา ที่ยังทำให้ สโมสรแห่งนี้ยังคงเดินต่อไปได้ แม้จะต้องเจออุปสรรคมากมาย ที่เข้ามาทดสอบศรัทธาของการทำทีม

 18

“บางทีความภาคภูมิใจมันซื้อด้วยเงินไม่ได้นะ พี่เชื่อว่าศรัทธาที่แรงกล้า จะนำมาซึ่งผู้คนที่หลั่งไหลมาช่วยเหลือ และสนับสนุนในสิ่งที่เราคิด พี่ได้โมเดลนี้มาจากวัด คุณว่ามันจริงไหมล่ะ? ถ้าผู้คนเกิดศรัทธามาก วัดก็จะยิ่งใหญ่ขึ้น เช่นกันกับสโมสรกีฬา ถ้าอยากเป็นทีมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ ต้องทำให้ผู้คนศรัทธาให้ได้”

“มีคนถามเหมือนกันว่า ตะกร้อมันไม่เป็นลีกอาชีพจริงๆหรอก แล้วจะยังทำสโมสรต่อไปทำไม พี่ทำเพราะพี่ยังไม่บรรลุเป้าหมายในการเป็นสโมสรตะกร้ออาชีพต้นแบบ สิ่งที่เราสร้างมา ยังไม่ได้ 20 เปอร์เซนต์ จากที่ตั้งใจไว้เลย ที่น้องเห็นอันนั้นคือสนามฝึกซ้อม พี่เตรียมที่ไว้ 13 ไร่ สำหรับทำสนามแข่ง และสปอร์ตคอมเพล็กซ์”

“เมื่อก่อนคนมักจะพูดกันว่า ถ้าจะสร้างกีฬาให้ได้รับความนิยม ต้องใส่ Sport Entertainment เข้าไป แต่พี่เชื่อว่าในอนาคตแค่ Sport Entertainment อาจจะน้อยไปแล้ว”

“พี่เลยมีความคิดว่า พี่อยากสร้างที่นี่ ให้เป็นสถานที่ ที่คนสามารถพักผ่อนได้ มาออกกำลังกายได้ ไม่ใช่มาดูตะกร้อแข่ง จบแล้วแยกย้ายกลับบ้าน ไม่มีกิจกรรมต่อเนื่อง เพราะตะกร้อมันไม่ได้มีแข่งทุกวัน พื้นที่ที่มีอยู่ ควรถูกนำมาใช้ประโยชน์ อย่างตอนนี้ คอร์ตตะกร้อในสนามฝึกซ้อมเรา ไม่ได้เปิดให้เล่นฟรีนะครับ มีค่าเช่า 6 ชั่วโมง 1,500 บาท”

“เวลาพี่บรรลุเป้าหมายอะไร พี่ก็มักจะตั้งเป้าหมายต่อไป ตอนแรกพี่ตั้งเป้าไว้ว่าภายในปีนี้อยากมี นักตะกร้อต่างชาติมาฝึกที่นี่อย่างน้อย 1 คน ก็สำเร็จเกินเป้า เพราะได้ ทีมชาติไต้หวัน, ทีมชาติเวียดนาม และนักตะกร้อหญิงจากญี่ปุ่น ที่แบ็กแพ็คมาฝึกตะกร้อที่สโมสรเรา พี่อยากทำที่พัก อยากขายอาหาร ขายอุปกรณ์ เสื้อผ้า พี่ก็ทำได้แล้ว ฉะนั้นคนเราต้องกล้าที่จะวางเป้าหมายใหม่ที่สูงกว่าเดิม”

ไม่มีใครรู้ว่าวันข้างหน้า อนาคตของวงการตะกร้ออาชีพบ้านเราจะเดินต่อไปในทิศทางใด? และมีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่ สโมสรตะกร้อราชบุรี จะหวนกลับมาสู่สังเวียนไทยแลนด์ ลีก อีกครั้ง ไม่มีใครรู้ได้ว่า พวกเขาจะเดินต่อไปในถนนเส้นใด

แต่อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่พวกเขาลงมือสร้าง ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า แม้จะเป็นเพียงทีมท้องถิ่น ที่ไม่มีแบ็กอัพทุนหนา แต่หากตั้งใจจริง และลงมือทำ อย่างเป็นแบบแผน เป็นระบบ ก็สามารถอยู่รอด อย่างมีอนาคตได้

“พี่อยากให้สโมสรแห่งนี้สามารถรันระบบไปได้ด้วยตัวของมันเอง พี่ไม่รู้หรอกว่าวันไหนพี่จะตาย แต่พี่ต้องการให้ระบบที่เราสร้างไว้ และสโมสรแห่งนี้อยู่ต่อได้ เพื่อสร้างโอกาส สร้างอนาคตให้กับคนเล่นตะกร้อ ถ้าพี่ยังมีแรง ยังทำไหว พี่ก็ยังอยากทำต่อไปเรื่อยๆ”

“เพราะพี่ยังอยากเห็นวันที่นักตะกร้อสามารถเล่นกีฬาชนิดนี้เป็นอาชีพได้จริงๆ เหมือนกับนักเทนนิส นักฟุตบอล ที่เล่นกีฬาอย่างเดียว ไม่ต้องทำงานประจำ ไม่ต้องไปรับราชการ แค่เล่นตะกร้ออย่างเดียว ก็สามารถมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวได้”

 19

“แนวคิดพี่อาจจะไม่ถูกใจคนอื่นมากนัก แต่นั่นคือสิ่งที่พี่อยากเห็นมากที่สุดในชีวิต…คือการได้เห็น ตะกร้อเป็นอาชีพที่แท้จริงได้ในสักวันหนึ่ง”

อัลบั้มภาพ 20 ภาพ

อัลบั้มภาพ 20 ภาพ ของ สโมสรตะกร้อราชบุรี : ทีมกีฬาต้นแบบที่สร้างกำไรแม้ไม่ได้อยู่ในลีกอาชีพ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook