"แบงค์ เธียรชัย" : กาแฟแก้วนั้น ที่กรุยทางพา "ศรีสะเกษ" เป็นแชมป์โลก
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/sp/0/ud/163/816617/banghgh.jpg"แบงค์ เธียรชัย" : กาแฟแก้วนั้น ที่กรุยทางพา "ศรีสะเกษ" เป็นแชมป์โลก

    "แบงค์ เธียรชัย" : กาแฟแก้วนั้น ที่กรุยทางพา "ศรีสะเกษ" เป็นแชมป์โลก

    2018-10-09T11:18:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    “ผมตื๊อขอเข้าไปดื่มกาแฟกับประธาน HBO ผมอยากจะลองเสนอดูให้พี่แหลม (ศรีสะเกษ นครหลวงโปรโมชั่น) ไปชิงแชมป์โลกกับโรมัน กอนซาเลซ” นี่ คือ คำบอกเล่าของเด็กหนุ่มวัย 29 ปี แบงค์ - เธียรชัย พิสิฐวุฒินันท์ ก่อนที่เรื่องราวประวัติศาสตร์จะเริ่มต้นขึ้นหลังจากนั้น…

    อันที่จริงเขาเคยสร้างรายได้ให้กับตัวเอง 6 หลักต่อเดือนตั้งแต่เรียนปริญญาตรี, มุ่งหน้าสู่เส้นทางอาชีพที่ตัวเองถนัด และเคยเกือบจะละทิ้งความคิดที่จะใช้ชีวิตในวงการมวยสากลอาชีพเต็มตัว แต่เพราะโชคชะตา และเลือดเนื้อเชื้อไขของ “คนมวย” ทำให้เขากลับมา และร่วมผลักดันให้ แหลม-ศรีสะเกษ นครหลวงโปรโมชั่น หรือวิศักดิ์ศิลป์ วังเอก ก้าวไปเป็นแชมป์ซุเปอร์ฟลายเวทของสภามวยโลก (WBC)  แบบช็อคโลก ด้วยการชนะนักชกที่ดีที่สุดในโลกแบบปอนด์ต่อปอนด์ชาวนิการากัว 2 ครั้ง 2 ครา

    ในฐานะที่เป็นลูกชายของ “เสี่ยฮุย” สุรชาติ พิสิฐวุฒินันท์ เจ้าของค่ายมวยนครหลวงโปรโมชั่น ผู้คร่ำหวอดในวงการกำปั้นไทย ทำให้เขาต้องคลุกคลีกับกลิ่นอายของเวทีมวยมาตั้งแต่เกิดโดยปริยาย แม้วิถีชีวิตของเขาอาจไม่ได้อยู่บนสังเวียน แต่เส้นทางก่อนก้าวขึ้นมารับผิดชอบงานบริหารนครหลวงโปรโมชั่น เขาก็ฝ่าฟันเรื่องราวด้านล่างเวทีไปพร้อมๆกับนักมวยในค่ายมาโดยตลอด

    ถ้าจะเปรียบชีวิตของเขากับเส้นทางของนักชกสักคนแล้ว ก็คงเป็นนักชกที่มีเรื่องราวมากมาย เต็มไปด้วยจุดเปลี่ยน มีช่วงเวลาที่หนักใจ ก่อนมาบรรจบเป็นนักมวยสากลอาชีพได้ในท้ายที่สุด…  


    เด็กน้อยในค่ายมวย
    “ผมเติบโตในค่ายมวย” แบงค์ - เธียรชัย พิสิฐวุฒินันท์ เริ่มเท้าความถึงเรื่องราวชีวิตในวัยเด็กกับ Main Stand พร้อมรอยยิ้ม “เด็กๆ เห็นเขาซ้อมกัน ก็ซ้อมด้วย มันเป็นอะไรที่แบบอยู่ในเลือดในกระดูก อะไรอย่างนี้แหละครับ”

    ท่าทีและน้ำเสียงอ่อนน้อมถ่อมตนของเด็กหนุ่มวัย 29 ปี ดูขัดๆ กับความดุดันของกีฬามวย ที่เขาเติบโตขึ้นมา

    “บ้านผม เรามีพี่-น้อง 4 คน มีพี่ปุ๊กพี่สาวคนโต, มีพี่ป๊อบ (โชคชัย), พี่บิ๊ก (ฐิติพงศ์) และผม…จริงๆ ผมก็ไม่ได้ชอบมวยอย่างเดียวหรอก ก็ชอบและดูกีฬาอื่นๆ ด้วย ฟุตบอล, บาสเกตบอล, แบดมินตัน ผมเคยเป็นนักแบดฯ รุ่นเยาวชน ด้วยนะ รุ่นๆ เดียวกับอาร์ท (บดินทร์ อิสสระ) ซ้อมด้วยกัน แต่เขาเก่ง ผมไม่เก่ง (ฮา)” แบงค์ กล่าวติดขบขัน แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความถ่อมตัวอีกครั้ง  

    “กีฬาอื่นน่าจะเป็นเรื่องของความชอบ ส่วนมวยเนี่ยเหมือนมันเป็นส่วนหนึ่งของ วิถีชีวิต”

    ครอบครัว “พิสิฐวุฒินันท์” มีความฝันสูงสุด คือ ให้ลูกชายคนโต ป๊อบ-โชคชัย เป็นนักมวยสากลทีมชาติ แต่ส่วนตัวของแบงค์ ถูกคาดหวังในเรื่อง ที่แตกต่างกันออกไป   

    “ศึกษาตลอดตั้งแต่เด็ก ดูมวยบ่อยมาก ดูหมดทั้งมวยในประเทศ มวยต่างประเทศ ถ้ามวยต่างประเทศคู่ใหญ่ๆ ก็ดูแทบทุกไฟต์เลย ซึ่งเราก็จะมีอารมณ์แบบว่า เอ๊ะ... ทำไมเมืองนอกจัดแล้วมันดูเท่จังอะไรแบบนี้ แล้วก็ไม่ได้ดูแค่ถ่ายทอดสดด้วยนะ คือผมดูแล้วแบบ ดูเทปซ้ำไปซ้ำมาอะไรแบบนี้ เหมือนแบบศึกษาเขา ชอบ จริงๆ ศึกษาหมดเลย การต่อย การจัด ดูหมดทุกอย่างในนั้นเลยครับ การต่อยแบบ สไตล์นี้ต่อยกับสไตล์นั้นเป็นยังไง ตั้งแต่เด็กๆ ยันเรียน ยันทำงาน เวลาว่าง การพักผ่อนคือการนั่งดูมวย เทปมวย เราก็ดูไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ต่อยเอาจริงเอาจังเหมือนพี่ชายผม”  

    “เป้าหมายของพี่ชายคนโตผม พี่ป๊อบเนี่ย พ่อตั้งใจให้เป็นนักมวยเลย เป็นนักมวยรุ่นใกล้ๆกับพี่สมรักษ์ (คำสิงห์) เขาโตขึ้นมาเป็นเพื่อนกันเลย เคยต่อยกันด้วย และก็เป็นเทรนเนอร์ให้กับพี่แหลม (ศรีสะเกษ ศ. รุ่งวิสัย) มาตลอด และก็มีพี่บิ๊กกับผม คือ ก็ซ้อมเล่นๆ สนุกๆ อะไรอย่างนี้ครับ จะให้เน้นไปเรื่องเรียนมากกว่า ขอให้ไปพูดภาษาอังกฤษให้ได้ก็พอแล้วประมาณนี้ (ฮา)”

    banghgh6
    นักชกฝึกหัด
    หากเป็นเด็กที่เติบโตในค่ายมวยโดยมุ่งหวังก้าวไปเป็นนักชกอาชีพ… พวกเขาคงเริ่มซ้อมมวยในค่ายแบบเอาจริงเอาจัง อุทิศทุ่มเทกาย และหัวใจ เพื่อสืบทอดความฝัน แต่กับชีวิตของแบงค์ - เธียรชัย แตกต่างออกไปเล็กน้อย การฝึกหัดของเขาไม่ใช่การฝึกตั้งการ์ดหรือชกลม... แต่คือการช่วยเป็นล่ามให้กับคุณพ่อ เวลาต้องส่งนักชกไปแข่งขันต่างประเทศ หากพรสวรรค์ของนักมวย คือ การมีหมัดที่หนักหน่วงติดตัวเป็นธรรมชาติ พรสวรรค์ของแบงค์ คงเป็นความรู้ด้านภาษาและการบริหารจัดการ

    “พ่อพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยเก่ง ก็เลยให้ไปแปล เอาง่ายๆ ตรงๆ เลย” แบงค์ เล่าแบบยิ้มๆ ถึงที่มาที่ต้องเริ่มช่วยงานคุณพ่อ ด้านการบริหารค่ายมวย  

    ช่วงวัยระหว่างประถมถึงมัธยมศึกษา ที่ค่ายมวยของครอบครัว “พิสิฐวุฒินันท์” มีแชมป์โลกอยู่คนหนึ่ง - วีระพล นครหลวงโปรโมชั่น อดีตแชมป์แบนตั้มเวท สภามวยโลก (WBC) - เขาบุกไปน็อคโจอิชิโร่ ทัตซึโยชิ กำปั้นชาวญี่ปุ่นถึงถิ่น ทำให้ต้องไปขึ้นสังเวียนที่ต่างประเทศ เพื่อป้องกันตำแหน่งแชมป์บ่อยครั้ง ซึ่งเมื่อแบงค์ เริ่มโตพอจะช่วยเหลืองานที่บ้านได้ เขาจึงกลายเป็นผู้ประสานงานให้กับคุณพ่อไปแบบอัตโนมัติ

    “คือตอนนั้นพี่วีระพล (วีระพล นครหลวงโปรโมชั่น) ไปต่อยญี่ปุ่น ไปต่อยฝรั่งเศสบ่อย เลยเป็นช่วงที่ต้องดีลกับต่างชาติเยอะ ทีนี้ก็เลยให้ผมกับพี่ชายอีกคนหนึ่งชื่อพี่บิ๊ก ก็สลับกันช่วยกันแปล กับโปรโมเตอร์ต่างประเทศ ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส และดีลกับสภามวยโลก (WBC) ดีลกับต่างชาติทั้งหมดรวมถึง นักข่าวต่างชาติตั้งแต่มัธยมฯ” แบงค์ กล่าว… แต่แน่นอนว่าการมีประสบการณ์ช่วยเหลือประสานงานจัดมวยมาตั้งแต่วัยรุ่น ทำให้เขามีคำถามในหัวมากมายตามประสาเด็กหนุ่ม คำถามอันวุ่นวายเหล่านั้นก่อตัวมากขึ้นและทำให้เขา อยากเดินไปตามเส้นทางของตัวเองก่อนเสียมากกว่า  

    “...พอเริ่มๆ โตมาก็ตั้งคำถามเกี่ยวกับการจัดมวยในไทยเยอะขึ้น สงสัยว่า ทำไมเมืองนอกจัดได้แบบนี้ ทำไมเมืองไทยจัดไม่ได้ แล้วพอเริ่มเรียนเศรษฐศาสตร์ (คณะเศรษฐศาสตร์ EBA จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ก็พยายามเข้าใจเยอะๆ ว่าแบบโครงสร้างการบริหารจัดการของแต่ละประเทศ วงการมวยของแต่ละประเทศมันต่างกันอย่างไร เมืองไทยมีโครงสร้างเป็นยังไง อังกฤษ เป็นยังไง ญี่ปุ่นเป็นยังไง อเมริกาเป็นยังไง แต่พอตั้งคำถามเยอะๆ ก็คิดว่าความยากมันอยู่ที่ระดับโครงสร้าง ก็ไม่รู้เราจะไปทำอะไรได้ ผมก็ตัดสินใจว่า ‘อย่าเพิ่งไปทำเลยวะมวย (ฮา) ทำเป็นงานอดิเรก ช่วยที่บ้านไปก่อนละกัน”

    “ผมทำงานตั้งแต่ตอนเรียนปี 4 แล้ว เป็นบริษัทที่ปรึกษาชื่อ แม็คเคนซี่ แอนด์ คอมพานี (บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลก) เริ่มแรกที่ผมเข้าไปได้ เพราะเขามีโปรเจคท์ที่ต้องการหาคนไทยมาช่วยเป็นล่าม เราก็ไปช่วยเป็นล่ามแปลเอกสาร ซึ่งพอโปรเจคท์จบแล้ว เขาก็อยากได้เด็กไทยเข้าไปช่วย เราก็ไม่น่าจะได้เข้าไปทำหรอก เพราะบริษัทที่ปรึกษาข้ามชาติสมัยนั้นแทบไม่รับเด็กจบที่ไทย ส่วนใหญ่จะมีแต่คนที่จบมหา’ลัยระดับโลก แล้วตอนนั้นผมยังเรียนไม่จบด้วย แต่ตอนนั้นเราอยากเข้ามาก มันท้าทายดี ตัดสินใจขอทำงานกับทีมที่ปรึกษาเต็มเวลาเลย เริ่มงาน 7 โมงเช้า ลากยาวไปจนถึงหนึ่งทุ่ม ผมโดดเรียนหมดเลย ไปสอบอย่างเดียว แบ่งเวลายังไงเหรอ? ก็ตอนนั้น ทำงานเสร็จกลับมาก็อ่านหนังสือ 2 ทุ่มถึง ตี 3 นอน และก็ตื่นมาทำงาน วนไปอย่างนี้ตอนปี 4”

    “เรียนจบก็โชคดีได้ทำฟูลไทม์เลย ได้เป็นที่ปรีกษากลยุทธ์ให้บริษัทระดับโลกในหลาย industry (อุตสาหกรรม) ไปๆมาๆหลายประเทศ ผมเคยคุยกับพาร์ทเนอร์ที่บริษัทว่า ผมอยากลองทำงานให้หลายๆ industry จะได้รู้เขาคิดกันยังไง เผื่อวันนึงมีโอกาสกลับไปทำมวยเต็มตัวก็หวังว่าจะได้ลองเอาแนวคิดใหม่ๆหลายๆแบบไปใช้ดูบ้าง”

    นักชกฝึกหัดคนนี้ดูเหมือนมีพรสวรรค์ด้านอื่นมากกว่าการมุ่งหน้าสู่เส้นทางวงการหมัดมวย และเขา…ก็ พร้อมออกไปเผชิญโลกกว้างในเส้นทางเดินอื่น

    banghgh7
    มวยสมัครเล่น
    “มันจะมีช่วงที่ผมทำแม็คเคนซี่ และก็มีช่วงทำงานมวยกับคุณพ่อ ตอนทำ Consult ก็ใช้วันหยุดของบริษัทซะส่วนใหญ่มาช่วยจัดมวยไฟต์ใหญ่ๆ” แบงค์ เล่าถึงช่วงเวลาที่ต้องบริหารมวยควบคู่ไปกับงานประจำ..ปี 2015 แบงค์ ไปต่อปริญญาโท MBA ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ ที่แสตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโปรแกรม MBA อันดับต้นๆของโลกและถือว่าเข้ายากที่สุดในโลก เป็นมหาวิทยาลัยที่ ศิษย์เก่าส่วนใหญ่จะทำงานต่อในวงการธุรกิจ เช่นที่ Silicon Valley ศูนย์กลางธุรกิจอินเตอร์เน็ตของโลก หรือที่ Wall Street ศูนย์กลางธุรกิจการเงินของโลก มันฟังดูว่าชีวิตเขาจะได้ห่างไกล จากวงการมวยใช่ไหม? ดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้นเลย เขายังประสานกับทั้งสภามวยโลก (WBC) และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขันข้ามทวีป และดูเหมือนจะหนักกว่าเดิมด้วยซ้ำ

    “ตอนนั้นกลางวันเรียน และตกกลางคืนทำงานมวย ติดต่อประสานงาน ส่งอีเมล์ โทรศัพท์พูดคุย” แบงค์ พูดถึงสิ่งที่เขาละทิ้งไม่ได้ แม้ใจยังตั้งคำถามว่าตัวเองควรจะเดินทางมาสายนี้แบบเต็มตัวหรือไม่  

    เหมือนโชคชะตาลิขิต...ในคลาสเรียนด้านการบริหารจัดการกีฬา (Sport Management) ปีเตอร์ เนลสัน (Peter Nelson) ประธาน HBO Sports ผู้ถือลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดมวยโลกได้เข้ามาเป็นวิทยากรบรรยาย เขารู้ดีว่านี่คือโอกาสที่ดีที่สุดในชีวิต ที่จะขอให้นักชกในบ้านเขาได้ขึ้นชกกับนักมวยที่แกร่งที่สุดในโลกแบบปอนด์ต่อปอนด์ โรมัน กอนซาเลซ แชมป์โลกรุ่นซุเปอร์ฟลายเวทชาวนิการากัว

    “ผมรีบบอกอาจารย์ผมว่าช่วยขอร้องให้ผมได้เข้าไปดื่มกาแฟกับปีเตอร์ เนลสัน หน่อยได้ไหม บ้านผมก็ทำมวยอยู่เหมือนกัน” แบงค์ เล่าถึงช่วงเวลาสำคัญ… ใช่ นักชกรุ่นเดียวกับโรมัน กอนซาเลซ ที่บ้านเขา คือ แหลม - ศรีสะเกษ นครหลวงโปรโมชั่น ที่ก่อนหน้านั้นเสียแชมป์แบบน่าเจ็บปวดใจให้กับคาร์ลอส คูเดราส เมื่อปี 2012

    “ผมค่อนข้างมั่นใจว่าเขา (ปีเตอร์ เนลสัน) จะชอบสไตล์การชกของพี่แหลม” แบงค์ กล่าวถึงความรู้สึกของตัวเอง และนั่นยิ่งทำให้เขาตามตื๊อให้อาจารย์ช่วยนัดปีเตอร์ เนลสัน จนท้ายที่สุดทั้งคู่ได้นั่งกินกาแฟกันในมหาวิทยาลัย…แบงค์ ตัดคลิปวิดีโอของศรีสะเกษมาให้ปีเตอร์

    “เขาบอกว่า เขาเคยได้ยินชื่อศรีสะเกษ แต่ไม่เคยดูชก ผมก็พูดโน้มน้าวเขาไปว่า หากทั้งคู่ได้ต่อยกัน มันจะต้องเป็นคู่ชก ที่มันสุดๆ แน่”  

    แต่มันไม่เกิดขึ้นง่ายๆ แบบนั้น ยอดนักชกเบอร์ 1 ของโลกแบบปอนด์ต่อปอนด์เจ้าของเข็มขัด 4 รุ่น ทำไมจะต้องขึ้นเวทีกับนักชกจากไทย?

    “การจะทำให้นักมวยระดับนี้มาชกกันมันต้องเกิดจากความร่วมมือของหลายปาร์ตี้ ผมชอบพูดว่า เหมือนเอาดาวมาเรียงกัน ก่อนอื่น คือ นักมวยทั้งสองฝั่ง ต้องยินยอม 2 คือ WBC ต้องอนุมัติ 3 คือโปรโมเตอร์หรือผู้จัดการโรมันต้องยอม 4 คือ HBO สถานีต้องยอม ทุกคนจะต้องเห็นตรงกันทั้งหมดว่าจะมีการจัดการต่อย ซึ่งจริงๆ ตอนแรกที่ผมมองว่ายากที่สุด น่าจะเป็น HBO สถานีโทรทัศน์ที่สหรัฐอเมริกา เพราะการที่จัดแต่ละไฟต์ ต้นทุนมันสูงมาก เขาต้องมั่นใจจริงๆ ว่ามันคุ้มค่าสำหรับเขา ผมต้องติดต่อประสานงาน ขอความช่วยเหลือจากประธานสุไลมาน (เมาริซิโอ สุไลมาน - ประธานสภามวยโลก WBC) เมื่อทางหนึ่งเปิดทาง ก็ประสานไปยังอีกฝ่าย คือ ทางโรมัน (กอนซาเลซ) และ HBO”

    “ตอนนั้นบินไป เม็กซิโก ซิตี้, ไปไมอามี่, ไปแอลเอ, หรือ ที่ไหนที่ไปแล้วจะมีโอกาสมากขึ้น ก็ไปหมด”

    มันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่แนวคิดของนักธุรกิจหนุ่มรุ่นใหม่มองขาดว่า การจะทำอะไรให้เกิดขึ้นได้ ทุกๆฝ่าย ต้องเห็นพ้องถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับร่วมกัน เขาใช้เวลาติดต่อประสานงานหนึ่งปี จนทำให้ไฟต์ที่แหลม - ศรีสะเกษ รวมถึงตัวเขารอคอยสิ้นสุดลงเมื่อต้นปี 2017

    การขึ้นเวทีในฐานะนักมวยสากลสมัครเล่นของแบงค์ เริ่มขึ้นแล้ว… และมันเป็นเวทีที่ใหญ่เหลือเกิน

    banghgh4
    ไฟต์ที่ 1
    “นิวยอร์กเป็นเมืองแห่งความฝันนะ มีเพลงที่ว่ากันว่าถ้าใครมาถึงที่นี่แล้วทุกอย่างเป็นไปได้ ผมก็เล่าให้พี่แหลมฟังแบบนั้น” แบงค์ พูดแบบมีรอยยิ้มที่มุมปากหน่อยๆ “หนึ่งวันก่อนขึ้นต่อย ก็ไปนั่งรวมกัน แล้วสวดมนต์กัน โอ้ย...ร้องไห้เลย ร้องไห้หมดเลยทุกคน (ฮา) พี่แหลมก็ร้องอะไรอย่างงี้ สวดมนต์ให้แบบ ขอให้วันพรุ่งนี้เป็นวันของเรา”  

    19 มีนาคม ค.ศ. 2017 ณ เมดิสัน สแควร์ การ์เดน มหานครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา แบงค์-เธียรชัย เดินย่างก้าวเข้าสังเวียนไปพร้อมๆกับศรีสะเกษ นครหลวงโปรโมชั่น… เขาไม่จำเป็นต้องขึ้นเวทีไปแลกหมัดกับคู่ต่อสู้เหมือนกับแหลม แต่มัน คือ ไฟต์ที่ระทึกใจ ตื่นเต้นที่สุดในชีวิต เมื่อพลันได้ยืนข้างเวทีเสียงโห่ของแฟนมวยชาวละตินก็หายไป…

    “ตอนนั้นไปเหมือนภาพตัด มันเหมือน อยู่ในหนัง อยู่ในฝันหรืออะไรสักอย่าง คือมันแบบเหมือนไม่จริงเลยอ่ะ แบบ เฮ้ย อยู่ในหนังอยู่เหรอ ทุกอย่างที่เคยเห็นในทีวีตั้งแต่เด็กมันอยู่ตรงหน้า เดินออกไปแล้ว โอโห้ เมดิสัน...นี่มัน สุดยอดอะไรขนาดนี้ มีคนดูสองหมื่นได้มั้ง แล้วเวทีมันแบบ ยิ่งใหญ่ จริงๆ” แบงค์ เฉลยให้เราฟังว่าเสียงโห่หายไปไหน...มันหายไปตอนที่เขารู้สึกเหมือนหลุดไปในภวังค์นั่นเอง

    “เออไป!  Enjoy the moment, This is it. ผมพูดกับตัวเองแบบนั้น”

    ไฟต์สุดระทึกเริ่มต้นด้วยการที่ศรีสะเกษ ได้เปรียบ แต่ช่วงยกแรกๆ จาก 12 ยก แต่พอผ่านมาครึ่งทาง สถานการณ์ชักเปลี่ยน  

    “พอยกจบ 6 ก็ขึ้นไปให้น้ำกัน พี่ป๊อบพี่ชายผม ซึ่งเป็นเทรนเนอร์ก็ค่อยๆ พูดค่อยๆ บิ๊วด์ (Build) ว่าแบบ คนไทยทั้งประเทศดูอยู่นะแหลม อีกนิดเดียวนะแหลมคนไทยทั้งประเทศดูกันอยู่ แบบต้องสู้ ต้องสู้ พอยก 7 เขาเลยออกมาสู้เลย… พี่แหลมเขาเป็นคนที่ชอบวาดภาพในหัว ผมรู้ทีหลังว่าตอนนั้น เขาวาดภาพในหัวว่าถ้าชนะ พอกลับมาที่สุวรรณภูมิ ต้องมีคนมารอต้อนรับเขาโคตรเยอะแน่ๆ”

    แหลมบุกลุยบี้กับโรมันแบบสุดสนุกท่ามกลางสปอตไลท์ต่อไป ขณะที่หัวใจของคนข้างล่างเวทีก็เต้นรัว ตอนก่อนขึ้นยก 9 หัวของนักชกทั้งสองชนกัน โรมันศีรษะแตก...แบงค์, พี่ชาย และแหลมใจหายวาบ พวกเขากลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนตอนเสียแชมป์ให้คูเอดราส

    เหตุการณ์เมื่อปี 2012 นั้นกรรมการยุติการชกระหว่างยกที่ 8 หลังจากที่ศีรษะของแหลมไปกระแทกถูกยอดมวยเม็กซิกัน จนเลือดแตก พร้อมประกาศให้คูเอดราสเป็นฝ่ายชนะกระชากเข็มขัดแชมป์ออกจากเอวศรีสะเกษ ทว่าครั้งนี้ ไม่เป็นแบบนั้นกรรมการให้ชกต่อ ทั้งคู่ซัดแลกหมัดกันนัว จนครบยก 12

    “ตอนนั้นดีใจที่สุด แต่ว่ามันดีใจตั้งแต่ หมดยก 12 แล้ว เพราะผมคิดว่าไม่ว่าแพ้ หรือชนะ เราก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ต่อยกับเบอร์ 1 แบบปอนด์ต่อปอนด์ได้ขนาดนี้ ถ้าแพ้ก็ไม่เป็นไร  มันสร้างประวัติศาสตร์ไปแล้วแหละ ผมมั่นใจเลยว่าถ้าแพ้ ผมคุยให้กลับมาต่อยอีกรอบได้ ด้วยความที่มันสนุกขนาดนี้ สูสีขนาดนี้ แต่พอประกาศชนะก็ยิ่งโคตรมหาดีใจ ร้องไห้เละเทะกันทุกคน มันเกินความฝัน ไม่เคยคิดว่า เฮ้ย...เราจะพานักมวยมาชนะที่เมดิสัน สแควร์แบบนี้ได้”

    “พอลงจากเวทีแล้วต้องไปโรงพยาบาลตรวจร่ายกายกันทั้งคู่เลย ระหว่างรอผมก็เช็คข่าว ดูโทรศัพท์ แบบโห นายกตู่ (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) มาพูดถึงด้วยนะ ก็เล่าให้พี่แหลมฟังเรื่อยๆตอนรอตรวจร่างกาย จนสุดท้ายได้ออกจากโรงพยาบาลมา 7 โมงเช้า เจอกับผู้จัดการโรมัน เขาก็มาพูดว่า...”

    “ขอบคุณสำหรับไฟต์ที่ยอดเยี่ยมนี้จริงๆ”

    banghgh3
    ไฟต์ที่ 2
    การต่อสู้ที่ข้างเวทีไปพร้อมๆ กับ ศรีสะเกษ ศ.รุ่งวิสัย ที่เมดิสัน สแควร์ ทำให้อะดินารีนของเขาหลั่งไหล ความรู้สึกที่เริ่มอยากทำมวยเต็มตัวกลับมาอีกครั้ง   

    แบงค์ อาจเริ่มรู้ลึกๆ แล้วว่าโชคชะตากำหนดให้เขาต้องทำมวยจริงจัง… ไฟต์ที่ 2 ที่เขาต้องพาแหลม-ศรีสะเกษ ขึ้นชกที่สหรัฐ เกิดขึ้นหลังไฟต์แรกอย่างรวดเร็ว มันเป็นไฟต์บังคับ ที่ทั้งโรมัน และ HBO อยากให้เกิดขึ้นโดยเร็ว พร้อมจับคู่นี้เป็นคู่เอกในสตั๊บ ฮับ (Stubhub Center) ที่นครลอสแองเจลีส สหรัฐอเมริกา

    “มันน่าจะเป็นครั้งแรก และครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ที่นักชกไทยไปเป็นคู่เอกป้องกันแชมป์โลกในอีเว้นต์มวยที่สหรัฐฯ นะ ถ้าผมจำไม่ผิด” แบงค์ พูดด้วยความภาคภูมิใจ

    “ไฟต์นั้นผมมั่นใจว่าชนะ พี่แหลมก็มั่นใจ และทุกคนก็มั่นใจ เพราะซ้อมมาดีมาก ทุกอย่างมันดูดี แล้วดูโรมัน กลัวด้วย ปกติผมมีหน้าที่เป็นคนไปดูฝ่ายตรงข้าม พันมือเสมอ ผมเป็นคนที่ไปอยู่ในห้องกับโรมัน ซึ่งไฟต์แรกเขาชิลมาก อะไรก็ได้ ให้จับผ้าพันมือ ให้จับนวม จนเค้าใส่นวม”  

    “ไฟต์สองเขาเครียดมากอะไรที่ไม่ยอมได้ เขาก็ไม่ยอมเลย นวมก็ไม่ยอมให้จับ โรมัน ดูเครียดแล้วตัวสั่นด้วย แบบสั่นมากๆ ผมก็เลยมั่นใจเลย เขาไม่นิ่งอ่ะ เกร็งไปหมด พอพันเสร็จแล้วเขาก็จะรีบไล่ให้ออกมา”

    “ผมรีบเดินกลับไปบอกพี่แหลม โห พี่ สั่นเลยว่ะพี่ แม่งสั่นเลย  (หัวเราะ) พี่แหลมก็นิ่งมาก ไฟต์นั้น นิ่งจนผมกังวลนิดๆ นะ เฮ้ย นี่นิ่งหรือซึมวะ แต่นิ่งแบบสบายๆ โฟกัสสุดๆ นิ่งที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา”

    ปัง! หมัดแหลมอัดเข้ากรามของโรมัน กอนซาเลซ จนกองพื้น กรรมการยุติการชก ในยกที่ 4 ทั้งฮอลล์เงียบสงัด มีเพียงเสียงเฮของคนไทย…

    “ผมเดินไปเจอประธานของ HBO ตอนมุ่งหน้าไปห้องแถลงข่าวหลังชก ผมพูดกับเขาว่าเมื่อไม่ถึงปีก่อน ผมยังไปขอคุณกินกาแฟอยู่เลย เขาตอบกลับมาว่า…We’ve come a long way, Bank (เราเดินมากันไกลจริงๆ แบงค์)”   

    banghgh5
    เทิร์นโปร
    พี่แหลม นักชกประจำค่ายกลายเป็นแชมป์โลกผู้ยิ่งใหญ่ งานที่แบงค์ ต้องรับมือประเดประดังเข้ามามากขึ้น มันถึงเวลาแล้วที่เขาต้องเลือกว่าจะมุ่งหน้าไปยังสายงานอาชีพที่ตัวเองถนัด และสร้างรายได้มหาศาลให้กับตัวเอง หรือจะกลับมาปลุกปั้นนักมวยในค่ายนครหลวงโปรโมชั่น ให้ผงาดไปให้สุด… มัน คือ ทางแยกระหว่างเป้าหมายส่วนตัว กับหน้าที่ในฐานะลูกชายค่ายมวย…

    “คือ ตอนนั้นถ้าผมจะไปด้านสายงานผม ผมก็อาจจะต้องตัดขาดจากมวย อย่างน้อยก็หลายปี จะขอทำงานอยู่อเมริกาเลย แต่ถ้าเลือกมวย ก็มาเต็มตัวเลย” แบงค์ พูดต่อ… “แต่เอาเข้าจริงระหว่างเรียน ผมก็แทบจะทำเต็มตัว ใช้เวลากับมวยมากกว่าเรียนด้วยซ้ำ (หัวเราะ)”

    “ใจจริง คือ เรื่องของการทำมวย ผมรู้สึกว่าเรามีหน้าที่ที่ต้องดูแลพวกเขาอยู่แล้ว ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง นักมวยในค่ายเนี่ย เขาเอาชีวิตมาฝากไว้กับพ่อผมกับครอบครัวผม ทีนี้ถ้าผมทำอะไรได้เนี่ย ผมต้องทำให้ดีที่สุด ไม่ว่าผมจะมีอาชีพไหนก็แล้วแต่”  

    อย่างไรก็ตามท้ายที่สุด แบงค์ เลือกมวยเต็มตัว…

    “ยากครับ ตัดสินใจไม่ง่าย” แบงค์ยอมรับตรงไปตรงมา “แต่มันก็มีเหตุผลของมัน” เขาพูดต่อให้สงสัย

    “คือจริงๆ คือ ผมรู้สึกเป็นหน้าที่ของผมส่วนหนึ่ง... วันที่พี่แหลมชนะโรมันกลับเมืองไทยมา ตอนนั้นอ่ะ ผมยังมีสับสน แต่ว่าได้เห็นแฟนมวยดีใจมาก ทุกคนในประเทศโคตรดีใจเลย สื่อให้ความสำคัญและทุกคนภูมิใจมากกับชัยชนะครั้งนี้ ทำให้ผมรู้สึกนี่มันเป็นสิ่งที่ผมควรต้องทำนะ มัน คือ หน้าที่เลยล่ะ มัน คือ ความรับผิดชอบ เฮ้ย เราไม่ได้ทำไปงั้นๆ มันเป็นหน้าที่ไปแล้วนะว่าเราสร้างสิ่งๆ นี้ขึ้นมาด้วยกันกับทีม แล้วพี่แหลมเองก็มีความหวังอยากสร้างความสุขให้คนไทย ซึ่งผมรู้ว่า มันไปอีกได้เยอะ แล้วทำไมจะไม่กลับมาทำ มันคือความฝันของทุกๆคน รวมถึงความฝันของตัวผมเอง เรามาไกลแล้ว ต้องช่วยกันไปให้ถึงที่สุด”

    “อีกแง่หนึ่งก็เป็นแพชชั่น (Passion) ของผมด้วยแหละ… ผมเคยคิดว่าขอไปทำงานในแบบที่เราเคยตั้งเป้าหมายไว้ อยากอยู่ Silicon Valley อยากอยู่ Wall Street ความฝันตอนแรกจริงๆเลยคือ ถ้าโชคดีทำงานประสบความสำเร็จมากๆ ก็อยากจะเอาเงินมาพัฒนาวงการมวยตอนแก่ เหมือนที่เศรษฐีเมืองนอกเขาเอาเงินไปสร้างทีมบาสทีมบอล (ฮา) แต่ตอนนี้คิดว่าถ้ามีแรงเยอะก็ลงแรงไปก่อนละกัน”

    “แต่ไม่ว่าจะเลือกเส้นทางไหน เป้าหมายสุดท้ายของชีวิตผมมันอยู่ที่มวยอยู่แล้ว ความฝันของชีวิตผมคือการช่วยพัฒนาวงการมวย คำถามคือ เมื่อไหร่ ยังไง เท่านั้นเอง”  

    ช่วงชีวิตนับตั้งแต่เป็นวัยรุ่น แบงค์ - เธียรชัย 2 จิต 2 ใจเสมอว่าจะเทิร์นโปรสู่เส้นทางของวงการหมัดๆ มวยๆ อย่างเต็มตัว ดีหรือไม่… แต่ ณ จุดนี้เขาได้ตัดสินใจเด็ดขาดแล้ว

    banghgh8
    มุ่งหน้าสู่แชมป์
    ปี ‘60 แบงค์ จบการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด และต้นปี ‘61 เขาร่วมกับพ่อและทีมพาศรีสะเกษ สร้างประวัติศาสตร์ชนะฮวน ฟรานซิสโก เอสตราดา ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 2 พร้อมคว้าเข็มขัดว่าง “เดอะ ริง” รุ่นซุเปอร์ฟลายเวท 115 ปอนด์มาคาดเอวเพิ่มอีกเส้น

    “ผมอยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างประวัติศาสตร์ให้ไปได้ไกลที่สุดครับ สร้างความยิ่งใหญ่ให้ตัวพี่แหลม ให้วงการมวยของไทย” นี่ คือ ความในใจจากปากของแบงค์… แต่นี่เป็นเพียงความฝันส่วนหนึ่ง ของเขา เพราะสิ่งที่เขาวาดไว้ยิ่งใหญ่กว่านั้น

    “ก่อนอื่นผมมองว่า...ผมเห็นโอกาสว่ากีฬาในไทยหรือว่าในเอเชีย มันโตได้อีกเยอะมากนะ และมันต้องโต ถ้าดูจากพัฒนาการของทุกประเทศทั่วโลกแล้วเนี่ย เมื่อประเทศ ประเทศหนึ่งมันเจริญมาได้ถึงระดับหนึ่งแล้วเนี่ย วงการกีฬามันจะโตได้หลังจากที่ทุกอย่างเพียบพร้อม” เด็กหนุ่มวัย 29 ปีพูดถึงมุมมองของเขาจากภาพกว้าง

    ความตั้งใจจริงของ แบงค์ ลูกชายคนเล็กของ เสี่ยฮุย แห่งนครหลวงโปรโมชั่น คือ ต้องการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของวงการมวยสากลอาชีพไทย เขามองว่าศิลปะของการผสมผสานศาสตร์ทางธุรกิจกับกีฬา จะช่วยให้วงการกำปั้นไทยกลับมาคึกคักและรุ่งเรือง

    “ผมมีอะไรที่คิดไว้ในหัวเยอะมากเลย” แบงค์ พูดพร้อมกับหัวเราะตัวเอง

    “อย่างที่ผมเคยบอกว่าการที่จะทำอะไรให้เกิดขึ้นได้ มันต้องอาศัยการตกลงกันของหลายๆ ฝ่าย ที่ผ่านมา หลายคนจะมองว่าวงการมวย คือ วงการมาเฟีย ผมซึ่งอยู่กับคนนอกวงการเยอะก็จะได้ยินบ่อย พอคนมองแบบนี้เยอะ ก็ไม่กล้ามายุ่งกับวงการมวย เพราะเขารู้สึกว่าแบบกลัวแม่งมาเฟียเปล่าวะอะไรแบบนี้ ไม่รู้ว่าแบบเข้าไปแล้วจะเจออะไรบ้าง แต่ความจริงแล้ว มันเป็นเหมือนกับ Black Box (กล่องดำ) ที่พวกเขาไม่เคยมีโอกาสได้เห็นข้างใน พอเห็นเป็นกล่องดำก็อาจจะกังวัล ซึ่งอันที่จริงมันไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเขาคิด แต่มันขาดคนที่พยายามจะทำให้ทุกๆ ฝ่ายเห็นประโยชน์ร่วมกันมากกว่า”?

    “สิ่งที่อยากทำตอนนี้คือ อยากไปขอความร่วมมือกับคนภายนอกให้เยอะกว่านี้ เพราะที่จริงแล้ววงการมวยมันไม่ใช่มาเฟียอย่างที่คนอื่นเขาคิด ผมอยู่ตรงนี้มาตั้งแต่เด็ก พอมองแล้ว มันเหมือนกับแต่ละค่ายมวยหรือโปรโมเตอร์เป็น SME ปกตินี่เหละ ไม่ได้มาเฟียอะไรเลยนะครับ แต่เพื่อทำให้มันมีอิมแพ็คขึ้น ก็ต้องร่วมมือกันมากขึ้น ที่ผ่านมา การเชื่อมต่อ การสื่อสารกับธุรกิจภายนอกที่นอกเหนือจากวงการมวยล้วนๆอาจจะยังมีน้อย ทำให้คนอื่นกลัวที่จะมาร่วมงานด้วย ผมอยากลบภาพเหล่านี้ออกไป”?

    การได้ไปสัมผัสบรรยากาศการจัดมวยระดับโลกที่สหรัฐอเมริกา, การได้ศึกษาจากมหาวิทยาลัยระดับโลก และประสบการณ์ที่สั่งสมมาตั้งแต่เด็ก ทำให้แบงค์ คิดว่าเขาต้องทำให้การจัดมวยสากลอาชีพในไทย เกิดความน่าสนใจในรูปแบบสากลมากขึ้น และต้องได้รับการร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้นด้วย

    “ในวงการมวยเอง ผมก็อยากจะทำงานกับหลายๆฝ่ายให้มากขึ้นด้วย อยากทำงานกับทุกๆคนถ้ามีทางเป็นไปได้ ที่ผ่านมาแต่ละค่ายจะทำงานแยกๆกันซะส่วนใหญ่ ผมคิดว่าถ้าทำอะไรร่วมกันได้น่าจะมีอะไรดีๆเกิดขึ้นอีกเยอะ ปีนี้ก็ได้ร่วมมือกับหลายๆ ฝ่ายมากขึ้นผ่านรายการ WP Boxing ที่โชคดีได้โอกาสทำกับพี่ๆเวิร์คพ้อยต์ ก็หวังว่าจะมีโอกาสจะได้ร่วมมือกับค่ายมวยอื่นๆมากขึ้นเรื่อยๆด้วย ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือจะทำอะไรยังไงให้ win-win ได้ผลดีกับทุกๆคน”

    “และ 6 ตุลาคมนี้ เราก็ได้พาร์ทเนอร์กับ One Championship จัดพี่แหลมป้องกันแชมป์โลกที่ Impact Arena ซึ่งจะเป็นรายการมวยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทยแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน”

    ความคิดที่อ่านขาดว่าต้องทำมวยให้เป็นธุรกิจอย่างไรของแบงค์ ก่อให้เกิดไอเดียขึ้นใหม่ ที่อาจพลิกโฉมวงการกำปั้นไทย  

    banghgh2
    “ผมคิดว่าสิ่งสำคัญอีกอย่างนึงคือเรื่องของรากฐาน เรามีพูล (Pool) ของมวยสากลสมัครเล่นเยอะครับ แต่คนอาจจะไม่ค่อยห็นกัน เรามีโรงเรียนกีฬาทั่วประเทศ มี โรงเรียนกีฬาอยู่หลายสิบที่ แต่ละโรงเรียนมีนักมวยอยู่ประมาณ ยี่สิบกว่าคน ถ้าคิดเร็วๆ เท่ากับว่าในแต่ละปีเรามีนักมวยเยาวชนตามจังหวัดต่างๆประมาณ หลายๆร้อย คน แต่กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ถ้าคนไหนไม่ได้ก้าวขึ้นไปติดทีมชาติ พวกเขาก็หายไปเลยนะ ไปทำอย่างอื่นเลย เพราะไม่มีพื้นที่ ไม่มีโอกาสอื่นๆให้เขา ซึ่งผมกลับคิดว่าพวกเขามีเบสิคมวยที่ดีมากๆ และน่านำมาต่อยอดได้ เอามาปั้นกระดูกมวยแข็งๆ พวกนี้จะก้าวเป็นนักมวยอาชีพเก่งๆในอนาคตได้เลย” และ นี่ คือ ที่มาของการจัดการแข่งขัน WP Boxing All Thailand ที่นำนักชกดาวรุ่งจากมวยสากลสมัครเล่นจาก 8 จังหวัดทั่วประเทศ มาห้ำหั่นกันในเวทีมวยอาชีพครั้งแรก...นอกจากจะได้คัดสรรกำปั้นฝีมือดี ยังสร้างความหวังใหม่ให้นักมวยสากลสมัครเล่นตามโรงเรียนทั่วประเทศ แถมเรียกฐานคนดูได้ด้วย

    “ผมมองว่ากีฬามวย มันมีศักยภาพสูงในการที่จะสร้างฐานคนดูขนาดใหญ่ และมันสามารถมีความเป็นท้องถิ่นนิยมสูงด้วย บวกกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมันทำได้ง่าย เมื่อวงการ Media (สื่อ) เปลี่ยน วงการมวยก็ควรต้องเปลี่ยน มันเป็นเรื่องเดียวกัน ก็ต้องพลิกแพลงกันไป”  

    “ผมคิดว่าผมยืนอยู่บนไหล่ของยักษ์ ผู้หลักผู้ใหญ่ได้สร้างความยิ่งใหญ่ให้วงการมวยมานานแล้ว เสี่ยฮุยพ่อผมและพี่ป็อปพี่ชายผมก็ได้สร้างความสำเร็จให้ค่ายมาหลายสิบปี ตอนนี้ก็เทรนพี่แหลมและปั้นนักมวยรุ่นใหม่ๆกันอยู่ ในฐานะคนรุ่นใหม่ผมก็อยากจะพยายามช่วยสานต่อสิ่งๆนี้ให้ดีที่สุดในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ตอนนี้เรามีทีมเล็กๆที่มีคนรุ่นใหม่ อย่าง จณัตว์ ไอซ์ ผสมกับคนที่มีประสบการณ์ในวงการ อย่าง พี่ตุ๊ก และทุกๆคนที่บริษัทและที่ค่าย คิดว่าน่าจะเป็นส่วนผสมที่ดีในยุคของการเปลี่ยนแปลง”

    ถ้าเปรียบชีวิตของนักมวยคนหนึ่งแล้ว นาทีนี้แบงค์ - เธียรชัย พิสิฐวุฒินันท์ หนุ่มไฟแรงวัย 29 ปีคงเป็นนักชก ที่กำลังไล่ล่าความสำเร็จ และหวังทำในสิ่งที่ไม่มีใครเคยทำ… เขามีฝันที่ “ใหญ่” และความคิดที่ “กว้างไกล” แม้ที่ผ่านมาเขาอาจผ่านเส้นทางที่แตกต่าง...แต่ไม่ว่าจะด้วยโชคชะตา หรืออะไรก็ตาม… มันพาเขากลับมาอยู่ในจุดนี้แล้ว

    “บางทีมันอาจเป็นเพราะมวยมันอยู่ใน DNA ของผมก็ได้”  แบงค์ กล่าวทิ้งท้าย