สะท้อนความคิดและสังคมญี่ปุ่นผ่านเรื่องราวชีวิต "นาโอมิ โอซากา"

สะท้อนความคิดและสังคมญี่ปุ่นผ่านเรื่องราวชีวิต "นาโอมิ โอซากา"

สะท้อนความคิดและสังคมญี่ปุ่นผ่านเรื่องราวชีวิต "นาโอมิ โอซากา"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วินาทีที่ นาโอมิ โอซากา เสิร์ฟบอลเต็มแรงจนทำให้เซเรนา วิลเลียมส์ รับลูกไม่อยู่ ได้ก่อให้เกิดประวัติศาสตร์บทใหม่ขึ้นมา เมื่อเธอได้กลายเป็นนักเทนนิสชาวญี่ปุ่นคนแรกที่สามารถคว้าแชมป์ แกรนด์สแลม ได้สำเร็จ

แม้ว่าเกมจะเต็มไปด้วยความดรามา ไม่ว่าจะเป็นการโต้เถียงกับกรรมการของ เซเรนา หลังถูกตักเตือนว่าโค้ชกำลังสอนเธอ หรือการถูกตัดแต้มหลัง เซเรนา ระเบิดอารมณ์เขวี้ยงไม้แรคเก็ตจนพังในสนาม แต่ต้องยอมรับว่า ความมีสมาธิต่อเกมของ นาโอมิ ได้กลายเป็นกุญแจสำคัญในการกระชากแชมป์มาจากไอดอลในวัยเด็กของเธอได้สำเร็จ

“ฉันอยากขอบคุณทุกคนที่เข้ามาดูแมตช์นี้ มันเป็นความฝันของฉันมาตลอดที่จะได้เล่นกับ เซเรนา ในนัดชิงฯ ยูเอส โอเพน ฉันรู้สึกขอบคุณจริงๆ ที่ได้เล่นกับคุณ”

 

อย่างไรก็ดี กว่าจะมาถึงวันนี้ เธอและครอบครัวก็ต้องฝ่าฟันอคติทางเชื้อชาติมาไม่น้อย

แม่คือ “ความอัปยศ” ของครอบครัว

ย้อนกลับไปสมัยที่ นาโอมิ ยังไม่ได้ลืมตาดูโลก ทามากิ โอซากา แม่ของเธอ ได้พบรักกับ เลโอนาร์ด ฟรองซัวร์ หนุ่มหล่อจากนิวยอร์ค ที่มีเชื้อสายเฮติ ตอนที่ย้ายจาก เนมูโระ เมืองชายฝั่งทะเลไปเรียนต่อที่ซัปโปโร เมืองเอกของฮอกไกโด

dmdw_plu0aajppl

ทั้งคู่ปิดเรื่องการคบกันเป็นความลับไม่ให้ครอบครัวรู้มานานหลายปี แต่ในช่วงที่ทามากิอายุ 20 ต้นๆ พ่อของเธออยากให้เธอไปร่วมพิธี “โอมิไม” ซึ่งเป็นการจับคู่เพื่อหาคู่ครองในอนาคตของคนญี่ปุ่น ทำให้ ทามากิ ต้องเผยความลับว่าเธอมีคนรู้ใจอยู่แล้ว โดยเป็นหนุ่มผิวสีชื่อว่า ฟรองซัวร์

เรื่องดังกล่าวทำให้พ่อเธอโกรธมาก และประณามเธอว่าเป็นความอัปยศของครอบครัว ทำให้เธอตัดสินใจย้ายออกจากบ้านเกิดไปอยู่ที่โอซากา เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ และไม่ได้ติดต่อครอบครัวเป็น 10 ปี  

เรื่องนี้ถือเป็นปมในใจของ ทามากิ มาโดยตลอด โดยเมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ชาวอเมริกันฉลองคำตัดสินของศาลสูงสุดยกเลิกการห้ามแต่งงานข้ามเชื้อชาติใน 16 รัฐของอเมริกา เมื่อปี 1967 รวมไปถึงรัฐฟลอริดา ทามากิ โพสต์ภาพหลายภาพพร้อมข้อความว่า

“เป็น ‘ความอัปยศ’ ของครอบครัว ติดอยู่ในป่าและทะเลทรายมาเป็น 10 ปี ฉันกำลังเอาชีวิตรอดอยู่”

เดินตามรอยสองพี่น้องตระกูลวิลเลียมส์

หลังย้ายมาอยู่คันไซได้ไม่นาน มาริ และ นาโอมิ ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในเมืองที่มีชื่อเหมือนนามสกุลของเธอ

6

และในช่วงค่ำของปี 1999 ชีวิตของพวกเขาก็เปลี่ยนไปตลอดกาล เมื่อฟรองซัวร์ ได้ชมการแข่งขันเฟรนช์ โอเพน นัดชิงชนะเลิศ ที่วีนัส และ เซเรนา วิลเลียมส์ ที่ตอนนั้นอายุเพียง 18 และ 17 ปี จับมือกันคว้าแชมป์ได้สำเร็จ

ฟรองซัวร์ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสองพี่น้องวิลเลียมส์ เมื่อรู้ว่า ริชาร์ด วิลเลียมส์ พ่อของวีนัส และเซเรนา ไม่เคยเล่นเทนนิส แต่สามารถปลุกปั้นลูกจนได้แชมป์

“มันมีพิมพ์เขียวอยู่แล้ว ผมก็แค่ทำตามมัน”

ฟรองซัวร์ ตัดสินใจพาลูกเมียย้ายไปอยู่ที่บ้านของพ่อที่ลองไอส์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ตอนที่นาโอมิอายุเพิ่งจะ 3 ขวบ เนื่องมาจากที่นั่นมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การเล่นเทนนิสมากกว่า

5

เขาได้ฝึกให้ลูกๆของเธอหวดลูกเทนนิสวันละ 100 ครั้ง ก่อนจะเพิ่มเป็น 1,000 ครั้ง แล้วค่อยฝึกเล่นเป็นเซ็ต ซึ่งเป็นการแข่งที่ นาโอมิ ไม่เคยเอาชนะพี่สาวได้เลย

“ฉันจำไม่ได้เลยฉันว่าชอบหวดบอล สิ่งสำคัญที่สุดตอนนั้นคือฉันอยากเอาชนะพี่สาวของฉัน” นาโอมิกล่าวกับ New York Times

“สำหรับเธอ(มาริ) มันอาจจะไม่ใช่การแข่งขัน แต่สำหรับฉัน ทุกวันคือการแข่งขัน”

2

ก่อนที่ในปี 2006 ฟรองซัวร์ จะตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่ฟลอริดา และให้ลูกโฟกัสกับเทนนิสเต็มตัว

ไม่ได้รับการยอมรับถึงรุ่นลูก

การเล่นเทนนิสของ มาริ และ นาโอมิ ถือเป็นความหวังของพ่อแม่ แต่ไม่ใช่สำหรับตาของเธอที่ฮอกไกโด

8

ตอนอายุ 11 ปี นาโอมิ ได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมครอบครัวของแม่ที่ญี่ปุ่น แต่กลายเป็นความทรงจำที่ไม่ดีนักของเธอ เมื่อโดนตาดูถูกเรื่องการเรียนแบบโฮมสคูล และมองว่าเทนนิสเป็นแค่งานอดิเรก เป็นอาชีพไม่ได้

นอกจากการไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัวของแม่แล้ว เธอดูจะสร้างความประหลาดใจให้แก่คนญี่ปุ่นพอสมควร จากสีผิวและทรงผมหยักศกที่ต่างไปจากชาวญี่ปุ่น

“ตอนที่ฉันไปญี่ปุ่น ผู้คนต่างสับสน จากชื่อของฉันพวกเขาคงไม่คิดว่าจะได้เจอเด็กสาวผิวดำ” นาโอมิ ให้สัมภาษณ์กับ US Today เมื่อปี 2016

แต่ปัจจุบัน ท่าทีของพวกเขาก็เปลี่ยนไป หลังนาโอมิ เอาชนะ สมันตา สตูเซอร์ อดีตแชมป์ ยูเอส โอเพน ในรายการแบงค์ ออฟ เวสต์ คลาสสิค 2014 คุณตาของเธอก็เริ่มเปิดใจมากขึ้น และออกมาแสดงความยินดีกับเธอผ่านสื่อญี่ปุ่น

000_k20eo

นอกจากนี้ หลังเธอคว้าแชมป์ อินเดียน เวลส์ ในปีนี้ ตาของเธอก็ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อในท้องถิ่นเกี่ยวกับความเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของคนญี่ปุ่นของนาโอมิว่า “ผมเห็นผู้คนทวิตว่า ‘เธอมีเชื้อญี่ปุ่นจริงๆเหรอ’ ผมจึงคิดว่าผมควรเผยตัวเสียที”

กระแสนาโอมิฟีเวอร์

นอกจากครอบครัวฝั่งแม่ของเธอแล้ว การคว้าแชมป์ ยูเอส โอเพน ยังทำให้เธอได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากสปอนเซอร์และสื่อญี่ปุ่น

000_1922g6

นิชชิน บริษัทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชื่อดัง ได้เซ็นสัญญากับนาโอมิ ในฐานะแบรนด์แอมบาสเดอร์ ทันทีหลังเธอคว้าแชมป์ เช่นเดียวกับ นิสสัน บริษัทรถชื่อดัง ในขณะที่ Wowow ช่องทีวีเตรียมถ่ายทอดสดการแข่งขันของเธอทุกรายการ

เธอได้รับการแสดงความยินดีอย่างล้นหลามจากผู้คนชาวญี่ปุ่น แม้กระทั่ง ชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีที่ออกมาทวีตข้อความว่า “ในช่วงเวลาที่ยากลำบากในตอนนี้ (จากภัยพิบัติ) ขอบคุณสำหรับพลังและแรงบันดาลใจ”

“เราต้องเจอข่าวเศร้าๆเกี่ยวกับไต้ฝุ่นหรือแผ่นดินไหวมากมายในตอนนี้ แต่ผมคิดว่า (ชัยชนะของเธอ) จะเป็นกำลังใจให้กับผู้คนในพื้นที่ประสบภัย” ไอ ซาโตะ กล่าว

000_18y7i1

“เธอเป็นแรงบันดาลใจให้ญี่ปุ่นในช่วงที่ประเทศกำลังเจอกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่ฮอกไกโด และน้ำท่วมทางฝั่งตะวันตก” ชูอิจิ ฟุคุชิมา กล่าวหลังการคว้าแชมป์ของนาโอมิ  

นับตั้งแต่คว้าแชมป์ กระแส “โอซากา ฟีเวอร์” ได้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว เธอได้ขึ้นปกนิตยสาร และหนังสือพิมพ์หลายฉบับในทั่วประเทศ และถูกเชิญไปออกรายการทีวีเพื่อพูดคุยกับเธอในแง่มุมที่มากกว่าในสนาม

000_18y8m4

ความสำเร็จของนาโอมิยังทำให้ อุทสึโบะ เทนนิส เซ็นเตอร์ ศูนย์เทนนิสในเมืองโอซากา ซึ่งเป็นเมืองที่เธอเกิด มีจำนวนผู้เข้าใช้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหลังศึกยูเอส โอเพน

ในขณะที่ โยเน็กซ์ ยี่ห้อของแรคเก็ตที่นาโอมิใช้ ก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จากคำยืนยันของ มาซาฮิโตะ ยามาซากิ ฝ่ายวางแผนของ Windsor นอกจากนี้ยังมีลูกค้าบางคนเลือกซื้อเทปพันแร็คเก็ตและเอ็นสีเดียวกับที่เธอใช้อีกด้วย    

นักกีฬาลูกครึ่งญี่ปุ่น

นอกจากการคว้าแชมป์แล้ว อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เธอได้รับความสนใจคือ การเป็นความหวังใหม่ในการคว้าเหรียญของญี่ปุ่น ในกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียวเป็นเจ้าภาพ

000_18y7bj

อันที่จริง ด้วยความที่ญี่ปุ่นเป็นระบบสังคมกลุ่ม จากการที่พวกเขาไม่ได้มีความต่างทางชาติพันธ์มากนัก ทำให้ ชาวต่างชาติ หรือ ลูกครึ่ง ที่เรียกกันว่า ฮาฟุ (Hafu) มักจะไม่ได้รับการยอมรับในสังคมมากเท่าไร

“ญี่ปุ่นเป็นสังคมกลุ่ม เรื่องกลุ่มจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดมากกว่าปัจเจก หมายความว่าทุกคนควรทำสิ่งต่างๆ พร้อมกับคนอื่นๆ หรือทำตามหน้าที่ของตนในกลุ่ม ถ้าใครไม่ทำตามกลุ่ม ไม่ปฎิบัติให้เหมาะสมกับสถานะในกลุ่ม หรือทำอะไรต่างจากคนอื่นมากๆ ก็จะไม่ได้รับการยอมรับ” กฤตพล วิภาวีกุล นักศึกษาปริญญาเอกด้าน International study มหาวิทยาลัยวาเซดะ กล่าวกับ Main Stand

“ปัญหาการแกล้งกันในเด็กญี่ปุ่นรุนแรงมาก ถึงขนาดไม่อยากไปโรงเรียน หรือสาหัสถึงตายเลยก็มี และสาเหตุของการแกล้งกันส่วนใหญ่ก็มาจากเด็กคนที่ถูกแกล้งมีบางสิ่งที่ต่างจากคนในกลุ่มซึ่งก็คือเพื่อนๆในห้อง”

“ยกตัวอย่างคือแค่แม่ทำเบนโตะ (ข้าวกล่อง) มาหน้าตาผิดปกติจากเบนโตะในนิยามของญี่ปุ่น ยังโดนเพื่อนล้อ แล้วเด็กลูกครึ่งที่มีความต่างอย่างชัดเจนจากรูปลักษณ์จะมีที่ยืนตรงไหนในโรงเรียนญี่ปุ่น”

“เงื่อนไขดังกล่าวจึงไม่เอื้อให้ลูกครึ่งอยู่ร่วมเป็นส่วนเดียวกับสังคมญี่ปุ่นได้เลย เพราะคุณไม่ตรงตามมาตรฐานนิยมของความเป็นญี่ปุ่น” กฤตพล กล่าวสรุป

000_18y793

อย่างไรก็ดี ในช่วงหลังกระแสนักกีฬาลูกครึ่งได้เริ่มเปิดกว้างมากขึ้น เพราะมีนักกีฬาฝีมือดีมากมายที่จะเป็นตัวความหวังในการคว้าเหรียญให้แก่ญี่ปุ่นในศึกโอลิมปิกที่กำลังจะเกิดขึ้นในแดนอาทิตย์อุทัยในอีกไม่ถึงสองปีข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็น อับดุล ฮาคิม ซานี นักวิ่งจากมหาวิทยาลัยบราวน์ ที่มีแม่เป็นชาวญี่ปุ่น พ่อเป็นชาวกานา, รุย ฮาจิมูระ นักบาสสูง 6 ฟุต 8 นิ้ว จากมหาวิทยาลัยกอนซากา ของเบนิน, หรือ เบน แมคลัชแลน นักเทนนิสชายคู่ที่มีพ่อเป็นชาวนิวซีแลนด์

“10-20 ปีที่ผ่านมา เราไม่ค่อยเห็นนักกีฬาลูกครึ่งมากนัก” สึโยชิ โยชิตานิ แห่งสำนักข่าว เคียวโด กล่าว

“แต่ผมคิดว่าญี่ปุ่นกำลังค่อยๆเปลี่ยนอย่างช้าๆ ตอนนี้มันเป็นมากกว่าเรื่องสากล”  

“เจนเนอเรชั่นเก่าๆอาจจะไม่ได้เปลี่ยนหรือความคิดหรือความเคยชิน แต่ผมคิดว่าเจนเนอเรชั่นใหม่จะมีมุมมองที่ต่างออกไป”

ยอมรับจริงหรือ?

อย่างไรก็ดีแม้ว่า โอซากา จะได้รับการชื่นชมจากผู้คนชาวญี่ปุ่น  แต่ยังมีคำถามว่า จริงๆแล้วคนญี่ปุ่นจะยอมรับเธอไหม หากเธอไม่ได้คว้าแชมป์แกรนด์สแลม

000_1957vk

กรณีของเธอคล้ายกับ อาเรียนา มิยาโมโต มิสยูนิเวิร์ส เจแปน ลูกครึ่งอเมริกัน ที่ถูกโจมตีว่าไม่ใช่คนญี่ปุ่น เพียงแค่เพราะเธอมีผิวสีไม่เหมือนกับคนญี่ปุ่นทั่วไป

อาเรียนา เกิดที่เมืองซาเซโบะ จังหวัดนางาซากิ ที่มีฐานทัพอเมริกาตั้งอยู่ เธอเติบโตขึ้นมาในวัฒนธรรมญี่ปุ่นแท้ๆ ใช้ชีวิตเหมือนกับคนญี่ปุ่นทั่วไป และพูดภาษาญี่ปุ่นได้อย่างคล่องแคล่ว

ทว่าตอนที่เธอชนะการประกวดมิสยูนิเวิร์ส เจแปน จนได้เป็นตัวแทนของประเทศไปแข่งมิสยูนิเวิร์สโลก กลับโดนกระแสในอินเตอร์เน็ตโจมตีว่าไม่เหมือนคนญี่ปุ่น หรือทำไมไม่เลือกคนญี่ปุ่นแท้ๆ โดยถึงขั้นมีคอมเมนต์หนึ่งในโซเชียลพูดว่า “ฉันแปลกใจว่าลูกครึ่งเป็นตัวแทนญี่ปุ่นได้อย่างไร”

10

ต่างออกไปจากนาโอมิ ที่สื่อและผู้คนต่างเทใจยอมรับ ประโคมข่าวของเธออย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเธอจะเติบโตบนแผ่นดินอเมริกา และพูดภาษาญี่ปุ่นได้ไม่มากนักก็ตาม

จนเกิดเป็นคำถามว่าหาก อาเรียนา สามารถคว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์ส เธอจะได้รับการยอมรับจากคนญี่ปุ่นมากกว่านี้เหมือนกับที่โอซากาได้รับหรือไม่? หรือกลับกันถ้าหาก นาโอมิ ไม่ได้คว้าแชมป์ เธอจะได้รับการปฏิบัติต่างไปจากนี้หรือเปล่า?

หรือจริงๆแล้ว จะเชิ้อชาติหรือภาษาก็ไม่สำคัญ หากคนนั้นสร้างประโยชน์หรือชื่อเสียงให้กับประเทศ เหมือนกับ มิยาโกะ คาเมอิ แฟนเทนนิสชาวญี่ปุ่นกล่าวกับ วอชิงตันโพสต์ว่า

000_19p0md

“ถ้านาโอมิ ชนะแกรนด์สแลม สิ่งอื่นๆก็ไม่สำคัญ คนญี่ปุ่นทุกคนจะโอบรับเธอ”

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ สะท้อนความคิดและสังคมญี่ปุ่นผ่านเรื่องราวชีวิต "นาโอมิ โอซากา"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook