10 ปี "ชีค มันซูร์" (คอลัมน์สนุกมือ / ธีรพัฒน์ อัครเศรณี)

10 ปี "ชีค มันซูร์" (คอลัมน์สนุกมือ / ธีรพัฒน์ อัครเศรณี)

10 ปี "ชีค มันซูร์" (คอลัมน์สนุกมือ / ธีรพัฒน์ อัครเศรณี)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผมเพิ่งคุยกับคุณ "แจ็คกี้" อดิสรณ์ พึ่งยา ในรายการ World of Football เมื่อสัปดาห์ก่อนเรื่อง ชีค มันซูร์ เศรษฐีอาหรับที่เข้ามาเทคโอเวอร์แมนเชสเตอร์ ซิตี้ โดยกลุ่มทุนจากอาบูดาบีครบรอบ 10 ปีพอดี ว่าได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการฟุตบอลอังกฤษมากมายเลยทีเดียว

เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก นับจากวันที่อดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ขายสโมสรให้กับ ชีค มันซูร์ ซึ่งสร้างความฮือฮาในแง่ผลกำไร ที่มีการคาดไว้ว่าน่าจะมีระดับ 100 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 6,000 ล้านบาทสำหรับค่าเงินในขณะนั้น

แต่กำไรที่ว่ามากมายก่ายกองในครั้งนั้นคงเทียบไม่ได้หากชีค มันซูร์ คิดอยากจะขายสโมสรในตอนนี้ เพราะ ณ ปัจจุบัน "เรือใบสีฟ้า" ได้ผงาดกลายเป็นทีมระดับแถวหน้าที่เคยคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกไปครองได้ถึง 3 สมัยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

sheikh-mansour

ด้วยเม็ดเงินและการบริหารที่ฉลาดหลักแหลม วางทีมงานด้านฟุตบอลเป็นบุคลากรจากสเปนทั้งหมดนำโดย ซิกิ เบกิริสไตน์ และได้โค้ชมือมหากาฬอย่าง เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ทำให้ แมนฯ ซิตี้ ในยุคนี้เติบโตขึ้นมาก จนถึงขนาดวัดบารมีกับทีมร่วมเมืองอย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด ได้สบายๆ กลายเป็นโมเดล ออฟ ซัคเซส ให้กับเศรษฐีที่ต้องการลงทุนกับธุรกิจด้านฟุตบอลในอังกฤษต่อไป

จะว่าไปแล้วการซื้อทีมในเมืองผู้ดียังเป็นสิ่งที่ยั่วยวนกวนใจนักธุรกิจจากหลายชาติ เพราะนอกจากผลกำไรและความสำเร็จที่มีให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว เรื่องของชื่อเสียงในระดับชาติและการปรากฏตัวต่อสื่อนั้นยังมีให้เห็นโดยตลอด พูดง่ายๆว่านอกจากมีโอกาสได้เงินแล้ว ยังแถมกล่องให้อีกต่างหาก

แต่อย่างว่าล่ะครับในทุกธุรกิจก็ย่อมจะมีความเสี่ยง ตาดีได้ ตาร้ายเสีย ขึ้นอยู่กับจังหวะและการเลือกพื้นฐานของทีมที่จะเข้าไปซื้อ ว่าจะได้สโมสรที่มีปูมหลังดีมีกลุ่มแฟนบอลที่เหนียวแน่นอยู่แล้วเพียงใด และที่สำคัญคือ Facility ต่างๆ เช่น สนามแข่ง สนามซ้อม ศูนย์ฝึก มีเป็นของตัวเองทันสมัยหรือไม่ จำนองใครไว้หรือเปล่า

ee

เศรษฐีไทยที่ประสบความสำเร็จอีกรายก็คือกลุ่ม "คิง เพาเวอร์" ที่เข้าไปปลุกปั้นทีมอย่าง เลสเตอร์ ซิตี้ อย่างจริงๆจังๆ วางระบบใหม่ทุกอย่าง จนก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จได้ในระดับคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกมาได้แล้วเช่นกัน วันไหนคิดจะปล่อยมือก็คงกำไรมากมายมหาศาล

ตำนานการเข้าไปเทคโอเวอร์สโมสรฟุตบอลในอังกฤษของคนต่างชาตินั้นคุยกี่วันก็ไม่จบ นับแต่ยุคก่อนโน้นนำโดย โมฮัมหมัด อัล ฟาเยด อดีตเจ้าของห้างแฮร์รอดส์ ที่ไปบริหารทีมฟูแล่ม โรมัน อบราโมวิช คว้าเชลซีเอาไว้ครอบครอง มัลคอล์ม เกลเซอร์ กู้หนี้ยืมสินไปซื้อ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

ช่วงนั้นใครจะซื้อก็ต้องเตรียมงบไว้เคลียร์หนี้เดิมของสโมสรด้วยส่วนหนึ่ง เพราะเศรษฐกิจของวงการลูกหนังเมืองผู้ดีไม่ได้อู้ฟู่ด้วยเม็ดเงินและผลกำไรมากมายเหมือนตอนนี้

สรุปสุดท้าย 10 ปี แมนฯ ซิตี้ ในยุคของ "ชีค มันซูร์" ยังคงต้องเดินหน้าต่อไป ไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าทั้งประเด็นการตลาดและเรื่องฟุตบอล นั่นคือถ้วยยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก นั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook