โกลไลน์ ผู้ตัดสินที่ยุติธรรมที่สุดในสนาม

โกลไลน์ ผู้ตัดสินที่ยุติธรรมที่สุดในสนาม

โกลไลน์ ผู้ตัดสินที่ยุติธรรมที่สุดในสนาม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฟุตบอล กับเทคโนโลยี เคยกลายเป็นของที่อยู่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง ด้วยความหัวโบราณของ “ผู้ใหญ่” ที่ชื่นชอบการไหลลื่นของเกมแบบผิดๆ ถูกๆ แล้วไปนิยามว่าเป็น “เสน่ห์” มากกว่า “ความถูกต้อง” แต่เมื่อพวกเขายอมรับ ความไฮเทคก็ลดความกังขาในเกมลูกหนังออกไปได้หลายส่วน

นี่ถ้าพูดถึงเกม ฟุตบอลโลก 2014 แล้วไม่พูดถึงการแสดงประสิทธิภาพแบบเต็มๆ สู่สายตาชาวโลกแล้วคงไม่ได้ เรียกว่าครั้งนี้เทคโนโลยีเป็นพระเอกและสร้างความประทับใจได้อย่างตราตรึงในหัวอก โดยเฉพาะแฟนบอลทีมชาติฝรั่งเศส ผู้ได้ผลประโยชน์ และ ฮอนดูรัส ผู้เสียประตู จนน่าจะจดจำไปอย่างน้อยก็ช่วงนี้

เมื่อลูกยิงของ คาริม เบนเซม่า กองหน้าทัพ “ตราไก่” ลอยไปชนเสาไกลแล้วกระดอนมาโดนตัวผู้รักษาประตูของ ฮอนดูรัส เด้งผ่านเข้าประตูไป แม้ โนเอล วายาดาเรส จะพยายามเอื้อมมือข้ามเส้นไปควักบอลออกมา แต่ก็ไม่มีทางเร็วกว่าข้อความ “GOAL” ที่ไปปรากฎบนนาฬิกาข้อมือของผู้ตัดสินในนัดดังกล่าวได้ แน่นอนลูกนั้นเป็นประตู ช่วยให้ ฝรั่งเศส นำห่าง 2-0

ถ้าเป็นวินนิ่งลูกนี้ จะเป็นประตูของ เบนเซม่า นะครัชชชชชชช

จังหวะนั้นทำให้คำว่า “หา” ออกจากปากคนทั้งโลก ไม่ว่าจะหน้าจอแก้ว หรือในสนาม ต่างก็ยังงงเป็นไก่ตาแตก ว่า “เฮ้ย เข้าจริงเหรอ” ฉับพลันหน้าจอโทรทัศน์ และโปรเจคเตอร์ยักษ์ในสนามก็แสดงให้เห็นถึงความแม่นยำของ “โกลไลน์” เทคโนโลยีให้ได้เห็น แม้จะเล่นเอางงต่ออีกนิดเพราะดันไปแสดงจังหวะบอลกระทบเสาก่อนจังหวะที่เป็นประตู
 
แน่นอนว่า หลุยส์ ซัวเรซ กุนซือของ ฮอนดูรัส ก็ยังคงไม่เชื่อสายตาตัวเอง แต่ก็ยังต้องยอมรับไปแบบหน้าเจื่อนๆ เพราะโอกาสจะผิดพลาด เป็นเรื่องยากเหลือเกิน เพราะเกิดจากการใช้กล้องหลายตัวจับภาพไปประมวลผลพร้อมๆ กัน และแน่นอน เรื่องนี้ทำให้ ฟีฟ่า ได้รับคำชมจากคนทั้งในและนอกวงการที่รู้เรื่อง ซึ่งมีผลพวงมาจากการอ้าแขนรับเทคโนโลยีอันทันสมัยมาช่วยแบ่งเบาภาระผู้ตัดสินไปบ้าง และลดข้อสงสัย ลดการเสียผลประโยชน์แบบไม่จำเป็น และช่วยลดคำด่าจากแฟนบอลด้วยไปในตัว

ดูกันจะจะ ว่าเทคโนโลยี มันช่วยปิดปากนักวิจารณ์ยังไง

ก่อนหน้านี้ ฟีฟ่า พยายามเอา โกลไลน์ มาใช้ในทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ของตัวเอง ทั้ง ฟีฟ่า คอนเฟเดอเรชั่น คัพ หรือ ฟีฟ่า คลับเวิลด์คัพ และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่เอามาเปิดตัวใน ฟุตบอลโลก แถมยังเป็นการเปิดตัวที่งดงามมากๆ เพราะที่ผ่านมาก็ยังไม่มีครั้งไหนที่ได้แสดงประสิทธิภาพได้อย่างยอดเยี่ยมเหมือนครั้งนี้มาก่อน แม้แต่ใน พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ที่มีการติดตั้ง โกลไลน์ ใช้งานเมื่อซีซั่นที่ผ่านมาก็ตาม
 
ฤดูกาลที่ผ่านมาในอังกฤษมีการเอาโกลไลน์มาใช้เช่นกัน และสามารถแสดงประสิทธิภาพให้เห็นในหลายจังหวะ เพียงแต่ไม่มีการจับภาพให้ดูได้แบบฮือฮาเหมือนของ ฟีฟ่า แต่ก็ไม่ถูกร้องเรียนอะไร แถมเมื่อเกิดจังหวะปัญหาขึ้น บรรดานักเตะที่เสียประโยชน์ก็ไม่งอแงประท้วงกันด้วย เพราะอย่างที่บอก เทคโนโลยีนี้มีความแน่นอนสูง มีความมั่นใจเชื่อถือได้ และเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่ควรเกิดขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม โกลไลน์ ยังมีข้อจำกัดสำคัญ นั่นคือค่าใช้จ่าย ทำให้หลายลีกยังคงปฏิเสธความแม่นยำนี้ แม้แต่กับประเทศที่เศรษฐกิจดีอย่างเยอรมัน โดยเป็นบรรดาทีมเล็กๆ ที่ยังคิดว่าค่าใช้จ่ายตรงนี้สามารถนำไปพัฒนาอย่างอื่นให้กับทีมได้มากกว่า และด้วยการปฏิเสธนี้เอง ทำให้ใน บุนเดสลีกา เจอเรื่องประตูแบบหลอนๆ มาแล้วหลายครั้ง ที่เห็นชัดๆ คือลูกโขกทะลุตาข่ายของ สเตฟาน คีสลิงก์ หรือเหตุการณ์ที่ ดอร์ทมุนด์ ไม่ได้ประตูในนัดชิงชนะเลิศศึก เดเอฟเบ โพคาล สิ่งเหล่านี้บางคนมองว่าเป็นเสน่ห์ เช่น มิเชล พลาตินี่ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า เป็นต้น แต่กลับไม่มองว่านี่คือความยุติธรรม นี่คือความถูกต้องที่ไม่ควรมองข้าม ไม่ควรยกความผิดพลาดมาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเกมการแข่งขันที่มีศักดิ์ศรี ความมุ่งมั่น เงินทอง และความกระหายในชัยชนะเป็นเดิมพัน

ยืนแบบนี้ไม่ช่วยอะไรถ้าบังเอิญมีอะไรเข้าตาระหว่างเกิดลูกปัญหาจะทำไง?

เจ้าของฉายา “นโปเลียนลูกหนัง” แก้ปัญหานี้ด้วยการเพิ่มผู้ตัดสินที่เสาประตูทั้งสองฟากของสนาม เพื่อดูว่าลูกข้ามเส้นประตูหรือไม่ ตลอดจนการเกิดจังหวะฟาวล์ในกรอบเขตโทษ ก็จะเป็นหูเป็นตาได้อีกแรงหนึ่ง โดยเริ่มนำมาใช้ใน ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก และ ยูโรปา ลีก แต่นั่นไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น ผู้ตัดสินตรงประตูไม่ได้ทำประโยชน์เท่าที่ควร ยังคงมีจังหวะปัญหาเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยที่กรรมการไม่อาจตัดสินได้อย่างตรงไปตรงมาพอ เพราะอย่างไรเสียตามนุษย์ก็ไม่มีทางแม่นยำเท่าเทคโนโลยีได้
 
โกลไลน์ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในวงการ ฟุตบอล อย่างน้อยจังหวะทีเด็ดทีขาดอย่างเรื่องที่จะเข้าหรือไม่เข้าประตูก็มีการตัดสินด้วยความแม่นยำ และถูกต้องมากขึ้นกว่าการใช้สายตามนุษย์ ต่อให้เพิ่มกรรมการเข้าไปอีก ก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะในความเป็นจริงแล้ว ก็จะต้องมีการเห็นไม่ตรงกันเกิดขึ้น ต้องมาเถียงมาลงมติกันอยู่ดี สู้ใช้กล้องไม่ได้ อย่างไรก็ตามการเปิดรับเทคโนโลยีของ ฟีฟ่า จะยิ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถของการตัดสินให้มากขึ้น แต่นอกจากจังหวะประตูแล้ว ยังมีทั้งลูกล้ำหน้า การพุ่งล้ม การฟาวล์ หรือการเล่นนอกเกมอีกมากมาย และแม้จะยังไม่มีความคิดริเริ่มจะเอาความไฮเทคมาช่วยตัดสินเรื่องอื่นๆ ในตอนนี้ แต่เชื่อว่าอนาคตน่าจะมีสิ่งดีๆ ตามมาให้เห็นแน่นอน
 
ความไม่ถูกต้องก็คือความไม่ถูกต้อง มันคือความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น บนสนามต่อหน้าสายตาหลายหมื่นคู่ ในแง่ของความเป็นจริง ความถูกต้องสมควรมาก่อนหรือเปล่า หากไม่ตกเป็นผู้เสียผลประโยชน์ก็คงไม่รู้สึกถึงความสำคัญของความแม่นยำความเป็นจริงและความถูกต้อง เพราะสุดท้ายแล้วต่อให้อ้างเหตุผลอย่างไรก็ตาม ความอยุติธรรมก็ยอมรับไม่ได้อยู่ดี

 

"FIATTA"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook