มาดู! ลูกหนังในตำนานสนามบอลโลก

มาดู! ลูกหนังในตำนานสนามบอลโลก

มาดู! ลูกหนังในตำนานสนามบอลโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ลูกฟุตบอลคืออุปกรณ์สำคัญยิ่งสำหรับกีฬาชนิดนี้ ในอดีตเวิลด์คัพที่ผ่านมาใช้ลูกบอลหน้าตาแบบไหน มีเทคโนโลยีอะไร ติดตามกันได้ที่นี่

พัฒนาการของลูกฟุตบอลในเวิลด์คัพถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นพอๆ กับการหาเจ้าภาพหรือค้นหาตัวมาสคอต นี่คือความยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติที่ทำให้เราได้เห็นกันว่าวิวัฒนาการของอุปกรณ์กีฬาอันดับ 1 ของโลกเป็นอย่างไร และมันไม่หยุดนิ่งแน่นอน

ขอรวบรวมเอาประวัติศาสตร์ของลูกหนัง (ตั้งแต่ยางจนถึงหนังจริงๆ) ของมหกรรมฟุตบอลโลกมาฝากกันตั้งแต่ปี 1930 ให้ชมไปพลางๆ โหมโรงสู่เวิลด์คัพที่บราซิล

 ปี 1930

ลูกบอลสุดคลาสสิคลูกนี้เป็นบอลแบบออฟฟิเชียลที่ใช้ในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ระหว่างอุรุกวัยเจ้าภาพและอาร์เจนตินาผู้ท้าชิง ที่มีน้ำหนักมากกว่ารุ่นปัจจุบันอยู่บานเบอะ

ปี 1934

"เฟเดเรล 102" คือชื่ออย่างเป็นทางการของฟุตบอลลูกนี้ โดยอิตาลีที่รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพในครั้งนั้นได้หยิบฟุตบอล (ที่มีหน้าตาเปลี่ยนไปจากเดิมเยอะพอสมควร) มาใช้ มันมีผิวสัมผัสที่เกลี้ยงกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัดและทำให้การคอนโทรลบอลเป็นไปได้อย่างยอดเยี่ยมเลยทีเดียว

ปี 1938

ชาติแห่งแฟชั่นอย่างฝรั่งเศสลงทุนออกแบบลูกบอลใหม่หมดพร้อมตั้งชื่อให้มันว่า "อัลแล็ง" พร้อมผิวสัมผัสที่ทำได้ดีขึ้นกว่าเดิมและโค้งมนเป็นวงกลมกว่า 95% แล้ว

ปี 1950

ที่บราซิล พวกเขาใช้ฟุตบอลสีขาวเป็นครั้งแรกโดยมีชื่อเรียกนิคเนมว่า "ซูเปอร์ ดูโปล ที" ซึ่งบอลในยุคนั้นถือเป็นต้นแบบของพัฒนาการที่ดีเยี่ยมก่อนที่มันจะเดินทางเข้าสู่ยุคใหม่

ปี 1954

ออฟฟิเชียลฟุตบอลกลับมาใช้สีส้มที่เวิลด์ คัพ สวิตเซอร์แลนด์ พร้อมกับสลักชื่อและตัวหนังสือชื่อประเทศลงไปในฟุตบอล สร้างสีสันที่แปลกตาอย่างน่าสนใจ

ปี 1958

ฟุตบอลโลกยังคงวนเวียนอยู่ในยุโรป และคราวนี้เป็นสวีเดนที่อาสารับหน้าเสื่อเจ้าภาพ ขณะที่ลูกฟุตบอลก็แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ มากนักจากครั้งก่อนๆ ด้วยสีสันและรูปแบบ

ปี 1962

ลูกบอลประจำทัวร์นาเมนต์ครั้งนี้มีการออกแบบที่แปลกตาขึ้น ด้วยการตัดเย็บที่แหวกแนวกว่าครั้งก่อนๆ พร้อมตั้งชื่อให้มันแบบสุดเท่ว่า "แคร็ค"

ปี 1966

ความเบาที่มากขึ้นพร้อมน้ำหนักที่สมส่วนคือจุดเด่นของปีนี้ และที่ต้องจารึกไว้อย่างดีคือมันเป็นลูกฟุตบอลชุดแชมป์โลกของอังกฤษ ด้วยหน้าตาที่ทมึนกว่าเดิม มันชื่อ "สลาเซนเจอร์"

ปี 1970

ครั้งแรกของอาดิดาสที่เข้ามารับหน้าที่ผลิตฟุตบอลให้กับมหกรรมกีฬาแห่งโลกอย่างเวิลด์คัพ "อาดิดาส เทลสตาร์" คือชื่ออย่างเป็นทางการของมัน จากยางทั้งหลายแหละถูกเปลี่ยนเป็นหนังเย็บติดกัน 32 ชิ้น และแบ่งเป็นสีดำห้าเหลี่ยม 12 ชิ้นกับสีขาวหกเหลี่ยม 20 ชิ้นตามแบบฉบับของความคลาสสิคที่เราเห็นจนชินตา โดยในการเปลี่ยนเป็นสีขาว-ดำก็เพื่อให้ชัดเจนเวลาถ่ายทอดสดไปทั่วโลก ซึ่งทำกันครั้งแรกในสมัยนั้น

ปี 1974

คล้ายกับเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เพียงแต่เพิ่มและเน้นลวดลายให้ชัดเจนขึ้น นี่คือ "อาดิดาส เทลสตาร์" ของเจ้าภาพเยอรมัน

ปี 1978

ถูกออกแบบให้เข้ากับแนวคิดของการเต้นในจังหวะแทงโก้ ท่าเต้นพื้นเมืองของอาร์เจนตินา ยังคงใช้หนังห้าเหลี่ยมและหกเหลี่ยมเช่นเดิม เพียงแต่ใช้สีขาวทั้งหมด แล้วค่อยพิมพ์ลายลงใหม่เป็นลักษณะวงกลม การเข้าสู่ยุคใหม่ของฟุตบอลแนวลวดลายโค้งสวยงาม นี่คือ "แทงโก เดอลาสต์"

ปี 1982

สเปน ชาติเจ้าภาพถือโอกาสเรียกมันว่า "แทงโก เอสปัญย่า" เพื่อประกาศศักดา ทั้งที่ลวดลายไม่แตกต่างจากสี่ปีก่อนมากนัก ทว่าคุณภาพของหนังถือว่ายอดเยี่ยมกว่าเดิมมาก และใช้เทคโนโลยีให้ลูกบอลพยายามไม่ดูดซึมน้ำครั้งแรก

ปี 1986

"อาดิดาส แอซเทก้า" คือชื่อของฟุตบอลที่เม็กซิโกได้เป็นเจ้าภาพในปีนั้น ความเปลี่ยนแปลงของมันไม่มากนักจากรุ่นก่อนๆ เพียงแต่ใช้หนังสังเคราะห์แทนในครั้งนี้ และมีการพิมพ์ลวดลายแบบ "แอซเทค" ลงบนลูกบอลสะท้อนถึงความเป็นพื้นเมืองของเม็กซิโกได้อย่างชัดเจน

ปี 1990

อิตาลีเป็นเจ้าภาพหนที่สองมาพร้อมกับดีไซน์ที่โฉบเฉี่ยวขึ้นกว่าเดิมมาก การปฏิวัติครั้งสำคัญในครั้งนี้คือการผสมโพลียูริเทนเข้าไปในการผลิตเพื่อกันน้ำ 100% และนี่คือ "อาดิดาส เอทรุซโก ยูนิโก"

ปี 1994

"อาดิดาส เควสตรา" คือชื่อของฟุตบอลในปีนี้ที่สหรัฐอเมริกา โดยมีที่มาจาก "Quest for the star" เพราะมันถูกผลิตขึ้นด้วยเทคโนโลยีด้านอวกาศ เพิ่มชั้นโพลียูริเทน สร้างน้ำหนักให้เบาลงอีก นี่คือฝันดีของกองหน้าและฝันร้ายของนายทวาร

ปี 1998

ฝรั่งเศสเลือกใช้สีของธงชาติประดับลงบน "ไตรโกลอร์" งานฟุตบอลในปีนั้น รวมทั้งสร้างลายน้ำลงบนแบบพิมพ์ฟุตบอลอย่างอลังการ นี่คือฟุตบอลที่ทำให้เจ้าภาพคว้าแชมป์โลกอีกด้วย

ปี 2002

ครั้งแรกบนแผ่นดินเอเชียในฐานะเจ้าภาพศึกลูกหนังโลก แม้จะไม่ถูกกันนักระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น แต่งานดีไซน์ที่ยอดเยี่ยมในครั้งนี้ทำให้ "ฟีเวอร์โนวา" คือลูกฟุตบอลที่เป็นสีสันและเต็มไปด้วยเทคโนโลยีอย่างแท้จริง มันถูกออกแบบให้น้ำหนักเบา เคลื่อนที่ได้อย่างถูกต้องแม่นยำกว่าเดิม

ปี 2006

ลวดลายคือเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของลูกฟุตบอลครั้งนี้ มันกลมกลืงและแฝงไปด้วยนัยยะแห่งความสามัคคีด้วยชื่อ "ทิมไกสต์" ที่เป็นภาษาเยอรมันแปลได้ว่า "ทีมสปิริต" และนี่คือการลดจำนวนหนังที่นำมาเย็บติดกันจาก 32 เหลือเพียง 14 ชิ้น นั่นทำให้มันมีรอยต่อน้อยลงและมีความเร็วมากขึ้นเพื่อสร้างปัญหาให้ผู้รักษาประตูโดยเฉพาะ

ปี 2010

ลูกบอลที่ใช้ที่แอฟริกาใต้ครั้งนี้ชื่อ "จาบูลานี" มันเต็มไปด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่เหนือกว่าเดิมมากมาย และจุดเด่นของมันอยู่ที่การผลิตภายใต้แนวคิด "Grip n' Groove" มีเกร็ดและร่องบนผิวลูกบอลทำให้การปล่อยผ่านจากเท้าสู่อากาศทำให้ลูกบอลเที่ยงตรงแม่นยำมากที่สุด นี่คือลูกบอลหมายเลข 11 ของอาดิดาสบนเวทีเวิลด์คัพ

ปี 2014

หลังผ่านการโหวตของแฟนๆ ชาวบราซิลทั่วประเทศแฟนบอลเกือบล้านเสียงต่างโหวตให้ "บราซูกา" เป็นชื่อลูกฟุตบอลรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นชื่อที่มีสองความหมาย โดยอย่างแรกจะเป็นการสื่อถึงคนบราซิล ที่ไปใช้ชีวิตในต่างแดน ซึ่งรวมถึงนักเตะหลายๆคน ขณะที่อีกความหมายเป็นการบรรยาถึงความภาคภูมิใจในวิถีชีวิต และความเป็นชนชาวบราซิเลียนเอง โดยตัวของ "บราซูกา" ถูกประกอบขึ้นมาด้วยแผ่นหนัง 6 ชิ้น และมีลวดลายเป็นริบบิ้นหลากสีผ่านโค้งกันไปมาเป็นสัญลักษณ์ของกำไรข้อมือ หลากสีสัน ที่คนท้องถิ่นนิยมใส่ในบราซิล

ขอบคุณข้อมูล : springnewstv.tv

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook