คนเบื้องหลัง : เจาะลึก "ฝ่ายเทคนิค" แท้จริงแล้วทำอะไร?!?

คนเบื้องหลัง : เจาะลึก "ฝ่ายเทคนิค" แท้จริงแล้วทำอะไร?!?

คนเบื้องหลัง : เจาะลึก "ฝ่ายเทคนิค" แท้จริงแล้วทำอะไร?!?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงหลังๆ คำว่า ฝ่ายเทคนิค เป็นคำที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ และ House of Thai Football จะมาหาคำตอบว่าพวกเขามีหน้าที่อะไรบ้าง

ประเด็นสำคัญ

ในปี 1992 ญี่ปุ่นได้มีแผนพัฒนา 100 ปี เพื่อที่จะทำให้ชาติตัวเองคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกปี 2092 และในปีเดียวกันนั้นเอง เกาหลีใต้ก็ได้มีประธานเทคนิคเกิดขึ้นเป็นคนแรก

และไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายชาติในอาเซียนรวมถึงจีนเองก็เริ่มวางแผนพัฒนาวงการลูกหนังอย่างมีระเบียบแบบแผน นั่นทำให้ฝ่ายเทคนิคเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาคนี้

ฝ่ายเทคนิคของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ มีหน้าที่หลักอยู่ 5 ส่วนด้วยกันก็คือ - ทีมชาติ, การฝึกอบรมโค้ช, การพัฒนาเยาวชน, สร้างฐานแฟนบอล, ทีมแมวมองวิเคราะห์ผ่านวีดิโอ และทีมกายภาพ ซึ่งกำลังจะมีแผนกสำหรับฟุตบอลหญิงโดยเฉพาะในอนาคตอันใกล้

ปัจจุบันเวลาถึงทัวร์นาเม้นต์ที่ทีมชาติไทยลงแข่ง นอกจากโค้ชและนักเตะจะตกเป็นเป้าสนใจแล้ว “ฝ่ายเทคนิค” ดูจะเป็นที่พูดถึงอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

แน่นอน… คำว่า “ทีมเทคนิค” ดูเป็นคำที่เท่เหลือเกิน เพราะพวกเขาคือส่วนสำคัญในการพัฒนาวงการลูกหนังไทย ได้จับงานด้านวิเคราะห์และวางกลยุทธ์ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า… หน้าที่อันยิ่งใหญ่ นั้นมาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง… เรียกได้ว่าตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบก็ไม่ปาน...

1

หลังบ้าน “ช้างศึก”

หลายคนอาจมองไม่ออกว่าฝ่ายเทคนิคต้องทำอะไรบ้าง ซึ่ง House of Thai Football ก็ได้ไปถามคุณ​ สาวิน จรัสเพชรานันท์ ผู้จัดการฝ่ายเทคนิคฯ ที่เคยทำหน้าที่ผู้จัดการอะคาเดมี่ที่สโมสร เชียงราย ยูไนเต็ด และอดีตผู้ช่วยผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 16 ปี ชุดที่ได้ไปทำศึกชิงแชมป์เอเชียที่อิหร่านเมื่อปี 2012 มาช่วยชี้แจงแถลงไข

และคำตอบที่ได้ กลายเป็นว่างานของฝ่ายเทคนิคมีตั้งแต่เรื่องยิบย่อย ไปจนถึงใหญ่โตมโหฬารระดับงานช้างเลยทีเดียว

“งานของฝ่ายเทคนิคกับทีมชาติ ก็จะมีตั้งแต่เรื่องนอกสนามว่ายังขาดเหลืออะไรบ้าง โดยเราจะเป็นคนดำเนินการและอำนวยความสะดวกให้ทั้งหมด ทั้งหาที่พัก สนามซ้อม ทำเอกสาร ฯลฯ ไปจนถึงการเก็บข้อมูลคู่แข่ง เพื่อให้เฮดโค้ช, สต๊าฟฟ์โค้ช และนักเตะมีสมาธิอยู่กับเรื่องในสนามได้อย่างเต็มที่”

“ก็จะมีทีมงานแมวมองที่เป็นฝ่ายรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลให้ ว่าสิ่งที่ยังบกพร่องคืออะไร สิ่งที่ต้องปรับอยู่ตรงไหน พี่เฮง (วิทยา เลาหกุล) ก็จะมีการนัดคุยกันตลอดในแต่ละแมตช์หรือทัวร์นาเม้นต์ ก็จะมาประเมินกันว่า ที่ผ่านมาปัญหาคืออะไร ข้อเสียคืออะไร เราก็จะเอาข้อมูลทั้งหมดที่มีไม่ว่าจะเป็นตัวสถิติหรือวีดิโอมาดูกัน” คุณสาวินอธิบาย

“เราจะมีเช็คลิสต์จดอย่างละเอียด เราก็จดกับมือเป็นข้อมูลดิบเลยว่า มีการยิงตรงไหน ครอสบอลตรงไหน การเปลี่ยนแกน จากซ้ายไปขวากี่ครั้ง ขวาไปซ้ายกี่ครั้ง เสียบอลกี่ครั้ง จากบริเวณไหน ผู้เล่นคนไหนเสียบอล แล้วก็ทำสรุปส่ง” กฤษฎา พวงมะลิ แมวมองฝ่ายพัฒนาเทคนิคและผู้ช่วยผู้ฝึกสอนฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 16 ปี กล่าวเสริม

“จริงๆแล้วเรามีการจดบันทึกตั้งแต่กิจวัตรประจำวันของนักเตะ ว่านอนกี่โมง ตื่นกี่โมง ซ้อมกี่โมง ทานข้าวกี่โมง รวมถึงจดบันทึกตอนซ้อมว่า ซ้อมอะไรบ้าง ซ้อมอย่างละกี่นาที ตอนลงทีมใช้ระบบอะไร ใช้เวลาทั้งหมดกี่นาทีด้วย”

“แต่โค้ชเฮงเขาจะไม่ก้าวก่ายนะ ให้โค้ชทำไปเลย อาจจะมีแนะนำบ้าง แต่ก็ขึ้นอยู่กับโค้ชเองว่าจะทำตามคำแนะนำไหม ไม่เคยสั่งให้เปลี่ยนแปลงกลางครัน”

3

“ส่วนทีมต่างชาติ เราจะดูว่าเขาเล่นระบบอะไร เขาขึ้นเกมอย่างไร สร้างเกมอย่างไร มีวิธีการโจมตีอย่างไร รับอย่างไร จุดเด่น จุดด้อย ใครเป็นผู้เล่นคนสำคัญ นอกจากนี้เรายังดูชุดเยาวชนของชาตินั้นๆด้วย ว่าเล่นด้วยระบบเดียวกันทั้งหมดหรือเปล่า อย่างญี่ปุ่นหรือออสเตรเลีย เขาจะเล่นระบบเดียวกันหมด”

“คือเราไม่จำเป็นต้องเจอกับเขาก่อน เราถึงจะไปสเก๊าท์เขา เราไปดูล่วงหน้าเลย ดูข้อมูลแต่ละประเทศว่าพัฒนาไปถึงไหนแล้ว”

และโค้ชก็จะนำข้อมูลดังกล่าวมาเตรียมแผนสำหรับการเก็บตัวเข้าแคมป์ฝึกซ้อมในครั้งต่อไป ว่าจะต้องแก้ไขในจุดใดก่อนจะถึงแมตช์ต่อไป ซึ่งการเตรียมทีมในทัวร์นาเม้นต์ระดับนานาชาตินั้น เกมอุ่นเครื่องก็ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับการเตรียมทีมด้วยเช่นกัน

“มันเป็นเรื่องของการเลือกทีมที่มีสไตล์ใกล้เคียงกัน โดยทีมที่จะมาเล่นต้องเป็นทีมที่มีระดับเดียวกันหรือสูงกว่า” คุณสาวินอธิบายถึงเกณฑ์ในการเชิญทีมเตะในเกมกระชับมิตร

โค้ชหรือทีมเทคนิคเลือกนักเตะ?

หลายคนอาจมองว่า ในเมื่อทีมเทคนิคมีข้อมูลนักเตะขนาดนี้แล้ว พวกเขามีส่วนในการคัดเลือกผู้เล่นที่จะเข้ามาติดทัพ “ช้างศึก” ด้วยไหม?

เรื่องนี้คุณสาวินยืนยันว่า “โค้ชเฮงไม่เคยต้องไปบอกว่าเอาตัวนั้นตัวนี้ เขาจะเลือกใครเป็นเรื่องของโค้ชและสต๊าฟฟ์ของทีมชาติแต่ละชุดที่ไปดูนักเตะ อย่างพรรษากับเฉลิมพงษ์ที่เข้ามา ก็เป็นโค้ช มิโลวาน ราเยวัช ที่เลือก มันคือมุมมองของเขาที่มีต่อนักบอล ตอนที่พี่เฮงเห็น 2 คนนี้ลงเล่น เขายังแปลกใจเลย ว่าเล่นเข้าขารู้ใจเหมือนเล่นด้วยกันมานาน อันนี้คือสิ่งที่โค้ชทำได้ดี”

“การเตรียมทีมเนี่ย โค้ชจะมองหาผู้เล่นที่เป็นแกนหลักระยะยาวในอนาคต ทุกครั้งที่เรามีการประเมินกัน มีการพูดถึงว่าในอนาคตเราต้องการอะไร เพราะฉะนั้นก็ต้องเสาะแสวงหาสิ่งนั้น เพื่อไปยังเป้าหมายในอนาคตเขาอาจจะลองผู้เล่นหน้าใหม่ เขาอาจจะลองผสมกับผู้เล่นเดิมว่า มีใครที่พอจะขึ้นมาได้ มันก็เป็นไปได้ทั้งหมด”

แล้วถ้าเกิดโค้ชเซย์กู๊ดบายขึ้นมา ทีมเทคนิคจะทำยังไง? ต้องหาเองไหม? และจะสานต่อยังไง? ไม่ต้องล้างไพ่ใหม่หรือ?

“เรื่องการคัดเลือกโค้ช เราจะหารือกับท่านนายกสมาคมฯ อยู่แล้วว่า คนที่จะเข้ามาสานต่อจากกุนซือคนปัจจุบันจะต้องมีความต่อเนื่อง พวกเขาต้องนำเสนอว่าตัวเองมีความสามารถแบบไหน เพื่อให้การทำทีมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นเราจึงไม่ต้องนับ 1 ใหม่เวลาที่มีโค้ชคนใหม่เข้ามา” คุณสาวินอธิบายเพิ่ม

“ส่วนเรื่องระบบ เราไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็น 4-4-2, 4-3-3, 4-5-1 เพราะมันเป็นแค่ตัวเลขสมมติในการยืนตำแหน่ง สิ่งที่สำคัญคือคอนเซ็ปต์ ถ้าคุณเข้าใจว่าคุณลงไปแล้วจะเล่นแบบไหน คุณก็สามารถเล่นได้”

2

คัดบอลโลกจบ แต่งานไม่จบ

ถึงโอกาสเข้ารอบสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซียจะหมดลง แต่งานของทีมเทคนิคใช่ว่าจะจบลงตามไปด้วย

“แม้ว่าสถานการณ์เข้ารอบฟุตบอลโลกของเราจะหมดลงไปแล้ว แต่เรายังเล่นเพื่อที่จะทำอันดับโลก พูดง่ายๆว่าทุกนัดที่ทีมชาติไทยลงแข่งขัน เรามีเป้าหมายทุกครั้ง” คุณสาวินกล่าว

ซึ่งหลังจากจบฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก ก็จะมีเกมอย่างเป็นทางการ 2 ทัวร์นาเม้นต์ด้วยกันคือ ศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน ปี 2018 และเอเชียน คัพ 2019 ทำให้โปรแกรมระหว่างนี้จะเป็นเรื่องของเกมกระชับมิตร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีคุณภาพ

“คือบางคนอาจจะบอกว่า เตะกับอินเดียก็แล้วกัน อินเดียแรงกิ้งสูงกว่าเรา ผมถามว่า ถ้าเราเชิญเขามา เราเสียเงิน แล้วเราไม่ได้อะไร มันไม่เกิดประโยชน์ ถ้าเราดี เราก็สามารถขยับตัวเราเองได้ บางทีการถอยหลังหนึ่งก้าว เพื่อที่จะไปต่ออีก 3-4 ก้าว ก็ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้าย เราต้องยอม ดูจากจุดที่เราอยู่ ดูเป้าหมายข้างหน้า ว่าเราจะต้องทำอย่างไร”

เหมือนอย่างเกาหลีใต้ ที่แม้ว่าจะตั้งเป้าหมายว่าจะต้องขึ้นไปเป็นอันดับ 1 ของเอเชียภายใน 1-2 ปีข้างหน้านี้ แต่พวกเขาก็มีเกณฑ์ว่าจะต้องลงเตะกับทีมท็อป 30 ของโลกให้ได้มากกว่า 70% ของโปรแกรมแข่งทั้งหมด

“ในอนาคตจะมีการวางแผน มีการกำหนดเลยว่าในแต่ละปีปฏิทินการแข่งขัน เราต้องเล่นกับทีมจากทวีปไหนบ้าง กี่แมตช์ ระดับนี้กี่แมตช์ ระดับนั้นกี่แมตช์ เพื่อให้มันชัดเจนขึ้น แล้วก็ให้มันสอดคล้องกับตารางการเตรียมทีมให้มากกว่านี้”

 “งานของฝ่ายเทคนิค คือการมองในภาพรวมของฟุตบอล สิ่งที่เราต้องการก็คือการพัฒนาประเทศไทย จริงอยู่ที่เป้าหมายสูงสุดก็คือการได้ไปเล่นในฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย ซึ่งปี 2026 ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับการวางเป้าหมายให้ไปถึงจุดนั้น แต่ระหว่างทาง เราต้องทำอะไรเพื่อที่จะไปให้ถึงจุดนั้น ปีนี้จะทำอะไร อีก 3 ปีข้างหน้า 5 ปีข้างหน้าจะทำอะไร เพื่อที่จะเดินไปถึงเป้าหมาย”

4

“เราจะไม่บอกว่าเราวางแผน 10 ปี แล้วค่อยทำอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะมีแผนแบบปีต่อปีเพื่อประเมิน เพราะสำหรับการทำงานแล้ว ระยะเวลา 10 ปีมันนานไปที่จะประเมิน”

โดยเมื่อปี 2014 เกาหลีใต้ก็เพิ่งประกาศแผน “Vision Hattrick 2033” เพื่อพัฒนาฟุตบอลแดนโสมขาว เป็นการฉลองครบรอบ 80 ปีของสมาคมฟุตบอลเกาหลี (KFA) ในปี 2033 ด้วยระบบ “โคเรียน สไตล์” หลังจากได้ไปศึกษาระบบเยาวชนจากฝรั่งเศสกับเยอรมนีเมื่อปีก่อนหน้า โดยวาดหวังที่จะให้ทีมชาติกลายเป็นเบอร์ 1 ของเอเชียบนฟีฟ่า แรงกิ้ง ให้ได้ (ตอนนี้อยู่อันดับที่ 4 เป็นรอง อิหร่าน, ออสเตรเลีย และ ญี่ปุ่น ตามลำดับ)

ขณะที่ญี่ปุ่นนั้น เป้าหมายที่จะคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกในปี 2092 ตามแผน 100 ปียังคงอยู่ แต่ก็มีการเพิ่มรายละเอียดลงไปในแผนแม่บท 8 ปี (2015-2022) ว่าจะต้องไต่อันดับขึ้นไปอยู่บนท็อป 10 ในปี 2022 ก่อนจะขอเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกปี 2050

ส่วนจีนที่แม้จะยังลุ่มๆดอนๆกับผลงานของทีมชาติ แต่ก็มีเป้าหมายที่จะเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายฟุตบอลโลกให้ได้อย่างเร็วที่สุดในอีก 10 ปีข้างหน้า ด้วยความหวังที่จะได้จัดฟุตบอลโลกในปี 2034 ก่อนจะก้าวขึ้นไปเป็นมหาอำนาจแห่งโลกลูกหนังก่อนปี 2050 ซึ่งตอนนี้ก็มีการยกเครื่องพัฒนากันใหม่ตั้งแต่ระดับรากหญ้า

แม้แต่ประเทศในอาเซียนด้วยกันเองอย่างเวียดนามก็มีการวางแผนตั้งแต่ปี 2013 ว่าก่อนปี 2020 พวกเขาจะต้องก้าวขึ้นมาอยู่ในท็อป 15 ของเอเชียให้ได้  

แน่นอนว่าในอีก 9 ปีข้างหน้า นักเตะทีมชาติไทยชุดนี้หลายคนคงแขวนสตั๊ดไปแล้ว แต่จะทำอย่างไรเพื่อเข้าใกล้เป้าหมายที่วางไว้ล่ะ?

5

อนาคตของชาติ

แม้ว่าในปัจจุบันจะเป็นยุคทองอีกยุคหนึ่งของฟุตบอลทีมชาติไทย แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ การป้อนนักเตะฝีเท้าดีเข้าสู่ทีมชาติอย่างสม่ำเสมอ จากรุ่นสู่รุ่น เพราะในปัจจุบันหลายประเทศก็เริ่มยกระดับตัวเองขึ้นมาตั้งแต่ชุดเยาวชน

“ทุกวันนี้ (ชุดเยาวชน U-15) กัมพูชาเล่นดีมากนะ ถึงจะแพ้แต่ก็เล่นดีมาก ซึ่งพวกเขาแพ้เราก็มาวิเคราะห์เช่นกันว่าทำไมเล่นดีแล้วถึงแพ้ แล้วไทยเราเล่นอยู่จุดไหนแล้ว เราไม่ได้วิเคราะห์แค่ของเรา แต่เราก็ต้องวิเคราะห์คู่แข่งรอบๆเราด้วย” คุณสาวินเผย

นั่นทำให้ในอนาคต การเจอกับคู่แข่งร่วมภูมิภาคจะไม่ใช่เรื่องของการผูกขาดเพียงชาติใดชาติหนึ่งอีกต่อไป เหมือนอย่างโคปา อเมริกา ที่กลายเป็นสมบัติผลัดกันชม ไม่ใช่แค่อยู่แต่กับบราซิลหรืออาร์เจนติน่า ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเต้ยของทวีป

“ที่ผ่านมาเรามีฟุตบอลรายการต่างๆ ที่จัดขึ้นในระดับเยาวชน แต่ว่าเราไม่เคยมีการทำให้เป็นระบบ ดังนั้นนักกีฬาจึงมีปัญหามากเนื่องจากไปแข่งรายการนี้ไม่ได้ เพราะติดอีกรายการหนึ่ง หรือบางคนวิ่งรอกสองรายการต่อวันก็มี ซึ่งมันไม่ใช่การพัฒนานักกีฬา เราก็ต้องมาจับตรงนี้ให้มันเป็นรูปเป็นร่าง”

โดยตอนนี้ ทางสมาคมฯได้มีการหารือกับการกีฬาแห่งประเทศไทย ให้มีตารางการแข่งขันประจำปีสำหรับเยาวชนขึ้นมา เพื่อที่ว่าช่วงเวลาการแข่งขันจะได้ไม่ทับซ้อนกัน ทั้งในระดับโรงเรียน สโมสร และทีมชาติ

“เราต้องพัฒนานักกีฬาตั้งแต่อายุเท่าไหร่ไปจนถึงอายุเท่าไหร่ รูปแบบเป็นแบบไหน 10 ขวบต้องเรียนรู้เรื่องอะไร 11 ขวบต้องเรียนรู้เรื่องอะไร ต้องเรียนรู้แบบไหน เราควรมีแมตช์ระดับนานาชาติกี่แมตช์ แมตช์ในประเทศกี่แมตช์ ต้องมีการกำหนดในแต่ละช่วงอายุ ต้องไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป”

โดยในเกาหลีใต้นั้น ได้แบ่งการฝึกออกเป็นช่วงอายุ ซึ่งอายุต่ำกว่า 12 ปีจะเน้นการเลี้ยงบอลเป็นหลัก, ส่วน U-13 จะเน้นไปที่การจ่ายบอล, U-14 จะเป็นการซ้อมแบบผสมผสาน ส่วน U-15 จะเน้นเล่นเกมเร็ว ขณะที่ญี่ปุ่นจะเริ่มใส่ในส่วนของพื้นฐานการเล่นก่อนในรุ่น U-12 ไม่ว่าจะเป็นเทคนิค การแย่งบอล การยิงประตู แล้วค่อยเริ่มใส่ทักษะการเล่นเป็นทีมเข้าไปในระดับ U-14

และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นก็คือมาเลเซีย ที่ทีมชาติรุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี ชุดเอ ของพวกเขา คือชุดที่คว้าแชมป์ อิเบร์ คัพ คอสต้า เดล โซล รุ่น U-13 ด้วยการชนะสปอร์ติ้ง ลิสบอน ที่สเปนเมื่อ 2 ปีก่อน โดยมีการวางแผนให้ทีมชุดนี้ได้เจอกับทีมระดับคุณภาพในอะคาเดมี่ชั้นนำทั่วยุโรปปีละอย่างน้อย 30 นัดต่อปี เพื่อเป็นการเสริมสร้างกระดูกบอล อีกทั้งยังตั้งเป้าว่าจะสร้างดาวรุ่งที่มีอายุระหว่าง 7-17 ปีให้ได้ 50,000 คนภายในปี 2020

6

ส่วนเวียดนามก็พยายามผลักดันให้มีนักเตะเยาวชนเข้าสู่ระบบอายุระหว่าง 11-18 ปีให้ได้ปีละ 4,000 คน และมีโครงการส่งเยาวชนฝีเท้าดีอายุระหว่าง 14-18 ปี ไปฝึกซ้อมในประเทศชั้นนำด้านลูกหนังเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี

ขณะที่จีนมีการเซ็นสัญญาความร่วมมือกับเดเอฟเบ (สหพันธ์ฟุตบอลเยอรมนี) เมื่อเดือนมิถุนายน ที่จะให้ทีมชุด U-20 ของพวกเขาลงเตะอุ่นเครื่องกับทีมในระดับดิวิชั่น 4 ของเยอรมัน โดยแต่ละสโมสรในเรกิโอนาลลีกาภาคตะวันตกเฉียงใต้จะลงอุ่นเครื่องกับแข้งตี๋น้อยทีมละ 1 นัด

“แมตช์ระดับนานาชาตินั้นถือว่าสำคัญทีเดียว เพราะโตไปเขาจะเจอไม่กลัวชาติใหญ่ๆ อย่าง ญี่ปุ่น หรือเกาหลี เนื่องจากเจอตั้งแต่เด็ก” คุณสาวินกล่าวเพิ่มเติม

ซึ่งการที่จะมีสายพานป้อนนักเตะเข้าสู่ระบบได้อย่างต่อเนื่องนั้น การทำให้คนในประเทศมีความนิยมในเกมลูกหนังมากขึ้นก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อที่จะได้คนเล่นกีฬาชนิดนี้มากพอที่จะเป็นตัวเลือกให้กับทีมชาติได้

และในอนาคต ทีมเทคนิคยังมีแผนที่จะทำทีมอะคาเดมี่ของสมาคมฯขึ้นมาเพื่อที่จะพัฒนาเด็กขึ้นประดับวงการลูกหนัง โดยนอกจากจะใช้ศูนย์ฝึกเยาวชนแห่งชาติที่ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี, โรงพยาบาลตำรวจ และเอคโคโน่แล้ว ยังจะกระจายไปตามแต่ละภูมิภาคอีกด้วย

อย่างที่เกาหลีใต้ จะมีศูนย์ฝึกกระจายอยู่ตามแต่ละจังหวัดต่างๆ รวม 21 แห่ง และมีศูนย์ฝึกประจำภาค 5 แห่ง รวมถึงศูนย์ฝึกเยาวชนของ KFA อีก 3 แห่ง ขณะที่ญี่ปุ่นมีอะคาเดมี่ใหญ่ที่เป็นของ JFA 4 แห่ง และยังแยกย่อยออกไปเป็นตามแต่ละภาค, จังหวัด และอำเภอ ส่วนจีนนั้นมีศูนย์ฝึกเยาวชนอยู่ 43 แห่ง ทางด้านมาเลเซียมี 123 แห่ง และพยายามจะขยายให้ได้ 300 แห่งภายในปี 2020

แม่พิมพ์ลูกหนัง

นอกจากปริมาณนักเตะที่จะต้องมีเพียงพอกับความต้องการและสร้างอย่างต่อเนื่องแล้ว คุณภาพก็เป็นสิ่งที่ต้องมาควบคู่กันไปด้วย ทำให้การพัฒนาโค้ชผู้เป็นแม่พิมพ์จึงเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้

“สิ่งสำคัญสำหรับงานเทคนิคคือการสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างคน สร้างกีฬา สร้างผู้ฝึกสอน สร้างวิทยากร นี่คือสิ่งที่ฝ่ายเทคนิคต้องทำ” คุณสาวินเริ่มกล่าว

“เพราะฉะนั้น งานส่วนหนึ่งของทีมเทคนิคก็คือการให้การศึกษา พัฒนาผู้ฝึกสอน พัฒนาวิทยากร ให้เรามีปริมาณที่มาก ถ้าเรามีปริมาณที่มาก สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการแข่งขัน ยิ่งมีการแข่งขันสูงเท่าไร ก็มีการพัฒนามากขึ้นเท่านั้น”

อย่างเมื่อปีที่แล้ว เกาหลีใต้ได้มีการอบรมโค้ช เอเอฟซี ไลเซนส์ ทั้งสิ้น 52 ครั้ง เพื่อผลิตโค้ชระดับไลเซนส์ให้ได้ 1,150 คน ขณะที่ตั้งเป้าว่าจะมีโค้ชอยู่ในระบบให้ได้ 160,000 คนก่อนปี 2018 ซึ่งจะเห็นว่า แม้แต่ชาติที่พัฒนาแล้ว ก็ยังต้องพัฒนาบุคลากรทางด้านโค้ชอยู่

หรือแม้กระทั่งประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย ก็มีแผนเพิ่มจำนวนโค้ชให้ได้ 2,472 คนในปี 2020 จากที่มีอยู่ 565 คน เช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่มีเริ่มขยับตัวบ้างแล้วเมื่อต้นปี หลังจากที่มีโค้ชที่มีใบประกาศเพียง 167 คน ซึ่งทำให้ผลิตนักเตะที่มีคุณภาพออกมาไม่เพียงพอ

ขณะที่เวียดนามก็มีแผนยกระดับคุณภาพโค้ชและสนับสนุนให้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ยังต่างแดน เหมือนอย่างมาเลเซีย ที่มี ลิม ทอง คิม ผู้เคยทำงานเป็นโค้ชทีมเยาวชนให้กับบาเยิร์น มิวนิค และเคยปลุกปั้นนักเตะอย่าง ฟิลิปป์ ลาห์ม, บาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์, โทนี่ โครส, มัทส์ ฮุมเมิลส์ รวมถึง โธมัส มุลเลอร์ ก่อนจะกลับสู่บ้านเกิดเพื่อมารับตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการพัฒนาฟุตบอลแห่งชาติ (National Football Development Programme) ในปี 2013

7

“ในอนาคตมาเลเซียจะเป็นทีมที่น่ากลัวนะ เพราะเขาเริ่มมีการพัฒนาอย่างจริงจัง ลิม ทอง คิม เขามีคอนเน็คชั่นที่ยุโรปจากการคุมบาเยิร์นเป็นสิบปี แล้วคนๆนี้กำลังจะพัฒนาวงการฟุตบอลในมาเลเซีย เท่าที่ผมรู้ก็คือชุดที่มาเตะชิงแชมป์อาเซียน รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี เขาเอาชุดสำรองมาเล่น ส่วนชุดใหญ่เก็บตัวเล่นอยู่ที่ยุโรป พวกผมทำการบ้านทุกอย่างว่าใช่ชุดนั้นไหม ซึ่งก็ใช่จริงๆ” คุณสาวินกล่าวเพิ่มเติม

“ผมอยากเห็นโค้ชคนไทยทำงานในระดับสากล ในแง่ของเทคนิค อยากเห็นคนไทยทำงานในสโมสรยุโรป ซึ่งทุกวันนี้ก็มีคนไทยบางคนที่ไปเรียนไลเซนส์ถึงที่นั่น ผมพอรู้มาบ้าง คนเหล่านั้นเราก็พยายามติดตาม ไม่แน่ว่า อนาคตอาจได้ร่วมงานกัน”

“หลายคนอาจจะบอกว่าเพ้อฝัน แต่ผมบอกว่าหากไม่คิด เราก็จะไม่ได้ทำ และถ้าไม่ทำ มันก็จะไม่เกิด ดังนั้นเราจึงต้องคิด เพื่อให้มันเกิด นั่นคือเหตุผลที่เราต้องสร้างผู้ฝึกสอน”

สังคม รากฐานสุดสำคัญของเกมลูกหนัง

จากการเก็บข้อมูลของฟีฟ่า เยอรมันซึ่งเป็นแชมป์โลกหนล่าสุด คือชาติที่มีนักฟุตบอลที่ลงทะเบียนกับทางสมาคมมากที่สุดในโลก (6.3 ล้านคน) คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด ส่วนบราซิลคือชาติที่มีจำนวนนักเตะเป็นสัดส่วนมากที่สุดในโลก คิดเป็น 27 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศ บ่งบอกได้ถึงความนิยมเกมลูกหนังในแดนแซมบ้าได้เป็นอย่างดี

และหากเทียบตามสัดส่วนของจำนวนประชากรแล้ว ทวีปเอเชียถือว่ามีนักฟุตบอลเป็นอัตราส่วนน้อยที่สุดในโลก เพียง 2.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลงานในระดับนานาชาติยังด้อยกว่าทวีปอื่นๆ อย่างยุโรป, อเมริกาใต้ หรือแอฟริกา

ดังนั้น Grassroot (รากแก้วของสังคม) จึงเป็นพื้นฐานที่ขาดไม่ได้หากต้องการพัฒนาเกมลูกหนัง เพราะถ้าทุกคนสนใจฟุตบอลแล้ว ก็จะปลูกฝังให้คนอื่นๆ มีใจรักในกีฬาชนิดนี้ตามไปด้วย ลองคิดภาพดูง่ายๆว่าภายในครอบครัว ถ้าพ่อแม่ชอบดูฟุตบอล ก็จะสนับสนุนให้ลูกเอาดีทางด้านนี้ และเมื่อมีหลายครอบครัวส่งบุตรหลายไปฝึกหัดฟุตบอลมากขึ้น เด็กๆก็จะมีเพื่อนร่วมรุ่นเล่นมากขึ้น ก็จะมีความสนุกสนาน ไม่ต้องข้ามรุ่นไปเล่นกับผู้ใหญ่เหมือนสมัยก่อน ที่กลายเป็นตัวฉุดพัฒนาการของเด็กหลายๆคนไปเลยก็มี เมื่อพวกพี่ๆไม่ส่งบอลให้

“Grassroot ผมมองว่ามันเป็นกิจกรรมที่ทำให้ทุกคนหันมาสนใจ ทำยังไงก็ได้ให้คนสนใจเข้ามาเล่นและมีความสุขกับมัน จะไปดูบอลหรือจะเตะบอลในสนามก็แล้วแต่ ขอแค่มีส่วนร่วม ทำยังไงให้เขามีส่วนร่วม เราเองมีความคิดที่จะจัดฟุตบอลคลีนิกตามเกมไทยลีกที่ต่างๆ เหมือนกัน”

หรืออย่างในตอนนี้ ทางสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ก็มีโครงการจะสร้างสนามหญ้าเทียมขนาดย่อม 40X20 เมตร จำนวน 4 สนาม บริเวณมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และบริเวณศูนย์ฝึกเทควันโดของการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองจาก Limonta Sport ผู้ผลิตสนามหญ้าเทียมพาร์ทเนอร์ของฟีฟ่า ตามโครงการ Mini Pitch Scheme ของเอเอฟซี เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้เล่นกัน

ส่วนในระดับเอเชีย การส่งเสริมฟุตบอลระดับรากแก้วที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือการ์ตูนเรื่อง “กัปตันซึบาสะ” ของญี่ปุ่น ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆ หันมาเล่นฟุตบอลกันมากขึ้น จนกลายเป็นกีฬาอันดับ 1 ของประเทศ แซงหน้าเบสบอลไปโดยปริยาย จนปัจจุบันบุคลากรลูกหนังของ JFA ไม่ว่าจะเป็นนักเตะ, โค้ช หรือผู้ตัดสิน มีมากที่สุดเป็นอันดับ 7 ของโลกไปแล้ว ด้วยจำนวนกว่า 5 ล้านคน (โดยอันดับ 1 ยังคงเป็นบราซิลที่ 16.2 ล้านคน) และในปี 2022 พวกเขาตั้งเป้าไว้ว่าจะสร้างบุคลากรให้ได้ 6.4 ล้านคน

ขณะที่ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกอย่างจีน ก็ได้เริ่มแผนพัฒนาลูกหนังแห่งชาติไปเมื่อปีที่แล้ว โดยคาดหมายว่าจะให้เยาวชน 30 ล้านคนได้เล่นฟุตบอลในโรงเรียน 50,000 แห่งก่อนปี 2020 เพื่อเป็นรากฐานในการนำไปสู่ความเป็นเต้ยแห่งลูกหนังให้ได้ภายในปี 2050

แม้แต่ชาติที่มีขนาดเล็กอย่างสิงคโปร์ ก็ยังให้ความสำคัญกับ Grassroot เพื่อให้มีตัวเลือกในทีมชาติมากขึ้น ด้วยการริเริ่มโครงการให้เด็กๆ ที่ไม่ได้เล่นทีมฟุตบอลโรงเรียน ได้มีโอกาสลงเตะอย่างสม่ำเสมอ โดยในตอนนี้มีเด็กๆ อยู่ 3,600 คนในโครงการ จากสถานศึกษาและศูนย์ฝึกฟุตบอล 30 แห่ง และมีเป้าหมายจะขยายเป็น 15,600 คน จาก 130 แห่งก่อนปี 2020

ส่วนชาติอันดับ 1 ในอาเซียนทั้งที่กีฬาฟุตบอลไม่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 อย่างฟิลิปปินส์ ก็มีการเปิดคลีนิคฟุตบอลอย่างเป็นล่ำเป็นสันตั้งแต่ปี 2012 พร้อมกับตั้งเป้าว่า จะผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลก ยู-17 รอบสุดท้ายในปี 2019 ให้ได้ และในปีนี้พวกเขาก็เริ่มก่อตั้งยูธลีกในรุ่น U-7, U-9, U-11, U-13, U-15, U-17 และ U-19 ไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ต้องมีฝ่ายเทคนิค เพื่อให้ทีมชาติไทยยังสามารถรับมือแข่งขันกับการแข่งขันที่รุนแรงในระดับนานาชาติ ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต

“ผมอยากสร้างระบบ เพราะวันหนึ่งผมอาจไม่ได้อยู่ตรงนี้ ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองจะอยู่ถึง 10-20 ปี ผมคิดแค่ว่าช่วงเวลาที่ผมทำงาน มันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง”

“ผมมีความสนุก ความสุขในสิ่งที่ได้ทำ สักวันหนึ่งผมเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่เก่งกว่าเรา และเขาก็จะมาสานต่ออะไรที่มันดี ผมเชื่อว่าเขาจะเข้ามาสร้าง แล้ววันหนึ่งที่ผมถอย ผมจะมีความสุขมาก ว่าสิ่งเราได้ทำไว้ถูกสานต่อ นี่คืองานของเรา” คุณสาวินทิ้งท้าย

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ คนเบื้องหลัง : เจาะลึก "ฝ่ายเทคนิค" แท้จริงแล้วทำอะไร?!?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook