ประวัติกีฬาโอลิมปิก (opening ceremony london 2012)

ประวัติกีฬาโอลิมปิก (opening ceremony london 2012)

ประวัติกีฬาโอลิมปิก (opening ceremony london 2012)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook


Opening Ceremony London 2012


โอลิมปิก 2012 เริ่มขึ้นแล้วโดยจะมีพิธีเปิดในวันนี้ ซึ่งจะมีการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆให้นักกีฬาของแต่ละประเทศลงชิงความเป็นหนึ่ง วันนี้เรามาดูกันว่า กีฬาโอลิมปิกของเรานั้นมีประวัติความเป็นมาอย่างไร?

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในสมัยโบราณ



ก่อนหน้าคริสตกาลกว่า 1,000 ปี การแข่งขันกีฬาได้ดำเนินการกันบนยอดเขาโอลิมปัส ในประเทศกรีซ โดยนักกีฬาจะต้องเปลือยกายเข้าแข่งขัน เพื่อประกวดความสมส่วนของร่างกาย

และยังมีการต่อสู้บางประเภท เช่น กีฬาจำพวกมวยปล้ำ เพื่อพิสูจน์ความแข็งแรง ผู้ชมมีแต่เพียงผู้ชาย ห้ามผู้หญิงเข้าชม ดังนั้นผู้ชมจะต้องปีนขึ้นไปบนยอดเขา ครั้นต่อมามีผู้นิยมมากขึ้น สถานที่บนยอดเขาจึงคับแคบเกินไป ไม่เพียงพอที่จุทั้งผู้เล่นและผู้ชมได้ทั้งหมด

ดังนั้น เมื่อ 776 ปีก่อนคริสตกาล ชาวกรีกได้ย้ายที่แข่งขันลงมาที่เชิงเขาโอลิมปัส และได้ปรับปรุงการแข่งขันเสียใหม่ให้ดีขึ้น โดยให้ผู้เข้าแข่งขันสวมกางเกง พิธีการแข่งขันจัดอย่างเป็นระเบียบเป็นทางการ

มีการบันทึกการแข่งขันอย่างชัดเจน มีจักรพรรดิมาเป็นองค์ประธาน อนุญาตให้สตรีเข้าชมการแข่งขันได้ แต่ไม่อนุญาตให้เข้าแข่งขัน


 

ประเภทกรีฑาที่แข่งขันที่ถือเป็นทางการในครั้งแรกนี้ มี 5 ประเภท คือ วิ่ง, กระโดด, มวยปล้ำ, พุ่งแหลน และขว้างจักร ผู้เข้าแข่งขันคนหนึ่ง ๆ จะต้องเล่นทั้ง 5 ประเภท โดยผู้ชนะจะได้รับรางวัล คือ มงกุฎที่ทำด้วยกิ่งไม้มะกอกที่มีชื่อว่า ช่อลอเรล ซึ่งขึ้นอยู่บนยอดเขาโอลิมปัสนั่นเอง และได้รับเกียรติเดินทางท่องเที่ยวไปทุกรัฐ ในฐานะตัวแทนของพระเจ้า

 



การแข่งขันได้จัดขึ้น ณ เชิงเขาโอลิมปัส แคว้นอีลิส ที่เดิมเป็นประจำทุกสี่ปี และถือปฏิบัติติดต่อกันมาโดยไม่เว้น เมื่อถึงกำหนดการแข่งขัน ทุกรัฐจะต้องให้เกียรติ หากว่าขณะนั้นกำลังทำสงครามกันอยู่ จะต้องหยุดพักรบ และมาดูนักกีฬาของตนแข่งขัน หลังจากเสร็จจากการแข่งขันแล้ว จึงค่อยกลับไปทำสงครามกันใหม่

ประเภทของการแข่งขันได้เปลี่ยนแปลงไปบ้างในระยะต่อๆมา โดยมีการพิจารณาและลดประเภทของกรีฑาเรื่อยมา อย่างไรก็ดีในระยะแรกนี้กรีฑา 5 ประเภทดังกล่าวที่จัดแข่งขันกันในครั้งแรก ได้รับเกียรติให้คงไว้ ซึ่งเรียกกันว่า เพ็นตาธรอน หรือ ปัญจกรีฑา ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการรำลึกถึงกำเนิดของกรีฑา โดยในปัจจุบันนี้ก็ยังมีการแข่งขันกันอยู่ ซึ่งประเภทของปัญจกรีฑาได้เปลี่ยนไปตามเวลา

การแข่งขันได้ดำเนินติดต่อกันมานับเป็นเวลาถึง 1,200 ปี จนมาในปี พ.ศ. 936 (ค.ศ. 393) จักรพรรดิธีโอดอซิดุชแห่งโรมันได้ทรงประกาศให้ยกเลิกการแข่งขันนั้นเสีย เพราะเกิดมีการว่าจ้างกันเข้ามาเล่นเพื่อหวังรางวัล และผู้เล่นปรารถนาสินจ้างมากกว่าการเล่นเพื่อสุขภาพของตน รวมทั้งมีการพนันขันต่อ อันเป็นทางวิบัติซึ่งผิดไปจากวัตถุประสงค์เดิมคือ ผู้เข้าแข่งขันทั้งหลายต่างก็อยากได้ช่อลอเรลซึ่งเป็นรางวัลของผู้ชนะ ด้วยเหตุนี้เอง พระองค์จึงสั่งให้ล้มเลิกการแข่งขันนี้เสีย

ตลอดระยะเวลาที่มีการแข่งขันนั้น ได้จัดขึ้น ณ บริเวณที่แห่งเดียว คือ เชิงเขาโอลิมปัส แคว้นอีลิส จึงเรียกการแข่งขันตามชื่อของสถานที่ว่า “การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก”



กีฬาโอลิมปิก (สมัยใหม่)
 


การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (Olympic Games) หรือ โอลิมปิกส์ (Olympics) เป็นการแข่งขันกีฬาหลายชนิด จากหลายประเทศทั่วโลกร่วมแข่งขัน โดยจัดขึ้นทุก 4 ปี และมีการแบ่งออกเป็น โอลิมปิกฤดูร้อน และ โอลิมปิกฤดูหนาว
    
- เจ้าภาพโอลิมปิก


การกำหนดว่าประเทศใดจะได้เป็นเจ้าภาพในครั้งต่อไปนั้น กระทำขึ้น ณ สถานที่ที่การแข่งขันครั้งล่าสุดดำเนินอยู่นั้นเอง คณะกรรมการโอลิมปิกสากลจะพิจารณาบรรดาประเทศสมาชิกที่เสนอขอจัด

และมีอำนาจเด็ดขาดที่จะลงมติให้ประเทศใดเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการในวันพิธีเปิดการแข่งขันครั้งล่าสุดนั้น ประเทศที่ได้รับพิจารณาให้เป็นเจ้าภาพถือได้ว่าเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้รับความไว้วางใจ อันก่อให้เกิดความภาคภูมิใจต่อปวงชนทั้งประเทศ
 
- ประเทศสมาชิกโอลิมปิก
 
ในปัจจุบัน ประเทศทั่วโลกเป็นสมาชิกโอลิมปิก 197 ประเทศ แต่บางประเทศไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขัน เพราะเป็นประเทศเล็ก ขาดความพร้อมในเรื่องตัวนักกีฬา ท่านบารอน ปิแอร์เดอ ดูเบอร์แตง ได้ให้นิยามการเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกว่า ผู้เข้าร่วมการแข่งขันนั้นไม่เลือกผิวพรรณ ศาสนา ลัทธิการปกครอง แต่อย่างใด ความหมายการแข่งขันเพื่อให้นักกีฬาชาติต่างๆ ได้มาร่วมชุมนุมกัน

ตัวนักกีฬาเปรียบเสมือนทูตสันถไมตรีส่งมาเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ ร่วมเล่นสนุกสนานด้วยความเห็นอกเห็นใจ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดทั้งสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน อันนำมาซึ่งความสามัคคีและเพื่อสันติภาพของโลก การแพ้หรือชนะไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ “การเข้าร่วม”
 
- รางวัลในกีฬาโอลิมปิก
 
ในสมัยก่อน รางวัลของการแข่งขันในสมัยโบราณผู้ที่ชนะจะได้รับการสรรเสริญมาก รางวัลที่ให้แก่ผู้ชนะในสมัยนั้น คือ กิ่งไม้มะกอกซึ่งตัดมาจากยอดเขาโอลิมปัส อันเป็นที่สิงสถิตของพระเจ้าซีอูซ แล้วทำเป็นวงคล้ายมงกุฎ จักรพรรดิจะเป็นผู้พระราชทานครอบลงบนศีรษะของผู้ชนะนั้น ๆ พร้อมทั้งได้สร้างอนุสาวรีย์ไว้ให้ชนรุ่นหลังศึกษาและชื่นชมต่อไป

สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกสมัยปัจจุบันแบ่งรางวัลเป็นสามระดับ คือ เหรียญทอง, เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ให้แก่ผู้ชนะเลิศ, ผู้ชนะเลิศที่สอง และที่สามตามลำดับ ส่วนอันดับที่สี่ไปถึงอันดับที่หก จะได้ประกาศนียบัตรการเข้าร่วมการแข่งขัน
 
 
- คบเพลิงโอลิมปิก

สมัยก่อน โคมไฟโอลิมปิก เมื่อมีการแข่งขันโอลิมปิกจะมีการจุดไฟกองใหญ่ขึ้นบนยอดเขาโอลิมปัส เพื่อให้ความสว่างไสว และเพื่อเป็นสัญญาณประกาศให้คนทั่วไปได้ทราบว่า การเฉลิมฉลองได้เริ่มขึ้นแล้ว พิธีการจุดไฟนั้น เริ่มแรกทำบนยอดเขาโอลิมปัส

โดยใช้แว่นรวมแสงอาทิตย์ไปยังเชื้อเพลิง เมื่อติดไฟแล้ว จึงนำตะเกียงต่อเอาไว้ ไฟกองใหญ่จะคงลุกโชติช่วงต่อไปจนตลอดงานฉลอง ส่วนตะเกียงนั้นจะมีการวิ่งถือไปทั่วทุกนครรัฐ ด้วยการส่งต่อกันไปเป็นทอด ๆ จากนักวิ่ง คนละ 2 ไมล์

หากผ่านทะเลหรือแม่น้ำก็จะลงเรือข้ามฟากโดยไฟไม่ดับ ไฟนี้ชาวกรีก ถือว่าเป็นไฟศักดิ์สิทธิ์ และความสงบสุขของชาวกรีก ซึ่งพระเจ้าจะทรงพระพิโรธต่อบุคคลที่ไม่สนใจในกิจการนี้

โอลิมปิกปัจจุบันก็ยังคงรักษาประเพณีเรื่องการจุดไฟไว้ดังเดิมทุกประการ กล่าวคือ ก่อนจะมีการแข่งขันจะมีพิธีจุดไฟ ณ เขาโอลิมปัส ผู้จุดคือ สาวพรหมจารีย์ผู้บริสุทธิ์ เป็นผู้ต่อไฟจากแว่นรวมแสงของดวงอาทิตย์ด้วยคบเพลิง และไฟนี้จะถูกแจกจ่ายไปยังประเทศสมาชิกทั่วโลก และข้ามน้ำข้ามทะเลไปสู่ประเทศเจ้าภาพ

และมีการวิ่งถือคบเพลิงส่งต่อกันไปจุดที่กระถางใหญ่บริเวณงานในวันแรกของพิธีเปิดการแข่งขัน ไฟจะต้องไม่ดับตั้งแต่เริ่มจุด ณ ภูเขาโอลิมปัส จนกว่าจะสิ้นสุดการแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนั้นๆ


 
- สัญลักษณ์โอลิมปิก
 
ธงโอลิมปิกมีผืนธงเป็นสีขาว ขนาดมาตรฐานยาว 3 เมตร กว้าง 2 เมตร ส่วนเครื่องหมายห้าห่วงคล้องกันอยู่บนกลางธง ขนาด 2 เมตร คูณ 0.60 เมตร

มี สีฟ้า สีเหลือง สีดำ สีเขียว สีแดง ตามลำดับจากซ้ายไปขวา คล้องไขว้กันอยู่ตรงกลางสองแถว แถวบน 3 ห่วง แถวล่าง 2 ห่วง

ห่วงสีที่คล้องกันอยู่ตรงกลางธงบนพื้นธงสีขาว รวมเป็น 6 สี โดยแท้จริงแล้ว ห้าห่วงหมายถึง ห้าส่วนของโลกที่อยู่ในโอบอ้อมของ “โอลิมปิกนิยม”

มิเจาะจงเป็นห้าทวีปในโลกอย่างที่เข้าใจกัน แต่บังเอิญห้าทวีปนี้ก็เป็นห้าส่วนของโลกก็เลยอนุโลมกันไปเช่นนั้น

ส่วนสีที่ห่วง 5 สี มิได้หมายถึงสีประจำทวีป ซึ่งสีทั้งหมด 6 สี รวมทั้งสีขาวที่เป็นพื้นธง หมายความว่า ธงชาติของประเทศต่าง ๆ ในโลกประกอบด้วยสีใดสีหนึ่งหรือมากกว่านั้นในจำนวนหกสีนั้น และไม่มีธงชาติของประเทศใดที่มีสีนอกเหนือไปจากหกสีนี้
 
 
ด้านล่างของห่วงมีคำอยู่ 3 คำ ซึ่งเป็นภาษาโรมัน แต่ละคำมีความหมายดังต่อไปนี้
 
- Citius (swifter) : ความเร็ว ผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องวิ่งให้เร็วที่สุด
- Altius (higher) : ความสูง ผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องทำให้สูงที่สุด
- Fortius (stronger) : ความแข็งแรง ผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องมีความแข็งแกร่งที่สุด



--------------------------------------------------------------



โอลิมปิก 2012


 
โอลิมปิก2012 จะจัดขึ้น ณ กรุงลอนดอน 2012 ซึ่งเป็นโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 30 ในช่วงระหว่าง วันที่ 27 กรกฎาคม-12 สิงหาคม 2555
 
ลอนดอน เป็นเมืองแรกที่เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกอย่างเป็นทางการถึง 3 ครั้ง (ครั้งที่ 1 ในปี 2451 ครั้งที่ 2 ในปี 2491 และครั้งที่ 3 ในปี 2555)
 
ลอนดอนถูกเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกครั้งล่าสุดนี้ ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2548 ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยชนะการโหวดกับประเทศคู่แข่งได้แก่ มอสโคว นิวยอร์คซิตี้ มาดริด และปารีส โดยใช้การโหวดทั้งหมด 4 รอบ หัวหน้าผู้ดำเนินการโหวดคือ อดีตแชมป์กีฬาโอลิมปิก Sebastian Coe     
 
ในด้านการเตรียมความพร้อม อังกฤษได้พัฒนาพื้นที่ที่จะต้องใช้เป็นสถานที่ในการแข่งขันกีฬาประเภทต่าง ๆ โดยจะใช้สนามที่หลากหลาย ซึ่งส่วนใหญ่ มีความพร้อมมาตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มมีการโหวดการเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกอยู่แล้ว สนามหลักๆ

ได้แก่ Wembley Stadium, Wembley Arena, Wimbledon All England Club, Lord's Cricket Ground, The O2 Arena, Earls Court Exhibition Centre, Weymouth and Portland National Sailing Academy, and the Excel Centre
 
 
- การโหวตเจ้าภาพ โอลิมปิก 2012

จากการโหวตขั้นต้น เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2546 มีเมืองสำคัญจำนวน 9 เมืองที่จะได้รับสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิก ปี 2012 นี้ อันได้แก่ ฮาวาน่า อิสตันบูล ไลพ์ซิก ลอนดอน มาดริด มอสโคว นิวยอร์คซิตี้ ปารีส และ ดิโอเดอจานิโร

ต่อมา วันที่ 18 พฤษภาคม 2547 ทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ได้ประเมินคะแนนความเหมาะสมของแต่ละเมืองที่ต้องการเป็นเจ้าภาพ อันได้แก่ เมือง ลอนดอน มาดริด มอสโคว นิวยอร์ค และ ปารีส

โดยแต่ละเมืองได้ส่งเอกสารประกอบการสมัคร และได้รับการตรวจเยี่ยมสถานที่จากทีมงานของคณะกรรมการโอลิมปิกสากลระหว่างเดือน กุมภาพันธ์ - มีนาคม 2548 โดยประเทศที่ดูเหมือนจะมีความพร้อมมากที่สุดก็คือ ที่ ปารีส และเมืองที่มีความพร้อมรองลงมาก็คือที่ ลอนดอน ตามมาด้วยเมืองนิวยอร์คและมาดริด

จนกระทั่ง วันที่ 6 กรกฎาคม 2548 การตัดสินครั้งสุดท้ายได้ถูกประกาศในงาน 117th IOC Session ที่สิงคโปร์ โดยใช้การโหวต ซึ่งเมืองแรกที่ถูกคัดออก คือ มอสโคว ต่อมาคือ เมืองนิวยอร์ค และ มาดริด ในการโหวตรอบที่สี่ ซึ่งเป็นรอบสุดท้าย ลอนดอน สามารถเอาชนะ ปารีสไปด้วยผลโหวต 54 ต่อ 50

ในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน เจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ยืนยันผลการโหวต ให้ เมืองลอนดอน ได้รับสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬา โอลิมปิก ประจำปี 2012


 
- การนับถอยหลังสู่วันจัด โอลิมปิก
 
ระหว่างงานปิดการแข่งขัน กีฬาโอลิมปิก ปี 2008 ที่ กรุงปักกิ่ง ธงโอลิมปิกได้ถูกส่งมอบให้กับนายกเทศมนตรีลอนดอน 1 เดือนต่อมา ธงโอลิมปิก และพาราลิมปิกได้ถูกติดตั้งไว้ที่ ลอนดอน ซิตี้ฮอลล์
 
นาฬิกานับถอยหลังได้ติดตั้งไว้ที่จัตุรัสทราฟัลการ์ และเริ่มนับถอยหลัง 500 วันก่อนถึงวันเปิดโอลิมปิก 


 
- สัญลักษณ์ หรือเครื่องหมาย ประจำ โอลิมปิก 2012 (โลโก้)
 
สัญลักษณ์การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 แบบ แบบแรกถูกใช้สำหรับการโหวตการเป็นเจ้าภาพ ซึ่งได้รับการออกแบบโดย Kino Design และแบบที่สอง เป็นมาตรฐานที่จะใช้ในงานแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2012
 
สัญลักษณ์แบบแรกนั้น เป็นริบบิ้นที่ประกอบไปด้วย สีน้ำเงิน เหลือง ดำ เขียว และแถบสีแดง พันรอบอักษร "ลอนดอน 2012" เพื่อสื่อถึงรูปร่างของแม่น้ำเทมทางตะวันออกของลอนดอน
 
สัญลักษณ์แบบที่สอง ออกแบบโดย Wolff Olins ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2550 และมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 400,000 ปอนด์ สัญลักษณ์ใหม่นี้ ได้นำเสนอในส่วนของตัวเลขปีที่จัดกีฬาโอลิมปิก คือ ปี 2012 และมีรูป

วงแหวนโอลิมปิกทั้ง 5 อยู่ในสัญลักษณ์นี้ด้วย สัญลักษณ์นี้ จะถูกใช้ทั้งกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ใช้สัญลักษณ์แบบเดียวกัน
 
โอลิมปิก 2012 ลอนดอนเกมส์ จะใช้สัญลักษณ์นี้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือประชาชนวัยรุ่น ซึ่งหลังจากที่เปิดเผยสู่สื่อสาธารณะแล้ว ในช่วงแรก จากผลสำรวจของ BBC ได้ผลในเชิงลบเป็นอย่างมาก กว่า 80% ให้ผลโหวตที่คะแนนต่ำสุด

มีสื่อหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ใช้โลโก้ของตัวเองในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2011 ประเทศอิหร่านได้แสดงความไม่พอใจที่สัญลักษณ์โอลิมปิกได้แสดงข้อความว่า Zion และตั้งใจที่จะคว่ำบาตร

โดยได้ยื่นคำร้องกับคณะกรรมการโอลิมปิกสากล โดยอธิบายว่า สัญลักษณ์ดังกล่าว แสดงถึงการเหยียดผิวโดยร้องขอให้ยกเลิกการใช้สัญลักษณ์ดังกล่าว ซึ่งทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากลได้ปฏิเสธคำร้องแบบเงียบ ๆ ซึ่งทางอิหร่านก็ยอมรับ
 
นักเขียน Blog ของ BBC ได้กล่าวถึง โลโก้โอลิมปิก 2012 ว่า ได้รับการตอบรับจากคนทั้งประเทศ แต่ไม่ใช่ในทางที่ดีอย่างที่หน่วยงานจัดโอลิมปิกคาดหวังไว้ ประกอบกับ ในเดือนตุลาคม 2008 มีรายงานจากร้านค้าขายเสื้อผ้ากีฬาชั้นำหลายร้าน ซึ่งมีโซนเสื้อผ้าโอลิมปิกอยู่เพียง 5% เท่านั้น


 
- เหรียญรางวัล
 
จำนวนทั้งหมดของเหรียญรางวัล มีจำนวนกว่า 4,700 เหรีญ (รวมโอลิมปิกและพาราลิมปิก)

จัดทำโดย Royal Mint เหรียญรางวัลถูกออกแบบโดย David Watkins น้ำหนักโดยประมาณ 375-400 กรัม และหนา 7 มิลลิเมตร

สลักด้วยประเภทกีฬาและตัวอักษรที่ระลึกอยู่ที่ขอบเหรียญ ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปของเทพเจ้าแห่งชัยชนะของกรีก ก้าวเดินจากวิหารพาร์ทีนอนในกรุงเอเธนส์

อีกด้านหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเจ้าภาพ ได้แก่แม่น้ำเทมป์และสัญลักษณ์แสดงพลังของนักกีฬา


 
- การวิ่งคบเพลิง     
 
จะเริ่มวิ่งระหว่างวันที่ 19 พฤษภาคม - 27 กรกฎาคม 2012 รวมระยะเวลา 70 วัน โดยจะวิ่งผ่านทั้งหมด 6 เกาะ โดยใช้ผู้ถือคบเพลิงประมาณ 8,000 คน โดยใช้ระยะทางวิ่ง 300 เมตรต่อคน

โดยจุดเริ่มต้นของคบเพลิงอยู่ที่ แลนด์เอน (Land's End) คบเพลิงจะใช้เวลา 1 วันนอกสหราชอาณาจักร ก่อนที่จะถึงดับลินในวันที่ 6 มิถุนายน 2012 การวิ่งคบเพลิงจะเน้นผ่านสถานที่สำคัญ เช่น สถานที่ที่เป็น National Heritage Site (สถานที่สำคัญ)

สถานที่ที่มีความหมายด้านการกีฬา สถานที่ที่เป็นอนุสรณ์ทางการกีฬา โรงเรียนที่จดทะเบียนกับเครือข่ายของ Get Set School (ทางด้านโอลิมปิกและพาราลิมปิก)

พื้นที่สีเขียวและเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ สถานที่จักกิจกรรมของชุมชนที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ สถานที่จัดงานสำคัญต่างๆ


 

กำหนดการเปิดงานแข่งขัน กีฬาโอลิมปิก

งานเปิดจะใช้ชื่อว่า "The Isles of Wonder" โดย Danny Boyle ผู้ชนะรางวัลออสก้าในสาขากำกับการแสดง จะเป็นผู้กำกับศิลปการแสดง

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2012 มีการยืนยันว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ จะเสด็จเป็นประธานในพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิดอย่างเป็นทางการด้วย


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook