เจาะลึกประเทศโปแลนด์ เจ้าภาพร่วมยูโร 2012

เจาะลึกประเทศโปแลนด์ เจ้าภาพร่วมยูโร 2012

เจาะลึกประเทศโปแลนด์ เจ้าภาพร่วมยูโร 2012
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เพื่อเป็นการต้อนรับศึก "ยูโร 2012" ที่กำลังจะมาเยือนในอีกเร็วๆ นี้ เรามาทำความรู้จักกับประเทศโปแลนด์ เจ้าภาพร่วมในการเเข่งขันครั้งนี้กันครับ

โปแลนด์ เป็นประเทศในตอนกลางของยุโรป มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่แปดในยุโรป มีทะเลสาบมากเป็นอันดับสองรองจากฟินแลนด์ คือมีอยู่ถึง 9,000 แห่ง เขตแดนด้านตะวันตกจรดเยอรมนี ทางใต้จรดสาธารณรัฐเช็ก และ สโลวาเกีย ทางตะวันออกจรด ยูเครน และ เบลารุส ส่วนทางเหนือจรดทะเลบอลติก ลิทัวเนีย และแคว้นคาลีนินกราดของ รัสเซีย โปแลนด์ เคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของ รัสเซีย

ประเทศแห่งนี้ถูกขนานนามว่า "ดินแดนแห่งสงครามยุโรป" ก็คงไม่ผิดนัก โปแลนด์ เป็นเพียงชาติเดียวที่ต้องต่อสู้กับสงครามในยุโรป ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายของความขัดแย้งด้านอาวุธที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ นั่นคือสงครามโลกครั้งที่ 2 (นี่ไม่นับสงครามที่ต่อสู้กับ โซเวียต ในช่วงก่อนหน้านั้น)

ทหารและชาวโปแลนด์ กว่า 200,000 คน สังเวยชีวิตให้กับทหารฝ่ายนาซี เยอรมัน ที่มีกำลังและอาวุธยุโธปกรณ์ที่ทันสมัยกว่า ภายในระยะเวลาแค่ 63 วัน ทุกสิ่งที่คนในชาติทำไปก็เพื่อปกป้องกรุงวอร์ซอว์ ในทางกลับกันฝ่าย เยอรมัน ก็สูญเสียกำลังพล และ เครื่องบินรบจำนวนไม่น้อย ซึ่งนั่นเป็นชนวนเล็กๆ ที่ส่งผลให้ฝ่ายอักษะปราชัยในสงครามโลก ครั้งที่ 2 ด้วย เพราะถือเป็นการซื้อเวลาให้ ฝรั่งเศส และ สหราชอาณาจักร ได้จัดสรรกำลังพลต่อต้านการบุกรุก รวมทั้งตัดกำลังพลพวก นาซี ก่อนรุกรานเข้าสู่ โซเวียต

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โปแลนด์ กลายเป็นรัฐบริวารที่เป็นคอมมิวนิสต์ของ สหภาพโซเวียต ภายใต้ชื่อสาธารณรัฐประชาชนโปแลนด์ (People's Republic of Poland) ในพ.ศ. 2532 การเลือกตั้งกึ่งเสรีครั้งแรกใน โปแลนด์ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดการดิ้นรนเพื่อเสรีภาพของขบวนการโซลิดาริตี (Solidarity movement) และเป็นการพ่ายแพ้ของผู้นำคอมมิวนิสต์ของ โปแลนด์ มีการก่อตั้งสาธารณรัฐโปแลนด์ที่ 3 (Third Polish Republic) ในปัจจุบัน ตามด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในปี พ.ศ. 2540 ในปี พ.ศ. 2542 โปแลนด์ ได้เข้าร่วมองค์การนาโต (NATO) และในปี พ.ศ. 2547 ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป

ทุกวันนี้ โปแลนด์ กลายเป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกใฝ่ฝันที่จะได้ไปเยี่ยมเยือนสักครั้งในชีวิต ด้วยความงดงามของวัฒนธรรม และความเรียบง่ายและเปี่ยมด้วยมิตรไมตรีของผู้คนในประเทศ เพราะที่นี่ถือว่ามีอัตราอาชญากรรมน้อยเป็นอันดับต้นๆ ของยุโรป

ข้อมูลทั่วไป

ภูมิประเทศ เป็นพื้นที่ราบเกือบทั้งประเทศ นอกจากบริเวณชายแดนทางใต้เป็นภูเขาทาทร้า (Tatra) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาคาร์เพเธี่ยน (Carpathian) และภูเขาซูดิตี้ (Sudety) ซึ่งมียอดเขาสูงที่สุดคือยอด Rysy (ริซี่) สูงจากระดับน้ำทะเล 8,200 ฟุต

ภูมิอากาศ ฤดูหนาว เดือนมกราคม อุณหภูมิเฉลี่ย -1 ถึง -5 องศาเซลเซียส ฤดูร้อน เดือนกรกฎาคม อุณหภูมิเฉลี่ย 16.5-19 องศาเซลเซียส

พื้นที่ 312,685 ตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 8 ของทวีปยุโรป (มีพื้นที่ประมาณ 3 ใน 5 ของไทย)

ประชากร 38.5 ล้านคน เป็นชาวโปลร้อยละ 98 อีกร้อยละ 2 มีเชื้อสายเยอรมัน, เบลารุส, ยูเครน, ลิทัวเนีย และอื่นๆ

ศาสนา ร้อยละ 98 นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันแคทอลิก นอกนั้นเป็นโปลิซออร์ธอด๊อกซ์ โปรเตสแตนท์ ลัทธิยูดา และมีมุสลิมเพียงเล็กน้อย

ภาษาราชการ ภาษาโปแลนด์ (เป็นภาษาในตระกูลสลาฟ) ชาวโปแลนด์ส่วนหนึ่งพูดภาษารัสเซีย และ เยอรมัน ได้

เมืองหลวง กรุงวอร์ซอ (ประชากร 1,635,000 คน)

วันชาติ 3 พฤษภาคม (Constitution Day)

สกุลเงิน สว้อตตี้ (Zloty ) 1 สวอทตี้ = 12.12 บาท

การปกครอง โปแลนด์ ปกครองแบบประธานาธิบดี และ รัฐสภา โดยประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง และอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี สภาผู้แทนราษฎรมี 460 ที่นั่ง วุฒิสภามี 100 ที่นั่ง ทั้ง 2 สภา ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี เศรษฐกิจ ปัจจุบัน โปแลนด์ มีระบบเศรษฐกิจแบบเสรี

การทักทาย มักแนะนำกันโดยใช้คำว่า "Pan" (Mr.) สำหรับชาย และ "Pani" (Miss, Mrs.) สำหรับหญิง ชายหนุ่มจะจุมพิตที่มือของหญิงที่สูงอายุกว่า และชายที่สูงวัยกว่าจะจุมพิตมือของหญิงที่อ่อนกว่าเวลาพบกัน แต่ชายหนุ่มจะไม่ทำเช่นนี้กับหญิงสาวที่มีอายุไล่เลี่ยกัน

"Dzien dobry" (จิน โดบรี) หมายถึง สวัสดี

"Dobry wieczor" (โดบรี วิซอร์) หมายถึง สวัสดีตอนเย็น

"Do Widzenia" (โด วิดเซอเนีย) หมายถึง ลาก่อน

สถานที่สำคัญ

ย่านเมืองเก่าของกรุงวอร์ซอว์ เมืองหลวงของ โปแลนด์ ซึ่งองค์การยูเนสโกประกาศให้เป็นหนึ่งในมรดกโลก ซึ่งสถาปัตยกรรมต่างๆ ในย่านนี้ได้ถูกสร้างขึ้นในราวปลายศตวรรษที่ 13 และถูกบูรณะจนเสร็จสมบูรณ์ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลง

จัตุรัสกลางเมือง และ อนุสาวรีย์ของกษัตริย์ซิกิมุนด์ อีกทั้งสิ่งก่อสร้างที่งดงามต่างๆ มากมายในช่วงศตวรรษที่ 15 ยังคงสวยงามอยู่จนทุกวันนี้

พระราชวังลาเซียนกี้ ในกรุงวอร์ซอว์ เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และเป็นพระราชวังทางประวัติศาสตร์ ที่ล้อมรอบด้วยสวนสวยงาม อันตั้งอยู่ใจกลางเมืองวอร์ซอว์ ปัจจุบันได้กลายเป็นที่เดินเล่นพักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชนทั่วไป และเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติเมื่อมาถึงโปแลนด์ พระราชวังแห่งนี้ได้เคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ของ ไทย เมื่อครั้งเสด็จประพาสวอร์ซอว์ ในปี ค.ศ. 1897

จัสนาโกร่า โมนาสเตรี่ (JASNAGORA MONASTERY) ศาสนสถานศูนย์กลางแห่งคริสต์ศาสนา โรมันคาทอลิกของชาวโปลิช ซึ่งเริ่มก่อสร้างในปี 1382 ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของภาพ BLACK MADONNA หรือภาพวาดของพระแม่ผู้บริสุทธิ์ และพระเยซูเมื่อตอนเยาว์วัย ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชน โดยเฉพาะในวันสำคัญๆ ทางศาสนาจะมีผู้คนมาสักการะพระรูปนี้เป็นจำนวนมาก

เทือกเขาทาทร้า (Tatra) ซึ่งตั้งอยู่ภาคใต้ของ โปแลนด์ เป็นสถานที่สูงที่สุดและสวยงามที่สุดแห่งเทือกเขา Carpathian ยอดเขาที่สูงที่สุดที่ของโปลิชทาทร้าคือ Rys สูง 2,499 เมตร ส่วนที่น่าสนใจมากที่สุดและที่นักท่องเที่ยวเข้าชมบ่อยครั้งมากที่สุดคือ ไฮทาทร้า หนึ่งในห้าของพื้นที่ทาทร้าตั้งอยู่ในโปแลนด์

เหมืองเกลือวีลิซกา (WIELICZKA SALTMINE) เหมืองเกลือที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดของ โปแลนด์ เป็นเหมืองใต้ดินที่มหัศจรรย์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และ รัฐบาลโปแลนด์ ได้ประกาศให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเมื่อปี 1994

และที่ทุกคนห้ามพลาดคือ พิพิธภัณฑ์ค่ายกักกันออสวิทซ์ (AUSCHWITZ CONCENTRATION CAMP) ซึ่งปัจจุบันดูแลโดยรัฐบาลของโปแลนด์ ซึ่งเริ่มจาก เยอรมัน เข้ายึด โปแลนด์ ได้ในปลายปี 1939 ความต้องการจะหาค่ายกักกันเชลยศึกต่างๆ จนมาพบสถานที่ที่รัฐบาลโปแลนด์ต้องการก่อสร้างเป็นสถานที่คุมขังนักโทษการเมืองจึงได้ดัดแปลงตามความต้องการของ นาซี และเริ่มต้นใช้ในช่วงมิถุนายน 1940 เป็นต้นมา ชาวยิวนับล้านสังเวยชีวิตด้วยวิธีรมก๊าซพิษที่สถานที่แห่งนี้

กว่าจะมาเป็นเจ้าภาพยูโร

การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ครั้งที่ 14 หรือ "ยูโร 2012 (2012 UEFA European Football Championship)" รอบสุดท้าย จะมีขึ้นที่ประเทศโปแลนด์-ยูเครน ในฐานะเจ้าภาพร่วม ระหว่างวันที่ 8 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2012 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่รายการแข่งขันฟุตบอลระดับทวีปหรือระดับโลกอุบัติขึ้นแถบยุโรปตะวันออก ขณะเดียวกันก็เป็นเจ้าภาพร่วมครั้งที่ 3 ต่อจาก เบลเยียมเนเธอร์แลนด์ 2000, ออสเตรีย-สวิตเซอร์แลนด์ 2008

"โปแลนด์-ยูเครน" เจ้าภาพร่วมครั้งนี้ ได้รับเลือกจากคณะกรรมการสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) เมื่อวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 2007 ในพิธีที่เมืองหลวงคาร์ดิฟฟ์ ราชรัฐเวลส์ โดยได้คะแนนมากกว่า อิตาลี, โครเอเชีย, ฮังการี แต่ก็เป็นครั้งสุดท้ายที่จะมี 16 ชาติในรอบสุดท้าย โดยรอบคัดเลือกนั้นมี 51 ชาติร่วมแข่งขัน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. 2010 ถึง พฤศจิกายน ค.ศ. 2011 สำหรับครั้งต่อไปใน "ยูโร 2016" จะเพิ่มเป็น 24 ชาติ

ถึงแม้ว่า โปแลนด์ จะเพียบพร้อมในเรื่องของสนามแข่งขันที่โอ่อ่าทันสมัย ทว่า (ยูฟ่า) ตั้งข้อสังเกตุถึงระบบขนส่งมวลชน ยังไม่ดีเท่ากับที่ควรจะเป็น โดยยอมรับว่าในแง่ของการขนส่งนั้น อาจไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกับที่เป็นใน สวิตเซอร์แลนด์ หรือ ออสเตรีย แต่ในขณะนี้ โปแลนด์ นั้นมีการเร่งให้มีการสร้างทางด่วนสายระหว่างเมือง และโครงการส่วนใหญ่จะเสร็จสิ้นก่อนรายการมาถึงแน่นอน

มัสค็อต

มัสค็อตประจำศึกฟุตบอลยูโร 2012 นี้ เป็นมัสค็อตเด็กชายฝาแฝดที่สวมเสื้อผ้าสีประจำชาติของทั้งสองชาติ คือคนหนึ่งสวมชุดสีแดง-ขาว สีประจำชาติโปแลนด์ และอีกคนหนึ่งสวมชุดสีน้ำเงิน-เหลือง สีประจำชาติยูเครน ซึ่งมัสค็อตทั้งสองตัวนี้ชื่อว่า “สลาเว็ค-สลาฟโก” โดย โปแลนด์และยูเครนได้จับมือกันออกแบบ และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในการคิดค้นตัวมัสค็อตที่เป็นสัญลักษณ์ของทั้งสองชาติได้ จนได้มัสค็อตน่ารักสองตัวนี้ออกมา โดยคาดว่ามัสค็อตทั้งสองตัวนี้จะสร้างความประทับใจให้กับผู้คน โดยเฉพาะเด็กๆ ที่คงจะชอบมัสค็อตสองตัวนี้ไม่น้อยเลยทีเดียว

โลโก้

โปแลนด์ และ ยูเครน จัดการคลอดโลโก้การแข่งขันอย่างเป็นทางการที่ด้านหน้าโบสถ์ มิคฮายลอฟสกีย์ ใน เคียฟ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา เน้นออกแบบเป็นรูปดอกทิวลิป 2 ดอกแต่ละดอกเป็นสีของชาติเจ้าภาพ โดยสีเเดง คือ ประเทศโปเเลนด์ ส่วนสีฟ้า คือ ประเทศยูเครน ส่วนตรงกลางเป็นลูกฟุตบอล

สนามแข่งขัน

1. สนามกีฬาแห่งชาติโปแลนด์  (National Stadium)

เจ้าของ : รัฐบาลโปแลนด์
ที่ตั้ง : วอร์ซอว์
ระยะเวลาก่อสร้าง : 2008-2011
เปิดใช้เป็นทางการ : 29 ม.ค.2012
ความจุ : 58,145 ที่นั่ง

แมตซ์การแข่งขัน
รอบแบ่งกลุ่ม
8 มิ.ย. โปแลนด์ - กรีซ (กุล่มเอ) 23.00 น.
12 มิ.ย. โปแลนด์ - รัสเซีย (กุล่มเอ) 01.45 น.
16 มิ.ย. กรีซ - รัสเซีย (กุล่มเอ) 01.45 น.

รอบก่อนรองชนะเลิศ
21 มิ.ย. แชมป์กลุ่มเอ - รองแชมป์กลุ่มบี 01.45 น.

รอบรองชนะเลิศ
28 มิ.ย. บี1 / เอ2 - ดี1 / ซี2 01.45 น.

2. พีจีอี อารีน่า (PGE Arena Gdansk)

เจ้าของ : สภาเมืองกดัญสก์ (สนามเหย้า สโมสรลีเกีย กดัญสก์)
ที่ตั้ง : กดัญสก์
ระยะเวลาก่อสร้าง : 2008-2011
เปิดใช้เป็นทางการ : 14 ส.ค. 2011
ความจุ : 43,615 ที่นั่ง

แมตซ์การแข่งขัน
รอบแบ่งกลุ่ม
10 มิ.ย. สเปน - อิตาลี (กลุ่มซี) 23.00 น.
14 มิ.ย. สเปน - ไอร์แลนด์ (กลุ่มซี) 01.45 น.
18 มิ.ย. โครเอเชีย - สเปน (กุล่มซี) 01.45 น.

รอบก่อนรองชนะเลิศ
22 มิ.ย. แชมป์กลุ่มบี - รองแชมป์กลุ่มเอ 01.45 น.

3. มูนิซิปาล สเตเดี้ยม หรือ สตาดิโอน มิเยสกี้ (Stadion Miejski we Wroclawiu (Municipal Stadium in Wroclaw)

เจ้าของ : สภาเมืองวรอคลอฟ (สนามเหย้าสโมสร สลาสค์ วรอคลอฟ)
ที่ตั้ง : วรอคลอฟ
ระยะเวลาก่อสร้าง : 2009-2011
เปิดใช้เป็นทางการ : 10 ก.ย. 2011
ความจุ : 42,771 ที่นั่ง

แมตซ์การแข่งขัน
รอบแบ่งกลุ่ม
8 มิ.ย. รัสเซีย - สาธารณรัฐเช็ก (กลุ่มเอ) 01.45น.
12 มิ.ย. กรีซ - สาธารณรัฐเช็ก (กลุ่มเอ) 23.00น.
16 มิ.ย. สาธารณรัฐเช็ก - โปแลนด์ (กลุ่มเอ) 01.45 น.

4. ซิตี้ สเตเดี้ยม

เจ้าของ : สภาเมืองพอซนาน (สนามเหย้าสโมสร เลช พอซนาน และ วาร์ต้า พอซนาน)
ที่ตั้ง : พอซนาน
ระยะเวลาก่อสร้าง : 1968-1980
เปิดใช้เป็นทางการ : 23 ส.ค.1980
ปรับปรุงใหม่ : 2003-2010
ความจุ : 41,609 ที่นั่ง

แมตซ์การแข่งขัน
10 มิ.ย. โครเอเชีย - ไอร์แลนด์ (กลุ่มซี) 01.45 น.
14 มิ.ย. โครเอเชีย - อิตาลี (กลุ่มซี) 23.00 น.
18 มิ.ย. อิตาลี - ไอร์แลนด์ (กลุ่มซี) 01.45 น.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook