[FEATURE] ประเทศไทย จะไม่มีถ่ายทอดสด "ฟุตบอลโลก 2022" จริงหรือ?

[FEATURE] ประเทศไทย จะไม่มีถ่ายทอดสด "ฟุตบอลโลก 2022" จริงหรือ?

[FEATURE] ประเทศไทย จะไม่มีถ่ายทอดสด "ฟุตบอลโลก 2022" จริงหรือ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จนถึงวันนี้ (17 พฤศจิกายน 2022) คนไทยเรายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องการถ่ายทอดสด ฟุตบอลโลก 2022 เลยทั้งที่วันอาทิตย์ที่ 20 นี้ทัวร์นาเมนต์การแข่งขันฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนดาวดวงนี้จะเริ่มเปิดสนามทำการแข่งขันกันแล้วแท้ ๆ

หากย้อนไปในอดีตประเทศไทยมีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งแต่ตั้งแต่ปี 1970 ที่เริ่มจากถ่ายเฉพาะรอบชิงชนะเลิศ หลังจากนั้นเริ่มมีถ่ายนัดเปิดสนามบ้าง จนกระทั่งบอลโลกปี 1990 เป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดแบบยิงสดครบทุกแมทช์การแข่งขันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

แล้วปี 2022 นี้ล่ะ ?

เรื่องมันเริ่มต้นมาจากการกีฬาแห่งประเทศไทยได้ทำการเจรจากับบริษัท อินฟรอนท์ สปอร์ตส์ แอนด์ มีเดีย ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนขายลิขสิทธิฟุตบอลโลกให้กับทาง ฟีฟ่า ได้ราคามาที่ 1,600 ล้านบาท หลายคนคงสงสัยว่าตัวเลขนี้มาจากไหน ?

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าราคาลิขสิทธิถ่ายทอดสดของแต่ละประเทศนั้นไม่เท่ากัน โดย ฟีฟ่า จะวิเคราะห์ตามจำนวนประชากรและค่าครองชีพของแต่ละประเทศ ยกตัวอย่างในโซนอาเซียน สิงคโปร์ ได้ราคาที่ 948 ล้านบาท เวียดนาม ตกลงกันที่ 532 ล้านบาทเท่านั้น

ซึ่งไม่กี่วันที่ผ่านมาผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทยยืนยันชัดเจนว่าตอนนี้เหลือเพียง 2 ทางเลือกคือ ยอมจ่าย 1,600 ล้านหรือ "ไม่มีฟุตบอลโลกดู" เท่านั้น แถมเวลานี้มีไทยเพียงชาติเดียวในอาเซียนที่ยังไม่ซื้อสิทธิถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 อีกด้วย

เงื่อนไขไฟลนก้น !

ไม่เพียงแค่ราคาที่สูงที่สุดในย่านนี้ แต่ ฟีฟ่า ยังยื่นเงื่อนไขพร้อมเส้นตายในการซื้อสิทธิของไทยอีกด้วย โดยยืนยันว่าต้องปิดดีลให้ทันภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน และจ่ายเงินให้เรียบร้อยในวันที่ 19 ก่อนที่พิธีเปิดจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 20 พฤศจิกายน หรืออีก 4 วันนับจากนี้

แถมยังบอกอีกว่าหากไทยต้องการราคาที่ถูกกว่านี้จำเป็นต้องซื้อล่วงหน้าหนึ่งปีหรือสองปีไม่ใช่มาต่อรองในช่วงไม่กี่เดือนก่อนทัวร์นาเมนต์จะเริ่ม อีกทั้งหากจะดีลจำเป็นต้องซื้อแบบ "ฟูลแพคเก็จ" หมายถึงต้องซื้อแบบเหมาแข่งทั้ง 64 แมทช์เท่านั้น ไม่มีการแบ่งขายบางนัดสำคัญ ๆ เหมือนสมัย 40-50 ปีก่อน

แล้วปัญหาอยู่ตรงไหน ?

ง่าย ๆ เลยคือปัญหาอยู่ที่พี่ไทยเราไม่มีเงิน 1,600 ล้านไปจ่ายเขานั่นเอง... แม้ กกท. จะพยายามไปกราบเท้าขอเงินจากทั้งภาครัฐและเอกชนโดยตามข่าวที่ออกมาคือ กสทช. ให้มา 600 ล้าน และภาคเอกชนลงขันกันได้อีก 500 ล้านซึ่งก็ยังไม่เพียงพอและดูทรงแล้วคงไม่มีเอกชนเจ้าไหนกล้ามาลงทุนแบบทุ่มสุดตัวเพราะด้วยกฏที่ถูกพูดกันมากที่สุด ณ เวลานี้นั่นคือกฏ "Must have - Must carry" นั่นเอง

อะไรคือ Must have - Must carry

พูดให้เข้าใจกันง่าย ๆ คือระเบียบที่ถูกตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2555 โดย Must have ใช้ในการบริหารจัดการรายการโทรทัศน์สำคัญ ๆ ที่จะต้องเผยแพร่ทางฟรีทีวี วัตถุประสงค์เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยภายใต้กฏดังกล่าวมีการระบุไว้ชัดเจนถึง 7 มหกรรมกีฬาที่คนไทยต้องได้ดูฟรีประกอบด้วย ซีเกมส์ อาเซียนพาราเกมส์ เอเชียนเกมส์ เอเชียนพาราเกมส์ โอลิมปิกเกมส์ พาราลิมปิกเกมส์ และฟุตบอลโลก

ส่วน Must carry คือการบังคับให้บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับแพลตฟอร์มโทรทัศน์ใด ๆ ก็ตามที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. จำเป็นต้องนำช่องฟรีทีวีไปออกอากาศในทุกช่องทางที่มี และต้องออกอากาศต่อเนื่องตามผังห้ามมีการปิดล็อค บล็อค หรือจอดำบางรายการโดยเด็ดขาด

ซึ่งนั่นคือจุดสำคัญที่ทำให้ภาคเอกชนไม่ต้องการนำเงินไปลงทุน เหมือนที่เคยเกิดการฟ้องร้องกันในสมัยฟุตบอลโลกปี 2010 ที่หลังจาก RS ซื้อลิขสิทธิมา ขายกล่องโปรโมทโฆษณาเป็นที่เรียบร้อยกลับโดนกฏนี้บังคับให้ถ่ายทอดในช่องฟรีทีวีด้วย จนเกิดความวุ่นวายยกใหญ่เพราะในเมื่อไม่ต้องซื้อกล่องก็ดูได้ คนจะไปซื้อกล่องเพื่ออะไรกัน ?

ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน ณ ปัจจุบัน สิงคโปร์ มี 3 บริษัทใหญ่ลงขันกันซื้อลิขสิทธ์ แต่หากใครจะรับชมภายช่องทางสตรีมมิงจะต้องจ่ายเงินราว 2,600 บาทเพื่อจะได้ดูครบ 64 แมทช์แต่ก็จะมีแบ่งถ่ายถอดเกมสำคัญ ๆ ฟรี อีก 9 แมทช์ ส่วนใน ฟิลิปปินส์ มีการเก็บค่าชมแบบจ่ายจบราคาเดียวที่ 1,300 บาท

แน่นอนว่ากฏนี้คือประตูสำคัญที่กั้นไม่ให้ภาคเอกชนกล้าเข้าไปลงทุน เนื่องจากตัวเลขที่สูงและคาดการณ์ผลตอบแทนแล้วว่าไม่คุ้มเสียแน่นอนหากผู้คนสามารถมีอีกช่องทางในการดูแบบฟรี ๆ ควบคู่ไปด้วย แถมด้วยเส้นตายที่ไฟลนก้นแบบสุด ๆ การจะยกเลิกกฏดังกล่าวในปีนี้ย่อมไม่ทันการ

แถมเรื่องการทุ่มเงินเพื่อให้คนบางกลุ่มได้ชมฟุตบอลโลกนี้ก็มีหลากหลายความเห็นแตกต่างกันออกไป บ้างก็ว่าไม่จำเป็นเลย บ้างก็ว่าเอาเงินไปใช้อย่างอื่นดีกว่า แต่แน่นอนหากถามแฟนฟุตบอลคงไม่มีใครบอกว่าไม่สนใจหรือไม่อยากดูอย่างแน่นอน อีกทั้งก่อนหน้านี้หากทั้งภาครัฐและเอกชนมีการพูดคุยวางแผนล่วงหน้ากันได้ดีกว่านี้ทั้งเรื่องการจัดจัดสรรค์เงินหรือข้อตกลงในการถ่ายทอดสดมันก็คงจะไม่มีคำว่า "ไม่มีงบ" แบบนี้อย่างแน่นอน

ทำให้ดูเหมือนว่าการรับชมฟุตบอลโลกปีนี้จำเป็นต้องมีผู้เสียสละ ไม่ภาครัฐ ก็เอกชน ที่อาจต้องยอมจ่ายเงินมหาศาลชนิดที่โอกาสขาดทุนย่อยยับมีสูง หรือไม่ก็ต้องเป็นแฟนบอลตาดำ ๆ ที่ต้องยอมเสียสละอดรับชมมหกรรมฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี ส่วนผลสุดท้ายจะออกมาเป็นอย่างไรนั้นอีก 2-3 วันนี้เราคงได้รู้กัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook