มูซาชิ เปลี่ยนชีวิต : จากฮูลิแกนลูกหนังสู่แชมป์โลก UFC ของ ยิรี่ โปรฮาซก้า

มูซาชิ เปลี่ยนชีวิต : จากฮูลิแกนลูกหนังสู่แชมป์โลก UFC ของ ยิรี่ โปรฮาซก้า

มูซาชิ เปลี่ยนชีวิต : จากฮูลิแกนลูกหนังสู่แชมป์โลก UFC ของ ยิรี่ โปรฮาซก้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มีหนึ่งประโยคคลาสสิกของกลุ่มฮูลิแกนหรืออันธพาลลูกหนังที่พวกเขามักจะบอกว่า "คุณไม่มีวันเข้าใจถ้าคุณไม่ได้เป็นพวกของเรา" ซึ่งแน่นอนว่าแม้วัฒนธรรมฮูลิแกนจะเกิดขึ้นมาร่วม 100 ปีแล้ว แต่ทุกวันนี้สังคมวงกว้างก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่าพวกเขาทำไปเพื่ออะไร ?

นี่คือเรื่องราวของอดีตฮูลิแกนของทีมเบอร์โน สโมสรในประเทศสาธารณรัฐเช็ก ที่เข้าไปในสนามเพื่อมีเรื่องและปลดปล่อยชีวิตอันดำมืดของพวกเขาเมื่อมีเกมการแข่งขัน 

จากคนที่ถูกโลกประณามว่า "ขยะของวงการฟุตบอล" ยิรี่ โปรฮาซก้า คนนี้ใช้ความเป็นฮูลิแกนถีบตัวเองขึ้นมาสู่การเป็นนักสู้มวยกรง และได้รับการเสริมแรงพลิกชีวิตด้วยทักษะ ชุดความคิด และมุมมองต่อชีวิตใหม่ทั้งหมด จากหนังสือที่เขียนขึ้นเมื่อ 400 ปีก่อน โดย มิยาโมโตะ มูซาชิ ซามูไรที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น 

จากชายป่าเถื่อนตัวเปิดแห่งแก๊งฮูลิแกน กลายเป็นผู้เข้าสู่วิถีบูชิโดที่นั่งสมาธิก่อนขึ้นเวที ... นี่คือเรื่องราวของแชมป์โลก UFC รุ่นไลท์เฮฟวี่เวตคนล่าสุด

 

ติดตามได้ที่ Main Stand

ต้นกำเนิดฮูลิแกน 

ฮูลิแกน หรือวัฒนธรรมแฟนบอลนักเลง เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ ดินแดนที่บ้าคลั่งฟุตบอลเป็นอันดับหนึ่ง เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงยุค 1960s จากต้นเหตุของการล่มสลายของระบบเศรษฐกิจในประเทศจนเกิดปัญหาข้าวยากหมากแพง ผู้คนตกงาน และกลุ่มแฟนบอลที่เป็นชนชั้นแรงงานก็เริ่มเอาความโกรธแค้นในชีวิตมาระบายกับฟุตบอล 

เมื่อเข้าสู่ยุค 1970s กระแสของลัทธิฮูลิแกนก็แพร่ขยายอย่างรวดเร็ว โดยมีจุดเริ่มต้นที่ลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์ สองเมืองใหญ่แห่งภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ก่อนระบาดไปทั่วอังกฤษ

 

ในตอนนั้นอังกฤษเป็นประเทศที่ไม่สามารถแบกรับภาระนโยบายสวัสดิการที่อุ้มค่าใช้จ่ายหลายด้านให้กับประชาชน ทั้งด้านสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภคพื้นฐาน ไปจนถึงการให้เงินสนับสนุนภาคเอกชนเพื่อกระตุ้นการจ้างงานในประเทศได้อีกต่อไป สิ่งนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการปลดปล่อยของเหล่าฮูลิแกนเมื่อเกมฟุตบอลมาถึง ความรุนแรงของฮูลิแกนขยายตัวเรื่อยมาจนถึงขั้นที่รัฐบาลอังกฤษต้องออกกฎหมายแก้ปัญหาและกวาดล้างอย่างจริงจังในเวลาต่อมา ... ก่อนจะเริ่มดีขึ้นในช่วงหลังยุค 1990s เป็นต้นมา 

อย่างไรก็ตามเมื่อฮูลิแกนอีกที่หนึ่งเริ่มจะหายตายจากจากโลกนี้ไป วัฒนธรรมฮูลิแกนก็ได้ส่งไปต่อไปยังหลาย ๆ ท้องที่ ความรุนแรงในอังกฤษอาจจะโดนปราบปราม แต่อุดมการณ์ของการแสดงพลังต่อต้านการกดขี่ยังคงถูกส่งต่อ และมันก็ถูกส่งมายังประเทศที่เพิ่งก่อตั้งใหม่อย่าง สาธารณรัฐเช็ก ประเทศที่เพิ่งแยกตัวออกมาจาก เชโกสโลวาเกีย 

เพียงแต่ว่าการส่งต่อของวัฒนธรรมฮูลิแกนเมื่อมาถึงเช็กมันไม่ได้เข้มข้นและเป็นเรื่องการเมือง สิทธิต่าง ๆ ของชีวิตเหมือนกับที่อังกฤษ ที่เช็กฮูลิแกนของที่นี่อาจจะไม่ได้เข้าถึงแก่นของฮูลิแกนต้นตำรับมากนัก แต่อย่างน้อย ๆ พวกเขาก็เข้าถึงเปลือก นั่นคือการใช้ความรุนแรงที่แสดงออกในฐานะตัวแทนของสโมสร ว่าง่าย ๆ ก็คือวัฒนธรรม "บอลแพ้คนไม่แพ้" ที่เป็นเรื่องศักดิ์ศรีของวัยรุ่นมากกว่า 

สำหรับ เบอร์โน สโมสรเล็ก ๆ ในลีกของเช็ก ที่มีแฟนบอลเข้าชมในสนามแค่หลักพันคน แต่ฮูลิแกนของทีมนี้ก็ถือว่าเป็นเบอร์ต้น ๆ ของประเทศ และในยุค 2000s เป็นต้นมาวัฒนธรรมฮูลิแกนของแฟนบอลทีมนี้ก็ได้หลอมรวมจนสร้างเด็กหนุ่มคนหนึ่งให้เติบโตมาในฐานะ "ตัวเปิด" แห่งเบอร์โน เด็กหนุ่มคนนั้นคือ ยิรี่ โปรฮาซก้า ผู้ที่แฟนบอลของทีมขนานนามเขาว่า "ผู้เป็นอมตะ"

เรื่องเปิดขอให้บอก

"ผมเติบโตมาบนเส้นทางของนักรบ" โปรฮาซก้ามักจะพูดเช่นนั้นเสมอ หลังจากที่เขาต้องสูญเสียพ่อตอนอายุ 6 ขวบ และเริ่มต้องใช้ชีวิตแบบชักหน้าไม่ถึงหลังโดยมีแม่เป็นเสาหลักของครอบครัวเพียงคนเดียว เริ่มแรกเขาพยายามที่จะเป็นนักฟุตบอลอาชีพเพราะมีความชื่นชอบฟุตบอลเป็นทุนเดิม แต่สุดท้ายก็ไปไม่ถึงฝัน จากที่ได้ลงสนามก็กลายเป็นแค่กองเชียร์ ก่อนจะพัฒนาจากกองเชียร์เป็นฮูลิแกนโดยสมบูรณ์แบบเมื่อวัยหนุ่มมาเยือน 

"ไม่มีสัปดาห์ไหนที่ผมอยากจะนอนอยู่บ้านเฉย ๆ แล้วไม่อยากมีเรื่อง ผมออกไปหาประเด็นให้ร่างกายได้รับการปะทะเสมอ ผมคิดว่าน่าจะเกิน 100 ครั้งที่ผมได้ร่วมวงต่อสู้หรือกระทืบใครสักคน" โปรฮาซก้า ว่าต่อ 

เนื่องจากวัฒนธรรมของฮูลิแกนที่เช็กได้รับแรงบันดาลใจมาจากฮูลิแกนรัสเซีย พวกเขาจึงมีพิธีกรรมคล้าย ๆ กันที่เรียกว่า "Okolofutbola" หรือแปลได้ว่า "เรื่องอื่นที่นอกเหนือจากแค่ฟุตบอล" กล่าวคือแฟนบอลแต่ละทีมจะมีการคัดเลือกเด็กหนุ่มสายเลือดใหม่เข้าร่วมตลอดเวลา มีกฎที่ชัดเจน และมีตำแหน่งที่ทรงเกียรติ โดยจะมีการเข้าแคมป์ฝึกฝนการต่อสู้ทั้งในป่าและในยิม ซึ่งเป็นการฝึกจัดวางกำลังพลอย่างเข้มข้น และทุกคนในกลุ่มนี้รู้ว่าพวกเขาจะต้องเจอกับอะไรบ้าง

 

แม้ โปรฮาซก้า จะอายุแค่ 16 ปีในช่วงแรก ๆ ที่เข้าร่วมแก๊ง แต่เขาสูงถึง 191 เซนติเมตรและมีร่างกายแข็งแรงเพราะเป็นอดีตนักกีฬา เรื่องใจสู้ไม่ต้องพูดถึง เขาผ่านสังเวียนต่อสู้ข้างถนนมาเป็นร้อย ๆ อะไรคือความกลัว ? แน่นอนเมื่อย้อนกลับไปตอนนั้น โปรฮาซก้า กล้าที่จะบอกว่า "ไม่น่าจะมีนะ" ซึ่งคุณสมบัติทั้งหมดนี้ส่งให้เขาได้รับการคัดเลือกเป็นตัวเปิดของแก๊ง ที่เป็นคนที่วิ่งเข้าไปบวกกับฝั่งตรงข้ามเป็นคนแรก  

การตีกันของฮูลิแกนชาวเช็กนั้นจะแตกต่างจากที่อังกฤษ พวกเขาไม่ตะลุมบอนกันมั่วซั่ว แต่มักจะมีการนัดแนะกันเป็นอย่างดี ว่าละกลุ่มจะต้องใช้คนไม่เกินกี่คนในการทะเลาะกันแต่ละครั้ง และส่วนใหญ่จะมีการตกลงกันว่า "ห้ามใช้อาวุธ" ซึ่งบางครั้งการตีกันของแฟนบอลทั้งสองฝั่งจะเป็นแบบ 1-1 หรืออาจจะมากถึง 30-30 เลยก็มี 

ในฐานะตัวเปิดและตัวชกแบบ 1-1 โปรฮาซก้ารู้ดีว่าเขาจะอ่อนแอไม่ได้ ดังนั้นเขาจึงใช้ช่วงเวลาดังกล่าวฝึกฝนศิลปะการต่อสู้แขนงต่าง ๆ เอาไว้ใช้ในการทะเลาะวิวาทโดยเฉพาะ ทั้ง มวยไทย, คาราเต้ และ ยูโด ซึ่งมันทำให้เขากลายเป็นตัวชนระดับแม่ทัพเลยทีเดียว

 

ชื่อเสียงของเด็กหนุ่มสุดแข็งแกร่งแห่งเบอร์โนกลายเป็นที่โจษจันไปทั่ว จนกระทั่งเพื่อนของเขาที่ชื่อ มิชาล เซาเออร์ เชื่อว่าด้วยพรสวรรค์ในการต่อสู้ที่โปรฮาซก้ามี เขาไม่ควรใช้มันมาสู้แค่ข้างถนนหรือมาต่อสู้แบบฮูลิแกนเท่านั้น ซึ่งโปรฮาซก้าก็เห็นด้วย เขาเริ่มสมัครการแข่งขันการต่อสู้ท้องถิ่น ก่อนที่จะเริ่มขยับมาเป็นระดับประเทศ จนกระทั่งในปี 2012 โปรฮาซก้าก็กลายเป็นนักสู้ MMA มืออาชีพ และได้สู้ในรายการ Gladiator Fighting Championship ซึ่งเป็นรายการที่ใหญ่ที่สุดของเช็กในเวลานั้น 

การเริ่มได้เงินจากการต่อสู้ทำให้เขาเริ่มถอยห่างจากการเป็นตัวเปิดของกลุ่มฮูลิแกนไปทีละนิด เขาเริ่มมองเห็นภาพแต่ก็ยังไม่ได้เป็นนักสู้ระดับโลกเสียทีเดียว ส่วนหนึ่งเพราะการใช้ชีวิตของเขาเองที่ยังไม่มีความเป็นมืออาชีพ และไม่พยายามจะไต่ระดับให้ทะลุขีดความสามารถของตัวเองเสียที 

"ยิรี่ เป็นคนที่คลั่งไคล้งานปาร์ตี้มาก ทุกครั้งที่แข่งเสร็จเขาจะจัดปาร์ตี้ใหญ่โตดื่มสุดแรงแดนซ์สุดชีวิต เขาคิดว่าตัวเองเป็นเหมือนกับ คอเนอร์ แม็คเกรเกอร์ (อดีตนักชก MMA แชมป์โลกชาวไอริช) ชอบตะโกนเสียงดังที่สุดในงาน ชอบเป็นคนที่ได้รับความสนใจในทุกที่ที่เขาไป ตอนนั้นทุกคนชอบเขาเพราะเขาเป็นคนที่คำนึงถึงชีวิตสุดเหวี่ยงและสร้างความสนุกไว้ก่อนเป็นอันดับแรก"

 

"วีรกรรมการใช้ชีวิตของเขามีเยอะมากแม้ตอนเป็นมืออาชีพแล้ว เขาดื่มแชมเปญฉลองชัยจากท่อดูดฝุ่นที่ใช้แล้ว เขาดื่มวอดก้าจากถังน้ำมันรถมอเตอร์ไซค์ที่ติดเครื่อง ตอนนั้นผมคิดว่าเขาเป็นอมตะ และไม่แน่ทุกวันนี้เขาอาจจะคิดแบบนั้นอยู่ก็ได้" เซาเออร์ กล่าวกับ ESPN 

หลักของการเป็นที่ 1 ของโลกนั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าการอุทิศตนเพื่อสิ่งที่กำลังทำอยู่ ไม่อย่างนั้นต่อให้มีฝีมือและพรสวรรค์แค่ไหนสิ่งที่พระเจ้าให้มาก็จะหมดไปอย่างรวดเร็ว 

สำหรับ โปรฮาซก้า เขาเก่งก็จริง แต่เมื่อต้องไปเจอคนที่เก่งขึ้นเขาจึงได้รู้ถึงความแตกต่าง คนที่ไม่เคยแพ้เมื่อพวกเขาเริ่มแพ้บ่อยขึ้นพวกเขาก็มักจะเกิดคำถามในหัวตัวเองว่า "เขาผิดพลาดอะไร ? ทำไมถึงไม่ชนะเหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา" และสถานการณ์นี้เกิดขึ้นกับโปรฮาซก้าในไฟต์ที่เขาแพ้ให้กับ อับดุล คาริม เอดิลอฟ ที่กรุงมอสโก ปี 2013 ซึ่งเป็นความพ่ายแพ้ไฟต์ที่ 2 บนเส้นทางนักสู้ MMA อาชีพ 

โปรฮาซก้าถามตัวเองและได้พบหนึ่งในเส้นทางที่นำไปสู่คำตอบ มันคือหนังสือที่ชื่อว่า "The Book of the Five Rings" หรือ คัมภีร์ห้าห่วง มิยาโมโตะ มูซาชิ 

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับการต่อสู้ MMA เลย ภายในอัดแน่นไปด้วยปรัชญาในการดำเนินชีวิตที่ถูกเล่าสะท้อนผ่านการต่อสู้และวิถีดาบของซามูไรโดยซามูไรที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นอย่าง มิยาโมโตะ มูซาชิ ว่ากันว่าเนื้อหาภายในเปรียบได้กับตำราพิชัยสงครามของจีนเลยทีเดียว

หนังสือเปลี่ยนชีวิต

จริง ๆ หนังสือเรื่อง คัมภีร์ห้าห่วง มิยาโมโตะ มูซาชิ นั้นโปรฮาซก้าได้มาตั้งแต่ตอนที่อายุ 15 ปีแล้ว แต่เมื่อมาถึงวันที่ตัวเองสับสนกับความคิดเขาก็เปิดมันขึ้นใหม่ และพบว่าหนังสือเล่มนี้คือกุญแจที่ปลดล็อกศักยภาพที่แท้จริงของเขา 

ใจความที่โปรฮาซก้าสัมผัสได้คือ วิถีบูชิโด (วิถีของนักรบ) ซึ่งเป็นต้นเหตุของความยิ่งใหญ่ของมูซาชิ ผู้เป็นซามูไรที่ผ่านการต่อสู้มากว่า 60 ครั้ง และไม่เคยแพ้เลยแม้แต่ครั้งเดียว 

มูซาชิเป็นแบบอย่างในการฝึกฝนทั้งร่างกายและจิตใจอย่างแน่วแน่มุ่งมั่น มูซาชิสอนลูกศิษย์อยู่เสมอว่าถ้าเราควบคุมตัวเองได้ก็จะสามารถเอาชนะทุกอย่างในโลกได้  

ยิ่งอ่านก็ยิ่งเข้าเส้นซึมลึก ยิ่งซึมลึกก็ยิ่งซึมซับเนื้อหาได้ถึงแก่น ... ตอนเป็นฮูลิแกนเขาเป็นแค่เปลือกของนักสู้ แต่ตอนที่เขาได้อ่านหนังเล่มนี้อย่างจริงจังและตั้งใจแล้วเขาถึงสัมผัสได้ถึงแก่น ไม่ใช่แค่แก่นของการต่อสู้ แต่มันคือ "แก่นแท้ของชีวิต" 

"สิ่งที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้คือความจริงแห่งชีวิต มีความจริงมากมายอยู่ในนั้น มีกฎระเบียบที่ชัดเจนที่เห็นภาพได้โดยไม่ได้คิดไปเอง มันสามารถเอาไปใช้ต่อสู้ได้ และเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เลย" โปรฮาซก้า บอกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเหมือน "คัมภีร์ไบเบิล" ของเขาเลยทีเดียว 

มีแต่ โปรฮาซก้า เท่านั้นที่เข้าใจว่าทำไมหนังสือเล่มนี้ถึงเปลี่ยนแปลงเขาได้ ของแบบนี้ขึ้นอยู่กับการตีความและการทำความเข้าใจส่วนบุคคล แต่สิ่งที่ทุกคนรอบข้างของเขารู้แน่คือ โปรฮาซก้า แทบพลิกชีวิตแบบ 360 องศาเลยก็ว่าได้ หลังจากที่เขาเชื่อมั่นในวิถีบูชิโดว่ามันเป็น "กุญแจแห่งชีวิต" ของเขา 

สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ก่อนที่จะมีการชกแต่ละครั้งโปรฮาซก้าจะออกจากบ้านที่เบอร์โนไปอยู่ในกระท่อมกลางป่าที่ไม่มีไฟฟ้าใช้และต้องหาบน้ำจากลำธารเพื่อดื่มกินและใช้ในเรื่องต่าง ๆ ของชีวิตเอง และก่อนจะขึ้นเวทีเขาก็จะนั่งสมาธิในห้องล็อกเกอร์ 

เขาไม่เชื่อเรื่องศาสนาแต่เชื่อเรื่องพลังงานดินน้ำลมไฟ และพลังงานแห่งความเชื่อคือศาสนาสำหรับโปรฮาซก้า ถ้าคุณเชื่อมั่นในสิ่งไหนสิ่งนั้นคือศาสนาของคุณ 

เซาเออร์ เพื่อนสนิทเล่าว่า "โปรฮาซก้าลดความป่าเถื่อนไปมาก เขามักจะคุยกับผมและคนอื่น ๆ เรื่องแนวทางการใช้ชีวิต ดูเหมือนว่าตอนนี้เขาเป็นคนฉลาดและเริ่มบอกคนอื่นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไร และเราควรทำสิ่งใดต่อไปหลังจากพบพานกับสิ่งเหล่านั้น ... เขาเปลี่ยนไปเป็นคนละคนจนเหมือนกับเราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน" 

ชีวิตของโปรฮาซก้าหลังจากนี้ไม่เหลือความวุ่นวายเหลืออยู่อีกแล้ว พลังงาน ความป่าเถื่อน และการโจมตี จะถูกนำมาใช้ในสังเวียนเท่านั้น 

"ถามว่าแปลกใจไหมผมก็คงไม่ปฏิเสธ แต่ยิรี่มีความคิดที่เปลี่ยนไปมากจริง ๆ เขาไม่ต้องการทำร้ายใครเหมือนเมื่อก่อน เขาจะสู้ในฐานะนักกีฬาเท่านั้น เขารู้ว่ากีฬาที่เขาเล่นคือกีฬาที่อันตรายที่สุดในโลก และเขาได้ใช้พลังทั้งหมดไปกับมัน" เซาเออร์ เล่าต่อ 

ยิ่งได้ไปใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นในฐานะนักสู้ของรายการ RIZIN รายการ MMA ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2015 โปรฮาซก้าก็ได้ศึกษาวิถีบูชิโดมากขึ้น แม้ไม่มีศาสนาแต่เขาก็ไปที่วัดของนิกายชินโต ไปสวดมนต์ และทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างเหมือนกับพระ ซึ่งเขาบอกว่านี่คือบ่อเกิดของสมาธิและปัญญาที่ทำให้เขาสามารถสัมผัสพลังของทุกสิ่งรอบตัวได้ดียิ่งกว่าที่เคยเป็น ตอนนั้นเขาเล่าว่าเขาคือ โปรฮาซก้า ในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดแล้ว 

"การต่อสู้ไม่ใช่แค่เรื่องของการสาดความรุนแรงใส่กันเล่น ๆ อย่างน้อยก็สำหรับผม ผมใช้ชีวิตในฐานะนักรบ ผมเข้าใจถึงชีวิตในแบบของความเป็นและความตาย คุณจะต้องทำทุกอย่างเต็ม 100% เมื่อคุณอยากจะชนะอะไรสักอย่าง สิ่งนั้นสอนให้คุณรู้ว่าคุณยังมีชีวิตและมีลมหายใจอยู่" โปรฮาซก้า อธิบาย

เมื่อวิถีการใช้ชีวิตและมุมมมองของการเป็นนักสู้อาชีพเปลี่ยนแปลงผลงานบนสังเวียนก็เปลี่ยนไป หลังจากเริ่มเข้าสู่วิถีบูชิโดในปี 2013 โปรฮาซก้าแพ้อีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในไฟต์กับ มูฮัมหมัด ลาวาล เมื่อปี 2015 ... จากนักสู้ในรายการ RIZIN เขาขยับตัวเองขึ้นสู่ "ระดับโลก" ในฐานะนักสู้ของ UFC รายการมวยกรงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกเมื่อปี 2020

ตลอดเวลาเขามักจะโดนล้อเลียนจากคู่ชกตลอดถึงเรื่องแนวคิดต่าง ๆ ของเขา ครั้งหนึ่งเขาเคยถูกล้อว่า "ซามูไรปลอม" หรือพวกดีแต่พูดทำเป็นเท่ที่หาเรื่องให้ตัวเองเป็นประเด็นในสื่อเท่านั้น แต่จอมป่าเถื่อนก็ตอบด้วยความเรียบเฉยว่า 

"ไม่แปลกที่พวกเขาจะพูดแบบนั้น ของแบบนี้ต้องได้สัมผัสด้วยตัวเองจึงจะเข้าใจในสิ่งที่ผมพูด ... ผมไม่ใช่นักปราชญ์ด้านชีวิต ผมยังคงเดินทางและยังคงต้องพัฒนา และโลกนี้มีความจริงอยู่ 1 ข้อว่า 'ไม่มีใครเกิดมาสมบูรณ์แบบ' ดังนั้นผมอาจจะเป็นซามูไรจอมปลอมก็ได้" 

12 มิถุนายน 2022 ศึก UFC 275 ที่ สิงคโปร์ อินดอร์ สเตเดียม ประเทศสิงคโปร์ โปรฮาซก้าถูกจัดให้เป็นคู่เอกของรายการเพื่อชิงแชมป์โลกรุ่นไลท์เฮฟวี่เวต 205 ปอนด์จาก โกลเวอร์ เตเชร่า นักสู้ลายคราม แชมป์โลกวัย 42 ปีจากบราซิล และไฟต์ดังกล่าวเป็นศึกที่ตัดสินกันด้วยเรื่องของหัวใจอย่างแท้จริง 

โปรฮาซก้าในฐานะผู้ท้าชิงขึ้นแลกอาวุธทั้งเกมกับ เตเชร่า ตลอด 5 ยกจนหน้าแตกยับกันทั้งคู่ สถานการณ์พลิกไปพลิกมาจนดูยากว่าใครจะชนะ และก่อนที่ในอีกเพียงไม่ถึงครึ่งนาที ยกสุดท้ายจากกำหนด 5 นาทีต่อยกก็จะหมดลง โปรฮาซก้าสบโอกาสใส่ท่า Rear Naked Choke จนเตเชร่าตบยอมแพ้ คว้าแชมป์โลกไปครอง 

เว็บไซต์ ESPN ระบุว่าการต่อสู้ที่โปรฮาซก้าใช้นั้นลื่นไหลและไม่เหมือนใคร เป็นเหมือนเทคนิคนอกรีต และมาจบด้วยท่าล็อกที่ปิดฉากความร้อนแรงด้วยการกล่อมคู่ต่อสู้ชาวบราซิลให้สงบลง ... จนที่สุดแล้วนี่คือแชมป์โลก UFC สมัยแรกของเขา 

วิถีนักรบ ส่ง โปรฮาซก้า ขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของโลกในท้ายที่สุด 

"ปลายทางของความสำเร็จ ล้วนเกิดจากรากฐานที่มั่นคง ... ผมเป็นเช่นนั้น ผมใช้ชีวิตบนวิถีของนักรบ" โปรฮาซก้า กล่าวทิ้งท้ายหลังคว้าแชมป์ที่เขารอคอย 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook