มหัศจรรย์เรนเจอร์ส : เปิดตำราการพลิกจากทีมล้มละลายสู่จอมล้มยักษ์ที่เข้าชิง ยูโรป้า ลีก

มหัศจรรย์เรนเจอร์ส : เปิดตำราการพลิกจากทีมล้มละลายสู่จอมล้มยักษ์ที่เข้าชิง ยูโรป้า ลีก

มหัศจรรย์เรนเจอร์ส : เปิดตำราการพลิกจากทีมล้มละลายสู่จอมล้มยักษ์ที่เข้าชิง ยูโรป้า ลีก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภาพการไล่ล่าแชมป์ระหว่าง 2 ทีมอย่าง กลาสโกว์ เซลติก และ กลาสโกว์ เรนเจอร์ส กลายเป็นภาพจำของแฟนบอลมาหลายสิบปี พวกเขาคือสองสโมสรที่ดีที่สุดที่ช่วงชิงความเป็นหนึ่งในการแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของคน ศาสนา และความเชื่อ ... นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงมีความเป็นอริกันอย่างเข้มข้นที่สุด

อย่างไรก็ตามมีช่วงเวลาหนึ่งที่ เซลติก ลอยลำคว้าเเชมป์ลีก 10 สมัยติดต่อกัน เหตุผลง่าย ๆ ก็เพราะ เรนเจอร์ส ถูกปรับตกไปเล่นลีกล่างสุดของฐานพีระมิด เนื่องจากปัญหาการเงินอย่างรุนแรง

ไม่มีใครคิดว่า เรนเจอร์ส จะฟื้นคืนชีพได้ แต่สุดท้ายพวกเขาก็ใช้เวลา 10 ปีก้าวขึ้นมาสู่จุดเดิมได้อีกครั้ง ด้วยการคว้าเเชมป์ลีก 2 สมัยติดต่อกัน และทำในสิ่งที่ทีมจากสกอตแลนด์ไม่เคยทำได้ในช่วง 20 ปีหลังสุดด้วยการเข้าไปชิงชนะเลิศฟุตบอลถ้วยยุโรป

จากดิวิชั่น 4 ของสกอตแลนด์ สู่นัดชิงดำยูโรป้าลีก 2021-22 เกิดอะไรขึ้นกับเรนเจอร์สบ้าง ?  ติดตามได้ที่ Main Stand

วันที่กลายเป็นผู้แพ้ 

เรนเจอร์ และ เซลติก ไล่บี้กันคว้าแชมป์ฟุตบอลลีกของสกอตแลนด์มาตั้งแต่ช่วงปี 1920 หรือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งคู่เป็นอริกันโดยตรงไม่ใช่เเค่เรื่องในสนามแต่ยังรวมถึงเรื่องความเชื่อและประวัติศาสตร์อีกด้วย 

ทั้งสองทีมตั้งอยู่ในเมืองกลาสโกว์ ฝั่ง เรนเจอร์ส เป็นตัวแทนของคนท้องถิ่นดั้งเดิม พวกเขาเชื่อว่าตัวเองเป็นเจ้าของพื้นที่แห่งนี้และเป็นตัวแทนของชาวคริสเตียนที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์  ขณะที่ เซลติก นั้นมีรากฐานและก่อตั้งสโมสรจากผู้อพยพที่หนีความยากจนและอดอยากมาจากไอร์แลนด์ แถมเป็นชาวคาทอลิก

ความต่างแบบสุดขั้วทำให้ทั้งคู่เป็นอริกันโดยสายเลือด แต่ละเกมแต่ละปีจะเต็มไปด้วยความชิงชังและการชิงชัยเพื่อเป็นที่ 1 ... มันควรจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป แต่แล้วในปี 2010 เรนเจอร์สกลับกลายเป็นผู้ต้องพ่ายแพ้แบบหมดรูป ไม่ใช่แค่ผลงาน ถ้วยเเชมป์ และความสำเร็จ แต่หมายถึงระบบการบริหารที่ทำให้พวกเขาต้องประสบปัญหาด้านการเงิน ติดหนี้จำนวนมาก จนต้องยอมเซ็นข้อตกลงเพื่อเข้าสู่กระบวนการชำระบัญชีตัวแดงที่ติดลบมาหลายปีติดต่อกัน

กลาสโกว์ เรนเจอร์ส ต้องขายธุรกิจทั้งหมดให้ทีมงานใหม่จากบริษัท Sevco Scotland Ltd. และเปลี่ยนชื่อเป็น เดอะ เรนเจอร์ส ฟุตบอลคลับ แม้ตอนแรกจะได้รับการต่อต้านพอสมควร แต่ความจริงก็เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องยอมรับให้ได้ สโมสรไม่เหลือเงินพอที่จะพัฒนาทีมและชำระหนี้ได้ในเวลาอันสั้น ดังนั้น สกอตติชฟุตบอล (SFL) และสมาคมฟุตบอลสกอตแลนด์ ได้ทำการหารือกันเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ ก่อนร่วมลงคะแนนโหวตเพื่อให้ได้คำตอบว่าจะเอาอย่างไรกับเรนเจอร์ส 

และผลโหวตก็ออกมาชัดเจน 29 จาก 30 ทีม โหวตให้ เรนเจอร์ส ยังสามารถรักษาสภาพเป็นสมาชิกของฟุตบอลลีกต่อไป นั่นหมายความว่าพวกเขาไม่ต้องยุบสโมสร แต่ข่าวร้ายก็คือยังมีการโหวตอีก 1 ข้อว่า เรนเจอร์ส ควรจะต้องเล่นในลีกไหนกันแน่จากสภาพการเงินแบบนี้ ซึ่งผลโหวต 25 เสียงจาก 30 สโมสรได้ให้ เรนเจอร์ส สมควรไปตั้งต้นใหม่จากระดับดิวิชั่นสาม ซึ่งเป็นลีกอาชีพที่ต่ำที่สุดของประเทศ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการถอยหลังที่ทำให้พวกเขามีเวลาก้มมองดูตัวเองเพื่อพิจารณาดูว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาพวกเขาทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง และทำอย่างไรพวกเขาจึงจะกลับไปยังจุดเดิมได้อีกครั้ง

จิตวิญญาณคือทุกสิ่ง

มีคำกล่าวว่า ถ้าได้ทำในสิ่งที่รักและมีแพชชั่น ต่อให้ทำทั้งวันก็ไม่เหนื่อย ... คำกล่าวนี้อาจจะเกินจริงไปบ้างแต่ก็สื่อให้เห็นว่าคนเราเวลาที่รักและชอบอะไรจริง ๆ พวกเขาพร้อมที่จะทุ่มทุกอย่างที่มีอย่างไม่ลดละ และรอคอยดูที่สิ่งลงมือทำไปให้สำเร็จให้ได้แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว เรื่องนี้มันคล้าย ๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรนเจอร์สในช่วงเวลาที่พวกเขากระเด็นตกชั้นครั้งนั้นอย่างแท้จริง

เรนเจอร์ส เริ่มนับ 1 ใหม่แทบทุกด้าน เนื่องจากผู้เล่นหลักส่วนใหญ่ที่เรนเจอร์สปฏิเสธที่จะย้ายไปร่วมทีมใหม่ นักเตะที่ใช้งานจึงเป็นแข้งโนเนมและบางคนก็ดันจากทีมชุดอคาเดมีมาลงเล่นเลย เรื่องชัยชนะคงไม่ต้องพูดถึงให้มากความเพราะระดับความห่างระหว่างทีมอย่าง เรนเจอร์ส กับ ทีมระดับดิวิชั่น 4 ที่มีงบประมาณทำทีมต่อปีไม่ถึง 200,000 ปอนด์ เรนเจอร์สย่อมเอาชนะแต่ละเกมได้ไม่ยาก 

แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือแม้นักเตะดัง ๆ จะไม่ได้ตกชั้นมาด้วย แต่แฟนบอลของพวกเขายังอยู่กับทีมเสมอ ในเกมดิวิชั่น 3 (ลีกระดับ 4) นัดแรกที่ เรนเจอร์ส ชนะ อีสเตอร์ลิ่ง 5-1 ณ วันนั้น กองเชียร์เรนเจอร์สเดินทางเข้าสนามไอบร็อกซ์ มาเชียร์ทีมรักเป็นจำนวน 49,000 คน จนกลายเป็นสถิติโลกที่ทีมในลีกลำดับ 4 ของประเทศมีแฟนบอลเข้ามาเชียร์มากขนาดนี้ พวกเขาร้องเพลงเชียร์ดังสุดเสียง เฮสนั่นกับทุกประตูที่เกิดขึ้น พวกเขายังคงทำเหมือนกับตอนที่ทีมเล่นในลีกสูงสุดหรือลงเล่นเกมดาร์บี้แมตช์เลยก็ว่าได้ 

"สโมสรแห่งนี้เต็มไปด้วยจิตวิญญาณ แฟนบอลพร้อมหนุนหลังทีมเสมอ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมพวกเราจึงมากันเต็มสนาม" แฟนบอลรายหนึ่งกล่าวกับสื่ออังกฤษอย่าง The Athletic 

แม้เราจะบอกว่านักเตะส่วนใหญ่ย้ายออกไป แต่ก็มีกลุ่มนักเตะเลือดข้นจำนวนหนึ่งที่ยอมตกลงมาเล่นระดับดิวิชั่น 4 ร่วมกับทีม ที่พอมีชื่อเสียงหน่อยก็เห็นจะเป็น ลี แมคคัลลอค, นีล อเล็กซานเดอร์ และ ลี วอลเลซ รวมถึงกุนซืออย่าง อัลลี่ แม็คคอยส์ ด้วย 

ตัวของ วอลเลซ นั้นอายุ 24 ปี ณ เวลานั้น เป็นนักเตะที่มีอนาคตสดใส ว่ากันว่าเขาอาจจะได้ไปเล่นในอังกฤษเลยด้วยซ้ำ แต่เขาก็พร้อมลงมาช่วยเรนเจอร์ส เพราะเขาคือสายเลือดของทีมและอยากที่จะเป็นส่วนหนึ่งในชุดที่ถูกจารึกว่าพาทีมกลับมาจากขุมนรกได้ 

"การตัดสินใจอยู่ต่อของผมนั้นง่ายมาก ผมอาจจะอยู่ที่นี่ไม่นานนัก แต่สโมสรมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดในชีวิตให้กับผม ทีม และแฟนบอลสนับสนุนผมอย่างน่าเหลือเชื่อ ผมเข้าใจและต้องการแบกความความกดดันของประวัติศาสตร์ของสโมสรอันยิ่งใหญ่ให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า … ผมรู้ดีว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะทำให้ผมมีโอกาสติดทีมชาติน้อยลง ได้ลงเล่นในระดับความเข้มข้นของลีกที่ต่ำลง ... แต่ช่างมันเถอะ ไม่เห็นจะเป็นไร นี่คือเรื่องสโมสร เรื่องของทีม และเรื่องของกองเชียร์ ... ทั้งหมดนี้ผมจะเป็นตัวแทนพวกเขาเอง" ลี วอลเลซ กล่าว 

การห้ามซื้อตัวจากกฎเรื่องการเงินทำให้เรนเจอร์สประหยัดงบไปเยอะมาก นักเตะหลายคนรับค่าเหนื่อยน้อยมาก และพวกเขายังไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มสักแดง แต่เปลี่ยนเป็นการดันนักเตะจากอคาเดมีคนแล้วคนเล่าขึ้นมาออกสตาร์ทเป็น 11 ตัวจริง เรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับตัวเลขในบัญชีล้วน ๆ พวกเขาขายตั๋วหมดแทบทุกเกม แต่รายจ่ายลดลงเกิน 80% จากตอนที่เล่นในลีกสูงสุด นอกจากนี้เหล่าผู้สนับสนุนที่เป็นธุรกิจประจำในท้องถิ่นก็ยังคงเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีมต่อ ทำให้สภาวะทางการเงินของเรนเจอร์สดีขึ้นทันทีในปีแรก   

พวกเขาเลื่อนชั้นจากดิวิชั่น 4 สู่ดิวิชั่น 3 และเลื่อนจากดิวิชั่น 3 สู่ดิวิชั่น 2 (สกอตติช แชมเปี้ยนชิพ) แบบปีต่อปี และเมื่อมาถึงช่วงของการเล่นในลีกรอง เรนเจอร์สต้องเจอกับงานที่ยากขึ้นเพราะเรื่องเงินและการเสริมทัพที่น้อย อีกทั้งบอร์ดบริหารที่มีการเปลี่ยนมือทำให้พวกเขาทำได้แค่ประคองตัวและไม่ใช่จ่ายเงินเลย ส่วนใหญ่เป็นการยืมนักเตะจากทีมในอังกฤษอย่าง แฮริส วุคคิช, เควิน เอ็มบาบู และ เชน เฟอร์กูสัน มาจาก นิวคาสเซิล เป็นต้น

แม้จะผลงานดีได้อันดับ 3 แต่เมื่อถึงรอบเพลย์ออฟ เรนเจอร์สก็ไปไม่ถึงฝันด้วยนักเตะหมุนเวียนที่ไม่พอและนักเตะตัวหลักเจ็บในช่วงท้ายฤดูกาล บางคนลงเล่นเกือบ 55 เกมตลอดทั้งซีซั่น นั่นจึงทำให้เรนเจอร์สไม่สามาถเลื่อนชั้นได้ในปีแรก พวกเขาแพ้ให้กับ มาเธอร์เวลล์ ในเพลย์ออฟนัดชิงชนะเลิศด้วยสกอร์รวม 1-6   

ปี 2015-16 ทีมบริหารของสโมสรอยู่ในสถานะที่มีความแน่นอนแล้ว เดฟ คิง นักธุรกิจชาวสกอตติช เข้ามาบริหารทีมและตั้งเป้าว่าถึงเวลาแล้วที่ทีมจะต้องเลื่อนชั้น เนื่องจากนักเตะดาวรุ่งที่มีเริ่มโตขึ้น รวมถึงนักเตะที่ย้ายเข้ามาในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาปรับตัวกับทีมได้ เขาจึงอนุมัติงบ 1.5 ล้านปอนด์สำหรับการเสริมทัพ ซึ่งนี่คือเงินก้อนแรกนับตั้งแต่ปี 2011 ที่เรนเจอร์สใช้สำหรับซื้อนักเตะใหม่เลยทีเดียว

 

การซื้อตัวในครั้งนั้นได้นักเตะมาหลายคน และได้คนที่กลายมาเป็นแกนหลักของทีมจนถึงตอนนี้อย่าง เจมส์ ทาเวอร์เนียร์ มาจาก วีแกน ด้วยราคาแค่ 2 แสนปอนด์เท่านั้น ทาเวอร์เนียร์ มาเป็นกัปตันทีมของพวกเขา และกลายเป็นนักเตะที่มีมูลค่าแตะหลัก 10 ล้านปอนด์เข้าไปแล้ว 

เรนเจอร์ส ไม่พลาดอีกเเล้วในฤดูกาลนี้ พวกเขาคว้าเเชมป์สกอตติช แชมเปี้ยนชิพ ก้าวขึ้นสู่ลีกสูงสุด และ เดฟ คิง ก็ได้อนุมัติเงินอีก 1 ก้อนโดยตั้งเป้าเพื่อการไม่ต้องตกชั้นในปีเดียว พวกเขาดึงนักเตะประสบการณ์สูงอายุเยอะและมีดีกรีพรีเมียร์ลีกมาร่วมทัพหลายคนทั้ง โจอี้ บาร์ตัน, นิโก้ ครานชาร์, คลินต์ ฮิลล์ และ ฟิลิปป์ เซนเดอรอส แต่ก็เป็นปีที่ไม่น่าจดจำนัก ความเก๋าอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับฟุตบอลสมัยใหม่ 

หลังเปิดฤดูกาลไม่นานพวกเขาลงเล่น โอลด์เฟิร์มดาร์บี้ กับ เซลติก และจบด้วยการแพ้ 1-5 ทว่าในเกมนั้นแฟนบอลของเรนเจอร์สยังคงร้องตะโกนสุดเสียง เพื่อบอกว่าพวกเขาทนการโดนถ่มถุยจากแฟนเซลติกมาแล้วถึง 4 ปี ดังนั้นการแพ้แค่เกมเดียวไม่ได้ระคายผิวหนังสักเท่าไหร่หรอก พวกเขาร้องเพลงโต้กลับไปว่า "จดจำวันที่แกล้อเลียนพวกเราเอาไว้ให้ดี แล้วนับวันรอให้ถึงวันที่พวกเราเอาคืน" 

เรนเจอร์ส จบในอันดับ 3 ของตาราง แค่นี้ก็ดีมากแล้วในมุมของ เดฟ คิง ปีนี้อาจจะไม่ได้แชมป์ แต่มันคือส่งสารท้ารับกับ เซลติก ที่ครองความยิ่งใหญ่แต่เพียงผู้เดียวมาอย่างยาวนาน

"เซลติกมีปีที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของพวกเขา พวกเขาใช้งบไปหลายสิบล้านกับนักเตะอย่าง สกอตต์ ซินแคลร์ และ มูสซา เดมเบเล พวกเขามีงบประมาณมากกว่าเราหลายเท่า แต่ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในปีนั้นคือพวกเขาได้รู้แล้วว่า เรนเจอร์สทีมนี้แหละที่กำลังลดช่องว่างและเข้าไปจ่อคอหอยของพวกเขาขึ้นทุกที" ประธานสโมสรกล่าว 

เรนเจอร์ จบอันดับที่ 3 ของฤดูกาลในลีกสูงสุดอีกครั้งในฤดูกาล 2017-18 ทว่าเมื่อฤดูกาล 2018-19 มาถึง การจ้างที่ทำให้ความปรารถนาของแฟนบอลและทุกคน ๆ ในองค์กรก็มาถึง เดฟ คิง เลือกใช้ สตีเว่น เจอร์ราร์ด ตำนานนักเตะของ ลิเวอร์พูล ที่ ณ เวลานั้นยังคุมทีมเยาวชนของหงส์เเดง และไม่มีประสบการณ์ในการคุมทีมชุดใหญ่เลย... 

“มีผู้สมัครหลายคนที่สมัครเข้ามา และหลายคนเคยคุมทีมในพรีเมียร์ลีกมาเล้ว แต่เมื่อผมดูมัน ผมคิดว่าไม่มีใครเป็นผู้ชนะที่แท้จริงเหมือนกับ สตีเว่น อีกเเล้ว” เดฟ คิง เผยมุมมองของเขา 

หลายคนสงสัยว่าการจ้าง เจอร์ราร์ด ในตอนนั้นเหมือนการหมดมุก เน้นเอาชื่อเสียงของเจอร์ราร์ดสมัยเป็นนักเตะมาขายให้ทีมเรนเจอร์สดูน่าสนใจ แต่ เดฟ คิง ยืนยันว่าการตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นจากสัมภาษณ์ การได้เห็นถึงแพชชั่นของเจอร์ราร์ด และความกระหายที่อยากจะประสบความสำเร็จ เหมือนกับสโมสรแห่งนี้ ... หลังจากนั้นช่วงเวลาที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในรอบ 10 ปีของ เรนเจอร์ส ก็เริ่มขึ้น

เลือกโค้ชถูกเหมือนถูกหวย

เจอร์ราร์ด เล่าถึงตัวเองก่อนจะมารับตำแหน่งที่เรนเจอร์สว่า ตัวเขาเองอยากทำงานโค้ชมาก เขาได้เรียนรู้จากกุนซือที่เคยร่วมงานหลายคนโดยเฉพาะในรายของ ราฟาเอล เบนิเตซ ที่เจอร์ราร์ดยอมรับว่ามีอิทธิพลในเรื่องการจัดการด้านแทคติกของเขาเป็นอย่างมาก และเขาเชื่อเรื่องทัศนคติและความมุ่งมั่นว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของชัยชนะ

ณ เวลานั้นสโมสรไม่ต้องการกดดันให้เขาคว้าแชมป์ตั้งแต่ปีแรก แต่สิ่งที่อยากเห็นคือการให้เจอร์ราร์ดทำแบบที่เขาเคยทำ นั่นคือการสร้างนักเตะในทีมให้มีทัศนคติของผู้ชนะและเป็นนักเตะที่ดีขึ้นจากการดึงศักยภาพของทีมชุดนี้ที่ซ่อนอยู่ออกมาให้ได้   

เจอร์ราร์ด เล่าว่าในการคุมทีมลงเล่นเกมที่ไอบร็อกซ์ นัดแรกของเขากับ วีแกน ในแมตช์กระชับมิตร เขาเห็นนักเตะในทีมตื่นตัวน้อยเกินไป นักเตะบางคนพูดคุยกันน้อย ซึ่งเจอร์ราร์ดเชื่อว่าหากจะเป็นทีมที่ดีทุกคนต้องเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีของกันและกันก่อน มีอะไรต้องพูดต้องสื่อสาร และเมื่อลงสนามต้องรู้หน้าที่ของตัวเองว่าแบกศักดิ์ศรีของแฟนบอลเรนเจอร์สที่โดนกดขี่มานานลงไปเล่นด้วย 

"ฟังนะ พวกเราคือเรนเจอร์ส พวกคุณเข้าใจใช่ไหม ? ตอนนี้เรากำลังปล่อยให้พวกเขาครองบอลอย่างสนุกสนานที่ไอบรอกซ์สนามของเรา นี่คือสิ่งที่ผมไม่อาจให้อภัยได้ มันจะไม่เกิดขึ้นที่นี่ ผมจะไม่อนุญาตให้พวกคุณทำแบบนี้" นี่คือสิ่งที่เจอร์ราร์ดเล่า 

เจอร์ราร์ด ได้งบประมาณทำทีม 2 ล้านปอนด์ เขาต้องเล่นแร่แปรธาตุถ้าเขาอยากได้ทีมที่ต้องการ เขาเริ่มขายนักเตะที่ทำเงินได้อย่าง จอช วินดาส ให้กับ วีแกน และได้เงินมา 2.5 ล้านปอนด์ แล้วปล่อยกองหลังค่าเหนื่อยแพงที่สุดในทีมอย่าง บรูโน่ อัลเวส ให้กับ ปาร์ม่า นั่นทำให้เขาได้นักเตะเข้ามาในทีมถึง 12 คน (ขายออกไปทั้งหมด 11 คน) ในจำนวนนี้มีนักเตะ 6 คนที่เป็นตัวหลักของทีมมาจนถึงวันนี้

การมาของ เจอร์ราร์ด เปลี่ยนแปลงนักเตะในทีมหลาย ๆ คน ลี วอลเลซ บอกว่าการมาของเจอร์ราร์ดเปลี่ยนทัศนคติและวิธีการเล่นของทีมไปโดยสิ้นเชิงในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมานานหลายปี

"ผมมีความสุขมากสำหรับผู้เล่นและทีมงาน ที่สำคัญที่สุดคือแฟน ๆ และคนที่อยู่เบื้องหลัง ฉันรู้สึกทึ่งกับคุณภาพของฟุตบอลและสไตล์ที่มองเห็นได้ทั้งตอนที่มีหรือไม่มีลูกบอล" ลี วอลเลซ กล่าว 

เจอร์ราร์ดพาทีมจบอันดับ 2 ในฤดูกาลแรกของเขา นี่คือผลงานที่ดีที่สุดของเรนเจอร์สนับตั้งแต่ตกชั้น พวกเขาแพ้ให้กับ เซลติก ที่นำโดย เบรนแดน ร็อดเจอร์ส แต่เหนือสิ่งอื่นใดทีมของเจอร์ราร์ด ณ เวลานั้นคือทีมที่สั่นสะเทือนเซลติกได้อย่างแท้จริง 

แม้ เรนเจอร์ส จะเงินทุนน้อยแต่ก็กลายเป็นทีมที่มีการเล่นด้วยวิธีการแบบฟุตบอลสมัยใหม่ รับทั้งทีม รุกทั้งทีม และนักเตะแต่ละคนต้องวิ่งกันเยอะมาก เฉลี่ยอย่างน้อยกว่า 10 กิโลเมตรต่อ 1 เกม ทั้งหมดนี้มาจากการปลูกฝังด้านวินัย ความเป็นทีมเวิร์ก เรียกได้ว่าทำให้ทีมมีมาตรฐานที่สูงขึ้นและแน่นอนขึ้น 

ปี 2019-20 เป็นอีกปีที่ เจอร์ราร์ด พาทีมจบด้วยตำแหน่งรองแชมป์ ซึ่งตอนนี้เจอร์ราร์ดกล้าพูดหลังจากจบฤดูกาลนั้นว่า "เราอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องเเล้ว" และทุกอย่างก็ตอบคำถามด้วยคำว่าปรากฏการณ์ในฤดูกาล 2020-21

แชมป์ไร้พ่ายสู่การสร้างรากฐานที่ดีที่สุด

เรนเจอร์ส เปลี่ยนเจ้าของใหม่ในปี 2020-21 โดยได้นักธุรกิจอย่าง ดักลาส พาร์ค เข้ามาบริหารทีม และพาร์คเองก็สานต่องานจาก เดฟ คิง ได้ดี เขาให้งบกับเจอร์ราร์ดมากถึง 10 ล้านปอนด์ นำมาซึ่งนักเตะอย่าง ยานิส ฮาจี ดาวรุ่งที่ดี่ที่สุดของโรมาเนีย, เคมาร์ รูฟ ดาวยิงเจ้าของรองดาวซัลโวลีกเบลเยียม, เจอร์เมน เดโฟ กองหน้าตัวเก๋าจาก บอร์นมัธ และคนอื่น ๆ อีก 3 คน เมื่อรวมกับนักเตะที่มีเจอร์ราร์ดก็ได้ทีมที่เขาต้องการเเล้ว  

ทุกคนเล่นเพื่อทีม เด็ก ๆ ที่ดันขึ้นสู่ชุดใหญ่ก็กลายเป็นนักเตะที่เล่นได้อย่างมั่นใจ แม้ไม่เก่งมากแต่ก็ห้าวเป้งไม่กลัวใคร นักเตะทุกคนตั้งใจในการฝึกซ้อม จดจำแทคติก และในฤดูกาล 2020-21 เรนเจอร์สก็กลายเป็นทีมที่สามารถใช้คำว่า "ไร้เทียมทานที่สุดในสกอตแลนด์" ได้อย่างเต็มปาก 

"เจอร์ราร์ดมีมาตรฐานสูงที่สุดเท่าที่ผมเคยเล่นให้กับทีม ๆ นี้ เขาปลูกฝังเด็ก ๆ ของเรา เขามีวิธีการและแทคติกเป็นของตัวเอง ผมอยากให้ทุกคนตั้งตารอสิ่งนั้น" ทาเวอเนียร์ กล่าว 

ในฤดูกาล 2020-21 ทุกคนในทีมเล่นอย่างท็อปฟอร์ม ประตูไหลมาเทมา และเหนือสิ่งอื่นใดสิ่งที่เจอร์ราร์ดฝากไว้กับทีม ๆ นี้คือวินัยในเกมรับที่เป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ 

“เขารู้ว่ามันเป็นอย่างไรในห้องแต่งตัวและเป็นกัปตันในห้องนั้น เขารู้วิธีนำผู้คน เขารวบรวมพวกเราทั้งหมด ให้เกียรติผู้คนและดึงสิ่งที่ดีที่สุดจากพวกเราออกมา”

“ความใส่ใจในรายละเอียดและการจัดระเบียบเกมรับของเขาช่างน่าเหลือเชื่อ” ไมเคิล บีล หนึ่งในสตาฟของทีม กล่าวยอมรับ เจอร์ราร์ด “มันคือความชัดเจนและบทบาทที่เขามอบให้กับผู้เล่นทุกคนอยู่ในระบบ ทั้งการเข้าเกมและการรู้ว่าจะคาดหวังอะไรได้จากคุณนั้นเป็นอะไรที่สดใหม่และน่าเชื่อถือมาก ถ้าคุณไม่ทำตามนั่นหมายความว่ามันเป็นความผิดของคุณ” 

เรนเจอร์ส คว้าเเชมป์ลีกอย่างยิ่งใหญ่ในฐานะเเชมป์ไร้พ่าย หลังจากนั้น เจอร์ราร์ด ก็ลาออกกลางฤดูกาล 2021-22 ปล่อยให้ โจวานี่ ฟาน บรองก์ฮอส อดีตนักเตะของทีมเข้ามารับช่วงต่อ ซึ่ง ฟาน บรองก์ฮอส ก็เป็นคนประเภทเดียวกับเจอร์ราร์ดที่มีแพชชั่นเต็มเปี่ยม ชอบฟุตบอลสมัยใหม่ เชื่อมั่นในวินัยและความเป็นทีม ทั้งหมดนี้ทำให้งานของทั้งสองเชื่อมต่อกันในเวลาอันสั้น แม้จะไม่ได้ใช้เงินมากมายในการเสริมทัพเหมือนกับ เซลติก ที่ทุ่มงบทวงแชมป์ลีกคืน แต่ เรนเจอร์ส ก็เล่นในเกมของพวกเขา นั่นคือหันไปหาฟุตบอลถ้วยแบบนัดต่อนัด ซึ่งอย่างที่รู้กันดีตอนนี้ ฟาน บรองก์ฮอส พาเรนเจอร์สเข้าชิงฟุตบอลถ้วย 2 รายการทั้ง สกอตติช คัพ และ ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก ที่สามารถผ่านทีมแกร่งอย่าง โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์, แอร์เบ ไลป์ซิก และ สปอร์ติ้ง บราก้า ก่อนจะเข้าไปเจอกับ ไอน์ทรัค แฟรงค์เฟิร์ต ในเกมชิงดำ 

เรื่องนี้ต้องยกความดีความชอบให้ ฟาน บรองก์ฮอส เต็ม ๆ เพราะเขาไม่ได้มีงบประมาณในการทำทีมมากนัก แต่เขาก็ทำให้นักเตะที่มีในทีมที่ส่วนใหญ่เป็นทีมของ เจอร์ราร์ด เชื่อมั่นและเชื่อฟังคำพูดของเขาจนผลงานของทีมดีขึ้นแบบดีวันดีคืน 

"ฟาน บรองก์ฮอส เป็นโค้ชในแบบที่จะทำให้คุณเป็นนักเตะที่ดีขึ้น งานของเขายากมากเลยนะเมื่อมองจากนักเตะที่เรามีในทีม เรามีผู้เล่นเก่ง ๆ อยู่บ้างแต่ยังมีอีกหลายจุดให้ปรับปรุง แต่ที่สุดเเล้วทุกคนเล่นเพื่อโค้ชจริง ๆ นั่นแหละเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก" จอห์น แมคล็อกลิน ประตูสำรองของทีมยอมรับเจ้านายใหม่ของเขา 

จาก 0 ถึงนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลยุโรป เรนเจอร์ส ถอยหลังเพื่อเรียนรู้ พวกเขาไม่ได้ใช้เงินเยอะเกินตัวเลยแม้แต่ฤดูกาลเดียว และเน้นไปให้ความสำคัญในการเลือกผู้จัดการทีมที่เป็นคนที่เขาจะมาเป็นผู้กำหนดคาแร็กเตอร์และ DNA ของทีมได้ดีที่สุด ... 3 ปีหลังสุดคือคำตอบ พวกเขาได้โค้ชรุ่นใหม่ที่อาจจะดีกรีไม่สวย แต่ทั้ง เจอร์ราร์ด และ ฟาน บรองก์ฮอส สามารถรวมทีมเป็นหนึ่ง และทำให้ทุกคนในทีมเชื่อว่าพวกเขาดีพอที่จะเป็นผู้ชนะ ไม่ว่าจะเป็นรองแค่ไหนก็ตาม    

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook