ย้อนเบื้องลึก กาตาร์ คว้าสิทธิ์เจ้าภาพฟุตบอลโลก ท่ามกลางกระแสต่อต้านรอบทิศ

ย้อนเบื้องลึก กาตาร์ คว้าสิทธิ์เจ้าภาพฟุตบอลโลก ท่ามกลางกระแสต่อต้านรอบทิศ

ย้อนเบื้องลึก กาตาร์ คว้าสิทธิ์เจ้าภาพฟุตบอลโลก ท่ามกลางกระแสต่อต้านรอบทิศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายปีนี้ เมื่อบวกกับการแข่งขันรอบคัดเลือกที่ดำเนินมาถึงโค้งสุดท้าย เหลือเวลาอีกไม่มากก่อนแฟนบอลทั่วโลกจะได้สัมผัสทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

แต่ฟุตบอลโลกครั้งนี้ไม่ได้สร้างความประทับใจให้กับผู้คนทั่วโลกนัก เมื่อประเทศเจ้าภาพ กาตาร์ ถูกกระแสต่อต้านอย่างหนักจากประชาคมโลก มีการเรียกร้องจากบางประเทศให้คว่ำบาตรฟุตบอลโลกครั้งนี้ เนื่องจากปัญหามากมายที่ชาติตะวันออกกลางชาตินี้สร้างไว้

Main Stand จะย้อนเบื้องลึกที่ทำให้ฟุตบอลโลก 2022 ถูกต่อต้านอย่างหนัก ทั้งปัญหาเรื่องการทุจริตที่นำมาสู่การคว้าสิทธิ์เจ้าภาพอย่างไม่โปร่งใส รวมถึงปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ส่งผลให้แรงงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับฟุตบอลโลกในกาตาร์เสียชีวิตไปไม่ต่ำกว่า 6,500 คน

เส้นทางสู่เจ้าภาพฟุตบอลโลก

การดำเนินงานของประเทศกาตาร์เพื่อคว้าสิทธิ์เจ้าภาพฟุตบอลโลกเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2010 หลังกาตาร์เข้าเป็นหนึ่งใน 9 ผู้ท้าชิงที่จะมีสิทธิ์คว้าตำแหน่งเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018 และ 2022 โดยในบรรดาชาติทั้งหมดที่เสนอชื่อนั้นกาตาร์เป็นเพียงประเทศเดียวที่ไม่เคยเข้าร่วมฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมาก่อน

อย่างไรก็ตามความสำเร็จที่ขาดหายในวงการลูกหนังระดับสูงก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของกาตาร์ เพราะประเทศแห่งนี้เคยผ่านประสบการณ์การจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติมาแล้วมากมายหลายครั้ง

ไม่ว่าจะเป็น มหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ 2006 ที่กรุงโดฮา ซึ่งในเวลานั้นได้รับการยกย่องว่าเป็นเอเชียนเกมส์ที่ดีที่สุด หรือจะเป็นการได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพฟุตบอลเอเชียนคัพในปี 2011 ซึ่งเป็นสัญญาณบอกคนทั่วโลกว่ากาตาร์พร้อมแล้วที่จะเป็นบ้านของทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่อย่าง ฟุตบอลโลก

 

กาตาร์เลือกนโยบายในการพากีฬาฟุตบอลมาสู่ภูมิภาคตะวันออกกลางมาเป็นจุดขายของการชิงสิทธิ์เจ้าภาพฟุตบอลโลกในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ตรงตามความตั้งใจของ FIFA เป็นอย่างมาก เนื่องจากในช่วงเวลานั้น FIFA มีความตั้งใจที่จะทำให้ฟุตบอลโลกเป็นกีฬาของคนทั่วทุกมุมโลกจริง ๆ ซึ่งภูมิภาคตะวันออกกลางยังไม่เคยได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกมาก่อน

“โลกอาหรับสมควรได้รับโอกาสจัดฟุตบอลโลก พวกเขามีชาติสมาชิก 22 ประเทศ แต่กลับไม่มีโอกาสได้จัดทัวร์นาเมนต์กีฬาที่มีความยิ่งใหญ่ขนาดนี้เลย” เซปป์ แบลตเตอร์ ประธานฟีฟ่าในขณะนั้น สนับสนุนให้การแข่งขันฟุตบอลโลกจัดขึ้นในตะวันออกกลาง

มีผู้เกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอลหลายคนที่สนับสนุนให้กาตาร์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกด้วยเหตุผลดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือ ซีเนดีน ซีดาน ตำนานนักเตะทีมชาติฝรั่งเศส ที่ชี้ชัดว่าหากฟุตบอลโลกจัดที่ทวีปแอฟริกาได้ ชาวตะวันออกกลางควรจะได้รับโอกาสนี้เช่นเดียวกัน โดยชี้ว่าการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ระดับนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนในตะวันออกกลางได้อีกมากมาย

เหตุผลอีกประการที่ช่วยสนับสนุนนโยบายของกาตาร์คือความสัมพันธ์ระหว่างโลกตะวันตกกับตะวันออกกลางที่ไม่ได้เป็นไปด้วยดีนัก นับตั้งแต่เหตุวินาศกรรม 9/11 ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2001 ทางกาตาร์ยืนยันชัดเจนว่าการแข่งขันฟุตบอลโลกในดินแดนตะวันออกกลางสามารถเป็นสะพานที่เชื่อมโลกสองใบเข้าหากัน และจะสามารถยุติความเข้าใจผิดที่มีระหว่างกันและกันลงได้เสียที

 

“สิ่งที่เราจะทำได้ในตะวันออกกลางนั้นไม่มีภูมิภาคไหนหรือคู่แข่งรายใดสามารถมาเปรียบเทียบได้ ฟุตบอลมีอิทธิพลกับชีวิตของพวกเรามากกว่าสิ่งใด มันสามารถเปลี่ยนแนวคิดของพวกเราได้มากกว่าทุกสิ่ง” ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ฮาหมัด หนึ่งในสมาชิกของราชวงศ์ฎอนี ผู้ปกครองกาตาร์ กล่าวถึงความสำคัญของฟุตบอลโลกต่อชาวตะวันออกกลาง

“เราต้องการฟุตบอลโลกในภูมิภาคตะวันออกกลางให้กับผู้คนมากมายในตะวันออกกลาง ความหวังและความฝันของพวกเขาถูกฝากฝังไว้กับความสำเร็จในการยื่นสิทธิ์ครั้งนี้”

กาตาร์เอาจริงเอาจังเป็นอย่างมากในการคว้าสิทธิ์เจ้าภาพฟุตบอลโลก พวกเขาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เงิน ไม่ใช่ปัญหาในการจัดทัวร์นาเมนต์ประวัติศาสตร์ มีการสั่งเดินหน้าพัฒนาสนามแข่งขันหลายแห่งล่วงหน้า รวมถึงมีการทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อโฆษณาประเทศแห่งนี้

ขณะเดียวกันกาตาร์ได้ว่าจ้าง ไมค์ ลี (Mike Lee) อดีตโฆษกของพรีเมียร์ลีก ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของกรุงลอนดอนและนครริโอเดอจาเนโร ในการคว้าสิทธิ์เจ้าภาพโอลิมปิก เกมส์ เข้ามาเป็นเบื้องหลังในการวางแผนงานทั้งหมด

กาตาร์จึงมีความพร้อมเป็นอย่างมากสำหรับการรับบทบาทเจ้าภาพฟุตบอลโลก เซปป์ แบลตเตอร์ กล่าวว่าความสำเร็จในการจัดเอเชียนเกมส์ 2006 คือเครื่องยืนยันถึงศักยภาพของกาตาร์ ส่วนจุดอ่อนสำคัญคือเรื่องสภาพอากาศของประเทศที่มีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียสและอาจพุ่งสูงเกิน 40 องศาเซลเซียสในเวลากลางวัน

 

ทางฝ่ายจัดการแข่งขันได้วางแผนแก้ปัญหาด้วยการสร้างสนามฟุตบอลที่สามารถควบคุมอุณหภูมิของอากาศ และยังมีอีกหลายแผนงานที่ได้ถูกเสนอไปเพื่อรับมือกับสภาพอากาศอันโหดร้าย ซึ่งท้ายที่สุดกาตาร์ได้สร้างความมั่นใจกับหลายฝ่ายถึงความสามารถในการจัดการกับอุปสรรคเหล่านี้

วันที่ 2 ธันวาคม ปี 2010 กาตาร์ถูกรับเลือกให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 อย่างเป็นทางการ โดยสามารถเอาชนะความร่วมมือของสามชาติในโซนเอเชีย เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย และอีกหนึ่งผู้ท้าชิง สหรัฐอเมริกา ได้ในรอบคัดเลือกรอบสุดท้าย ส่งผลให้การแข่งขันฟุตบอลโลกเดินทางสู่ภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นผลสำเร็จ

“เราทำงานอย่างหนักตลอดสองปีที่ผ่านมาเพื่อก้าวมาสู่จุดนี้ วันนี้เราเฉลิมฉลอง แต่พรุ่งนี้การทำงานของเราจะเริ่มต้น พวกเรายอมรับว่ามีงานอีกมากที่ต้องทำ แต่เราขอสัญญาตรงนี้ว่าพวกเราจะทำมันให้สำเร็จแน่นอน” ชีค ฮาเหม็ด บิน คาลีฟา อัล ธานี เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ในขณะนั้น กล่าวถึงความสำเร็จของประเทศที่คว้าสิทธิ์เจ้าภาพฟุตบอลโลกมาครองได้สำเร็จ

ความสำเร็จที่เกิดจากคอร์รัปชั่น ?

นับตั้งแต่วันที่กาตาร์ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 กระแสต่อต้านการตัดสินใจครั้งนี้ก็ได้เริ่มต้นขึ้นทันควัน โดยประเด็นแรกที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางคือความเหมาะสมในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ทั้งที่กาตาร์แทบไม่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับการแข่งขันรายการนี้เลย

โดยในช่วงเวลาที่กาตาร์ถูกรับเลือกเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกเมื่อปี 2010 ทีมชาติของพวกเขาเป็นทีมลำดับ 113 ของโลกตามแรงกิ้งของ FIFA หรืออยู่อันดับสูงกว่าทีมชาติไทยเพียงอันดับเดียว (ไทยอยู่อันดับ 114) ยิ่งเมื่อวัดกับความสำเร็จในระดับภูมิภาคกาตาร์ก็แทบไม่ต่างจากประเทศไทย เพราะในเวลานั้นพวกเขาไม่เคยคว้าแชมป์ฟุตบอลในระดับทวีปเช่นเดียวกับทัพช้างศึก (เอเชียน คัพ) และเกียรติยศสูงสุดก็เป็นเพียงการแข่งขันในระดับภูมิภาคย่อยเท่านั้น (กัลฟ์ คัพ และ ซูซูกิ คัพ)

ไม่มีทางที่แฟนฟุตบอลทั่วโลกจะยอมรับทีมที่มีความสำเร็จเพียงเท่านี้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก นี่คือคำวิจารณ์ที่กาตาร์ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ดีกาตาร์ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าคุณภาพฟุตบอลของพวกเขาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะนับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมากาตาร์กวาดความสำเร็จมากมายมาครอง ทั้ง แชมป์กัลฟ์ คัพ ในปี 2014 และแชมป์เอเชียน คัพ สมัยแรก ในปี 2019

แต่ถึงแม้จะยกระดับวงการฟุตบอลในประเทศขึ้นมากาตาร์ก็ยังเจอกับกระแสต่อต้านไม่หยุดหย่อน โดยคราวนี้เป็นปัญหาที่เลวร้ายกว่านั้นมาก เพราะในปี 2011 มีการเปิดเผยจาก ลอร์ด เดวิด แม็กซิม ไทรส์แมน (David Maxim Triesman) ถึงการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นใน FIFA ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเลือกกาตาร์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก

 

ลอร์ดไทรส์แมน กล่าวว่าตัวแทนจากประเทศแคเมอรูนและไอวอรี่โคสต์ รับเงิน 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อแลกกับการสนับสนุนกาตาร์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก นอกจากนี้ยังมีการกล่าวว่า โมฮัมเหม็ด บิน ฮัมมาม (Mohammed bin Hammam) อดีตประธาน AFC ที่กำลังลงสมัครเป็นประธานคนใหม่ของ FIFA ได้ล็อบบี้สมาชิก 22 รายให้โหวตเลือกกาตาร์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก

ข้อกล่าวหานี้นำไปสู่การสอบสวนโดย FBI ในปี 2014 หลัง แจ็ค วอร์เนอร์ (Jack Warner) ตัวแทนของตรินิแดดแอนด์โตเบโก ถูกเปิดเผยว่ารับเงิน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากสนับสนุนให้กาตาร์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ก่อนที่หนังสือพิมพ์ The Sunday Times จะเปิดเผยว่า โมฮัมเหม็ด บิน ฮัมมาม จ่ายเงินมากกว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นค่าตอบแทนแก่สมาชิกที่สนับสนุนกาตาร์

ทางกาตาร์ได้ออกมาปฏิเสธเรื่องนี้ทันที โดย อักบาร์ อัล เบเกอร์ (Akbar Al Baker) ซีอีโอของสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ เปิดเผยว่าข้อกล่าวหาทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะความอิจฉา และนำไปสู่ความพยายามที่จะขัดขวางไม่ให้กาตาร์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก นอกจากนี้ อัล เบเกอร์ ยังยืนยันว่ารัฐบาลกาตาร์ต่อต้านการทุจริตและการติดสินบนอย่างเข้มงวด และพร้อมจะลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรุนแรง

กรณีการคอร์รัปชั่นเพื่อล็อกผลให้กาตาร์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งในปี 2019 เมื่อ โบนิตา เมอซิอาเดส (Bonita Mersiades) หนึ่งในผู้เกี่ยวข้องกับการเสนอออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ได้เขียนหนังสือ Whatever It Takes: The Inside Story of the FIFA Way ซึ่งเปิดเผยการทุจริตทุกอย่างที่ส่งผลให้กาตาร์ได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก

โดยหนังสือเล่มดังกล่าวเขียนว่า FIFA จะได้รับเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐจาก beIN Sports หากกาตาร์ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก โดยผู้รู้เห็นข้อตกลงนี้คือ เฌอโรม วาลก์ (Jérôme Valcke) อดีตเลขาธิการฟีฟ่าซึ่งปัจจุบันถูกแบนจากวงการฟุตบอล 9 ปี เนื่องจากความผิดฐานคอร์รัปชั่น

มีข้อกล่าวหาอีกมากมายจากฝั่งตะวันตกที่ยืนยันว่า กาตาร์ ได้รับสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 โดยไม่ชอบธรรม และเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากการล็อบบี้ผู้อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจด้วยเม็ดเงินมหาศาล 

แต่เนื่องจากหลักฐานที่ไปไม่ถึงรัฐบาลกาตาร์จริง ๆ จึงไม่มีการเอาผิดที่สามารถถอนสิทธิ์กาตาร์ได้ มีเพียงกระแสต่อต้านจากชาวโลกเท่านั้นที่ทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนความอื้อฉาวครั้งนี้

ฟุตบอลโลกที่สร้างบนกองเลือดแรงงาน

นับตั้งแต่มีการเปิดเผยถึงสิทธิ์เจ้าภาพฟุตบอลโลกที่ได้มาโดยไม่โปร่งใสของกาตาร์ ดูเหมือนว่าทุกการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลโลก 2022 จะนำไปสู่เสียงวิจารณ์ได้ทั้งหมด ไล่ตั้งแต่เรื่องภูมิอากาศที่ร้อนเกินไป, การโยกฟุตบอลโลกไปเตะหน้าหนาว, ขนส่งมวลชนสาธารณะและส่วนตัวที่ไม่มีความพร้อม, ค่าใช้จ่ายในการจัดทัวร์นาเมนต์ที่ทะลุ 7 ล้านล้านบาท และการจำกัดไม่ให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในที่สาธารณะ

ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนทำให้กระแสต่อต้านการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของกาตาร์แรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มีประเด็นไหนที่จะทำให้ผู้คนทั่วโลกประณามประเทศแห่งนี้ไปมากกว่าเรื่องของปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา และไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

ย้อนกลับไปยังปี 2013 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงานอย่าง ฮิวแมนไรท์วอทช์ กับ สมาพันธ์สหภาพแรงงานนานาชาติ ออกมาเปิดเผยว่าแรงงานข้ามชาติที่มีส่วนในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลโลก 2022 (เช่น การสร้างสนามแข่งขัน) ถูกล่วงละเมิดจากนายจ้างโดยปราศจากผู้ปกป้อง ตามระบบคาฟาลาที่จะผูกให้แรงงานคนหนึ่งขึ้นตรงต่อนายจ้างคนหนึ่งไปตลอด

ระบบคาฟาลาถูกวิจารณ์ว่าก่อให้เกิดการกดขี่แรงงานและมีโอกาสที่จะทำให้แรงงานเหล่านั้นมีสถานะไม่ต่างจากทาสของนายจ้าง โดยมีการเปิดเผยว่าแรงงานในระบบคาฟาลาไม่สามารถเปลี่ยนงานหรือแม้กระทั่งเดินทางกลับบ้านเกิดหากไม่ได้รับอนุญาตจากนายจ้าง โดยมีแรงงานมากกว่า 1 ล้านคนในประเทศกาตาร์ที่อยู่ภายใต้ระบบคาฟาลา

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ องค์การนิรโทษกรรมสากล ยังออกมาเปิดเผยอีกว่าแรงงานในกาตาร์ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับฟุตบอลโลก 2022 ต้องพบเจอกับชะตากรรมอันน่าเศร้า เช่น ทุพพลภาพตลอดชีพ เนื่องจากการทำงานที่เสี่ยงอันตราย แถมยังไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ เนื่องจากปราศจากสิทธิ์จะเข้าถึงการรักษาฟรีโดยโรงพยาบาลรัฐบาล

แรงงานเหล่านี้ยังไม่ได้รับค่าจ้างตามที่ตกลงและมีสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ บางคนทำงานเพียงเพื่อแลกกับสิทธิ์ในการได้รับพาสปอร์ตคืนจากนายจ้าง โดยมีการยืนยันว่าแรงงานต่างชาติ 90 เปอร์เซ็นต์ในกาตาร์ถูกยึดพาสปอร์ตเมื่อเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศแห่งนี้

กาตาร์ถูกประณามว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโจ่งแจ้งและแรงงานเหล่านี้ก็มีชีวิตที่ไม่แตกต่างจากทาสในสมัยโบราณ มีการวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าฟุตบอลโลก 2022 คือความสำเร็จที่เกิดขึ้นบนกองเลือดของแรงงานเหล่านี้ แถมยังมีการประณามฟุตบอลโลกครั้งนี้อีกว่าเป็นเครื่องมือในการทำให้กาตาร์ดูทันสมัยในสายตาชาวโลก ทั้งที่พวกเขายังคงล้าหลังและไม่ให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชน

ข้อกล่าวหาที่โจมตีกาตาร์ว่าใช้ฟุตบอลโลก 2022 เป็นเครื่องล้างมือให้ตัวเองดูสะอาด หรือ Sportswashing ส่งผลให้กาตาร์ประกาศว่าจะยกระดับความเป็นอยู่ของแรงงานเหล่านี้ให้ดีขึ้น แต่จนแล้วจนรอดคุณภาพชีวิตของแรงงานในกาตาร์ก็ยังไม่เคยดีขึ้น ส่งผลให้คำวิจารณ์ในเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนมีอยู่เสมอมา

เดือนเมษายน ปี 2020 กาตาร์ประกาศว่าพวกเขาจ่ายเงิน 824 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของแรงงานในช่วงวิกฤตโควิด-19 และยังมีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นไม่ต่ำกว่า 9,000 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ยังมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินเพิ่มเติมอีกราว 7,000 บาทเป็นค่าที่พักและค่าอาหารแก่แรงงาน เว้นแต่นายจ้างจะจัดหาให้เอง

ภาพลักษณ์ของกาตาร์เหมือนจะดูดีขึ้นมา เนื่องจากเป็นชาติแรกในตะวันออกกลางที่มีการปฏิรูปสิทธิของแรงงานอย่างจริงจัง แต่ในเดือนมีนาคม ปี 2021 The Guardian เปิดเผยว่ามีแรงงานต่างชาติเสียชีวิตมากกว่า 6,500 ราย ระหว่างช่วงปี 2010 ถึง 2020 เพื่อให้โปรเจ็กต์ฟุตบอลโลกลุล่วง โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มาจากภูมิภาคเอเชียใต้

กาตาร์ปกปิดสาเหตุที่แท้จริงเรื่องการเสียชีวิตของแรงงานเหล่านี้ โดยแรงงานอินเดียราว 80 เปอร์เซ็นต์ ถูกแจ้งว่าเป็นการเสียชีวิตตามธรรมชาติ โดยส่วนใหญ่ถูกอธิบายว่ามีสาเหตุมาจากหัวใจล้มเหลวหรือความบกพร่องในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างปุบปับโดยไร้สาเหตุและไม่มีการลงรายละเอียดมากกว่านั้น

นอกจากเรื่องสิทธิแรงงานแล้ว กาตาร์ยังมีปัญหายืดยาวกับกลุ่ม LGBTQ+ โดยกาตาร์เขียนกฎหมายชัดเจนว่า กลุ่มคนที่เข้าข่ายรักร่วมเพศ (Homosexuality) ถือเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายในประเทศกาตาร์ โดยสามารถต้องโทษจำคุกสูงสุดได้มากถึง 7 ปี ซึ่งล่าสุดทางรัฐบาลกาตาร์ออกมายอมรับว่าพวกเขาไม่รับประกันความปลอดภัยกับแฟนบอลที่เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในสนามฟุตบอล

การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เกิดกระแสการคว่ำบาตรฟุตบอลโลก 2022 โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศหัวก้าวหน้าแถบยุโรปกลางและสแกนดิเนเวีย โดยมีการพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจังในประเทศนอร์เวย์และเยอรมนี อย่างไรก็ตามทั้งสองชาติยังคงปฏิเสธที่จะถอนตัวจากฟุตบอลโลกที่กาตาร์

กระแสต่อต้านบทบาทเจ้าภาพฟุตบอลโลกของกาตาร์ยังคงดำเนินไปอยู่ในปัจจุบัน แม้หลายฝ่ายจะมั่นใจแน่นอนแล้วว่า ฟุตบอลโลก 2022 จะเกิดขึ้นตามปกติโดยไม่มีการยกเลิก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ผู้คนทั่วโลกจะต้องเลิกพูดถึงเรื่องราวเลวร้ายที่กาตาร์ทำไว้เบื้องหลังทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

ฟุตบอลโลก 2022 คือการแข่งขันที่สร้างขึ้นบนฐานการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่ มีแรงงานมากมายต้องเสียชีวิตอย่างไม่เป็นธรรม แถมยังมีผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการทุจริตมากมาย แน่นอนว่ามันยังคงเป็นการแข่งขันฟุตบอลที่จะสร้างความสุขให้กับคนทั่วโลก

แต่การสูญเสียและความเลวร้ายที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างความสำเร็จในครั้งนี้จะไม่มีวันถูกลบเลือนไปได้ ฟุตบอลโลก 2022 จึงอาจถูกจดจำในฐานอีเวนต์ที่ช่วยเหลือกาตาร์ในแง่ของการฟอกประวัติตัวเองด้วยการสนับสนุนวงการกีฬา เพื่อลบความจริงที่พวกเขาเอื้อประโยชน์ในการกดขี่แรงงานทาส ซึ่งนำมาสู่ความสูญเสียมากมายแบบที่ฟุตบอลโลกครั้งไหนก็ไม่สามารถสร้างความสุขแก่ครอบครัวพวกเขาได้อีกเลย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook