นี่แข่งรถหรือพล็อตหนัง? : เจาะลึกชัยชนะของ "มักซ์ เวอร์สแตพเพ่น" ในฤดูกาลสุดบ้าคลั่งของ F1

นี่แข่งรถหรือพล็อตหนัง? : เจาะลึกชัยชนะของ "มักซ์ เวอร์สแตพเพ่น" ในฤดูกาลสุดบ้าคลั่งของ F1

นี่แข่งรถหรือพล็อตหนัง? : เจาะลึกชัยชนะของ "มักซ์ เวอร์สแตพเพ่น" ในฤดูกาลสุดบ้าคลั่งของ F1
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชัยชนะในเรซสุดท้ายของปีที่อาบูดาบี ส่งให้ มักซ์ เวอร์สแตพเพ่น เป็นแชมป์โลก Formula 1 คนล่าสุด แบบพลิกเฉือนปาดหน้า เซอร์ ลูอิส แฮมิลตัน เจ้าของแชมป์โลก 7 สมัยในรอบสุดท้าย

อย่างไรก็ตามชัยชนะของเจ้าตัวกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่พอสมควร โดยเฉพาะระหว่างการปล่อยรถ Safety Car ออกมาวิ่งหลังเกิดอุบัติเหตุในสนาม และการเปลี่ยนใจของ FIA ให้รถที่โดนน็อกรอบไปแล้วสามารถวิ่งแซงได้ จนดูเหมือนเป็นการมอบแชมป์ให้กับ เวอร์สแตพเพ่น เลยทีเดียว

เกิดอะไรขึ้นบ้างในการแข่งที่ ยาส มารินา เซอร์กิต มาย้อนดูและเจาะลึกทุกจังหวะสำคัญของเรซที่แสนบ้าคลั่งและบีบคั้นหัวใจที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ฟอร์มูล่าวันครั้งนี้กับ Main Stand

เดือดตั้งแต่ออกตัว

มักซ์ เวอร์สแตพเพ่น และ เซอร์ ลูอิส แฮมิลตัน เข้าสู่เรซสุดท้ายของปีด้วยแต้ม 369.5 เท่ากันพอดิบพอดี จนทำให้ตำแหน่งแชมป์โลกต้องถูกตัดสินกันที่อาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2016 และเป็นครั้งแรกในรอบ 47 ปีที่ผู้ท้าชิงทั้งสองมีแต้มเท่ากันในรอบก่อนสุดท้าย

1ด้วยโอกาสการแซงในสนามที่ค่อนข้างท้าทาย ทำให้แต่ละฝ่ายต้องทำเวลาในรอบควอลิฟาย ซึ่งมี 3 ช่วง ตัด 5 อันดับสุดท้ายใน 2 ช่วงแรก เพื่อหาคนที่เร็วที่สุดในช่วงสุดท้ายให้ดีที่สุด จนทาง เรดบูล ตัดสินใจงัดแทคติกแบบทีมมาสู้ในช่วงสุดท้าย หรือ Q3 ด้วยการส่ง เซอร์จิโอ เปเรซ เพื่อนร่วมทีมของ เวอร์สแตพเพ่น ออกมาวิ่งแหวกลมให้ในเบื้องหน้า และเบี่ยงหลบเพื่อสลิงช็อตรถเบอร์ 33 ให้ทำความเร็วได้มากกว่าเดิมเล็กน้อย จนส่งให้ มักซ์ ขึ้นคว้าตำแหน่งโพล หรือคือการออกสตาร์ทเป็นรถคันแรกได้สำเร็จ ด้วยเวลาเร็วกว่า แฮมิลตัน 0.371 วินาที

อย่างไรก็ตาม เวอร์สแตพเพ่น และ เปเรซ ต่างออกสตาร์ทด้วย ยางซอฟต์ ซึ่งมีความนุ่มที่สุดที่ช่วยให้ทำความเร็วได้เต็มที่ แต่มีขีดจำกัดด้านอายุการใช้งานที่สั้นกว่ายางชนิดอื่น จากกฎที่ผู้เข้ารอบ Q3 ต้องใส่ยางที่ทำเวลาได้ดีที่สุดในรอบ Q2 เป็นชุดแรกในการแข่งจริง ซึ่งแอบโยนความได้เปรียบคืนให้กับ แฮมิลตัน ผู้เริ่มแข่งด้วย ยางมีเดียม ที่ยืนระยะการใช้งานได้นานกว่า

แถมเมื่อสัญญาณไฟทั้ง 5 ดวงได้ดับลง เซอร์ ลูอิส กลับเป็นฝ่ายที่ออกตัวได้เร็วกว่า ด้วยเวลาตอบสนอง 0.29 วินาที เร็วกว่า มักซ์ ถึง 1/10 วินาที แถมเมื่อนำทักษะออกสตาร์ทของ แฮมิลตัน มารวมกับเครื่องยนต์ในรถ เมอร์เซเดส ของเจ้าตัว ที่นอกจากจะแรงกว่าแล้วยังถูกใช้งานมาน้อยกว่าอีกด้วย (เครื่องยนต์ตัวสุดท้ายของ แฮมิลตัน ใช้งานครั้งแรกในการแข่งที่ บราซิล ส่วนของ เวอร์สแตพเพ่น ใช้งานครั้งแรกในการแข่งที่ รัสเซีย) จึงไม่แปลกว่าทำไมตำแหน่งผู้นำถึงถูกเปลี่ยนมือในทันทีที่ทั้งคู่เข้าสู่โค้งแรกของการแข่งขัน

2เวอร์สแตพเพ่น ก็ไม่ได้ยอมแพ้อย่างง่าย ๆ และด้วยการแหวกอากาศจากรถของ แฮมิลตัน ทำให้เจ้าตัวสามารถทำความเร็วขึ้นมาไล่กวดตาม รวมทั้งปาดขึ้นไปแซงได้เมื่อรถเข้าสู่โค้ง 6 ก่อนที่ทั้งคู่จะเบียดกันระหว่างกำลังจะถึงโค้ง 7 ซึ่งส่งให้รถเบอร์ 44 ของท่านเซอร์ เบี่ยงลัดโค้งออกไปในทันที และเร่งความเร็วหนีห่างออกไปตามคำสั่งของทีม

นี่คือจุดที่ถูกถกเถียงกันอยู่พอสมควร เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ของ FIA ตัดสินใจไม่ตรวจสอบเหตุการณ์นี้เลย แม้ว่า แฮมิลตัน อาจดูเป็นฝ่ายได้เปรียบจากการลัดทางโค้งและแย่งตำแหน่งคืนจาก เวอร์สแตพเพ่น โดยไม่คืนกลับ แต่ในเวลาเดียวกัน มักซ์ ก็ไม่ได้เว้นพื้นที่ให้มากพอ พร้อมกับรับความได้เปรียบคืนในจังหวะเข้าโค้ง 7 แล้วก็ตาม แต่การปล่อยให้ท่านเซอร์ลัดโค้งไปแบบไม่เช็คดูอะไรเลยนั้น น่าจะสร้างความหัวเสียให้กับคนดูไม่น้อย

เวลาผ่านล่วงเลยไป เมื่อไม่อาจทำความเร็วกวดตามรถของ เมอร์เซเดส ได้ เรดบูล จึงตัดสินใจเปลี่ยนเข้าแผนสองทันที นั่นคือการเรียก เวอร์สแตพเพ่น มาเข้าพิทในรอบที่ 13 ทำให้ทาง แฮมิลตัน ถูกดึงเข้าพิทในรอบที่ 14 เพื่อเป็นการตอบสนองและรักษาตำแหน่งผู้นำ โดยทั้งคู่เลือกยางฮาร์ดมาใช้ เพื่อให้สามารถเข้าพิทรอบเดียวหรือสองรอบตามสถานการณ์ในอนาคตได้

นั่นจึงทำให้ เซอร์จิโอ เปเรซ แซงขึ้นมาเป็นผู้นำในทันที และกลายเป็นหนึ่งในคีย์แมนสำคัญของทาง เรดบูล ที่ใช้เพื่อเล่นตามแทคติกของทีมเลยทีเดียว

เพราะไม่ว่าจะประสิทธิภาพเครื่องยนต์หรือความสดของยาง เปเรซ ก็ตกเป็นรองท่านเซอร์อยู่แล้ว และเขาคงถูก แฮมิลตัน ไล่ตามทันได้อีกในไม่กี่รอบให้หลัง ซึ่งในเมื่อรถของเจ้าของฉายา "เชโก้" เร็วสู้ เมอร์เซเดส ไม่ได้ ก็ต้องงัดเอาความเก๋าของเจ้าตัวมาประชันกันเสียเลย

3เปเรซ มีประวัติที่ค่อนข้างดีเมื่อเบียดแข่งกับท่านเซอร์ ตั้งแต่การแข่งที่ อาเซอร์ไบจาน ที่สามารถยื้อ แฮมิลตัน ให้อยู่ด้านหลังของเขาได้ ก่อนเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดทั้งกับ เวอร์สแตพเพ่น และ แฮมิลตัน จะทำให้เขาคว้าชัย และที่ ตุรกี ทั้งคู่ก็เคยไล่บี้กันมาแล้ว ก่อนที่ เชโก้ จะเป็นฝ่ายแซงกลับมารักษาตำแหน่งของตัวเองไว้ได้ จึงไม่แปลกเลยว่าทำไม เรดบูล ถึงวางหมากให้เจ้าตัวถนอมอายุยาง แล้วมากันท่าไม่ให้ ลูอิส ขับได้เต็มประสิทธิภาพของตนเอง

แผนดังกล่าวได้ผล เพราะยอดนักแข่งชาวเม็กซิกันสามารถบล็อกรถของ แฮมิลตัน ไว้ได้ถึงเกือบ 1 รอบเต็ม แถมลดช่องว่างเวลาจาก เวอร์สแตพเพ่น ให้เหลือไม่ถึงหนึ่งวินาที ซึ่งส่งให้ มักซ์ เปิดปีกท้ายเพื่อลดแรงต้าน และเก็บความเร็วเพิ่มเติมมาไล่บี้กับท่านเซอร์ได้อีกครั้ง ก่อนที่ เปเรซ จะหลีกทางให้เพื่อนร่วมทีมของตนเมื่อโดน แฮมิลตัน แซงไปแล้ว

พระเจ้าประทานพร

แม้แผนการเข้าพิทจะได้ผลดีอย่างเหลือเชื่อ แต่ก็ยังไม่เพียงพอให้ เวอร์สแตพเพ่น ไล่ตามได้ทันเวลา ในขณะที่รถของ คิมี่ ไรโคเน่น, จอร์จ รัสเซลล์, และ อันโตนิโอ จิโอวินาซซี่ ต่างต้องรีไทร์ออกไปเนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างแข่ง

4ซึ่งรถของ จิโอวินาซซี่ เจ้าของฉายา พระเยซูชาวอิตาเลียน (จากความคล้ายของหน้าตา) ดันไปเกิดปัญหาเกียร์บ็อกซ์ที่บริเวณโค้งความเร็วสูง อันเป็นจุดอันตรายหากยังคงปล่อยให้การแข่งขันดำเนินต่อไปด้วยความเร็วสูงแบบนี้ ทำให้ศูนย์ควบคุมจึงปล่อย Virtual Safety Car หรือรถเซฟตี้คาร์แบบจำลอง ที่สั่งให้รถแข่งทุกคันต้องลดความเร็วลง 40% วิ่งตามรถผู้นำและห้ามแซงในช่วงเวลาดังกล่าว

นั่นคือจุดเปลี่ยนแรกของการแข่งขัน เพราะเมื่อมีการปล่อย VSC แปลว่าความเร็วของรถทุกคันในสนามจะลดลง แต่ขีดจำกัดในพิทเลนนั้นยังคงเหมือนเดิม จึงทำให้หลายทีมตัดสินใจเรียกรถของตนมาเข้าพิท ณ ช่วงดังกล่าวเพื่อลดการเสียเวลาลง เมื่อเทียบกับช่วงที่รถทุกคันในสนามกำลังแล่นด้วยความเร็วเต็มพิกัด

เรดบูล เรียกทั้ง เวอร์สแตพเพ่น และ เปเรซ เข้ามาเปลี่ยนยางฮาร์ดเส้นใหม่ในทันที ในขณะที่ เมอร์เซเดส ยังให้ทาง แฮมิลตัน ใช้ยางเส้นเดิมอยู่ ซึ่งเข้าใจได้ว่าหากท่านเซอร์ถูกเรียกเข้าพิท สองนักแข่งของ เรดบูล อาจไม่ถูกเรียกเข้า และอาจทำให้พวกเขาโยนตำแหน่งแชมป์โลกทิ้งไปได้เลย

แม้จะช่วยร่นระยะห่างจาก แฮมิลตัน ลงมาได้ แต่ยางชุดใหม่ของทั้งคู่ก็ยังคงเร็วไม่มากพอที่จะไล่ตามรถของ เมอร์เซเดส ได้ทัน โดยเฉพาะช่วงที่ต้องน็อกรอบรถในสนามด้วยแล้ว เวอร์สแตพเพ่น กับ เปเรซ แทบไม่มีโอกาสไล่บี้ขึ้นไปทันท่านเซอร์ได้เลย

แต่แล้วในรอบที่ 53 นิโคลัส ลาติฟี ผู้พยายามไล่แย่งตำแหน่งอันดับ 14 กับ มิค ชูมัคเกอร์ เกิดสูญเสียการควบคุมรถของตนเองจนไถลไปชนเข้ากับกำแพงข้างเข้าอย่างจัง

เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกลางสนาม Safety Car จึงถูกปล่อยออกมาวิ่งในทันที เพื่อช่วยลดความเร็วของรถแข่งในสนาม และให้เจ้าหน้าที่โดยรอบเข้ามาเก็บกู้รถคันเกิดเหตุ เพื่อให้สภาพสนามพร้อมแข่งต่อได้โดยเร็วที่สุด

สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเซฟตี้คาร์ออกมา คือช่องว่างระหว่างผู้นำกับผู้ตามจะหายไปในทันที เพราะรถทุกคันจะต้องขับตามหลัง Safety Car แบบห้ามแซง และต้องรักษาความเร็วให้ต่ำกว่าค่าที่ทาง FIA กำหนดไว้ รวมทั้งห้ามเว้นช่องว่างระหว่างคันเกิน 10 ช่วงรถ ซึ่งนั่นช่วยให้ เวอร์สแตพเพ่น สามารถหักล้างระยะห่าง 11 วินาทีของเขากับ แฮมิลตัน ไปได้ในทันที

5ระยะห่างของท่านเซอร์ยังใกล้เกินกว่าจะทำฟรีพิทสตอป หรือการเข้าพิทแบบไม่เสียอันดับได้ ทาง เมอร์เซเดส จึงตัดสินใจไม่เรียกเข้าพิท ส่วนทาง เรดบูล ก็แค่ทำสิ่งตรงข้ามกับฝั่งของผู้ผลิตสัญชาติเยอรมัน นั่นคือการเอารถของ เวอร์แตพเพ่น และ เปเรซ มาเปลี่ยนเป็นยางซอฟต์อีกเส้นเสียเลย

และเมื่อ Safety Car สิ้นสุดลงในรอบสุดท้ายของการแข่งขัน ก็กลายเป็น เวอร์สแตพเพ่น ผู้มียางที่สดกว่า เบียดเอาชนะ แฮมิลตัน คว้าแชมป์โลกได้สำเร็จ แต่แน่นอนว่านั่นนำพามาซึ่งข้อครหาแบบยาวเป็นหางว่าว ว่าชัยชนะในครั้งนี้มันใสสะอาดจริง ๆ หรือไม่กันแน่

อะไรกันครับเนี่ย?!

นอกจากการลัดโค้งของท่านเซอร์ในรอบแรกแล้ว การตัดสินของ FIA ในวันนี้ สามารถเรียกรถทัวร์จากทั้งกองเชียร์ของ เมอร์เซเดส และ เรดบูล ให้ร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์แบบขนมาทั้งสวนสัตว์ได้เลยทีเดียว

6เริ่มจากจังหวะเกียร์บ็อกซ์มีปัญหาของ จิโอวินาซซี่ ที่ต้องหยุดรถในบริเวณข้างทางของโค้งความเร็วสูงซึ่งเป็นอันตรายต่อตัวของอิตาเลียนจีซัส เจ้าหน้าที่ภาคสนามและเหล่านักแข่งในแทร็กผู้อาจหลุดมาชนจนกลายเป็นอุบัติเหตุร้ายแรงได้ แต่ก็ต้องรอนานกว่า 50 วินาที ก่อนที่ทาง FIA จะให้สัญญาณ Virtual Safety Car ออกมา

แต่จังหวะที่ถูกโจษจันเป็นอย่างยิ่ง คงไม่พ้นช็อตเรียกรถ Safety Car ออกมาวิ่งในรอบ 53 หลังรถของ ลาติฟี ไปอัดเข้ากับกำแพงอย่างจัง ซึ่งทาง FIA แจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ของทุกทีมว่าพวกเขาจะไม่อนุญาตให้รถที่โดนน็อกรอบ แซงหน้าเซฟตี้คาร์เพื่อไปต่อแถวตามตำแหน่งของตนเองได้ ก่อนจะมาเปลี่ยนคำสั่งในภายหลัง ซึ่งก็ยังให้แค่รถ 5 คัน ที่อยู่ระหว่าง แฮมิลตัน กับ เวอร์สแตพเพ่น ผ่านไปได้เท่านั้น ส่วนอีก 3 คันข้างหลัง มักซ์ กลับไม่ได้รับอนุญาตให้แซงหน้าไป

ทีนี้จากกฎข้อบังคับ 48.12 ที่มีการระบุไว้ว่า "ในกรณีที่มีการส่งข้อความ 'LAPPED CARS MAY NOW OVERTAKE' รถคันใดก็ตามที่ถูกน็อกรอบโดยผู้นำจะสามารถแซงรถที่อยู่เบื้องหน้าได้" และตามด้วย "เมื่อคันที่ถูกน็อกรอบแซงกลับไปในตำแหน่งจริงของตนแล้ว รถเซฟตี้คาร์จะต้องสิ้นสุดลงในรอบถัดไป" ซึ่งถูกนำมาพูดถึงอยู่ทั้งสองประเด็นคือ ทำไมรถบางคันไม่ได้รับอนุญาตให้แซงหน้าไปได้ และทำไมรถ Safety Car ถึงถูกดึงออกจากสนามในทันทีแทนที่จะรอให้ครบอีกรอบก่อน

เมอร์เซเดส จึงตัดสินใจยื่นประท้วงผลการแข่งขันในทันที ด้วยเหตุผลตามที่ระบุไว้ในข้างต้น เพราะหาก FIA ปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าวจริง แปลว่าการแข่งขันจะต้องจบลงหลังรถเซฟตี้คาร์ และส่งให้ แฮมิลตัน เป็นแชมป์โลกสมัยที่ 8 อย่างไร้ข้อสงสัย

7ถึงกระนั้นทางกรรมการของ FIA ได้พิจารณาคำประท้วง ก่อนจะปฏิเสธคำขอดังกล่าวไป โดยให้เหตุผลว่า "กฎข้อ 15.3 ผู้อำนวยการแข่งขันสามารถควบคุมการปล่อยหรือเรียกรถเซฟตี้คาร์กลับมาได้" และ "แม้กฎข้อ 48.12 จะไม่ถูกบังคับใช้อย่างเต็มที่ แต่กฎข้อ 48.13 ซึ่งเมื่อมีการส่งข้อความ 'SAFETY CAR IN THIS LAP' ออกไปแล้ว จะต้องเรียกรถเซฟตี้คาร์เข้ามาเมื่อสิ้นสุดรอบนั้นสามารถหักล้างกฎข้อก่อนหน้าลงได้"

และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เพราะเมื่อรถของ เซบาสเตียน เวทเทล คันสุดท้ายที่ได้รับอนุญาตให้แซงผ่านหน้า Safety Car ไปแล้ว ข้อความ 'SAFETY CAR IN THIS LAP' ก็ได้ถูกแสดงขึ้นมา ทันเวลาก่อนที่เซฟตี้คาร์จะเข้าสู่พิทเมื่อสิ้นสุดรอบ 57 และเหลือเวลาให้ มักซ์ กับ ลูอิส แข่งกันได้หนึ่งรอบสุดท้ายพอดี

ปัจจัยสำคัญที่ตัดสินแชมป์ครั้งนี้คงไม่พ้นเรื่องการเรียก Safety Car ออกมา และการตัดสินใจหลายอย่างของ FIA ที่ดูขัดหูขัดตาอย่างยิ่ง แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง แต่ละสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็มีเหตุผลของมันมารองรับอยู่

เมื่อ ลาติฟี ชนเข้ากับกำแพง การใช้ Virtual Safety Car ไม่อาจช่วยชะลอความเร็วหรือรับรองความปลอดภัยให้เจ้าหน้าที่เข้ามาทำความสะอาดสนามได้เพียงพอ จึงต้องให้รถเซฟตี้คาร์จริง ๆ ออกมาวิ่งนำขบวนและสั่งห้ามรถที่โดนน็อกรอบแซงกลับได้ในตอนแรก เพื่อไม่ให้มีรถแข่งวิ่งออกนอกแนวเส้นวิ่งปกติ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อรถเครนและทีมงานเก็บกวาดผู้กำลังปฏิบัติงานอยู่บนสนามแข่งข้าง ๆ กับรถที่กำลังวิ่งด้วยความเร็วสูงอยู่นั่นเอง

8อย่างไรก็ตาม FIA ยังคงต้องหาคำอธิบายที่ดีกว่านี้ เพื่อมาตอบคำถามที่ว่า ทำไมถึงให้รถแค่ 5 คันแซงหน้าไปได้ทั้งที่ยังมีอีก 3 คันตามหลังอยู่ หรือทำไมถึงไม่ให้สัญญาณธงแดงแล้วค่อยให้รีสตาร์ทให้กลับมาแข่งกันแบบแฟร์ ๆ ไปเลย (อาจต้องเป็นเหตุผลที่ดีกว่าแค่เรื่องขีดจำกัดของเวลาถ่ายทอดสด) และอีกหลาย ๆ ประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ ทั้งจากฝั่งทีม เมอร์เซเดส หรือบนโลกออนไลน์เองก็ตาม

แต่ท้ายที่สุดแล้วต้องอย่าลืมยกความดีความชอบให้กับทั้ง มักซ์ เวอร์สแตพเพ่น แชมป์โลกชาวดัตช์คนแรกที่ก้าวขึ้นมาคว้าแชมป์ได้ แม้จะแข่งไม่จบทั้งที่ อาเซอร์ไบจาน, อังกฤษ, และ อิตาลี ก็ตาม ทีมของ เรดบูล ที่ยอมทิ้งไพ่เสี่ยงเข้าพิทในรอบท้าย ๆ เพื่อลุ้นว่าจะมีโอกาสได้แข่งแบบไม่ต้องตามหลังเซฟตี้คาร์อีกครั้ง และยังมีวิงแมนอย่าง เซอร์จิโอ เปเรซ ที่มาเป็นหนึ่งในหมากสำคัญกับการบล็อกรถของ แฮมิลตัน ระหว่างการแข่งขัน จนต้องยอมเข้าไปรีไทร์ในพิทช่วงท้าย ที่ช่วยพา เวอร์สแตพเพ่น คว้าชัยได้สำเร็จ

และต้องไม่ลืมความเทพของ เซอร์ ลูอิส แฮมิลตัน ผู้รักษามาตรฐานแชมป์โลกมาได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับขับเคี่ยวเคียงคู่ เวอร์สแตพเพ่น มาตลอดทั้งฤดูกาลนี้ ก่อนจะพ่ายไปแค่รอบสุดท้ายเท่านั้นเอง รวมทั้งทางทีม เมอร์เซเดส ที่ยังคงความยิ่งใหญ่กับตำแหน่งแชมป์ผู้ผลิตอยู่เหมือนเดิม

9
10สิ่งที่อาจแปดเปื้อนและบดบังชัยชนะในครั้งนี้ของ เวอร์สแตพเพ่น มากที่สุด ก็คงเป็นทาง FIA เองนี่แหละ กับความไม่คงเส้นคงวาในด้านคำตัดสินมาตลอดทั้งฤดูกาลนี้ จนได้ต้อนรับรถทัวร์จากแฟน ๆ ทั่วทุกสารทิศไปแล้วหลายครั้งด้วยกัน ซึ่งคงต้องมาตามกันต่อไปว่าทาง เมอร์เซเดส จะมีอะไรยื่นฟ้องเพิ่มเติมหรือไม่ และเรื่องราวสุดอลหม่านในการแข่งขันครั้งนี้จะไปจบลงตรงไหน

แต่สิ่งที่ยืนยันได้แน่ ๆ คือการแข่งขันเรซนี้ คงเป็นที่จดจำไปอีกตราบนานเท่านานเลยล่ะ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ นี่แข่งรถหรือพล็อตหนัง? : เจาะลึกชัยชนะของ "มักซ์ เวอร์สแตพเพ่น" ในฤดูกาลสุดบ้าคลั่งของ F1

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook