"ยูคาอิ ชิมิซึ" : เจ้าอาวาสที่วิ่งมาราธอนเพื่อแสวงหาเส้นทางตรัสรู้

"ยูคาอิ ชิมิซึ" : เจ้าอาวาสที่วิ่งมาราธอนเพื่อแสวงหาเส้นทางตรัสรู้

"ยูคาอิ ชิมิซึ" : เจ้าอาวาสที่วิ่งมาราธอนเพื่อแสวงหาเส้นทางตรัสรู้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"สำหรับอาตมาในฐานะพระแล้ว การวิ่ง คือการใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน" ยูคาอิ ชิมิซึ กล่าว

สำหรับคนในจังหวัดนางาโนะ อาจจะรู้จักเขาในสองบทบาท หนึ่งคือการเป็นนักวิ่งระยะไกลอัธยาศัยดีที่มักทักทายผู้คนที่ผ่านไปมาทุกเช้า ส่วนอีกด้านหนึ่งคือเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่คนในชุมชนในฐานะพระ 

ฟังอาจจะดูแปลกสำหรับชาวไทยที่พระเป็นนักวิ่ง แต่สำหรับที่ญี่ปุ่น สองสิ่งที่ดูไม่เกี่ยวข้องกันนี้ไม่ใช่แค่เพียงอยู่ด้วยกันได้ แต่ยังสามารถเกื้อหนุนกันและกัน 

และนี่คือเรื่องราวของนักบวชที่ใช้การวิ่งขัดเกลาจิตใจ ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

ผู้สืบทอดกิจการครอบครัว 

ชีวิตของ ยูคาอิ ชิมิซึ ดูเหมือนจะถูกลิขิตมาให้มาอยู่ในเส้นทางสายธรรมะตั้งแต่ยังไม่ลืมตาดูโลก เขาถือกำเนิดในวัดที่ชื่อโทคุจุอิง จังหวัดนางาโนะ ดินแดนแห่งหุบเขาสูง โดยพ่อของเขาก็คือเจ้าอาวาสของวัดนี้ 

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่การทำผิดศีล เพราะพระญี่ปุ่นสามารถแต่งงานและมีลูกเหมือนคนทั่วไปได้ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยคามาคุระ (1185-1333) และถูกบัญญัติอยู่ในกฎหมายในช่วงสมัยเมจิ (1868-1912) ด้วยแนวคิดที่ว่าหากปรับตัวให้เข้ากับชาวบ้านก็จะช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นได้ 

ยูคาอิ จึงคลุกคลีอยู่กับวัดมาตั้งแต่เกิด ขณะเดียวกัน เขาก็ใช้ชีวิตตามปกติ ได้เรียนตามระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน จนเมื่อเขามีอายุ 22 ปี ก็มาถึงจุดเปลี่ยนของชีวิต เขาต้องบวชเป็นพระเพื่อรับตำแหน่งเจ้าอาวาสต่อจากพ่อ ในลักษณะการสืบทอดกิจการของครอบครัว 

1"อาตมามาอยู่วัดนี้เมื่อ 24 ปีที่แล้ว ตอนอาตมาอายุ 22 ปี อาตมารับช่วงต่อมาจากพ่อ และได้เป็นเจ้าอาวาส" ชิมิสึ บอกกับ Nike.com 

หน้าที่หลักของท่านชิมิซึ นอกจากดูแลวัดและทำวัตรสวดมนต์แล้ว ท่านยังรับอาสาให้คำปรึกษาหรือคลายทุกข์ให้กับคนในชุมชนที่เผชิญกับความยากลำบากในชีวิต 

"หน้าที่ของอาตมาคือสนับสนุนและช่วยเหลือคนที่กำลังมีทุกข์หรือคนที่กำลังเศร้า" ท่านชิมิซึ กล่าวต่อ 

แม้ว่ามันอาจจะเป็นหน้าที่ แต่ทุกครั้งที่รับปรึกษาปัญหาญาติโยม ท่านก็มักตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เสมอว่าตัวเองคู่ควรกับตำแหน่งนี้จริงหรือ? จนบางครั้งรู้สึกแย่และคิดในแง่ลบ ซึ่งมันทำให้ท่านสับสนและทนทุกข์เป็นอย่างมาก   

2"ในฐานะที่อาตมาต้องดูแลวัดและใช้ชีวิตเป็นพระ มันก็มีช่วงเวลาที่อาตมาสับสน" พระชิมิซึ อธิบาย 

"ตลอดชีวิตอาตมาถามตัวเองเสมอว่า -อาตมาเป็นพระที่ดีหรือเปล่า?- และรู้สึกกังวลเมื่ออาตมาต้องอยู่ในที่ที่จำเป็นต้องอยู่ ซึ่งบางครั้งมันก็ไม่มีคำตอบ อาตมารู้สึกขึ้นๆลงๆเวลาถามตัวเอง"

และเมื่อไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร ท่านจึงตัดสินใจออกวิ่ง..

หนทางดับทุกข์ 

อันที่จริง สำหรับพระญี่ปุ่นแล้ว หากปฏิบัติกิจของสงฆ์เสร็จสิ้น พวกเขาก็สามารถไปทำอาชีพอื่นได้ ตัวอย่างเช่น โคโดะ นิชิมุระ ที่มีอีกอาชีพเป็นช่างแต่งหน้า หรือ ซาโตรุ สึคาโมโตะ ที่มีอีกบทบาทเป็นศิลปินในชื่อ "มงคิจิ" แห่งวง Funky Monkey Babys

เช่นกันสำหรับพระชิมิซึ ท่านเลือกจะใช้เวลาว่างไปกับการวิ่งทุกเช้า โดยมีเหตุผลสำคัญคือการปลดปล่อยความเครียด ขณะเดียวกัน มันเป็นการเคลียร์สมองทั้งจากความคิดในแง่ลบและเรื่องทุกข์ใจที่รับฟังมาจากญาติโยม 

3"แม้ว่าจะมีเรื่องกังวลหรือเรื่องที่ไม่ชอบใจให้คิด แต่พอไปวิ่ง อาตมากลับลืมมันได้หมด มันจะถูกรีเซ็ต พอได้วิ่ง อาตมารู้สึกว่าตัวเองอ่อนโยนขึ้น มันเป็นเหมือนการเพิ่มพูนความรู้สึกให้ตัวเอง" พระชิมิซึ กล่าวกับ Nagono City Laboratory 

ทว่าท่านไม่ได้วิ่งแถววัดเท่านั้น แต่ยังจริงจังจนถึงขั้นลงแข่งขันมาราธอน โดยประเดิมรายการแรกเมื่อปี 2009 ในการแข่งขัน นางาโนะ มาราธอน รวมถึงยังได้ชวนพระในวัดอีก 5 รูปมาลงแข่งด้วย แต่น่าเสียดายที่การแข่งขันครั้งนั้นท่านวิ่งไม่จบ เมื่อได้รับบาดเจ็บระหว่างการแข่งขัน

"อาตมาอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วม ตอนนั้นอาตมารู้สึกว่าฟูลมาราธอนมันสุดยอดมาก ส่วนอีกด้านหนึ่ง อาตมาก็อยากทำให้ได้สักครั้งในชีวิต" ท่านย้อนความหลัง 

"นางาโนะ มาราธอน มีเวลาที่ค่อนข้างจำกัดสำหรับมือใหม่ และอุปสรรคก็ค่อนข้างสูง แต่อาตมาคิดว่า อาตมาจะพยายามได้แค่ไหนถ้ามีพระคนอื่นมาวิ่งด้วย"

หลังจากนั้น ท่านจึงเริ่มฝึกฝนอย่างจริงจัง แม้ว่าภารกิจในฐานะพระจะมีมากพอตัว ทั้งเป็นเลขาฯ รวมไปถึงไกด์ของวัด (วัดโทคุจุอิงเปิดให้คนทั่วไปมาเยี่ยมชมได้) แต่ท่านก็ยังหาเวลาซ้อมวิ่งได้ถึง 5 วันต่อสัปดาห์ โดยออกสตาร์ทตั้งแต่ตอนตี 4 

ทำให้ภาพของชายอัธยาศัยดีพร้อมหมวกไหมพรมที่ออกวิ่งในเกือบทุกเช้ากลายเป็นภาพชินตาของคนในพื้นที่ ทั้งที่ในอีกไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนี้ ท่านจะกลายเป็นผู้เคร่งศาสนาในชุดนักบวช  

4"เวลาที่อาตมารู้สึกแย่หรือกำลังดิ้นรนอะไรสักอย่าง การวิ่งสามารถช่วยเคลียร์สมองเราได้ มันเป็นเหมือนการเติมพลัง" พระชิมิซึ บอกกับ Nike.com

"มันทำให้อาตมาสามารถเผชิญกับความรู้สึกต่ำต้อยของตัวเอง รวมถึงความคิดด้านลบที่ถาโถมเข้ามา"

"บางปัญหามันก็ยากที่จะแก้ไข ถ้าหัวใจอาตมาได้เติมเต็ม อาตมาก็จะสามารถทำให้พวกเขา (ญาติโยม) รับมือกับความเศร้า หรือเผชิญหน้ากับความลำบากของตัวเองได้"

ทว่านี่ไม่ใช่เหตุผลข้อเดียวที่พระชิมิซึเลือกเส้นทางสายนี้..

วิ่งเพื่อขัดเกลาจิตใจ

สำหรับพระชิมิซึ ท่านอาจจะไม่ใช่นักวิ่งที่มีสถิติระดับประเทศ เพราะเวลาที่ดีที่สุดของพระรูปนี้ ตามหลัง เคงโงะ ซูซูกิ อยู่เป็นชั่วโมง ทว่าอันดับก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่พระชิมิซึสนใจตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะสำหรับท่าน การวิ่งก็เพื่อขัดเกลาจิตใจของตัวเอง 

"เวลาอาตมาวิ่ง มีหลายครั้งที่อาตมาคิดเกี่ยวกับตัวเอง มันเหมือนว่าอาตมากำลังสำรวจตัวเอง จากในสถานที่ที่แตกต่างกันไป" พระชิมิซึ กล่าวกับ Nike.com  

5ท่านมองว่าการวิ่งเป็นกิจกรรมที่ง่ายที่สุด แค่มีแรงก็วิ่งได้ ขณะเดียวกัน มันยังเป็นการท้าทายตัวเอง ทำให้นับตั้งแต่เริ่มลงแข่งในปี 2009 พระชิมิซึ ก็ลงแข่งวิ่งมาราธอนเป็นประจำอย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี 

"การวิ่งนั้นแค่ใครสุขภาพดีก็วิ่งได้ ที่เหลือก็เป็นเรื่องความเร็ว แต่เราไม่จำเป็นต้องแข่งกับใคร เราแค่วิ่งไปตามจังหวะของตัวเอง" เจ้าอาวาสวัดโทคุจุอิง กล่าวกับ Nagono City Laboratory 

"เมื่อก่อนอาตมาเคยขี่จักรยานเสือภูเขา อาตมาอยากเอาชนะใครสักคนแต่ก็ทำไม่ได้ แต่ในการวิ่งมาราธอน อาตมาไม่สนใจอันดับเลย ไม่ว่าจะออกมาแบบไหน ความรู้สึกที่ได้ลิ้มรสกับความสำเร็จตอนวิ่งจบมันชัดเจนมาก"

นอกจากนี้ อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ พระชิมิซึ หลงใหลในการวิ่งเป็นพิเศษ เพราะมันทำให้ท่านได้ดื่มด่ำกับธรรมชาติ ทุกวันท่านจะพบกับเส้นทางวิ่งที่ต้องผ่านทั้งป่าสวนไร่นาและยอดเขาสูงที่ปกคลุมด้วยหิมะเป็นฉากหลัง และมีหลายครั้งที่ท่านปีนขึ้นไปเพื่อชมกับทัศนียภาพอันสวยงามจากข้างบน 

"การวิ่งทำให้อาตมาได้เจอกับวิวที่สวยงามที่สุดในโลก" พระชิมิซึ บอกกับ Nike.com 

"เวลาที่อาตมาปีนเขา อาตมารู้สึกถึงชีวิต จิตวิญญาณแห่งภูเขาไหลเข้าสู่ร่างกายของอาตมา ซึ่งได้ถูกชำระให้บริสุทธิ์ด้วยการวิ่ง"

6ทว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับพระรูปนี้คือ การวิ่งทำให้ท่านมีสติรู้ตัวอยู่เสมอ เพราะมันเป็นกิจกรรมที่ทำให้เราอยู่กับตัวเองได้มากที่สุด ซึ่งเหล่านี้ตรงตามคำสอนของพระพุทธศาสนาในเรื่อง "ปัจจุบันขณะ" 

"สำหรับอาตมาในฐานะพระแล้ว การวิ่งคือการใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน สิ่งนี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้า และมันก็ส่งผลในแง่บวกสำหรับอาตมา"

"การวิ่งทำให้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของอาตมาเฉียบคมขึ้น และทำให้อาตมามองเห็นสิ่งต่างๆได้ดี"

แสงประทีปแห่งชุมชน 

แม้ว่าปัจจุบัน พระชิมิซึ จะมีอายุมากถึง 46 ปีแล้ว แต่การวิ่งก็เป็นสิ่งที่พระรูปนี้ทำอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงการลงแข่งขันในรายการมาราธอนเป็นประจำทุกปี เพราะสำหรับท่านแล้ว นี่ไม่ได้เป็นกิจกรรมเพื่อตัวเองเพียงอย่างเดียว 

ท่านมองว่ายิ่งการวิ่งเติมพลังให้ท่านมากเท่าไร ท่านก็จะมีแรงใจมากพอที่จะไปช่วยเหลือคนอื่นได้มากขึ้น ดั่งดวงประทีปแห่งธรรมในพระพุทธศาสนา

7

8"ในพระพุทธศาสนา มีคำว่า -ส่องสว่างอยู่ที่มุม- คือเมื่อคุณจุดเทียน แสงสว่างจะกระจายไปถึงทุกที่ แม้กระทั่งที่มุม เพราะจะมองเห็นเงาที่ตรงนั้น" พระชิมิซึ อธิบายกับ Nike.com

"แสงที่เจิดจ้าจะกลายเป็นความสว่างให้แก่คนข้างๆ การวิ่งและการเผชิญหน้ากับตัวเองบางทีมันอาจจะช่วยให้อาตมาเจิดจ้ามากขึ้น และความสว่างนั้นก็จะตกไปถึงคนอื่นด้วย"

แต่เหนือสิ่งอื่นใด มันคือการตามหาการรู้แจ้งหรือที่เรียกกันว่า "ตรัสรู้" ซึ่งแม้ว่าไม่มีใครรู้ว่าท่านชิมิซึจะได้พบสิ่งนี้หรือไม่? แต่มันก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ท่านยังคงผูกเชือกรองเท้าแล้วออกไปสัมผัสธรรมชาติในทุกเช้าต่อไป 

"ความไม่สมบูรณ์แบบถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะมันทำให้อาตมาแสวงหาความบริบูรณ์ได้"

"เพราะสุดท้ายแล้ว การแสวงหาเส้นทางตรัสรู้ คือเหตุผลที่ทำให้อาตมายังคงวิ่งต่อไป" พระชิมิซึ ทิ้งท้าย 

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ "ยูคาอิ ชิมิซึ" : เจ้าอาวาสที่วิ่งมาราธอนเพื่อแสวงหาเส้นทางตรัสรู้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook