บราซิลสู่กาตาร์: ทีม F1 ยกโรงรถเดินทางไปแข่งข้ามทวีปในเวลาไม่กี่วันได้อย่างไร ?

บราซิลสู่กาตาร์: ทีม F1 ยกโรงรถเดินทางไปแข่งข้ามทวีปในเวลาไม่กี่วันได้อย่างไร ?

บราซิลสู่กาตาร์: ทีม F1 ยกโรงรถเดินทางไปแข่งข้ามทวีปในเวลาไม่กี่วันได้อย่างไร ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในกีฬาที่เวลาทุกเสี้ยววินาทีมีค่า แถมยังต้องเดินทางไปแข่งขันแทบทุกมุมโลกแบบต่อเนื่องกันอย่าง F1 การเคลื่อนย้ายและขนส่งของแต่ละทีมที่ร่วมแข่งขันนั้น ย่อมมีความสำคัญไม่ต่างไปจากตัวนักแข่งเลย

จาก บาห์เรน สู่ อิตาลี, ตุรกี ไปยัง สหรัฐอเมริกา, หรือจาก บราซิล ข้ามทวีปมายัง กาตาร์ ด้วยระยะเวลาเพียง 1 อาทิตย์ พวกเขาเสกให้รถแข่ง อุปกรณ์ในพิต ออฟฟิศ ห้องพักของนักแข่งและเจ้าหน้าที่ ทั้งหมดนี้ย้ายมาปรากฏ ณ สนามที่อยู่ห่างไป 12,000 กิโลเมตร ในเวลาไม่กี่วันได้อย่างไร

Main Stand พามาไขคำตอบเบื้องหลังระบบขนส่งอันซับซ้อน ที่ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ของทั้ง 10 ทีมผู้ผลิต ว่าพวกเขาเดินทางข้ามฟากไปยังสนามต่าง ๆ พร้อมกับอุปกรณ์หลายตันเหล่านี้กันด้วยวิธีการเช่นใดบ้าง ?

แพ็กกระเป๋าท่องโลก

เมื่อการแข่งขันในวันอาทิตย์สิ้นสุดลง หลังจากธงตราหมากรุกได้ถูกโบกสะบัดที่เส้นชัย และนักแข่งผู้ชนะก้าวขึ้นบนยอดโพเดียมแล้ว งานของทีมจัดเก็บก็ต้องเริ่มต้นขึ้นแทบจะในทันที เพื่อนำอุปกรณ์ทั้งหมดไปสู่สนามถัดไปได้ทันก่อนวันพฤหัสบดี ตามเวลาไทม์โซนของประเทศนั้น ๆ

โดยหลักแล้วการแข่งขันฟอร์มูล่าวันจะอยู่ในทวีปยุโรปเป็นหลัก โดยมีมากถึง 15 ใน 22 สนามเมื่อปี 2021 และอีก 12 จากทั้งสิ้น 23 สนามในปีหน้า 2022 ที่จะเกิดขึ้นบนแผ่นดินของทวีปยุโรป ซึ่งถือเป็นผลดีกับการขนส่งของทีมต่าง ๆ ให้สามารถเคลื่อนย้ายรถแข่งและอุปกรณ์ของตนระหว่างสนามแข่งได้ด้วยรถบรรทุก ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว สิ่งของเหล่านี้ต้องไปปรากฏอยู่ที่สนามถัดไปอย่างทันถ่วงที

ความท้าทายที่ตามมาก็คือ ในการแข่งขันที่ต้องบินออกไปทวีปอื่น หรือที่เรียกกันว่า "Flyaway Races" ซึ่งแม้จะมีช่วงเวลาระยะห่างให้พักหายใจอยู่ 2 อาทิตย์ แต่ก็จะมีกรณีของ บราซิล มา กาตาร์ ในปีนี้ รวมถึง อาเซอร์ไบจาน ไป แคนาดา และ รัสเซีย ไปยัง สิงคโปร์ ของปี 2022 ที่จะเกิดขึ้นแบบอาทิตย์ชนอาทิตย์

ทางออกของปัญหาดังกล่าวแบบง่ายดายที่สุดคงไม่พ้นการแพ็กทุกอย่างขึ้นเครื่องบินแล้วออกเดินทางไป เพราะคงไม่มีสนามแข่ง F1 แห่งใดบนโลกใบนี้ที่อยู่ห่างไกลกว่าการใช้การขนส่งทางอากาศเกินระยะเวลา 1 วันเป็นแน่

แม้จะไม่ถูกจำกัดงบไว้ภายใต้ Cost Cap ของแต่ละฤดูกาล ที่ในปี 2022 นี้จะอยู่เพียงแค่ 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (และจะลดเหลือ 135 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป) แต่ในช่วงที่สถานการณ์ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการเงินของแต่ละทีม เช่นเดียวกับเรื่องความคุ้มทุนในการส่งอุปกรณ์หลายพันตันทางอากาศแล้ว ทำให้ตัวเลือกแผนการส่งทุกอย่างทางเครื่องบินต้องถูกตัดทิ้งไปโดยปริยาย

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วแต่ละทีมผู้ผลิตจึงเลือกใช้การขนส่งทางเรือ เพื่อขนส่งอุปกรณ์ที่ไม่ได้มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของการแข่งขันมากนัก เช่น เก้าอี้ โต๊ะ อุปกรณ์ในโรงครัว รางเลื่อน หรืออุปกรณ์สำหรับกองเชียร์ ที่สามารถใช้เรือเป็นพาหนะขนส่งได้ ซึ่งจะทำให้มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าใช้เครื่องบิน และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในแง่ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ทาง F1 ต้องการลดลงให้เหลือน้อยที่สุด

แต่ความล่าช้าในการเดินทางกลางมหาสมุทร ทั้งจากขีดจำกัดของเครื่องยนต์และประสิทธิภาพในการขนส่ง เมื่อตัวเรือจะต้องแล่นด้วยความเร็วที่น้อยลง จึงทำให้แต่ละทีมไม่สามารถฝากความหวังไว้กับอุปกรณ์เพียงหนึ่งชุดได้ ซึ่งทำให้พวกเขาต้องผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ออกมาเตรียมไว้ราว 5 ชุด ที่จะถูกส่งไปยัง 5 สนามแข่งนอกทวีปยุโรปแห่งแรกของฤดูกาล ก่อนที่จะสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามสนามต่าง ๆ ในลำดับถัดไป

ยกตัวอย่างในปี 2022 ที่กำลังมาถึงนี้ ชุดอุปกรณ์ 5 อย่างแรกที่ขนส่งทางเรือนั้นจะถูกส่งไปยังสนามที่ บาห์เรน ซาอุดีอาระเบีย ออสเตรเลีย ไมอามี และ อาร์เซอร์ไบจาน โดยยังมีอีกชุดที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนจากสนามสู่สนามของทวีปยุโรป ก่อนที่ตัวอุปกรณ์จาก บาห์เรน จะถูกส่งต่อไปยัง แคนาดา และสนามต่าง ๆ นอกภาคพื้นทวีป หรืออาจได้เดินทางกลับสู่สำนักงานใหญ่ของทีมผู้ผลิตเพื่อซ่อมบำรุงหรือเตรียมความพร้อมในฤดูกาลอื่นตามลำดับ

ของสำคัญเร่งด่วน

เมื่อมาถึงการขนส่งสิ่งมีค่าอย่างยิ่ง เช่น อุปกรณ์บนรถแข่ง เครื่องยนต์ ระบบข้อมูล คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์สื่อสาร ที่ต่างมีผลต่อการแข่งขันได้แล้ว ทีมผู้ผลิตย่อมไม่มีตัวเลือกอื่นนอกจากต้องนำสิ่งเหล่านี้โหลดขึ้นเครื่องบิน เพื่อขนส่งระหว่างสนามสู่สนามด้วยความรวดเร็วที่สุด

แต่ก็ไม่ได้แปลว่ารถของ เซอร์ ลูอิส แฮมิลตัน หรือ นิกิต้า มาเซปิน จะถูกขับเข้าไปจอดบนคาร์โก้เครื่องบินได้ในทันที เพราะคงไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไหร่ หากจะนำรถมูลค่า 450 ล้านบาท ขึ้นไปเสี่ยงดวงที่ส่วนบรรทุกของเครื่องบินแบบไม่มีอะไรป้องกันไว้เลย

นั่นจึงทำให้เมื่อการแข่งขันในวันอาทิตย์จบลงแล้ว เจ้าหน้าที่ของแต่ละทีมจะต้องถอดประกอบเครื่องยนต์ เกียร์ ปีกหน้า ปีกหลัง กระจก และช่วงล่างออกจากโครงรถ เพื่อแพ็กไว้ในกล่องเก็บที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษที่บุวัสดุกันกระแทกและเข้ากับโครงสร้างของเครื่องบินคาร์โก้ที่ถูกเช่าเหมาลำไว้โดยผู้จัด ด้วยการสนับสนุนจากบริษัทขนส่งชื่อดังอย่าง DHL ที่เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์

แต่นอกจากอุปกรณ์หลัก ๆ บนรถแล้ว ทีมผู้ผลิตยังมีการเตรียมอุปกรณ์สำรองของแต่ละคันเผื่อไว้ด้วย ตั้งแต่ส่วนเล็กอย่าง น็อต สกรู เทปกาว (อันนี้สำคัญมาก) ไปจนถึงปีก ลำตัว และโครงต่าง ๆ ที่อาจต้องใช้ระหว่างการซ่อมแซมตัวรถ รวมถึงเชื้อเพลิง น้ำมันเครื่อง น้ำมันเบรก และน้ำหล่อเย็น ซึ่งเตรียมไว้เหลือย่อมดีกว่าขาดอย่างแน่นอน

ขั้นตอนการขนย้าย

สำหรับปี 2021 ช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุดของการขนย้ายสิ่งของนั้น คงไม่พ้นการย้ายจากสนามอินเตอร์ลากอส ในเมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิล มาสู่สนามโลเซลล์ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ด้วยการแข่งขันแบบวีคชนวีค หรือห่างกันในระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น

ด้วยไทม์โซนที่ต่างกันถึง 6 ชั่วโมง นั่นคือการเสียเวลาเตรียมตัวไปแล้วถึง 1 ใน 4 ของวันหนึ่ง อุปกรณ์ทุกอย่างมาปรากฏอยู่บนพื้นสนามโลเซลล์แล้วถูกเซ็ตให้พร้อมใช้งานตั้งแต่วันพฤหัสบดีได้อย่างไร ?

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เช้าวันอาทิตย์ของการแข่งขันที่ บราซิล โดยเจ้าหน้าที่จะเริ่มเก็บอุปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้ระหว่างการแข่งขัน เช่น เครื่องยนต์ ซึ่งจะถูกแพ็กเข้ากล่องเก็บในทันที ตามด้วยสิ่งของในพิต และชิ้นส่วนสำรองอื่น ๆ ที่จะถูกนำไปเก็บในทันทีเมื่อการแข่งขันจบลง เพื่อเตรียมขนส่งไปสนามบินแล้วขึ้นเครื่องมายังกาตาร์ภายในเช้าวันจันทร์

ตัวรถแข่งนั้นจะต้องถูกทาง FIA ตรวจสอบอีกครั้ง ก่อนที่สตาฟของทีมจะสามารถมาถอดประกอบ เช็คสภาพ แล้วนำตัวรถขึ้นเครื่องมาสู่กาตาร์ ซึ่งเมื่อรวมเข้ากับระยะทางการบินราว 14-15 ชั่วโมงแล้ว อุปกรณ์แบบเร่งด่วนทั้งหมดจะมาถึงกรุงโดฮาภายในคืนวันจันทร์ เพื่อเตรียมผ่านพิธีการศุลกากร และนำไปสู่สนามแข่งขันเป็นลำดับถัดไป

 

ก่อนที่แต่ละทีมจะเริ่มประกอบร่างสร้างโรงรถของตัวเองขึ้นมาอีกครั้ง พวกเขาจะต้องรอให้ของจากทั้ง 10 ทีมเดินทางมาถึงก่อน ทั้งเพื่อความแฟร์และป้องกันอันตรายจากการมีคนพลุกพล่านระหว่างกำลังโหลดของเข้าสู่พื้นที่ของแต่ละทีม

โดยปกติแล้วทีมงานจะใช้เวลาวันอังคารทั้งวันในการประกอบสิ่งที่จำเป็นต่อการทำงานที่สุดให้เข้าที่ เช่น ผนังโรงรถ อุปกรณ์สื่อสาร เครื่องมือทีมพิตสต็อป ตั้งแต่เช้ายันเย็น ก่อนที่จะกลับมาทำงานต่อในเช้าวันพุธ ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว โรงรถของแต่ละทีมจะพร้อมทำงานได้ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันพุธ เพื่อเตรียมรอรับทีมต่าง ๆ ที่จะเข้ามารับช่วงต่อในการฝึกซ้อมและแข่งขันเป็นลำดับถัดไป

แน่นอนว่าในช่วงที่ COVID-19 กำลังระบาดอยู่อย่างในปัจจุบัน การขนส่งต่าง ๆ ก็ได้รับความท้าทายเพิ่มขึ้นไปอีกขั้น จึงต้องมีการทำ "Logistics Biosphere" เพื่อแยกโซนทีมงานขนส่ง ให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันให้น้อยที่สุด รวมทั้งยังต้องฆ่าเชื้ออุปกรณ์ในระหว่างการเคลื่อนย้ายสิ่งของ และป้องกันไม่ให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาใกล้กับพัสดุทั้งหลายที่มีความจำเป็นต้องใช้ในระหว่างการแข่งขันได้

เพราะเบื้องหลังของทุก ๆ คะแนน ประกอบไปด้วยบุคคลและองค์ประกอบจำนวนมากที่รวมร่างกันขึ้นมาเป็นความสำเร็จของผู้ผลิตและนักแข่งรายนั้น ๆ ซึ่งนอกจากความเร็วที่เราได้เห็นกันบนหน้าจอแล้ว ความเร็วที่อยู่เบื้องหลัง ทั้งจากทีมแพ็กของในสนามต้นทาง มาสู่ทีมโหลดของลงติดตั้งที่สนามปลายทาง ก็ยังเป็นสิ่งที่น่าประทับใจ กับระบบอันแสนซับซ้อนของการเดินทางข้ามทวีปใน F1 ที่แม้แต่การระบาดของ COVID-19 ก็ไม่อาจหยุดยั้งให้ธุรกิจหลายพันล้านนี้ต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook