หมัดลูกครึ่งผึ้งและผีเสื้อ : เมื่อจักรยานหาย มูฮัมหมัด อาลี จึงกลายเป็นตำนาน

หมัดลูกครึ่งผึ้งและผีเสื้อ : เมื่อจักรยานหาย มูฮัมหมัด อาลี จึงกลายเป็นตำนาน

หมัดลูกครึ่งผึ้งและผีเสื้อ : เมื่อจักรยานหาย มูฮัมหมัด อาลี จึงกลายเป็นตำนาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ผมเตรียมจะขึ้นชกกับเด็กที่ชื่อว่า แคสเซียส เคลย์ สารภาพเลยก็ได้ว่าไอ้หมอนี่คือใครผมก็ไม่เคยได้ยินชื่อ ... จนกระทั่งพี่เลี้ยงผมบอกว่า ไอ้เด็กคนนี้มันเพิ่งได้เหรียญทองโอลิมปิกมานะโว้ย" 

"ผมก็แบบ ... อ้อเหรอ ? แล้วกูจะต้องกลัวมั้ยเนี่ย ?" 

นี่คือคำสารภาพของ ทูนนี่ย์ ฮันเซเกอร์ นักชกที่ไม่ได้โด่งดังอะไรแต่กลายเป็นที่จดจำในโลกของหมัดมวย เพราะเขาคือคู่ชกคนแรกของ แคสเซียส เคลย์ ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น "มูฮัมหมัด อาลี" 

อาลี ในวัย 18 ปี จัดจ้านขนาดไหน ไฟต์ที่เป็นเหมือนการจุดประกายและสร้างประวัติศาสตร์ของวงการมวยสากลไฟต์นั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?

 

เนื่องในวันที่ 29 ตุลาคม 1960 เป็นวันแรกที่ มูฮัมหมัด อาลี ขึ้นชกไฟต์แรกในวงการมวยสากลอาชีพ Main Stand ขอย้อนเรื่องราวในวัยเด็กของเขา ช่วงเวลาก่อนที่เขาจะกลายเป็นตำนาน

เรื่องเกิดที่สถานีตำรวจ 

ที่เมืองหลุยส์วิลล์ รัฐเคนทักกี ที่นี่คือเมืองที่มีประชากรผิวดำคิดเป็นครึ่งหนึ่งของรัฐ และหากย้อนกลับไปเมื่อยุค 1940-50s ยุคนั้นถือเป็นยุคที่วงการอุตสาหกรรมเริ่มเฟื่องฟู ในเมืองนี้จึงเต็มไปด้วยโรงงานต่าง ๆ มากมาย มีรถไฟเป็นการคมนาคมหลักของผู้คน เพราะมีราคาถูกมากที่สุดเท่าที่จะถูกได้ ขณะที่บ้านและที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะในย่านของคนผิวดำนั้นมักจะเป็นแฟลตห้องเช่าที่อยู่กันอย่างแออัด หรือเป็นบ้านแบบทาวน์เฮาส์ (หากนึกภาพไม่ออกให้นึกถึงภาพบ้านเอื้ออาทรในประเทศไทยแต่เล็กและคับแคบกว่า) โดยบ้าน 1 หลังจะอยู่กันเป็น 1 ครอบครัวใหญ่ และอาจจะมีผู้อยู่อาศัยในบ้านหลังนั้นมากกว่า 10 คน  

แน่นอนเด็กที่เกิดมาในยุคสมัยนั้นต้องเริ่มทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย อย่าลืมว่ากฎหมายควบคุมแรงงานก็ไม่ได้เข้มงวดเหมือนปัจจุบัน หากบ้านไหนไม่มีเงินส่งลูกให้เรียนหนังสือ ก็ต้องเอาลูก ๆ ออกมาช่วยทำงาน และการขาดการศึกษาก็ทำให้ชีวิตของเด็กหลายคนไม่ได้มีคุณภาพมากนัก บางครั้งพวกเขาก็เลือกเดินทางผิด หันไปเป็นอันธพาลหรือหาเรื่องยุ่งเกี่ยวกับคุกกับตารางไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง


Photo : aloha-news.net

 

ที่นี่คือบ้านเกิดของ มูฮัมหมัด อาลี หรือชื่อเดิมคือ แคสเซียส เคลย์ (ในที่นี้จะขอเรียกว่า อาลี เพื่อให้เข้าใจง่าย) อาลี เกิดมาในครอบครัวที่ยากจน แต่ก็ไม่ได้ถึงกับแร้นแค้นจนต้องอดมื้อกินมื้อ ดังนั้นเขาจึงเป็นเด็กดีของที่บ้านมาโดยตลอด พ่อของเขาเป็นจิตรกร รับงานเขียนป้ายโฆษณาหรือบิลบอร์ดต่าง ๆ ขณะที่แม่ของเขาทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาด 

อาลี ตั้งใจเรียนหนังสือมาโดยตลอด เขามีจักรยานคู่ใจ 1 คันที่รักมาก ๆ ที่พ่อของเขาซื้อให้เป็นของขวัญวันคริสต์มาสตอนเขาอายุ 12 ปี จักรยานคันใหม่เอี่ยมคันนี้ อาลี จะปั่นไปทั่วเมืองและแน่นอนเขาไม่ลืมที่จะปั่นไปโรงเรียนเพื่ออวดเพื่อน ๆ ด้วย 

เขาจอดจักรยานและล็อกกุญแจอย่างดีก่อนจะเดินเข้าหอประชุมโคลัมบัส และหลังจากทำธุระเสร็จในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง เขากลับออกมายังที่ที่เคยจอดจักรยานสุดรักไว้ เพียงแต่ว่าตอนนี้มันโดนตัดโซ่และหายไปเรียบร้อยแล้ว 

นี่คือความโกรธระดับทะลุปรอทครั้งแรกของเด็กอายุ 12 ปี ด.ช. อาลี เดินไปยังสถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุดแล้วตัดสินใจแจ้งความ นี่ดูจะเป็นการกระทำที่ยอดเยี่ยมมากที่เขาคิดแก้ปัญหาได้ไวโดยไม่ต้องใช้กำลัง ไม่เสี่ยงที่จะเจ็บตัว ทว่าหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจถามเขาว่า "ไอ้หนู แล้วนายจะทำยังไงถ้าเราจับคนที่ขโมยจักรยานของนายมาได้" ... อาลี ตอบว่า "ผมจะชกหน้าแม่งให้สลบตรงนี้เลย" ด้วยความโกรธสุดขีด 

เจ้าหน้าที่คนนั้นชื่อว่า โจ มาร์ติน เขาเล่าเรื่องนี้อย่างอารมณ์ดีในภายหลัง เขาหัวเราะก๊ากที่เห็นเด็กหัวร้อนเลือดขึ้นหน้าเพราะจักรยานหาย และต้องการที่จะชกคนที่ขโมยมากกว่าการเอาจักรยานคืน

 


Photo : commons.wikimedia.org

"ไอ้หนู แล้วแกจะไปชกเขาเนี่ยแกต่อยมวยเป็นหรือยัง ? คนเราเนี่ยถ้าอยากจะชกใครแต่ไม่รู้วิธีชกมันจะอับอายขายขี้หน้าเพราะเป็นฝ่ายแพ้เขามากกว่านะ นายจะเอาอย่างนั้นไหม ? ... ถ้าไม่ มาเรียนชกมวยกับฉันดีกว่า" เจ้าหน้าที่ โจ มาร์ติน ยื่นข้อเสนอและชอบในความดุเดือดของอาลี ... เด็กหนุ่มตอบรับโดยใช้ความโกรธนำทาง โดยที่ไม่รู้เลยว่าวินาทีประวัติศาสตร์มวยโลกได้ถูกเริ่มนับ 1 แล้วในวันนั้น

เปิดตำนาน พริ้วเหมือนผีเสื้อ ต่อยเจ็บเหมือนผึ้ง

DNA คือสิ่งที่ถ่ายทอดกันได้ผ่านทางสายเลือด บางคนหน้าเหมือนพ่อ บางรายจมูกเหมือนแม่ แต่สำหรับ อาลี เขาได้ DNA ของทั้งสองคนมารวมไว้ในตัวเอง และค้นพบว่ามันมีประโยชน์มาก ๆ เมื่อเขาขึ้นเวที 


Photo : twitter.com/michaelskolnik

 

อาลี เล่าว่าพ่อของเขาเป็นจิตรกรที่มีความติสต์สุดขีด ชอบทุกอย่างที่เป็นศิลปะ ร้องรำทำเพลง ชอบเต้น ด้วยลีลาท่าทางที่พริ้วไหว ส่วนแม่ของเขาภายนอกเป็นคนใจดีมีอารมณ์ขัน แต่เบื้องหลังคือการเป็นคุณแม่นักสู้ผู้อดทนทำงานหนัก ทั้งหาเงินเข้าบ้านและรับผิดชอบงานบ้านทุกอย่าง รวมถึงการดูแลทุกคนในครอบครัว 

เขาได้รับส่วนผสมทั้งหมดมา ลีลาสเต็ปเท้าที่พริ้วไหวเกิดจากการได้ฟังเพลงและเต้นตามฟีลลิ่งมาตั้งแต่เด็ก ขณะที่การเห็นแม่ทำงานหนักก็ซึมซับเข้ามาในตัวจนกลายเป็นคนที่มีน้ำอดน้ำทน ไม่ล้มเลิกอะไรง่าย ๆ จนกว่าเป้าหมายจะสำเร็จ หากคิดว่าเหตุผลที่ อาลี ได้ฉายาว่า "พริ้วเหมือนผีเสื้อ ต่อยเจ็บเหมือนผึ้ง" ที่เกิดจากวิธีการชกของเขา อาจหมายความว่าพ่อและแม่ของเขามีส่วนอย่างมากที่ทำให้เขาถูกกล่าวขานไปในทิศทางนี้ 

เจ้าหน้านี่ โจ มาร์ติน บอกเสมอว่าเด็กหนุ่มอย่าง อาลี คือความภาคภูมิใจของเขา โคลัมเบีย ยิม ที่เขาดูแลภายใต้งบประมาณของสถานีตำรวจหลุยส์วิลล์ ถือเป็นโรงยิมชกมวยสำหรับเด็กผิวดำโดยเฉพาะ เพราะในยุค 50s มีการแบ่งแยกสีผิวชัดเจน คนผิวดำต้องใช้ชีวิตแบบพลเมืองชั้นสอง 


Photo : nytimes

การได้รับการดูแลจากรัฐน้อยกว่า ทำให้ใครก็ตามที่ฝึกในยิมนี้แล้วต้องการได้รับคุณภาพระดับเดียวกับที่โรงยิมใหญ่ ๆ ที่มีอุปกรณ์ทันสมัย มีโค้ชเพียงพอกับเด็กได้ จะต้องพยายามให้มากกว่าคนอื่นหลายเท่า

 

อาลี อาจจะเริ่มชกมวยเพียงเพราะอยากชกหน้าคนที่ขโมยจักรยาน แต่เมื่อได้ลองเขาจึงรู้ว่าเขารักมันจริง ๆ อาลี ทำงานหนักมากไม่ใช่แค่บนสังเวียน คาแร็กเตอร์ยียวนขี้โม้สุดกวนโอ๊ยของเขาก็ถูกออกแบบโดยตัวของเขาเอง เขาเป็นคนรู้จักหาจุดขายและเรียกความสนใจมายังตัวเองได้เสมอ 

"ตอนเด็ก ๆ ผมเห็นนักมวยปล้ำคนหนึ่งในโทรทัศน์ชื่อว่า กอร์เจียส จอร์จ นักมวยปล้ำคนนั้นมีคาแร็กเตอร์ออกแนว ๆ พ่อหนุ่มเจ้าสำอางชอบคุยโวเรื่องความงดงามของกล้ามเนื้อและความมีเสน่ห์ของตัวเอง ผมชอบมากเลยนะ ผมยึดเอาสโลแกนของเขามาเป็นวิธีชกของผม เขาบอกว่า 'ถ้าไอ้เวรคนไหนกล้าแตะใบหน้าอันหล่อเหลาของฉันล่ะก็ ฉันจะชกมันให้หน้าคะมำแบบไม่ทันได้กะพริบตาเลย' ... ผมว่าสโลแกนนี้มันโคตรจะถูกใจผมแบบสุด ๆ ผมก็เลยโวตลอดว่าผมเก่งที่สุด เท่านั้นยังไม่พอยังหล่อที่สุดอีกด้วย ผมตัดสินใจว่าจะเป็นนักสู้ที่ขี้โม้ยิ่งกว่าที่ กอร์เจียส จอร์จ เคยทำ รับรองว่าแจ๋วแน่นอน" อาลี กล่าวในรายการกับ โอปราห์ วินฟรีย์ อดีตรายการทอล์กโชว์วาไรตี้เบอร์ 1 ของ อเมริกา ในตอนที่เขาอายุ 60 ปี 

ทุกอย่างถูกวางเอาไว้หมดด้วยตัวของเขาเองทั้งวิธีการชกที่รวดเร็วพริ้วไหว มีความหนักของหมัดจากการฝึกซ้อมที่ถูกวิธี ที่สำคัญยังมีคาแร็กเตอร์คุยโวโอ้อวด อาลี เป็นอย่างนี้มานานแล้ว และไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมฝีปากของเขาจึงแซ่บมากมายตั้งแต่หนุ่มจนแก่เลยทีเดียว

โจ มาร์ติน กับ อาลี ซ้อมกันซ้ำ ๆ ทุกวัน เขาพา อาลี ไปแข่งระดับภูมิภาคในรายการต่าง ๆ จนกระทั่ง อาลี ชักจะเก่งเกินกว่าที่โรงยิมของเขาจะรั้งไว้ได้ โจ จึงได้พา อาลี ไปออกรายการ "Tomorrow's Champions" ซึ่งเป็นรายการแนวหมัด ๆ มวย ๆ เหมือนกับที่บ้านเรามีการแข่งขัน "มวยไทย 7 สี" แต่เป็นเวทีของเยาวชน    


Photo : time.com

 

อาลี ไปออกรายการนั้นและชนะทุกคน จนกระทั่งสุดท้าย โจ มาร์ติน ที่เป็นโค้ชสมัครเล่นพร้อม ๆ กับการเป็นตำรวจก็ส่งอาลีต่อให้โค้ชมืออาชีพอย่าง เฟร็ด สโตเนอร์ ทีนี้แหละ สิ่งที่ อาลี ตระเตรียมมาเพื่อตัวเองได้ถูก สโตเนอร์ ขัดเกลาไปอีกระดับ 

ลีลาพริ้วไหวเหมือนผีเสื้อ ไม่ใช่แค่สโลแกนแต่พริ้วจริง ๆ เกินกว่าที่ใครจะชกโดนง่าย ๆ ชนิดที่ว่าต่อให้ไม่ตั้งการ์ดก็อาจจะเอาชนะคู่แข่งได้โดยที่หน้ายังหล่อใสไร้รอยหมัดเลยด้วยซ้ำ ขณะที่ความหนักหน่วงของหมัดก็ถูกเสริมขึ้นด้วยการเหวี่ยงหมัดที่ถูกวิธี ชกทั้งไหล่ ไปทั้งตัว ชนิดที่ว่าเข้าปลายคางเป็นหลับ สมฉายา "ต่อยเจ็บเหมือนผึ้ง" ทุกอย่างที่ถูกตั้งชื่อขึ้นมาแบบโม้ ๆ กลายเป็นเรื่องจริงได้ผ่านการฝึกฝนที่หนักหน่วงตลอดระยะเวลา 5 ปี อีกสิ่งที่ไม่เคยตกคือลีลาการคุยผ่านสื่อที่เรียกเสียงฮาและความสนใจได้ตลอด จนได้รับอีกฉายาว่า "ไอ้ขี้คุยแห่งหลุยส์วิลล์" (Louisville Lip) 

อาลี บอกเสมอว่าคนอย่างเขาไม่ได้เรียกว่าขี้โม้ ให้ใช้คำว่าขี้คุยดูจะเหมาะกว่า เพราะสิ่งที่เขาพูดไว้ มักจะกลายเป็นจริงในบั้นปลายเสมอ แล้วแบบนี้จะเรียกว่า "ขี้โม้" ได้อย่างไร ? 


Photo : facebook.com/AIBA.Boxing

อาลี คือนักชกยอดเยี่ยมที่ได้รับรางวัลนักกีฬาสมัครเล่นแห่งชาติ, ได้รางวัลนวมทองคำ และได้ไปชกในฐานะตัวทีมชาติสหรัฐอเมริกาในโอลิมปิก 1960 ที่กรุงโรม พร้อมยังคว้าเหรียญทองรุ่นไลท์เฮฟวี่เวตกลับมาอีกด้วย 

การได้เหรียญทองกลับบ้านถือเป็นสปอตไลท์สำคัญ ณ เวลานั้นกลุ่มโปรโมเตอร์ที่ชื่อบริษัท Louisville Sponsors Group ก็ตามหาตัวอาลี ก่อนจะเสนอสัญญาดึงตัว อาลี เข้าสังกัด และยืนยันว่าพวกเขาจะปั้น อาลี ให้เป็นแชมป์โลกให้จงได้

โบยบินสู่แชมป์โลก 

จะเก่งมาจากไหนแต่เด็กหนุ่มก็ยังคงเป็นเด็กหนุ่มอยู่ดี อาลี เลือกเทิร์นโปรตอนอายุ 18 ปี หลังจากที่ได้เหรียญทองโอลิมปิก

โปรโมเตอร์ของเขาตั้งใจจะผลักดันให้ อาลี เดินไปข้างหน้าได้เร็วด้วยการทำสถิติไร้พ่าย ชนะไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ชิงเข็มขัดแชมป์โลก ดังนั้นในช่วงแรก ๆ อาลี จึงจะต้องชกถี่มาก ๆ กับนักชกหลายรูปแบบและหลายสไตล์ เก่งมากเก่งน้อยแล้วแต่โชคชะตาจะนำพา จนกระทั่งหลังจากเก็บตัวซ้อมหลังเทิร์นโปรได้ 2 เดือน ไฟต์แรกของเขาก็มาถึง โดยเป็นการเจอกับ ทูนนี่ย์ ฮันเซเกอร์ 


Photo : witter.com/NathanFrancis

ฮันเซเกอร์ เป็นนักชกระดับขั้นบันได ไม่เคยมีแชมป์อะไรติดไม้ติดมือตลอดอาชีพ นอกจากนี้ชีวิตนอกสังเวียน ฮันเซเกอร์ ก็ทำงานเป็นตำรวจในเวสต์เวอร์จิเนียอีกด้วย 

แต่ถึงอย่างนั้น ฮันเซเกอร์ ก็บอกเสมอว่าแม้เขาจะเป็นนักชกระดับบันได หรือภาษามวยเรียกว่า "มวยส้วม" ที่เหมือนเป็นนักชกที่เอาไว้วัดพลังพวกดาวรุ่งที่กำลังจะก้าวขึ้นมา เขาอาจจะต่อยไม่เก่ง แต่เป็นมวยเก๋า เล่นกับจังหวะและเวลาเก่งประมาณหนึ่ง ดังนั้นหากพวกนักชกหนุ่มคนไหนประมาทก็ตกม้าตายได้ง่าย ๆ เรียกได้ว่าแม้จะเป็นแมตช์ที่ง่าย แต่ถ้าเอาชนะ ฮันเซเกอร์ ไม่ได้ ก็ไม่ควรกล้าหวังไกลถึงขั้นเป็นแชมป์แล้ว 

ฮันเซเกอร์ ถูกตามตัวมาชกแมตช์กับ อาลี และตัวเขาเองก็ไม่ได้สนใจอะไรนัก คิดแค่ว่าเป็นอีกไฟต์ที่ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะก็ได้เงินทั้งนั้น เขามาแบบชิว ๆ นอนหลับเต็มอิ่ม ไม่กดดันเลยแม้แต่น้อย แม้ว่า อาลี จะมีดีกรีติดตัวมาก็ตาม 

"ผมเตรียมจะขึ้นชกกับเด็กที่ชื่อว่า แคสเซียส เคลย์ สารภาพเลยก็ได้ว่าไอ้หมอนี่คือใครผมก็ไม่เคยได้ยินชื่อ ... จนกระทั่งพี่เลี้ยงผมบอกว่า ไอ้เด็กคนนี้มันเพิ่งได้เหรียญทองโอลิมปิกมานะโว้ย"

"ผมก็แบบ ... อ้อเหรอ ? แล้วกูจะต้องกลัวมั้ยเนี่ย ?" ฮันเซเกอร์ กล่าวในปี 1992 

ตรงกันข้ามกับเด็กหนุ่มอย่าง อาลี เพราะคุยโวไว้เยอะว่าจะชนะแน่นอน และแชมป์โลกก็ต้องเป็นของเขาแน่ไม่ช้าก็เร็ว ต่อยกับใครก็ไม่สำคัญ เขากลับไปนอนเครียดและคิดมากว่าถ้าไม่ชนะจะเป็นอย่างไร 

"พูดตรง ๆ หลังได้รางวัลนวมทองคำผมมั่นใจมาก ๆ เลย ในใจลึก ๆ ผมเชื่อว่าผมจะเป็นแชมป์โลกได้เพราะโอลิมปิกผมก็ทำได้มาแล้ว เพียงแต่วันก่อนขึ้นชกผมกลับนอนประหม่า และตัวสั่นเพราะกดดันระดับหนึ่ง แต่ก็นะ เลือกแล้วก็ต้องไปให้สุด พ่อแม่ของผมไม่ใช่คนร่ำรวยอะไร ถ้าผมเป็นนักชกอาชีพ ผมก็จะเริ่มทำเงินได้ ยิ่งถ้าได้ชกรายการใหญ่ ๆ แบบที่มีทีวีถ่ายทอดสดบางทีผมอาจจะได้ไฟต์ละ 4,000 ดอลลาร์ นั่นมากกว่าเงินที่พ่อผมทำงานทั้งปีเสียอีก" อาลี กล่าว


Photo : witter.com/NathanFrancis

ทุกคนรู้กันดีอยู่แล้วว่าใครเก่งกว่าใคร เพราะเหตุการณ์นี้ผ่านมากว่า 50 ปีแล้ว แต่ย้อนกลับไป ณ วินาทีนั้น ฮันเซเกอร์ คือมนุษย์คนแรกที่ได้พบเจอกับ อาลี ในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดและพีคที่สุด เขาโดนถลุงยับและรู้ด้วยตัวเองว่า อาลี เกินระดับที่เขาจะต้านไหวอย่างชัดเจน นี่คือแมตช์ที่เขาคิดว่าเขาแพ้แบบขาดลอยที่สุด

"แรก ๆ ผมก็พอจะสร้างความลำบากให้เขาได้บ้าง ผมต่อยที่ท้องของเขาได้ในช่วงยกที่ 2 ยกที่ 3 จน อาลี บอกผมว่า นี่ลุงตุ๊ยท้องผมหนักจนแทบจะอ้วกออกมาเป็นเบอร์เกอร์ที่กินไปเมื่อเช้าเลยนะ" ฮันเซเกอร์ เล่าว่า อาลี ไม่ได้สะทกสะท้านแต่ยังติดตลกใส่เขากลับด้วย

หลังผ่านยก 3 ของจริงเริ่มขึ้น อาลี เครื่องร้อนและลีลาการชกของเขาก็เข้าเกียร์ 5 ไว หนัก และซัดไม่ยั้ง หมัดของ อาลี มาจากทุกทิศทาง ฮันเซเกอร์ รู้ได้เลยว่าการชกท้องอาลีในยกที่ 3 คือหมัดสุดท้ายที่เขาจะทำได้แล้ว

"พระเจ้า นาทีนั้นผมบอกกับตัวเองว่า นี่เราแก่เกินไปแล้วจริง ๆ สำหรับไอ้หมอนี่ เด็กหนุ่มอายุ 18 คนนี้ผมไม่มีทางสู้ไหวเลย แขนยาวได้เปรียบช่วงชก เท่านั้นยังไม่พอคุณอาจจะต้องมีตาสัก 8 คู่เพื่อที่จะมองหมัดของเขาให้ทัน เพราะแม่งโคตรจะเยอะและมาทุกทิศทุกทางเลย ยิ่งต่อยไปผมยิ่งสังเกตบางอย่างของเขาได้ หมอนี่มันเจ๋งชนิดที่ว่าตลอดเวลาที่เขาชกกับผม เขาไม่กะพริบตาเลยสักครั้ง" ฮันเซเกอร์ เล่าต่อ 

ครบ 6 ยกเสือเฒ่าอย่าง ฮันเซเกอร์ ก็หมดแรงเสียแล้ว เขาแพ้คะแนนให้กับ อาลี แบบสู้ไม่ได้ แต่อย่างน้อย ๆ ก็เป็นไฟต์เปิดตัวที่ทำให้ทุกคนได้เห็นลีลาพริ้วเหมือนผีเสื้อต่อยเจ็บเหมือนผึ้งด้วยตาตัวเอง 


Photo : witter.com/NathanFrancis

ขณะที่ อาลี กลายเป็นที่จับตามองของโลกแห่งหมัดมวย ฮันเซเกอร์ ก็วางมือหลังจากความพ่ายแพ้ครั้งนั้นไม่นาน เขาเข้าใจแล้วว่าตัวเองหมดเวลาสำหรับมวยอาชีพแล้ว และหันกลับไปทำงานเป็นตำรวจเพียงอย่างเดียว ทุกครั้งที่เขาเข้าทำงาน อาลี ที่เติบโตขึ้นก็ชนะมากขึ้น เพื่อนร่วมงานของ ฮันเซเกอร์ มักจะถามเขาเสมอว่าตอนที่ชกกับ อาลี เป็นอย่างไรบ้าง และ ฮันเซเกอร์ ก็บอกคนที่ถามเขาเสมอว่า "ถ้ามีโอกาสชิงแชมป์เมื่อไหร่ หมอนี่เป็นแชมป์โลกแน่นอน"

"หลายคนมักจะถามผมเรื่องของการที่ได้ชกกับเขา หลังจากการชกครั้งนั้นผมเคยถูกทนายความคนหนึ่งถามว่า 'คุณคิดว่า อาลี เป็นยังไงบ้าง ?' ผมตอบเขากลับทันทีในทุกครั้งที่มีคนถามว่า 'เขาจะเป็นแชมป์โลกแน่นอนในอีกไม่นานนี้'" 

ทุกอย่างเป็นจริงตามที่ อาลี ได้คุยโวไว้ และเป็นไปตามที่ ฮันเซเกอร์ ทำนาย หลังจากจบไฟต์นั้น อาลี เดินหน้าชนะเป็นว่าเล่น จนคว้าแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวตสมัยแรกด้วยการเอาชนะ ซอนนี่ ลิสตัน ในปี 1964 


Photo : blog.richltd.com

สุดท้ายเขากลายเป็นตำนานนักมวยที่ดีที่สุดคนหนึ่งเท่าที่โลกนี้เคยมี และได้รับการกล่าวขานไปจนวันที่หมดลมหายใจ ... นี่คือเรื่องราวเบื้องหลังการโบยบินของ ราชาเฮฟวี่เวตที่โลกไม่มีวันลืม 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook