อิทธิพลจากฟุตบอล : ทำไม "อังกฤษ" ไม่เป็นเลิศในฟุตซอล? ทั้งที่เป็นต้นกำเนิดเกมลูกหนัง

อิทธิพลจากฟุตบอล : ทำไม "อังกฤษ" ไม่เป็นเลิศในฟุตซอล? ทั้งที่เป็นต้นกำเนิดเกมลูกหนัง

อิทธิพลจากฟุตบอล : ทำไม "อังกฤษ" ไม่เป็นเลิศในฟุตซอล? ทั้งที่เป็นต้นกำเนิดเกมลูกหนัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อังกฤษ ถือเป็นประเทศที่สร้างชื่อเสียงจากกีฬาฟุตบอลมากที่สุดชาติหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นบทบาทผู้ให้กำเนิดเกมลูกหนัง หรือ เจ้าของลีกฟุตบอลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน

แต่สำหรับ "ฟุตซอล" อังกฤษแทบไม่มีตัวตนในวงการลูกหนังโต๊ะเล็กเลย ยิ่งไปกว่านั้น สมาคมฟุตบอลอังกฤษยังสั่งตัดงบประมาณ จนกลายเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ปราศจากทีมฟุตซอลลงแข่งขันในระดับนานาชาติ

Main Stand ขอชวนไปหาคำตอบว่า ทำไม "อังกฤษ" ถึงไม่เป็นเลิศในกีฬาฟุตซอล ทั้งที่เป็นต้นกำเนิดเกมลูกหนัง? ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลจากกีฬาฟุตบอล ที่ความยิ่งใหญ่ของเกมลูกหนังกลับมาทำร้ายกีฬาลูกหนังด้วยกันเอง

ยึดครองยุโรปใต้ แต่ไปไม่ถึงอังกฤษ

หากอยากทำความเข้าใจว่า ทำไมกีฬาฟุตซอลในประเทศอังกฤษจึงไม่สามารถก้าวไปสู่แถวหน้าได้อย่างหลายชาติในยุโรป? เราจำเป็นต้องพูดถึงรากฐานของกีฬาฟุตซอล และการเดินทางเข้ามาสู่ทวีปยุโรปเป็นครั้งแรกของกีฬาชนิดนี้ในช่วงทศวรรษ 1980s

1กีฬาฟุตซอลมีต้นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกาใต้ โดยประเทศที่ครองความยิ่งใหญ่ในการแข่งขันรูปแบบนี้ คือ บราซิล เนื่องจากความยากจนในประเทศที่จำกัดไม่ให้เด็กส่วนใหญ่ลงเล่นและฝึกซ้อมกีฬาฟุตบอลในสนามหญ้ามาตรฐานได้ เกมลูกหนังฝั่งละ 5 คนบนท้องถนนจึงกลายเป็นคำตอบ และเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาทักษะความสามารถเฉพาะตัวของแข้งชาวบราซิลมากมาย

ยอดนักเตะระดับตำนาน เช่น เปเล่ และ ซิโก้ ต่างเติบโตขึ้นมาจากการเล่นกีฬาฟุตซอลบนท้องถนน กีฬาชนิดนี้จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นรากฐานของนักฟุตบอลอเมริกาใต้ทุกคน แต่สำหรับเยาวชนในทวีปยุโรป กีฬาฟุตซอลไม่เคยถูกบรรจุลงในระบบพัฒนานักเตะของแต่ละสโมสร อันที่จริงชาวยุโรปไม่รู้จักกีฬาฟุตซอลด้วยซ้ำ

กีฬาฟุตซอลออกจากร่มเงาของทวีปอเมริกาใต้ และก้าวสู่สายตาชาวโลกครั้งแรกในปี 1982 เมื่อมีการจัดทัวร์นาเมนต์ฟุตซอลชิงแชมป์โลก ที่นครเซา เปาโล ประเทศบราซิล ซึ่งในการแข่งขันครั้งนั้น มีเพียงสองชาติจากยุโรปที่เข้าร่วมแข่งขัน คือ อิตาลี และ เชโกสโลวาเกีย

2เมื่อเห็น 4 อันดับแรกของทัวร์นาเมนต์เป็นชาติจากอเมริกาใต้ทั้งหมด ได้แก่ บราซิล, ปารากวัย, อุรุกวัย และ โคลอมเบีย ตามลำดับ บางประเทศในยุโรปจึงเริ่มมองเห็นภาพว่า ทำไมนักเตะชาวอเมริกาใต้ถึงมีทักษะการเล่นฟุตบอลเหนือกว่าชาวยุโรปแบบเทียบไม่ติด สิ่งที่พวกเขาต้องทำ ย่อมหนีไม่พ้นการนำกีฬาฟุตซอลเข้ามาสู่ประเทศของตนเอง

"บาร์เซโลน่า" สโมสรชื่อดังก้องโลกจากแคว้นคาตาลัน คือสโมสรฟุตบอลลำดับแรกๆในยุโรป ที่เลือกเอาการเล่นกีฬาฟุตซอลเข้าเป็นส่วนหนึ่งในแผนงานพัฒนานักเตะระดับเยาวชน นับตั้งแต่การฟื้นฟูสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลน่าในปี 1986 เกมฟุตซอลถูกเพิ่มให้เป็นหนึ่งในโปรแกรมฝึกฝนนักเตะระดับเยาวชนในศูนย์ฝึกลา มาเซีย  

ความสำเร็จของแนวทางการเล่นแบบ "ติกิ-ตากา" ที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งจึงมีรากฐานมาจากกีฬาฟุตซอล ที่กลายเป็นก้าวแรกของนักเตะรุ่นเยาว์ไม่ต่างจากยอดแข้งชาวอเมริกาใต้ ซึ่งในเวลาต่อมามีหลายสโมสรในสเปนที่มองเห็นความสำคัญตรงนี้ และนำกีฬาฟุตซอลมาเป็นตัวช่วยในการฝึกฝนทักษะทางเทคนิคของนักฟุตบอลในทีม

3ด้วยเหตุนี้เราจึงกล่าวได้ว่า กีฬาฟุตซอลถือเป็นรากฐานในการฝึกฝนนักเตะสักคนให้มีความสามารถเฉพาะตัวยอดเยี่ยม ซึ่งรากฐานดังกล่าวยังคงเห็นชัดในปัจจุบัน เมื่อทีมฟุตบอลจากประเทศในอเมริกาใต้ หรือ สเปน ลงแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลระดับนานาชาติ พวกเขาคือทีมที่ครอบครองบอลได้มากที่สุด เล่นบอลได้สวยงามที่สุด และมีเกมรุกเร้าใจที่สุด

แต่สำหรับ อังกฤษ ประเทศที่เล่นกีฬาฟุตบอลด้วยพละกำลัง และเน้นแทคติกการเล่นเป็นสำคัญ ความสามารถในการเลี้ยงบอล หรือ สับขาหลอก ไม่เคยมีความสำคัญมากไปกว่าการเสียบสไลด์สองขาเปิดปุ่ม พวกเขาจึงละเลยกีฬาฟุตซอลไปนานแสนนาน กว่าจะรู้ตัวอีกที อังกฤษก็ตามหลังชาติอื่นในยุโรปใต้ไปไกลโข

กว่าจะรู้ตัวก็สาย

ช่วงเวลาเดียวกันกับที่สเปนเริ่มเปิดรับกีฬาฟุตซอลเข้าสู่ประเทศ ทศวรรษ 1980s ที่ถือเป็นยุคมืดของกีฬาฟุตบอลในอังกฤษ เพราะขณะนั้น กลุ่มแฟนบอลสายนักเลง "ฮูลิแกน" กำลังห้าวสุดขีด และก่อวีรกรรมอื้อฉาวไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น โศกนาฏกรรมที่เฮย์เซล ในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอล ยูโรเปี้ยน คัพ ปี 1985 ตามมาด้วย โศกนาฏกรรมที่สนามฮิลส์โบโรห์ ในเกมเอฟเอคัพ รอบรองชนะเลิศ ปี 1989 จนนำมาสู่การปฏิวัติวงการฟุตบอลอังกฤษครั้งใหญ่ในเวลาต่อมา

เหตุการณ์นอกสนามฟุตบอลระหว่างฮูลิแกนและรัฐบาลอังกฤษ ที่วุ่นวายราวกับจะเป็นสงครามกลางเมืองย่อมๆ ส่งผลให้การพัฒนาของกีฬาฟุตบอลในประเทศอังกฤษระหว่างทศวรรษ 1980s หยุดชะงัก ขณะที่ชาติอื่นในยุโรปใต้เริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมเทคนิคของนักฟุตบอลผ่านกีฬาฟุตซอล เกมลูกหนังของอังกฤษยังย่ำอยู่กับที่และไม่ไปถึงไหน

4หากย้อนกลับไปดูเกมฟุตบอลของทีมชาติอังกฤษ รวมถึงการแข่งขันพรีเมียร์ลีกในช่วงยุค 90s จะเห็นได้ว่าเกมลูกหนังในประเทศแห่งนี้ยังคงเต็มไปด้วยการเล่นฟุตบอลแบบโบราณ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าปะทะอย่างรุนแรง, การตะลุมบอนเพื่อแย่งบอลในพื้นที่กลางสนาม, ฟุตบอลโยนยาวจากปีกด้านข้าง และการให้ความสำคัญกับนักเตะที่มีความแข็งแกร่ง รวมถึงพละกำลัง แทนจะเป็นทักษะเฉพาะตัว

เหมือนกับที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่า ส่วนหนึ่งที่กีฬาฟุตซอลเข้ามามีอิทธิพลในกลุ่มประเทศละแวกยุโรปใต้นั้น เป็นเพราะชาติเหล่านั้นมองเห็นความสำคัญของกีฬาฟุตซอลในการพัฒนาทักษะของนักฟุตบอล มีเพียงประเทศในแถบยุโรปตะวันออก เช่น รัสเซีย, ยูเครน และ สาธารณรัฐเช็ก ที่นำเข้ากีฬาฟุตซอล เนื่องจากต้องการเป็นใหญ่ในกีฬาประเภทนี้จริงๆ เพราะการพัฒนากีฬาฟุตบอลของพวกเขายังตามหลังประเทศในยุโรปตะวันตกค่อนข้างมาก

ดังนั้นแล้ว ประเทศใดที่ไม่เห็นคุณค่าของการพัฒนาทักษะนักเตะผ่านกีฬาฟุตซอล ไม่มีทางที่กีฬาชนิดนี้จะพัฒนาหรือเติบโตได้เลย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในอังกฤษ แต่ยังเกิดขึ้นกับชาติอื่นในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปเหนือ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตลอด 32 ปีที่ผ่านมาของการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก มีเพียง เนเธอร์แลนด์ เพียงชาติเดียวที่ไม่ได้มาจากยุโรปใต้ (ไม่นับรวมประเทศนอกยุโรป) แล้วสามารถคว้าเหรียญรางวัลจากการแข่งขันนี้ ซึ่งก็ต้องย้อนไปถึงปี 1989 นู่นเลย

5ความล้มเหลวของกีฬาฟุตซอลที่ไม่สามารถก้าวไปยืนอย่างมั่นคงในอังกฤษและอีกหลายประเทศในยุโรป แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของกีฬาฟุตบอลซึ่งอยู่เหนือฟุตซอลอย่างชัดเจน กล่าวคือ หากการเข้ามาของกีฬาฟุตซอลไม่สามารถสร้างผลประโยชน์แก่กีฬาฟุตบอลได้ เกมลูกหนังโต๊ะเล็กย่อมไม่มีความจำเป็นในประเทศนั้นๆเลย

ความจริงข้อนี้ตอกย้ำให้เห็นชัดเจนจากความสำเร็จของ "พรีเมียร์ลีก" การปฏิวัติครั้งสำคัญของวงการลูกหนังที่เปลี่ยนเกมกีฬากลายเป็นสินค้าเต็มรูปแบบ ความสำเร็จนอกสนามของสโมสรฟุตบอลอังกฤษกลายเป็นภาพลวงตาว่าพวกเขากำลังเดินมาถูกทาง ทั้งที่ความจริงแล้วฝีเท้าของนักเตะสัญชาติอังกฤษตกต่ำลงมาก และนำมาสู่ความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องของทีมชาติอังกฤษ ตั้งแต่ปลายยุค 90s จนถึงทศวรรษ 2000s

กว่าสมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ เอฟเอ จะเข้ามาดูแลกีฬาฟุตซอลระดับชาติอย่างจริงจังก็ต้องรอจนถึงปี 2002 ซึ่งในเวลานั้น ทีมฟุตซอลของสเปนคว้าแชมป์โลกสมัยแรกได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เกมฟุตซอลในอังกฤษจึงตามหลังสเปนหรืออิตาลี ไม่ต่างจากที่สหรัฐอเมริกาตามหลังชาติในยุโรปตะวันตกเมื่อพูดถึงกีฬาฟุตบอล

6อิทธิพลของเกมฟุตซอลที่ส่งต่อสู่กีฬาฟุตบอล ยังแสดงให้เห็นผ่านความยิ่งใหญ่ของบาร์เซโลน่าและทีมชาติสเปน ในช่วงปลายทศวรรษ 2000s และต้นทศวรรษ 2010s ซึ่งจากการฝึกฝนฟุตซอล 5 คน ตั้งแต่การเล่นในระดับเยาวชนของสโมสร แม้ อันเดรส อิเนียสต้า และ ลิโอเนล เมสซี่ จะไม่เคยเป็นนักกีฬาฟุตซอลอาชีพ แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่า พวกเขาเหล่านี้จะผ่านเกมฟุตซอลขณะใช้ชีวิตในลา มาเซีย มามากแค่ไหน

กว่าอังกฤษจะตื่นตัวในเรื่องนี้ต้องรอถึงทศวรรษ 2010s มีการแนะนำให้สโมสรต่างๆสนใจเกมฟุตซอล ด้วยการเรียกว่า "format of small-sided football" และออกเอกสาร English FA’s 'Benefits of Futsal' โดยภายในมีการแนะนำประวัติกีฬาฟุตซอล และคำบอกเล่าจากแข้งหัวกะทิในวงการลูกหนัง ไล่ตั้งแต่ เปเล่, โรนัลดินโญ่, เมสซี่, อิเนียสต้า, คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ที่ผ่านประสบการณ์บนเวทีฟุตซอล และบอกว่ากีฬาชนิดนี้ดีต่อพวกเขาอย่างไร

7ปัจจุบัน เกมฟุตซอลจึงถูกรวมเป็นหนึ่งในแบบฝึกนักเตะเยาวชนของทุกสโมสรชั้นนำในอังกฤษ ซึ่งเห็นผลชัดเจนว่า นักเตะอังกฤษยุคปัจจุบันมีทักษะการเล่นกับฟุตบอลที่ดีขึ้นมาก (ยกตัวอย่างเช่น ฟิล โฟเด้น) แต่สำหรับวงการฟุตซอลจริงๆ ทีมชาติอังกฤษตามหลังประเทศอื่นอีกไกล และอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก หลังสมาคมฟุตบอลอังกฤษสั่งตัดงบประมาณครั้งใหญ่ ทั้งที่การเติบโตของฟุตซอลในประเทศกำลังไปได้สวย

ฟุตซอลต้องตามหลังฟุตบอลตลอดไป

สมาคมฟุตบอลอังกฤษมีความทะเยอะทะยานอยากพัฒนากีฬาฟุตซอลในอังกฤษให้ก้าวสู่ระดับแถวหน้า หลังมีรายงานออกมาว่า เกิดโปรแกรมฝึกสอนฟุตซอลทั่วประเทศมากกว่า 300 แห่ง ทางเอฟเอจึงออกแผนพัฒนากีฬาฟุตซอลในช่วงปี 2018-2024 โดยตั้งเป้าว่าจะเป็นชาติมหาอำนาจระดับท็อป 20 ของโลกให้ได้

8แต่ยังพัฒนาได้ไม่เท่าไหร่ แผนการทุกอย่างต้องหยุดชะงักและพังทลาย เนื่องจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 เพราะในเดือนกันยายน ปี 2020 ที่ผ่านมา สมาคมฟุตบอลอังกฤษได้ตัดสินใจเลิกจ้างทีมงานทุกคนที่เกี่ยวข้องกับฟุตซอลทีมชาติชุดใหญ่ และชุดเยาวชน U-21 และ U-19 แถมยังหั่นงบประมาณจากเดิมปีละ 9 แสนปอนด์ เหลือเพียงราว 1 แสนปอนด์

สมาคมฟุตบอลอังกฤษให้เหตุผลในการตัดสินใจครั้งนี้ว่า "พวกเขาต้องการโฟกัสไปยังการคว้าแชมป์ทัวร์นาเมนต์ใหญ่ของฟุตบอล 11 คน" จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้กีฬาฟุตซอลในอังกฤษถูกตัดหางปล่อยวัด และกลายเป็นเพียง 1 ใน 6 ชาติทั่วยุโรปที่ไม่ส่งทีมฟุตซอลลงแข่งขันในรายการนานาชาติ

การตัดสินใจของสมาคมฟุตซอลอังกฤษสวนทางกับการเติบโตของกีฬาฟุตซอลในอังกฤษ เพราะในปี 2019 มีรายงานยืนยันว่า มีผู้เล่นกีฬาฟุตซอลเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 96 เปอร์เซ็นต์ แถมยังมีทีมฟุตซอลระดับเยาวชนอีกราว 1,500 ทีม กำลังลงแข่งขันในรายการเอฟเอ ฟุตซอล คัพ ซึ่งรวมๆแล้ว คิดเป็นนักเตะเกือบ 2 หมื่นคน

9โชคร้ายของนักกีฬาฟุตซอลในอังกฤษที่สมาคมฟุตบอลของพวกเขาไม่เคยมองกีฬาฟุตซอลเป็น "กีฬาฟุตซอล" แต่มองเป็น "กีฬาฟุตบอล 5 คน" ซึ่งไม่มีวันเทียบชั้นกับกีฬาฟุตบอล และที่สำคัญคือมันจะต้องไม่ก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งของธุรกิจกีฬาฟุตบอลภายในประเทศแห่งนี้ด้วย

เราคงต้องยอมรับความจริงว่า การทุ่มงบประมาณมหาศาลของสมาคมฟุตบอลอังกฤษเพื่อพัฒนากีฬาฟุตซอล มีไว้เพื่อสร้าง "ลิโอเนล เมสซี่ แห่งอังกฤษ" ซึ่งสวนทางกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในอเมริกาใต้และสเปน ที่การแข่งขันบนเวทีฟุตซอลค่อนข้างเข้มข้น และสามารถเป็นทางเลือกในการหาเลี้ยงชีพได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงอิทธิพลจากกีฬาฟุตบอล

น่าเสียดายที่อังกฤษไม่เคยมองความจริงข้อนี้ แต่จะโทษใครก็ไม่ได้ เพราะอังกฤษเปิดรับกีฬาฟุตซอลเข้าสู่ประเทศด้วยเหตุผลเดียว นั่นคือเพื่อช่วยเหลือกีฬาฟุตบอลในประเทศให้ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่เพื่อตามล่าความเป็นเลิศในวงการฟุตซอล เพราะในเมื่อพวกเขาครอบครองลีกฟุตบอลอันดับหนึ่งอยู่ในมือ ทำไมจะต้องไปวิ่งไล่ตามชาติอื่นในวงการฟุตซอลให้เสียแรงเปล่า?

10ยิ่งมองความสำเร็จของพรีเมียร์ลีกในเวทีโลก ไม่มีเหตุผลเลยที่พวกเขาต้องทุ่มงบประมาณเพื่อพัฒนากีฬาฟุตซอล ในวันที่ผลกระทบจากโควิด-19 ยังไม่จางหาย เพราะถึงอังกฤษจะไม่มีกีฬาฟุตซอลลงเล่นระดับนานาชาติไปอีกสัก 10 ปี รายได้มหาศาลก็ยังคงไหลผ่านเข้ามาทางกีฬาฟุตบอลเหมือนเดิม

การตัดงบประมาณครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่ตั้งใจจริงในการพัฒนากีฬาฟุตซอลของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ทั้งที่มีผู้คนมากมายกำลังตอบรับเกมฟุตซอล แม้สักวันหนึ่งสมาคมฟุตบอลอังกฤษอาจจะแบ่งงบประมาณมาให้เกมฟุตซอลอีกครั้ง 

แต่ในวันนี้ วงการฟุตซอลอังกฤษจำเป็นต้องเสียสละ เพราะการจากไปของเกมลูกหนังโต๊ะเล็กจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งแก่กีฬาฟุตบอลมากขึ้น หรืออย่างน้อยก็ช่วยลดต้นทุนที่เสียไปโดยใช้เหตุ เพราะมันชัดเจนแล้วว่า อังกฤษไม่อยากทุ่มเงินไปกับวงการกีฬาที่ไม่รู้จะกลับมาตอบแทนพวกเขาเมื่อไหร่ อย่าง ฟุตซอล

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ อิทธิพลจากฟุตบอล : ทำไม "อังกฤษ" ไม่เป็นเลิศในฟุตซอล? ทั้งที่เป็นต้นกำเนิดเกมลูกหนัง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook