ไขเหตุดีล "นิวคาสเซิล - ราชวงศ์ซาอุฯ" ล่ม : ไม่สมควรเป็นเจ้าของหรือมีใครกลัวเก่งกว่า?

ไขเหตุดีล "นิวคาสเซิล - ราชวงศ์ซาอุฯ" ล่ม : ไม่สมควรเป็นเจ้าของหรือมีใครกลัวเก่งกว่า?

ไขเหตุดีล "นิวคาสเซิล - ราชวงศ์ซาอุฯ" ล่ม : ไม่สมควรเป็นเจ้าของหรือมีใครกลัวเก่งกว่า?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศาลอุทธรณ์คดีการแข่งขันทางการค้า เตรียมตัดสินคดี นิวคาสเซิล ฟ้อง พรีเมียร์ลีก กรณีขวางการเทคโอเวอร์ของกลุ่มทุนจากราชวงศ์แห่งซาอุดีอาระเบีย นำโดยเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน

นิวคาสเซิล เชื่อว่านี่คือการขัดขวางโอกาสทางการลงทุนของสโมสรและลึก ๆ มีใครบางคนกำลังกลัวจะเสียอำนาจในวันที่พวกเขาเปลี่ยนมือเจ้าของ

ทว่าอีกฝั่งก็ยืนยันว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เพราะภาพลักษณ์อันดีงามของฟุตบอลพรีเมียร์ลีก 

เรื่องจริงจากการซื้อขายสโมสรอันยืดเยื้อนี้เป็นเช่นไร? ติดตามได้ที่นี่

รอวันนี้มาตั้งนาน 

ไมค์ แอชลี่ย์ เศรษฐีชาวอังกฤษเจ้าของบริษัทอุปกรณ์กีฬาอย่างสปอร์ต ไดเร็กต์ ก้าวเข้ามาเกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอลอังกฤษครั้งแรกในปี 2006 บทบาทของเขาคือการเข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรนิวคาสเซิลจาก เซอร์ จอห์น ฮอลล์ และหลังจากนั้นตำนานเจ้าของทีมที่ถูกแฟนบอลตัวเองเกลียดที่สุดก็ถือกำเนิดขึ้น 

1สิ่งที่ แอชลี่ย์ ทำหลังจากเข้ามาเทคโอเวอร์คือการตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นบิ๊กโฟร์ให้ได้ภายในเวลา 3-4 ปี จนกระทั่งหลายสิ่งหลายอย่างไม่เป็นไปตามที่คิด การทุ่มเงินซื้อนักเตะอย่าง มาร์ค วิดูก้า, โจอี้ บาร์ตัน, อลัน สมิธ, เฌเรมี่ เอ็นจิทัป และ โฆเซ่ เอนริเก้ รวมถึงอีกหลาย ๆ คนไม่สามารถบันดาลเเชมป์หรือแม้กระทั่งการเข้าใกล้ได้เลย แนวคิดการทำทีมจึงเริ่มเปลี่ยนไป

จากการพยายาม นำมาสู่การปล่อยทิ้งปล่อยขว้าง เน้นทำทีมแค่ประคองเอาตัวรอดในลีก เพื่อรับค่าลิขสิทธิ์และส่วนแบ่งทางการตลาดเท่านั้น นั่นคือสิ่งที่ทำให้แฟนนิวคาสเซิลเริ่มไม่ชอบเขา และมากจนถึงขั้นที่ใช้คำว่าเกลียดได้เลย เพราะหลังจากมีปฏิกิริยาจากแฟนบอล แอชลี่ย์ ก็เข้ามาชมเกมในสนามเหย้าน้อยมาก และการมาส่วนใหญ่ก็ไม่ได้นั่งเชียร์ในพื้นที่ที่ปะปนกับแฟนบอลแบบที่เคยทำด้วย 

ราฟาเอล เบนิเตซ อดีตกุนซือของ นิวคาสเซิล ในช่วงปี 2017-18 เคยเล่าหลังจากที่เขาลาออกแล้วไปคุมทีมในลีกประเทศจีนว่า บรรยากาศการทำงานร่วมกับ ไมค์ แอชลี่ย์ นั้นแย่มาก กล่าวคือ แอชลี่ย์ แทบไม่สนใจการเข้าประชุมหรือคุยกันเรื่องแนวทางการทำทีมเลย โดยราฟาบอกว่า "1 เดือนที่จีน เขาเข้าประชุมกับบอร์ดบริหารมากกว่า 2 ปีที่ นิวคาสเซิล ด้วยซ้ำ"

เมื่อไม่มีความทะเยอทะยานแล้ว แอชลี่ย์ จะเป็นเจ้าของทีมไปเพื่ออะไร ? คำตอบเดียวที่ทุกคนรู้คือ เขารอวันที่จะขายต่อให้กับใครสักคนหากได้กำไรมากพอ เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมามีเศรษฐีหลากหลายเชื้อชาติที่นิยมเข้ามาซื้อสโมสรฟุตบอลและสร้างธุรกิจด้านนี้ เพียงแต่ว่าข้อแม้ของ แอชลี่ย์ ชัดเจนมาก นั่นคือ "ถ้าไม่มากพอเท่าที่ใจต้องการเขาก็จะไม่ขาย"

นั่นทำให้เขาทำให้แฟนนิวคาสเซิลฝันค้างมาหลายครั้ง เพราะเมื่อมีคนจะมาขอซื้อทีม แอชลี่ย์ ก็มักจะเจรจาด้วย แต่สุดท้ายก็พับการเจรจาทิ้งเป็นประจำ จนกระทั่งเดือนมกราคมปี 2017 คือเดือนที่แฟน ๆ นิวคาสเซิล ดีใจอย่างที่สุดในวันที่ ไมค์ แอชลี่ย์ ประกาศว่าเอาจริง เขาพร้อมจะขายสโมสรอีกครั้งด้วยราคา 300 ล้านปอนด์แถมหนนี้ อแมนด้า สเตฟลี่ย์ นักธุรกิจหญิงด้านอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของฉายา "แม่มดแห่งการเงิน" เป็นผู้มีเอี่ยวในการเจรจาด้วย ซึ่งสุดท้าย แอชลี่ย์ ก็ลากยาวการเจรจาไปนานถึง 3 เดือน และสุดท้ายเขาก็ตัดสินใจไม่ขาย ทำเอาแฟนสาลิกาดงฝันค้างกันเป็นแถบ ๆ 

2แอชลี่ย์ รอข้อเสนอที่หอมหวานพร้อม ๆ กับการบริหารทีมที่ไม่เคยเดินไปข้างหน้า และลากยาวมาได้จนถึงปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่แต่ละสโมสรเจอปัญหาการเงินอย่างสาหัสเนื่องจากมาตรการต่าง ๆ หลังการระบาดของไวรัส COVID-19 

รายได้ก็หดหาย แฟนบอลก็ไม่ค่อยจะรัก แถมรายจ่ายก็มากขึ้น มันถึงเวลาแล้ว ทุกอย่างสุกงอมพอดิบพอดี หนนี้ อแมนด้า สเตฟลี่ย์ เข้ามาพบกับ แอชลี่ย์ อีกครั้ง แต่ในฐานะของผู้นำสารของกลุ่มทุนที่มีชื่อว่า The Saudi Fund (PIF) ที่มีความเกี่ยวข้องกับ เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน แห่งซาอุดีอาระเบีย ที่ต้องการซื้อสโมสรนี้ด้วยเงินจำนวน 300 ล้านปอนด์ 

ข่าวลือสะพัดไปทั่วทุกหัวระแหง หนนี้ยังไงก็ขายแน่นอน แต่ว่าวาสนาของสโมสรนิวคาสเซิลนั้นแสนลำบาก ... เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม คนซื้อมีเงิน เจ้าของสโมสรอยากขาย แต่กลับกลายเป็นว่าการขายสโมสร "ไม่สามารถทำได้" ด้วยเหตุผลบางประการ ที่ซับซ้อนและมาจากมือที่ 3

ไม่สมควร

การเจรจาครั้งนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วแตกต่างกับปี 2020 อย่างสิ้นเชิง สื่อทุกสำนักยืนยันว่าเสร็จแน่ เพราะหลังจากใช้เวลาในการเจรจาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น ทั้งสองฝ่ายก็แทบจะจับมือตกลงกันได้เเล้ว ทางนิวคาสเซิลส่งเอกสารการโอนย้ายและเปลี่ยนเจ้าของจำนวนทั้งหมด 35 หน้าส่งให้ พรีเมียร์ลีก รับรอง  

3ทว่าในขณะที่ทุกอย่างพร้อม รอแค่พาดหัวข่าว Breaking! เท่านั้น พรีเมียร์ลีก กลับใช้เวลาถึง  1 เดือนหลังจากได้รับเอกสารทั้งหมดไป พวกเขาพิจารณาอะไรนานขนาดนั้น มันมีอะไรแปลก ๆ  หรือสิ่งไม่ชอบมาพากลหรืออย่างไร ? 

ในระหว่างที่แฟนนิวคาสเซิลรออย่างใจจดใจจ่อ หลายคนถึงกับคิดว่านี่เป็นเฟคนิวส์ที่หลอกให้พวกเขาดีใจอีกเเล้ว แต่ความจริงมันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนยิ่งกว่านั้นมาก เพราะทางพรีเมียร์ลีกได้รับความกดดันจากหลายฝ่าย โดยพวกเขาบอกว่าเจ้าชายบิน ซัลมาน ไม่มีคุณลักษณะตามกฎของการเป็นเจ้าของสโมสรในพรีเมียร์ลีก 

หากจะว่าด้วยเรื่องกฎของการเป็นเจ้าของสโมสรพรีเมียร์ลีก หลัก ๆ แล้วจะเป็นกฎเรื่องเกี่ยวกับการเงิน เช่น ไม่มีการถือหุ้นของสโมสรอื่น ๆ ไม่มีการเกี่ยวข้องหรือเป็นบุคคลล้มละลาย หรือมีทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบ (ต้องเข้ารับการตรวจสอบที่มาของทรัพย์สินก่อนเป็นเจ้าของสโมสร) ทั้งฉ้อโกง คอร์รัปชัน และจงใจหลีกเลี่ยงภาษี เป็นต้น 

แต่หลัก ๆ แล้วปัญหาของเจ้าชาย บิน ซัลมาน นั้นไม่ได้เกี่ยวกับกฎเรื่องการเงินเท่าไรนัก แต่มันเป็นกฎอีกข้อที่ว่าด้วยคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ว่าด้วยการไม่เคยทำผิดกฎหมายคดีอาญาหรืออยู่ในระหว่างพิจารณาคดี 

เรื่องนี้เคยมีกรณีศึกษาเมื่อ ทักษิณ ชินวิตร เป็นเจ้าของสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทว่าในปี 2008 หรือในช่วงคาบเกี่ยวของการรัฐประหารปี พ.ศ.2549 และอยู่ในช่วงเวลาที่รัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งของกองทัพเข้าบริหารประเทศ ทักษิณ ก็มีคดีความในประเทศไทยหลังจากถูกตั้ง 4 ข้อหาจากศาลฎีกา และมีการตัดสินอายัดทรัพย์สินที่มี จนมีข่าวว่าพรีเมียร์ลีกจะต้องตรวจสอบความเหมาะสมในฐานะเจ้าของสโมสร ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน ทักษิณ ก็ขายหุ้นสโมสรให้กับ อาบูดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป จากยูเออี ของ ชีค มานซูร์ เป็นเงินถึง 210 ล้านปอนด์

คำถามคือเจ้าชายแห่งซาอุฯ ทำสิ่งใดลงไป ทำไมถึงมีใครอยากจะขวางทางการเป็นเข้าของสโมสรนิวคาสเซิล ? และใครเป็นคนต่อต้าน และกดดันให้พรีเมียร์ลีกปฏิเสธการเป็นเจ้าของทีม 

ประการแรกคือ องค์การนิรโทษกรรมสากล หรือแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการเทคโอเวอร์ทีมนิวคาสเซิลของกลุ่มทุนซาอุดีอาระเบียว่า จะทำให้ภาพลักษณ์ของฟุตบอลพรีเมียร์ลีกต้องมัวหมอง 

โดยทางแอมเนสตี้เชื่อว่าเจ้าชายแห่งซาอุดีอาระเบีย ที่เป็นเจ้าของกลุ่มทุนที่จะเทคโอเวอร์นิวคาสเซิล เป็นผู้อยู่เหนือระบบเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวที่อ้างว่าราชวงศ์ซาอุฯ มีเรื่องราวเชิงลบมากมาย เช่นการพัวพันกับการสังหารจามาล คาชูจกิ นักข่าวคนดังที่เน้นเรื่องการเปิดโปงเรื่องราวเชิงลบของรัฐบาลซาอุฯ ขณะที่เป็นผู้ลี้ภัยการเมืองอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา จากการยืนยันของ CIA และการจับกุม 3 สมาชิกระดับสูงของราชวงศ์ซาอุฯ โดยไม่มีการชี้แจงเหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้น

4นอกจากแอมเนสตี้เเล้ว ยังมีบริษัท beIN Sports เครือข่ายช่องรายการกีฬาทางโทรทัศน์ ที่เป็นธุรกิจหนึ่งของกลุ่มเครือข่ายสื่ออัลญะซีเราะฮ์แห่งรัฐกาตาร์ ที่เคยมีกรณีพิพาทกับทางซาอุดีอาระเบียด้วยเหตุผลทางการเมือง จนกระทั่ง beIN ต้องระงับการออกอากาศในซาอุฯ ซึ่งทางซาอุฯ ก็ได้ตอบโต้ด้วยการสร้างช่องใหม่ขึ้นมาที่มีชื่อว่า beOut เหมือนเป็นการดัดหลัง beIN โดยสัญญาณการถ่ายทอดสดจะเป็นการขโมยสัญญาณจาก beIN มาใช้งานโดยที่ไม่จ่ายเงิน ซึ่งทำให้ beIN ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในหลายประเทศที่ตั้งใจจะซื้อสัญญาระยะยาว ต้องออกโรงขู่พรีเมียร์ลีกว่า หากปล่อยให้กลุ่มทุนจากซาอุฯ ที่มีราชวงศ์อยู่เบื้องหลังได้เป็นเจ้าของสโมสรในพรีเมียร์ลีก beIN จะถอนตัวจากการซื้อลิขสิทธ์ของพรีเมียร์ลีกทันที 

เรื่องราวทั้งหมดทั้งมวลนี้ ทำให้เอกสารทั้งหมด 350 หน้าที่ส่งไปถึงพรีเมียร์ลีกเรื่องการเปลี่ยนแปลงเจ้าของ จึงไม่ได้รับการตอบกลับ ปล่อยให้อยู่ในสถานะสุญญากาศเป็นเวลานับเดือน จนกระทั่งสุดท้ายพวกเขาเชื่อว่าการเปลี่ยนเจ้าของครั้งนี้เป็นเหตุไม่สมควร และหากนิวคาสเซิลยังดึงดันกับเรื่องนี้ สโมสรมีสิทธิ์จะต้องต้องโดนตัดออกจากการเเข่งขันพรีเมียร์ลีก หรือถูกปรับตกชั้นเลยทีเดียว แม้การโต้แย้งจะสามารถทำได้ในชั้นศาล แต่สุดท้าย เจ้าชาย บิน ซัลมาน ต้องตัดสินใจล้มดีลนี้ด้วยตัวเอง เนื่องจากเบื่อหน่ายในความยืดเยื้อ ปิดตำนานความหวังในการสร้างทีมซูเปอร์สตาร์ในไทน์ไซด์ลงโดยสมบูรณ์

ผู้เสียหายลุกขึ้นสู้ 

การล้มดีลของเจ้าชาย บิน ซัลมาน หนนี้ ไม่ได้แค่ทำให้แฟน ๆ ของนิวคาสเซิลต้องฝันค้างอีกครั้งเท่านั้น มันทำให้ ไมค์ แอชลี่ย์ ที่ต้องการจะขายทีมแบบสุด ๆ ต้องฝันสลายด้วย เพราะเขารู้ดีว่าการ "พลาด" ในครั้งนี้จะส่งผลเป็นอย่างมาก เพราะหากปล่อยเวลาผ่านไป เขาจะไม่มีทางได้รับข้อเสนอในราคาที่ดีและเหมาะสมแบบนี้อีก 

5เรื่องนี้ทำให้ แอชลี่ย์ ต้องว่าจ้างบริษัท St James' Holdings ตามสืบความจริงเบื้องหลังที่ทำให้ดีลการซื้อขายสโมสรต้องล่มลงไป ซึ่งหลังจากการสืบค้นข้อมูล ตัวแทนของ St James' Holdings ที่มีชื่อว่า ดาเนี่ยล โจเวลล์ ก็เชื่อว่าเรื่องนี้มีเบื้องหลังยิ่งกว่าการขู่ของ beIN หรือ แอมเนสตี้ แน่นอน 

โจเวลล์ อ้างว่า มีสโมรขนาดใหญ่ของลีกกดดันให้พรีเมียร์ลีกรีบตัดโอกาสในการขายทีมนิวคาสเซิลให้กับเจ้าชาย บิน ซัลมาน เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องของข่าวลือและความเหมาะสมที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เหล่าทีมยักษ์ใหญ่ยังเชื่อว่าข้อเสนอนี้จะทำให้นิวคาสเซิลเป็นทีมที่ร่ำรวยเกินกว่าเหตุ 

"เราคงต้องบอกว่าเกิดการล็อบบี้ภายใน ที่บิดเบือนหลายสิ่งต่อกฎและความยุติธรรมของพรีเมียร์ลีก" โจเวลล์ กล่าว

"มีสโมสรใหญ่ในพรีเมียร์ลีกจำนวนหนึ่งพยายามจะวิ่งเต้นเพื่อแสดงการต่อต้านให้ข้อตกลงซื้อขายกิจกาจครั้งนี้ล้มเหลว"

"นี่คือสิ่งที่ชี้ให้เห็นความไม่เป็นธรรมและการพยายามบิดเบือนกฎของลีก โดยเอาเรื่องการเจรจารเรื่องการขยายสิทธิ์ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกเป็นข้ออ้าง ว่าถ้าหากนิวคาสเซิลเปลี่ยนเจ้าของจะเกิดความเสียหาย"

"ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการวางตัวและมีอิทธิพลเหนือพรีเมียร์ลีกของทีมใหญ่ ๆ ที่ผมกล่าวถึงไม่ใช่เรื่องยกเมฆขึ้นมาอย่างแน่นอน" 

เรื่องนี้มีการวิเคราะห์จากสำนักข่าวใหญ่อย่าง BBC ว่า เจ้าชาย บิน ซัลมาน เคยถึงขั้นต้องส่งสารให้กับนายกรัฐมนตรีของอังกฤษอย่าง บอริส จอห์นสัน เพื่อให้ช่วยพิจารณาเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา และช่วยให้ความเป็นธรรมในการเจรจาระหว่างฝั่งซาอุฯ กับนิวคาสเซิล 

โดยนาย บอริส จอห์นสัน ก็ได้สั่งการให้ ลอร์ด อัดนี่-ลิสเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลาง ให้ช่วยตรวจสอบความคืบหน้าและตรวจสอบการซื้อขายครั้งนี้โดยไม่มีการแทรกแซงการเจรจาของทั้งสองฝ่าย 

ตอนนี้เรื่องราวการฟ้องร้องโดย St James' Holdings กำลังอยู่ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และเตรียมมีการตัดสินคดีในเร็ว ๆ นี้ 

6สิ่งที่ทางนิวคาสเซิลจะชนะการตัดสินในครั้งนี้ได้ คือการต้องหาข้อโต้แย้งให้ได้ว่า "กลุ่มทุน" ภายใต้ชื่อ The Saudi Fund (PIF) ที่จะมาซื้อสโมสรนั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเจ้าชาย บิน ซัลมาน ที่โดนหลายฝ่ายต่อต้านจากปัญหาเรื่องคดีความและข้อพิพาทระหว่าง beIN และแอมเนสตี้ เพราะหากพิสูจน์ความจริงข้อนี้สำเร็จ ก็จะไม่มีใครสามารถขวางการเทคโอเวอร์ครั้งนี้ได้  

ตอนนี้สองฝ่ายกำลังหาข้อมูลมาโต้แย้งกันอย่างดุเดือด และในเดือนมกราคมปี 2022 คาดว่าการตัดสินคดีจะเกิดขึ้น ฝ่ายใดเป็นผู้ชนะก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการธุรกิจหรือการเทคโอเวอร์สโมสรในพรีเมียร์ลีกไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากฝั่งนิวคาสเซิลชนะ พวกเขาน่าจะได้เจ้าของใหม่ที่พร้อมจะทุ่มเงินจำนวนมากตามที่ได้โฆษณาไว้ก่อนหน้านี้ และสิ่งนี้เองที่ทำให้มีข่าวว่าหลายทีมไม่ต้องการให้การเทคโอเวอร์ครั้งนี้เสร็จสมบูรณ์...

บทสรุปกำลังจะมาถึง ตอนนี้ขึ้นอยู่กับว่าข้อมูลของใครจะชัดเจนและชี้ขาดคำตัดสินของศาลได้ดีกว่ากัน... 

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ ไขเหตุดีล "นิวคาสเซิล - ราชวงศ์ซาอุฯ" ล่ม : ไม่สมควรเป็นเจ้าของหรือมีใครกลัวเก่งกว่า?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook