รับบทดาวพระศุกร์แล้ว 1 : ชาติอาเซียนชอบโดนกรรมการโกง.. เรื่องจริงหรือแค่คิดไปเอง?

รับบทดาวพระศุกร์แล้ว 1 : ชาติอาเซียนชอบโดนกรรมการโกง.. เรื่องจริงหรือแค่คิดไปเอง?

รับบทดาวพระศุกร์แล้ว 1 : ชาติอาเซียนชอบโดนกรรมการโกง.. เรื่องจริงหรือแค่คิดไปเอง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความพ่ายแพ้ 2 เกมติด ๆ กันของทีมชาติเวียดนามในฟุตบอลโลก 2022 รอบ 12 ทีมสุดท้ายโซนเอเชีย ทำให้แฟนบอลของพวกเขาโกรธแค้นและหงุดหงิด จนถึงขึ้นมีการทำเรื่องฟ้องกรรมการในเกมนั้นกับสมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ AFC เลยทีเดียว

และสำหรับแฟนบอลทีมชาติไทย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เราเคยโกรธแค้นในลักษณะนี้มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง 

"เวลาที่เราแข่งกับทีมใหญ่กว่า ทำไมกรรมการเข้าไม่เข้าข้างเราเลย ?"

 

"ทำไมชาติอาเซียนจึงไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้ตัดสิน ?" 

Main Stand จะพาไปหาคำตอบ เรื่องที่ชาวอาเซียนกำลังสงสัยกันอยู่

แนวคิด "กรรมการขี้โกง" ของชาวอาเซียน 

การแข่งขันฟุตบอลนั้นไม่มีอะไรซับซ้อนเลยในแง่พื้นฐาน ลงแข่งขัน ยิงประตูให้มากกว่าคู่แข่ง แค่นี้คุณก็จะเป็นฝ่ายชนะแล้ว ซึ่งชัยชนะนี้เองที่เป็นแก่นแท้และสิ่งสำคัญที่สุด ดังวลีที่ว่า "คนชนะพูดได้ทุกอย่าง" 

 

แต่ถ้าหันกลับไปมองผู้แพ้บ้างล่ะ นี่ต่างหากคือสิ่งที่น่าสนใจ เพราะในขณะที่ทุกคนโฟกัสกับทีมที่ชนะหรือถ้วยรางวัล ทีมที่แพ้มักจะมองโลกในอีกแบบ จริงอยู่ที่กีฬามีแพ้มีชนะและเราควรจะปล่อยวางในยามที่เป็นคนแพ้ แต่นั่นมันมีแต่ในสังคมอุดมคติเท่านั้น ในชีวิตจริงความพ่ายแพ้ไม่ใช่เรื่องที่จะทำใจรับกันได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความพ่ายแพ้ที่เฉียดฉิว ชนิดที่ว่า "เกือบไม่แพ้" ทฤษฎีคำว่า "ถ้า" จึงเกิดขึ้น

ถ้าลูกนั้นไม่โชคร้าย, ถ้ายิงแรงอีกสักหน่อย, ถ้าผู้รักษาประตูไปผิดทาง อะไรก็ตามแนว ๆ นี้ แต่สิ่งที่คลาสสิกที่สุคคือ เมื่อคุณแพ้แบบค้านสายตา 1 ในสิ่งที่โทษได้ง่ายที่สุดและชัดเจนในแง่ของความรู้สึกคือ "กรรมการขี้โกง" จังหวะที่เราควรจะได้ฟาวล์กลับไม่ได้ จังหวะที่เราไม่ควรเสียกลับต้องเสีย 

ถ้าคุณเป็นแฟนฟุตบอลไทยและดูการแข่งขันแบบแทบไม่เคยพลาด คุณจะพบว่าตัวคุณเองก็รู้สึกเช่นนั้น จากความรู้สึกว่าถูกกรรมการเอาเปรียบและการตัดสินที่ไม่ธรรม ที่มักจะเกิดขึ้นกับทีมชาติไทยอยู่เสมอในยามที่เราต้องลงเล่นในฐานะมวยรอง เช่นในการแข่งขันระดับทวีปที่เราเป็นทีมที่อ่อนกว่า และได้รับการยอมรับน้อยกว่าตั้งแต่ก่อนลงสนาม 

เกมที่กระตุ้นต่อมความเดือดของแฟนบอลไทยในเกมระดับเอเชียเกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ แต่ไม่มีเกมไหนจะเดือดไปกว่าเกมรอบตัดเลือก ฟุตบอลโลก 2018 12 ทีมสุดท้ายโซนเอเชีย ที่ไทยแพ้ให้กับ ซาอุดีอาระเบีย ในเกมเยือน เกมนั้นเข้าตำราแทบทุกอย่าง ไทยเล่นได้ดีแบบเหนือความคาดหมาย มีโอกาสจะกดซาอุฯ ให้แพ้คาบ้านอยู่หลายครั้งแต่ก็พลาดไปหมด จนเข้าสู่ช่วงท้ายเกม นักเตะของซาอุฯ ปะทะกับ สารัช อยู่เย็น ในกรอบเขตโทษ และหลังจากนั้น ผู้ตัดสินก็เป่านกหวีดและชี้ไปที่จุดโทษทันที 

ความเดือดเกิดขึ้นทันที หลายคนที่อยู่หน้าจอต่างรู้สึกแบบเดียวกัน "ว่าแล้วต้องเป็นแบบนี้" ก่อนที่ไทยจะแพ้ไปด้วยสกอร์ 0-1 โดยเสียทั้งจุดโทษและใบแดงครบสูตรเลยทีเดียว

 

มองในแง่ความแค้นก็สมควร ไทยควรจะได้ 3 แต้ม กลายเป็น 0 แต้ม ความรู้สึกมันต่างกันราวฟ้ากับเหว เราต่างชี้เป้าไปที่ผู้ตัดสินในวันนั้นและคิดว่าพวกเขากำลังเข้าข้างเจ้าบ้าน มันไม่ใช่แค่การทึกทักไปเอง จุดโทษลูกนั้นเป็นส่วนหนึ่งของข้อสงสัยมากมาย นอกจากนี้ชาติตะวันออกกลางยังถูกโฟกัสเรื่อง "กำลังภายใน" จากผู้ตัดสินมาโดยตลอด 

ไม่ใช่แค่ไทยทีมเดียว ล่าสุดคือ เวียดนาม ที่กำลังหัวฟัดหัวเหวี่ยงจากเกมที่แพ้ ซาอุดีอาระเบีย 3-1 ในเกมฟุตบอลโลก 2022 รอบ 12 ทีมสุดท้ายโซนเอเชีย ที่พวกเขาทั้งโดนใบแดงและเสียจุดโทษ ทั้ง ๆ ที่ออกนำไปก่อน ความรู้สึกของแฟนเวียดนามเองก็ไม่ต่างจากไทย โบยบินไปไหนต่อไหนก็นึกถึง 3 แต้ม

แต่เมื่อทุกอย่างพังลงจากการตัดสินที่ค้านสายตา พวกเขาก็ "ทำทัวร์" และพา "ทัวร์ลง" เฟซบุ๊กของผู้ตัดสินในเกมนั้น นอกจากนี้ เวียดนาม ยังถึงขั้นฟ้องต่อ AFC เพื่อให้พิจารณาผู้ตัดสินในเกมที่ 2 ที่พวกเขาแพ้ ออสเตรเลีย 0-1 อีกด้วย เพราะพวกเขาคิดว่าเกมนั้นเวียดนามมีจังหวะสมควรได้จุดโทษ 

ความคิดดังกล่าวมีเหตุผลหลายอย่างที่เราหยิบเอามารวมกันและมันก็ดูเข้าเค้า เนื่องจากเรามีอารมณ์ที่กำลังเดือดดาลเป็นสารตั้งต้น แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว เพราะสเต็ปต่อไปไม่ว่าจะมีเหตุผลที่บางเบามารองรับแค่ไหน เราก็พร้อมที่จะเชื่อว่า "กรรมการโกง" อยู่ดี

 

เหตุผลเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้ชาวอาเซียนคิดเช่นนั้นเวลาเล่นเป็นทีมเยือนเมื่อเจอกับทีมใหญ่ ๆ ในทวีปที่ส่วนใหญ่เป็นชาติในตะวันออกกลาง (รอบ 12 ทีมสุดท้ายครั้งนี้มีตัวแทนจากตะวันออกกลางทั้งหมด 7 ทีม ที่เหลือคือ ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, จีน, ออสเตรเลีย และ เวียดนาม ขณะที่ฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือกที่ไทย เข้าไปถึงรอบ 12 ทีมสุดท้าย ก็มีชาติจากตะวันออกกลางอยู่ 6 ทีม โดยในสายของไทยนั้นมีถึง 3 ทีมด้วยกัน 


Photo : www.facebook.com/aseanfootball

จากการจำแนกทีมจากโซนต่าง ๆ ที่กล่าวมา ชัดเจนว่าชาติอาเซียนอย่าง ไทย และ เวียดนาม จะต้องเจอกับชาติจากตะวันออกกลางอย่างน้อยถึง 6 นัด (เหย้า - เยือน) ... เข้าใจแบบง่าย ๆ เลยว่าโอกาสแพ้ในการเจอกับทีมแถวหน้าเหล่านี้มีเยอะกว่าโอกาสชนะแน่นอน เมื่อแพ้บ่อยกว่า ภาพจำก็ชัดกว่านั่นเอง 

ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างคือชาติจากตะวันออกกลางมักจะถูกชาวอาเซียน ตั้งมาตรฐานไว้ต่ำกว่าการเจอกับทีมอย่าง ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ เสมอ หรือจะวัดเอาจากแฟนบอลไทยก็ได้เพื่อให้เห็นภาพชัดมากขึ้น 

เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น ล้วนเป็นชาติที่ชาวอาเซียนมองเป็นแบบอย่างในแง่ของฟุตบอลทั้งสิ้น ไม่ใช่แค่ฟุตบอลอย่างเดียว ชาติในอาเซียนสามารถเข้าถึงวัฒนธรรมของชาติเหล่านี้ได้ดี จึงมีความผูกพันและใกล้ชิดกว่าในแง่ของความรู้สึกไปด้วย

 

ดังนั้นแฟนบอลอาเซียนจึงให้ค่า ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ ไว้อยู่ในระดับไอดอลและอยากเดินรอยตาม ทำให้เวลาเราแพ้ 2 ชาตินี้ เรามักจะเข้าใจและทำใจยอมรับได้ง่ายกว่า ยิ่งเกมไหนแพ้แบบสู้ได้ เกมนั้นแฟนบอลยิ่งปลาบปลื้มมากขึ้นไปอีก 

ขณะที่ฟุตบอลตะวันออกกลางนั้นเป็นเรื่องไกลตัวชาวอาเซียนมากกว่าเยอะ และการที่เราไม่ได้เห็นพวกเขาลงสนาม ไม่ได้ดูเกมลีกของพวกเขา ไม่ได้รู้จักนักเตะในชาตินั้น ๆ หรือไม่ได้ติดตามข่าวสารทีมของพวกเขาเป็นพิเศษ มันทำให้เราประเมินพวกเขาต่ำกว่าความเป็นจริงได้ง่าย ๆ 

ดังนั้นเมื่อเราแพ้ชาติจากตะวันออกกลาง เรามักจะทำใจและยอมรับได้ยากกว่า เหมือนกับที่ไทยและเวียดนาม ต่างก็แพ้ ซาอุดีอาระเบีย แบบที่จำฝังใจกันจนทุกวันนี้

นอกจากเรื่องของความรู้สึก ความใกล้ชิด และการติดตามข่าวสารแล้ว มันยังมีทฤษฎีสมคบคิดที่เราเห็นได้บ่อยตามเว็บบอร์ดหรือโซเชียลมีเดีย ที่เราเอามาจับแพะชนแกะจนกลายเป็นเหตุผลประกอบการตัดสินว่าพวกเขาโกงได้อีก ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือคู่กรณีของทั้ง ไทย และ เวียดนาม อย่าง ซาอุดีอาระเบีย 

ข้อสงสัยข้อที่ 1 คือ ชาติอาหรับ มักจะเป็นชาติที่รํ่ารวยจากการค้าน้ำมัน ส่วนข้อที่ 2 ผู้เกี่ยวข้องกับฟุตบอลในชาติอาหรับมักจะมีอิทธิพลสูง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าชายหรือเจ้าเมืองต่าง ๆ นานา ข้อ 3 วงการฟุตบอลเอเชียมักจะมีข่าวเกี่ยวข้องกับเรื่องของการล็อกผลการแข่งขันเป็นประจำ แม้แต่ที่ไทยเองก็เคยเป็นข่าวดังมาแล้ว

 

แค่ 3 ข้อแรก ก็ไม่แปลกที่เราจะรู้สึกไม่ไว้ใจกรรมการ ยิ่งบวกกับข้อที่ 4 ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียคนปัจจุบันอย่าง ชึค ซัลมาน บิน อิบรอฮีม อัล เคาะลีฟะฮ์ ก็เป็นชาวอาหรับ (บาห์เรน) ทั้งหมดนี้ทำให้เมื่อเกิดเหตุสงสัยเพียงเล็กน้อย พวกชาติอาหรับจึงถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการโกงและซื้อกรรมการจากชาวอาเซียนเสมอ ยิ่งเกมไหนที่โดนใบแดง เสียจุดโทษ หรือก้ำกึ่งล้ำหน้าล่ะก็ รับรองได้เลยว่าการเชื่อมโยงของแฟน ๆ จะไปได้ไกลกว่าปกติหลายเท่านัก ... และไม่ว่าจะเชื่อมโยงอย่างไร คำตอบก็จะวนกลับมาในสิ่งที่ปักใจเชื่อมาแต่แรกอยู่ดี นั่นคือ "เราโดนโกง" 

เรากำลังจะไปกันต่อให้ลึกกว่านี้ หลังจากที่เคลียร์ในเรื่องของความรู้สึกของแฟนบอลอาเซียนไปแล้ว เราจะไปดูมุมมองของคนที่ทำหน้าที่เป็นกรรมการดูบ้าง ว่าแท้ที่จริงแล้ว อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขาดูเข้าข้างทีมใหญ่หรือทีมเจ้าบ้าน และรังแกทีมเล็ก ๆ อย่างชาติในอาเซียนอยู่เสมอ ? 

อย่าตกใจ ... เรื่องนี้เจอทั้งโลก 

จากข้อมูลที่พยายามค้นหาในอินเทอร์เน็ต ต้องยอมรับว่าเราไม่เจอบทความหรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องชาติอาเซียนโดนเอาเปรียบจากกรรมการเวลาเจอกับชาติอื่น ๆ เลย มันมีเพียงการตั้งข้อสงสัยเท่านั้น... 

ดังนั้นเราจึงต้องปรับโฟกัสมาดูภาพรวมที่กว้างยิ่งกว่า อาเซียน vs เอเชีย เพื่อมาใช้ตอบคำถามนี้แทน 

เราจะเริ่มที่การสมมุติบริบทให้ง่ายที่สุด ชาติอาเซียน = ทีมเล็ก และ ชาติในตะวันออกกลางหรือทีมที่เข้าถึงรอบ 12 ทีมสุดท้าย = ทีมใหญ่

และเมื่อเราถอดภาพออกมาเป็น ทีมเล็ก vs ทีมใหญ่ เราจะพบคำตอบได้ง่ายกว่า เพราะบริบทการเจอกันของทีมเล็กปะทะทีมใหญ่นั้นเกิดขึ้นได้ทั้งโลก และเจอกันทุกทวีป ซึ่งถ้าเปรียบเทียบแบบนี้จะมีข้อมูลอ้างอิงมากกว่าเยอะ 

มีบทความที่น่าสนใจจาก เกรแฮม โพลล์ อดีตผู้ตัดสินระดับพรีเมียร์ลีกและฟีฟ่า ผู้ผ่านเวทีฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมาแล้ว ที่ตั้งคำถามคล้าย ๆ กับเรื่องนี้ นั่นคือ เป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้ตัดสินมักจะเข้าข้างทีมใหญ่กว่า และทีมใหญ่หรือทีมเต็ง มักจะเป็นฝ่ายได้ผลประโยชน์จากกรรมการ ? ซึ่งคำตอบของเขาออกแนวแทงกั๊กว่า "มันก็ไม่เชิง" 

"ผู้ตัดสินมักจะเข้าข้างทีมใหญ่ใช่หรือไม่ ? ... คำตอบคือใช่ แต่พวกเขาไม่รู้ตัวว่าพวกเขากำลังทำอะไรอยู่" เกรแฮม โพลล์ ว่าไว้เช่นนั้น 

โพลล์ ได้อธิบายผ่านเว็บไซต์ Daily Mail ว่า ในเกมการแข่งขันใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อหน้าสื่อและเกมที่ได้รับความสนใจมาก ๆ กรรมการมักจะพยายามเป่าฟาวล์ให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะจังหวะจุดโทษที่ทีมเล็ก ๆ ควรจะได้ เนื่องจากพวกเขาไม่อยากตกเป็นประเด็นและเอาตัวเองไปเสี่ยงกับคำวิจารณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการตัดสินให้จุดโทษทีมเล็กของพวกเขาผิดพลาด กระแสจะยิ่งกระหน่ำ และงานของพวกเขาก็จะยิ่งยากขึ้น พวกเขาเกิดความกลัวและความกดดันขึ้นในใต้จิตสำนึก 

ดังนั้นในช่วงเวลาแค่เสี้ยววินาที จังหวะที่พวกเขาดูไม่ชัด มองไม่ทัน หรือก้ำกึ่ง สำหรับทีมเล็ก พวกเขามักจะตัดสินใจเพื่อให้ตัวเองปลอดภัยที่สุดตามสัญชาตญาณ นั่นคือปล่อยข้ามไปก่อน ... นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีเทคโนโลยี VAR เข้ามาช่วยการตัดสิน  

และเมื่อทีมใหญ่ลงเล่นเป็นทีมเหย้ายิ่งได้เปรียบขึ้นไปอีก เพราะมีแฟนบอลเข้าชมแบบเต็มสนามและส่งเสียงดังเต็มพิกัด มันกลายเป็นสิ่งเร้าและอิทธิพลทางสังคม ที่ทำให้เหล่ากรรมการ มักจะตัดสินใจจากความปลอดภัยไว้ก่อน นั่นหมายความว่าการเป็นเจ้าบ้านรวมถึงเป็นทีมใหญ่ คือความได้เปรียบในมุมมองของอดีตเปามือ 1 แห่งพรีเมียร์ลีก 

เรื่องนี้มันเหมือนกับการเจอกับใครสักคนที่เป็นคนดังและมีชื่อเสียง เราเองจะประหม่าและไม่ทำตัวไม่ถูก เรียบเรียงคำพูดได้ช้ากว่าปกติ การตัดสินใจที่จะทำอะไรออกไปก็ต้องคิดนานและมากขึ้น 

กรณีนี้คล้าย ๆ กับรายการประกวดร้องเพลงระดับโลกอย่าง The Voice ที่จะมีรอบหนึ่งที่เรียกว่ารอบ Bilnd Audition ซึ่งเป็นรอบที่คณะกรรมการจะไม่ได้เห็นหน้าคนร้อง แต่จะได้ยินแค่เสียงเท่านั้น เป้าหมายของการทำเช่นนี้ก็เพื่อให้กรรมการไขว้เขวน้อยที่สุด 

เพราะนี่คือการแข่งขันประกวดร้องเพลง จะให้หน้าตา ความมีชื่อเสียง มามีอิทธิพลเหนือเสียงร้องไม่ได้ เมื่อกรรมการไม่เห็นหน้า ไม่รู้ว่าสวยหล่อหรือไม่ ไม่รู้ว่าเป็นคนดังหรือคนธรรมดา พวกเขาจะได้ตัดสินผลจากเสียงร้องตามคอนเซ็ปต์ของรายการในท้ายที่สุด มันทำให้การตัดสินง่ายขึ้นมาก "ร้องดี = ได้ไปต่อ" เท่านั้นเอง 

แต่ฟุตบอลไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ กรรมการไม่สามารถหันหลังและตัดสินโดยไม่รู้ว่าทีมไหนเป็นทีมไหน พวกเขาเห็นตำตาว่านักเตะคนนี้เป็นใคร ดังขนาดไหน ทีม ๆ นี้คือทีมอะไร มีความนิยมและมีแฟนบอลมากขนาดไหน ถ้าตัดสินให้ทีมนี้เสียฟาวล์ ฝูงชนรอบตัวจะมีปฏิกิริยาอย่างไร ? 

ดังนั้นความไขว้เขวย่อมเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว ยิ่งโดนอิทธิพลจากสังคมอย่างแฟนบอลเต็มสนามตะโกนกดดันและกรีดร้องสุดเสียง ยิ่งทำให้โอกาสเกิดความผิดพลาดสูงขึ้นไปอีก หากกรรมการคนนั้น ๆ ไม่มีสมาธิมากพอ 

เรื่องนี้โพลล์ไม่ได้แค่คิดอยู่คนเดียว เคยมีการศึกษาจาก ดร. อลัน เนวิลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวสถิติจากมหาวิทยาลัยวูล์ฟแฮมป์ตัน ที่เคยเชิญผู้ตัดสินที่ผ่านมาตรฐานของฟีฟ่ามาทั้งหมด 20 คน เพื่อมานั่งชมเกมการแข่งขันระหว่าง ลิเวอร์พูล กับ เลสเตอร์ ซิตี้ ที่แอนฟิลด์ ด้วยคนดูเต็มความจุเมื่อฤดูกาล 1998-99 (ช่วงเวลาเดียวกับที่ เกรแฮม โพลล์ ยังทำงานอยู่) 

ยังไม่จบเท่านั้น เขาแบ่งกรรมการอีก 20 คน ให้ไม่ต้องเข้าสนาม และดูเกมผ่านโทรทัศน์อยู่คนเดียวเงียบ ๆ แบบมีสมาธิ จากนั้นเขาให้ผู้ตัดสินทั้งหมดใช้ "ดุลพินิจ" ของตัวเองตัดสินจังหวะการทำฟาวล์และจังหวะต่าง ๆ ทั้งหมด 47 เหตุการณ์ในเกมนั้น และผลก็ออกมาเหมือนกับที่ เกรแฮม โพลล์ บอกอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นคือ กรรมการที่ดูเกมท่ามกลางเสียงกองเชียร์นั้น ให้ลิเวอร์พูลเสียฟาวล์น้อยกว่า ฝั่งกรรมการที่ดูแบบเงียบ ๆ ถึง 15%   

ไม่ใช่แค่จุดโทษ ใบแดง หรือแม้แต่จังหวะฟาวล์เท่านั้น นอกจากเรื่องพวกนี้แล้ว ยังมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกหลายเรื่อง เช่น เมื่อเป็นทีมใหญ่หรือทีมเจ้าบ้าน ก็มีแนวโน้มจะได้การทดเวลาบาดเจ็บที่นานกว่าปกติ ในกรณีที่พวกเขาต้องการประตู หรือที่ภาษาคนดูบอลพูดกันว่า "ทดจนกว่าจะยิงได้" อีกด้วย 

"ผมคิดว่านี่เป็นข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถบอกได้ว่า กลุ่มแฟนบอลที่เข้ามาชมเกมในสนามนั้นมีอิทธิพลส่งตรงถึงผู้ตัดสินด้วย" ดร. เนวิลล์ กล่าว 

หากเราเปรียบเทียบว่า ชาติหัวแถวของอาหรับ = "ทีมใหญ่+เล่นในบ้าน" และ ทีมจากอาเซียน เช่น ไทยหรือเวียดนาม = ทีมเล็กที่เล่นเป็นทีมเยือน คุณจะเห็นได้ชัดขึ้นว่าสิ่งที่ชาติจากอาเซียนเจอไม่ใช่เรื่องใหม่เลย

การแข่งขันฟุตบอลทุกระดับ (ส่วนใหญ่) เป็นแบบนี้กันทั้งโลก อิทธิพลของทีมที่ใหญ่กว่า นักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ และกองเชียร์ที่ได้เปรียบ มีผลต่อการตัดสินใจของกรรมการทั้งนั้น ไม่แปลกเลยที่แฟนบอลอาเซียนจะพบกับความเซ็งแทบทุกครั้งเวลาที่ไปเล่นนอกบ้านและเจอกับทีมที่เก่งกว่า...

บางทีอาจจะผิดที่เราเอง ?

ในขณะที่ชาติอาเซียนอย่าง ไทย มองว่าโดน ซาอุดิอาระเบีย เอาชนะไปแบบไม่แฟร์ และ เวียดนาม ก็มองว่าพวกเขาไม่สมควรแพ้ หารู้ไม่ว่าชาติที่เป็นฝ่ายชนะในวันนั้นอย่าง ออสเตรเลีย ก็รู้สึกแบบเดียวกับเราเหมือนกันเวลาพวกเขาไปเจอเวทีที่ใหญ่กว่า

มันเหมือนกับปลาใหญ่กินปลาเล็ก การเป็นทีมเล็กนั้นทำใจได้ลำบากพอสมควร เพราะหากไม่ใช่คนที่มั่นใจในตัวเองมาก ๆ เมื่อต้องเจอกับทีมที่ใหญ่กว่า นักเตะคู่แข่งที่เก่งกว่า ความกลัวก็เริ่มเกิดขึ้น และเมื่อเป็นเช่นนั้นความพ่ายแพ้ก็จะตามมา

อังเก้ ปอสเตโคกลู อดีตกุนซือทีมชาติออสเตรเลีย และ โยโกฮาม่า เอฟ มารินอส ที่ปัจจุบันคุมทีม กลาสโกว์ เซลติก อยู่ในลีกสกอตแลนด์ เคยได้รับโอกาสมาเป็นวิทยากรในงานสัมมนาฟุตบอลเอเชีย ก่อนศึกเอเชียนคัพ เมื่อปี 2015 โดยใจความที่ อังเก้ บอกคือ ชาติเก่ง ๆ ในเอเชียเมื่อได้ไปเล่นในระดับโลกแล้วเจอคู่แข่งที่ชื่อชั้นดีกว่า ความกลัวจะเปลี่ยนพวกเขา และทำให้ทีมที่เคยเล่นได้อย่างมั่นใจกับเกมระดับทวีปหาทรงบอลทรงเดิมไม่เจอ 


Photo : sport360.com

"ความแตกต่างที่ใหญ่ที่สุดของฟุตบอลทีมชาติในเอเชียกับทีมจากทวีปต่าง ๆ ของโลกคือความคิด" อังเก้ กล่าวเริ่ม

"บางครั้งเราคิดว่าเราเป็นเหมือนชาติพลเมืองชั้นสอง ต้องยอมเจอกับความไม่เท่าเทียม เราจำยอม และสิ่งเหล่านี้ทำให้ชาติในเอเชียมัวแต่พะว้าพะวัง มัวหมกมุ่นอยู่กับการปิดบังจุดอ่อนของตัวเอง จนลืมเชื่อมั่นในจุดแข็งที่ตัวเองมี และไม่เชื่อในสิ่งที่ตัวเองทำได้ ในทวีปนี้ มีหลายชาติที่เล่นฟุตบอลได้ดี มีความแข็งแกร่ง แต่พวกเขากลับไม่สามารถทำในแบบที่ตัวเองควรจะทำได้" 

จากสิ่งที่ อังเก้ กล่าวถึงชาติมหาอำนาจของเอเชียในวันนั้น สามารถเอามาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ชาติในอาเซียนเจอในทุกวันนี้ได้ เราเป็นเหมือนเก่งเล็ก ที่ไปลงเล่นเจอกับทีมเก่งใหญ่ ซึ่งการเป็นทีมเล็กกว่าทำให้เราเผลอมองตัวเองว่าเราเป็นผู้ถูกกระทำไปโดยปริยาย และบางครั้งความพ่ายแพ้ที่ไม่น่าแพ้ ก็เป็นตัวกระตุ้นชั้นดีที่ทำให้เราโทษทุกอย่างยกเว้นตัวเอง

สิ่งที่อยากจะสรุปคือ ในแง่ของความรู้สึกเคียดแค้น จากการมองว่าโดนกรรมการรังแกของชาติอาเซียน เป็นสิ่งที่ปกติมาก ๆ กรรมการโกงจริงหรือไม่เราไม่สามารถเอาหลักฐานมายืนยันได้ แต่เราก็เชื่อแบบนั้นไปแล้ว 

เรื่องแบบนี้เป็นกันทั้งโลก เป็นกันทุกวงการ และตราบใดที่ไม่มีการแก้คำตัดสินย้อนหลัง ปรับแพ้อีกทีมด้วยเหตุผลที่ว่ากรรมการเข้าข้างพวกเขา คำบ่นก็ไม่มีความหมายอะไร มันอาจจะเป็นกระแสในช่วงเวลาหนึ่ง แต่สักพักเรื่องก็เงียบลง และวงจรทีมใหญ่เจอทีมเล็กก็จะดำเนินต่อไปเช่นนี้เรื่อย ๆ 

สิ่งที่ทีมเล็กๆ พอจะเปลี่ยนได้ คือการโฟกัสในสิ่งที่ตัวเป็น เตรียมตัวให้พร้อมที่สุด เอาให้ชนิดที่ว่ารู้เขารู้เรา ศึกษาจุดอ่อนจุดแข็งของทั้งตัวเองและคู่แข่งให้ทะลุปรุโปร่ง เมื่อนั้นโอกาสชนะก็จะเพิ่มขึ้น... 

แน่นอนเรื่องแบบนี้พูดง่ายทำยาก แต่มันก็เป็นทางเดียว (นอกจากพึ่งดวง) ที่จะทำให้บอลรองที่เป็นรองหลายช่วงตัวจบ 90 นาทีด้วยการเป็นผู้ชนะ และลองวันไหนที่เราชนะดูบ้างสิ ปัญหาการโดนมองว่าตัวเองโดนรังแกและโดนโกงก็จะกลายเป็นเรื่องขี้เล็บในทันที  

ที่สุดแล้วเรื่องการโทษกรรมการ และการเอาจังหวะค้านสายตามาวิพากษ์หลังเกมคงไม่ใช่เรื่องผิด ... แต่ที่แน่ ๆ การเอาเรื่อง "ฟาวล์ไม่ฟาวล์ จุดโทษไม่จุดโทษ แดงไม่แดง" มาเถียงกันสองฝั่ง ทั้งฝั่งที่ได้ประโยชน์และฝั่งที่เสียประโยชน์ ชาตินี้ (เผลอ ๆ รวมถึงชาติหน้าและชาติต่อ ๆ ไป) ยังไงก็ไม่ได้ข้อสรุปอยู่ดี เพราะต่างฝ่ายต่างมองกันคนละทิศคิดกันคนละทาง 

คนชนะก็ว่าแฟร์ คนแพ้ก็มองว่าโดนเอาเปรียบ เป็นเช่นนั้นมาเสมอ นี่คือเรื่องคลาสสิกที่อยู่คู่กับโลกฟุตบอลมาจนทุกวันนี้ และเชื่อว่าจะอยู่ยงต่อไปตราบนานเท่านาน 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook