ผู้ช่วย 4 ขา : สุนัขบริการมีบทบาทอย่างไรในการแข่งขันพาราลิมปิก ?

ผู้ช่วย 4 ขา : สุนัขบริการมีบทบาทอย่างไรในการแข่งขันพาราลิมปิก ?

ผู้ช่วย 4 ขา : สุนัขบริการมีบทบาทอย่างไรในการแข่งขันพาราลิมปิก ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คำกล่าวที่ว่า "สุนัขคือเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์" นั้นเป็นจริงหรือไม่ ? หากเราได้ทราบว่าสุนัขสามารถช่วยเหลือเราในเรื่องอะไรได้บ้าง นอกจากการอยู่เป็นเพื่อน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ตั้งแต่การส่งเสียงเตือน การนำทาง ไปจนถึงการเปิดประตู หรือแม้กระทั่งการช่วยหยิบของ สุนัขที่ถูกฝึกมาเพื่อการช่วยเหลือสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่เราได้มากกว่าที่เรารู้ 

สุนัขที่ถูกฝึกมาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้พิการโดยเฉพาะ จะถูกเรียกว่า "สุนัขบริการ" ซึ่งจะมีความเชี่ยวชาญและความสามารถที่ต่างกันออกไป เพราะจะถูกฝึกมาให้สามารถช่วยเหลือผู้ทุพพลภาพทางร่างกายได้อย่างหลากหลาย มีทั้งสุนัขนำทาง สุนัขช่วยคนหูหนวก และสุนัขบริการสำหรับผู้ที่สูญเสียอวัยวะ

และสำหรับนักกีฬาในการแข่งขันพาราลิมปิก น้องหมาก็เตรียมตัวมาพร้อมให้การช่วยเหลือ ไม่ต่างจากนักกีฬาที่เตรียมตัวมาแข่งเลย 

สุนัขมีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ทุพพลภาพอย่างไร ? การฝึกสุนัขเพื่อให้การช่วยเหลือแก่ผู้ทุพพลภาพเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังตั้งแต่เมื่อไหร่ ? ฝึกฝนกันอย่างไร ? 

Main Stand ขออาสาเล่าให้ฟัง

GOOD COMPANY 

สุนัขที่ถูกฝึกมาเพื่อให้การช่วยเหลือแก่ผู้ทุพพลภาพ มักจะถูกเรียกว่า "สุนัขบริการ" (Service Dog) ซึ่งเป็นสุนัขที่ผ่านการอบรมขั้นสูงมาแล้ว แม้จะไม่มีปรากฏหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าเริ่มมีการฝึกสุนัขบริการกันตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ก็เชื่อกันว่าการฝึกสุนัขบริการนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ 

ประวัติศาสต์ของสุนัขบริการฉบับสังเขป สามารถทำความเข้าใจได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมาย อาทิ ภาพจิตกรรมฝาผนังในเมืองโบราณเฮอร์คิวเลเนียม ประเทศอิตาลี ที่มีรูปของสุนัขกำลังนำทางเจ้านายตาบอด โดยมือหนึ่งกำลังจูงสุนัขของตน ส่วนอีกมือถือไม้เท้านำทาง ต่อมาในราวศตวรรษที่ 16 ได้มีการค้นพบภาพในลักษณะเดียวกันในม้วนกระดาษจากประเทศจีน จึงสันนิษฐานได้ว่า สุนัขถูกฝึกให้ทำการช่วยเหลือผู้ทุพพลภาพมาตั้งแต่ครั้งอดีตแล้ว 

นอกจากสมมติฐานข้างต้น ยังมีประวัติศาสตร์ปากเปล่าที่ถูกเล่ากันมาเรื่อย ๆ ในช่วงสมัยปี 1750s ว่ามีการฝึกสุนัขบริการอีกครั้งในโรงพยาบาลของประเทศฝรั่งเศส เพื่อให้ความช่วยเหลือกับผู้พิการทางสายตาโดยเฉพาะ หลังจากนั้นในปี 1891 ได้มีการเผยแพร่คู่มือในการฝึกสุนัขบริการออกมาเป็นครั้งแรก โดยชาวออสเตรียชื่อ โยฮัน วิลเฮล์ม ไคลน์ ผู้ก่อตั้งสถาบันอบรบสำหรับคนตาบอด ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกแนวทางการศึกษาสำหรับผู้พิการทางสายตา โยฮันได้ลงความเห็นไว้ว่า สุนัขที่เหมาะกับการเป็นสุนัขบริการมากที่สุด ได้แก่สุนัขในตระกูลเชพเพิร์ดและพูดเดิ้ล 


photo : familysearch

สุนัขบริการ เริ่มมีบทบาทอย่างจริงจังมากขึ้นหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง เมื่อนายแพทย์ชาวเยอรมันที่ชื่อ "เกอร์ฮาร์ด สตอลลิ่ง" ได้เริ่มฝึกสุนัขบริการ เพื่อนำไปช่วยเหลือนายทหารผ่านศึกที่สูญเสียการมองเห็นไปจากการรบโดยแก๊สมัสตาร์ด แก๊สพิษที่มีสารประกอบทางเคมีเป็นกำมะถัน สุนัขที่ถูกฝึกมาจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่นายทหารเหล่านี้ในการช่วยเดินนำทาง เพราะเหตุนี้ ประเทศเยอรมนีจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ฝึกสุนัขบริหารอย่างจริงจังเป็นชาติแรกของโลก

ความตั้งใจของเกอร์ฮาร์ดได้ถูกต่อยอดกลายมาเป็นโรงเรียนฝึกอบรมสุนัขบริการโดยเฉพาะในปี 1916 ที่เมืองโอลเดนเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ในโรงเรียนของเกอร์ฮาร์ดมีการฝึกสุนัขกว่า 4,000 กว่าตัว ทั้งสำหรับนายทหารผ่านศึกและผู้พิการที่เป็นพลเรือนทั่วไป

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ในทศวรรษ 1990s จึงได้มีการฝึกสุนัขบริการอย่างเป็นทางการ จากคำนิยามของกฎหมายสิทธิพลเมืองที่ห้ามเลือกปฏิบัติแก่ผู้ทุพพลภาพของสหรัฐอเมริกา (Americans with Disabilities Act) ในปี 1990 ได้มีการระบุคำนิยามของสุนัขบริการเอาไว้ว่า เป็นสุนัขที่ถูกฝึกมาเพื่อช่วยงานและช่วยเหลือผู้ทุพพลภาพ โดยการฝึกสุนัขบริการ ไม่จำเป็นต้องฝึกโดยผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ แต่เจ้าของสุนัขก็สามารถฝึกได้เองเช่นกัน

สุนัขบริการได้อยู่ช่วยเหลือมนุษย์และผู้ทุพพลภาพมาตั้งแต่อดีต แต่รู้หรือไม่ว่า สุนัขบริการยังมีบทบาทสำคัญในวงการกีฬา โดยในการแข่งขัน พาราลิมปิกเกมส์ ครั้งนี้ สุนัขบริการ ก็เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่จะช่วยให้นักกีฬาใช้ชีวิตได้ง่ายยิ่งขึ้น

DOGGO ON DUTY

ปัจจุบัน สุนัขบริการสามารถจำแนกออกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ สุนัขนำทาง (Guide Dog), สุนัขช่วยเหลือผู้พิการทางการได้ยิน (Hearing Dog) และสุนัขผู้ช่วยเหลือผู้พิการทางร่างกาย (Service Dog) สุนัขบริการจะถูกฝึกมาให้เจอกับภาพ กลิ่น เสียง ที่สับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพื่อให้เกิดความคุ้นชินกับสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ผู้ฝึกจึงจะสามารถฝึกให้สุนัขมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้


photo : assistancedogsinternational.org

ในวงการกีฬาอย่างการแข่งขันพาราลิมปิก สุนัขที่นิยมนำมาใช้ช่วยเหลือนักกีฬาคือสุนัขประเภทนำทาง โดยทั่วไปสุนัขนำทางจะเริ่มฝึกจากการกระชับความสัมพันธ์กับผู้ฝึกก่อน เมื่อคุ้นชินแล้ว จะเริ่มฝึกการรับคำสั่งง่าย ๆ เช่น ลุก นั่ง เดิน รอ การฝึกจะไม่ใช้สายจูง เพราะเป้าหมายของการใช้สุนัขนำทางคือจะต้องให้เขาเดินนำหน้าเรา ตรงข้ามกันกับเวลาที่เราพาน้องหมาออกไปเดินเล่น แล้วต้องคอยรั้งสายจูงไว้ 

สุนัขบริการส่วนมากมักจะมีนิสัยร่าเริงและเป็นมิตรกับทุกคน เพราะเหตุนี้ พวกเขาจึงสามารถเข้ากับใครก็ได้ และจะคอยช่วยเหลืออย่างไม่อิดออด ดูตัวอย่างได้จากเรื่องราวของ อนาสตาเซีย พาโกนิส นักว่ายน้ำทีมชาติสหรัฐอเมริกา

อนาสตาเซีย ไม่ใช่ผู้พิการทางสายตามาตั้งแต่กำเนิด เธอป่วยเป็นโรคหายากที่ชื่อ Autoimmune Retinopathy โรคที่เกิดจากการแพ้ภูมิของตนเอง จนไปมีผลกระทบกับประสาทตา ทำให้เธอสูญเสียการมองเห็นไปตั้งแต่อายุ 11 ปี เธอได้รับความช่วยเหลือจากคู่หูของเธอ อย่าง เรดาร์ สุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์คู่ใจที่อยู่เคียงข้างเธอตลอดเวลา แม้กระทั่งตอนที่เธอฝึกซ้อมอยู่ในสระว่ายน้ำ เรดาร์ก็จะนอนรอเธออยู่ข้าง ๆ สระ 


photo : cesarsway.com

เรดาร์ เป็นสุนัขนำทางที่ถูกฝึกมาจากมูลนิธิสุนัขนำทาง

"พวกเรามีบุคลิกเหมือนกัน คือร่าเริงและชอบเข้าสังคม เรดาร์จึงอยากเป็นเพื่อนกับทุก ๆ คนเลย" 

อนาสตาเซีย เล่ากับสำนักข่าว Today แห่งสหรัฐอเมริกาว่า ระหว่างที่เธอเก็บตัวฝึกอยู่ที่สถานที่ฝึกนักกีฬา ในรัฐโคโลราโด เรดาร์ช่วยเหลือเธอในการเดินทางในสถานที่พักอยู่หลายครั้ง 

"ทุกครั้งที่เข้าไปอยู่ในหอพัก ฉันจะบอกไปว่า 'เรดาร์ เดินตรงไปหาลิฟต์ให้หน่อย' หลังจากนั้นเขาก็จะเดินไปเรื่อย ๆ ตามโถงทางเดิน เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวานิดหน่อยก็เจอลิฟต์แล้ว ถ้าฉันไม่มีเรดาร์ ฉันน่าจะต้องเกาะกำแพงไปเรื่อย ๆ เดินชนสิ่งกีดขวางมากมาย มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำที่ฉันจะหาลิฟต์เอง โดยไม่พึ่งพาการช่วยเหลือจากใคร"

"ฉันไม่มีตา เรดาร์เปรียบเสมือนดวงตาของฉัน" 

อนาสตาเซีย เข้าร่วมการแข่งขันว่ายน้ำในพาราลิมปิก โตเกียว 2020 และสามารถคว้าเหรียญทองกลับบ้านไปได้ จากการแข่งขันว่ายน้ำฟรีสไตล์ประเภท 400 เมตร พร้อมกับสร้างสถิติโลกใหม่ด้วยเวลา 4:54.49 นาที 


photo : cesarsway.com

นอกจากอนาสตาเซียแล้ว ยังมีนักกีฬากรีฑาทีมชาติสหรัฐอเมริกา คิม ครอสบี้ กับสุนัขคู่ใจของเธออย่าง ทรอน ที่ช่วยเหลือเธอในการฝึกเช่นเดียวกัน ทรอนเป็นคู่หูของคิมในการซ้อมวิ่งอยู่บ่อยครั้ง คิมจะจูงทรอนไปด้วยทุกครั้งเวลาที่เธอเริ่มวอร์มและระหว่างที่เธอซ้อม ทรอนก็จะไม่ไปไหนไกลเกินกว่าข้างสนาม และจะอยู่เฝ้าคิมจนกว่าจะซ้อมเสร็จ

"ความผูกพันที่คุณมีกับสุนัข มันไม่เหมือนกันกับความผูกพันกับสัตว์ชนิดอื่น หรือแม้แต่กับมนุษย์ด้วยกัน ไม่ว่าคุณจะมีความสุขมาก ๆ หรือกำลังเผชิญอยู่กับเรื่องยากลำบาก เวลาที่สุนัขเลียหน้าคุณ คุณก็จะรู้ได้ทันทีว่าเขาจะคอยอยู่เคียงข้างคุณเสมอ" 

คิม ครอสบี้ เป็นนักกีฬาที่มีปัญหาด้านการมองเห็น ตาของเธอไม่ถึงกับบอดสนิท แต่ก็มองเห็นแบบเลือนราง สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะผลกระทบจากโรคผิวเผือกของเธอ ที่ทำให้ตาปรับตัวกับแสงไม่ค่อยได้ นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเวลาที่เธอแข่งขัน เธอถึงจำเป็นต้องใส่แว่นกันแดด และในชีวิตประจำวันทั่วไปก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือของทรอน ทรอนจะเป็นคนที่พาเธอเดินในสถานที่ที่ค่อนข้างพลุกพล่านเต็มไปด้วยผู้คน เช่นสนามบินหรือโรงแรม 

เป็นที่น่าเสียดายว่า ทรอนไม่ได้เดินทางไปญี่ปุ่นกับคิมในการแข่งขันพาราลิมปิก โตเกียว 2020 แต่เธอก็ไม่ปล่อยให้เรื่องนั้นฉุดรั้งเธอแต่อย่างใด เพราะเธอยังคงคว้าเหรียญทองแดงจากการแข่งขันวิ่ง 100 เมตรกลับบ้านมาได้ และระหว่างที่เธออยู่ในญี่ปุ่นก็มักจะโทรศัพท์ไปหาทรอนเสมอ ว่ากันว่าทุกครั้งที่เธอโทรมา ทรอนจะขยับตัวไปใกล้ ๆ โทรศัพท์และจะหลับ เสมือนว่ามันได้อยู่ใกล้คิม


photo : thebridge.in

ในการแข่งขันพาราลิมปิก โตเกียว 2020 ก็มีการช่วยเหลือจากสุนัขบริการเช่นกัน อย่างช่วงตอนที่วิ่งคบเพลิง โดย ชิเงโอะ มิซึกุจิ นักวิ่งท้องถิ่นที่เป็นผู้พิการทางสายตา ก็มีสุนัขวิ่งประกบอยู่ข้าง ๆ เขา คอยทำหน้าที่ช่วยประคับประคองไประหว่างที่ ชิเงโอะ ถือคบเพลิง 

นอกจากเรื่องของการอำนวยการสะดวกให้กับนักกีฬาแล้ว สุนัขบริการยังมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ค้ำชูแรงใจของนักกีฬาพาราลิมปิก เห็นได้จากตัวอย่างของอนาสตาเซียและคิม เรียกได้ว่าเป็นการช่วยเหลือทั้งทางกายและทางใจ 

แต่สายใยระหว่างมนุษย์กับสุนัขอาจยิ่งใหญ่ลึกซึ้งมากกว่านั้น หากเรากำลังพูดถึงสุนัขที่อยู่กับเจ้าของยันช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต

A MATCH MADE IN HEAVEN  

"การมีเรดาร์อยู่ด้วยทำให้ฉันมีอิสระมากขึ้น ฉันรักเขามาก ๆ เขาดีที่สุด เราเป็นคู่ชะตาฟ้าลิขิต" 

อนาสตาเซีย พูดถึงเรดาร์ 


photo : internetgazet.be

คำกล่าวนี้ก็คงไม่เวอร์จนเกินไป หากเราย้อนไปดูอีกหนึ่งคู่หูที่เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตำนานของวงการพาราลิมปิกอย่าง มารีเกอร์ เฟอร์ฟอร์ท นักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งหญิงชาวเบลเยี่ยม อดีตแชมป์เหรียญทองและเหรียญเงินจากการแข่งขันพาราลิมปิก ลอนดอน 2012 เหรียญเงินและเหรียญทองแดงจากพาราลิมปิก ริโอ 2016 ที่เสียชีวิตลงเมื่อปี 2019

มารีเกอร์ เฟอร์ฟอร์ท เป็นนักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่ง ที่หลายคนมักจะเห็นภาพเธออยู่คู่กับสุนัขคู่ใจพันธุ์ลาบราดอร์ที่มีชื่อว่า เซ็นน์ เสมอ 

หน้าที่ของเซ็นน์จะต่างจากเรดาร์และทรอนที่กล่าวมาก่อนหน้า เซ็นน์เป็นสุนัขบริการประเภทช่วยเหลือผู้ทุพพลภาพ เพราะมารีเกอร์ไม่สามารถเดินได้ หน้าที่ของเซ็นน์โดยทั่วไป มีตั้งแต่การช่วยคาบเสื้อผ้าและสิ่งของมาให้ การช่วยคาบถุงจากร้านสะดวกซื้อตลอดจนทำหน้าที่เตือนมารีเกอร์ก่อนที่จะมีอาการชัก 

"ทุกอย่างที่ฉันทำตก เซ็นน์จะเป็นคนไปเก็บให้เสมอ ตอนที่ฉันหมดสติ เธอจะเห่าเสียงดังเพื่อเรียกนางพยาบาลให้เข้ามาดูฉัน เธอจะคอยอยู่ข้าง ๆ ฉัน และเลียหน้าเรียกสติฉันอยู่ตลอด" 

"เธอจะคอยงับถุงเท้าออกจากเท้าของฉัน คอยคาบแจ็คเก็ตมาให้ คอยเปิดปิดประตูให้ เธออยู่กับฉันตลอดเวลา ฉันนึกไม่ออกเลยถ้าต้องให้เธอไปอยู่ที่อื่น" 


photo : telegraph

มารีเกอร์ เฟอร์ฟอร์ท เป็นอดีตนักกีฬาพาราลิมปิก ที่มีอาการป่วยรุมเร้ามากมาย เธอป่วยเป็นโรคลมชัก ในขณะที่เป็นผู้พิการนั่งวีลแชร์ อีกทั้งยังป่วยเป็นโรคกระดูกสันหลังเสื่อมสภาพที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยความทรมานทางร่างกาย ทำให้เธอตัดสินใจทำการุณยฆาตตนเองในวันที่ 22 ตุลาคมปี 2019

จากคำบอกกล่าวของ ลินด์ซีย์ แอดดาริโอ ช่างภาพสงครามที่เป็นเพื่อนของเธอ ในวันสุดท้ายของมารีเกอร์ เซ็นน์ก็อยู่กับเธอตลอดเวลา ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือนักกีฬาพาราลิมปิกคนนี้ยันวินาทีสุดท้าย

สุนัขบริการ ไม่ได้มีหน้าที่แค่การบริการอำนวยความสะดวกต่อการเดิน การหาลิฟต์ หรือคาบของมาให้เท่านั้น สิ่งที่พิเศษยิ่งกว่าคือความสัมพันธ์ระหว่างตัวบุคคลและสัตว์ ที่เป็นสายใยพิเศษเหมือนที่คิม ครอสบี้ได้บอกไว้ 

สุนัขสามารถเป็นได้ทั้งผู้ช่วยและเพื่อนในเวลาเดียวกัน คำกล่าวที่ว่า "สุนัขเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์" ก็อาจจะเป็นจริงสำหรับใครหลาย ๆ คนก็เป็นได้ 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook