Racewalking : กีฬา "เดิน" ที่เร็วกว่าคนทั่วไปวิ่ง...เฮ้ย! มันเป็นไปได้อย่างไร ?

Racewalking : กีฬา "เดิน" ที่เร็วกว่าคนทั่วไปวิ่ง...เฮ้ย! มันเป็นไปได้อย่างไร ?

Racewalking : กีฬา "เดิน" ที่เร็วกว่าคนทั่วไปวิ่ง...เฮ้ย! มันเป็นไปได้อย่างไร ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถ้าคุณมองแค่ชื่อ Racewalking หรือกีฬาเดินเร็ว อาจดูเป็นกีฬาที่คนธรรมดาอย่างเรา สามารถเข้าร่วมแข่งขันได้ เพราะใคร ๆ ก็สามารถเดินได้ไม่ใช่หรือ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว กีฬาดังกล่าวนั้นเป็นอย่างไร แตกต่างจากการเดินปกติหรือไม่ และทำไมแค่การเดิน ถึงนับว่าเป็นกีฬาระดับโอลิมปิกกันได้ 

มาตามหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand ได้ในบทความนี้

กีฬาแห่งการพนันของชนชั้นสูง

จุดเริ่มต้นของกีฬา Racewalking ที่แท้จริงนั้นต้องย้อนไปถึงประมาณ 4 ล้านปีก่อนคริสตกาล ที่ Australopithecus afarensis ได้เริ่มต้นวิวัฒนาการสู่การก้าวเดินแบบสองขาเป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของกีฬาชนิดนี้ (และการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ในปัจจุบัน)


Photo : olympics.com

แต่ถ้านับช่วงที่มีการแข่งขันกันแบบจริง ๆ ก็ต้องย้อนไปช่วง 2500 ปีก่อนคริสตกาล ที่นักโบราณคดีได้ค้นพบบันทึกจากยุคอียิปต์โบราณ ที่กล่าวถึงการเดินแข่งขันของผู้คนในสมัยก่อน ที่ไม่ได้มีกฎระเบียบมากมาย แค่เดินสลับวิ่งไปเรื่อย ๆ ตามระยะทางที่กำหนด

นอกจากการพบในอียิปต์แล้ว ยังมีการพบหลักฐานถึงการแข่งวิ่งในสมัยกรีกโบราณด้วยเช่นกัน ทว่าการแข่งขันดังกล่าว ก็ไม่ได้ถูกบรรจุเข้าไว้ในกีฬาของโอลิมปิกบุคโบราณแต่อย่างไร

 

เมื่อเวลาผ่านเลยไป โรเบิร์ต คาเรย์ ชนชั้นสูงชาวอังกฤษ ได้ท้าพนันว่าเขาสามารถเดินอย่างต่อเนื่องได้ไกลกว่า 300 ไมล์ (482 กิโลเมตร) ก่อนที่จะชนะการพนันดังกล่าวในปี 1589 หลังออกเดินจากลอนดอนไปเบอร์วิคได้สำเร็จ

แม้แต่กษัตริย์ผู้สูงส่ง ก็เคยเข้าร่วมแข่งขันเดินมาแล้ว โดยกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สอง (King Charles II) ผู้ทรงโปรดปรานการเดินตั้งแต่วัยเยาว์ เคยเดินจากไวท์ฮอลล์ไปสู่แฮมพ์ตัน คอร์ท อันเป็นระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร ตั้งแต่ยุค 1600s มาแล้ว ซึ่งจากการเดินในระยะทางไกลแบบนั้น ก็ทำให้พระองค์ประชวรด้วยโรคเกาต์อย่างรุนแรงในช่วงบั้นปลายชีวิต

ถัดมาในยุควิคตอเรียน หรือระหว่างปี 1837-1901 บรรดาชนชั้นสูงในสมัยนั้น จะเดิมพันว่าใครสามารถเดินได้เร็วกว่ากัน โดยจะส่งคนรับใช้ของตน เข้าเป็นตัวแทนในการแข่งขันดังกล่าว


Photo : teara.govt.nz

นั่นเพราะเหล่าคนรับใช้ จะต้องเดินควบคู่ไปกับรถม้าของเจ้านายด้วยระยะทางไกล ซึ่งบางครั้งก็จำเป็นที่จะต้องเดินให้เร็วกว่ารถม้า เพื่อล่วงหน้าไปยังจุดหมายปลายทาง และจัดแจงสิ่งต่าง ๆ ให้พร้อมรับการเดินทางมาถึงของเจ้านายพวกเขา

 

กีฬาดังกล่าวจึงเป็นที่เริ่มรู้จักกันในชื่อ Pedestrianism ซึ่งหมายถึงผู้เดินทาง โดยเริ่มจากการแข่งในระยะทาง 5 กิโลเมตร ในทุก ๆ สุดสัปดาห์ จนในช่วงปลายของศตวรรษที่ 18 มันได้กลายเป็นกีฬาของเหล่าวัยรุ่นสร้างตัว ที่ต้องการทั้งชื่อเสียงและเงินทองจากความสำเร็จในการแข่งขันดังกล่าว

สู่เวทีโอลิมปิก

Pedestrianism เริ่มถูกส่งออกไปทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา มันได้กลายเป็นสวรรค์แห่งนักพนัน ที่เข้ามาแทงว่าใครจะเป็นผู้ชนะ ในการแข่งขันเดินเกือบ 1,000 กิโลเมตร แบบ 6 วันติดต่อกัน โดยมีวงดนตรีเข้ามาเล่นเพื่อเอนเตอร์เทนคนดู พร้อมกับมีร้านขายอาหารต่าง ๆ อยู่ภายในสนามแข่งขันแบบในร่ม

นั่นจึงทำให้เมื่อโอลิมปิกสมัยใหม่ ได้ฤกษ์มาจัดแข่งขันกันที่เมืองเซนต์หลุยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1904 การแข่งขัน Pedestrianism จึงได้ถูกบรรจุรวมเป็นส่วนหนึ่งของรายการกรีฑาแบบ All-Around ที่ยำรวมทั้งการแข่งประเภทลู่และลานเข้าด้วยกัน หรือก็คือการแข่งทศกรีฑาในยุคปัจจุบันนั่นเอง


Photo : IOC | wikipedia.org

 

การแข่งเดินเร็วในครั้งแรกนั้น ถูกกำหนดไว้ที่ระยะทาง 800 หลา หรือประมาณ 730 เมตรเท่านั้น โดยมี ทอม เคียลีย์ และ จห์น ฮอลโลเวย์ เป็นสองผู้ชนะในการแข่งขันครั้งแรก ด้วยเวลา 3:59 นาทีเท่ากัน

และนับตั้งแต่โอลิมปิกปี 1908 เป็นต้นมา การเดินเร็ว หรือ Racewalking ก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในการแข่งขันโอลิมปิกมาโดยตลอด โดยเริ่มจากระยะทาง 3.5 กิโลเมตร และค่อย ๆ เพิ่มเป็น 10 และ 50 กิโลเมตร ตามลำดับ ก่อนที่จะมาสิ้นสุดที่สองระยะในปัจจุบัน คือ 20 และ 50 กิโลเมตร โดยจนถึงในปัจจุบัน ประเภท 50 กิโลเมตรในโอลิมปิก เกมส์ ยังเปิดให้แข่งขันสำหรับผู้ชายเพียงอย่างเดียวอยู่

ด้วยเวลาสถิติโลกในปัจจุบัน ที่ระยะ 20 กิโลเมตรชาย เป็นของ ซูซูกิ ยูซาเกะ (Suzuki Yusuke) ที่ทำไว้ได้ 1 ชั่วโมง 16 นาที 36 วินาที หรือมีความเร็วเฉลี่ยถึง 15.66 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งความเร็วนี้มากกว่าความเร็วที่หลายคนใช้ในการวิ่งเสียอีก จนกลายมาเป็นข้อสงสัยในลำดับถัดไปว่า แล้วเดินเร็วแค่ไหนถึงยังเป็นการเดิน ไม่ใช่การวิ่งล่ะ ?

กฎแห่งการเดิน

คุณอาจเคยได้เห็นท่าทางการเดินของนักวิ่งเหล่านี้กันมาแล้ว ที่ดูแปลกตา ๆ ราวกับเป็นลูกผสมระหว่างการเดินและวิ่ง ซึ่งก็เป็นเพราะกฎในการแข่งขันนี่แหละ ที่กำหนดท่าทางการวิ่งของนักกีฬา Racewalking ไว้

 

กฎเหล็กที่สำคัญข้อแรกนั้นคือ จะต้องมีขาอย่างน้อย 1 ข้าง ที่สัมผัสกับพื้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะมีกรรมการคอยตัดสินด้วยตาเปล่าอยู่ตลอดทั้งการแข่งขัน


Photo : www.cbc.ca

อย่างไรก็ตาม บรรดานักเดินเร็วก็ทราบถึงช่องโหว่ของการตัดสินแบบนี้เป็นอย่างดี "ตาของคุณจะมองเห็นอะไรที่ช้ากว่า 0.6 วินาที [ผู้เขียน: จริง ๆ แล้วคือ 0.4 วินาที] ดังนั้นหากคุณยกขาขึ้นมาได้เร็วและสั้นพอ มันก็ยังพอเอาตัวรอดไปได้ เพราะเราต้องพยายามหาข้อจำกัดของกฎเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา" คือคำพูดของ อินากี้ โกเมซ (Inaki Gomez) นักเดินเร็วชาวแคนาดา ที่ถูกทางเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของโอลิมปิก นำคำพูดของเธอมาขึ้นในหน้าเว็บเลยด้วย

ทีนี้ ถ้าอิงตามหลักฟิสิกส์แล้ว ร่างกายของเรานั้นไม่สามารถสัมผัสกับอะไรได้เลยจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมือคุณที่กำลังจับมือถือเพื่ออ่านบทความนี้ หรือเวลาที่ล้มตัวลงบนที่นอน เพราะแม้เราจะรู้สึกว่าเราสัมผัสกับสิ่งนั้น ๆ แต่เมื่อมองลงไปในระดับอะตอมแล้ว มันยังมีช่องว่างระหว่างแต่ละวัตถุ ที่ทำให้เราไม่มีวันได้สัมผัสกับอะไรได้เลยตลอดทั้งชีวิต และมีเพียงแค่ความรู้สึกว่าเรากำลังสัมผัสมันอยู่เท่านั้น

 

นั่นจึงทำให้กฎการแข่งขัน ถึงต้องมีการระบุไว้ว่า "ตามที่ตามองเห็น" เพื่ออนุโลมในกรณีที่นักกีฬาสามารถหลบหลีกความไวของสายตากรรมการได้ และป้องกันไม่ให้ทุกคนโดนตัดสิทธิ์จากหลักฟิสิกส์ควอนตัมไปนั่นเอง

อีกหนึ่งข้อที่เป็นกฎเพื่อป้องกันการวิ่ง คือหัวเข่าของขาข้างที่ก้าวไปข้างหน้า จะต้องยืดตรงจนกว่าร่างกายจะผ่านพ้นไป ซึ่งก็จะมีกรรมการมาตัดสินด้วยตาเปล่าในกฎข้อนี้ด้วยเช่นกัน

หากมีใครที่ทำผิดกฎขึ้นมา กรรมการจะชูป้ายสีเหลือง ที่มีสัญลักษณ์ "~" ที่หมายถึงขาลอยขึ้นมาจากพื้น และ "<" ที่แปลว่าหัวเข่างอระหว่างเดิน ซึ่งหากโดนป้ายเหลืองเกิน 3 ครั้งขึ้นไป ก็จะถูกตัดสิทธิ์ออกจากการแข่งขันโดยทันที


Photo : ktvz.com

ซึ่งด้วยกฎที่ห้ามงอเข่านี้ ทำให้ขาจะต้องอยู่ติดกับพื้นแทบจะตลอดเวลา จึงเป็นที่มาของท่าการเดินแบบพิเศษ โดยนัก Racewalking จะพยายามหันกระดูกเชิงกรานให้เคลื่อนไปข้างหน้า เพื่อยืดระยะของการก้าวเดินให้ได้มากที่สุด พร้อมกับกดสะโพกให้ลงต่ำจากปกติ เพื่อลดจุดศูนย์ถ่วงของร่างกาย และทำให้การเคลื่อนที่ของพวกเขานั้น ดูราบรื่นที่สุดเท่าที่จะทำได้ตามกฎนั่นเอง

แม้ใคร ๆ ก็สามารถเดินได้ แต่เมื่อมาสู่เวทีการแข่งขันระดับโลกแบบนี้ ก็ย่อมมีการตั้งกฎจากสหพันธ์กีฬา เพื่อให้การแข่งขันนั้นยุติธรรมมากที่สุด ส่วนด้านของนักกีฬา ก็ต้องพยายามไปให้ถึงขีดสุดของกฎนั้น ๆ เพื่อทำผลงานให้ได้ดีที่สุดนั่นเอง


Photo : www.sportingnews.com

จริงอยู่ที่กีฬาเดินเร็ว อาจยังไม่ได้รับความนิยมมากมายนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เสน่ห์ของมันยังคงอยู่มาอย่างต่อเนื่องคือ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าใครจะเป็นผู้ชนะ เพราะทุกคนมีโอกาสโดนตัดสิทธิ์ หรือเดินไปไม่ถึงเส้นชัยกันได้หมด หากไม่นับ โรเบิร์ต คอร์เซนิวสกี้ ยอดนักเดินระยะ 50 กิโลเมตร ที่คว้าเหรียญทองได้ 3 ครั้งติดต่อกันแล้ว ก็ไม่เคยมีใครกลับมาป้องกันแชมป์เดินเร็วในโอลิมปิกได้อีกเลย

และนี่คือเรื่องราวของ Racewalking กีฬาเดินเร็วที่ไม่ถึงขั้นวิ่ง แต่ก็ยังทำความเร็วได้มากกว่าคนทั่วไปวิ่งเสียอีก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook