เด็กเก่งเต็มทีม : "กฎโฮมโกรว์น" สำคัญกับทีมชาติอังกฤษแค่ไหน ?

เด็กเก่งเต็มทีม : "กฎโฮมโกรว์น" สำคัญกับทีมชาติอังกฤษแค่ไหน ?

เด็กเก่งเต็มทีม : "กฎโฮมโกรว์น" สำคัญกับทีมชาติอังกฤษแค่ไหน ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อังกฤษแพ้ในนัดชิงชนะเลิศยูโร 2020 และนั่นอาจทำให้แฟนบอลหลายชาติดูจะชอบอกชอบใจ ... อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ของทัพทรีไลออนส์ชุดนี้ นั่นคือ "ทรัพยากร" ที่พวกเขามี

นี่คือทีมแห่งอนาคตที่เต็มไปด้วยนักเตะอายุน้อย ทีมชุดนี้ของอังกฤษยังสะสมกระดูกและใช้งานได้อย่างน้อยอีกเกือบ 10 ปี 

นักเตะชุดดังกล่าวเป็นผลผลิตของแต่ละสโมสร ที่กล้าผลักดันเด็กในอคาเดมีตัวเองมากขึ้น นับตั้งแต่มีการตั้งกฎ "โฮมโกรว์น" ขึ้นมา

กฎดังกล่าวมันส่งผลจริงหรือไม่ อังกฤษได้อะไรจากการบังคับใช้กฎนี้ ติดตามเรื่องราวกฎโฮมโกรว์น และวิวัฒนาการของทีมชาติอังกฤษได้ที่ Main Stand

ทีมชาติอังกฤษไม่ไหวแล้ว

นับตั้งแต่แชมป์ฟุตบอลโลกปี 1966 ทีมชาติอังกฤษไม่เคยประสบความสำเร็จในทัวร์นาเมนต์ระดับเมเจอร์อีกเลย นั่นคือเรื่องที่ทุกคนต่างพุ่งเป้าไปที่สมาคมฟุตบอลอังกฤษ ที่พยายามทำการตลาดจนลีกได้รับความสนใจและมีมูลค่ามากที่สุดในโลก จนทำให้พวกเขาลืมรากเหง้าของฟุตบอลไป 

การเปลี่ยนแปลงของฟุตบอลอังกฤษเกิดขึ้นหลังช่วงปี 1996 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการรีแบรนด์ลีกสูงสุดจาก ดิวิชั่น 1 เป็นพรีเมียร์ลีกได้ไม่นาน การรีแบรนด์นี้ทำให้สมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ เอฟเอ ได้เงินสนับสนุนรวมถึงค่าลิขสิทธิ์ต่าง ๆ มากมาย และรายได้ก็ถูกส่งต่อไปยังเหล่าสโมสรในลีกสูงสุด จนทำให้เกิดภาวะ "ความต่างของชนชั้น" นั่นคือคือรายได้ของทีมในพรีเมียร์ลีกต่อ 1 ปี จากทั้งค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด เงินบำรุงทีมจากการสนับสนุนของเอฟเอ สูงลิบลิ่ว คนละเรื่องกับทีมในลีกรอง

เมื่อเกิดภาวะเช่นนี้ จึงไม่มีทีมไหนต้องการที่จะตกชั้น เพราะจะทำให้สูญเสียรายได้ก้อนใหญ่ ดังนั้นแต่ละสโมสรจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงขนบจากที่เคยเป็นมาตลอด นั่นคือการอัพค่าตัว เพิ่มค่าเหนื่อย เพื่อดึงดูดนักเตะต่างชาติเข้ามาร่วมทีม เหตุผลหลัก ๆ คือต้องการยกระดับทีมในทันที โดยไม่ต้องการรอการเติบโตจากนักเตะท้องถิ่นที่ต้องใช้เวลา รวมถึงได้คุณภาพมากกว่านักเตะในสหราชอาณาจักรเหมือนที่นิยมมาตลอดช่วงต้น ๆ ยุค 90s

การเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งคุณภาพตามที่คาด ทุกอย่างผลิดอกออกผลหลังจากที่ทีมอังกฤษเริ่มทุ่มเงินเยอะกว่าทีมในชาติอื่น ๆ เพื่อซื้อนักเตะเข้ามาเสริมทัพใน 10 ปี ให้หลัง  

มันทำให้เราได้เห็น อาร์เซน่อล ชุด เฟรนช์ คอนเน็กชั่น ที่กลายเป็นทีมไร้พ่าย, ลิเวอร์พูล ที่เต็มไปด้วยนักเตะสเปน, เชลซี ที่เคยส่ง 11 ตัวจริงลงสนามโดยไม่มีนักเตะอังกฤษเลยแม้แต่รายเดียว หรือแม้กระทั่งการสร้างยุคสมัยใหม่ของ แมนเชสเตอร์  ซิตี้ ที่ไล่เก็บสตาร์ดัง ๆ จากสโมสรเล็ก ๆ ในลีกของประเทศอื่นเข้ามาเสริมทัพในยุคที่ ทักษิณ ชินวัตร เป็นเจ้าของทีม 

ในช่วงตั้งแต่ปี 2006 ทีมบิ๊กโฟร์จากอังกฤษ สามารถเข้ารอบลึก ๆ ในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ได้ตลอด แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เข้าไปชิง 3 ครั้ง (ได้ 1 ครั้ง), ลิเวอร์พูล เข้าไปชิง 3 ครั้ง (ได้ 1 ครั้ง), เชลซี 3 ครั้ง (ได้ 2 ครั้ง), ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ 1 ครั้ง, แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 1 ครั้ง, และ อาร์เซน่อล อีก 1 ครั้ง เห็นได้ชัดว่าพรีเมียร์ลีกมีคุณภาพมากขึ้น แต่ปัญหาคือผลกระทบไปตกที่ทีมชาติอังฤษเข้าเต็ม ๆ 

ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้และทีมชาติอังกฤษจะไร้ความสำเร็จในระดับนานาชาติไปอีกนาน สมาคมฟุตบอลอังกฤษจึงต้องหาจุดตรงกลางให้เจอ ระหว่างความสำเร็จ เงินทอง และความยั่งยืนต่อทีมชาติ พวกเขาจึงได้รวมหัวระดมสมองสร้างกฎขึ้นมาเพื่อบังคับใช้กับทุก ๆ ทีมในประเทศ นั่นคือ "กฎโฮมโกรว์น" และประกาศใช้ครั้งแรกในปี 2010

กฎที่ว่ากันให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ทุกสโมสรจะต้องให้ความสำคัญและใช้งานนักเตะที่เติบโตมากับระบบเยาวชนของทีม นักเตะชาวอังกฤษจะได้รับความสนใจและได้โอกาสมากขึ้น ... นักเตะโฮมโกรว์น = นักเตะดาวรุ่งที่สโมสรสร้างมาเอง 

แต่ละสโมสรจะส่งชื่อนักเตะชุดใหญ่ได้ไม่เกิน 25 คน และ 8 ใน 25 คน จะต้องเป็นนักเตะที่เติบโตมาจากระบบเยาวชนของสโมสรในอังกฤษ โดยนักเตะคนนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคนอังกฤษก็ได้ แต่จะต้องถูกบ่มเพาะโดยสโมสรท้องถิ่นอย่างน้อย 3 ปี ก่อนที่พวกเขาจะอายุ 21 ปี  

เมื่อมีกฎนี้เข้ามา หลายทีมก็ต้องปรับตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่ากฎนี้มีข้อดีสำหรับนักเตะท้องถิ่น แต่ในอีกทางมันก็สร้างความวุ่นวายได้เช่นกัน 

 

แก้ได้ แต่ยังไม่เท่าไหร่ 

กฎโฮมโกรว์น ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับทีมเล็ก ๆ มากมายนัก เพราะด้วยงบประมาณที่ทีมระดับเล็ก ๆ มี พวกเขาใช้นักเตะท้องถิ่นง่ายและประหยัดเงินกว่า แต่กับทีมใหญ่ ๆ นี่สิ ปัญหาเกิดทันที เพราะใครจะอยากเสียสิ่งที่มีไปในเมื่อพยายามแทบตายกว่าจะได้มันมา ? 

วิธีแก้ปัญหาง่าย ๆ คือการใช้เงิน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากฎโฮมโกรว์นทำให้นักเตะท้องถิ่นฝีเท้าดี ๆ กลายเป็นที่ต้องการของทีมยักษ์ใหญ่ และนั่นทำให้พวกเขามีราคาสูงเกินกว่าความเป็นจริงพอสมควร ราฮีม สเตอร์ลิ่ง ปีกทีมชาติอังกฤษ ย้ายจาก ลิเวอร์พูล ไป แมนฯ ซิตี้ ด้วยราคา 49 ล้านปอนด์ ขณะที่นักเตะอาร์เจนตินาอย่าง เซร์คิโอ อเกวโร่ ถูกซื้อมาในราคาแค่ 32 ล้านปอนด์เท่านั้น 

หรืออย่าง แฮร์รี่ แม็คไกวร์ กองหลังทีมชาติอังกฤษ ที่กลายเป็นกองหลังค่าตัวแพงสุดในโลกที่ 80 ล้านปอนด์ ตอนย้ายจาก เลสเตอร์ ซิตี้ สู่ แมนฯ ยูไนเต็ด นั้น มีราคาค่าตัวแพงกว่า เฟอร์กิล ฟาน ไดจ์ค ปราการหลังเลือดดัตช์ ที่ ลิเวอร์พูล ซื้อมาจาก เซาธ์แฮมป์ตัน ด้วยราคา 75 ล้านปอนด์เสียอีก 

นี่คือการเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ สโมสรใหญ่ ๆ ยังคงไม่ได้เน้นที่การสร้างนักเตะท้องถิ่นหรือจากอคาเดมีของตัวเองอยู่ดี พวกเขาซื้อดาวรุ่งท้องถิ่นฝีเท้าดี ๆ จากทีมเล็กได้ง่ายกว่าเยอะ 

นอกจากนี้ยังเริ่มมีการดึงนักเตะจากต่างประเทศเข้ามาอยู่กับทีมตั้งแต่อายุ 16-17 ปี เพื่อให้มาฝึกกับทีมอคาเดมีและรอรับโควตาโฮมโกรว์นเมื่อครบกำหนดด้วย เช่น แมนฯ ยูไนเต็ด ได้ตัว ปอล ป็อกบา และ อัดนาน ยานาไซ, อาร์เซน่อล คว้าตัว เชส ฟาเบรกาส และ เชลซี ไปดึงเอานักเตะอย่าง ชาร์ลี มูซ็องด้า, โรเมลู ลูกากู และคนอื่น ๆ อีกมากมายตั้งแต่ยังอายุน้อย ๆ เป็นต้น ดังนั้นจากกฎที่ดูเหมือนจะใช้ได้จริง ยังคงเป็นได้แค่การเขียนเสือให้วัวกลัว เพราะมีวิธีเลี่ยงบาลี

วัฏจักรคือ ทีมเล็กสร้างเด็ก ขุนจนได้น้ำหนักทั้งราคาและคุณภาพ จากนั้นก็ส่งต่อให้ทีมใหญ่หยิบไปใช้งานแลกกับเงินก้อนโต เรื่องนี้อาจจะทำให้หลายคนมองว่ากฎโฮมโกรว์นใช้ไม่ได้กับทีมใหญ่ มีก็เหมือนไม่มี

ทว่าในทางตรงกันข้าม นี่คือการใช้เงินทำหน้าที่ของมันได้อย่างดี ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสียอย่างเดียวเท่านั้น กฎโฮมโกรว์นฉบับปี 2010 อาจจะมีช่องโหว่ แต่อย่างน้อย ๆ ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้นักเตะท้องถิ่นมีมูลค่าและถูกให้ความสำคัญมากกว่าที่เคย อย่างน้อย ๆ นักเตะทีมชาติอังกฤษในรุ่นอายุที่ทันกับกฎโฮมโกรว์น ฉบับแรกอย่าง ลุค ชอว์, เจสซี่ ลินการ์ด, แฮร์รี่ เคน, จอร์แดน เฮนเดอร์สัน, เอริค ดายเออร์, ไคล์ วอล์คเกอร์, ราฮีม สเตอร์ลิ่ง และ จอห์น สโตนส์ ก็ถือเป็นผลผลิตชั้นดี สำหรับนักเตะท้องถิ่นที่ได้รับโอกาสจากทีมระดับหัวแถวของลีกในการบ่มเพาะดูแลต่ออีกขั้น หลังจากพวกเขาโชว์ฟอร์มในระดับมีแววจากทีมเล็ก ๆ 

นอกจากนักเตะที่ได้กล่าวไปแล้ว ข้อดีจากกฎโฮมโกรว์นฉบับแรก ยังรวมถึงเรื่องค่าตัวนักเตะท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นด้วย คนไหนมีแววดี มีแววดัง คนนั้นก็จะมีราคาแพงเกินกว่าดาวรุ่งสัญชาติอื่น ๆ ซึ่งเงินที่ทีมเล็ก ๆ ได้จากทีมใหญ่ ๆ มาก็ถูกหมุนใช้ในการสร้างเยาวชนขึ้นมาแทนที่กับคนที่โดนขายไป 

ว่าง่าย ๆ คือ เงินก็มีข้อดี มันทำหน้าที่ของมันด้วยการหมุนไปยังที่ต่าง ๆ ทำให้ทีมเล็ก ๆ มีวิธีหาเงินก้อนใหญ่จากดาวรุ่งอังกฤษฝีเท้าดีได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เซาธ์แฮมป์ตัน ที่เน้นนโยบายสร้างแล้วขาย จนทำเงินได้มากมายจากนักเตะอย่าง ชอว์, อดัม ลัลลาน่า, คัลลัม แชมเบอร์ส, นาธาเนี่ยล ไคลน์, มอร์กกาน ชไนเดอร์ลิน เป็นต้น 

อย่างน้อย ๆ ทีมเล็ก ๆ ก็หันมาใส่ใจกับโฮมโกรว์นมากขึ้นแล้ว นี่คือความสำเร็จในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับทีมชาติเปลาะแรก ... และทางเอฟเอรู้ดีว่ามันจะดีกว่านี้มาก หากทีมใหญ่ ๆ หันมาให้ความสำคัญกับนักเตะท้องถิ่นจากอคาเดมีตัวเองมากขึ้น ดังนั้น กฎโฮมโกรว์นฉบับใหม่ แบบแก้ให้ดีกว่าเก่าจึงเริ่มขึ้นอีกครั้งในอีก 5 ปีต่อมา 

 

พลิกชีวิตนักเตะอังกฤษ 

แม้จะได้นักเตะท้องถิ่นมาเล่นในพรีเมียร์ลีกมากขึ้น แต่ผลงานของทีมชาติอังกฤษยังห่างไกลจากความสำเร็จ หลังมีการบังคับใช้กฎโฮมโกรว์น ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะการวางกฎที่มีช่องโหว่ให้ทีมใหญ่เล่นแง่ได้ ยกตัวอย่างเช่นนักเตะระดับโลกที่ไม่ใช่ชาวอังกฤษอย่าง ฟาเบรกาส, ป็อกบา, ลูกากู กลับได้โควตาโฮมโกรว์น ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ก็ไม่ได้ส่งผลดีกับทีมชาติอังกฤษเลยแม้แต่น้อย 

ดังนั้นกฎโฮมโกรว์นฉบับปี 2015 จึงถูกบังคับใช้ขึ้น โดยผู้ริเริ่มที่ชื่อว่า เกร็ก ไดค์ ประธานสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ที่เข้ามารับตำแหน่งในปี 2013-2016 

ไดค์ มองว่าทีมชาติอังกฤษยังห่างไกลจากเป้าที่ตั้งไว้ นั่นคือการเป็นแชมป์โลกปี 2022 ดังนั้นเขาจึงออกกฎโฮมโกรว์นฉบับใหม่ขึ้นมา โดยเป็นการอุดรอยรั่วจากของเดิม 

พรีเมียร์ลีก ได้เปิดโอกาสให้แต่ละทีมใช้นักเตะอายุต่ำกว่า 21 ปี ได้ทันที โดยไม่ต้องลงทะเบียนในการส่งชื่อลงแข่งขันในพรีเมียร์ลีก ดังนั้นจากที่เคยกล้า ๆ กลัว ๆ ในการใส่รายชื่อนักเตะจากอคาเดมีลงในรายชื่อ 25 นักเตะชุดใหญ่ กลุ่มดาวรุ่งจากอคาเดมีสามารถลงเล่นในพรีเมียร์ลีกได้แบบจำนวนไม่อั้น ไม่ต้องกังวลว่าจะเบียดโควตานักเตะคนอื่น ๆ ใครดีจริง ใครมีแวว คนนั้นสามารถลงสนามได้ทันที 

เราจึงได้เห็นการให้โอกาสนักเตะท้องถิ่นมากขึ้นอีก โดยเฉพาะในช่วงท้ายฤดูกาลที่มักจะมีนักเตะอายุน้อย ๆ และชื่อไม่คุ้นหูได้ลงสนามสัมผัสเกมระดับอาชีพอย่างมากมาย นักเตะอย่าง เมสัน กรีนวูด หรือแม้แต่ ฟิล โฟเด้น ก็เคยได้โอกาสแบบนี้ ช่วงที่พวกเขาอายุแค่ 17 ปีเท่านั้น แม้ว่าในทีมต้นสังกัดของพวกเขาจะมีนักเตะต่างชาติเก่ง ๆ มากมาย 

นอกจากนี้หากนักเตะดาวรุ่งจากโควตาอายุต่ำกว่า 21 ปีที่กล่าวไป อยู่กับทีมเกิน 3 ฤดูกาล พวกเขาก็จะกลายเป็นนักเตะโฮมโกรว์นทันที ซึ่งจุดนี้จะส่งผลมาก ๆ ในเวลาที่ทีมได้ไปแข่งขันในรายการถ้วยยุโรปอย่าง ยูโรป้า และ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ที่จะมีการนับนักเตะที่เติบโตจากอคาเดมีของสโมสรโดยเฉพาะ 

การค่อย ๆ ให้โอกาสเด็ก ๆ ในทีม นอกจากจะทำให้พวกเขาเก่งกาจขึ้นแล้ว ทีมยังได้ประโยชน์ในการใช้งานระยะยาว และไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการส่งชื่อในรายการระดับทวีปเหมือนในอดีต ซึ่ง สเปอร์ส เคยประสบกับปัญหานี้มาแล้ว ในฤดูกาล 2017-18 พวกเขาไม่สามารถส่งนักเตะลงเล่นในรายการ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ได้เต็มจำนวน เพราะไม่มีนักเตะที่สโมสรสร้างขึ้นมาเองเพียงพอ โดยในฤดูกาลดังกล่าว ทีมไก่เดือยทอง ส่งรายชื่อนักเตะชุดใหญ่แข่งขันไปเพียง 21 คนเท่านั้น จากจำนวนเต็มทั้งหมด 25 คน 

สเปอร์สชุดนั้น มีนักเตะที่เติบโตจากระบบเยาวชนของตัวเองที่อายุต่ำกว่า 21 ปี 2 คน ได้แก่ แฮร์รี่ วิงค์ส และ ไคล์ วอล์คเกอร์ ปีเตอร์ส, นักเตะโฮมโกรว์นอายุเกิน 21 ปีที่เติบโตมากับสโมสรอีก 2 คน คือ แดนนี่ โรส และ แฮร์รี่ เคน ส่วนนักเตะโควตาโฮมโกรว์นที่ฝึกกับสโมสรภายใต้การรับรองจากสมาคมฟุตบอลอังกฤษแค่ 2 คนเท่านั้น นั่นคือ คีแรน ทริปเปียร์ และ เดเล่ อัลลี  

ปัญหาคือพวกเขาไม่สามารถใช้นักเตะอย่าง เบน เดวี่ส์ และ เอริค ดายเออร์ ที่เป็นนักเตะโควตาโฮมโกรว์นได้ เพราะ เดวี่ส์ โตมากับ สวอนซี ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสมาคมฟุตบอลเวลส์ (กรณีนี้ทางอังกฤษนับรวม แต่ยูฟ่าไม่) ขณะที่ ดายเออร์ แม้จะเป็นนักเตะชาวอังกฤษ แต่เขาไปโตที่ โปรตุเกส กับ สปอร์ติ้ง ลิสบอน 

ยูฟ่า กำหนดให้ต้องมีนักเตะโฮมโกรว์นที่อายุเกิน 21 ปี ทั้งแบบสร้างเอง และเติบโตมากับสโมสรอื่น อย่างละ 4 คน รวม 8 คน แต่ สเปอร์ส ส่งไปแค่ 4 คนเท่านั้น (วิงค์ส กับ วอล์คเกอร์ ปีเตอร์ส ไม่ถูกนับรวมใน 8 คนนี้ เพราะอายุไม่ถึง 21 ปี) นั่นจึงทำให้นักเตะอย่าง เอริค ลาเมล่า และ วินเซนต์ แยนส์เซ่น ต้องโดนตัดชื่อทิ้งออกจากทีมชุดลุย แชมเปี้ยนส์ลีก ในฤดูกาล 2017-18

แม้จะไม่ต้องส่งนักเตะโฮมโกรว์นลงเล่นในแชมเปี้ยนส์ลีกก็ได้ แต่มันเป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับโอกาสที่นักเตะท้องถิ่นจะได้ประสบการณ์ในเกมระดับยุโรป และเสียโควตาส่งชื่อไปฟรี ๆ จากความไม่กล้าใช้เด็กจากสโมสร 

ดังนั้นการแก้ปัญหาที่แท้จริง คือการทำให้พวกเขาเก่งกาจจนสามารถเป็นนักเตะโควตาโฮมโกรว์นได้ โดยมีมาตรฐานไม่ต่างกับนักเตะต่างชาติ 

 

สิ่งที่ได้คืออะไร ? 

ทุกอย่างที่กล่าวมาส่งผลในทันที สโมสรต่าง ๆ ต้องปรับตัวกันอีกครั้ง โดยเฉพาะในยุคที่นักเตะอายุน้อยฝีเท้าดีราคาดีดไปถึงหลายสิบล้านปอนด์ ดังนั้นการสร้างเด็กจากสโมสร นอกจากจะได้โควตาโฮมโกรว์นเเล้ว พวกเขาจะได้ประหยัดเงินในการซื้อหานักเตะเข้ามาเสริมทัพอีกด้วย 

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทีมที่เคยทุ่มเงินซื้อแหลก เลือกลงทุนกับระบบเยาวชนใหม่ทั้งหมดด้วยเงินมากกว่า 200 ล้านปอนด์, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กลับมาให้ความสำคัญของระบบอคาเดมี เปลี่ยนทั้งทีมแมวมองและทีมโค้ชชุดเยาวชน, ลิเวอร์พูล สร้างสนามซ้อมแห่งใหม่ให้ทีมชุดใหญ่และทีมเยาวชน ... นี่เป็นตัวอย่างของความตื่นตัวหลังกฎใหม่เกิดขึ้น 

ทุกสโมสรกลับมาร่างนโยบายด้วยการผลักดันนักเตะท้องถิ่นมากกว่าที่เคย จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไป เราเริ่มได้เห็นดาวรุ่งสัญชาติอังกฤษโผล่ขึ้นมาแจ้งเกิดได้ในทุก ๆ ปี 

มาร์คัส แรชฟอร์ด, เมสัน กรีนวู้ด, ดีน เฮนเดอร์สัน จาก แมนฯ ยูไนเต็ด เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ และ เคอร์ติส โจนส์ จาก ลิเวอร์พูล ฟิล โฟเด้น, เจดอน ซานโช่ กับ แมนฯ ซิตี้ บูกาโย่ ซาก้า, เอ็ดดี้ เอ็นเคเทียห์, รีส์ เนลสัน, เอมิล สมิธ โรว์ จาก อาร์เซน่อล เมสัน เมาท์, รีซ เจมส์, คัลลัม ฮัดสัน โอดอย จาก เชลซี แฮร์รี่ วิงค์ส จาก สเปอร์ส นี่คือนักเตะที่แจ้งเกิดหลังจากมีการบังคับใช้กฎโฮมโกรว์นแบบใหม่ พวกเขาเหล่านี้ผ่านการเล่นในระดับเยาวชนทีมชาติมาแล้วทั้งสิ้น และมีหลายคนที่ก้าวขึ้นมาติดชุดใหญ่แล้วในเวลานี้ 

ทั้งหมดคือความแปลกใหม่ที่มาพร้อมกับระบบที่อุดรอยรั่วแล้ว ก่อนหน้านี้นักเตะดาวรุ่งอังกฤษมักจะเกิดจากทีมสโมสรเล็ก ๆ ปั้นส่งขายต่อให้ทีมใหญ่ ๆ ใช้ หรือไม่ก็โดนส่งยืมตัวหลายต่อ กว่าจะได้เล่นในพรีเมียร์ลีกก็อายุเกิน 21 ปีไปแล้วทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น แฮร์รี่ เคน และ เจสซี่ ลินการ์ด พวกเขาโดนปล่อยยืมตัวมาไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง เพราะสโมสรยังไม่กล้าพอที่จะดันให้มาเล่นทีมชุดใหญ่เต็มตัว 

เมื่อทำพร้อมกันทั้งลีก เราจึงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นทีละนิด และทีมชาติอังกฤษก็ดูดีที่สุดในรอบหลายปี พวกเขาได้แชมป์เยาวชนโลกทั้งรุ่น ยู 17 และ ยู 20 ในช่วงปี 2017 ซึ่งนักเตะชุดนั้นปัจจุบันก็ก้าวขึ้นมาอยู่ในทีมชุดรองแชมป์ยูโร 2020 ทั้งสิ้น  

ไม่ใช่ฟุตบอลทีมชาติเท่านั้นที่ดีขึ้นตามลำดับ สำหรับสโมสรในพรีเมียร์ลีกตอนนี้ หลายทีมมีนักเตะชาวอังกฤษเป็นดาวเด่นของทีม หรืออย่างน้อย ๆ ก็เป็นตัวสำคัญที่เคยได้รับโอกาสในการติดทีมชาติอังกฤษมาแล้วทั้งสิ้น แจ็ค กรีลิช กับ โอลลี่ วัตกิ้นส์ จาก แอสตัน วิลล่า, โดมินิค คัลเวิร์ต เลวิน จาก เอฟเวอร์ตัน, คอเนอร์ โคอาร์ดี้ จาก วูล์ฟส์, คาลวิน ฟิลลิปส์ จาก ลีดส์, ดีแคลน ไรซ์ จาก เวสต์แฮม, ฮาร์วี่ย์ บาร์นส์ และ เจมส์ แมดดิสัน จาก เลสเตอร์ คือรายชื่อนักเตะอังกฤษระดับคุณภาพที่ยืนยันได้ว่า กฎโฮมโกรว์นช่วยให้พวกเขาได้รับโอกาสกับทั้งสโมสรและทีมชาติอย่างแท้จริง 

ที่สุดแล้วแม้อังกฤษจะต้องพ่ายแพ้ในยูโร 2020 นัดชิงชนะเลิศ แต่ในอีกด้าน มันก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเริ่มมาถูกทางสำหรับการสร้างนักเตะตั้งแต่ตั้งไข่ อังกฤษ ไม่เคยมาถึงนัดชิงชนะเลิศในรายการระดับเมเจอร์ได้เลย แต่ทีมชุดนี้เต็มไปด้วยนักเตะอายุน้อยที่มีคุณภาพ และยังมีอีกหลายคนที่รอโอกาสก้าวสู่ทีมชาติชุดใหญ่อีกมากมาย 

จริงอยู่ที่ถ้วยแชมป์คือการบ่งบอกถึงความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม แต่ผลผลิตของนักเตะอังกฤษชุดนี้คือการพัฒนาที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ทีมชุดนี้ยังมีโอกาสเล่นด้วยกันไปอย่างน้อยก็เกือบ ๆ 10 ปี พวกเขาอาจจะต้องเจอกับความผิดหวังในครั้งนี้ แต่หากจดจำมันเป็นบทเรียน พวกเขาจะเติบโตขึ้น และอาจจะทำสำเร็จในสักวันก็เป็นได้ 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook