อินเซ็ปชั่นฉบับนักกีฬา : ควบคุมร่างกายผ่านการควบคุมความฝัน

อินเซ็ปชั่นฉบับนักกีฬา : ควบคุมร่างกายผ่านการควบคุมความฝัน

อินเซ็ปชั่นฉบับนักกีฬา : ควบคุมร่างกายผ่านการควบคุมความฝัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จะเกิดอะไรขึ้นหากเราควบคุมความฝันได้? ในเวลาที่สมองของเราสั่งการได้อย่างอิสระ ขณะที่เรารู้ตัวว่ากำลังฝันอยู่ เหมือนในภาพยนตร์เรื่อง "Inception" (2010) กับฉากที่ "ลีโอนาร์โด ดิ คาปริโอ" กำลังเดินชมเมืองปารีสไปกับ "เอลเลียต เพจ" ในขณะเดียวกันก็ปรับเปลี่ยนโครงสร้างผังเมืองให้บิดเบี้ยว ซับซ้อนขึ้นไปเรื่อยๆ ได้ดั่งใจนึก

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการฝึกทักษะบางอย่างในฝัน จะช่วยเพิ่มความสามารถในด้านความคิดสร้างสรรค์ ช่วยลดความเครียด และขจัดความกลัวในใจ รวมถึงยังช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางร่างกายอีกด้วย
 
สิ่งนี้เรียกว่า "ลูซิดดรีม" (Lucid Dream) หรือ "ภาวะตื่นรู้ในความฝัน" เป็นสภาวะของร่างกายและจิตใจ ที่รู้ตัวว่ากำลังฝันอยู่ในขณะที่กำลังหลับ ว่ากันว่าเมื่อใดก็ตามที่เรารู้ตัวว่ากำลังฝันอยู่ เราสามารถรังสรรค์สิ่งใดขึ้นก็ได้ตามที่ใจเราต้องการ อาจจะเป็นบ้านที่สวยที่สุดตามแบบที่เราอยากได้ ตึกระฟ้าที่สูงที่สุดในโลก หรือจะบิดปารีสให้ม้วนเป็นขนมโตเกียวแบบในหนังเรื่อง Inception ก็ย่อมได้ 
 
นอกจากเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ ถ้าเราลองนึกถึงร่างกายของเราเอง แล้วลองจินตนาการอะไรที่อาจจะทำไม่ได้ในชีวิตจริงใน Lucid Dream ก็อาจช่วยเพิ่มทักษะให้แก่ร่างกายจริงของเราได้ด้วย 
 
เรื่องนี้เป็นไปได้อย่างไร ? Main Stand ชวนมาค้นหาคำตอบไปด้วยกัน

Lucid Dream 

คำว่า "ลูซิดดรีม" (Lucid Dream) ถูกบัญญัติขึ้นมาครั้งแรกในบทความที่ชื่อ "การศึกษาเกี่ยวกับความฝัน" (A Study of Dreams) ในปี 1913 โดยนักเขียนและจิตแพทย์ชาวดัตช์ที่ชื่อ "เฟรเดอริค ฟาน เอเดน" 

เขาได้ทำการศึกษาความฝันของตัวเองมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 1898 มาจนถึง 1912 และลูซิดดรีมก็เป็นความฝันประเภทหนึ่งจากการศึกษาของเขา ที่เขามองว่าควรค่าแก่การศึกษามากที่สุด จากความฝันอื่น ๆ ที่เขาศึกษา อันได้แก่ ความฝันเริ่มต้นหลังจากที่หลับทันที ความฝันที่สดใส ความฝันที่น่ากลัว หรือความฝันหลอก 

1คำว่า "ลูซิด" (Lucid) ให้ความหมายว่า กระจ่าง ชัดเจน และเมื่อจับมารวมกับความว่า "ดรีม" (Dream) ที่แปลว่าความฝัน จึงให้ความหมายว่า ความฝันที่ชัดเจน ความฝันที่กระจ่าง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การรู้ตัวว่ากำลังฝัน นั่นเอง 

"ลูซิดดรีม" (Lucid Dream) หรือ "ภาวะตื่นรู้ในความฝัน" หากกล่าวอย่างง่ายที่สุดคือ สภาวะ "การฝันโดยที่รู้ตัวว่ากำลังฝัน" เราอาจคิดว่าเราตื่น แต่ที่จริงแล้วเรายังคงหลับอยู่ โดยทั่วไป ลูซิดดรีม จะเกิดขึ้นในตอนที่เรากำลังหลับลึกที่สุดหรือช่วงที่เราเข้าสู่ภาวะ "การเคลื่อนไหวของลูกตาอย่างรวดเร็ว" (R.E.M. - Rapid Eye Movement) ที่ตาของเราจะกลอกกลิ้งไปมา แต่กล้ามเนื้อของทั้งร่างกายจะหยุดทำงาน ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก ในขณะเดียวกันสมองของเรายังทำงานอยู่ และช่วงเวลานี้เองของการนอนหลับที่เราจะเริ่มฝัน  
 
ลูซิดดรีม จะแตกต่างจากความฝันธรรมดาตรงที่ ในขณะที่เราหลับ สมองส่วนหน้าของเราจะเริ่มทำงาน สมองส่วนนี้รับผิดชอบหน้าที่ในเรื่องของความคิด ความจำ เป็นหลัก และเมื่อเราอยู่ในภาวะ REM สมองส่วนหน้าของเราที่กำลังตื่นตัวอยู่ มีแนวโน้มที่จะทำให้เรารู้ตัวในตอนที่เรากำลังฝันอยู่นั่นเอง ทำให้เรายังคงมีสติอยู่ในขณะที่กำลังฝัน 
 
เรื่องของลูซิดดรีม เริ่มปรากฏหลักฐานการศึกษาด้วยแนวทางวิทยาศาสตร์ครั้งแรกในช่วงปี 1968 โดยนักเขียน นักปรัชญา ชาวอังกฤษที่ชื่อ "ซีเลีย กรีน" ที่ได้วิเคราะห์เรื่องนี้เอาไว้ว่า ลูซิดดรีม มีความเกี่ยวข้องกับการหลับที่อยู่ในภาวะ REM เธอยังเป็นคนแรกที่วางสมมุติฐานว่า ลูซิดดรีม มีความเกี่ยวข้องกับอาการฝันซ้อนฝันอีกด้วย 
 
ต่อมาในปี 1975 ได้มีการศึกษาโดย "ดอกเตอร์ คีธ เฮิร์น" ที่นำเรื่องภาวะ REM มาศึกษาต่อยอดประกอบกับเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าจากลูกตา เขาได้ทำงานกับคนที่สามารถเข้าสู่ ลูซิดดรีม ได้ ที่ชื่อ "อลัน วอส์ลีย์" โดยกำหนดการเคลื่อนไหวของลูกตาไว้ล่วงหน้าเพื่อนำมาเทียบกับตอนทดลองจริง ภายหลังการทดลองเขาพบว่า มีการส่งสัญญาณจาก ลูซิดดรีม ออกมาสู่โลกภายนอกจริง เพราะรูปแบบการเคลื่อนไหวลูกตาของอลัน ตรงกับรูปแบบที่วางไว้อย่างน่าประหลาด 

2แนวคิดเรื่อง ลูซิดดรีม เริ่มมาเป็นที่โด่งดังจริง ๆ ในปี 1980 โดยนักจิตสรีรวิทยาชาวอเมริกันที่ชื่อ "สตีเฟ่น ลาเบิร์ก" ที่ได้ศึกษาเรื่อง ลูซิดดรีม อย่างจริงจัง จนถึงขั้นเปิดสถาบันวิจัยที่ชื่อ The Lucidity Institute เพื่อการวิจัย ลูซิดดรีม โดยเฉพาะ และให้การฝึกสอนแก่ผู้ที่ต้องการจะเข้าสู่ ลูซิดดรีม ดอกเตอร์ลาเบิร์กเชื่อว่าความรู้เรื่อง ลูซิดดรีม สามารถนำมาใช้บำบัดความเครียด และช่วยเสริมสร้างจินตนาการได้อีกด้วย

เข้าสู่ความฝัน 

ในช่วงแรกที่เราเข้าสู่ ลูซิดดรีม ได้ เราอาจจะไม่สามารถควบคุมความฝันของเราได้อย่างที่ใจต้องการในทันที ผู้ฝันจะค่อยๆ รู้ตัวว่ากำลังฝันอยู่ และรู้สึกว่าสิ่งที่กำลังประสบพบเจออยู่ตรงหน้านั้นไม่ใช่ความจริง แต่หากเราฝึกฝนบ่อย ๆ ในขั้นสุดของ ลูซิดดรีม เราอาจจะสามารถเสกอะไรก็ได้ให้ออกมาตามที่เราต้องการ

3การจะเข้าสู่ ลูซิดดรีม นั้น สามารถฝึกฝนได้หลายวิธี จากคำอธิบายของ "ดอกเตอร์ คริสเตน วิลลูไมเออร์" นักประสาทวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งแต่ละวิธีก็อาจจะแตกต่างกันออกไปแม้จะมีความคล้ายกันอยู่บ้าง โดยมีใจความหลักอยู่ที่การตั้งสมาธิ 

เทคนิคแรก คือการท่องจำ (Mnemonic Induction of Lucid Dreams Technique : MILD) ที่จะทำหลังจากบังคับตัวเองให้ตื่นนอนมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยการตั้งนาฬิกาปลุก หรือจะทำก่อนนอนก็ได้ก่อนที่จะหลับ เราจะต้องท่องไว้ว่า เราจะจำเรื่องที่เราจะฝันให้ได้ เหมือนเป็นการเตือนตัวเองให้มีสติอยู่ตลอดเวลาในขณะที่ฝัน 

เทคนิคต่อมา คือการตื่นแล้วกลับไปนอนต่อ (Wake Up and Back to Bed : WBTB) เทคนิคนี้คือ หลังจากการตื่นนอนประมาณ 3 ถึง 5 ชั่วโมง ให้หากิจกรรมที่ผ่อนคลายทำ อย่างเช่นอ่านหนังสือ หรือกิจกรรมอะไรก็ตามที่จะไม่หนักเกินไปจนทำให้นอนต่อไม่ได้ ประมาณ 30 นาที หลังจากนั้นก่อนนอน พยายามเตือนตัวเองเหมือนเทคนิคแรกว่า เราจะจำความฝันที่เกิดขึ้นหลังจากนี้  

เทคนิคที่สาม คือการใช้ประสาทสัมผัส (Senses Initiated Lucid Dream : SSILD) แทนที่จะใช้คำพูดแบบสองเทคนิคแรก คราวนี้ก่อนจะนอนให้เราจำความรู้สึกก่อนหลับให้ได้ ไม่ว่าจะเป็น ภาพ เสียง หรือสัมผัส ว่าเรารู้สึกอย่างไรตอนที่ตื่นอยู่ ค่อย ๆ ทบทวนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหลับ เพื่อที่ในฝันเราจะได้รู้สึกแบบเดียวกัน 

เทคนิคสุดท้าย คือการทดสอบความจริง (Reality Testing : RT) โดยทั่วไปเทคนิคนี้จะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเราเป็นหลัก การฝึกสังเกตพฤติกรรมของเราเองจะช่วยให้เราเช็คได้ว่าเรากำลังฝันอยู่หรือไม่ เช่น การมองมือตัวเองเป็นบางครั้งระหว่างวัน หากเราทำแบบนี้ซ้ำ ๆ เป็นประจำ ในฝันเราก็จะทำพฤติกรรมเดียวกันไปด้วย จนอาจจะทำให้เราตระหนักได้ว่าเรากำลังฝันอยู่ 

4ประโยชน์หลักของ ลูซิดดรีม คือการช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนช่วยจัดการความเครียด เป็นการฝึกเผชิญหน้ากับความกลัว ดอกเตอร์วิลลูไมเออร์ลงความเห็นไว้ว่า ลูซิดดรีม สามารถช่วยให้เราประเมินรูปแบบความคิด ความรู้สึก หรือพฤติกรรมของเราได้ เพื่อนำมาปรับใช้ในชีวิตจริงให้ดียิ่งขึ้น 

นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไม ลูซิดดรีม ถึงถูกนำมาใช้ในวงการกีฬาเช่นกัน

ฝึกฝันเพื่อการฝึกฝน 

จากหนังสือเรื่อง "Exploring the World of Lucid Dreaming" ที่เขียนโดย "ดอกเตอร์ สตีเฟ่น ลาเบิร์ก" คนเดียวกันกับที่เปิดสถาบัน The Lucidity Institute และ "ฮาเวิร์ด เรนฮ์โกลด์" นักเขียนชาวอเมริกัน ได้มีการกล่าวถึงการฝึกฝนร่างกาย การออกกำลังกายใน ลูซิดดรีม ไว้ในบทหนึ่งของหนังสือว่า 

5เช่นเดียวกันกับหลักการฝึกจิตใจให้แข็งแกร่ง การฝึกฝนทางใจสามารถนำมาซึ่งประสิทธิภาพในการเล่นกีฬาที่ดีขึ้น การเข้าสู่ ลูซิดดรีม จึงเปรียบเสมือนกับการจิตนาการอันทรงพลัง ที่บางครั้งแม้แต่ในโลกจริง ก็อาจจะไม่ดูดี ไม่สดใสเท่ากับภาพในฝัน และยิ่งถ้าเราจินตนาการได้ใกล้เคียงกับความจริงมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งสามารถนำเทคนิคหรือทักษะนั้น ๆ มาปรับใช้ในชีวิตจริงได้ดีเท่านั้น เพราะในความฝัน ไม่มีข้อจำกัดใด ๆ มาห้ามเราไว้ 

ผลสำรวจของนักวิ่งคนหนึ่งจากรัฐเวอร์จิเนีย เธอเล่าว่า เธอเข้าสู่ ลูซิดดรีม ในคืนก่อนการแข่งขันวิ่ง 10 กิโลเมตร ที่เธอค่อนข้างกังวล เพราะการแข่งวิ่งครั้งนี้เป็นการวิ่งขึ้นเขา ซึ่งเธอไม่เคยทำมาก่อน จากปกติที่จะวิ่งอยู่แต่ในที่ราบ อย่างไรก็ดี เธอเตรียมตัวเบื้องต้นด้วยการอ่านเทคนิคบางอย่างเกี่ยวกับการวิ่งขึ้นเขาจากหนังสือ และในขณะที่เธออยู่ใน ลูซิดดรีม เธอก็ได้ลองนำเทคนิคต่าง ๆ ในนั้นมาใช้ แม้ว่าเธอจะไม่เคยใช้จริงมาก่อนเลย เสมือนเป็นการฝึกซ้อม

ผลที่ได้คือ ในวันแข่งจริง เธอนำเทคนิคพวกนั้นมาใช้ และเธอยังบอกอีกด้วยว่า มันให้ความรู้สึกเหมือนกับตอนที่เธอฝันเป๊ะ ๆ

นักกีฬาเทนนิสอีกคนจากรัฐยูทาห์แสดงผลสำรวจจากในหนังสือ โดยเล่าว่า เธอและน้องสาวไปลงเรียนเทนนิสในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน และหลังที่เรียนเสร็จ ได้มีการจัดการแข่งขันขึ้น ก่อนที่จะลงสู่ทัวร์นาเมนต์การแข่งขัน เธอฝัน แล้วจินตนาการให้ตัวเองเป็นสุดยอดนักเทนนิส พร้อมกับเรียนรู้ทุกเทคนิคที่จะช่วยให้เธอชิงถ้วยรางวัลมาให้ได้

เธอจดจำเทคนิคต่าง ๆ มาจากผู้เล่นหลาย ๆ คนที่เห็นในโทรทัศน์ จนรู้สึกว่าตัวเองชำนาญมากขึ้นในช่วงก่อนที่เธอจะตื่น จากการฝึกฝนใน ลูซิดดรีม ครั้งนั้น ส่งผลให้เธอคว้าถ้วยรางวัลจากทัวร์นาเมนต์นั้นมาได้ โดยแม้แต่โค้ชเองก็ยังแปลกใจว่าเธอไปฝึกเทคนิคต่าง ๆ นั้นมาจากไหน  

"เมลานี่ แชดลิชค์" นักศึกษาปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ผู้ศึกษาเรื่อง ลูซิดดรีม อย่างจริงจังอีกคน ได้อธิบายถึงข้อดีในการฝึกฝนร่างกายในฝันไว้ว่า ในความฝัน เราไม่จำเป็นต้องกลัวว่าเราพบกับอาการบาดเจ็บ เราสามารถลองทำท่าที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้ 

เธอได้ยกตัวอย่างจากนักมวยคนหนึ่งที่เธอศึกษาอยู่ นักมวยคนนี้ เคยประสบปัญหากับท่าเตะที่แปลกประหลาด ทำให้ท่าเตะของเขาดูไม่สมบูรณ์ แต่หลังจากที่เขาได้ฝึกฝนใน ลูซิดดรีม ทำให้เขาสามารถเตะได้สมบูรณ์มากขึ้น เพราะการจำลองการฝึกในความฝัน เป็นเหมือนภาพจำลองของระบบประสาทที่มีพื้นฐานมาจากการเคลื่อนไหวจริง 

6อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดสำหรับการฝึกฝนในฝันคือ ไม่ใช่ทุกครั้งที่เราจะสามารถเข้าไปใน ลูซิดดรีม ได้ ยังไม่มีการฝึกที่การันตีได้ว่าเราจะเข้าไปใน ลูซิดดรีม ทุกครั้งที่เราหลับ เราทำได้แค่ลองฝึกไปเรื่อย ๆ เพราะมีหลายครั้งที่เราฝันแล้วปล่อยให้เรื่องดำเนินไปเรื่อย ๆ จนเราตื่น โดยไม่ได้มีภาวะตื่นรู้ระหว่างฝันแต่อย่างใด 

กล่าวในอีกแง่หนึ่ง การเข้าสู่ ลูซิดดรีม คือการฝึกฝนจิตอีกรูปแบบ ที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องจิตวิทยา กับการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ด้วยการลบข้อจำกัดบางอย่างที่โดนจำกัดไว้ในโลกจริงออกไป ลดความกลัว ความกังวล อันเป็นอุปสรรคต่อการเล่นกีฬาออกไปอย่างสิ้นเชิง จนอาจทำให้สามารถเล่นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

หากวันใดมีการศึกษาเกี่ยวกับ ลูซิดดรีม จนค้นพบวิธีที่สามารถเข้าไปฝึกร่างกายในฝันได้ทุก ๆ ครั้ง ภาพต่อมาที่เราจะได้เห็น คือความเก่งกาจของนักกีฬาที่ดึงศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ฟาดฟัดกันได้อย่างเต็มที่ หรือช่วยให้คนที่ชอบเล่นกีฬาได้ฝึกฝนทักษะร่างกายให้ดีกว่าที่เคยเป็นก็ได้

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ อินเซ็ปชั่นฉบับนักกีฬา : ควบคุมร่างกายผ่านการควบคุมความฝัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook