กีฬาผจญเพลิง : เมื่อการดับเพลิงถูกพัฒนามาเป็นกีฬาเพื่อเพิ่มทักษะให้กับนักดับเพลิง

กีฬาผจญเพลิง : เมื่อการดับเพลิงถูกพัฒนามาเป็นกีฬาเพื่อเพิ่มทักษะให้กับนักดับเพลิง

กีฬาผจญเพลิง : เมื่อการดับเพลิงถูกพัฒนามาเป็นกีฬาเพื่อเพิ่มทักษะให้กับนักดับเพลิง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กลายเป็นอุบัติภัยครั้งใหญ่ที่สุดของไทยในปี 2021 ทันที เมื่อเกิดเหตุสารเคมีรั่วไหลและระเบิด ภายในบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด โรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติกขนาดใหญ่ ในพื้นที่ถนนวัดกิ่งแก้ว ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อเช้ามืดวันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม

ภาพที่แทบทุกคนได้เห็นผ่านสื่อ คือความยากลำบากของอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ดับเพลิง ที่อดหลับอดนอน ทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ ณ จุดเกิดเหตุ เพื่อทำทุกวิถีทางในการระงับเปลวเพลิงไม่ให้ลุกลามสร้างความเสียหายไปมากกว่านี้  

ไม่ใช่ทุกครั้งที่ทุกการช่วยเหลือจะจบลงด้วยดี เพราะปฏิบัติการครั้งนี้ "พอส" กรสิทธิ์ ลาวพันธ์ อาสาสมัครนักดับเพลิงวัย 18 ปี ต้องเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ รวมถึงยังมีนักดับเพลิงอีก 3 รายที่บาดเจ็บสาหัส

นักดับเพลิงเหล่านี้ คู่ควรที่จะถูกยกย่องจากประชาชนให้เป็น "ฮีโร่" เพราะยอมเสี่ยงชีวิตเข้าระงับเหตุร้าย หลายรายเป็นอาสาสมัคร ทำด้วยใจโดยไม่มีเงินค่าจ้างตอบแทนเลยด้วยซ้ำ 

หลายประเทศทั่วทุกมุมโลก ได้ให้ความสำคัญกับอาชีพนักดับเพลิงเป็นอันดับต้น ๆ มีการจัดอบรมและฝึกทักษะให้กับนักดับเพลิงอย่างต่อเนื่อง จนสิ่งเหล่านี้ได้พัฒนามาเป็นการแข่งขันกีฬาภายใต้ชื่อ "กีฬาผจญเพลิง" ซึ่งปัจจุบันมีการจัดแข่งถึงระดับชิงแชมป์โลกเลยทีเดียว

ติดตามเรื่องราวทักษะการกู้ภัย ที่พัฒนาสู่การแข่งขันได้กับ Main Stand

จุดกำเนิดจากโซเวียต

กีฬาผจญเพลิง (Fire-fighting sport) เป็นกีฬาที่เกิดขึ้นในสหภาพโซเวียต เมื่อปี 1937 โดยมีหน่วยงานบริการป้องกันอัคคีภัย คณะกรรมการกิจการภายในของประชาชนเป็นผู้ริเริ่ม เพื่อพัฒนาทักษะพนักงานดับเพลิง โดยผสมผสานการฝึกซ้อมเพื่อเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่มาปรับใช้เป็นการแข่งขัน เช่น การปีนบันไดหนีไฟ และการแข่งใช้อุปกรณ์ดับเพลิง ซึ่งผู้เข้าร่วมชิงชัยต้องสวมเครื่องแบบดับเพลิงในการแข่งขัน

1กีฬาชนิดนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนจะมีการจัดตั้งสหพันธ์กีฬาดับเพลิงแห่งสหภาพโซเวียต อย่างจริงจังขึ้นในปี 1964 และมีการจัดชิงแชมป์ในประเทศ โดยเป็นการแข่งขันระหว่างทีมดับเพลิงต่าง ๆ ในปีถัดมา

ขณะเดียวกัน ในช่วงยุค 1960s กีฬาผจญเพลิงได้ถูกนำมาใช้ในประเทศสังคมนิยมอื่น ๆ ก่อนที่ปี 1968 จะมีการจัดแข่งขันระดับนานาชาติครั้งแรกในเมืองเลนินกราด (เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ในปัจจุบัน) โดยชาติที่เข้าร่วมประกอบด้วย สหภาพโซเวียต, บัลแกเรีย, เยอรมันตะวันออก, โรมาเนีย และเชโกสโลวาเกีย

2ปัจจุบัน สาธารณรัฐเช็ก (ที่แยกมาจาก เชโกสโลวาเกีย) ถือเป็นชาติที่โดดเด่นในการจัดแข่งกีฬาผจญเพลิง เนื่องจากเทศบาลทุกแห่งต้องจัดตั้งแผนกดับเพลิงอาสาสมัครตามข้อบังคับของกฎหมาย จึงได้มีการพัฒนาวัฒนธรรมในองค์กร จนเป็นที่มาของการจัดแข่งขันทักษะนักผจญเพลิงขึ้นตั้งแต่ปี 1967 โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากกีฬาดับเพลิงของสหภาพโซเวียต ที่แพร่หลายและเป็นที่นิยมอย่างมากโดยเฉพาะในชนบท

แข่งอะไรบ้าง? 

กีฬาผจญเพลิง เน้นการแข่งขันโดยใช้ทักษะของนักดับเพลิงเป็นหลัก ซึ่งจำลองมาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นการแบกบันได ปีนหน้าต่าง คลี่สายยาง ต่ออุปกรณ์ฉีดน้ำดับเพลิง ฯลฯ แบ่งการแข่งขันเป็น 4 อีเวนต์ ดังนี้

3วิ่งฝ่าอุปสรรค 100 เมตร (100 m hurdles) : ผู้เข้าแข่งขันต้องวิ่งฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ที่ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อจำลองสถานการณ์จริงในการดับเพลิง เช่น การวิ่งข้ามกำแพง การต่อสายยางเข้ากับท่อ

วิ่งผลัด 4x100 เมตร (4x100 m hurdles relay race) : สมาชิก 4 คน จะต้องวิ่งผ่านอุปสรรคต่าง ๆ โดยไม้แรกวิ่งแบกบันไดข้ามหลังคา ไม้สองวิ่งข้ามกำแพง ไม้สามวิ่งบนราวแล้วนำสายฉีดน้ำไปต่อกับท่อระหว่างทาง ไม้สุดท้ายวิ่งถือถังดับเพลิงไปฉีดไฟแล้ววิ่งเข้าเส้นชัย

ปีนหอคอย (Ascent to 4th floor of a training tower) : เป็นการแข่งขันที่ท้าทายที่สุด ผู้เข้าแข่งขันจะต้องปีนหอคอยด้วยบันไดที่มีตะขอ โดยยึดตามกรอบหน้าต่างของหอคอย เพื่อขึ้นไปถึงเส้นชัยในชั้นที่ 4 

แข่งดับเพลิง (Fire attack) : อีเวนต์ที่เป็นที่นิยมมากที่สุด แต่ละทีมจะมีสมาชิก 7 คน ต้องร่วมมือกันประกอบอุปกรณ์ที่จะใช้ดับเพลิง โดยต่อปั๊มน้ำไปที่สระเพื่อดึงน้ำมาใช้ ก่อนจะลากสายยางไปต่อกับสายยางอีกเส้นด้วยท่อดูด แล้ววิ่งถือสายยางไปฉีดน้ำใส่เป้า

การแข่งระดับโลก 

การแข่งขันทักษะการดับเพลิง ได้รับความนิยมและแพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีหัวเรือใหญ่คือ สมาคมบริการดับเพลิงและกู้ภัยระหว่างประเทศ หรือ CITF (International Association of Fire & Rescue Services) ที่มีสมาชิก 38 ประเทศ ซึ่งจัดแข่งขันในระดับนานาชาติมาอย่างต่อเนื่องทุก 4 ปี

4แต่ในส่วนของการพัฒนาขึ้นมาจนกลายเป็นการแข่งกีฬาอย่างเป็นทางการนั้น เกิดขึ้นเมื่อปี 2001 จากความร่วมมือกันของนักผจญเพลิงและหน่วยกู้ภัยจาก 25 ประเทศ ก่อตั้ง สหพันธ์กีฬานักผจญเพลิงและหน่วยกู้ภัยนานาชาติ (The International Sport Federation of Firefighters and Rescuers) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนากีฬาสำหรับนักดับเพลิงและหน่วยกู้ภัยในระดับสากล ตลอดจนแนะนำเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางเทคนิคใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับอัคคีภัย รวมถึงเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานดับเพลิงทั่วโลก

การแข่งขันชิงแชมป์โลก เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในชื่อ "World Fire and Rescue Sport Championship" ที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ 11-16 กันยายน 2002 เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ความเร็ว แนวคิด การทำงานร่วมกันเป็นทีม ความร่วมมือ และไหวพริบต่าง ๆ ให้กับนักดับเพลิง รวมถึงช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน  

5ปัจจุบันองค์กรนี้มีสมาชิกทั้งหมด 28 ชาติ ประกอบด้วย เยอรมนี, สาธารณรัฐเช็ก, อิตาลี, รัสเซีย, โปแลนด์, กรีซ, ยูเครน, โครเอเชีย, ตุรกี, ลัตเวีย, ลิทัวเนีย, สโลวาเกีย, ออสเตรีย, อาเซอร์ไบจาน, เบลารุส, บัลแกเรีย, เอสโตเนีย, มองโกเลีย, เซเนกัล, จีน, เกาหลีใต้, อิหร่าน, กาตาร์, อินเดีย, ซีเรีย, คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน และ อุซเบกิสถาน

ที่ผ่านมามีการจัดแข่งขันชิงแชมป์โลกมาแล้ว 15 ครั้ง ชิงแชมป์ยุโรป 3 ครั้ง ชิงแชมป์เอเชีย 2 ครั้ง โดยมีการจัดแข่งทั้งประเภท ชาย หญิง ทีม และเยาวชน พร้อมมีผู้ตัดสินระหว่างประเทศแล้วมากกว่า 70 คน

กีฬาผจญเพลิงในประเทศไทย

ในประเทศไทยยังไม่มีการจัดการแข่งขันกีฬาผจญเพลิงอย่างเป็นทางการ แต่ที่ผ่านมาได้มีการจัด "การแข่งขันทักษะดับเพลิงและกู้ภัย" มาตั้งแต่ พ.ศ. 2555 ณ สนามกีฬาศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ภายใต้การดำเนินงานของ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) ตามโครงการส่งเสริมฝึกทักษะการแข่งขันการดับเพลิงและกู้ภัย 

6การแข่งขันนี้เปิดให้หน่วยงานดับเพลิงทั่วกรุงเทพ ฯ ส่งตัวแทนเข้าร่วมชิงชัย โดยมีจุดประสงค์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงได้มีโอกาสจัดกิจกรรมนำเสนอเทคนิค วิธีการ ความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติงาน พร้อมพัฒนาสมรรถนะด้านร่างกายและจิตใจในการประกอบอาชีพ ตลอดจนให้ประชาชนได้เห็นถึงสมรรถนะของอุปกรณ์เครื่องมือ และความสามารถของเจ้าหน้าที่

สำหรับการแข่งขันทักษะการดับเพลิงและกู้ภัย แข่งทั้งหมด 8 ประเภท ได้แก่ 1. การแข่งขันดับเพลิงแกร่ง 2. การแข่งขันวิ่งผลัดอุปกรณ์ 4x100 3. การแข่งขันทีมกู้ภัย 4x100 4. การแข่งขันดับเพลิงหรรษา 5. การแข่งขันกู้ภัยหรรษา 6. การแข่งขันทีมกู้ภัยที่สูง 7. การแข่งขันทีมค้นหา และ 8. การแข่งขันเชือกวัด โดยผู้ชนะจะได้รับเหรียญรางวัล และประกาศนียบัตร

7การแข่งขันกีฬาผจญเพลิง ทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย ถือเป็นเครื่องยืนยันในการให้ความสำคัญกับการฝึกฝนทักษะอย่างสม่ำเสมอ และการแข่งขันคือหนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้มั่นใจได้ว่า สิ่งที่เรียนรู้และฝึกซ้อมสามารถนำไปใช้งานในภารกิจจริงได้อย่างไม่ติดขัด

ถึงกระนั้น คงปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า นอกจากทักษะและการฝึกฝนแล้ว การมีอุปกรณ์ที่พร้อมรับทุกสถานการณ์ ตลอดจนการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ทุกภารกิจมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น...

และสำคัญที่สุด คือการที่ผู้ออกไปทำหน้าที่ ได้กลับบ้านไปพบกับคนที่รักอย่างปลอดภัย 

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ กีฬาผจญเพลิง : เมื่อการดับเพลิงถูกพัฒนามาเป็นกีฬาเพื่อเพิ่มทักษะให้กับนักดับเพลิง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook