คดีฮาคามาดะ : เหตุฆาตกรรมที่ทำให้อดีตนักมวยรอโทษประหารนาน 45 ปี
"ผมทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากหมอบลงกับพื้นและพยายามไม่ให้ถ่ายอุจจาระออกมา หนึ่งในผู้สอบสวนเอานิ้วโป้งผมไปที่แท่นหมึก แล้วปั๊มนิ้วลงในบันทึกคำสารภาพ และสั่งให้ผม 'เขียนชื่อลงตรงนี้' ในขณะเดียวกันก็ตะคอกใส่ผม เตะผม และบีบแขนผม" ฮาคามาดะกล่าว
เขาคืออดีตนักมวยสากลญี่ปุ่น ที่ขึ้นชกในช่วงทศวรรษที่ 1960s และมีสถิติชนะ 16 แพ้ 11 เสมอ 2 แถมยังเคยไปไกลถึงอันดับ 6 ของประเทศในรุ่นเฟเธอร์เวท
ทว่าชีวิตของเขากลับผกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ หลังตกเป็นผู้ต้องหาในคดีฆ่ายกครัวอันโด่งดัง ที่รู้จักกันในชื่อ "คดีฮาคามาดะ" เมื่อปี 1966
โทษของเขาคือประหารชีวิต ที่ทำให้ อิวาโอะ ฮาคามาดะ ต้องใช้ชีวิตเกือบ 50 ปีในเรือนจำ และกลายเป็นนักโทษที่รอโทษประหารนานที่สุดในโลก
เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของอดีตนักมวยสากลคนนี้ ติดตามเรื่องราวไปพร้อมกับ Main Stand
นักมวยอันดับ 6 ของญี่ปุ่น
ฮามามัตสึ ถือเป็นหนึ่งในเมืองอุตสาหกรรมชื่อดังของญี่ปุ่น เมื่อเมืองจากจังหวัดชิซูโอกะแห่งนี้คือแหล่งกำเนิดของบริษัทชั้นนำของประเทศ ทั้ง ซูซูกิ ยามาฮ่า หรือ ฮอนด้า ในขณะเดียวกันมันก็เป็นบ้านเกิดของ อิวาโอะ ฮาคามาดะ ชายที่คนทั้งโลกจะได้รู้จักเขาในเวลาต่อมา
Photo : www.idfa.nl
เขาเกิดในปี 1936 และเป็นลูกคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 6 คน แม้ว่าทางบ้านจะมีฐานะยากจน แต่อิวาโอะ ก็ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เขาและเหล่าพี่น้องมักจะใช้เวลาด้วยกัน ไม่ว่าจะพากันไปตกปลาในช่วงฤดูร้อน หรือย่างกระเทียมกินกันในฤดูใบไม้ร่วง
ในหมู่พี่น้อง อิวาโอะ สนิทกับ ฮิเดโกะ พี่สาวที่อายุมากกว่าเขา 3 ปีมากที่สุด เนื่องจากมีอายุห่างกันไม่มาก ทำให้ไม่ว่าพี่สาวจะไปไหน หรือทำอะไร ก็จะมีเขาติดสอยห้อยตามไปด้วยเสมอ
"เขาเป็นเหมือนเงาของฉัน เขาตามฉันไปทุกที่" ฮิเดโกะ ย้อนความหลังกับ CNN
แม้ว่าทั้งสองเติบโตขึ้นมาด้วยกัน แต่พอถึงช่วงวัยรุ่นก็ต้องแยกย้ายไปตามเส้นทางของตัวเอง และในตอนที่ฮิเดโกะ ออกเรือนแต่งงาน อิวาโอะ ก็ได้งานทำที่โรงยิมเพาะกล้ามเนื้อพอดี
และที่แห่งนี้ก็เป็นที่ซึ่งจุดประกายสู่เส้นทางหมัดมวยอาชีพของอิวาโอะ เมื่อเพื่อนร่วมงานเห็นหน่วยก้านของเขา บวกกับการที่เขาเคยต่อยมวยมาก่อนหลังจบมัธยมต้น รวมถึงเคยไปแข่งชิงแชมป์จังหวัด จึงได้แนะนำให้เขาไปต่อยมวยอย่างจริงจัง
Photo : edition.cnn.com
เขาเองก็สนใจเรื่องนี้อยู่แล้ว จึงได้ตอบรับคำแนะนำนั้น และตัดสินใจย้ายไปอยู่โตเกียว เพื่อฝึกฝนฝีไม้ลายมือในค่ายฟูจิเคนโตคลับ (Fuji Boxing Club) โดยมี ฟูจิ โอคาโมโต อดีตนักมวยโอลิมปิกเป็นผู้ฝึกสอน
ปี 1959 อิวาโอะ ได้เปิดตัวในฐานะนักมวยสากลอาชีพ รุ่นเฟเธอร์เวท เขาทำผลงานได้ไม่เลวในตลอด 29 ไฟท์ เมื่อสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ไปได้ถึง 16 ครั้ง แพ้ 11 ครั้ง และเสมอ 2 ครั้ง โดยเป็นการเอาชนะน็อก 1 ครั้ง และเคยขึ้นไปถึงอันดับ 6 ของประเทศในรุ่นของเขา
Photo : www.hakamada-sukukai.jp
แต่เนื่องจากอาชีพนักมวยเป็นอาชีพที่ใช้ร่างกายหนักมาก และ ร่างกายของ อิวาโอะ ก็เริ่มไม่ไหว ทำให้หลังชกมวยอยู่ 2 ปีเขาต้องจำใจแขวนนวม และกลับมาหางานทำในบ้านเกิด ก่อนที่เขาจะได้งานเป็นคนงานในโรงงานผลิตมิโซะ ที่ชื่อว่า โคงาเนะ มิโซะ ในเมืองชิมิสึ จังหวัดชิซูโอกะ ในปี 1961
และที่แห่งนี้ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งฝันร้าย
คดีฮาคามาดะ
30 มิถุนายน 1966 ในขณะที่ทุกคนกำลังหลับไหล เปลวเพลิงจากบ้านหลังหนึ่งใกล้กับโรงงานมิโซะ ในเมืองชิมิสึ ได้ปลุกให้ผู้คนในบริเวณนั้นตื่นขึ้น และกว่าเจ้าหน้าที่ดับเพลิงจะมาถึง คนในบ้านก็ได้เสียชีวิตอยู่ในกองเพลิงไปแล้ว
ผู้ตายทั้งสี่คือ ฮาชิโมโต ฟูจิโอะ ที่เป็นเจ้าของโรงงาน โคงาเนะ มิโซะ ที่นอนเสียชีวิตอยู่ไม่ไกลกับภรรยาของเขา พร้อมด้วยลูกสาววัย 17 ปี และลูกชายวัย 14 ปี
อย่างไรก็ดี สาเหตุของการเสียชีวิตกลับไม่ใช่เพลิงไหม้ เมื่อตำรวจพบว่าผู้ตายทั้งสี่ ถูกกระหน่ำแทงอย่างไม่ยั้งรวมกันถึง 40 แผล โดยในที่เกิดเหตุยังพบปลอกมีด และเสื้อเปื้อนเลือดตกอยู่ แถมเงิน 200,000 เยน ที่อยู่ในบ้านก็อันตรธานหายไป ทำให้จากคดีไฟไหม้ ได้กลายเป็นคดีฆาตกรรมฆ่ายกครัวเพื่อชิงทรัพย์
ตำรวจพยายามสืบหาตัวคนร้าย แต่หลักฐานที่มีน้อยมาก จึงใช้วิธีหาตัวผู้ต้องสงสัย ก่อนจะเบนเข็มมาที่อิวาโอะ เนื่องจากเขาเป็นอดีตนักมวย แถมเพิ่งหย่ากับภรรยา ที่เป็นคนทำงานในบาร์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นอาชีพต่ำต้อย
Photo : sharetube.jp
ในตอนแรกเขาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เนื่องจากวันนั้นเขาเองก็เป็นหนึ่งในคนที่เข้าไปช่วยดับไฟ แต่หลังจากถูกสอบปากคำตั้งแต่เช้าจรดค่ำติดต่อกัน 23 วัน (โดยที่ไม่มีทนายหรือที่ปรึกษาทางกฎหมายอยู่ด้วย) เขาก็ยอมเซ็นคำรับสารภาพแต่โดยดี
อย่างไรก็ดี ตอนที่ขึ้นศาล อิวาโอะ ก็เปลี่ยนคำให้การ และยืนยันว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ เขาบอกว่าเขาโดนบังคับให้สารภาพ ทั้งทรมาน ขู่เข็ญ และทุบตี รวมถึงปฏิเสธที่จะให้เขาเข้าห้องน้ำในระหว่างการสอบสวน จนเขาทนไม่ไหว
"ผมทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากหมอบลงกับพื้นและพยายามไม่ให้ถ่ายอุจจาระออกมา หนึ่งในผู้สอบสวนเอานิ้วโป้งผมไปที่แท่นหมึก แล้วปั๊มนิ้วลงในบันทึกคำสารภาพ และสั่งให้ผม 'เขียนชื่อลงตรงนี้' ในขณะเดียวกันก็ตะคอกใส่ผม เตะผม และบีบแขนผม" อิวาโอะกล่าว
นอกจากนี้คดีดังกล่าวยังมีความไม่ชอบมาพากล เมื่อพยานที่สามารถยืนยันที่อยู่ของอิวาโอะในวันนั้น กลับเปลี่ยนคำให้การ แถมในบันทึกคำสารภาพ 45 ฉบับ ก็มีเพียงฉบับเดียวที่ถูกนับเป็นหลักฐาน
ในขณะที่หลักฐานหลายอย่างที่อัยการนำมา ก็ถูกพิสูจน์ว่าไม่ใช่ของจริง ทั้งมีดปอกผลไม้ที่ไม่สามารถทนทานต่อการแทงถึง 40 แผล หรือเสื้อเปื้อนเลือด ที่เล็กกว่าขนาดตัวของอิวาโอะ
Photo : tamutamu2014.web.fc2.com
"มีเพื่อนร่วมงานที่ยืนยันที่อยู่ของฮาคามาดะ ด้วยการบอกว่าฮาคามาดะเดินตามหลังเขาในตอนที่เกิดเหตุการณ์ แต่พยานคนดังกล่าวก็ถอนคำให้การในเวลาต่อมา โดยไม่ได้บอกเหตุผล" ฮิเดโกะ กล่าวกับ The Ring
"มันต้องมีอะไรบางอย่างอยู่เบื้องหลัง ชุดนอนเปื้อนเลือดที่ถูกใช้เป็นหลักฐานในตอนแรกต่อมาก็พิสูจน์ว่ามันไม่ใช่"
"เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลคดีนี้มีชื่อเสียงในฐานะ 'ราชาแห่งการทรมาน' ที่ทรมานและตั้งข้อหาเท็จแก่ผู้บริสุทธิ์มากมาย"
"มีบันทึกอย่างเป็นทางการที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเขาถูกสอบปากคำอย่างไร้มนุษยธรรมทุกวัน ซึ่งไม่มีวันทำได้ในปัจจุบัน เขาบอกตำรวจในเรื่องที่ไม่จริง เพื่อรักษาชีวิตของตัวเองไว้ น้องของฉันถูกล้อมกรอบในฐานะฆาตกรจากตำรวจ ที่มีแรงจูงใจจะทำให้เขาเป็นฆาตกรให้ได้"
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ระบบยุติธรรมของญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับ "บันทึกคำสารภาพ" และมองว่ามันคือ ราชาของหลักฐานและองค์ประกอบชี้ขาดในการพิสูจน์ ทำให้สุดท้ายผู้พิพากษาจากศาลแขวงชิซูโอกะ ได้ตัดสินให้ อิวาโอะ มีความผิด และต้องโทษประหารชีวิต ในปี 1968
และทำให้มันกลายเป็นที่รู้จักในชื่อ "คดีฮาคามาดะ"
ตายทั้งเป็น
หลังคำตัดสินในปี 1968 สมาคมมวยอาชีพญี่ปุ่น คือองค์กรแรก ๆ ที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้ อิวาโอะ พวกเขามองว่าผู้คนต่างมีอคติต่อนักมวย เนื่องจากมันไม่ใช่ศิลปะการต่อสู้ที่ทรงเกียรติเท่ากับ ยูโด หรือเคนโด
นอกจากนี้สมาคมยังมองว่าหลักการที่ว่า "ผู้ต้องหายังคงเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะถูกพิสูจน์ว่ามีความผิด" ได้ถูกทำลายไปโดยสื่อ หลังจากที่สื่อต่าง ๆ ทั้งทีวีและหนังสือพิมพ์ พยายามรายงานข่าวซ้ำ ๆ ชี้นำว่าอิวาโอะคือคนร้ายในคดีนี้
Photo : adpan.org
ในขณะที่ อิวาโอะ ก็ยืนยันว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ และเฝ้ารอการตัดสินอย่างเป็นธรรมจากศาลสูง (High Court) หรือศาลฎีกา (Supreme Court) ตลอด 20 ปีแรกที่ถูกคุมขัง เขาเชื่อมาตลอดว่าวันหนึ่งเขาจะได้รับอิสรภาพ
เขาใช้ชีวิตอย่างมีความหวังในเรือนจำ ทั้งสมัครเรียนเพื่อนำความรู้ไปใช้หลังถูกปล่อยตัว หรือเข้ารีตเป็นศาสนิกชน นอกจากนี้เขายังเขียนจดหมายถึงที่บ้านเป็นประจำ และบอกกับแม่ รวมไปถึงลูกชายของเขาว่าเขาไม่ได้ทำผิด
"พ่อจะพิสูจน์ให้ลูกเห็นว่า พ่อของลูกไม่มีวันฆ่าใคร เรื่องนี้ตำรวจรู้ดีที่สุด และทำให้ผู้พิพากษาต้องเสียใจ พ่อจะแหวกโซ่นี้ และกลับไปหาลูกให้ได้" เนื้อความส่วนหนึ่งจากจดหมายที่ฮาคามาดะเขียนถึงลูกชาย
อย่างไรก็ดี แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของ อิวาโอะ ก็เริ่มหรี่ลงในปี 1980 เมื่อศาลฎีกายืนยันคำพิพากษาเดิมให้เขาต้องโทษประหารชีวิต และทำให้เขาถูกย้ายไปเรือนจำสำหรับนักโทษที่รอการประหารโดยเฉพาะ
เขาถูกนำไปขังเดี่ยวในห้องแคบ ๆ แถมในวันที่เขามาถึง นักโทษที่อยู่ห้องถัดไปจากเขาก็ถูกนำตัวไปประหาร ฮิเดโกะ เชื่อว่า มันคือวิธีทำลายขวัญกำลังใจของเรือนจำ
Photo : infoseek.co.jp
"ฉันคิดว่าพวกเขาจงใจทำลายขวัญกำลังใจของอิวาโอะ อิวาโอะบอกกับฉันว่าชายคนนั้นตะโกนบอกลากับผู้ต้องขังคนอื่น ตอนที่เขาถูกพาตัวไป" ฮิเดโกะ กล่าวกับ CNN
ตามปกติแล้ว นักโทษประหารมักจะถูกประหารด้วยวิธีแขวนคอหลังคำตัดสิน 6 เดือน แต่สำหรับญี่ปุ่นในยุคนั้นมันไม่ใช่ บางคนอาจจะ 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี แถมการประหารยังเป็นการทำในทางลับ โดยไม่แจ้งให้ครอบครัวหรือทนายความได้รู้ล่วงหน้า
ส่วนนักโทษ กว่าที่จะรู้ชะตากรรมของตัวเอง ก็เพียงแค่หนึ่งชั่วโมงก่อนการประหารเท่านั้น แน่นอนว่าสิ่งนี้บั่นทอนจิตใจพวกเขาเป็นอย่างมาก เพราะไม่มีทางรู้เลยว่าวันสุดท้ายจะมาถึงเมื่อไร และทำได้เพียงรอคอยเสียงเรียกจากผู้คุมอย่างหวาดกลัว
ทำให้หลังจากคำตัดสินของศาลฎีกา อิวาโอะ ก็เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ เขาเริ่มเขียนจดหมายกลับมาที่บ้านน้อยลง หรือบางทีก็หายไปเลย ในขณะที่บางฉบับที่มาถึงก็มีรอยลบหรือแก้ไข
แต่พี่สาวของเขาก็ไม่ยอมแพ้ เธอไปเยี่ยมน้องชายทุกเดือนเมื่อมีเวลาว่าง เพราะตราบใดที่เขายังไม่ถูกแขวนคอ มันก็ยังมีหวัง และแม้ว่าหลังจากปี 1991 เธอจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมก็ตาม
"ตั้งแต่ปี 1991 เรือนจำก็ให้ฉันเข้าเยี่ยมได้ยากขึ้น หรือแม้กระทั่งส่งจดหมาย หลายฉบับที่ฉันส่งไปก็ถูกเอาไปทิ้ง" ฮิเดโกะกล่าวกับ CNN
โชคยังดีที่เธอไม่ได้ต่อสู้อย่างเดียวดาย
เรียกร้องความเป็นธรรม
"อิวาโอะ ปฏิเสธว่าเขาไม่ได้ทำอะไรผิดมาตลอด" ฮิเดโกะบอกกับ The Ring
Photo : www.thejournal.ie
ญี่ปุ่น ถือเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดอาชญากรรมค่อนข้างต่ำ พวกเขาจับคนเข้าคุกน้อยมาก คือราว 36 คนต่อประชากร 100,000 คนเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยกันอย่างสหรัฐอเมริกา ที่มีอัตรา 665 คนต่อแสนคน หรือ สเปนที่ 124 คนต่อแสนคน
นอกจากนี้ พวกเขายังมีอัตราความเชื่อมั่นต่อระบบยุติธรรมที่สูงถึง 99 เปอร์เซ็นต์ อัยการจะดำเนินคดีเฉพาะคดีที่มีหลักฐานพิสูจน์ว่ามีความผิดจริง ทำให้หากมีใครบางคนถูกจับ หรือถูกฟ้องร้อง ผู้คนทั่วไปจะคิดว่าพวกเขาทำผิดอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี อาจจะไม่ใช่สำหรับอิวาโอะ แม้ว่าศาลฎีกาจะตัดสินให้เขามีความผิด และต้องโทษประหารชีวิต แต่ก็มีกลุ่มคนที่เชื่อว่าเขาเป็นเพียงแค่เหยื่อของระบบยุติธรรม
Photo : tamutamu2014.web.fc2.com
นับตั้งแต่ปี 1981 พวกเขาและฮิเดโกะ พยายามขออุทธรณ์ให้รื้อคดีกลับมาทำใหม่โดยมีเนติบัณฑิตยสภาญี่ปุ่นเป็นผู้ช่วยเหลือในเรื่องทีมกฎหมาย แต่ไม่ว่าจะมีหลักฐานแค่ไหน คำอุทธรณ์ของพวกเขาก็ถูกปฏิเสธ
ปี 2006 ผู้สนับสนุน อิวาโอะ ราว 500 คน ซึ่งรวมไปถึงนักมวยระดับแชมป์โลกอย่าง โคอิจิ วาจิมา และคัตสึโอะ โทคาชิกิ ได้ส่งจดหมายถึงศาลฎีกาเพื่อขออุทธรณ์คำตัดสิน แถมในปี 2007 โนริมิจิ คุมาโมโต หนึ่งในสามผู้พิพากษาที่ตัดสินประหารชีวิตเขา ก็ออกมาสนับสนุนว่า อิวาโอะ เป็นผู้บริสุทธิ์
คุมาโมโต บอกว่าเขาสงสัยในความถูกต้องของบันทึกคำสารภาพ แต่เขาไม่สามารถเกลี้ยกล่อมผู้พิพากษาทั้งสองได้ จึงลาออกจากตำแหน่งทันทีหลังจากทำคดีนั้น จากความรู้สึกผิด
"ผมคิดว่าผมต้องพูด อันที่จริงผมน่าจะพูดให้เร็วกว่านี้ และบางทีมันอาจจะทำให้บางอย่างเปลี่ยนไป" คุมาโมโต กล่าว
คำพูดของ คุมาโมโต ได้สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วญี่ปุ่น และทำให้ผู้คนเริ่มตั้งคำถามกับระบบยุติธรรมที่พวกเขาเชื่อมั่นมาตลอด มันทำให้หลายคนที่เคยมองว่าเขาเป็นฆาตกรมองเขาใหม่ และเปลี่ยนมาสนับสนุนเขา
Photo : www.change.org
หลังจากนั้นไม่นาน ได้เกิดแคมเปญเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ อิวาโอะ โดยมี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ องค์การนิรโทษกรรมสากล และสมาคมมวยอาชีพญี่ปุ่น เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ พวกเขายังได้จัดกิจกรรมการกุศล จนมีผู้สนับสนุนเพิ่มขึ้น และพยายามยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาเมื่อมีโอกาส
แม้ว่าคำอุทธรณ์ของพวกเขาจะถูกปฏิเสธมาตลอด แต่ยิ่งเวลาผ่านไป อิวาโอะ ก็ยิ่งมีผู้สนับสนุนมากขึ้น แม้กระทั่งนักการเมืองบางคนก็หันมาอยู่ข้างเขา เมื่อในปี 2010 สมาชิกจากหลายกลุ่มพรรคการเมืองได้ก่อตั้ง "สหพันธ์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องโทษ อิวาโอะ ฮาคามาดะ" ขึ้น และได้ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมให้เลื่อนการประหารออกไป
และในปี 2011 อิวาโอะ ในวัย 75 ปี ที่ยังถูกจองจำก็เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เมื่อ Guinness World Records ประกาศว่าเขาคือนักโทษที่รอการประหารนานที่สุดในโลก ด้วยสถิติ 42 ปี แม้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่ไม่น่าจดจำก็ตาม
อย่างไรก็ดี หลังจากต่อสู้มานาน ความพยายามของผู้สนับสนุนก็เป็นผล เมื่อในเดือนมีนาคม 2014 ศาลตัดสินใจปล่อยตัว อิวาโอะ ออกมาชั่วคราวในระหว่างรอการไต่สวนใหม่ เนื่องจากเชื่อว่าจำเลยน่าจะเป็นผู้บริสุทธิ์
"มันไม่ยุติธรรมที่จะกักขังจำเลยต่อไป เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าเขาจะเป็นผู้บริสุทธิ์" ฮิโรอากิ มุรายามะ ประธานผู้พิพากษากล่าว
และทำให้การเป็นนักโทษที่รอการประหารของ อิวาโอะ จบลงที่ 45 ปี
อิสรภาพที่สายไป ?
"ฉันไม่อาจขอบคุณทุกคนได้มากพอกับการสนับสนุนจากแฟนมวยทั่วโลก ที่เป็นกำลังใจให้ฉันและอิวาโอะ ไม่มีพวกคุณอิวาโอะคงจะไม่ได้รับอิสรภาพ" ฮิเดโกะ กล่าวกับผู้คนหน้าศาลในวันที่น้องชายถูกปล่อยตัว
"โชเซ นิตตะซัง จากเนติบัณฑิตยสภามีส่วนอย่างมากที่ทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นในระดับโลก เราจะสู้ต่อไปจนกว่าจะชนะ เพราะ อิวาโอะ ฮาคามาดะ คือ ผู้บริสุทธิ์ เขาควรมีชีวิตที่ดีกว่านี้"
Photo : www.asahi.com
การตัดสินของศาลเกิดขึ้นหลังจากทนายของอิวาโอะ แสดงให้ศาลเห็นว่า DNA จากเลือดที่พบจากเสื้อในที่เกิดเหตุไม่ตรงกับฮาคามาดะ ในขณะเดียวกันผู้พิพากษามองว่าผู้สอบสวน อิวาโอะ อาจจะสร้างหลักฐานเท็จขึ้นมาเพื่อเอาผิดเขา
"เสื้อผ้าที่พบไม่ใช่ของจำเลย และมีความเป็นไปได้ที่หลักฐาน(ชิ้นสำคัญ) จะถูกสร้างขึ้นโดยหน่วยสอบสวน" มุรายามะ ประธานผู้พิพากษากล่าว
อย่างไรก็ดี มันอาจจะเป็นอิสรภาพที่สายเกินไป เมื่อในวันที่ถูกปล่อยตัว เขาจดจำใครไม่ได้อีกแล้ว แม้กระทั่ง ฮิเดโกะ พี่สาวที่อยู่เคียงข้างเขามาตลอด แถมยังมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเป็นนักโทษที่รอการประหารมาเกือบ 50 ปี
"น้องชายของฉันอยู่ในโลกของเขาเอง ฉันคิดว่าเขาเชื่อว่าตัวเองเป็นพระเจ้าที่กำลังปกครองโลก" ฮิเดโกะ กล่าวกับ Japan Today
"มีหลายครั้งที่เขาจำฉันไม่ได้ว่าคือพี่สาว เขาบอกว่า 'เธอโกหก' และ 'ยัยแก่เม็กซิกัน' เป็นธรรมดาที่จิตใจเขาจะทรุดโทรม เขาใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำมา 48 ปี"
Photo : www.nst.com.my
แต่ถึงอย่างนั้นสุขภาพร่างกายของเขาดูเหมือนจะดีขึ้นหลังออกจากเรือนจำ ทุกวันเขาจะตื่นนอนตั้งแต่เช้ามืด และออกไปเดินเล่นราว 4 ชั่วโมงตามท้องถนนในเมืองฮามามัตสึ กับอาสาสมัคร ที่เข้ามาช่วยดูแลเขา
ฮิเดโกะ จะให้เงินเขาวันละ 500 เยน (ราว 150 บาท) ที่สามารถซื้อน้ำหรือขนมตอนเดินเล่นได้ แต่บ่อยครั้งที่เขาเอาเงินนี้ไปให้เด็ก แม้ว่า อิวาโอะ จะไม่เคยได้เจอลูกชายอีกเลยนับตั้งแต่มีคดี แต่ฮิเดโกะคิดว่าเขาน่าจะจำได้ว่าเคยมีลูก
เมื่อเขากลับมาที่บ้าน อิวาโอะ ก็จะนิ่งเงียบ หรืออาจพูดคุยกันแค่คำสองคำ จากนั้นก็จะเอาทิชชูมาพับเป็นสี่เหลี่ยม ซึ่งเป็นนิสัยที่เขาติดมาตั้งแต่สมัยที่ใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ
Photo : www.hakamada-movie.com
จนถึงทุกวันนี้ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าใครเป็นคนฆ่าเจ้านายของเขาและครอบครัว แม้ว่าส่วนหนึ่งจะเชื่อว่าลูกสาวคนโตของฟูจิโอะ ที่แยกตัวออกไปอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากเธอตัดสินใจฆ่าตัวตายในวันที่ อิวาโอะ ได้รับการปล่อยตัว
อย่างไรก็ดี ภายใต้กฎหมายของญี่ปุ่น ตราบใดที่ยังไม่สามารถหาผู้กระทำผิดที่แท้จริงได้ อิวาโอะ ก็ยังถือว่าเป็นฆาตกรที่ได้รับโทษประหาร และพวกเขาก็ยังต้องต่อสู้กับอัยการ ที่พยายามอุทธรณ์คัดค้านการปล่อยตัวเขา
ทำให้การต่อสู้ของเขายังไม่จบ แต่โชคดีที่เขาไม่ต้องสู้กับมันเพียงลำพัง เมื่อมีผู้คนมากมายที่คอยสนับสนุนเขา โดยเฉพาะฮิเดโกะ พี่สาววัยแปดสิบกว่า เธอบอกว่าเธอไม่เคยไปเที่ยวพักผ่อนเลยตั้งแต่ที่ อิวาโอะ ถูกส่งเข้าเรือนจำ
Photo : npokitchengarden.hamazo.tv
"ฉันไม่มีเหตุผลที่จะให้ตัวเองได้สนุก ตราบใดที่อิวาโอะ กำลังต่อสู้เพื่อชีวิตของเขา" ฮิเดโกะกล่าวกับ Japan Today เมื่อปี 2019
"แม้กระทั่งตอนนี้ ที่ฉันอายุ 86 ฉันยังคงออกกำลังกายวันละ 30 นาที ตราบใดที่เขายังต้องการความช่วยเหลือจากฉัน ฉันต้องรักษาสุขภาพให้ดี"
ถึงตอนนี้ ฮิเดโกะ ก็ยังคงยืนหยัดต่อสู้เพื่อ อิวาโอะ และรอวันที่จะปลดปล่อยพันธนาการของคำว่า "นักโทษประหาร" ออกจากตัวน้องชายของเธอ เพื่อที่พวกเขาจะสามารถใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายโดยไม่มีอะไรติดค้างเสียที