เพื่อความปลอดภัย! ไทยลีก แถลงขยับปฏิทินการแข่งขันฤดูกาล 2564/65
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 กรกฎาคม 2564 บริษัท ไทยลีก จำกัด นำโดย คุณกรวีร์ ปริศนานันทกุล รักษาการประธานบริหาร ได้มีการจัดงานประชุมออนไลน์ เพื่อพูดคุยกับตัวแทนสโมสรในระดับไทยลีก 1-2 สำหรับสถานการณ์การจัดแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพภายในประเทศขึ้น
สืบเนื่องจาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วน จนศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้มีการเพิ่มความเข้มข้นในมาตราการการยับยั้งการแพร่ระบาดใน 13 จังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, นครปฐม, นนทบุรี, นราธิวาส, ปทุมธานี, ปัตตานี, พระนครศรีอยุธยา, ยะลา, สงขลา, สมุทรปราการ และ สมุทรสาคร พร้อมกับมีมาตรการขยายปิดกิจการหรือปิดสถานที่ 10 ประเภทกิจการ รวมไปถึงสนามกีฬาฟุตบอลด้วยนั้น ทำให้ ไทยลีก ต้องมีการหารือกับตัวแทนสโมสรอย่างเร่งด่วนในเรื่องของการจัดกแข่งขันประจำฤดูกาล 2564/65
ภายหลังการประชุม ไทยลีก ได้ข้อสรุปจากการหารือร่วมกันว่า การแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพประจำฤดูกาล 2564/65 จะขยับปฏิทินการแข่งขันไปตามนี้
ไทยลีก 1 เริ่มแข่งขันวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2564 สิ้นสุดการแข่งขันวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
ไทยลีก 2 เริ่มแข่งขันวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2564 สิ้นสุดการแข่งขันวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2565 ส่วนการแข่งขันรอบเพลย์ออฟ เริ่มวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 สิ้นสุดการแข่งขันวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
ฟุตบอลไทยแลนด์ แชมเปี้ยนส์ คัพ แข่งขันวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564
เอฟเอ คัพ รอบแรก เริ่มแข่งขันวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2564 นัดชิงชนะเลิศ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
ลีก คัพ รอบแรก เริ่มแข่งขันวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2564 นัดชิงชนะเลิศ 23 เมษายน พ.ศ. 2565
ตลาดซื้อขายนักเตะ (รอบแรก) วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ถึง 17 สิงหาคม พ.ศ. 2564
โดย คุณกรวีร์ ได้ออกมากล่าวในการแถลงข่าวให้สื่อมวลชนรับทราบสำหรับการขยับปฏิทินการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพฤดูกาล 2564/65 ว่า "ผมทราบดีว่าในช่วงวิกฤตตอนนี้ แฟนบอลเอง สื่อมวลชนเอง ก็ตั้งหน้าตั้งตารอคอยว่าจะกลับมาแข่งได้ไหม หรือเราจะมีมาตรการอย่างไร ซึ่งเราก็ได้มีการประชุมกับสโมสรในไทยลีก 1-2 เมื่อช่วงเช้า เกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นประกาศจากศบค. ซึ่งมากระทบการจัดการแข่งขันฟุตบอล โดยตอนแรก เราขยับจากต้นเดือนสิงหาคม มาเป็นช่วงกลางเดือนสิงหาคม”
“แต่จากคำสั่งของศบค. ล่าสุด ที่มีการปิดสนามกีฬา แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อสโมสรในลีกอาชีพของเมืองไทยในทุกระดับ รวมถึงการประกาศห้ามการชุมนุมรวมกันไม่เกิน 5 คน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำหรับการจัดแข่งขัน หรือการเตรียมความพร้อมของสโมสรฟุตบอลอีกด้วย แม้ตอนนี้สโมสรจะเริ่มการพรีซีซั่นไปแล้ว”
“สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน สื่อมวลชนทุกคนคงทราบดีว่า เรามีพื้นที่สีแดงเข้มถึง 13 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุดอีก 53 จังหวัด ซึงพื้นที่เหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกทุกระดับทั้งสิ้น โดยมีถึง 7 สโมสรในไทยลีก 1 และ 6 สโมสรในไทยลีก 2 ที่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม และที่เหลือก็อยู่ในพื้นที่สีแดงทั้งหมด เว้นเพียงแค่ แพร่ ยูไนเต็ด และจากที่เราได้บอกไปตอนต้นว่ามันมีผลกระทบต่อเรื่องของสนาม การเตรียมความพร้อม และการจัดการของสโมสร รวมถึงลีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งเราได้รับหนังสือจากกกท. เมื่อสัปดาห์ก่อน เพื่อขอความร่วมมือในการห้ามการจัดการแข่งขัน หรือเลื่อนการแข่งขันออกไป”
“เมื่อมีหนังสือแจ้งออกมา หากเราจะกลับมาจัดแข่งขัน เราต้องกลับมาทำหนังสือขออนุญาตกกท. รวมถึงศบค. เพื่อกำหนดมาตรการแข่งขัน รวมถึงระยะเวลาที่จะใช้แข่งขัน เพื่อทำให้มั่นใจว่าการแข่งขันฟุตบอลจะไม่เป็นปัญหา และเป็นคลัสเตอร์ที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดเพิ่ม ทางเราเอง ได้ทำงานร่วมกัยสมาคมฯ, กรมควบคุมโรค และศบค. อยู่ตลอด เราได้สอบถามศบค. ไปแล้วว่าต้องทำเรื่องหาศบค. อีกหรือไม่ แต่ในวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่มีประกาศไม่ให้ใช้สนามกีฬา เราจึงจำเป็นต้องพูดคุยกับสโมสรสมาชิกเพื่อทำความเข้าใจ และเพื่อนำมาปรับสำหรับการเตรียมความพร้อมครับ”
“ผมยืนยันกับทุกท่านได้เลยครับว่า ไทยลีก, สมาคมฯ และสโมสรเห็นตรงกันถึงความสำคัญในการทำให้ฟุตบอลกลับมาแข่งขันได้ เพราะหากฟุตบอลลีกแข่งขันไม่ได้ ทุกฝ่ายก็เสียหายหมด นี่จึงเป็นเรื่องที่เราตระหนักอยู่ตลอด รวมถึงทำให้ฟุตบอลกลับมาแข่งขันได้ อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าสื่อมวลชนก็เข้าใจว่าเรามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมาตลอด ต่างจากช่วงที่เราแข่งจบฤดูกาลไป”
“เมื่อเช้า เราได้มีการพูดคุยกันหลายเรื่อง และเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญเรื่องแรกคือ เรามีมติร่วมกันในการเลื่อนการแข่งขันเป็นช่วงต้นเดือนกันยายน แต่ช่วงเวลาของการจบเลกแรก หรือการจบฤดูกาลแข่งขันยังคงเหมือนเดิม เรื่องที่สองคือกากรที่เราจะนำฟีฟ่าเดย์มาใช้กับการแข่งขันลีก ส่วนการแข่งขันซูซูกิ คัพ เราได้รับการยืนยันว่ายังมีการจัดแข่งขันเหมือนเดิม ในช่วงวันที่ 5 ธันวาคม - 1 มกราคม 2565 เราจึงยังต้องมีการหยุดลีก”
“เรื่องต่อมา สโมสรใน 13 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มว่า หากจะกลับมาจัดแข่งขัน สโมสรที่อยู่ในพื้นที่นี่จะไม่มีการจัดการแข่งขัน โดยสโมสรจะต้องหาสนามสำรองเพื่อใช้แข่งขัน และมีการเสนอเข้ามาให้ไทยลีก ซึ่งนี่จะเป็นการใช้แก้ปัญหาในช่วงแรกเท่านั้น เพราะเราคงไม่จัดแข่งแบบนี้ไปตลอดฤดูกาล ซึ่งเราจะดูจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อไป”
“ประเด็นต่อมา เราจะมีการตั้งคณะทำงานจากตัวแทนสโมสรในไทยลีก 1-2 ในการทำงานร่วมกับสมาคมฯ และฝ่ายสิทธิประโยชน์ เพื่อกำหนดแนวทางในการกลับมาจัดการแข่งขัน รวมถึงขออนุญาตกำหนดหลักเกณฑ์ที่จะมาใช้กับทุกสโมสร หากกลับมาแข่งขันได้ นี่เป็นเรื่องสำคัญที่สโมสรจะเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดวิธีการแข่งขัน และทิศทางการแข่งขันครับ”
“เรื่องสุดท้าย เราได้มีการพูดคุยกับกรมควบคุมโรค เพื่คุยเรื่องมาตรฐานสำหรับการจัดแข่งฟุตบอล ซึ่งเราพูดคุยเสร็จสมบูรณ์แล้ว และรอการคุยกับศบค. แต่จากการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างหนัก ทำให้เราไม่สามารถเข้าไปพูดคุยกับศบค. ได้ และตอนนี้เรา กับสโมสรได้เห็นตรงกันว่า จะขยับการแข่งขันเป็นช่วงต้นเดือนกันยายน แต่หากสถาณการณ์ยังเลวร้ายกว่าเดิม เราอาต้องมีการพูดคุยอีกครั้งในเรื่องของการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดบั้บเบิ้ล หรือการหาสนามกลางครับ หากแผนแรกไม่ได้รับการอนุมุติกับศบค.”
“ทั้งนี้ ผมต้องขอย้ำกับสื่อมวลชนทุกท่านอีกครั้งว่า อำนาจในการตัดสินใจสำหรับการกลับมาแข่งขันนั้นไม่ได้อยู่กับสมาคมฯ แล้ว ตอนนี้อำนาจขึ้นกับภาครัฐที่จะต้องกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครับ ซึ่งเราหวังว่าการจัดการแข่งขันเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก แบบบั้บเบิ้ล ที่ไม่มีการติดเชื้อเลย จะทำให้ศบค. เชื่อมั่น และให้ความมั่นใจในการจัดการแข่งขันแก่เราครับ ขอบคุณครับ”
ทั้งนี้ ไทยลีก เข้าใจในสถานการณ์ความรุนแรงของการแพร่ระบาดครั้งนี้ และมีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศบค. อย่างเคร่งครัด จึงเรียนมาเพื่อทราบ และต้องขออภัยในความไม่สะดวกแก่ทุกท่าน