ร้อยล้านก็ยอมจ่าย : 10 การ์ดนักกีฬาที่แพงที่สุดในโลก

ร้อยล้านก็ยอมจ่าย : 10 การ์ดนักกีฬาที่แพงที่สุดในโลก

ร้อยล้านก็ยอมจ่าย : 10 การ์ดนักกีฬาที่แพงที่สุดในโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ข่าวการประมูลการ์ดเซ็นสดใบแรกในชีวิตของ เออร์ลิง ฮาลันด์ กลายเป็นที่สนใจของแฟนฟุตบอล เนื่องจากการ์ดใบนี้ทำราคาสูงถึง 442,800 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 14 ล้านบาทไทย แพงที่สุดในประวัติศาสตร์การ์ดของนักฟุตบอล

หากคุณคิดว่าราคาการ์ดของฮาลันด์แพงจนน่าเหลือเชื่อ แต่ในความเป็นจริงแล้วเงินจำนวนนี้ ไม่ได้ทัดเทียมราคาของการ์ดระดับหัวแถว ที่แตะระดับร้อยล้านบาทแบบสบาย ๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสการสะสมการ์ดที่มาแรง ในช่วงปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้ราคาของวงการนี้ดีดขึ้นสูงเป็นเท่าตัว จนมีการทำลายสถิติกันเป็นว่าเล่น ทั้งการ์ดนักฟุตบอลที่แพงที่สุด, การ์ดนักบาสเกตบอลที่แพงที่สุด, การ์ดนักอเมริกันฟุตบอลที่แพงที่สุด และการ์ดนักกีฬาที่แพงที่สุดในโลก ซึ่งสถิติทั้งหมดที่เรากล่าวมา ถูกทำลายในปี 2021

MainStand จะพาไปดู 10 เทรดดิ้ง การ์ด ของวงการกีฬาที่แพงที่สุดในโลก มีภาพอะไรที่สะท้อนออกมาได้อย่างน่าสนใจบ้าง และถ้าอยากเก็บการ์ดที่มีโอกาสขายในราคาสูง ควรจะเก็บการ์ดรูปแบบไหน

เบสบอล-บาสเกตบอล ยึดหัวหาด

10 อันดับแรกของการ์ดนักกีฬาที่แพงสุดในโลก เห็นได้ชัดเจนว่า การ์ดถึง 9 จาก 10 ใบ มาจากกีฬาเบสบอล และบาสเกตบอล โดยอีกหนึ่งใบนั้นเป็นของ ทอม เบรดี้ นักอเมริกันฟุตบอลระดับตำนาน

จากสิ่งที่เกิดขึ้นเห็นได้ชัดเจนว่า การ์ดของนักกีฬาที่มีราคาแพงที่สุด คือการ์ดจากกีฬาจำพวก "อเมริกันเกมส์" ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะวัฒนธรรมการสร้าง และสะสมการ์ดของนักกีฬา เกิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา 

ดังนั้น ชาวอเมริกันจึงถือเป็นต้นตำรับของแท้ด้านการเก็บการ์ด จนกลายเป็นงานอดิเรกที่พบเห็นได้ทั่วไป เมื่อมีคนต้องการมาก ราคาของการ์ดก็ย่อมพุ่งขึ้นสูงมากเป็นธรรมดา เพราะการ์ดบางใบก็ถูกผลิตขึ้นมาน้อยชิ้น บางรุ่นมีแค่ 1 ใบบนโลก

แต่สิ่งที่น่าสังเกตยิ่งกว่านั้น คือกีฬาอเมริกันฟุตบอล ที่เป็นกีฬายอดนิยมอันดับ 1 ของชาวอเมริกัน กลับมีราคาการ์ดไม่สูงเท่ากีฬา อย่าง เบสบอล หรือ บาสเกตบอล 

ซึ่งเป็นเพราะว่า ในช่วงปลายยุค 80s ที่เป็นจุดเริ่มต้นของความนิยมในการเก็บสะสมการ์ด คนส่วนใหญ่สะสมแค่การ์ดเบสบอล เพราะเป็นออริจินัลของการทำการ์ดนักกีฬา และมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ ยุคปี 1910s 

ก่อนจะขยายไปหากีฬาบาสเกตบอล จากเหตุการณ์ที่ ไมเคิล จอร์แดน ประกาศเปลี่ยนมาเล่นเบสบอล ในปี 1994 ทำให้แฟนบาสเกตบอลจำนวนมาก หันมาหาการ์ดเอ็มเจในคราบนักเบสบอล จนกลายเป็นการแนะนำคนกลุ่มนี้เข้าสู่วงการสะสมการ์ดไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม อเมริกันฟุตบอลไม่ได้มีความเชื่อมโยง กับเทรดดิ้งการ์ด มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ทำให้วัฒนธรรมการสะสมการ์ด ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคนรักกีฬาชนิดนี้ในวงกว้าง และแฟนเกมคนชนคนจึงนิยมหันไปสะสมของในรูปแบบอื่นมากกว่า

card001

ซื้อการ์ดรุกกี้ ถ้าอยากขายได้ราคา

หากคุณเป็นคนสะสมการ์ด และอยากเก็งกำไรเพิ่มมูลค่าของสะสมไปด้วย เผื่อใช้เป็นเครื่องมือหาทุนในอนาคต สิ่งหนึ่งที่ลิสต์นี้สามารถบอกได้คือ จงเน้นซื้อ "การ์ดรุกกี้" การ์ดในปีแรก หรือรุ่นแรก ของนักกีฬาที่มีวางจำหน่าย

เพราะ 8 จาก 10 ใบ ของการ์ดในลิสต์ คือการ์ดที่ถูกวางจำหน่ายในปีที่ผู้เล่นเป็นรุกกี้ มีเพียงแค่การ์ดของ โฮนัส แวกเนอร์ และ ไมเคิล จอร์แดน เท่านั้น ที่ไม่ได้ถูกผลิตในช่วงปีแรกเริ่มของนักกีฬา

เหตุผลที่การ์ดจากปีรุกกี้มีราคาแพงมากกว่าปีอื่น ก็เข้าใจได้ไม่ยากว่า เป็นการ์ดใบแรก ๆ ที่ถูกนำออกมาวางจำหน่าย บวกกับเวลาที่นักกีฬาเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ พวกเขายังไม่ใช่ท็อปสตาร์ของลีก จึงไม่ได้มีผลิตออกมาเยอะนัก

พูดง่าย ๆ คือ การ์ดของนักกีฬาในปีแรกคือของหายากโดยตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะเป็นที่ต้องการสูงในตลาด เพราะนอกจากลุ่มแฟนของนักกีฬาคนนั้น ที่อยากได้การ์ดหายากมาเก็บไว้ในคอลเลคชั่น เพื่อแสดงความเป็นแฟนพันธ์ุแท้ ยังมีกลุ่มนักสะสมที่นิยมซื้อการ์ดผู้เล่นหน้าใหม่อนาคตไกล เพื่อเก็งกำไรไว้อีกด้วย

แต่สุดท้ายแล้ว เรื่องของการสะสมการ์ดก็เป็นความสุขทางใจของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการ์ดราคาหลักล้าน หรือไม่กี่ร้อยบาท ทุกคนสามารถมีความสุขกับการการ์ดของนักกีฬาที่คุณชื่นชอบได้ ขอแค่คุณรักในการสะสมการ์ดจริง ๆ สร้างคอลเลคชั่นส่วนตัว ที่มีคุณค่าทางจิตใจของคุณ เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook