แมตช์อัปยศ : "สงครามกรุงเบิร์น" เกมฟุตบอลโลกที่เดือดตั้งแต่ในสนามถึงห้องแต่งตัว
"ผมคิดว่านี่จะเป็นเกมที่ดีที่สุดในชีวิตของผม แต่ที่ไหนได้ มันกลับกลายเป็นสงคราม พวกเขาทำตัวเหมือนสัตว์ร้าย มันคือความอัปยศ"
นี่คือสิ่งที่ อาเธอร์ เอลลิส ผู้ตัดสินชาวอังกฤษ พูดถึง “สงครามกรุงเบิร์น” เกมการแข่งขันรอบก่อนรองชนะเลิศ ฟุตบอลโลก 1954 ระหว่าง บราซิล และ ฮังการี สองทีมฟุตบอลแถวหน้าในช่วงต้นทศวรรษ 1950s
เกมที่ประกอบด้วย 42 ฟรีคิก, 3 ใบแดง, 2 จุดโทษ และการวางมวยแบบเละเทะในห้องแต่งตัว อะไรคือสาเหตุของแมตช์อัปยศนี้ ? ติดตามทุกรายละเอียดของการแข่งขัน ราวกับคุณยืนอยู่ข้างสนาม ในบทความนี้ของ Main Stand
ก่อนจะถึงสงคราม
ฟุตบอลโลก 1954 คือสมรภูมิรบของสงครามแห่งกรุงเบิร์น แต่กว่าแฟนฟุตบอลจะได้ชมเกมลูกหนังสะท้านโลก พวกเขาต้องรอจนถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ ... กว่าจะไปถึงตรงนั้น เราขออนุญาตพาคุณย้อนไปดูการเดินทางของสองคู่กรณี บราซิล และ ฮังการี เสียก่อน
สำหรับขุนพลทัพเซเลเซา แม้พวกเขาจะก้าวถึงตำแหน่งแชมป์โลกในอีก 4 ปีถัดมา แต่ช่วงเวลาก่อนหน้านั้น บราซิลไม่เคยเป็นมหาอำนาจในโลกฟุตบอล หรือแม้แต่ในทวีปอเมริกาใต้ เนื่องจาก อุรุกวัย และ อาร์เจนตินา ครองความยิ่งใหญ่มาโดยตลอด
เมื่อได้โอกาสลงเล่นฟุตบอลในแดนศิวิไลซ์อย่าง ทวีปยุโรป ทีมชาติบราซิลจึงสร้างผลงานแบบ “งามหน้า” มาแล้วหลายครั้ง เนื่องจากสไตล์การเล่นแบบโหด ดิบ เถื่อน เหมือนกับการแข่งขันที่เกิดขึ้นในฟุตบอลโลก 1938 ที่พวกเขาลงแข่งขันกับประเทศเชโกสโลวาเกีย
นักเตะบราซิลถูกไล่ออกสองราย เนื่องจากเล่นหนักเกินเหตุ ส่วนผู้เล่นเชโกสโลวาเกียที่อารมณ์ร้อนตาม ถูกไล่ออกไปอีกหนึ่งคน แต่ที่แย่กว่านั้น คือมีนักเตะรวม 3 คนจากทั้งสองฝ่าย ได้รับอาการบาดเจ็บจากการแข่งขันจนเล่นต่อไม่ได้ ซึ่ง 2 จาก 3 รายที่กล่าวมา คือ โอลดริช เนเยดลี่ และ ฟรานติเซ็ก พลานิชก้า ซูเปอร์สตาร์ของเชโกสโลวาเกีย
โดย พลานิชก้า ซึ่งเล่นในตำแหน่งผู้รักษาประตู ถูกของแถมจากกองหน้าชาวบราซิลรายหนึ่ง จนแขนขวาหัก และต้องฝืนเล่นต่อจนจบการแข่งขัน ส่วน เนเยดลี่ เลวร้ายกว่านั้น เพราะหลังจากที่เขาทำประตูในเกมดังกล่าวได้ ขุนพลบราซิลก็ประเคนเท้าใส่เขาแบบเต็มที่ จนในที่สุด เนเยดลี่ ได้รับอาการบาดเจ็บขาขวาหัก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เขาต้องแขวนสตั๊ดในเวลาต่อมา
ฟุตบอลเกมดังกล่าวถูกขนานนามว่า “สงครามที่บอร์กโดซ์” ซึ่งสไตล์การเล่นแบบถึงลูกถึงคน ยังคงติดทีมชาติบราซิลมาจนถึงฟุตบอลโลก 1954 แม้เวลานั้น พวกเขาจะเริ่มเล่นฟุตบอลเกมรุกบุกเร้าใจแล้วก็ตาม
ส่วน ฮังการี พวกเขาคือมหาอำนาจลูกหนังตัวจริงในปี 1954 ขุนพล “เมจิก แมกยาร์” ปฏิวัติวงการฟุตบอลยุโรป ด้วยการเล่นฟุตบอลแบบลื่นไหล นักเตะเคลื่อนที่ทดแทนกันได้ในแต่ละตำแหน่ง และผ่านบอลกับพื้นอย่างสวยงาม นี่คือแทคติกที่เชื่อกันว่าเป็นพื้นฐานของ “โททัล ฟุตบอล” สุดยอดรูปแบบการเล่นแห่งโลกลูกหนัง
ทีมชาติฮังการีขณะนั้น ยังมีนักเตะฝีเท้าเก่งกาจที่สุดในโลก เฟเรนซ์ ปุสกัส เจ้าของสถิติลงเล่นในระดับสโมสร 530 ยิง 514 ประตู และลงเล่นให้ทีมชาติฮังการี 85 นัด ระเบิด 84 ประตู
ความเก่งกาจของปุสกัส และแทคติกที่ยอดเยี่ยมของ กุสตาฟ เซเบส ทำให้ฮังการีสามารถคว้าเหรียญทองจากโอลิมปิก เกมส์ 1952 และครองสถิติไม่แพ้ใคร 32 นัด ก่อนลงแข่งขันฟุตบอลโลก 1954 โดยหนึ่งในนั้นคือการบุกถล่มทีมชาติอังกฤษ 6-3 ถึงสนามเวมบลีย์ ในปี 1953 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ทัพสิงโตคำราม แพ้คาบ้านแก่ทีมนอกสหราชอาณาจักร
ฮังการีลงเล่นในฟุตบอลโลก 1954 สมราคาเต็งหนึ่ง เพราะในรอบแบ่งกลุ่ม พวกเขาถล่มเกาหลีใต้ 9-0 ตามด้วยการยำใหญ่เยอรมันตะวันตก 8-3 (ทีมเดียวกับที่ชนะพวกเขาในรอบชิงชนะเลิศนั่นแหละ) ส่งผลให้ฮังการีตีตั๋วเข้าสู่รอบต่อไปแบบเหงื่อไม่ตก
ทางฝั่งของบราซิล พวกเขาเริ่มต้นเส้นทางบนเวทีฟุตบอลโลก 1954 ได้ร้อนแรงไม่แพ้กัน จากชัยชนะเหนือเม็กซิโก 5-0 ก่อนเสมอยูโกสลาเวีย 1-1 ส่งผลให้เก็บ 3 คะแนน เท่ากับยูโกสลาเวีย ก่อนคว้าอันดับหนึ่งของกลุ่ม A ด้วยการจับสลาก และโคจรไปเจอกับฮังการี ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของกลุ่ม B
การพบกันระหว่าง บราซิล และ ฮังการี ในรอบก่อนรองชนะเลิศ จึงเป็นเกมฟุตบอลที่น่าดูชม เพราะต่างเล่นเกมรุกดูสนุกกันทั้งคู่ แต่ใครจะไปคิดว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสนามวันค์ดอร์ฟสตาดิโอน กรุงเบิร์น สวิตเซอร์แลนด์ ในวันนั้นจะดุเดือดยิ่งกว่าสงคราม จากภาพที่โลกฟุตบอลไม่เคยเห็นมาก่อน
เดือดเกินกว่าจะเป็นกีฬา
ก่อนการแข่งขันจะเริ่มต้นขึ้น ทีมชาติฮังการีประกาศว่า พวกเขาจะไม่ส่งซูเปอร์สตาร์หมายเลขหนึ่ง เฟเรนซ์ ปุสกัส ลงสนามเนื่องจากอาการบาดเจ็บ แต่ถึงจะขาดดาวดัง แต่ก็มีผู้ชมราว 40,000 เดินทางมาชมเกมจนแน่นสนาม เพื่อหวังดูพิษสงของเมจิก แมกยาร์ ให้เห็นกับตา
ทีมชาติฮังการีไม่ทำให้แฟนบอลผิดหวัง พวกเขาบุกหนักจนบราซิลหลังพิงฝาตั้งแต่นาทีแรกของเกม ท่ามกลางฝนที่ตกหนักในกรุงเบิร์น ฮังการีแสดงให้เห็นว่าทำไมพวกเขาถึงเป็นทีมที่ดีที่สุดในโลก ด้วยการยิงประตูขึ้นนำตั้งแต่นาทีที่ 3 จากนานดอร์ ฮิเดกคูตี เพลย์เมคเกอร์ตัวเก่ง ก่อนจะหนีห่างเป็น 2-0 ในนาทีที่ 7 ของการแข่งขัน ด้วยลูกโหม่งของซานดอร์ ค็อกซิส นักเตะเจ้าของฉายา “ศีรษะทองคำ”
การนำห่างของฮังการีนำมาสู่การทำฟาวล์พร่ำเพรื่อของทั้งสองฝ่าย เมื่อบวกกับสายฝนที่เทลงมาอย่างหนักจากฟากฟ้า อารมณ์นักเตะในสนามก็เริ่มจะคุกรุ่น ท้ายที่สุด กลายเป็นฮังการีที่เสียท่า พลาดทำฟาวล์ในกรอบเขตโทษ ส่งผลให้บราซิลตีตื้นขึ้นมาเป็น 2-1 จากลูกจุดโทษของฌาลมา ซานโตส
เวลาที่เหลือในช่วงครึ่งแรก บราซิลฉายแววอนาคตแชมป์โลกออกมาให้เห็น เมื่อพวกเขาพลิกเป็นฝ่ายไล่ต้อนฮังการีให้จนมุมบ้าง แต่ขุนพลแมกยาร์ใช้ประสบการณ์ที่เหนือกว่าเอาตัวรอดไปได้ จึงจบครึ่งแรกของการแข่งขันด้วยสกอร์ 2-1 เท่าเดิม
ความเดือดที่แท้จริงเริ่มต้นขึ้นในช่วงครึ่งหลัง เมื่อผู้ตัดสินชาวอังกฤษมอบจุดโทษแก่ฮังการี ในนาที 60 ของการแข่งขัน หลัง ปินเญโร่ มิดฟิลด์ชาวบราซิลทำแฮนด์บอลในกรอบเขตโทษ การตัดสินครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้แก่ตัวแทนจากอเมริกาใต้เป็นอย่างมาก
บรรดาสตาฟโค้ช และผู้สื่อข่าวชาวบราซิล ต่างวิ่งกรูลงไปในสนามเพื่อประท้วงคำตัดสิน สถานการณ์เริ่มวุ่นวายจนตำรวจต้องลงมาสู่สนามแข่งขัน เพื่อพาคนที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากสนาม เพื่อให้เกมกลับมาดำเนินต่ออีกครั้ง ด้วยสกอร์ที่ฮังการีหนีห่าง 3-1 หลัง มิฮาลี่ ลานโตส ซัดจุดโทษไม่พลาด
นับจากวินาทีนั้น การทำฟาวล์เกิดขึ้นแทบทุกพื้นที่ของสนาม ไม่ว่าจะเป็น แดนหน้า แดนหลัง กราบซ้าย กราบขวา หรือ กลางสนาม นักเตะฮังการี กับ นักเตะบราซิล เข้าปะทะกันราวกับไม่ได้ตั้งใจมาเล่นฟุตบอล
บรรยากาศของเกมเข้มข้นขึ้นไปอีก เมื่อ จูลินโญ่ กองหน้าทีมชาติบราซิล จัดการโซโล่เดี่ยวลากบอลไปยิงเป็นประตูสุดสวย ช่วยให้ทัพเซเลเซา ตีตื้นเป็น 3-2 และด้วยกำลังใจที่ดีขึ้นมาก ทีมชาติบราซิลมีโอกาสไม่น้อยกับการเป็นทีมแรก ที่สามารถเอาชนะทีมชาติฮังการีในรอบ 4 ปี
เมื่อรู้ว่าสถิติไร้พ่ายของตัวเองมีโอกาสถูกทำลาย นักเตะฮังการีจึงใส่หนัก ใส่เต็ม ยิ่งกว่าเดิม นั่นจึงนำมาสู่ 2 ใบแดงแรกของการแข่งขัน เมื่อ นิลตัน ซานโตส และ โยเซฟ บอสซิส ฟาดมวยกันไม่ยั้ง หลังนักเตะบราซิลเข้าหนักใส่ผู้เล่นฮังการี จนต้องส่งออกไปสงบสติอารมณ์นอกสนามในนาที 71 โดยต้องใช้บริการเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกครั้ง กว่าจะเชิญทั้งคู่ออกนอกสนามไปได้
ถึงจะมีการแจกใบแดงออกไป แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ในเกมจะไม่ดีขึ้น บราซิลต่อสู้ในเกมนี้แบบ “หลังชนฝา” นั่นคือ ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ นำมาสู่การทำฟาวล์ที่รุนแรงจนน่าเหลือเชื่อของ ฮุมแบร์โต้ ตอสซี่ ในนาที 78 เขาถูกไล่ออกจากสนาม ส่งผลให้บราซิลต้องลงเล่นช่วงสิบนาทีสุดท้าย โดยมีผู้เล่นน้อยกว่าฮังการี
หลังเสียเปรียบเรื่องตัวผู้เล่น บราซิลกลับมาตกเป็นรองอย่างชัดเจน และถูกฮังการีซัดประตูตอกฝาโลงในนาที 88 จากลูกโหม่งของซานดอร์ ค็อกซิส ฮังการีจึงเป็นฝ่ายคว้าชัยชนะเหนือบราซิล ด้วยสกอร์ 4-2 และตีตั๋วผ่านเข้าสู่รอบต่อไป ท่ามกลางความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในวันค์ดอร์ฟสตาดิโอน ที่ยังคงดำเนินต่อไป..
ความรุนแรงที่ยังไม่จบ
หลังสิ้นเสียงนกหวีดสุดท้าย การพบกันระหว่าง บราซิล และ ฮังการี ในฟุตบอลโลก 1954 ประกอบด้วย 42 ฟรีคิก 4 คำเตือนจากผู้ตัดสิน 3 ใบแดง และ 2 จุดโทษ ซึ่งเป็นสถิติที่ยืนยันความรุนแรงของเกมดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่แมตช์นี้ถูกเรียกว่า “สงครามแห่งกรุงเบิร์น” ไม่ได้มีแค่การปะทะระหว่างนักเตะในสนาม แต่ยังรวมถึงเหตุการณ์ชุลมุนที่เกิดขึ้นในห้องแต่งตัว เมื่อนักเตะของทั้งสองทีมวางมวยกันแบบเละตุ้มเป๊ะ มีการหยิบสิ่งของรอบตัว ทั้ง รองเท้าสตั๊ด หรือ ขวดน้ำ มาเป็นอาวุธเพื่อทำร้ายฝ่ายตรงข้าม
เว็บไซต์ FIFA กล่าวว่า นักเตะ สตาฟโค้ช ผู้ตัดสิน ช่างภาพ และผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแข่งขัน ต่างพัวพันกับเหตุการณ์ตะลุมบอนครั้งนี้ ซึ่งท้ายที่สุดไม่ได้หยุดลงแค่ในห้องแต่งตัว แต่ลามไปถึงนอกสนามแข่งขัน
นักเตะที่ได้รับอาการบาดเจ็บมากที่สุด คือ ปินเญโร่ ที่ถูกเฟเรนซ์ ปุสกัส ซูเปอร์สตาร์ฮังการี ฟาดขวดเข้าไปเต็มหน้า จนเป็นแผลยาว 8 เซนติเมตร เหตุการณ์นี้นำไปสู่การบุกถล่มห้องแต่งตัวฮังการีของนักเตะบราซิล ผู้เคราะห์ร้ายเลยกลายเป็น กุสตาฟ เซเบส เฮดโค้ชของทีมฮังการี ที่โดนลูกหลงรองเท้าฟาดจนเป็นแผลเย็บ 4 เข็ม
“ผมคิดว่านี่จะเป็นเกมที่ดีที่สุดในชีวิตของผม แต่ที่ไหนได้ มันกลับกลายเป็นสงคราม พวกเขาทำตัวเหมือนสัตว์ร้าย มันคือความอัปยศ” อาเธอร์ เอลลิส ผู้ตัดสินชาวอังกฤษ บอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น
“มันคือเกมที่เลวร้าย หากเป็นฟุตบอลสมัยนี้ จะมีผู้เล่นอีกหลายคนที่ถูกใบแดงไล่ออกจากสนาม และแมตช์นี้จะถูกยกเลิก ความคิดเดียวที่อยู่ให้หัวของผมตอนนั้น คือต้องทำทุกอย่างเพื่อให้เกมนี้จบลงตามปกติ”
วงการฟุตบอลไม่เคยเจอความวุ่นวายขนาดนี้มาก่อน วิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดจึงหนีไม่พ้น “ลืมมันไปซะ” ไม่มีใครถูกลงโทษจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ฮังการีโฟกัสไปกับการแข่งขันนัดถัดไปในฟุตบอลโลก 1954 ส่วนบราซิลเดินทางกลับบ้าน โดยจดจำเกมนี้ให้เป็นเพียงความพ่ายแพ้นัดหนึ่งในทัวร์นาเมนต์
แต่สำหรับแฟนบอลที่ได้เป็นประจักษ์พยานเหตุการณ์ในวันนั้น เรื่องราวของสงครามแห่งกรุงเบิร์น จะไม่มีวันถูกลืมเลือนไปจากหัวใจ
การแข่งขันระหว่าง บราซิล และ ฮังการี เมื่อ 67 ปีก่อน จึงยังถูกพูดถึงต่อมา จนกลายเป็นเรื่องราวที่ถูกบันทึกบนหน้าประวัติศาสตร์ ในฐานะการแข่งขันฟุตบอลที่รุนแรงมากที่สุดบนเวทีฟุตบอลโลก
อัลบั้มภาพ 8 ภาพ