เซลจ์โก รัซนาโตวิช : ทหารเลวค้าแป้งและขนมปัง ที่บริหารสโมสรฟุตบอลบังหน้า

เซลจ์โก รัซนาโตวิช : ทหารเลวค้าแป้งและขนมปัง ที่บริหารสโมสรฟุตบอลบังหน้า

เซลจ์โก รัซนาโตวิช : ทหารเลวค้าแป้งและขนมปัง ที่บริหารสโมสรฟุตบอลบังหน้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ที่ไหนมีผลประโยชน์ ที่นั่นย่อมมีคนเลวมาขอส่วนแบ่ง มันเป็นเช่นนั้นมาเสมอ ไม่เว้นแม้แต่ในโลกของฟุตบอล

นี่คือเรื่องราวของพ่อค้าแป้งและร้านเบเกอรี่ ที่หลังฉากคือการรับใช้รัฐบาลด้วยการทำผิดกฎหมายจนทั่วโลกต้องการตัว

จะเป็นอย่างไรหากอาชญากรในคราบทหารรายนี้เป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอล และพาทีมคว้าแชมป์ได้ภายในปีเดียว ?

 

นี่คือเรื่องราวสุดโฉดที่คุณอาจจะคุ้นหูคุ้นตามาบ้าง ? ติดตามได้ที่นี่

จุดเริ่มต้นที่ยูโกสลาเวีย

ปัจจุบัน ไม่มีประเทศ ยูโกสลาเวีย แล้วเนื่องจากถูกแบ่งแยกออกเป็นหลาย ๆ ประเทศทั้ง บอสเนีย, โครเอเชีย, สโลวีเนีย, เซอร์เบีย, มอนเตเนโกร และ โคโซโว ... ทว่าในอดีต ดินแดนแห่งนี้คือตำนานของการล้างเลือดไม่มีที่สิ้นสุด เพราะที่นี่สงครามสามารถมาเยือนคุณได้เสมอ ภายใต้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ 

การอยู่ร่วมกันหลากหลายเชื้อชาติ นำมาซี่งความเหลื่อมล้ำ และแตกแยก ดังนั้นมันจึงขึ้นอยู่กับว่าคนจากเชื้อชาติใดแข็งแกร่งกว่า ผู้นั้นก็จะได้รับอำนาจในการปกครองไปโดยปริยาย ซึ่งในช่วงหลังสงครามโลกครั้ง 2 ตั้งแต่ช่วงปี 1945-1980 ถือเป็นช่วงเวลาที่ ยูโกสลาเวีย เติบโตและยิ่งใหญ่ ภายใต้การบริหารประเทศของ "จอมพลติโต" หรือชื่อเต็ม "โจซิป บรอซ ติโต้"

 

จอมพลติโต้ สร้างประเทศในฐานะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งยูโกสลาเวีย และตั้งตัวเป็นกลางในช่วงการเกิดสงครามเย็นระหว่าง สหภาพโซเวียต กับ สหรัฐอเมริกา ซึ่งพวกเขาถือเป็นไม่กี่ประเทศในแถบยุโรปตะวันออกที่กล้าต่อต้าน โซเวียต ในเวลานั้น พวกเขาจึงได้รับการช่วยเหลือจากสหรัฐฯ อีกทั้งยังมีนโยบายผลักดันแรงงานออกไปทำงานในยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะ เยอรมัน (ตะวันตก) ที่ต้องการสร้างประเทศหลังสงครามโลกจบลง นั่นถือเป็นช่วงเวลาที่ ยูโกสลาเวีย แข็งแกร่งทั้งด้านการเมือง การทหาร และ เศรษฐกิจ 

กระทั่งในช่วงปี 1970 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้เยอรมันต้องส่งแรงงานต่างชาติกลับประเทศต้นทาง ผลกระทบลูกโซ่ก่อให้เกิดภาวะการว่างงานและเกิดปัญหาเศรษฐกิจในยูโกสลาเวีย ซึ่งจุดนี้ทำให้รัฐบาลติโต เริ่มสั่นคลอน และมันเป็นไปตามกลไกของการแย่งชิงอำนาจ เมื่อพี่ใหญ่อ่อนกำลัง เหล่าตัวเล็ก ๆ ที่รอโอกาสก็ได้เวลาที่เริ่มหาหนทางให้ตัวเองเป็นใหญ่บ้าง


Photo : balkaninsight.com

กลุ่มกองกำลังติดอาวุธของหลายเชื้อชาติเริ่มกลับมาก่อตัวขึ้นอีกครั้ง และหนึ่งในนั้นคือกลุ่มของ เซลจ์โก รัซนาโตวิช หัวหน้าหน่วยรบติดอาวุธที่ได้ฉายาว่า "Arkan" (เป็นชื่อจากการปลอมแปลงเอกสารการเดินทาง) ตัวแทนจากกลุ่มชาตินิยมเซอร์เบีย ที่พร้อมฉายแสง และเขาทำได้ดีตามสเต็ปที่เขาวางไว้เสียด้วย แม้สิ่งที่ทำจะเป็นเรื่องที่ชั่วร้ายสุดขีดก็ตาม

ปฐมบทแห่งอาร์คาน 

เซลจ์โก รัซนาโตวิช หรือ "อาร์คาน" คือชายที่เติบโตมาในระบอบทหารเต็มรูปแบบ ปู่เป็นนายทหารระดับผู้บังคับบัญชา พ่อของเขาเป็นนาวิกโยธินของกองทัพอากาศยูโกสลาเวีย ที่ปกครองครอบครัวแบบ ปิตาธิปไตย ว่าง่าย ๆ คือการปกครองแบบชายเป็นใหญ่ สำหรับตระกูล รัซนาโตวิช ผู้เป็นพ่อถูกต้องเสมอ  


Photo : twitter.com/KomandantArkan

"อาร์คาน" คือลูกชายคนเดียวในบ้าน เขามีพี่น้องเป็นผู้หญิงอีก 3 คน ดังนั้นเขาจึงเป็นความหวังสูงสุดของพ่อ ที่ทั้งปลูกฝัง ยัดเยียด และสั่งสอนสิ่งที่ตนเองเชื่อถ่ายทอดให้ อาร์คาน ทั้งหมด เจ้าตัวเคยบอกว่าการเลี้ยงดูของพ่อเกินกว่าที่คนส่วนใหญ่จะจินตนาการ ... เด็กบ้านอื่นอาจถูกดุด่าเมื่อทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ แต่บ้านของเขาคือโลกอีกใบที่หนักกว่านั้นเยอะ 

"พูดถึงเรื่องการโดนตีมันคงจะเป็นอะไรที่หลายคนไม่เข้าใจ  บ้านอื่นอาจจะแค่ตี แต่บ้านของผมพ่อจะจับผมเหวี่ยงฟาดกับพื้น" อาร์คาน กล่าว 

การโดนทำเช่นนั้นทำให้ อาร์คาน เป็นเด็กหัวรุนแรง ต่อต้านสังคม และพ่อของเขาเอง เดิมทีเขาเคยมีความฝันว่าอยากจะเป็นนาวิกโยธิน แต่ความสัมพันธ์แบบพ่อและลูกชายเป็นไปแบบขรุขระ จากที่เคยมองพ่อเป็นฮีโร่ เขากลับเกลียดพ่อขึ้นมา และเริ่มเดินบนเส้นทางของตัวเอง ด้วยการมีแก๊งอาชญากรเป็นของตัวเองตั้งแต่อายุแค่ 14 ปี  วีรกรรมในตอนแรกเป็นแค่เพียงการวิ่งราวเท่าน้ัน ก่อนจะลุกลามไปจนถึงการปล้นทรัพย์โดยใช้อาวุธ และไม่นานนักเขาก็ถูกจับเข้าสถานกักกันเยาวชน

 

1 ปีในคุกเด็กไม่ได้เปลี่ยนอะไรในตัวเขานัก พ่อของเขาจึงตัดปัญหาส่งตัวไปอยู่ที่ Kotor เมืองในเขตมอนเตเนโกรที่ติดชายทะเล เพื่อเข้าร่วมสังกัดกองทัพเรือหวังให้ระบบดัดสันดานให้เขากลับมาเป็นทหารให้ได้ แต่ อาร์คาน เลือกแล้ว เมื่อเดินสายอาชญากรเขาไม่มีทางเปลี่ยนใจ เขาเจอเส้นสายในวงการสีดำ และเป็นเส้นใหญ่หน้าตึ้บระดับเส้นก๋วยจั๊บ เพราะคนที่สนับสนุนให้เขาเดินหน้าเป็นอาชญากรคือ สเตน ดูแลงก์ (Stane Dolanc) เพื่อนเก่าเพื่อนแก่สหายร่วมรบของพ่อ อาร์คาน ซึ่งในภายหลังได้ขึ้นเป็นคนสนิทของนายพลติโต และได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยงานความมั่นคงแห่งยูโกสลาเวีย 


Photo : balkaninsight.com

ว่ากันว่าในช่วงที่เศรษฐกิจในยูโกสลาเวียตกต่ำ ก็เป็นหน่วยงานของรัฐนี่แหละที่ผลักดันให้ อาร์คาน และแก๊งของเขา เดินทางออกนอกประเทศด้วยการปลอมแปลงเอกสารการเดินทาง หน้าที่ของเขาคือการปล้นเพื่อชิงของมีค่า อาทิ ปล้นธนาคาร และร้านอัญมณีหลายสิบแห่งทั่วยุโรป ทั้งใน เนเธอร์แลนด์, เยอรมนี, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, ออสเตรีย, อิตาลี, เบลเยียม 

การได้รับการหนุนหลังทำให้ อาร์คาน มีกองกำลังและอาวุธสงครามเป็นของตัวเอง จากที่เคยแค่ปล้นหรือขโมย หลังจากออกลุยได้ในต่างแดนได้ไม่นาน อาร์คาน ก็ก่อคดีใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งการฆ่าผู้บริสุทธิ์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย 

ชื่อของ อาร์คาน จึงโด่งดังขึ้นมาในแง่ลบนับตั้งแต่ตอนนั้น เขากลายเป็นรายชื่อที่ตำรวจสากลต้องการตัวมากที่สุด และเมื่อตำรวจคิดจะจับจริง ๆ มันก็ไม่ยากอะไรนัก อาร์คาน โดนจับยัดคุกถึง 4 ครั้ง แต่ออกมาได้ทุกครั้ง แถมยังเป็นการแหกคุกออกมาทุกครั้งอีกด้วย

 

เรื่องนี้ vice.com เว็บไซต์ที่เขียนเกี่ยวกับบทความเรื่องมืดดำของโลกใบนี้ ยังอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่าคนที่ช่วยเหลือ อาร์คาน ก็คือเจ้าหน้าที่รัฐของ ยูโกสลาเวีย นั่นแหละ เพราะครั้งหนึ่ง ดูแลงก์ ที่เป็นก็อดฟาเธอร์ (พ่อทูนหัว) สำหรับ อาร์คาน เคยกล่าวชื่นชมอาชญากรคนนี้ว่า "แค่มีกองทัพของอาร์คานคนเดียว ก็แจ๋วยิ่งกว่ามีหน่วยกองกำลังความมั่นคงของชาติด้วยซ้ำ" ... ดังนั้นหากจะมองว่ามีความเชื่อมโยงในการช่วยเรื่องการแหกคุกในต่างแดนถึง 4 ครั้ง 4 ครา ก็คงเป็นอะไรที่เมคเซนส์พอสมควร 

นอกจากนี้ อาร์คาน ยังเคยถูกล้อมจับในประเทศ ยูโกสลาเวีย และ โครเอเชีย ไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง เขาตอบกลับด้วยการยิงต่อสู้ทุกครั้ง และมีตำรวจเสียชีวิตอย่างน้อย 2 นาย โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ถูกบันทึกไว้ว่าเกิดขึ้นในปี 1990 

"ข้อตกลงส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างอาชญากรและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในกรณีของ อาร์คาน มันมีข้อพิสูจน์ได้ เมื่อเขาโดนตำรวจจับในกรุงซาเกร็บ เมืองหลวงของโครเอเชีย แม้จะโดนจับได้ แต่เขายิงสวนและมีตำรวจเสียชีวิต ... โดยปกติแล้วพฤติกรรมแบบนี้จะต้องโดนโทษประหารหรือจำคุกตลอดชีวิต น่าแปลกใจที่ อาร์คาน ได้รับการปล่อยตัวภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากถูกจับกุม" บทความใน Vice ว่าไว้เช่นนี้ 

ความผิดทั้งหมดไม่ได้มีความหมายอะไรสำหรับเขา เพราะทุกอย่างสามารถล้างด้วยผลประโยชน์ที่เขามอบกลับให้รัฐบาล ภายใต้การดีลกับคนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งการรอดจากคดียิงตำรวจที่โครเอเชีย ของ อาร์คาน นี้เอง ที่ทำให้เบื้องหลังถูกเปิดเผย 


Photo : sr.wikipedia.org

 

นี่คือนโยบายของ สโลโบดาน มิโลเซวิช อดีตประธานาธิบดีของประเทศยูโกสลาเวีย ที่ต้องการสลายศัตรู อย่าง อาร์คาน อาชญากรที่เป็นปัญหาในการปกครองบ้านเมือง โดยใช้วิธีเปลี่ยนให้เขามาเป็นมิตร ดังนั้นเขาจึงมอบตำแหน่งระดับแนวหน้าของกองทัพให้กับ อาร์คาน ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 1988 อันเป็นยุคเปลี่ยนถ่ายอำนาจระดับบริหารของยูโกสลาเวีย ในช่วงบั้นปลายของการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ 

สิ่งใดที่ได้มา เขาจะส่งต่อให้กับคนที่อยู่ด้านบน อาร์คาน ได้สิทธิ์หากินใน ยูโกสลาเวีย อีกครั้ง หนนี้เขาตั้งใจจะทำธุรกิจมืด และธุรกิจสีขาวให้ได้มากที่สุด

ธุรกิจสีดำจะทำให้เขาได้เงินเข้ากระเป๋าและสร้างกองทัพที่ใหญ่ขึ้น ขณะที่ธุรกิจสีขาวจะทำให้เขามีหน้าตาในสังคม ผ่านการฟอกเงินทั้งหมดที่ได้มา เพื่อเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของตัวเองจาก อาชญากร สู่ ฮีโร่ของชาวเซิร์บนั่นเอง

ทหาร แป้ง ขนมปัง และสโมสรฟุตบอล 

หน้าฉากอย่างแรกตามบทบาทที่ อาร์คาน ได้รับคือการคลุกคลีกับแป้ง นั่นคือการเป็นเจ้าของร้านเบเกอรี่และขนมปัง ส่วนหลังฉากนั้นเรียกได้ว่ามืดสนิททุกอย่าง ทั้งงานจ้างวานฆ่า, ให้บริการกองทัพรับจ้าง, รับโจรกรรม และ เจ้าของผับบาร์ที่ใช้บังหน้าธุรกิจค้ายา ... ว่าง่าย ๆ ก็คือเป็นมาเฟียนั่นแหละ เขามีฉายาว่า "คอร์เลโอเนแห่งยูโกสลาเวีย" ซึ่งมาจากภาพยนตร์แก๊งมาเฟียระดับตำนานอย่าง The Godfather 


Photo : imdb.com

วงการนี้อะไรใกล้มือได้ก็ต้องคว้าไว้ก่อน และสโมสรฟุตบอลถือเป็นเรื่องที่เหมาะสมกับการลงทุนเป็นอย่างมาก หากย้อนเวลากลับไปในช่วงยุค 80s-90s สโมสรฟุตบอลจากยูโกสลาเวียอย่าง เรดสตาร์ เบลเกรด ถือว่าเป็นทีมที่อุดมไปด้วยนักเตะเก่ง ๆ และประสบความสำเร็จถึงขั้นเป็นแชมป์ยุโรปมาแล้ว ซึ่งเรื่องราวของ อาร์คาน ที่จะซื้อสโมสรฟุตบอล ก็จะอธิบายถึงคำถามที่หลายคนสงสัยว่า ทำไมนักเตะจากยุโรปตะวันออกจึงไม่ค่อยออกมาค้าแข้งในต่างแดน

เหตุผลเดียวเพราะมันเป็นเรื่องของผลประโยชน์และข้องเกี่ยวกับกลุ่มมาเฟีย พวกเขาถูกดึงดูดเข้ามาเพราะสโมสรฟุตบอลสามารถใช้หาเงินได้จากการโยกย้ายผู้เล่น ไม่ว่าจะใช้ในการฟอกเงินหรือการขายนักเตะให้กับทีมใหญ่ ๆ ในยุโรปก็ตาม ซึ่งกว่าที่นักเตะท้องถิ่นจะได้ออกไปตามฝันในต่างแดนนั้น พวกเขาส่วนใหญ่ก็ยังต้องจ่ายส่วนต่างให้กับต้นสังกัดเพื่อให้ยอมปล่อยตัว โดยเป็นที่รู้กันในรูปแบบของการบริจาครถยนต์และทรัพย์สินให้กับทางสโมสรนั่นเอง 

ดังนั้นนักเตะหลายคนที่ไม่มีเงิน หรือรถ หรือแม้กระทั่งไม่ต้องการเสียเงินก้อนใหญ่ให้กับมาเฟียขูดรีด พวกเขาจึงเลือกที่จะเล่นให้กับทีมมาเฟียและรับค่าจ้างที่แน่นอนต่อไป ... เรียกว่าเป็นการรักษาเซฟโซนก็คงไม่ผิดนัก


Photo : theculturetrip.com

วกกลับมาที่เรื่องของ อาร์คาน กันบ้าง เขาในฐานะเจ้าของร้านเบเกอรี่ที่ทรงอำนาจที่สุดในประเทศ ได้พยายามจะซื้อสโมสร เรดสตาร์ เบลเกรด ในตอนแรก แต่ด้วยความที่สโมสรแห่งนี้อยู่มานานและมีเจ้าของสัมปทานเดิมอยู่แล้ว อาร์คาน จึงไม่สามารถแทรกตัวเข้าไปหาผลประโยชน์กับทีมนี้ได้ เขาจึงต้องเปลี่ยนแผนด้วยการพยายามสร้างสโมสรใหม่ขึ้นมาเอง 

ตอนนี้เขาแค่ต้องมองหาสโมสรสักสโมสรที่ดูไม่มีอนาคตและเจ้าของทีมเก่าอยากจะขายทิ้งเพื่อผลักภาระ ก่อนที่ อาร์คาน จะได้พบกับทีมที่มีชื่อว่า โอบิลิซ สโมสรในระดับลีกรองของประเทศ ทีมที่ไม่เคยประสบความสำเร็จอะไรสักอย่าง และเจ้าของก็อยากขายทีมด้วย ดังนั้นการเจรจาจึงเสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว สุดท้ายเขาก็ได้สโมสร โอบิลิซ มาครอบครองในปี 1996 โดยไม่มีการเปิดเผยราคาที่จ่ายไป

ปีแห่ง อาร์คาน 

ว่ากันว่าคนเรามักจะตามหาสิ่งที่ตัวเองขาด สำหรับ อาชญากรอย่าง อาร์คาน เขามีเงินเยอะ มีอำนาจเยอะ แต่เขายังขาดซึ่งบารมีและความนิยมจากผู้คนทั่วไป เขาต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองจากอาชญากรกึ่งทหาร ให้เป็นฮีโร่ของประชาชน ดังนั้นการทำทีมอย่าง โอบิลิซ ให้สามารถคว่ำทีมมหาอำนาจอย่าง เรดสตาร์ เบลเกรด ได้นั้นถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย และจะทำให้เขาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย 


Photo : vice.com

เดิมทีสโมสรแห่งนี้ไม่เคยมีความสำเร็จอะไรเลยอย่างที่กล่าวไป แต่พวกเขาเป็นทีมที่มีแฟนบอลเยอะ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของกลุ่มคนชั้นกลางค่อนบนในกรุงเบลเกรด พวกเขาทำอันดับได้ดีที่สุดก็แค่การได้แชมป์ดิวิชั่น 3 และเลื่อนชั้นมาแข่งในระดับดิวิชั่น 2 เท่านั้น 

ส่วนสาเหตุที่ อาร์คาน ตัดสินใจเข้ามาซื้อสโมสรคือ ในปี 1995 โอบิลิซ เคยเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลถ้วยของ ยูโกสลาเวีย ในเกมนั้นเขาต้องเจอกับยักษ์ใหญ่ของอีกฟากเมืองอย่าง เรดสตาร์ เบลเกรด ... ด้วยความที่ระดับของทีมเป็นรองทุกอย่าง แม้จะสู้สุดใจ แต่โอบิลิซ ก็ทำได้ดีที่สุดเพียงแค่ "เข้าใกล้" เท่านั้น เพราะสุดท้าย เรดสตาร์ ที่เป็นสโมสรของกลุ่มทุนระดับอีลิทของประเทศ ก็ต้อนพวกเขาจนหมดสภาพ

ทว่าความพ่ายแพ้ครั้งนั้น กลับทำให้ อาร์คาน อยากได้สโมสรนี้ขึ้นมามากกว่าเดิม เพราะเขาต้องการเอาชนะกลุ่มทุนหรือกลุ่มขั้วอำนาจอีกฝั่งให้ได้ เหมือนกับที่ โอบิลิซ พยายามจะเอาชนะ เรดสตาร์ เบลเกรด นั่นเอง ซึ่งการซื้อขายก็เกิดขึ้นหลังจากที่นัดชิงชนะเลิศนั้นจบลง 

หลังจาก อาร์คาน เป็นเจ้าของสโมสร ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า โอบิลิซ ใช้เวลาเพียงปีเดียวก็เลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุด แม้ตามข้อมูลจะไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดอะไรขึ้น และทีมของ อาร์คาน เปลี่ยนแปลงไปในแง่ดีขนาดไหนในแง่รายละเอียดเบื้องลึก แต่ที่แน่ ๆ ผลลัพธ์คือ โอบิลิซ ใช้เวลาเพียงปีเดียวหลังจากที่มี อาร์คาน เข้ามาเป็นเจ้าของสโมสร พวกเขาก็สามารถคว้าแชมป์ลีกได้ทันที 

ปีเดียวเท่านั้นที่ อาร์คาน พลิกทุกอย่างให้ทีมของเขา เขากลายเป็นที่รักของชาวเซิร์บบางคน กีฬาสามารถฟอกให้เขากลายเป็นฮีโร่ได้จริง แต่เขาทำแบบไหนล่ะ ? ทีมจึงสามารถ ดีขึ้นทันตาเห็นจากทีมที่เพิ่งเลื่อนชั้น กลับเก็บได้ถึง 86 แต้มจากการลงสนาม 33 นัด ... และแพ้เพียงแค่เกมเดียวเท่านั้นตลอดทั้งปี 

แน่นอน หากไม่บอกว่านักเตะและสตาฟโค้ชของพวกเขามีส่วนสำคัญ มันก็คงจะเป็นการดูถูกและไม่ให้เกียรติคนทำงานเป็นอย่างยิ่ง ความสำเร็จนี้ทุกคนควรได้รับคำชม แต่เรื่องนี้ อาร์คาน เองก็มีส่วนเกี่ยวข้องไม่น้อย 


Photo : vreme.com

เขาช่วยวางแผนเหรอ ? เขาทุ่มเงินอัพเกรดระบบแมวมอง และระบบเยาวชนเหรอ ? เขามีวิสัยทัศน์ในการบริหารหรือไม่ ? .... คำตอบที่ถูกต้องนั้นไม่มี ขึ้นอยู่กับว่าวิธีการที่เขาทำให้สโมสรของเขากลายเป็นแชมป์ลีกได้นั้น สามารถใช้คำว่า "บริหาร" ได้หรือไม่ 

สิ่งที่ อาร์คาน ทำ คือการใช้อิทธิพลของเขาเข้าคุกคามทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง ตามประวัติแล้วเขาเคยใช้สัมพันธ์ทางการเมืองกับเจ้าของสโมสร ปาร์ติซาน เบลเกรด ทีมแกร่งอีกทีมของ ยูโกสลาเวีย  ให้ "โยนเกมทิ้ง" กล่าวคือปล่อยให้ โอบิลิซ ยิงประตูในช่วงที่แต้มกำลังสูสีกับ เรดสตาร์ เพื่อให้พวกเขาเก็บแต้มและกรุยทางสู่แชมป์ (โอบิลิซ เป็นแชมป์ด้วยผลต่างเพียง 2 คะแนน)

นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวการขู่สโมสรที่เป็นฝ่ายซ้ายของประเทศอย่าง วอจโวดิน่า ให้ปล่อยตัวนักเตะที่ชื่อว่า นิโกล่า ลาเซทิซ (Nikola Lazetić) ให้ย้ายมาร่วมทีม โอบิลิซ โดยตัวของนักเตะนั้นถูกปืนจ่อที่ขมับเป็นการขู่ และเอาตัวยัดรถกระบะตามคำสั่งของ อาร์คาน มาแล้ว 

ขณะที่ FourFourTwo สื่อใหญ่ด้านฟุตบอลก็เคยเขียนเรื่องราวของสโมสร โอบิลิซ ของ อาร์คาน เช่นกัน โดยพวกเขาบอกว่า อาร์คาน ใช้ความเป็นมาเฟีย โดยให้ลูกน้องของเขาข่มขู่กรรมการและคู่แข่งอยู่บ่อย ๆ นอกจากนี้เขายังใช้เงินถึง 1 ล้านปอนด์ (ราว 44 ล้านบาท) ในการจ้างสไนเปอร์และหน่วยคุ้มกันทุกฝีก้าวของเข้าในยามที่เขาเดินทางเข้ามาชมการแข่งขันในนัดที่ โอบิลิซ เป็นทีมเหย้าอีกด้วย 


Photo : vice.com

หลายข้อมูลบอกเช่นนั้น และเราเชื่อว่ามันคงไม่สามารถใช้คำว่า บริหารสโมสรฟุตบอลได้ เพราะสิ่งที่เขาทำมันเหมือนการบริหารงานแก๊งมาเฟียมากกว่า เงิน อำนาจ ความรุนแรง และการทุจริต คือกุญแจสำคัญที่ทำให้ โอบิลิซ กลายเป็นแชมป์ของลีกยูโกสลาเวีย หนแรกและหนเดียวในประวัติศาสตร์สโมสร ... อ่านมาถึงตรงนี้คุณคิดว่ามันแปลกไหม? 

เมื่อมีทุกอย่างและสั่งการได้ครบ ทำไม อาร์คาน จึงไม่บันดาลแชมป์ให้ โอบิลิซ มากกว่านี้ล่ะ ?

กรรม 

ไม่เร็วก็ช้า สิ่งที่ทำก็จะตามมาสนองคุณในสักวัน สิ่งนี้เรียกว่ากรรม และกรรมของ อาร์คาน ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า


Photo : vice.com

หลังจากได้ความนิยม อำนาจ เงินทอง ทุกอย่างที่ชายทุกคนบนโลกต้องการแล้ว อาร์คาน ก็ใช่ว่าจะลอยตัวอยู่แต่บนความสุขได้ เนื่องจากขั้วอำนาจในยูโกสลาเวียนั้นมีมากมายตามที่กล่าวในข้างต้น ทั้งมุสลิม, เซิร์บ, บอสเนียน หรือ โครแอต ที่ต่างก็มีกลุ่มอำนาจและกองกำลังติดอาวุธของตัวเองทั้งสิ้น และทุกคนพร้อมจะรอโอกาสเพื่อหาทางเอาตัวเองขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ให้ได้ แม้นั่นจะต้องจบด้วยการแลกเลือดล้างบางก็ตาม

หลังผ่านพ้นปีใหม่ของ คริสต์ศักราช 2000 ได้ไม่นาน 15 มกราคม คือวันที่ขั้วอำนาจเปลี่ยนแปลง อาร์คาน กำลังอิ่มเอมกับความสุขที่เขาไขว่คว้ามาได้ เขาจัดการฉลองกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่โรงแรม อินเตอร์คอนติเนนตัล โรงแรมหรูระดับ 5 ดาวในกรุงเบลเกรด 

ระหว่างที่เขากำลังดื่มด่ำ ชายคนหนึ่งเดินลุยเดี่ยวเข้ามาเหมือนกับในหนัง จากนั้นเขาเปิดฉากยิงในระยะใกล้ด้วยปืนพกกึ่งอัตโนมัติ และเป้าหมายแรกคือราชาแห่งเบลเกรด "อาร์คาน" รัซนาโตวิช นั่นเอง 

กระสุนพุ่งเข้าที่เบ้าตาและเขาก็ได้เสียชีวิตระหว่างส่งตัวไปโรงพยาบาล โดยผู้สังหารในวันนั้นมีชื่อว่า โดโบรซาฟ กาฟริช (Dobrosav Gavric) อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ภายหลังถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆาตกรรม ก่อนจะหนีไปกบดานที่แอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นฐานของหน่วยรบที่ส่งผู้ก่อการร้ายไปยังเบลเกรด 


Photo : balkaninsight.com

หลังจาก อาร์คาน เสียชีวิต สโมสรก็ถูกส่งต่อไปให้กับประธานคนเก่าอย่าง ซาร์โก นิโคลิช และความยิ่งใหญ่ของสโมสร โอบิลิซ ก็จบลงพร้อม ๆ กับชีวิตของ อาร์คาน เหลือไว้เพียงแค่ร่องรอยของภาพจิตรกรรมบนฝาผนังที่ อาร์คาน ตั้งใจให้ศิลปินวาดภาพของเขาขึ้นมาเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ในฐานะแชมเปี้ยนของประเทศเท่านั้น ... 

ทุกวันนี้สโมสรกลับสู่ลีกระดับล่างอีกครั้ง และไม่ได้ใกล้เคียงกับการเป็นทีมที่ยิ่งใหญ่เหมือนกับในยุคที่มี อาร์คาน เป็นผู้บริหารแบบมาเฟียอีกเลย 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook