มันมีที่มา : ไขข้อข้องใจ...ทำไมนักฟุตบอลทีมชาติออสเตรีย จึงไปเล่นบุนเดสลีกาเกือบยกทีม?

มันมีที่มา : ไขข้อข้องใจ...ทำไมนักฟุตบอลทีมชาติออสเตรีย จึงไปเล่นบุนเดสลีกาเกือบยกทีม?

มันมีที่มา : ไขข้อข้องใจ...ทำไมนักฟุตบอลทีมชาติออสเตรีย จึงไปเล่นบุนเดสลีกาเกือบยกทีม?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทีมชาติเยอรมัน ถือเป็นประเทศจากทวีปยุโรปที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกฟุตบอล ซึ่งรากฐานความสำเร็จของพวกเขาหนีไม่พ้น บุนเดสลีกา ลีกฟุตบอลระดับสูงสุดของชาติ ที่เน้นความเข้าใจแทคติกเป็นสำคัญ

แต่สำหรับ ยูโร 2020 ชาติที่มีนักเตะค้าแข้งในบุนเดสลีกามากที่สุด กลับไม่ใช่ทัพอินทรีเหล็ก แต่เป็น “ทีมชาติออสเตรีย” บ้านใกล้เรือนเคียงของเยอรมัน ที่ส่งนักเตะ 21 รายจากชุดนี้ไปค้าแข้งในบุนเดสลีกา หรือพูดง่าย ๆ คือ เกือบทั้งทีม

นี่คือเรื่องราวที่ตอบคำถามของคุณได้ว่า ทำไมนักฟุตบอลทีมชาติออสเตรีย จึงเล่นในบุนเดสลีกาเกือบยกทีม ? และความจริงข้อนี้สามารถช่วยให้พวกเขา สร้างความได้เปรียบในยูโร 2020 ได้อย่างไร

บ้านพี่เมืองน้อง เพื่อนพ้องน้องพี่

เยอรมัน และ ออสเตรีย ถือเป็นสองประเทศที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกันอย่างยาวนาน เห็นได้ชัดจากช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ล่มสลาย ชาวออสเตรียที่พูดภาษาเยอรมัน เลือกยึดครองดินแดนทางตะวันตก และทางเหนือของจักรวรรดิเดิม และก่อตั้งสาธารณรัฐเยอรมันออสเตรีย ในปี 1918

แม้รัฐดังกล่าวจะคงอยู่ได้เพียงปีเดียว เพราะในปี 1919 สาธารณรัฐออสเตรีย กลายเป็นประเทศใหม่ที่เข้ามาแทน แต่การปรากฏของสาธารณรัฐเยอรมันออสเตรีย แสดงให้เห็นถึงความรู้สึก “ใกล้ชิด” ที่ชาวออสเตรียมีต่อชาวเยอรมัน ซึ่งมากกว่าเชื้อชาติร่วมจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ไม่ว่าจะเป็น ชาวฮังการี, ชาวเช็ก, ชาวโปแลนด์, ชาวโรมาเนีย, ชาวโครเอเชีย, ชาวเซอร์เบีย และชาวสโลวีเนีย ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า พวกเขาอยู่ร่วมกันไม่ได้ และต้องแยกกันไปตามทางของตัวเอง

เยอรมัน และ ออสเตรีย เคยรวมเป็นอาณาจักรเดียวกันในช่วงปี 1938-1945 ภายใต้การปกครองของนาซีเยอรมัน แม้ช่วงเวลาดังกล่าวคือประวัติศาสตร์ที่ไม่น่าจดจำของชาวเยอรมัน และชาวออสเตรีย

 

แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ชาวออสเตรียสนับสนุนที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของนาซีเยอรมันโดยสมัครใจ และมีกำลังพลชาวออสเตรียเกือบหนึ่งล้านนายร่วมสู้รบในสงครามโลกครั้งที่สอง ภายใต้สังกัดนาซีเยอรมัน ก่อนออสเตรียจะแก้ต่างเรื่องราวทั้งหมดหลังสงครามสิ้นสุด โดยประกาศต่อชาวโลกว่า ออสเตรีย คือ “เหยื่อรายแรกของนาซี” ซึ่งทฤษฎีนี้รู้จักกันดีในชื่อ “Austria victim theory”

กาลเวลาหมุนผ่านสู่ปลายศตวรรษที่ 20 กระแส Europeanization หรือยุโรปภิวัฒน์ กำลังส่งอิทธิพลมหาศาลเหนือดินแดนยุโรปกลาง และยุโรปตะวันตก ความขัดแย้งระหว่างชาติในยุโรป ซึ่งเกือบทำลายโลกทั้งใบในช่วงต้น รวมถึงกลางศตวรรษที่ 20 ถูกลบเลือนไป

แทนที่ด้วยแนวคิด และกระบวนการทำให้เป็นยุโรป กล่าวคือ ทุกประเทศในยุโรปล้วนเป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้สหภาพยุโรป หากไม่นับกระแสชาตินิยมที่เรามองเห็นได้ทั่วไปในการแข่งขันกีฬา (เช่น ยูโร 2020) ความรู้สึกชิงชังบ้านใกล้เรือนเคียงจึงลดน้อยลงไปมาก

แนวคิดยุโรปภิวัฒน์ช่วยตอบโจทย์การเมืองแบบเสรีนิยม และเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ที่เปิดโอกาสให้แรงงานเดินทางข้ามประเทศอย่างเสรี เรื่องนี้ส่งผลถึงกีฬาฟุตบอลอย่างเห็นได้ชัด ในช่วงปลาย 1990s เมื่อความนิยมนักเตะในชาติลดลงไป และเริ่มมีการดึงนักเตะจากต่างประเทศเข้ามาเล่นในสโมสรอย่างเสรี

 

อุดมการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เยอรมัน และออสเตรีย กลายเป็นเมืองพี่เมืองน้องยิ่งกว่าเดิม แม้จะมองผ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอล เราก็ยังเห็นความใกล้ชิดนี้อยู่ ยกตัวอย่าง WALTER นักมวยปล้ำชื่อดังชาวออสเตรีย ที่ออกตัวสนับสนุนทีมชาติเยอรมันอย่างชัดเจน ในยูโร 2020 ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว โดยไม่เคยพูดถึงฟุตบอลทีมชาติออสเตรีย แม้แต่ครั้งเดียว

ความใกล้ชิดนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้นักเตะชาวออสเตรีย หลั่งไหลสู่บุนเดสลีกา เพราะพวกเขาแทบไม่ต้องปรับตัวด้านภาษา หรือ วัฒนธรรม เพราะสำหรับชาวออสเตรีย ประเทศเยอรมนี คือพี่ใหญ่ สำหรับพวกเขามาเสมอ

เราจึงเห็นนักเตะจากออสเตรียโลดแล่นในเยอรมัน มากกว่าลีกชั้นนำอื่น เช่น พรีเมียร์ลีก, ลาลีกา หรือ กัลโช่ เซเรีย อา

ตลาดส่งออกนักเตะสู่บุนเดสลีกา

เหตุผลทางประวัติศาสตร์ การเมือง และวัฒนธรรม ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แข้งออสเตรียพาเหรดสู่บุนเดสลีกา แต่อีกหนึ่งสาเหตุที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การแข่งขันกีฬาฟุตบอลในประเทศออสเตรีย ซึ่งเอื้อต่อการส่งนักเตะออกต่างประเทศ

 

แตกต่างจากประเทศใหญ่ในยุโรปที่มีจำนวนทีมแข่งขันบนลีกสูงสุด 18-20 ทีม ออสเตรีย บุนเดสลีกา มีสโมสรฟุตบอลลงแข่งขันเพียง 12 ทีม แม้ฟุตบอลจะเป็นหนึ่งในกีฬาที่ชาวออสเตรียนิยมมากที่สุด แต่เนื่องจากประเทศที่มีขนาดเล็ก และประชากรซึ่งมีอยู่เพียงราว 9 ล้านคน (เยอรมันมีประชากรราว 83 ล้านคน) กีฬาฟุตบอลในออสเตรียจึงไม่ได้มีขนาดใหญ่มากนัก

เมื่อลีกฟุตบอลมีการแข่งขันไม่สูง เงินทุนที่หมุนเวียนในออสเตรีย บุนเดสลีกา จึงไม่สูงมากนัก ส่งผลให้สโมสรส่วนใหญ่เลือกใช้นักเตะภายในชาติ นำมาสู่โอกาสของดาวรุ่งหน้าใหม่ที่ได้ลงเล่นอย่างต่อเนื่อง นักเตะชาวออสเตรียจึงเฉิดฉายบนเวทีฟุตบอลภายในประเทศแบบไม่ต้องอายใคร

หลังโชว์ฟอร์มให้เห็นเป็นประจักษ์ในออสเตรีย บุนเดสลีกา ก้าวต่อไปของนักเตะออสเตรียทั้งหมดคือการย้ายออกไปเล่นต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของโลกฟุตบอลในปัจจุบัน แต่อย่างที่เราทราบดีว่า ออสเตรียไม่ใช่ประเทศมหาอำนาจลูกหนัง แถมสโมสรของพวกเขาก็ไม่ประสบความสำเร็จในระดับทวีปมาก นำมาสู่คำถามที่ว่า จะมีนักเตะฝีมือดีซ่อนอยู่ในลีกออสเตรียสักเท่าไร ?

เมื่อถูกมองข้าม นักเตะชาวออสเตรียจึงมีราคาถูก มาถึงตรงนี้ แฟนบอลบุนเดสลีกาย่อมทราบดีว่า สำหรับทีมฟุตบอลในเยอรมัน “ของถูก = ของชอบ” เพราะสโมสรเกือบทั้งหมดในบุนเดสลีกา อยู่ภายใต้กฎ 50+1 หรือกฎที่บังคับให้แฟนบอลถือหุ้นส่วนใหญ่ของสโมสร ทำให้ทีมไร้แหล่งเงินทุนหนุนหลัง การซื้อนักเตะมาใช้งานจึงต้องคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์

 

ไม่มีใครการันตีว่านักเตะชาวออสเตรียจะเป็นของจริงหรือไม่ ? แต่ถ้ามีสินค้าถูกมาวางรอให้ซื้ออยู่ตรงหน้า มีหรือที่สโมสรจากเยอรมันจะไม่เอา หากเทียบง่าย ๆ คล้ายกับสโมสรฟุตบอลไทยดึงนักเตะโควต้าอาเซียนเข้ามาทดลองใช้ก่อน หากเล่นดีก็เก็บไว้ ถ้าใช้งานไม่ได้ค่อยปล่อยทิ้งไป เพราะถึงอย่างไร ก็ไม่เสียเงินเยอะอยู่แล้ว

ในบรรดา 21 ขุนพลทีมชาติออสเตรียที่ค้าแข้งในบุนเดสลีกา ฤดูกาล 2020-21 มีเพียง 4 รายที่ย้ายออกจากออสเตรีย บุนเดสลีกา ด้วยราคาที่ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านยูโร ได่แก่ สเตฟาน ไลเนอร์, ซาเวอร์ ชลาเกอร์, วาเลนติโน่ ลาซาโร่ และมาร์ติน ฮินเตอร์เร็กเกอร์ ซึ่งในจำนวนนี้ นักเตะค่าตัวแพงสุด คือ ซาเวอร์ ชลาเกอร์ มีราคาอยู่ที่ 15 ล้านยูโร เท่านั้น

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ นักเตะทั้ง 4 รายที่กล่าวไปข้างต้น ล้วนเป็นผลผลิตจาก เรดบูล ซัลซ์บวร์ก สโมสรฟุตบอลภายใต้เครือ Red Bull บริษัทเครื่องดื่มชูกำลังยักษ์ใหญ่สัญชาติออสเตรีย ที่นอกจากจะป้อนนักเตะฝีมือดีสู่ทีมแม่ในเยอรมัน อย่าง แอร์เบ ไลป์ซิก พวกเขายังจับนักเตะในทีมมาขายต่อเพื่อทำกำไรจากทีมอื่นในบุนเดสลีกาได้อีก

โมเดลธุรกิจนี้ของ เรดบูล ซัลส์บวร์ก จะมาจากเหตุผลอื่นไม่ได้ นอกจากสายตาอันเฉียบคมของนักธุรกิจที่มองเห็นมูลค่าของนักเตะออสเตรีย และตลาดขนาดใหญ่ นั่นคือ บุนเดสลีกา

 

สิ่งที่เรดบูล ซัลซ์บวร์ก ทำมีเพียงแค่การกระโดดลงมาสร้างราคาของนักเตะให้มากขึ้น แล้วฟันกำไรแบบเห็น ๆ มากกว่าจะขายในราคาถูก เหมือน ดาวิด อลาบา ที่ บาเยิร์น มิวนิค ซื้อมาจากออสเตรีย เวียนนา ในราคาไม่ถึง 2 แสนยูโร หรือ มาร์เซล ซาบิตเซอร์ ซูเปอร์สตาร์ของ แอร์เบ ไลป์ซิก ที่ย้ายจาก ราปิด เวียนนา ด้วยค่าตัว 2 ล้านยูโร

ออสเตรีย บุนเดสลีกา จึงเปลี่ยนสถานะจากลีกสำหรับนักฟุตบอลชาวออสเตรีย เป็นฟาร์มผลิตนักเตะฝีมือดีแก่บุนเดสลีกา ซึ่งดูจะเป็นแนวทางที่อยู่ไปอีกนานพอสมควร เพราะความเปลี่ยนแปลงตรงนี้สร้างผลประโยชน์แก่หลายฝ่าย 

ไม่ว่าจะเป็น ทีมฟุตบอลเยอรมันที่ได้นักเตะคุณภาพดีราคาไม่แพง, นักเตะออสเตรียที่ออกไปเก็บฝีมือในต่างประเทศ และสโมสรออสเตรียที่มีโอกาสสร้างรายได้จากการซื้อขายตรงนี้

ลีกเดียว แทคติกเดียว ทีมเวิร์คเดียว

ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา ก่อให้เกิดเป็นขุนพลทีมชาติออสเตรีย ชุดยูโร 2020 ซึ่งมีนักเตะค้าแข้งในบุนเดสลีกา ฤดูกาล 2020-21 ทั้งหมด 21 คน ดังต่อไปนี้

คริสตอฟ เบาม์การ์ทเนอร์, สเตฟาน พอช, ฟลอเรียน กริลลิตช์ (ฮอฟเฟนไฮม์) ปาเวา เปร์วาน, ซาเวอร์ ชลาเกอร์ (โวล์ฟสบวร์ก) มาร์ติน ฮินเตอร์เร็กเกอร์, สเตฟาน อิลซานเคอร์ (ไอน์ทรัค แฟรงค์เฟิร์ต) สเตฟาน ไลเนอร์, วาเลนติโน่ ลาซาโร่ (โบรุสเซีย มึนเช่นกลัดบัค) มาร์เซล ซาบิตเซอร์, คอนราด ไลเมอร์ (แอร์เบ ไลป์ซิก), ยูเลี่ยน บอมการ์ตลิงเกอร์, อเล็กซานดาร์ ดราโกวิช (ไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น)

ดาวิด อลาบา (บาเยิร์น มิวนิค) มิคาเอล เกรกอริตช์ (เอาก์สบวร์ก) คาริม โอนิซิโว (ไมนซ์ 05) อเลสซานโดร ช็อปฟ์ (ชาลเก้ 04) ฟิลิปป์ ไลน์ฮาร์ท (ไฟร์บวร์ก) มาร์โก ฟรีเดิล (แวร์เดอร์ เบรเมน) ซาซ่า คาลัดจ์ซิช (สตุ๊ตการ์ท) และคริสโตเฟอร์ ทริมเมิล (อูนิโอน เบอร์ลิน)

พิจารณาจากรายชื่อทั้งหมด 21 แข้งออสเตรีย ที่กระจายตัวอยู่ใน 14 สโมสรของบุนเดสลีกา เท่ากับว่า มีเพียง 4 ทีมจากลีกเยอรมันเท่านั้น ที่ปฏิเสธบริการจากนักเตะออสเตรีย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ทีมระดับหัวแถวของลีก

ทีมชาติออสเตรียชุดนี้ จึงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นชุด “ออล-สตาร์ บุนเดสลีกา” เพราะนักเตะส่วนใหญ่ค้าแข้งอยู่ในทีมระดับกลางที่เป้าหมายสูงสุดในแต่ละซีซั่น คือการลุ้นโควต้ายุโรป เช่น ฮอฟเฟนไฮม์, โวล์ฟสบวร์ก หรือ ไอน์ทรัค แฟรงค์เฟิร์ต และเมื่อมองมายังนักเตะที่อยู่ในทีมระดับหัวแถว มีเพียงแค่ ดาวิด อลาบา, มาร์เซล ซาบิตเซอร์ และคอนราด ไลเมอร์ เท่านั้น

ถึงอย่างนั้น ทีมชาติออสเตรียชุดนี้ก็มีดีไม่น้อย โดยเฉพาะในเรื่องของความเข้าใจแทคติกที่ชัดเจน เพราะบุนเดสลีกาเป็นลีกที่เน้นระบบการเล่นเป็นสำคัญ มากกว่าจะฝากความหวังไว้กับความสามารถเฉพาะตัวของนักเตะ

ทีมชาติออสเตรีย ชุดนี้ ไม่มีกองหน้าระเบิดสกอร์ หรือ ปีกความเร็วสูงที่สามารถชงเองกินเอง แต่ด้วยแทคติกที่ทุกคนต่างเรียนรู้หน้าที่ของตนเองเป็นอย่างดี ออสเตรียในยูโร 2020 จึงเป็นหนึ่งในชาติที่มีทีมเวิร์กดีที่สุด

นำมาสู่ผลงาน ชนะ 2 แพ้ 1 ในการแข่งขันรอบแบ่งกลุ่ม ซึ่งไม่โดดเด่นทั้งเกมรุกที่ยิงได้เพียง 4 ประตู รวมถึงเกมรับที่เสีย 3 ประตู แต่มันดีพอจะทำให้พวกเขาคว้า 6 คะแนน และจบเป็นอันดับ 2 ของกลุ่ม C โดยมีรายชื่อผู้ทำประตูไม่ซ้ำกันแม้แต่คนเดียว

ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า ทีมชาติออสเตรีย เวอร์ชันบุนเดสลีกาล้นทีม จะไปได้ไกลแค่ไหนในยูโร 2020 แต่สิ่งหนึ่งที่เรามั่นใจได้คือ แทคติก และทีมเวิร์กของพวกเขา ได้รับอิทธิพลจากบรรดานักเตะที่ไปคลุกตัวอยู่กับฟุตบอลเยอรมันมาแบบเต็ม ๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าหลังจากนี้ เราจะได้เห็นแข้งชาวออสเตรียโลดแล่นในบุนเดสลีกา มากกว่าเดิม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook