Don't Come Home Too Soon : เพลงเชียร์บอลยอดแย่ที่ชาวสกอตแลนด์รักสุดใจ
ทันทีที่ศึกยูโร 2020 เริ่มแข่งขัน แฮชแท็กของแฟนบอลชาวอังกฤษอย่าง It's Coming Home ก็เริ่มปรากฏขึ้นและความหมายของมันคือ "ถ้วยแชมป์จะกลับสู่บ้านของมัน (ประเทศอังกฤษ)"
อย่างไรก็ตาม สำหรับสกอตแลนด์ ชาติไม้เบื่อไม้เมาที่ไม่กินเส้นกับอังกฤษ ก็มีเพลงของพวกเขาเช่นกัน และเพลงประจำทีมของพวกเขานั้นช่างแตกต่าง ราวกับจะบอกมาตรฐานและความคาดหวังของแฟนบอล
"Don't Come Home Too Soon" ... "ไม่ต้องรีบกลับบ้านนะ" เพลง ๆ นี้สะท้อนอะไรบ้างในความเป็นชาวสกอต
เพลงแก้ It's Coming Home
เพลงแก้ ... หากเป็นคอเพลงลูกทุ่งไทยคงรู้ความหมายของมันเป็นอย่างดี หากจะอธิบายให้เข้าใจแบบสั้น ๆ เพลงแก้นั้นก็คือเพลงที่หยิบเอาเพลงดังในอดีต มาดัดแปลงเนื้อร้องใหม่โดยใช้ทำนองเดิม โดยที่เนื้อหาของเพลงนั้นมีความเกี่ยวข้องกัน เช่นเพลง แต๋วจ๋า ของ สายัณห์ สัญญา ที่ทำออกมาเพื่อแก้เพลงดังของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ อย่าง แก้วรอพี่
สำหรับ Don't Come Home Too Soon ของสกอตแลนด์นั้น จะบอกว่าเป็นเพลงแก้ของ Three Lions (ซึ่งท่อนเปิดดันติดหูจนหลายคนจำชื่อเพลงผิดเป็น It's Coming Home) ตัวแทนของฝั่งอังกฤษก็คงไม่ผิดนัก เพราะเมื่อปี 1996 "Three Lions (Football's Coming Home)" เพลงเชียร์ทีมชาติอังกฤษที่ถูกแต่งขึ้นรับศึกยูโรปีเดียวกัน ฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมืองถึงขั้นขึ้นชาร์ตเพลงอันดับ 1 ที่นั่นเลยทีเดียว แถมยังฮิตข้ามกาลเวลา กลายเป็นเพลงที่กลับมาดังทุก 2 ปี หรือทุกครั้งที่มีทัวร์นาเมนต์ใหญ่ (และอังกฤษเข้ารอบสุดท้าย) จนถึงทุกวันนี้
เนื้อหาของ Three Lions พูดถึง "เมื่อฟุตบอลกลับบ้าน" นัยหนึ่งสื่อถึงการได้เป็นเจ้าภาพของอังกฤษ ทว่ายังแปลความหมายได้อีก 1 ขั้น นั่นคือ "แชมเปี้ยนจะกลับมาสู่อ้อมกอดของทีมชาติอังกฤษอีกครั้ง" นั่นเอง (ครั้งสุดท้ายที่ทีมสิงโตคำรามได้แชมป์ระดับเมเจอร์เกิดขึ้นในฟุตบอลโลกปี 1966 ซึ่งอังกฤษเป็นเจ้าภาพเช่นกัน) แน่นอนว่าความหมายของเพลง แสดงถึงความมั่นใจและความทะเยอทะยานของกองเชียร์ทีมชาติอังกฤษอย่างแท้จริง
หลังจากนั้นสองปี Del Amitri วงดนตรีสัญชาติสกอตแลนด์ จึงเกิดความคิดที่จะทำเพลงเพลงหนึ่ง ที่จะถูกใช้เป็นเพลงเชียร์ของพวกเขาในการแข่งขันฟุตบอลโลก 1998 ขึ้นมา และเพลงนี้เป็นเพลงเชียร์เพลงแรกที่ถูกบันทึกเสียงสำหรับการแข่งขัน ฟรองซ์ 98 ที่ประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย
ทว่าในความรวดเร็วในการแต่งนั้น ก็ยังไม่ดีพอสำหรับใครหลายคน เพราะมีการโหวตจากแฟนบอลผ่านเว็บไซต์ The Guardian ว่า "นี่คือเพลงเชียร์ที่ห่วยที่สุดตลอดกาล" เพราะเนื้อหาของเพลงไม่ได้ทำให้ฮึกเหิมเหมือนกับ Three Lions แต่อย่างใด นักวิจารณ์หลายคนลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า "คุณจะแต่งเพลงแบบยอมแพ้ตั้งแต่บอลยังไม่เตะเลยได้อย่างไร?"
เนื้อเพลงของ Don't Come Home Too Soon ก็ไม่ต่างจากชื่อเพลง ส่วนหนึ่งของเพลงแปลออกมาได้ว่า "ฉันไม่สนหรอกนะว่าคนทั่วโลกจะพูดอะไร แต่พวกเราหัวเราะได้กับทุกสถานการณ์ที่ผ่านไป แต่ถ้าเศษเสี้ยวของความฝันยังพอมี ฉันแค่อยากให้พวกนายไม่ต้องรีบนั่งเครื่องบินโง่ ๆ นั่นกลับมา ... ได้โปรด อย่าเพิ่งรีบกลับบ้าน"
หดหู่และดูยอมแพ้ดีเหลือเกินกับเนื้อเพลงเพลงนี้ แต่สำหรับ จัสติน เคอร์รี่ นักร้องนำของวง Del Amitri ยืนยันว่า "ไม่เคยเสียใจสักนิดที่เขียนเพลงนี้ขึ้นมา" เพราะเหตุผลคือ หากคุณไม่ใช่คนสกอตแลนด์ คุณจะไม่มีวันเข้าใจเนื้อเพลงนี้อย่างแน่นอน
เราเป็น ... อย่างที่เราเป็น
สกอตแลนด์ เป็นประเทศที่มีเรื่องราวบาดหมางกับอังกฤษมาเป็นพัน ๆ ปี แม้ตอนนี้พวกเขาจะอยู่ภายใต้ธงชาติเดียวกัน และกษัตริย์องค์เดียวกันมานานกว่า 300 ปี แต่ความชิงชังไม่เคยหายไป เช่นเดียวกับเรื่องฟุตบอล ... ฟุตบอลสกอตแลนด์ ไม่เคยดีเทียบเท่ากับฟุตบอลอังกฤษ และนั่นจึงเป็นประเด็นให้พวกเขาโดนคนอังกฤษล้อเลียนอยู่เสมอ
สกอตแลนด์ เป็นเหมือนทีมประเภทครึ่งบกครึ่งน้ำ จะว่ามีคุณภาพก็ไม่ถึงขั้นจะใช้คำนั้น แต่จะใช้คำว่าห่วยก็ดูเกินจริงไปอีก กล่าวคือ ก่อนฟุตบอลโลก 1998 ที่เป็นที่มาของเพลงเพลงนี้ พวกได้เข้าแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมาทั้งหมด 6 จาก 7 ครั้ง เรียกได้ว่าตีตั๋วมาแข่งแทบจะตลอด ผลงานดีกว่าอังกฤษเสียด้วยซ้ำ (ทีมสิงโตคำรามตกรอบคัดเลือกในช่วงเดียวกันถึง 3 ครั้ง) สิริรวมพวกเขาเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกถึง 8 ครั้ง
แต่เมื่อทัวร์นาเมนต์เริ่มขึ้น พวกเขาก็มีคุณภาพไม่พอ และส่งผลให้ตกรอบแรกทุกครั้ง แถมเป็นการตกรอบแบบไม่ได้ลุ้นอีกต่างหาก ส่วนฟุตบอลยูโร ก่อนหน้ายูโร 2020 พวกเขาเข้ารอบสุดท้ายมา 2 ครั้ง ในปี 1992 และ 1996 แน่นอน จั่วมาแบบนี้คงเดาบทสรุปได้ไม่ยาก ... ตกรอบแรกตลอดอย่างไม่ต้องสืบ
ทุกครั้งที่ฟุตบอลล้มเหลว สื่ออังกฤษจัดเต็มใส่สกอตแลนด์ทุกครั้ง พวกเขาเหมือนเป็นที่ระบายของแฟนบอลสิงโตคำราม เพราะบางครั้งที่อังกฤษทำผลงานได้แย่แล้ว สกอตแลนด์ก็ยังทำได้แย่กว่า
ความผิดหวังและรู้สึกด้อยค่าถือเป็นสิ่งที่อยู่ภายในใจของพวกเขา ครั้งหนึ่งมันถูกสะท้อนผ่านภาพยนตร์เรื่อง Trainspotting ในปี 1996 ว่าด้วยวัยรุ่นชาวสกอตที่ตัดพ้อกับการเกิดเป็นชาวสกอตแลนด์ว่า
"การเป็นชาวสกอตนี่แม่งแย่ที่สุด เราอยู่ในจุดต่ำสุดของต่ำสุด เราเป็นพวกอัปยศที่สุด ทุกข์ทรมานที่สุด อดสูที่สุด น่าสมเพชที่สุด เท่าที่เคยมีมาในอารยธรรมของมนุษยชาติ" ตัวละคร มาร์ค เรนตัน ที่แสดงโดย ยวน แม็คเกรเกอร์ (แน่นอน เป็นชาวสกอต) กล่าว
หากจะบอกว่ามันก็แค่ข้อมูลอ้างอิงที่มาจากหนังเท่านั้น แล้วเรื่องจริงล่ะเป็นอย่างนั้นหรือ ? ... มันน่าประหลาดก็ตรงนี้ เพราะคนแต่งเพลงอย่าง จัสติน เคอร์รี่ ก็คิดเช่นนั้น และเขายืนยันว่าเนื้อเพลงแบบนี้แหละ ที่เหมาะกับทีมฟุตบอลสกอตแลนด์มากที่สุด
"ผมไม่เคยเสียใจที่แต่งเพลงนี้ สิ่งเดียวที่น่าผิดหวังคือ เราไม่น่าทำให้มันเป็น 1 ในเพลงที่อยู่ในอัลบั้มเพลงเชียร์ฟุตบอลโลก 1998 อย่างเป็นทางการเลย มันควรจะเป็นเพลงเฉพาะของชาวสกอตมากกว่า ผมแต่งเพลงนี้ด้วยอารมณ์ที่พุ่งพล่านถึงที่สุด ผมสะท้อนตัวตนของชาวสกอตออกมา จึงได้แต่งเพลงที่ไม่ใช่เพลงสำหรับผู้ชนะ ... และหลายคนคงบอกว่ามันน่าสมเพช" เคอร์รี่ กล่าว
"แต่คุณจงเชื่อเถอะนะ ว่าผมใส่ความจริงลงไปในเพลงนี้ ความจริงก็คือ เราไม่เคยคิดว่าเราจะไปแข่งเพื่อก้าวไปถึงตำแหน่งแชมป์โลกเลย"
"นี่คือเพลงที่บอกถึงตัวตนของชาวสกอตแลนด์ พวกเราเป็นประเทศที่เหนียมอาย เราไม่อินกับเรื่องเพ้อฝันสุดโรแมนติกเกินจริง เราแค่อยากจะเชื่อมั่นในความยิ่งใหญ่ที่พวกเราจำกัดความมันขึ้นมาเอง ... เพลงขี้แพ้เพลงนี้มันมีความหมายอีกนัยซ่อนอยู่" เขากล่าวทิ้งท้าย
เพลงที่ดีคือเพลงที่คุณรู้สึกถึงมันได้
ขณะที่แฟนบอลอังกฤษ อินกับบทเพลง Three Lions และหวังถึงแชมป์ทุกรายการที่ลงแข่งขัน ทว่ามันก็ยังไม่เคยเกิดขึ้นจริงเสียที และยังไม่เข้าใกล้คำว่าใกล้เคียงเลยสักครั้ง มันบ่งบอกถึงอะไร?
คนอังกฤษทะเยอทะยาน คลั่งไคล้ในฟุตบอล และมีความเชื่อว่าชาติของพวกเขาคือบ้านของฟุตบอล ดังนั้นแม้ว่าสื่อ, นักวิจารณ์ และแฟนบอลต่างประเทศ จะขำในความเพ้อฝันของบทเพลง Three Lions นี้แค่ไหน แต่พวกเขาก็ยังมีความสุขกับการฟังมันอยู่ดี เพราะมันทำให้พวกเขารู้สึกได้ว่าการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่กำลังจะมาถึง และพวกเขาจะสู้เพื่อเป็นแชมป์ไม่ว่าใครจะมองอย่างไรก็ตาม
สิ่งนี้สะท้อนถึง DNA ของชาวอังกฤษได้เป็นอย่างดี พวกเขาเคยเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ของโลก ได้รับสมญานามว่า "จักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน" เพราะมีประเทศในอาณานิคมอยู่ทั่วโลก ไม่ว่าทีมจะแย่สักแค่ไหน พวกเขาก็จมไม่ลง และจะไม่มีทางยอมรับความพ่ายแพ้ จนกระทั่งมันจะมาเยือนพวกเขาจริง ๆ
ในขณะที่คนสกอตแลนด์ อยู่ภายใต้ร่มเงาความยิ่งใหญ่ของอังกฤษมาแทบทุกเรื่อง และความน้อยเนื้อต่ำใจนั้น ก็สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของเพลง Don't Come Home Too Soon ได้เป็นอย่างดี พวกเขาไม่เชื่อว่าทีมชาติของตัวเองจะหวังสูงถึงขั้นพิชิตแชมป์โลกหรือแชมป์ยุโรป เพราะพวกเขาต่างรู้ดีว่าในความเป็นจริงมันมีโอกาสน้อยมาก พวกเขาจึงแค่อยากมีความสุขกับโลกแห่งความเป็นจริง หรือกับสิ่งที่จับต้องได้สักอย่าง เช่น การได้ผ่านเข้ารอบน็อกเอาต์สักครั้ง, การคว้าชัยชนะสักเกม หรือแม้กระทั่งการยิงประตูสักลูก ... แค่นี้แฟนบอลสกอตแลนด์ก็มีความสุขได้แล้ว
เพลง Don't Come Home Too Soon ไม่ใช่เพลงดังระดับพลุแตก จึงแทบไม่มีเรื่องราวเบื้องลึกจากสื่อใหญ่ ๆ ให้เห็นเหมือนเพลงเกี่ยวกับฟุตบอลดัง ๆ อีกหลายเพลง
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เราได้ไปพบกระทู้หนึ่งในเว็บไซต์ Reddit.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์แนวฟอรัมแลกเปลี่ยนพูดคุยกันโดยมีสมาชิกจากทั่วโลก กระทู้นี้ถูกตั้งโดยชาวสกอตแลนด์ หัวข้อของมันมีอยู่ว่า "ความเห็นที่ไม่น่าฟัง : เหตุผลที่ผมโคตรจะรักเพลง Don't Come Home Too Soon" โดยเขาเขียนอธิบายถึงสิ่งนี้ว่า
"ผมรู้ดีว่าเพลงนี้ถูกจัดอยู่ในลิสต์เพลงเชียร์ยอดแย่อันดับ 1 ของฟุตบอลโลก มันไม่ใช่เพลงที่มองโลกในแง่ดี ... แต่ไม่รู้ทำไม ผมถึงรักเพลงนี้ฉิบ!"
“ผมรู้สึกว่านี่คือเพลงที่สะท้อนความอึดถึกทนของคนสกอตแลนด์ ทีมชาติของเราไม่เคยถูกมองว่าจะได้เป็นแชมป์โลก ขณะที่แฟนบอลก็ไม่คาดหวังกระทั่งจะได้เข้ารอบลึก ๆ เรารู้ตัวและเราอยู่กับมันอย่างมีความสุขดี อารมณ์ขันของชาวสกอตแลนด์ทำให้เกิดเพลง ๆ นี้ขึ้นมา ถ้าจะให้เราไปร้องเพลง Three Lions ชาวสกอตคงกระอักกระอ่วนใจจนร้องไม่จบแน่ ๆ" ผู้โพสต์จบความเพียงเท่านี้
เราก็แค่สนุกในแบบของเรา เข้ารอบน็อกเอาต์ให้ดูสักครั้งก็ยังดี หรืออย่างน้อยก็ชนะใครให้เราได้ดีใจกันแบบสุดเหวี่ยงสักหน่อย ไม่ได้แชมป์ก็ไม่เป็นไร แต่สู้ตายนะ ! เราเชียร์พวกคุณอยู่ เราไม่อยากให้พวกคุณกลับบ้านเร็วเกินไป ... ทั้งหมดนี้คือความหมายอีกนัยที่ซ่อนอยู่ในเพลง Don't Come Home Too Soon ที่ชาวสกอตแลนด์เท่านั้นจะเข้าใจ
ใครว่าแย่ แต่พวกเขาคิดว่าเพลงนี้นี่แหละ ที่ฟังแล้วสามารถรับรู้ได้ด้วยความรู้สึกอย่างแท้จริง