10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ‘MLS’ (ตอนที่ 1)

10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ‘MLS’ (ตอนที่ 1)

10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ‘MLS’ (ตอนที่ 1)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากเดวิด เบ็คแฮม สู่เธียร์รี่ อองรี, ดาวิด บีญ่า, กาก้า และสตีเฟ่น เจอร์ราร์ด (เอ่อ...ไม่นับแฟรงค์ แลมพาร์ดอีกคน) - เมเจอร์ลีกซอคเกอร์ (MLS) กลับมาเป็นหนึ่งในลีกยอดนิยมสำหรับซูเปอร์สตาร์ลูกหนังระดับโลกที่จะใช้ชีวิตส่งท้ายการเป็นผู้เล่นในดินแดนแห่งเสรีภาพไม่ต่างจากที่ เปเล่, ฟรานซ์ เบ็คเคนเบาเออร์, จอร์จ เบสต์ เคยไปผจญภัยในยุคอดีต

แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือ “ซอคเกอร์” ในเวลานี้ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ และก้าวมาเป็น “กีฬากระแสหลัก” ของชาวอเมริกันชนไปแล้ว เพียงแต่เราอาจจะรู้เกี่ยวกับเมเจอร์ลีกไม่มากพอ

วันนี้ “ฮอตสกอร์” รวบรวม 10 เรื่องที่น่ารู้เกี่ยวกับฟุตบอลเมเจอร์ลีกมาฝากกันครับ


1. ไมเคิล แบรดลีย์ ทำเงินรายได้มากกว่าเธียร์รี่ อองรี

คลินท์ เดมป์ซีย์ สตาร์เมืองลุงแซมคือคนที่ได้รับรายได้สูงที่สุดในเมเจอร์ลีกในปี 201โดยได้รับรายได้ 4.3 ล้านปอนด์ (6.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) อันดับสองคือ ไมเคิล แบรดลีย์ อีกหนึ่งสตาร์ชาวอเมริกันที่ได้รับรายได้ 4.2 ล้านปอนด์ (6.5 ล้านดอลลาร์ฯ)

รองลงมาคือ 4 จตุรเทพที่เคยเล่นในพรีเมียร์ลีกมาก่อนอย่าง เจอร์เมน เดโฟ ในอันดับที่ 3 ทำรายได้ 4 ล้านปอนด์ (6.18 ล้านดอลลาร์ฯ) ร็อบบี้ คีน ผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำปีที่แล้ว ในอันดับที่ 5 ทำรายได้ 2.9 ล้านปอนด์ (4.5 ล้านดอลลาร์ฯ)

ต่อด้วย เธียร์รี่ อองรี ตำนานที่เพิ่งลาวงการไปในอันดับที่ 6 ทำรายได้ 2.8 ล้านปอนด์ (4.35 ล้านดอลลาร์ฯ) และทิม เคฮิลล์ อันดับ 7 ทำรายได้ 2.3 ล้านปอนด์ (3.63 ล้านดอลลาร์ฯ)

สำหรับนักเตะที่ทำรายได้น้อยที่สุดอยู่ที่ 23,000 ปอนด์ (36,500 ดอลลาร์ฯ) ขณะที่ค่าเฉลี่ยรายได้ของผู้เล่นในเมเจอร์ลีก ในปี 2014 อยู่ที่ 137,700 ปอนด์ (208,000 ดอลลาร์ฯ)


2. ผู้ชมนัดชิง MLS น้อยกว่าซูเปอร์โบวล์ 60 เท่า!

ตัวเลขนี้อาจทำให้ขวัญกำลังใจของคนลูกหนังเมืองมะกันหายไปบ้าง เมื่อมีการเปิดเผยตัวเลขผู้ชมนัดชิง “เมเจอร์ลีกซอคเกอร์ คัพ ไฟนอล” เมื่อเดือนที่แล้วออกมา และปรากฏว่ามีผู้ชม 1.9 ล้านคน ขณะที่ผู้ชมเฉลี่ยในปี 2014 ที่มีการถ่ายทอดสดทางช่อง ESPN และ ESPN2 อยู่ที่ 240,000 คน

เมื่อเทียบกับตัวเลขผู้ชม “ซูเปอร์โบวล์” ในปี 2014 ที่มีผู้ชม 112 ล้านคน หรือแม้แต่นัดชิงบาสเก็ตบอลระดับมหาวิทยาลัย NCAA ยังมีผู้ชม 16.2 ล้านคนแล้ว ต้องยอมรับว่ายังห่างไกล

แต่อย่างน้อยกระแสจากฟุตบอลโลก 2014 ทำให้ “ซอคเกอร์” ได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเชื่อว่าการมาของเจอร์ราร์ด น่าจะช่วยปลุกกระแสได้พอสมควร


3. MLS ครอบคลุม 2 ประเทศ

ถึงจะได้รับการจดจำว่าเป็นลีกของสหรัฐอเมริกา แต่ MLS ไม่ได้เป็นลีกของสหรัฐฯอย่างเดียว แต่มีทีมของ แคนาดา ร่วมแข่งขันด้วย คล้ายกับลีกอังกฤษ ที่มีทีมจากเวลส์เช่น สวอนซี หรือคาร์ดิฟฟ์ อยู่ด้วย

โดย โตรอนโต้ เอฟซี เป็นทีมแรกจากแคนาดา ที่มาเล่นใน MLS ในปี 2007 ก่อนที่ แวนคูเวอร์ ไวท์แคปส์ จะตามมาในปี 2011 และมอนเทรียล อิมแพ็คต์ ในปีที่แล้ว

ส่วนในอดีตในยุคของ “นอร์ธ อเมริกัน ซอคเกอร์ ลีก” ในช่วงปี 1960-80 (ยุคเปเล่,นิวยอร์ค คอสมอส ฯลฯ) มีทีมจากแคนาดาเข้าร่วมแข่งด้วย 5 เมือง


4. MLS มีอายุครบ 20 ปีแล้ว

เร็วอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ MLS กำลังจะมีอายุครบรอบ 20 ปีเมื่อถึงช่วงเปิดฤดูกาลในเดือนมีนาคมนี้ โดย MLS เริ่มต้นก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี 1995 ก่อนจะแข่งขันจริงในปี 1996 โดยเกมแรกเกิดขึ้นในวันที่ 6 เมษายน 1996

ก่อนหน้าจะมี MLS สหรัฐอเมริกา ไม่มีลีกสูงสุดนานถึง 11 ปีหลัง นอร์ธ อเมริกัน ซอคเกอร์ ลีก ยุบไปเมื่อปี 1984 ก่อนที่จะมีการก่อตั้งลีกใหม่คล้อยหลังจากที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 1994  ในยุคที่มีฮีโร่ของทีมอย่าง อเล็กซี่ ลาลาส (พี่เคราแพะ), โทนี่ มีโอล่า นายทวารสุดหนึบ และเอริค วีนัลด้า จอมทัพอมตะ


5. MLS มีผู้ชมมากกว่าลีกบราซิล

แต่ถึงจะก่อตั้งได้ 20 ปี และมีผู้ชมห่างชั้นกว่า “ซูเปอร์โบวล์” ล้านปีแสง แต่ MLS เองมีจำนวนผู้ชมที่ไม่น้อยเลยเมื่อเทียบกับลีกอื่น โดยค่าเฉลี่ยในปี 2014 อยู่ที่นัดละ 19,151 คน อยู่อันดับ 8 ของโลก เหนือกว่าลีกสูงสุดของ บราซิล, อาร์เจนติน่า,โปรตุเกส หรือเจลีก ของญี่ปุ่นด้วยซ้ำไป!

6. กฏของเบ็คแฮม

MLS มีการประกาศใช้กฏ Salary Cap ในปี 2014 โดยแต่ละสโมสรจะต้องควบคุมค่าเหนื่อยให้อยู่ในงบ 2 ล้านปอนด์ (3.1 ล้านดอลลาร์ฯ) ให้ได้ เพียงแต่ในแต่ละทีมจะมีผู้เล่นเพียงแค่ 3 คนเท่านั้นที่แต่ละทีมจะสามารถจ่ายให้ได้มากเท่าไหร่ก็ได้ ซึ่งเป็นไปตามกฏของผู้เล่นแบบพิเศษที่เรียกว่า Designated Player Rule

กฏนี้มีชื่อเล่นว่า “กฏของเบ็คแฮม” (The Beckham Rule) โดยมีการตั้งกฏนี้ขึ้นมาในปี 2007 ในช่วงเวลาที่เบ็คแฮม ย้ายมาเล่นกับแอลเอ แกแล็กซี่ โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะดึงดูดซูเปอร์สตาร์ระดับโลกให้เข้ามาเล่นใน MLS มากขึ้นนั่นเอง


7. จ่าฝูงไม่ได้หมายถึงแชมป์

ตารางอันดับของ MLS ไม่ได้มีความหมายมากนักเมื่อจบฤดูกาล เพราะเมื่อแข่งขันกันจนจบฤดูกาลทีมทั้งหมด 12 ทีมจะต้องเข้าไปดวลกันในรอบเพลย์ออฟอยู่ดี และจะไปชิงดำกันในเกม “เมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ คัพ ไฟนอล” เหมือนอเมริกันฟุตบอล “เอ็นเอฟแอล” หรือบาสเก็ตบอล “เอ็นบีเอ”

8. แฟนๆ MLS ไม่ชอบอากาศหนาว

แต่ละฤดูกาลของ MLS จะเริ่มต้นในช่วงเดือนมีนาคม (ในปีนี้จะเริ่มวันที่ 6 มีนาคม) และจะชิงโทรฟี่ MLS กันในช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งแตกต่างจากลีกทั่วไปที่จะเริ่มในเดือนสิงหาคมและจบในเดือนพฤษภาคม

เหตุผลที่ทำให้มีการกำหนดโปรแกรมแข่งขันเช่นนี้เกิดขึ้นจากเหตุผลหลัก 2 เรื่องด้วยกัน

หนึ่งคือฝ่ายจัดการแข่งขันกังวลว่าแฟนๆอาจจะไม่ยอมเข้ามาเชียร์เกมในสนามในเดือนที่อากาศหนาวเย็น (ธันวาคมเป็นต้นไป)

อีกเรื่องคือเพื่อหลีกทางไม่ให้จัดชนกับ เอ็นเอฟแอล และอเมริกันฟุตบอลในระดับมหาวิทยาลัย


9. โปรแกรมแข่งของทีมใน MLS น้อยกว่าทีมพรีเมียร์ลีก

ในปี 2015 จะมีทีมที่แข่งใน MLS จำนวน 20 ทีม แต่จะมีการเล่นกันแค่ 34 นัด ก่อนที่จะปิดฤดูกาลปกติ และต่อด้วยรอบเพลย์ออฟ และนัดชิง MLS ในขณะที่ทีมจากพรีเมียร์ลีกจะเล่น 38 นัดในแต่ละฤดูกาล

ส่วนฟุตบอลถ้วยนั้น 17 ทีมใน MLS จะลงเล่นในรายการ ยูเอส โอเพ่น คัพ (เทียบได้กับ เอฟเอ คัพ” ขณะที่อีก 3 ทีมใน MLS ซึ่งเป็นสโมสรจากแคนาดา จะไปแข่งในรายการประเทศตัวเองคือ แคนาเดียน แชมเปี้ยนชิพ

ทีนี้เมื่อจบฤดูกาลจะมี 5 ทีมจาก MLS โดย 1 ในนั้นจะต้องมีทีมจากแคนาดาด้วย ได้ผ่านไปเล่นในรายการคอนคาเคฟ แชมเปี้ยนส์ ลีก ชิงแชมป์ระดับทวีปอเมริกาเหนือต่อไป


10. อยากมีสโมสรใน MLS? จ่ายมา 100 ล้าน!

คุณลักษณะพิเศษของ MLS อีกอย่างคือ เป็นลีกที่ไม่มีการขึ้นชั้นหรือตกชั้น ดังนั้นจะห่วยแทบตายก็ไม่มีวันตกชั้น เพียงแต่หากใครคิดจะมีทีมลงเล่นใน MLS นั้นไม่ใช่เรื่องยาก ขอเพียงแค่มีเงิน 100 ล้านเหรียญฯ แล้วเอาไปจ่ายให้ MLS ก็จะมีทีมเป็นของตัวเองได้ทันที

ในปี 2015 จะมีทีมใหม่ 2 ทีมใน MLS คือ นิวยอร์ค ซิตี้ เอฟซี (เจ้าของเดียวกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ - ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไม แลมพาร์ดถึงกลับมาเล่นในอังกฤษง่ายเหลือเกิน) และอีกทีมคือ ออร์แลนโด เอสซี (กาก้า อยู่ทีมนี้)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook