เป็นรองต้องแตกต่าง : แนวคิดนอกกรอบสู่ลีกสูงสุดครั้งแรกรอบ 74 ปีของ "เบรนท์ฟอร์ด"

เป็นรองต้องแตกต่าง : แนวคิดนอกกรอบสู่ลีกสูงสุดครั้งแรกรอบ 74 ปีของ "เบรนท์ฟอร์ด"

เป็นรองต้องแตกต่าง : แนวคิดนอกกรอบสู่ลีกสูงสุดครั้งแรกรอบ 74 ปีของ "เบรนท์ฟอร์ด"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การจะนำทีมไปเล่นลีกสูงสุด ซึ่งครั้งสุดท้ายที่ได้อยู่ตรงนั้นต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 1947 หรือก่อนที่หลายๆคนที่ยังมีชีวิตในปัจจุบันจะเกิดเสียอีก ต้องใช้อะไรบ้าง?

คำตอบแรก ๆ ของบริบทลูกหนังยุคนี้ คงต้องเป็นการภาวนาให้มีมหาเศรษฐีสักคน ซื้อทีม แล้วทุ่มเงินซื้อนักเตะ หวังฝีเท้าของพวกเขาพาทีมไปถึงจุดนั้น แต่สำหรับ เบรนท์ฟอร์ด ทีมเล็ก ๆ ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ จุดเริ่มต้นอาจจะคล้ายกัน แต่หลังจากนั้นคือความแตกต่าง

ไอเดียความคิดที่แตกต่าง นอกกรอบ นำ เบรนท์ฟอร์ด กลับสู่ลีกสูงสุดได้อย่างไร? ติดตามได้ที่นี่กับ Main Stand

ทีมหลืบแห่งลอนดอน

หาก อังกฤษ คือ ดินแดนแห่งฟุตบอลแล้ว ลอนดอน ก็คงเปรียบได้กับเมืองหลวงแห่งโลกลูกหนัง เพราะที่นี่มีสโมสรฟุตบอลมากมายหลายสิบแห่ง กระจายอยู่ตามมุมต่างๆของเมือง

เอ่ยถึงทีมลูกหนังจากกรุงลอนดอน ส่วนใหญ่แฟนบอลคงนึกถึง เชลซี แชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก 2 สมัย, อาร์เซนอล, ท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์, เวสต์แฮม, คริสตัล พาเลซ หรือแม้แต่ในลีกรองอย่าง ควีนส์พาร์ค เรนเจอร์ส ถึงกระนั้น ก็ยังมีอีกหลายทีม ที่หลบซ่อนอยู่ในลีกรองและลีกล่าง ... เบรนท์ฟอร์ด คือหนึ่งในนั้น

1

ทีมเจ้าของฉายา "เดอะ บีส์" หรือ "ผึ้งพิฆาต" ก่อตั้งสโมสรตั้งแต่ปี 1889 แต่เส้นทางของพวกเขา วนเวียนอยู่กับลีกล่างมาโดยตลอด โดยมีเพียง 5 ฤดูกาลเท่านั้น ที่พวกเขาเคยได้เล่นในลีกสูงสุด ซึ่งตอนนั้นยังใช้ชื่อ ดิวิชั่น 1

ครั้งสุดท้ายที่ เบรนท์ฟอร์ด ได้เล่นในลีกสูงสุด เกิดขึ้นในฤดูกาล 1946-47 หรือซีซั่นแรกที่ฟุตบอลลีกอังกฤษกลับมาแข่งขันอีกครั้งหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ... หนนั้นพวกเขาจบอันดับ 21 จาก 22 ทีม ต้องหล่นชั้นไปเล่นในลีกรอง และหาทางกลับมาไม่เจอนับจากนั้น

ทีมเล็ก สนามก็เล็ก (กริฟฟิน พาร์ค รังเหย้าเก่าของ เบรนท์ฟอร์ด มีความจุเพียง 12,300 ที่นั่ง ขณะที่ เบรนท์ฟอร์ด คอมมิวนิตี้ สเตเดียม สนามแข่งปัจจุบันที่เพิ่งเปิดใช้เมื่อปี 2020 ก็มีความจุแค่ 17,250 ที่นั่ง) แถมยังเล่นในลีกล่าง บางปีได้เลื่อนชั้นขึ้นมาลีกรอง บางปีเกือบหล่นไปอยู่นอกลีกเสียด้วยซ้ำ ไม่แปลกอะไรที่แฟนบอลทีมนี้จะเกิดความรู้สึกสิ้นหวังอยู่บ้างกับทีมรัก เพราะทำอย่างไรก็เข็นไม่ขึ้นจริง ๆ

2

"ผมเคยได้ยินว่า แฟนบอลของ โรชเดล เคยเขียนหนังสือ 'Life Sentence' (ต้องโทษตลอดชีวิต) บรรยายถึงการเป็นแฟนทีมนั้น เออ ! ผมว่าคำนี้ก็คงใช้ได้กับ เบรนท์ฟอร์ด ของเราด้วยแหละ" เกรวิลล์ วอเตอร์แมน แฟนบอลของ เดอะ บีส์ เล่าถึงอดีตครั้งวันวาน

แสงสว่างจาก "เซียนพนัน"

อย่างไรก็ตาม ชีวิตอยู่ได้ด้วยความหวัง และ เบรนท์ฟอร์ด ก็พานพบกับแสงสว่าง เมื่อมีแฟนบอลเดนตายคนหนึ่งของทีม ก้าวออกมาแล้วพูดว่า "ผมจะช่วยทีมรักของผมเอง"

3

แมทธิว เบนแฮม คือชายผู้นั้น ... เขาเชียร์ เบรนท์ฟอร์ด มาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น แถมการเงินยังไม่ใช่ปัญหา เพราะตัวเองก็สร้างฐานะมาไม่น้อย แม้เส้นทางอาจจะดูสีเทา ๆ ไปสักหน่อยในความคิดหลายคน เพราะ เบนแฮม ร่ำรวยจากการเป็น "เซียนพนัน"

ในตอนแรก เบนแฮม ก็เป็นเพียงคนเล่น ต่อมา เจ้าตัวก็ก้าวไปทำงานให้กับทางบริษัทรับพนัน Premier Bet ที่ โทนี บลูม เป็นเจ้าของ ... ถูกต้องแล้ว โทนี บลูม คนเดียวกับที่เป็นเจ้าของทีม ไบรท์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบียน นั่นเอง

กาลเวลาผ่านไป แนวคิดไม่ตรงกัน จากเจ้านาย-ลูกน้อง ก็แปรเปลี่ยนเป็นคู่แข่งทางธุรกิจ เบนแฮม สร้างอาณาจักรของตัวเองในชื่อ Smartodds บริษัทที่รวบรวมสถิติ, แนะนำคำปรึกษา, และวิเคราะห์ให้ลูกค้า เพื่อการเลือกเดิมพันที่ฉลาดที่สุด ซึ่งแน่นอนว่า "ทับไลน์" กับ Starlizard บริษัทที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ของ บลูม แบบเต็ม ๆ 

4

อย่างไรก็ตาม เบนแฮม ก็ได้อะไรมาจาก บลูม ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวคิดการทำงาน และเมื่อเขามีโอกาสได้มาทำงานให้ เบรนท์ฟอร์ด ทีมรัก เริ่มจากการเป็นนายทุนลับ ให้ Bees United กลุ่มแฟนบอลของสโมสร ซื้อทีมและเคลียร์หนี้สินจาก รอน โนเดส เจ้าของทีมคนเดิมเมื่อปี 2006 ก่อนจะทำข้อตกลงในการเข้ามาบริหารในปี 2009 อันนำมาสู่การถือหุ้นใหญ่ มีสิทธิ์ในการบริหารเต็มตัวตั้งแต่ปี 2012 เจ้าตัว ก็ได้นำแนวคิดนั้นมาปรับใช้กับการบริหารทีมฟุตบอลด้วย

นอกกรอบและแตกต่าง

ด้วยความที่ "สถิติ" คือหนึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้ แมทธิว เบนแฮม มีชื่อเสียงและร่ำรวย จึงไม่แปลกที่เขาจะนำเรื่องสถิติมาใช้ในการบริหารทีม เบรนท์ฟอร์ด ซึ่งเรื่องนี้ สะท้อนตั้งแต่คำพูดของเจ้าตัวแล้ว

"เรามีโอกาสได้คุยกัน ตอนนั้นอยู่ในช่วงท้ายฤดูกาล เบรนท์ฟอร์ด กำลังต้องลุ้นว่าจะได้เลื่อนชั้นหรือไม่ เวลาคุยถึงเรื่องนี้ ปกติเราคาดหวังจะได้ยินคำตอบว่า ใช่ หรือ ไม่ ด้วยอารมณ์หรือแพชชั่นจากเจ้าของทีม แต่ แมทธิว ตอบผมว่า 'ตอนนี้เรามีโอกาสเลื่อนชั้นที่ 42.3%' เพียงเท่านั้นผมรู้เลยว่า เขามีแนวคิดเรื่องฟุตบอลที่แตกต่างจากคนอื่นมากเลยครับ" ราสมุส แอนเคอร์เซน ผู้อำนวยการฟุตบอลร่วมของ เบรนท์ฟอร์ด ชาวเดนมาร์ก เล่าถึงแนวคิดเจ้านายของเขา

5

และการนำสถิติมาใช้นั้น คือการใช้กับแทบทุกเรื่องจริง ๆ ดังที่ตัวของ เบนแฮม เคยให้สัมภาษณ์ว่า

"ผมไม่ชอบการพูดถึงเรื่องแค่ว่าทีมชนะหรือแพ้ ยิงได้หรือไม่ได้ เพราะมันมีสิ่งที่เรียกว่า 'ค่าความรบกวน' (Noise) ในสถิติต่าง ๆ อยู่ ผมต้องการดูถึงจำนวนและคุณภาพของโอกาสที่เราสร้างขึ้นด้วย หากผมจะหากองหน้าสักคน ผมไม่สนว่าเขาเคยยิงมากี่ประตู สิ่งเดียวที่น่าสนใจคือ ทีมจะได้ประโยชน์ทั้งในเกมรุก และเกมรับจากผลงานของคนนั้น ๆ อย่างไรบ้าง ถ้าผมอยากรู้ว่านักเตะคนนั้นเก่งแค่ไหน ผมอยากรู้จากปากของคนที่เคยดูเขาเล่นมาแล้ว 100 เกม ในทุกสถานการณ์ มากกว่าคนที่ไปดูแค่ 40 นาทีแล้วมาบอกว่านักเตะคนนี้แม่งเทพ"

จากคำพูดดังกล่าว คุณอาจพอมองภาพออกแล้วว่าเขาใช้การบริหารทีมแบบไหน ... "Moneyball" การนำสถิติมาวิเคราะห์ เพื่อใช้ในการเสริมทัพนักเตะ อันมีจุดกำเนิดจากวงการเบสบอลโดย บิลลี บีน คือแนวทางที่ เบรนท์ฟอร์ด เลือก แม้ เบนแฮม ไม่อยากใช้คำนี้เท่าไหร่ เนื่องจากสะท้อนมุมมองที่ไม่ครบถ้วนนักก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การบริหารโดยใช้แนวทางดังกล่าวก็เวิร์คได้ หากคุณมีทรัพยากรที่ดีพอ ... นอกจาก เบรนท์ฟอร์ด แล้ว แมทธิว เบนแฮม ยังเป็นเจ้าของ มิดทิลแลนด์ สโมสรฟุตบอลใน ซูเปอร์ลีก เดนมาร์ก ด้วยอีกทีม (ซื้อทีมมาตั้งแต่ปี 2014) ทำให้เครือข่ายในการเสาะหานักเตะกว้างขวางขึ้น ทำงานประสานกันได้อย่างไร้รอยต่อ และไม่แปลกที่เราจะได้เห็นนักเตะ รวมถึงสตาฟฟ์โค้ชจากประเทศแถบสแกนดิเนเวีย อย่าง เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, นอร์เวย์, สวีเดน, ไอซ์แลนด์ มาอยู่ทีมนี้

6

ส่วนเรื่องโครงสร้างนักเตะเยาวชนนั้น เบรนท์ฟอร์ด เลือกเส้นทางเดินที่แตกต่าง เพราะในขณะที่ทีมอื่น ๆ พัฒนาอคาเดมีนักเตะ เบรนท์ฟอร์ด กลับยุบระบบนี้ทิ้งเมื่อปี 2016 หลังถูกทีมใหญ่เงินหนาจาก พรีเมียร์ ลีก ดูดดาวรุ่งไปอยู่กับทีมอย่างต่อเนื่อง แล้วสร้าง "ทีมชุด B" ขึ้นมาแทน

แทนที่จะไปเสาะหานักเตะดาวรุ่งจากทีมเล็ก ๆ หรือไปแย่งตัวเด็กเทพกับทีมอื่น ๆ สิ่งที่ เบรนท์ฟอร์ด ทำ คือการรับเซ้งนักเตะในช่วงวัยรุ่นตอนปลายที่หลายคนมองว่า ไม่เก่งพอ ... จากที่ทีมเล็ก ๆ เช่นพวกเขาจะต้องกลัวทีมใหญ่ ๆ ที่อาจมาฉกดาวรุ่งฝีเท้าดีไป เดอะ บีส์ กลับสามารถทำงานร่วมกับทีมเงินหนาเหล่านี้ได้อย่างไม่มีปัญหา ส่วนนักเตะก็จะได้รับโอกาสหนสองที่พวกเขาจะได้พิสูจน์ฝีเท้าของตนเองว่า ดีพอที่จะสามารถลงแข่งขันในระดับอาชีพได้

แนวทางดังกล่าว ได้รับการพิสูจน์ในสนามจริงแล้วว่า เป็นอีกหนทางที่ทำให้ทีมพัฒนาขึ้นได้จริง นักเตะหลายคน ได้รับโอกาสจาก เบรนท์ฟอร์ด ชุด B จนได้ขึ้นมาเป็นนักเตะทีมชุดใหญ่ รวมถึงมีนักเตะที่ติดทีมชาติมาแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น อีกหนึ่งแนวทางการทำทีมของพวกเขา ยังเป็นเรื่องสุดคลาสสิกอย่าง "ซื้อถูก ขายแพง" ... ซื้อนักเตะมาด้วยราคาถูก บ่มเพาะให้มีฝีเท้าและประสบการณ์ ก่อนขายให้ทีมใหญ่ในราคาแพง 

7

อันเดร เกรย์, เจมส์ ทาร์คอฟสกี, นีล โมเปย์, โอลลี วัตกินส์ พวกเขาเหล่านี้เคยอยู่กับ เบรนท์ฟอร์ด ก่อนจะได้ย้ายสู่ทีมในพรีเมียร์ลีก ด้วยค่าตัวที่ถือว่ามากสำหรับทีมเล็ก ๆ และทำให้ เดอะ บีส์ ไม่มีปัญหาเรื่องการเงินอีกเลยมาจนถึงทุกวันนี้

ทำลายอาถรรพ์

แม้แนวทางการบริหารทีมที่ไม่เหมือนใครของ แมทธิว เบนแฮม จะทำให้ เบรนท์ฟอร์ด ต้องเปลี่ยนกุนซือหลายคนในช่วงแรก ๆ ที่เขาเป็นเจ้าของ แต่ เดอะ บีส์ ก็ค่อย ๆ โบยบินอย่างมั่นคง จาก ลีกวัน ตอนที่ เบนแฮม เป็นเจ้าของทีมเต็มตัว สู่ ลีก แชมเปี้ยนชิพ ลีกรอง และมีลุ้นเลื่อนชั้นสู่ พรีเมียร์ ลีก ลีกสูงสุด

8

อย่างไรก็ตาม มันมีอาถรรพ์อยู่เรื่องหนึ่ง ที่ เบรนท์ฟอร์ด ไม่สามารถก้าวผ่านได้เสียที นั่นคือ หากพวกเขาจบฤดูกาลในพื้นที่เพลย์ออฟเลื่อนชั้น จะพบกับความล้มเหลว ไม่อาจเลื่อนชั้นได้ในบั้นปลาย ซึ่งอาถรรพ์ดังกล่าว เริ่มขึ้นตั้งแต่ฤดูกาล 1990-91 สมัยอยู่ในดิวิชั่น 3 (ลีกวัน ในปัจจุบัน)

แม้พวกเขาจะก้าวข้ามความผิดหวัง เลื่อนชั้นขึ้นมาได้ด้วยโควต้าอัตโนมัติในโอกาสถัดมา แต่พอมาถึงลีกรอง เบรนท์ฟอร์ด มักเป็นทีมที่แม้ผลงานดี แต่ดีไม่สุด บางปีไม่มีลุ้นเลื่อนชั้น ขณะที่บางปี แม้ได้เตะเพลย์ออฟ แต่กลับต้องกินแห้วเสมอ ทว่าพวกเขาไม่เคยถอดใจ

"มันทำใจลำบากนะ เวลาที่ต้องแพ้เกมสูสีแบบนี้ แต่ผมก็ภูมิใจกับนักเตะทุกคน เราไต่ขึ้นมาจากทีมกลางตาราง มาเป็นทีมที่ใกล้เคียงกับที่จะได้ไปเล่นใน พรีเมียร์ ลีก ความพ่ายแพ้ทำให้ผมเสียใจนะ แต่ชีวิตก็แบบนี้ นี่ไม่ใช่จุดจบของโลก พรุ่งนี้พระอาทิตย์ก็ขึ้นอีกครั้ง แล้วเราจะก้าวต่อไป" โธมัส แฟรงค์ เฮดโค้ชชาวเดนมาร์ก เปิดใจหลัง เบรนท์ฟอร์ด พ่าย ฟูแลม ในเกม ลีก แชมเปี้ยนชิพ รอบเพลย์ออฟ ฤดูกาล 2019-20

9

และพวกเขาก็ก้าวต่อไปได้จริง ๆ ... ฤดูกาล 2020-21 เบรนท์ฟอร์ด อาจจะเป็นทีมที่ยังดีไม่สุดอีกครั้ง กับการจบอันดับ 3 ของ ลีก แชมเปี้ยนชิพ พลาดโควต้าเลื่อนชั้นอัตโนมัติ แต่พวกเขานำความผิดพลาดเมื่ออดีตเป็นบทเรียน พลิกสถานการณ์จากที่แพ้ บอร์นมัธ ในเกมแรกของรอบรองชนะเลิศ กลับมาเข้ารอบชิงชนะเลิศได้ ก่อนชนะ สวอนซี ในเกมชิงดำ คว้าตั๋วใบสุดท้ายสู่ พรีเมียร์ ลีก ได้สำเร็จ

"เรื่องราวกว่าที่เราจะมาถึงตรงนี้ได้นั้น น่าจดจำและน่าภาคภูมิใจ ทั้งแนวทางการสร้างและพัฒนาทีม รวมถึงการก้าวข้ามความผิดหวังจนประสบความสำเร็จเสียที เรื่องนี้ ผมขอยกเครดิตให้ แมทธิว เบนแฮม (เจ้าของทีม) ครับ" แฟรงค์ เผยหลังพา เบรนท์ฟอร์ด เลื่อนชั้นสู่ พรีเมียร์ ลีก ได้สำเร็จ

"หากคุณทำงานหนักในแนวทางที่ควรจะเป็น ทุกอย่างก็สามารถบรรลุเป้าหมายได้ ผมเชื่อว่า ทีมเราจะเป็นตัวอย่างให้กับหลาย ๆ ทีมในโลกนี้ได้เดินรอยตามครับ"

10

ฤดูกาล 2021-22 อันเป็นซีซั่นแรกที่ เบรนท์ฟอร์ด จะได้เล่นลีกสูงสุดในชื่อ พรีเมียร์ ลีก คงไม่น่าแปลกหาก เดอะ บีส์ จะถูกเกจิ ผู้สันทัดกรณี แฟนบอล หรือแม้แต่บริษัทรับพนันวงชื่อเน้น ๆ ว่า จะเป็นหนึ่งในทีมเต็งตกชั้น

แต่แนวทางการทำทีมที่แตกต่าง และประสบการณ์ที่ผ่านมา คือบทเรียนชั้นดีของพวกเขา และอาจนำมาซึ่งการสร้างเซอร์ไพรส์ในสนาม

จับตา เบรนท์ฟอร์ด ทีมที่มาพร้อมแนวคิดนอกกรอบทีมนี้ให้ดี ๆ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ เป็นรองต้องแตกต่าง : แนวคิดนอกกรอบสู่ลีกสูงสุดครั้งแรกรอบ 74 ปีของ "เบรนท์ฟอร์ด"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook