อนาคตที่ถูกทิ้งขว้าง : ผู้ไม่ถูกเลือกนับล้านจากระบบอคาเดมีอังกฤษหายไปไหน?

อนาคตที่ถูกทิ้งขว้าง : ผู้ไม่ถูกเลือกนับล้านจากระบบอคาเดมีอังกฤษหายไปไหน?

อนาคตที่ถูกทิ้งขว้าง : ผู้ไม่ถูกเลือกนับล้านจากระบบอคาเดมีอังกฤษหายไปไหน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มาร์คัส แรชฟอร์ด, เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์, เมสัน เมาท์, และ ฟิล โฟเดน คือผลผลิตจากระบบอคาเดมีของสโมสรในพรีเมียร์ลีก ที่สามารถขึ้นมายึดตำแหน่งตัวจริงในทีมชุดใหญ่ และเป็นความภาคภูมิใจของทีมและแฟนบอล

นี่คือกลุ่มของเด็กเก่าอคาเดมี ที่เป็นหนึ่งใน "0.012%" ซึ่งสามารถเติบโตขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุดของเกาะอังกฤษ และสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้จากอาชีพนี้

อย่างไรก็ตาม มีเด็กอีกนับล้านคนที่เลือกเส้นทางเดียวกับพวกเขา แต่ไม่เคยได้ไปใกล้กับฝันที่มีเลย และนี่คือเส้นทางของผู้ไม่ถูกเลือก ที่ถูกทิ้งขว้างความฝันจากระบบอคาเดมีเหล่านี้

14 ปีบนเส้นทางสู่ดวงดาว

"Ad astra per aspera" คือประโยคภาษาละตินสุดฮิตในวงการดาราศาสตร์ ที่คอยย้ำเตือนเสมอว่า ไม่มีเส้นทางสู่ดวงดาวที่ง่ายดายเลย และเช่นกันกับเส้นทางนี้ที่ใครหลายคนเลือกเดิน ไม่ใช่ทุกคนจะก้าวไปเป็นสตาร์ดังได้


Photo : Liverpool FC International Academy

การฝึกอคาเดมีในเกาะอังกฤษจะเริ่มต้นที่อายุ 9 ขวบ โดยแบ่งเป็น 3 ช่วงใหญ่ เริ่มจากช่วงปูพื้นฐาน หรือ Foundation Phase ที่มุ่งเน้นให้เด็ก ๆ ช่วงวัย 9-11 ปี ได้มีความชอบและสนุกกับการเล่นฟุตบอล ผ่านการฝึกซ้อมอาทิตย์ละ 3-8 ชั่วโมง และมีการลงเล่นแมตช์ในรูปแบบพิเศษ เช่น จำนวนผู้เล่นทั้งสองทีมไม่เท่ากัน มีการหมุนเวียนฝ่ายได้เปรียบเสียเปรียบไปในแต่ละพักครึ่ง และมีกฏพิเศษว่าถ้าทำประตูได้ในระหว่างช่วงที่สุ่มเปิดเพลง จะได้เท่ากับว่ายิง 2 ประตู

ขั้นถัดไปจะเป็นช่วงพัฒนาเยาวชน หรือ Youth Development Phase ในช่วงนี้จะเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำหรับเด็ก ๆ วัย 12-16 ปีเป็นอย่างยิ่ง เพราะสโมสรจะคัดแค่ดาวรุ่งที่มีความสามารถมากพอจะปั้นขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ไว้เท่านั้น จึงเป็นเวลาที่นักเตะหลายคนต้องเค้นศักยภาพภายในออกมาให้ได้มากที่สุด พร้อมกับได้เรียนรู้แทคติกและกลยุทธ์ต่าง ๆ ในเกมลูกหนัง หลักจิตวิทยา และบริบทของสังคมที่พวกเขากำลังจะต้องเผชิญจากการขึ้นไปเล่นในระดับที่สูงกว่านี้

 

เกมการแข่งขันในระดับนี้จะเริ่มมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น และเริ่มมีการโยนความท้าทายอันหลากหลายมาให้เยาวชนเหล่านี้ได้เผชิญ 


Photo : www.theshots.co.uk

ไม่ว่าจะเป็นการลงเตะตอนหัวค่ำใต้แสงสปอตไลท์ ที่ร่างกายจะต้องปรับตัวกับสภาพอากาศและทัศนวิสัยที่แปลกไป รวมทั้งอุปสรรคจากธรรมชาติ เช่น ความหนาวเย็น และแมลงชนิดต่าง ๆ หรือจะเป็นการได้ลงเล่นกับทีมจากต่างแดน ที่สไตล์การเล่นย่อมมีความหลากหลายมากกว่าที่ดาวรุ่งเหล่านี้ได้เคยเผชิญมาในเกมลีก

หากดาวรุ่งเหล่านี้สามารถข้ามผ่านอุปสรรคต่าง ๆ มาได้ ก็จะเข้าสู่โค้งสุดท้ายในอคาเดมี นั่นคือช่วงพัฒนาสู่การเป็นมืออาชีพ หรือ Professional Development Phase ในอายุ 17-23 ปี และส่วนมากจะสามารถเซ็นสัญญาอาชีพกับสโมสรได้แล้ว เพื่อลงเล่นกับทีมสำรอง หรือไปร่วมฝึกซ้อมกับผู้เล่นในทีมชุดใหญ่

หากใครที่เล่นเกม Football Manager และมีความชอบในการปั้นดาวรุ่งขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ บรรดาเด็กดาวรุ่งเหล่านั้นก็มาจากผู้ที่ผ่านการคัดเลือกใน 2 ช่วงแรกมาแล้วนั่นเอง

 

ณ จุดนี้ มันคือช่วงเวลาที่ดาวรุ่งพรสวรรค์สูงจะได้เฉิดฉายอย่างสมภาคภูมิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโอกาสอำนวยให้กับพวกเขา ยกตัวอย่างเช่น วิกฤติอาการบาดเจ็บของ แมนฯ ยูไนเต็ด ในฤดูกาล 2015-16 ที่เปิดทางให้ มาร์คัส แรชฟอร์ด ได้ลงสนามเป็นตัวจริง 


Photo : www.si.com

เขาตอบแทนความไว้ใจของ หลุยส์ ฟาน กัล กุนซือในตอนนั้น ด้วยการยิงไปเกมละ 2 ประตูในการประเดิมสนามครั้งแรกในยูโรปาลีก และพรีเมียร์ลีก ด้วยวัยเพียง 18 ปี 3 เดือนเท่านั้น

เส้นทางฝันสำหรับใครบางคนอาจดำเนินไปอย่างสวยงาม แต่สำหรับใครอีกหลายคนนั้น พวกเขาต้องตื่นจากฝันนี้แล้ว

สุดทางฝัน

จริงอยู่ที่เส้นทางสู่การเป็นนักฟุตบอลไม่ได้มีสูตรตายตัวเสมอไป โอกาสของผู้เล่นอาชีพแต่ละคนไม่ได้เข้ามาพร้อมกัน เช่น เจมี วาร์ดี ถูกปล่อยออกจากทีมเยาวชน เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ เมื่ออายุ 16 ปี 


Photo : uk.sports.yahoo.com

ก่อนจะหลุดเคว้งจากวงโคจรไป และแม้จะหวนกลับสู่วงการฟุตบอลได้อีกครั้ง เขาก็ต้องลงไปในลีกระดับ 8 ของเกาะอังกฤษ ก่อนจะค่อย ๆ กรุยทางกลับขึ้นมาสู่ลีกสูงสุดของประเทศอีกครั้งกับ เลสเตอร์ ซิตี้ และยังคงโลดแล่นในฐานะผู้เล่น 11 ตัวจริงอยู่ แม้อายุย่างเข้าวัย 34 ปีแล้วก็ตาม

ในขณะที่บางคนทางกลับมาเดินตามความฝันได้สำเร็จ แต่มากกว่า 99.5% ที่เริ่มออกมากับระบบอคาเดมีตั้งแต่อายุ 9 ขวบในเกาะอังกฤษ ไม่ได้หาเลี้ยงตัวเองด้วยการเป็นนักฟุตบอล หรือไม่อาจยังชีพตัวเองด้วยการเล่นฟุตบอลเพียงอย่างเดียวได้ 

เพราะสโมสรมักจะคัดผู้เล่นเยาวชนออกจากทีมมากสุดในระหว่างช่วงอายุ 13-16 ปี ซึ่งมีผู้เล่นเยาวชนมากถึง 76% ด้วยกัน ที่ต้องออกจากอคาเดมีของสโมสรไปด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป

อย่างไรก็ตาม ฝีเท้าก็ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้ใครหลายคนต้องดับฝันของตัวเองไป เพราะโชคชะตาก็พร้อมจะเล่นตลกร้ายกับดาวรุ่งพรสวรรค์ดี ให้ตกอับและต้องเลิกเอาดีด้านฟุตบอลไปแล้วมากมาย 

หนึ่งในกรณีศึกษาที่กลายเป็นพาดหัวข่าว คือเรื่องราวของ เจเรมี วิสตัน อดีตดาวรุ่งชาวมาลาวีของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ผู้เคยร่วมฝึกอยู่กับสโมสรในระหว่างปี 2016-2019 ก่อนที่อาการบาดเจ็บหัวเข่าจะชะลอพัฒนาการของเขาลง จนไม่ผ่านเกณฑ์ที่จะไปต่อในระดับถัดไปกับทีมได้ 

สิ่งที่น่าเศร้าที่สุดคือ วิสตัน ได้ตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองลงในวัย 18 ปี เมื่อเดือนตุลาคม 2020 ที่ผ่านมา หลังจากต้องต่อสู้กับสุขภาพจิตที่ย่ำแย่เมื่อความฝันพังทลาย 


Photo : www.manchestereveningnews.co.uk

สำหรับอดีตดาวรุ่งอีกหลาย ๆ คน ที่ประสบปัญหาในรูปแบบเดียวกันกับเขา อาการบาดเจ็บที่ผู้เล่นดาวรุ่งเหล่านี้เผชิญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อใช่ว่าจะทำให้พวกเขากลับมาไม่ได้ แต่ในเวทีที่มีการแข่งขันสูงเพื่อช่วงชิงโอกาสขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่แบบนี้ การหยุดพัฒนาร่างกายตัวเองไปแม้ช่วงสั้น ๆ ก็แทบจะเพียงพอให้พวกเขาถูกคัดออกจากอคาเดมีของสโมสรได้แล้ว

หรือแม้แต่ ดีวอนเท เรดมอนด์ อดีตกองกลางดาวรุ่งของ แมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งเคยเป็นดาวรุ่งที่ถูกมองว่าจะมีโอกาสขึ้นชุดใหญ่ก่อนหน้า สกอตต์ แมคโทมิเนย์ ก็ถูกขึ้นบัญชีปล่อยออกจากทีมในช่วงสิ้นสุดฤดูกาล 2017-18 และต้องลงไปเก็บประสบการณ์จากทีมในลีกระดับล่างอย่าง ซัลฟอร์ด ซิตี้ และ เร็กซ์แฮม 


Photo : www.manchestereveningnews.co.uk

แน่นอนว่าสำหรับเด็กคนหนึ่งที่เติบโตมาในอคาเดมี แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด นานถึง 13 ปี การต้องไปเริ่มต้นใหม่ในลีกที่รองลงมา ย่อมยากเสมอ เพราะทักษะยูไนเต็ดถ่ายทอดขัดเกลา ไม่ใช่ปรัชญาการโยนบอลยาวขึ้นหน้า ใช้พละกำลังเข้าปะทะแบบลีกลูกหนังระดับล่าง 

แถมบรรดาผู้จัดการทีมต่าง ๆ ก็ไม่ได้มีเวลามากพอมารอให้ผู้เล่นดาวรุ่งเหล่านี้ปรับตัวให้เข้ากับทีมของเขาได้ขนาดนั้น บางคนที่ปรับตัวไม่ได้ก็อาจโชคร้ายหลุดวงโคจรไปยิ่งกว่าเดิม จนกลับมาไม่ได้

การกลับสู่ความจริง

มาร์ธา เคลเนอร์ จาก Sky News ระบุว่ามีดาวรุ่งเพียงแค่ 0.5% ที่เริ่มต้นเส้นทางในฐานะนักเตะอคาเดมี จะสามารถหาเลี้ยงชีพได้จากเส้นทางนี้ ซึ่งในปัจจุบันก็ได้มีมาตรการที่ครอบคลุมมากขึ้น ในการช่วยให้บรรดาผู้เล่นดาวรุ่งเหล่านี้ได้มีทางไปต่อ หากเส้นทางสายอาชีพนักฟุตบอลไม่เป็นอย่างที่พวกเขาหวัง


Photo : gunnerstown.com

เรื่องดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นจากกฎที่ผู้เล่นอายุต่ำกว่า 17 ปี จะยังไม่สามารถเซ็นสัญญาอาชีพกับทีมได้ ดังนั้นตั้งแต่ช่วงอายุ 14-19 ปี สโมสรสามารถมอบทุนการศึกษาให้กับผู้เล่นที่มีแววเหล่านี้ เพื่อช่วยในเรื่องการพัฒนาให้เยาวชนเหล่านี้เติบโตขึ้นมาอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นผลงานในสนาม ความเป็นอยู่ที่ดีในด้านต่าง ๆ และที่สำคัญที่สุดก็คือ การศึกษา 

ซึ่งหากสัญญาทุนเป็นแบบ Part-time นักเตะเยาวชนเหล่านี้จะไปโรงเรียนตามเวลาปกติ และจะใช้เวลาช่วงเย็นในการเดินทางมาฝึกซ้อม 

แต่หากสัญญาที่เซ็นเป็นแบบเต็มเวลา อย่างเช่นกับบรรดาสโมสรในพรีเมียร์ลีก การเรียนการสอนต่าง ๆ นั้นจะเป็นหน้าที่ของทางสโมสรแบบ 100% และโดยส่วนมากสโมสรจะต้องให้การสนับสนุนทุนแก่ผู้เล่นเหล่านี้ จะกว่าจะสิ้นสุดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาเป็นอย่างน้อย


Photo : www.evertonfreeschool.com

แม้จะมีมาตรการต่าง ๆ ที่คอยป้องกันและให้ความช่วยเหลือกับเยาวชนเหล่านี้ แต่การถูกปฏิเสธสัญญาอาชีพ หรือถูกปล่อยออกจากสโมสรที่พวกเขาอยู่มานานกว่าทศวรรษนั้น ย่อมมีผลกระทบในด้านจิตใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และคงไม่มีใครจะเข้าใจความรู้สึกนี้ได้ดีไปกว่าคนที่เคยโดยมาก่อนอย่าง พอล มิตเทน และ คาร์ล บราวน์ ผู้ที่ผันตัวมาคอยให้คำปรึกษากับบรรดาดาวรุ่งที่กำลังหลงทางอยู่

มิตเทน และ บราวน์ ถูกอาการบาดเจ็บรบกวนจนต้องสิ้นสุดเส้นทางในอคาเดมีของ แมนฯ ยูไนเต็ด โดยบราวน์เป็นหนึ่งในผู้เล่นจาก Class of '92 ที่เต็มไปด้วยสตาร์ดัง ๆ มากมายอย่าง เดวิด เบ็คแฮม, นิกกี บัตต์ และ พอล สโคลส์ 

ส่วนของมิตเทนนั้น อยู่ในทีมเยาวชนที่ตามหลังบราวน์เพียงแค่ปีเดียวเท่านั้น แต่สิ่งที่ทั้งคู่เผชิญและรับรู้มาไม่ต่างกัน ก็คือความโดดเดี่ยว อ้างว้าง และความหดหู่ ที่ตามมาหลอกหลอนกับพวกเขาอยู่นานนับปี

ในปัจจุบัน ทั้งคู่กำลังทำหน้าที่เป็นเหมือนฟูกที่รองรับการตกของดาวรุ่งผู้เดินไปไม่ถึงฝั่งฝันที่ตัวเองวางไว้ และแม้เวลาจะดำเนินมากว่า 20 ปีแล้วก็ตาม ตัวของมิตเทนเองก็ยังคิดว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับบรรดาดาวรุ่งเหล่านี้ ยังคงโหดร้ายอยู่เสมอ

"ผู้เล่นที่น่ามหัศจรรย์มากมายได้ถูกเมิน และหายไปจากวงการ ในขณะที่ผมใช้เวลานานนับปีเพื่อรวบรวมสติและเรียกตัวเองกลับมาอีกครั้ง ผมไม่ได้รับการสนับสนุนใด ๆ เลย และ 20 ปีผ่านไป อะไร ๆ ก็ยังคงเหมือนเดิมอยู่"


Photo : Man Utd Vault @ManUtdvault

การเดินทางของเยาวชนเหล่านี้เปี่ยมไปด้วยความฝันมากมาย จริงอยู่ที่หลายคนสามารถตามรอยความฝันได้สำเร็จ และกลายมาเป็นเรื่องราวให้เรากล่าวขานกันจนถึงทุกวันนี้ 

แต่ในเวลาเดียวกัน อดีตดาวรุ่งจำนวนมากที่เคยจรัสแสง ก็ได้เลือนรางจางหายไปกับกาลเวลา และกลายเป็นเพียงแค่หนึ่งในฐานข้อมูลเก่า หรือหน้าในวิกิพีเดียที่มีข้อมูลอยู่ 2-3 บรรทัดเท่านั้น

ท้ายที่สุดนี้ การออกเดินทางของเยาวชนทั้งหลายก็เปรียบเสมือนกับการเก็บกระเป๋ามุ่งสู่ดวงดาว ผู้เดินทางไปถึงต้องแลกมาด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเทอันมหาศาล และหลายคนที่เดินทางไปไม่ถึงฝั่งฝัน ก็ต้องเผชิญกับเส้นทางกลับสู่โลก ที่แสนท้าทายและยากลำบากไม่ต่างกับตอนเริ่มออกเดินทางสู่ดวงดาวเลย 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook