"โรเจอร์ มิลลา" : ปรากฏการณ์ของชายผู้เปลี่ยนแปลงมุมมองต่อฟุตบอลแอฟริกาไปตลอดกาล

"โรเจอร์ มิลลา" : ปรากฏการณ์ของชายผู้เปลี่ยนแปลงมุมมองต่อฟุตบอลแอฟริกาไปตลอดกาล

"โรเจอร์ มิลลา" : ปรากฏการณ์ของชายผู้เปลี่ยนแปลงมุมมองต่อฟุตบอลแอฟริกาไปตลอดกาล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จอร์จ เวอาห์ คือนักเตะจากทวีปแอฟริกาคนแรกที่คว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของโลก เมื่อเขาได้ครอบครอง "บัลลง ดอร์" เมื่อปี 1995 สปอตไลท์ส่องมาที่เขา และทำให้หลายคนเข้าใจว่า เวอาห์ คือผู้เปิดยุคสมัยของนักเตะแอฟริกันในโลกลูกหนัง

อย่างไรก็ตามผู้ "มาก่อนกาล" ที่แท้จริง ไม่ใช่ เวอาห์ แต่คือ โรเจอร์ มิลลา ตำนานกองหน้าทีมชาติแคเมอรูน ที่เก่งจริงไม่หลอก ดังจริงไม่มีจกตา จนชนิดที่ว่าเขย่าฟุตบอลโลกมาแล้ว 

จากที่ทั้งโลกมองคนผิวดำว่าเป็นนักฟุตบอลที่เล่นเกมรุกไม่ได้ โรเจอร์ มิลลา เปลี่ยนทัศนคตินี้ได้อย่างไร? ติดตามที่นี่

70s - 80s

แอฟริกา คือทวีปที่หลายคนมีภาพจำในแง่ของดินแดนแห่งความยากจนและแร้นแค้น นั่นไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจผิดอะไร เนื่องจากหลายประเทศในทวีปนี้เกิดขึ้นและวนเวียนอยู่กับการเป็นอาณานิคมของชาติในยุโรป หรือมิเช่นนั้นก็เจอกับการรัฐประหาร ตกอยู่ภายใต้ผู้นำฉ้อฉลมานาน ชนชั้นล่างหรือคนส่วนใหญ่ของประเทศจึงยากจะลืมตาอ้าปากได้ ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม รวมถึงการเป็นนักฟุตบอลด้วย 

1

ฟุตบอลของยุโรปและเอเชียมีประวัติศาสตร์ยาวนานมากกว่าร้อยปี หลายชาติมีสมาคมฟุตบอลของตัวเองตั้งนานแล้ว แตกต่างกันกับฟุตบอลแอฟริกา พวกเขาไม่ได้มีลีกทางการรองรับนักเตะของตัวเองเลยในอดีต ดังนั้น แทบไม่ต้องหวังเรื่องการไปเล่นในยุโรป โดยเฉพาะช่วงยุค 60s-70s หรือยุคที่ฟุตบอลเริ่มบูมกลายเป็นกีฬาขวัญใจคนทั้งโลก

เมื่อไม่มีพื้นที่รองรับ นักเตะแอฟริกันจึงโตและเริ่มเส้นทางอาชีพนักฟุตบอลด้วยการเป็นนักกีฬาประเภทสตรีทฟุตบอล หรือการแข่งขันข้างถนน ที่ปัจจุบันยังพอได้เห็นคลิปวีดีโอลักษณะนั้นอยู่บ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นฟุตบอลคนละอย่างกับที่ยุโรป นั่นคือเน้นลีลาและความสวยงามเป็นหลัก มากกว่าผลลัพธ์และชัยชนะ เหตุผลเพราะพวกเขาไม่เคยคิดว่าฟุตบอลจะเป็นอาชีพ ที่นำพาตัวเองหลีกหนีความจนได้นั่นเอง

โรเจอร์ มิลลา โตมาในยุคนั้นเลย เขาเกิดที่กรุงยาอุนเด เมืองหลวงของประเทศแคเมอรูน ในปี 1952 และโตขึ้นมาในยุค 70s ซึ่งต้องพบกับสภาพแวดล้อมฟุตบอลที่กล่าวมาข้างต้น แตกต่างกันนิดหน่อยที่เขาตั้งใจที่จะเป็นนักฟุตบอลจริงๆ ในยุคที่ยังไม่มีใครเป็นนักเตะแอฟริกันที่ถากถางเส้นทางเดินในยุโรปเลย 

"ผมก็แค่เด็กคนหนึ่งที่วิ่งเล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆในวันหยุด พ่อแม่ของพวกเราในตอนนั้นไม่ยอมให้เล่นฟุตบอลนักหรอก เพราะเราต้องช่วยงานที่บ้าน (ส่วนใหญ่เป็นการทำเกษตรและปศุสัตว์) แต่ผมเองก็หาเวลาเล่นตลอด หลังเลิกเรียนผมเตะจนมืดค่ำ กลับมาบ้านโดนพ่อแม่ตีเป็นประจำ" มิลลา เล่าถึงอดีตและจุดเริ่มต้นของเขา 

"สมัยนั้นไม่มีใครคาดหวังมากมายนักหรอกว่าเตะฟุตบอลไปแล้วจะได้เป็นนักเตะอาชีพ เราทำไปก็เพื่อความสนุก ยอมรับจริงๆว่าในตอนแรกผมก็ไม่มีภาพในหัวเกี่ยวกับอนาคตที่ชัดเจนมากนัก เราไม่มีศูนย์ฝึก ไม่มีอะคาเดมีรองรับแบบทุกวันนี้ ดังนั้น แต่ละคนก็ต้องหาวิธีเพิ่มพูนทักษะให้ตัวเองเป็นนักเตะที่เก่งขึ้นกันตามอัตภาพนั่นแหละ"

2

มิลลา เริ่มเข้าสู่สโมสรฟุตบอลท้องถิ่นตอนอายุ 13 ปี เขาเก่งขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเขาก็อธิบายไม่ถูกว่าเพราะอะไรตัวเองจึงดีดหนีเพื่อนร่วมรุ่นไปไกล ถ้าจะให้เดาก็คงตอบแบบกำปั้นทุบดินได้ว่าเป็นเพราะ พรสวรรค์ ก็คงจะไม่ผิดนัก

สิ่งสำคัญคือเมื่อ มิลลา เลือกเส้นทางแล้ว เขามุ่งมั่นกับฟุตบอลเป็นอย่างมากโดยไม่สนว่าพ่อแม่จะตั้งความหวังให้เขาในเส้นทางที่แตกต่าง มิลลา แทบจะหักกับครอบครัวเลยก็ว่าได้ เพราะเขาเล่นฟุตบอลจนถึงระดับมัธยมปลาย จากนั้น ภาพก็ชัดขึ้นว่า "เขาจะหาทางเป็นนักเตะอาชีพ" และเลือกที่จะค้านคำสั่งด้วยการไม่เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย

โชคดีที่เส้นทางการเติบโตด้านฟุตบอลของ มิลลา เข้ามาบรรจบกับช่วงปลายยุค 70s ต่อ 80s พอดิบพอดี ยุคนั้น ฝรั่งเศส คือชาติที่เริ่มไหวตัวและเปิดตลาดให้กับนักฟุตบอลแอฟริกัน โดยเริ่มจากโครงการเล็กๆ อย่างการส่งทีมงานของสโมสรเข้าไปดูฟอร์มนักเตะในทวีปแอฟริกาด้วยตัวเอง จากนั้นจึงค่อยๆหยิบเอานักเตะแอฟริกัน ที่ส่วนใหญ่จะได้พาสสปอร์ตฝรั่งเศส สามารถเข้ามาทำงานได้เลยทันทีโดยไม่มีปัญหาเวิร์กเพอร์มิต นั่นจึงทำให้ มิลลา ได้ไปยุโรปในปี 1977 

3

"ผมน่าจะอายุสัก 18 ปี ได้ ณ เวลานั้น ผมย้ายไปเล่นให้ทีมในเมืองที่ชื่อว่า Tonnerre Yaoundé จากนั้นก็มีแมวมองเข้ามาดึงตัวผมไป พวกเขามาจากสโมสรวาลองเซียนส์ ในฝรั่งเศส" และนั่นคือจุดเริ่มต้นทั้งหมดของตำนานนักเตะแอฟริกาเปลี่ยนโลกคนแรก

แอฟริกันอันตราย

เมื่อมาถึงฝรั่งเศสในปี 1977 มิลลา มีความพร้อมในระดับที่แทบไม่ต้องปรับตัว เขาพูดภาษาฝรั่งเศสได้ และเรื่องความมุ่งมั่นคือสิ่งที่เขาเตรียมพร้อมมานานแล้ว เขาแค่หยิบสตั๊ดลงแข่งขันและยิงประตู เท่านั้นคือสิ่งที่เขาจำได้ 

4

มิลลา พยายามอธิบายถึงการเล่นของตัวเองในยุคนั้นว่า เขาไม่เหมือนนักเตะแอฟริกันทั่วไป เพราะไม่ได้มีความแข็งแกร่งมากมายนัก และร่างกายก็ไม่ได้เปรียบนักเตะยุโรปเท่าไร เขาสูงแค่ 176 เซนติเมตรเท่านั้น แต่สิ่งเดียวที่ทำให้เขาสอดแทรกขึ้นมาเป็นกองหน้า ในยุคที่นักเตะแอฟริกันต้องเป็นกองหลังหรือมิดฟิลด์ตัวรับเสียส่วนใหญ่คือ "ความเข้าใจเกม" ต่างหาก 

"ผมว่าผมเป็นนักเตะที่มีการเล่นแบบใช้สมองมากกว่ากำลังนะ ผมเชื่อแบบนั้นมาตลอด ผมมักจะใช้ความชาญฉลาดให้เป็นประโยชน์ ถ้าในช่วงที่ผมฟิตๆ ผมรู้ดีว่าผมจะจบสกอร์ได้อย่างไร" มิลลา กล่าวถึงสไตล์ของเขา

หากจะบอกว่า มิลลา เหมือนใคร สิ่งที่จะทำให้แฟนสมัยนี้นึกออกคงต้องบอกว่าเขาเหมือนกับ ซามูเอล เอโต้ อดีตดาวยิงของ บาร์เซโลน่า และ อินเตอร์ มิลาน คงจะเข้าใจง่ายที่สุด.. มิลลา เป็นนักเตะที่ไม่ได้ล็อคหลบเก่ง แต่เขาคือคนที่เลือกจังหวะเล่นในกรอบเขตโทษได้ถูกที่ถูกเวลาเสมอ ใช้การโยกหลอกเพียงจังหวะเดียวเพื่อสร้างโอกาสยิงประตู แล้วก็ "ตู้ม" ยิงเลย ไม่ต้องพูดพล่ามทำเพลง หรือไม่ก็เป็นการดึงจังหวะรอเพื่อนเติม และจ่ายเพื่อสร้างโอกาสง่ายๆ

เหมือนกับหน้าที่ของ เอโต้ เมื่อครั้งยังเล่นให้กับ บาร์เซโลน่า แทบจะแกะกันมา เขาไม่พริ้วเท่า ลิโอเนล เมสซี่ และไม่มีเทคนิคระดับเบอร์ 1 ของโลกอย่าง โรนัลดินโญ่ แต่ถ้าวัดเรื่องการจบสกอร์ ไม่มีใครเทียบเขาได้ 

5

มิลลา เล่นในฝรั่งเศสกับ วาล็องเซียนส์, โมนาโก, บาสเตีย, แซงต์ เอเตียนน์ และ มงต์เปลลิเยร์ ซึ่งสถิติการยิงประตูก็อยู่ในระดับที่น่าประทับใจเสมอ แต่แน่นอน การเล่นใน ลีกเอิง ณ เวลานั้น ต่อให้เก่งแค่ไหนก็ยากที่จะกลายเป็นที่จดจำของคนทั้งโลก นักเตะในลีกเอิงยุค 80s ต่อ 90s อย่าง ซีเนดีน ซีดาน, ดิดิเยร์ เดชองส์ หรือ ฌอง ปิแอร์ ปาแป็ง ต่างก็เข้าใจสิ่งนี้ดี พวกเขาออกไปเล่นในต่างแดน และประสบความสำเร็จจนเป็นที่รู้จักในระดับโลกทั้งนั้น 

แล้ว โรเจอร์ มิลลา ดังได้ยังไงในฐานะกองหน้าของทีมระดับกลางค่อนล่างในลีกเอิง? คำตอบไม่ได้อยู่ที่ฝรั่งเศส แต่มันอยู่ที่ประเทศอิตาลีต่างหาก.. ฟุตบอลโลกปี 1990 คือปีที่ โรเจอร์ มิลลา ทำให้ทุกคนรู้จักฟุตบอลแอฟริกันพันธุ์แท้ว่าเป็นเช่นไร

กราฟชีวิตที่พีกตอนแก่ 

การมาเล่นในยุโรป ทำให้ มิลลา ติดทีมชาติแบบแบเบอร์มาตั้งแต่ยุค 80s แล้ว เขาเคยติดทีมชาติไปแข่งฟุตบอลโลกปี 1982 และเป็นหนึ่งในนักเตะชุดแข่งโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1984 ที่ลอส แอนเจลิส น่าเสียดายที่ในยุคนั้นวงการฟุตบอลแคเมอรูนยังโตไม่ทันเขาเท่าไรนัก เพื่อนร่วมทีมของเขายังขาดประสบการณ์ หลายคนเล่นในลีกบ้านเกิดที่เพิ่งเป็นลีกอาชีพได้ไม่นาน จึงทำให้ในวัยหนุ่ม มิลลา แทบไม่มีเกียรติประวัติที่น่าจดจำเลย 

6

อย่างไรก็ตาม เพราะชีวิตค้าแข้งเขามันมหัศจรรย์ตั้งแต่เริ่ม และมีอะไรให้น่าประหลาดใจอยู่เสมอ ในขณะที่ มิลลา ใกล้จะเลิกเล่นตอนอายุ 38 ปี ที่เจ้าตัวกลับไปเล่นในลีกแคเมอรูน เตรียมแขวนสตั๊ดอยู่แล้ว กลับกลายเป็นปีที่ดีที่สุดในชีวิตการค้าแข้งของเขา เมื่อ แคเมอรูน ผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกปี 1990 ที่อิตาลี

ณ เวลานั้น กุนซือที่ชื่อว่า วาเลรี เนปอมยาชชี เป็นชาวโซเวียต พูดฝรั่งเศสแทบไม่ได้ คุมทีมชาติแคเมอรูนอยู่ แต่ปัญหาคือไม่มีใครประทับใจในผลงานของเขานัก นับตั้งแต่เข้ามาคุมทีมตั้งแต่ปี 1988 เพราะเดิมที วาเลรี เป็นเหมือนโค้ชยุโรปตกยุค ที่เดินทางมาแอฟริกาเพื่อหางานทำเกี่ยวกับฟุตบอลเยาวชน แต่ก็ต้องตกกระไดพลอยโจน รับตำแหน่งกุนซือใหญ่ไปแบบงงๆ เพราะการลาออกที่ไม่ได้ตั้งตัวของ โคลด เลอ รัว กุนซือเก่า นอกจากนี้ ยังเพิ่งจะทำผลงานสุดย่ำแย่ในการแข่งขันแอฟริกัน เนชั่นส์ คัพ มาอีกด้วย   

เหตุผลเดียวที่เขาได้คุมทีมชาติแคเมอรูนไปลุยฟุตบอลโลกนั้น ว่ากันว่าสมาคมไม่มีเงินจ้างโค้ชยุโรปคนอื่นๆแล้ว และก็ไม่ได้คาดหวังอะไรไปมากกว่าการเข้าร่วม ส่วนเรื่องเข้ารอบนั้นเกินตัวไปเยอะ เพราะต้องอยู่สายเดียวกับ สหภาพโซเวียต ที่มี 2 นักเตะจากยูเวนตุส อย่าง โอเล็กซานเดอร์ ซาวารอฟ และ เซร์เกย์ อเลนิคอฟ, โรมาเนีย ที่นำทัพโดย จอร์จี ฮาจี สุดยอดตัวรุก และ อาร์เจนตินา แชมป์เก่า ที่นำโดย ดิเอโก มาราโดนา และ เคลาดิโอ คานิกเกีย.. แค่ได้ยินชื่อแต่ละคนก็หนาว ไม่แปลกนักที่ความคาดหวังที่มีต่อทีมชุดนั้นของ แคเมอรูน จะต่ำเตี้ยเรี่ยดิน 

วาเลรี เนปอมยาชชี เข้าใจถึงเรื่องนั้นดี เขาเองก็ทำงานโดยที่ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าไรนัก เขาคิดว่าฟุตบอลโลกปีนั้นคืองานสุดท้าย จบแล้วก็จะลาออก ซึ่งหน้าที่สุดท้ายของ วาเลรี ที่ต้องทำให้ได้ คือการทำผลงานให้ดีที่สุดด้วยนักเตะที่แทบไม่มีใครเจนเวทีนานาชาติเลย และนั่นคือต้นเหตุที่ทำให้ โรเจอร์ มิลลา ได้กลับมาสู่ทีม 

7

"ผมแทบไม่มีบทบาทอะไรมากนัก หลังจากทำผลงานย่ำแย่ในรายการแอฟริกัน เนชั่นส์ คัพ เมื่อเดือนมีนาคม (3 เดือนก่อนฟุตบอลโลกจะเริ่ม) ผมรู้ว่าผมจะโดนไล่ออกหลังจบทัวร์นาเมนต์ และระหว่างที่เราซ้อมกันอยู่ที่ยูโกสลาเวีย มีการติดต่อมาจากท่านประธานาธิบดีของประเทศ เราคุยกันและได้ข้อสรุปว่า เป็นไปได้ไหมที่จะนำ โรเจอร์ มิลลา ในวัย 38 ปี กลับมาอยู่ในทีมชุดนี้อีกครั้ง? หลังจากที่เขาประกาศเลิกเล่นทีมชาติไป 1 ปี" 

"แน่นอน ผมไม่มีปัญหาและยินดีกับเรื่องนี้มาก เราโทรตามเขาให้มาเข้าแคมป์ในเช้าอีกวันทันที เมื่อเขามาถึง ผมจัดเขาลงสนามในฐานะตัวสำรอง 20 นาที จากนั้นหมอนี่ในวัย 38 โยกหลบ 2 กองหลังและเอาบอลไปฝังในก้นตาข่าย" 

"ผมบอกเขาทันที พอเลย ออกมาพักได้แล้ว ไม่มีอะไรต้องพิสูจน์กันต่อไป แต่ โรเจอร์ บอกว่าเขาจะเล่นต่อให้จบ ผมกับเขา เราคุยและวางแผนกันตลอด ผมพยายามจะถนอมการใช้งานนักเตะอายุเยอะอย่างเขา ผมบอกว่า 'นายจะได้เล่นเป็นตัวสำรองนะ เพราะนายชนกับกองหลังระดับโลกในยุคใหม่ไม่น่าไหว' และเขาบอกผมเองว่า 'แน่นอนโค้ช ผมจะทำทุกอย่างตามที่คุณพูด'"

อิตาเลีย 1990 

เมื่อฟุตบอลโลก 1990 เริ่มขึ้นจริงๆ สิ่งที่ วาเลรี และ มิลลา คุยกันไว้แทบไม่มีความหมาย เพราะ มิลลา โชว์ลีลาในการซ้อมดีมากจนเขาไม่สามารถเก็บไว้ที่ข้างสนามได้ วาเลรี ส่ง มิลลา ลงสนามในเกมแรกกับ อาร์เจนตินา เท่านั้นเองเขาก็รู้ว่า อย่างไรเสีย ทีมๆนี้ก็ขาดนักเตะอย่าง มิลลา ไม่ได้ เพราะนี่คือนักเตะคนที่กระหายชัยชนะและไม่เคยกลัวใครเลย 

8

"ใช่ ผมมั่นใจว่าเราจะเอาชนะอาร์เจนตินาได้ตั้งแต่ก่อนลงสนามแล้ว" โรเจอร์ มิลลา ว่าเช่นนั้น 

เมื่อลงสนามแล้วกลับกลายเป็นว่า มิลลา แทบไม่ต้องบิลด์อารมณ์เพื่อนๆเลย เพราะนักเตะอาร์เจนตินาที่นำโดย มาราโดนา ในวันนั้นออกลูกประมาทและออกแนวเล่นโชว์ จนทำให้ แคเมอรูน ต้องการชัยชนะเป็นการแก้แค้น ทุกคนช่วยกันไล่ช่วยกันวิ่ง กองหลังของแคเมอรูนอัด มาราโดนา จนกระเด็นกระดอนไปหมด และสุดท้าย แคเมอรูน ชนะไป 1-0 จากประตูโทนของ ฟรองซัวส์ โอมัม-บียิค

"นักเตะของเราเห็นมาราโดนากับนักเตะอาร์เจนตินาคนอื่นๆทำกันเหมือนเล่นสนุก นั่นทำให้นักเตะของเราโมโหมาก พวกเขาแค้นเพราะคิดว่านั่นคือการแสดงความไม่เคารพ จากนั้นพลังของทั้งทีมก็ทะยานถึงขีดสุด เราตัดสินใจว่าจะอัดให้ร่วงเลย" วาเลรี เล่าย้อนความไปในเกมนั้นที่ แคเมอรูน โดนใบแดงไปถึง 2 คน 

เกมนั้น มิลลา ได้เล่นแค่ 9 นาที เพราะทีมต้องเน้นเกมรับเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร เขาเป็นผู้นำทีมและเข้าใจถึงเรื่องนี้ เพราะหลังจบเกม นักเตะแคเมอรูนกำลังจะฉลองชัยชนะกัน แต่เขาก็เป็นคนเบรกให้ทุกคนอย่าพอใจกับแค่ ณ ตอนนี้ เพราะเส้นทางข้างหน้าสดใสเป็นอย่างมาก มันเป็นโอกาสที่แคเมอรูน จะเข้ารอบน็อกเอาต์ของฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรก

9

"ไม่ๆ เราไม่ฉลองกันหลังเกมนั้น เราเปลี่ยนความคิดใหม่ทันที เรามองไปข้างหน้าและรู้ว่าถ้าเราชนะโรมาเนียได้ เราจะเข้ารอบน็อกเอาต์ อีกนิดเดียวเท่านั้น อดใจไว้ก่อน" มิลลา กล่าวกับ FourFourTwo.. จากนั้น มิลลา ก็เริ่มร่ายมนต์ เขาออกสตาร์ทเป็นตัวจริงในเกมกับ โรมาเนีย และยิงไป 2 ประตูในเกมดังกล่าว และสร้างสิ่งแปลกใหม่ขึ้นมาให้โลกเห็น 

ไม่ใช่แค่นักเตะวัย 38 ปี ที่ยิงได้ 2 ลูก แต่มันคือการแสดงความดีใจแบบแอฟริกันพันธุ์แท้ มิลลา วิ่งเข้าหามุมธงและเริ่มเต้นแบบแอฟริกันจนกลายเป็นที่ฮือฮา และกลายเป็นซิกเนเจอร์ที่นักเตะแอฟริกันรุ่นหลังทำตามกันมาจนทุกวันนี้ 

10

"มีเรื่องประหลาดใจนิดหน่อย ไม่ใช่ในแง่ของความสามารถนะ ผมรู้อยู่แล้วว่าผมเก่งแค่ไหน ส่วนเรื่องเต้นนี่แหละที่เซอร์ไพรส์ ผมเองไม่เคยเตรียมการอะไรแบบนั้นนะ มันเป็นไปเองโดยธรรมชาติ ผมไม่เคยเต้นฉลองประตูมาก่อน แม้กระทั่งในการซ้อม" มิลลา กล่าว 

ฟุตบอลโลกที่อิตาลีสำหรับ มิลลา ยังไม่จบ เพราะ แคเมอรูน ผ่านเข้าไปเจอกับ โคลอมเบีย ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย และเป็นมวยรองอย่าง แคเมอรูน ที่สามารถเอาชนะไปได้ จากประตูที่เป็นตำนานจนทุกวันนี้ นั่นคือประตูที่ โรเจอร์ มิลลา ขโมยบอลจากเท้า เรเน ฮิกิตา และลากเข้าไปยิงแบบง่ายๆนั่นเอง

11

"นี่ผมไม่ได้มาพูดเอาเก่งหลังเกมนะ แต่ก่อนเกมนี้จะเริ่มขึ้น โรเจอร์ มิลลา เดินเข้ามาบอกกับผมว่า 'ผมจะเล่นงานไอ้หมอนี่ก็วันนี้แหละ'" วาเลรี เล่าย้อนตำนาน

"โรเจอร์ รู้ว่า ฮิกิตา ชอบเล่นอะไรเสี่ยงๆ เขาเลยจ้องจะรอดักเก็บกินอยู่ตลอดทั้งเกม เขารอโอกาสอย่างอดทน และสุดท้ายมันก็มาถึงจริงๆ ผมว่ามันคือการคาดการณ์ระดับอัจฉริยะ และประตูนั้นทำให้ผมรู้ว่าเราสามารถบันทึกเขาเป็นนักเตะในหน้าประวัติศาตร์ได้เลยทีเดียว"  

ขณะที่ มิลลา ก็พูดถึงประตูนี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า "ผมโชคดีที่ได้เล่นกับ คาร์ลอส วัลเดอร์รามา กัปตันทีมของโคลอมเบียที่มงต์เปลลิเยร์ ตอนนั้นเรามีทีมที่ยอดเยี่ยมทั้ง โลรองต์ บล็องก์, ฮูลิโอ เซซาร์ แต่ผมได้เห็นวีดีโอของโคลอมเบียหลายครั้งจาก วัลเดอร์รามา และรู้ว่า ฮิกิตา ชอบเล่นอะไรเสี่ยงๆแบบนี้เสมอ ก่อนเกม ผมเชื่อว่าความเร็วของผมจะช่วยให้ผมชิงผลประโยชน์จากความผิดพลาดของเขาได้ และสุดท้ายมันก็ได้ผล"

แคเมอรูน ผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย และสร้างประวัติศาสตร์เป็นทีมจากทวีปแอฟริกาทีมแรกที่มาถึงรอบนี้ แม้จะต้องแพ้ อังกฤษ ไป 2-3 แบบน่าเสียดาย เพราะพวกเขานำก่อนถึง 2-1 แต่นั่นก็เป็นก้าวแรกก้าวสำคัญที่ทำให้โลกรู้จักบอลสไตล์แอฟริกา รู้จัก โรเจอร์ มิลลา และได้รู้จักการเต้นที่มุมธงเป็นครั้งแรก 

"เรากลับประเทศเยี่ยงราชา มีรถทหารมารับเราแบบสมเกียรติ ผู้คนนับหมื่นเต็มถนนไปหมด แต่จะว่าไปชีวิตผมก็ไม่ได้เปลี่ยนไปมากมายอะไรนักหรอก ภาพลักษณ์ดีขึ้น แต่ผมยังเหมือนเดิม ผมยังเป็นคนธรรมดาที่เล่นฟุตบอลเพื่อความสนุกอยู่ดี" มิลลา ว่าไว้ 

ขณะที่ วาเลรี ว่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า "ทุกคนควรเลิกสงสัยในพรสวรรค์ของนักเตะแอฟริกาหลังจบทัวร์นาเมนต์นั้น ผมไม่ได้อวดนะ แต่ผมมีนักเตะที่เล่นในระดับอาชีพแค่ 11 คน ณ เวลานั้น มีคนเดียวที่เล่นในลีกสูงสุดที่ยุโรป ที่เหลือเป็นนักเตะสมัครเล่น ตั้งแต่นั้นมา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวงการฟุตบอลแอฟริกันพัฒนาไปมาก ทุกวันนี้เราได้เห็นนักเตะแอฟริกาลงเล่นทั่วโลก พวกเขาสามารถเล่นได้ทุกที่นั่นแหละ" 

หลังจบฟุตบอลโลกในฐานะฮีโร่ของประเทศและตำนานโลกลูกหนัง มิลลา ก็ยังไม่เลิกเล่น เขาเดินทางไปตามที่ต่างๆเพื่อตอบสนองความสุขของตัวเอง ปี 1994 เขาอยู่กับทีมในลีกอินโดนีเซีย และถูกเรียกกลับมาติดทีมชาติชุดนั้น 

มิลลา ยังคงฝากความยอดเยี่ยมครั้งสุดท้ายไว้ ด้วยการยิงประตูในเกมที่แพ้ รัสเซีย 1-6 (เกมเดียวกับที่ โอเล็ก ซาเลนโก ทำสถิติยิง 5 ประตูในเกมเดียว) และถูกบันทึกให้เป็นนักเตะอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่สามารถยิงประตูในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้ ซึ่งดูจากสถิติ 42 ปีที่เขาทำไว้ ก็ต้องยอมรับว่า "ยาก" ที่จะมีใครสักคนจะทำลายสถิตินี้ 

13

"ฟุตบอลยุค 90s เป็นอะไรที่สนุกที่สุดแล้ว มันเป็นช่วงเวลาที่เราเล่นฟุตบอลกันด้วยความสนุกและความสุข เงินทองมาทีหลัง ฟุตบอลอยู่ในสายเลือดของพวกเรา ทุกอย่างในยุคนั้นมันเลยดูเรียบง่ายเป็นธรรมชาติ ผมไม่ต้องฟาดฟันกับใครเพื่อยิงประตู ผมแค่หาทางง่ายๆผ่านการป้องกัน และยิงอย่างใจเย็น นั่นแหละที่ผมจะอธิบายถึงตัวผมได้ดีที่สุด"

"ฟุตบอลทำให้ผมมีชีวิต มีเส้นทางเดินใหม่ ขอบคุณฟุตบอลที่ทำให้ผมมีเพื่อนทุกๆที่ที่ผมไป และได้รับความเคารพจากทุกที่บนโลกใบนี้" มิลลา กล่าวทิ้งท้าย 

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ "โรเจอร์ มิลลา" : ปรากฏการณ์ของชายผู้เปลี่ยนแปลงมุมมองต่อฟุตบอลแอฟริกาไปตลอดกาล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook