"ยูไนเต็ด ลอนดอน เอฟซี" : สโมสรที่ทำให้แฟนตาซีฟุตบอลเป็นเรื่องจริง

"ยูไนเต็ด ลอนดอน เอฟซี" : สโมสรที่ทำให้แฟนตาซีฟุตบอลเป็นเรื่องจริง

"ยูไนเต็ด ลอนดอน เอฟซี" : สโมสรที่ทำให้แฟนตาซีฟุตบอลเป็นเรื่องจริง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แฟนตาซี ฟุตบอล กลายเป็นเกมที่ได้รับความนิยมในรอบหลายปีที่ผ่านมา เพราะไม่มีอะไรจะสนุกไปกว่าการสร้างทีมที่มีแต่นักเตะที่ตัวเองอยากให้ลงสนาม

อย่างไรก็ดี ครั้งหนึ่งได้มีสโมสรจากอังกฤษ ได้นำแนวคิดนี้ไปใช้กับฟุตบอลจริง ที่ทำให้พวกเขาเคลมว่าเป็นทีมแรกในโลกที่ไม่มี "ผู้จัดการทีม" 

ยูไนเต็ด ลอนดอน เอฟซี คือชื่อของพวกเขา มันเป็นสโมสรแบบไหน? แล้วไม่มีผู้จัดการทีมจะเลือกนักเตะลงสนามอย่างไร? ติดตามเรื่องราวของทีมนี้ไปพร้อม Main Stand

สโมสรไร้กุนซือ 

ลอนดอน เป็นเมืองที่มีสโมสรฟุตบอลตั้งอยู่มากมาย เอาเฉพาะแค่ในพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ ก็มีทีมที่มีที่ตั้งอยู่ในเมืองหลวงของอังกฤษไปแล้วถึง 6 ทีม ได้แก่ อาร์เซน่อล, เชลซี, คริสตัล พาเลซ, ฟูแล่ม, ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ และ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด 

อย่างไรก็ดี ในปี 2016 ได้มีทีมนอกลีกที่สร้างความฮือฮาไปทั่วแดนผู้ดี พวกเขาไม่ได้มีเศรษฐีจากตะวันออกกลางมาเทกโอเวอร์ หรืออดีตนักเตะทีมชาติไปเล่นที่นั่น แต่เป็นทีมที่ไม่มี "ผู้จัดการทีม" อยู่ข้างสนาม 

ชื่อของพวกเขาคือ ยูไนเต็ด ลอนดอน เอฟซี สโมสรในเอสเซ็กซ์ อลิอันซ์ พรีเมียร์ลีก ลีกระดับ 12 ของอังกฤษ ที่ก่อตั้งโดย มาร์ค นอร์ธ แฟนบอลเวสต์แฮม ยูไนเต็ด

1

แนวคิดของสโมสรแห่งนี้ คือจะใช้การโหวตในการเลือกนักเตะลงสนาม โดยจะให้แฟนบอลที่ลงทะเบียนกับสโมสรมาเป็นคนโหวต ใครที่ถูกโหวตมากที่สุดในแต่ละตำแหน่ง ก็จะได้ลงเป็นตัวจริง ส่วนคนที่ได้คะแนนลดหลั่นลงไปก็จะเป็นตัวสำรอง 

โดยแฟนบอลสามารถใช้สถิติการเล่น ทั้งการทำประตู แอสซิสต์ รวมไปถึงข้อมูลเชิงลึกอย่าง ฮีทแมพการวิ่งของนักเตะแต่ละคน ที่มาจากการเก็บข้อมูลของทีมงานสโมสรมาใช้พิจารณาในการเลือกนักเตะลงสนามในแต่ละสัปดาห์ 

2

"ยูไนเต็ด ลอนดอน เอฟซี ถูกสร้างขึ้นมาจากแฟนฟุตบอลพันธุ์แท้ ไม่ใช่เจ้าของธุรกิจพันล้าน" นอร์ธอธิบายกับ Sky Sports 

"เราต่างตกหลุมรักการแข่งขัน และอยากจะทำมากกว่านั่งลงเฉยๆแล้วดูเกม เราอยากมีส่วนร่วม" 

"ดังนั้น เราจึงตัดสินใจที่จะสร้างอะไรบางอย่างที่ซื่อตรงและเข้าถึงได้ที่ทำให้แฟนฟุตบอลมีโอกาสได้สร้างแรงกระเพื่อมโดยตรงในการขับเคลื่อนสโมสรฟุตบอลในชีวิตจริง" 

"ในฐานะผู้จัดการทีม คุณสามารถล็อกอินออนไลน์ เลือกผู้เล่นจากสถิติ, วิดีโอ หรือรายงานของผู้ช่วยผู้จัดการทีม คนที่ถูกโหวตมากที่สุดจะได้ลงเล่นเป็นตัวจริง" 

ในขณะที่ทีมงานเบื้องหลัง สโมสรได้ ลีออน คอนสแตนติน อดีตกองหน้าของ มิลล์วอลล์, เซาธ์เอนด์ และ พอร์ตเวล มาเป็นผู้ฝึกสอน ที่จะทำงานไปพร้อมกับเหล่าสตาฟฟ์เก็บข้อมูลนักเตะ 

นอร์ธบอกว่า จุดเริ่มต้นของสโมสรนี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญขณะที่เขากำลังดูรายการ X-Factor (รายการประกวดร้องเพลงของอังกฤษ) เขาคิดว่าน่าจะเอาวิธีการโหวตแบบนี้มาใช้กับฟุตบอลดูบ้าง ก่อนจะพัฒนามาเป็น ยูไนเต็ด ลอนดอน เอฟซี

3

"ช่วงเวลายูเรกา (ช่วงเวลาที่ได้ค้นพบ) เกิดขึ้นตอนที่ผมได้ดู X-Factor เมื่อปี 2015 ผมนั่งดูกับภรรยาและคิดว่า 'ทำไมถึงการโหวตไม่ค่อยมีในโชว์ของผู้ชาย?' นั่นทำให้ผมเอาไอเดียของฟุตบอลและการโหวตของ X-Factor มารวมกัน และพัฒนาไอเดียมาจากนั้น" นอร์ธกล่าวกับ These Football Times  

"ผมคุยกับสมาคมฟุตบอลลอนดอน และได้เจอกับสโมสรพรีเมียร์ลีกบางทีมที่ชื่นชอบไอเดียนี้ เขาให้คำแนะนำผม และหลังจากนั้นผมก็เริ่มเลย โชคดีที่มันไปด้วยกันได้ดีมาก" 

อย่างไรก็ดี ความสนุกของสโมสรนี้ไม่ได้แค่การเลือกนักเตะเท่านั้น

แฟนตาซีฟุตบอลในโลกจริง 

ยูไนเต็ด ลอนดอน เอฟซี ได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดีในช่วงก่อตั้ง เมื่อมีแฟนบอลร่วมกันลงทะเบียนเป็นสมาชิกกว่า 2,000 คน และมาจากหลากหลายประเทศ ทั้ง ออสเตรเลีย, อาร์เจนตินา, บราซิล, แคนาดา, สวีเดน และสหรัฐอเมริกา

"เราอยากจะให้แฟนจากที่ไหนก็ได้มีส่วนร่วมกับสโมสร และมีสโมสรเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต" นอร์ธกล่าวกับ Vice  

4

แต่ละสัปดาห์ สมาชิกจากทั่วโลกจะเข้ามาเลือก 11 ตัวจริงของตัวเอง ซึ่งปิดรับโหวตในวันศุกร์ ซึ่งวิธีการก็ไม่ได้ยากเย็น แค่ล็อกอินเข้าไปในเว็บไซต์ของสโมสร เลือกแผนการเล่นที่ชอบ จากนั้นค่อยเลือกลงไปให้ครบ 11 ตำแหน่ง พร้อมกับตั้งกัปตันทีมของตัวเอง 

"ในฟุตบอลนอกลีก มันไม่ค่อยได้รับการสนใจมากนัก เพราะพรีเมียร์ลีกได้เอาทุกอย่างไปหมดแล้ว" นอร์ธกล่าวกับ New York Times 

"นั่นคือสิ่งที่ทำให้เราอยากแตกต่าง เรากำลังสร้างฐานแฟนบอลออนไลน์ แทนที่จะเป็นชุมชนใดชุมชนหนึ่ง" 

5

อย่างไรก็ดี แฟนบอลไม่ได้แค่เลือกนักเตะที่พวกเขาชอบลงสนามเพียงอย่างเดียว แต่ความสนุกของสโมสรนี้ คือ การนำระบบแฟนตาซีฟุตบอล มาใช้ควบคู่กันไปพร้อมกัน 

นั่นคือ หากนักเตะที่เราเลือกได้ลงสนาม นักเตะเหล่านั้นก็จะมีคะแนน หากทำผลงานได้ดีอย่าง ยิงประตู แอสซิสต์ หรือรักษาคลีนชีท พวกเขาก็จะได้โบนัสเพิ่ม เช่นกันหากโชว์ฟอร์มไม่ดี อย่างเสียประตู ยิงจุดโทษไม่เข้า ได้ใบเหลือง ก็จะถูกตัดคะแนน ไม่ต่างจากเกมแฟนตาซีฟุตบอล

และที่สำคัญ หากนักเตะที่เราตั้งเป็นกัปตันดันโชว์ฟอร์มดี อย่างทำแอสซิสต์หรือยิงประตูได้ (หรือเซฟจุดโทษ) คะแนนของพวกเขาจะคูณสอง จากนั้นสโมสรจะนำคะแนนเหล่านี้ มาจัดอันดับในหมู่แฟนบอลด้วยกันเองในแต่ละสัปดาห์ 

"ผมว่ามันเจ๋งดี เพราะว่ามันทำให้แฟนบอลได้มีส่วนร่วมกับสโมสร แฟนบอลจะมีส่วนร่วมมากกว่าเดิม" จอห์น ฟรุสเซียน แฟนบอลจากอเบอร์ดีน หนึ่งในผู้ลงทะเบียนกับทีมกล่าวกับ New York Times กล่าวเมื่อปี 2016 

6

ทำให้นอกจากลุ้นกับผลงานของทีมในสนาม แฟนบอลยังสามารถมาลุ้นว่าทีมที่เราจัดจะได้กี่คะแนน? หรืออยู่อันดับที่เท่าไรของลีกสโมสร? มันคือการเปิดให้แฟนบอลได้มีส่วนร่วมมากกว่าแค่ตามลุ้นผลการแข่งขันในแต่ละสัปดาห์ 

"ยิ่งคุณขึ้นไปในระบบลีกที่สูงขึ้น แฟนบอลมีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมน้อยลง เราอยากจะทำย้อนกลับในเรื่องนั้นอย่างสมบูรณ์ ผมจะไม่แม้แต่พูดว่าผมคือประธานสโมสร" นอร์ธ กล่าวกับ Sky Sports 

ในขณะเดียวกัน ไม่ใช่แค่แฟนบอลเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์จากแนวทางของ ยูไนเต็ด ลอนดอน เอฟซี

มอบโอกาสที่สองให้นักเตะ 

อังกฤษ เป็นประเทศแห่งฟุตบอล ไม่ใช่แค่เพียงในฐานะต้นกำเนิดของเกมลูกหนัง แต่ยังรวมไปถึงการที่พวกเขาสามารถผลิตนักเตะเข้าสู่ระบบอาชีพได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลมาจากระบบอคาเดมีที่วางรากฐานมาอย่างยาวนาน 

7

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สมหวัง เมื่อในแต่ละปี มีผู้เล่นเยาวชนจากระบบอคาเดมีที่ไม่ได้รับสัญญาอาชีพจากสโมสรที่สังกัดอยู่เป็นจำนวนมาก แม้หลายคนอาจจะสู้ต่อด้วยการเลือกไปอยู่กับทีมอื่น แต่พวกเขาก็มีปัญหาในเรื่องการปรับตัวเนื่องจากอยู่กับทีมเดิมมาเป็นสิบปีหรือมากกว่านั้น  

"มีนักเตะจำนวนมาก ในช่วงอายุ 18, 19, 20 ที่ไม่สามารถดำเนินชีวิตใหม่ต่อไปได้" จอห์น วิลิส หัวหน้าฝ่ายสรรหาของ Football Careers Centre องค์กรที่ช่วยให้อดีตนักเตะอคาเดมีปรับตัวเข้ากับสโมสรใหม่ 

แต่ที่น่าเศร้ากว่านั้น คือการที่นักเตะอคาเดมีหลายคน เลือกที่จะยุติเส้นทางสู่นักฟุตบอลอาชีพไว้แค่นี้ และ ยูไนเต็ด ลอนดอน เอฟซี ก็มองเห็นปัญหาในเรื่องนี้ พวกเขาจึงเลือกที่จะใช้นักเตะในอคาเดมีของทีมใหญ่ที่ไม่ได้ไปต่อ 

"เราได้นักเตะที่มาจากอคาเดมีของ คิวพีอาร์, สโต๊ก, เลย์ตัน โอเรียนต์ และหลายคนจากทีมอาชีพ หลังจากการทดสอบฝีเท้าไปสองครั้ง มีนักเตะกว่า 200 คนที่มาคัดตัวกับทีมเรา" นอร์ธกล่าวกับ Vice 

8

นอร์ธ หวังว่า ยูไนเต็ด ลอนดอน จะเป็นโอกาสที่สองหรือโอกาสสุดท้ายของนักเตะเหล่านี้ และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สโมสรเลือกใช้นกฟีนิกซ์ เป็นตราสัญลักษณ์ ซึ่งมีความหมายถึงการเกิดใหม่อีกครั้ง 

พวกเขายังได้ขอความช่วยเหลือจาก Football Careers Centre (FCC) ให้มาช่วยดูว่ามีนักเตะคนใดบ้างที่ดีพอที่จะได้เล่นอาชีพ ถ้าพวกเขาผ่านเกณฑ์ FCC ก็จะส่งมาทดสอบฝีเท้ากับสโมสร 

"มันเป็นแนวคิดที่น่าสนใจมาก" เคม อิซเซ็ต อดีตกองกลางของโคลเชสเตอร์ ที่ลงเล่นไปกว่า 400 นัด ในลีกวันและแชมเปียนชิพ ซึ่งรั้งตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายฝึกสอนของ FCC กล่าวกับ Sky Sports 

ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็หวังว่า เรื่องราวของ เจมี วาร์ดี กองหน้าเลสเตอร์ ซิตี้ ที่มาจากผู้เล่นนอกลีกสู่นักเตะแชมป์พรีเมียร์ลีกและทีมชาติอังกฤษ จะเป็นแรงบันดาลใจให้เหล่านักเตะรากหญ้าหรือคนที่ยอมแพ้ไปแล้วฮึดสู้อีกครั้ง 

9

"ถ้าเส้นทางของ เจมี วาร์ดี สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้เล่นที่เกือบเป็นนักเตะอาชีพเป็นพันๆคนที่เลิกยุ่งกับฟุตบอลไปแล้วได้กลับมาเล่นฟุตบอล มันจะเยี่ยมมาก" อิซเซ็ตกล่าวต่อ

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวทางของ ยูไนเต็ด ลอนดอน เอฟซี ได้ทำให้คนหันมาสนใจสโมสรรากหญ้ามากขึ้น อย่างน้อยก็กับทีมของเขา ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของ นอร์ธ ตอนเริ่มสร้างทีม 

"สโมสรรากหญ้าอื่นๆ อย่าง แคลปตัน เอฟซี, รอมฟอร์ด และอื่นๆ ได้เข้ามาช่วยเรา เราอยากจะให้ทุกสายตามองมาที่ฟุตบอลรากหญ้าอีกครั้ง ทีมอย่าง ดัลวิช แฮมเล็ต และ ซัลฟอร์ด กำลังทำผลงานได้ดี นี่มันเป็นเรื่องโรแมนติกที่เกิดขึ้นกับฟุตบอลนอกลีกอีกครั้ง" นอร์ธกล่าวกับ Vice

อย่างไรก็ดี น่าเสียดายที่อายุของทีมนี้กลับสั้นเหลือเกิน

เหลือเพียงแค่ชื่อ 

ยูไนเต็ด ลอนดอน เอฟซี ประเดิมสนามในเอสเซ็กซ์ อลิอันซ์ พรีเมียร์ลีก ในฤดูกาล 2016-17 และทำผลงานได้ไม่เลว ด้วยการจบในอันดับ 6 จาก 11 ทีม พร้อมทำสถิติยิงประตูคู่แข่งอย่างถล่มทลายถึง 58 ประตูจาก 20 นัด หรือเฉลี่ยเกือบ 3 ประตูต่อนัด

แต่นั่นไม่ใช่ผลงานที่ดีที่สุดของพวกเขา เมื่อในฤดูกาลต่อมา ยูไนเต็ด ลอนดอน กลายเป็นผู้ท้าชิงแชมป์ลีกอย่างเต็มตัว เมื่อทำผลงานได้อย่างโดดเด่น คว้าชัยไปถึง 13 นัดจาก 18 เกม ก่อนจะจบในตำแหน่งรองแชมป์ด้วยแต้มห่างจากแชมป์ โคลบรูค รอยัล เพียงแค่คะแนนเดียว

10

ในตอนนั้นแฟนบอลต่างคาดหวังว่า อนาคตของพวกเขาน่าจะสดใส และฤดูกาลใหม่จะต้องเป็นคราวของพวกเขา แต่ก่อนเปิดฤดูกาลเพียงไม่กี่เดือน พวกเขาก็ประกาศยุบสโมสรในปี 2018 ทั้งที่เพิ่งเปิดทดสอบฝีเท้าสำหรับฤดูกาลใหม่ไม่ถึงสองสัปดาห์ 

"ULFC ขอแขวนสตั๊ดอย่างเป็นทางการ ขอบคุณนักเตะและโค้ชทุกคนสำหรับการทำงานหนักในสองปีที่ผ่านมา เราได้เจอกับคนที่ยอดเยี่ยมตลอดเส้นทางของเรา ขอบคุณทุกคนที่ช่วยโหวต" ทวิตเตอร์ สโมสรระบุ  

โดยเหตุผลน่าจะเป็นเพราะการที่ นอร์ธ ลาออกจากสโมสร หลังจากได้รับเลือกให้เป็นประธานสโมสรแคลปตัน เอฟซี สโมสรในเอสเซ็กซ์ ซีเนียร์ ฟุตบอลลีก ลีกระดับ 9 ของแดนผู้ดี ทำให้ไม่มีคนสานต่อ และต้องยุบทีมในที่สุด 

แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีสโมสรที่เอาแนวคิดของพวกเขามาใช้ หนึ่งในนั้นคือ อาวองต์ การ์ด ก็องเนส สโมสรในลีกระดับล่างของฝรั่งเศส ที่นำการโหวตนักเตะจากแฟนบอลในการเลือก 11 ตัวจริงมาใช้ในปี 2017 หรือหลัง ยูไนเต็ด ลอนดอน 1 ปี 

ซึ่งนโยบายนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมาก เมื่อมันทำให้ ก็องเนส สามารถเลื่อนชั้นจาก Regional 1 ลีกระดับ 6 ของฝรั่งเศส ขึ้นมาเล่นใน Championnat National 3 หรือลีกในดิวิชั่น 5 ตั้งแต่ฤดูกาล 2019-20 และรั้งจ่าฝูงของกลุ่มเจอยู่ในขณะนี้ 

11

นี่คือข้อพิสูจน์ให้เห็นว่าแนวคิดของ นอร์ธ น่าสนใจและปฏิบัติได้จริง และบางที ในวันที่เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลในเชิงฟุตบอลพัฒนาและเข้าถึงได้มากกว่านี้ เราอาจจะได้เห็นสโมสรใหญ่หรือทีมในลีกสูงสุดนำไอเดียนี้ไปใช้บ้าง

เพราะไม่ว่าทีมจะทำผลงานได้อย่างไร? จะดีหรือแย่ แฟนบอลก็จะมีส่วนในการรับทั้งผิดและชอบโดยตรง และคงจะไม่มีใครมาตั้งคำถามอีกว่า ทำไมนักเตะคนนั้น คนนี้ ไม่ได้ลงสนาม หรือถูกถอดออกจากทีม? 

และที่สำคัญมันคงจะไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าการได้เลือกนักเตะที่เราชอบลงสนาม  

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ "ยูไนเต็ด ลอนดอน เอฟซี" : สโมสรที่ทำให้แฟนตาซีฟุตบอลเป็นเรื่องจริง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook