Portland Timbers 1979 : ต้นกำเนิดเสื้อฟุตบอลตัวแรกของ Nike ที่ทำแทบกระอักเลือด
Nike (ไนกี้) กลายเป็นแบรนด์กีฬาอันดับ 1 ของโลกไปแล้วในทุกวันนี้ พวกเขาลุยตลาดทุกกีฬาโดยเฉพาะ "ฟุตบอล" ที่สร้างภาพจำด้วยแคมเปญระดับบิ๊ก ๆ กวาดสโมสรดัง ๆ เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ มากมาย
อย่างไรก็ตามจุดกำเนิดของ "เสื้อบอลแบรนด์ ไนกี้" ไม่ได้ยิ่งใหญ่เป็นโปรเจกต์พันล้านแต่อย่างใด จุดเริ่มต้นนี้มาจากสโมสร "ซอคเกอร์" ที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนักอย่าง พอร์ทแลนด์ ทิมเบอร์ส
และนี่คือเรื่องราวทั้งหมด ติดตามที่ Main Stand
ไนกี้ เขย่าโลกกีฬา
ก่อนที่จะเล่าเรื่องเสื้อบอลของ ไนกี้ นั้นเราควรต้องเริ่มจากตำนานการกำเนิด "ซูเปอร์แบรนด์" ในด้านผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกีฬากันก่อน
ไนกี้ ไม่ได้เป็นบริษัทเก่าแก่มีอายุเป็นร้อยปีแต่อย่างใด พวกเขาเริ่มต้นกันอย่างง่ายจากความร่วมมือกันของ บิล โบเวอร์แมน และ ฟิล ไนท์ ที่เริ่มจากการนำเข้ารองเท้า Onitsuka Tiger ของญี่ปุ่นมาขายในอเมริกาภายใต้ชื่อบริษัท Blue Ribbon โดยพวกเขาใช้เงินคนละ 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในการหุ้นทำธุรกิจแรกของตัวเอง ... และที่เหลือคือประวัติศาสตร์
ไนกี้ เริ่มผลิตสินค้าของตัวเองชิ้นแรกในปี 1971 หรือหลังจากก่อตั้ง Blue Ribbon ได้ 5 ปี และสุดท้ายก็มาลงใจชื่อที่แบรนด์ว่า Nike อันมีที่มาจากเทพีแห่งชัยชนะของกรีก และมีโลโก้ที่ล้อมาจากเครื่องหมาย "ถูกต้อง" นั่นเอง
Photo : Hypebeast
เมื่อเข้าสู่ยุค 80s แบรนด์ ไนกี้ โตอย่างต่อเนื่อง เพราะพวกเขาลงมือลุยการตลาดอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากอีเวนท์กีฬาในประเทศก่อนอย่าง นิวยอร์ก มาราธอน ซึ่งการทำตลาดครั้งนั้น ทำให้พวกเขาได้สโลแกนประจำแบรนด์ขึ้นมาว่า "Just Do It" หรือ "ทำมันซะ"
ด้วยความที่เป็นแบรนด์อเมริกันจ๋า ไนกี้ จึงยังไม่เน้นเรื่องของ "ซอคเกอร์" มากมายนัก พวกเขาง่วนอยู่กับวงการอเมริกันเกมส์ อย่าง บาสเกตบอล และรองเท้าผ้าใบสายสตรีทแวร์ที่เป็นของถนัดมากกว่า ซึ่งกว่าจะเข้ามาลุยตลาดฟุตบอลจริง ๆ จัง ๆ ก็ปาเข้าไปในช่วงปี 1994 ตามการอ้างอิงของสื่ออย่าง รอยเตอร์ส
แน่นอนที่สุด พวกเขาประสบความสำเร็จอย่างมากสำหรับกีฬาในประเทศ ไนกี้ สร้างตำนานสินค้าเกี่ยวกับกีฬามากมายจนผู้คนทั่วโลกจำได้ ไม่ว่าเป็นรองเท้า Air Jordan ที่กลายเป็นไอเท็มระดับ "ของมันต้องมี" จนกระทั่งทุกวันนี้ หรือแม้กระทั่งรองเท้าวิ่ง และอื่น ๆ อีกมากมาย ...
Photo : SLAM
ในบรรดาสินค้าระดับติดตลาดเหล่านี้ กลับมีเรื่องราวเล็ก ๆ เกี่ยวกับ ซอคเกอร์ ซ่อนอยู่ แท้จริงแล้ว ไนกี้ เคยทำเสื้อฟุตบอลให้กับทีมเล็ก ๆ อย่าง พอร์ทแลนด์ ทิมเบอร์ส และมันไม่ได้เป็นที่จดจำอะไรมากมายนัก จนกระทั่งถึงวันที่พวกเขาครองตลาดสินค้ากีฬาของโลก โดยเฉพาะความโดดเด่นด้านฟุตบอลนั่นแหละ จึงเริ่มมีคนตั้งคำถามว่า สโมสฟุตบอลไหนที่ได้รับการสนับสนุนจาก ไนกี้ เป็นทีมแรก
เมื่อนั้น ชื่อของ พอร์ทแลนด์ ทิมเบอร์ส และ มิค โฮบาน ก็ถูกเล่าขานขึ้นในฐานะตำนานบทแรกในวงการซอคเกอร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อสากลอย่าง ฟุตบอล จาก ไนกี้
มิค โฮบาน ... ไม่มีเขา ไนกี้ (อาจ) ไม่ทำเสื้อบอล
มิค โฮบาน คือนักฟุตบอลชาวอังกฤษ ที่ไม่เคยได้เล่นในลีกระดับสูงของแดนผู้ดีมากมายนัก แม้เขาจะเป็นนักเตะเยาวชนของ แอสตัน วิลล่า แต่ความจริงก็คือเขาไม่ได้เก่งกาจอะไรสำหรับลีกสูงสุด ณ เวลานั้น
โฮบาน จึงต้องต้องเริ่มมองหาสิ่งที่เหมาะกับเขามากกว่า เขายอมรับในสัจธรรม คนที่ไม่ได้เก่งมากอย่างเขาก็ต้องหาลีกฟุตบอลที่เหมาะสมกับตัวเอง และนั่นทำให้ปี 1971 เขาเลือกจะย้ายมาแสวงโชคในสหรัฐอเมริกากับ แอตแลนตา ชีฟส์ และดูเหมือนว่าเขาจะคิดถูก เพราะเมื่อถอยออกมาเล่นในลีกที่คุณภาพลดลง ฝีเท้าของเขาก็กลายเป็นของหายากในลีกนี้
Photo : Portland Timbers
"สภาพของฟุตบอลในอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1960s และ 1970s ค่อนข้างน่าสงสารมาก" คลิฟ ทอย อดีตผู้จัดการทั่วไปชาวอังกฤษของ นิวยอร์ก คอสมอส กล่าวกับ BBC World Service
"ไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครรู้ว่าฟุตบอลเป็นอย่างไร"
อย่าลืมว่าในช่วงยุค 70s สหรัฐอเมริกา แทบไม่ได้สนใจเรื่องของฟุตบอลมากนัก ฟุตบอลสำหรับพวกเขาคือ "อเมริกันฟุตบอล" ส่วนกีฬาที่ใช้เท้าเตะนั้นถูกเรียกว่า "ซอคเกอร์" ในยุคดังกล่าว สหรัฐอเมริกา พยายามจะเอาดีทางด้านนี้ พวกเขาอยากให้คนอเมริกันรู้จักซอคเกอร์ให้ได้มากกว่านี้ นั่นจึงทำให้มีนักเตะดังระดับโลกที่ย้ายมาที่นี่ในช่วงยุคปลายการค้าแข้ง ทั้ง เปเล่, ฟรานซ์ เบ็คเคนเบาเออร์ และ คาร์ลอส อัลแบร์โต ซึ่งจุดนี้เอง ทำให้เริ่มมีคนดูซอคเกอร์มากขึ้น และชื่อของ มิค โฮบาน ก็กลายเป็นนักเตะที่ไม่ธรรมดาในลีกนี้
Photo : MLS
เขาเล่นในลีก NASL (นอร์ธ อเมริกัน ซอคเกอร์ ลีก) ได้ 8 ปี ด้วยฝีเท้าโดดเด่น จนได้รับโอกาสเล่นให้ทีมชาติสหรัฐอเมริกามาแล้ว ทว่าในปี 1978 ความนิยมของลีกซอคเกอร์ก็หายไป ตามกระแสของนักเตะอย่าง เปเล่ และ เบ็คเค่นเบาเออร์ ที่เลิกเล่น ดังนั้น โฮบาน จึงประกาศแขวนสตั๊ดในปีดังกล่าว และเริ่มหางานปกติทำ ... จุดนี้เองคือเรื่องราวของเรื่องทั้งหมด เพราะเขาดันได้เข้าไปทำงานเป็นพนักงานของบริษัท ไนกี้ ซึ่งสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองบีเวอร์ตัน รัฐโอเรกอน ไม่ไกลจากเมืองพอร์ทแลนด์
ไนกี้ เลือกรับ โฮบาน เข้าทำงานในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านซอคเกอร์ ซึ่งเมื่อได้รับตำแหน่งนั้น โฮบาน ก็ทำหน้าที่ของตัวเองด้วยการพา ไนกี้ ลงสู่ตลาดที่คนอเมริกันน้อยคนจะสนใจ ... เขาจะนำเสื้อของกีฬาของ ไนกี้ มาเป็นผู้สนับสนุนให้กับ พอร์ทแลนด์ ทิมเบอร์ส อดีตต้นสังกัดของเขาใส่แข่งขันนับตั้งแต่ปี 1979 เป็นต้นไป
ตำนานเสื้อฟุตบอลตัวแรกของ ไนกี้
"พวกเขารับผมเข้าทำงาน และผมไม่มีประสบการณ์ด้านการเป็นพนักงานเท่าไรนัก ผมมันพวกเป็นนักฟุตบอลมาตลอดชีวิต" โฮบาน กล่าว
แต่ด้วยสปิริตและการหากินในเมืองพอร์ทแลนด์มานาน เขามองเห็นโอกาสหลายอย่าง อย่างน้อย ๆ เขาก็รู้ว่ายังมีคนท้องถิ่นอีกหลายคนที่เป็นแฟนบอลของ ทิมเบอร์ส ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจของบสนับสนุนจาก ไนกี้ เพื่อทำเสื้อให้กับทีม เพื่อหวังความนิยมจากท้องถิ่นที่ยังสามารถเติบโตได้อีก ซึ่ง ไนกี้ ที่มีค่านิยมในการ "สำนึกรักบ้านเกิด" จากการเป็นผู้สนับสนุนทีมกีฬาหลาย ๆ ทีมของรัฐโอเรกอนอยู่แล้ว ตอบตกลงทันที
Photo : YouTube | Nike Careers: Our Stories
"โชคดีที่ผมคุ้นเคยกับตลาดท้องถิ่นพอสมควร ผู้คนในวงการฟุตบอลที่นี่รู้จักกับผมเกือบทั้งหมด ผมเดินเรื่องของบจาก ไนกี้ และบอกพวกเขาว่านี่คือการเริ่มต้นวางรากฐานเกี่ยวกับกีฬาชนิดนี้" โฮบาน ว่าต่อ
ตอนนั้น พอร์ทแลนด์ ทิมเบอร์ส แทบเป็นตู้สินค้า ไนกี้ เคลื่อนที่เลยทีเดียว เพราะทุกอย่างที่นักเตะใส่ไม่ว่าจะเสื้อ กางเกง รองเท้า และกระเป๋าที่ใช้ในการเดินทาง พวกเขาติดป้ายแบรนด์ ไนกี้ ทั้งหมด ติดอย่างเดียวที่ ณ เวลานั้น ไนกี้ ไม่ได้ทำรองเท้าสตั๊ดเท่านั้นเอง
ไนกี้ ออกแบบเสื้อของ พอร์ทแลนด์ ทิมเบอร์ส ในรูปแบบที่เรียกว่า "วินเทจ" แบบสุด ๆ และดูแตกต่างจากชุดฟุตบอลของพวกเขาในยุคนี้อย่างสิ้นเชิง เสื้อคอปกสีขาว มีรายละเอียดสีเขียวและสีเหลืองที่แขนเสื้อ โดยมีโลโก้ของ ไนกี้ อยู่ที่แขนเสื้อข้างขวา
Photo : Footy Headlines
เสื้อตัวแรก ย่อมเป็นเสื้อในแบบที่ลองผิดลองถูกของ ไนกี้ เพราะเสื้อแข่งขัน พอร์ทแลนด์ ทิมเบอร์ส นั้น มีปัญหาเรื่องเนื้อผ้าที่หนาเกินไป จากนวัตกรรมในยุคนั้นที่ใยสังเคราะห์ไม่ได้ตอบโจทย์ในการใส่เล่นกีฬาเหมือนทุกวันนี้ แม้จะสวยงามดูดี แต่ใส่แข่งจริงแล้วลำบาก จนมีเสียงบ่นจากนักเตะของทีมว่า "ไม่ค่อยเวิร์ก"
"พวกนักเตะบอกว่าเสื้อของทีมรุ่นนี้มันมีน้ำหนักเยอะมาก แถมตอนใส่ยังทำให้เกิดความระคายเคืองอีกต่างหาก ไม่มีชิ้นส่วนไหนของเสื้อเลยที่เป็นผ้าจริง ๆ บ่อยครั้งที่ใส่ลงเล่นแลัวตัวเหนียวเหนอะชุ่มไปทั้งตัว เหมือนกับเล่นฟุตบอลในห้องอาบน้ำอย่างไรอย่างนั้น" โฮบาน กล่าวถึงปัญหาข้อแรก ๆ ที่เขาเจอ ณ เวลานั้น
ซึ่งเสื้อแข่งขันที่โดนวิจารณ์ครั้งนั้น กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ ไนกี้ เริ่มพัฒนาเสื้อแข่งฟุตบอลของพวกเขาจริงจัง ทำให้ตอบโจทย์ทั้งในแง่ของความสวยงาม และคุณภาพผ้าที่นักเตะสามารถใส่ลงสนามแล้วสะดวกสบายที่สุด เรื่องนี้ถึงขั้นที่ว่า ฟิล ไนท์ หนึ่งในหุ้นส่วนใหญ่ของ ไนกี้ ต้องกลับไปนั่งคิดค้นนวัตกรรมที่ทำให้เนื้อผ้าของพวกเขาใช้งานได้จริง
Photo : Footy Headlines
สิ่งที่ ไนท์, โฮบาน และ ไนกี้ พยายามทำ คือพวกเขาจะต้องทำเสื้อฟุตบอลที่ดีให้ได้ เพราะไม่อย่างนั้นแบรนด์อย่าง adidas (อาดิดาส) ที่ใหญ่กว่าในเวลานั้น จะกินส่วนแบ่งการตลาดด้านเสื้อฟุตบอลไปทั้งหมด หากพวกเขาไม่คิดจะทำอะไร ซึ่งสุดท้ายแล้วอย่างที่เรารู้กัน พวกเขาพัฒนาเนื้อผ้าของตัวเอง จนที่สุดแล้วก็ได้เนื้อผ้าที่ใส่แล้วสบายขึ้นมาและใช้งานได้จริง ๆ ต่อยอดกลายเป็นเนื้อผ้า Dri-FIT แบบ ณ ปัจจุบัน
การทำเสื้อฟุตบอลให้ดี ทำให้ ไนกี้ ได้รับการยอมรับในอเมริกามากขึ้น จนได้ทำเสื้อให้กับอีก 2 ทีมในอเมริกาอย่าง เอ็ดมอนตัน ดริลเลอร์ส และ แวนคูเวอร์ ไวท์แค็ปส์ ในปี 1982 และพวกเขาก็เริ่มย้ายข้ามฝั่งไปหาฟุตบอลลีกอังกฤษ โดยการนำพาของ มิค โฮบาน ที่มีเส้นสายอยู่ในอังกฤษพอสมควร พาแบรนด์ ไนกี้ ไปอยู่บนหน้าอกเสื้อของ ซันเดอร์แลนด์ ในฤดูกาล 1983 และจากนั้นตลาดเสื้อบอลของ ไนกี้ ก็ขยายใหญ่ขึ้น จนกลายเป็นสปอนเซอร์เสื้อแข่งของทีมดังในยุโรปอย่าง บาร์เซโลนา, ปารีส แซงต์-แชร์กแม็ง และ ลิเวอร์พูล อย่างที่เราได้เห็นกันในยุคนี้
Photo : Liverpool FC
ไม่ใช่แค่เสื้อฟุตบอลเท่านั้นที่ ไนกี้ มาลุยในลีกฟุตบอลอังกฤษ เพราะในปี 1982 ในช่วงเวลาแห่งการรุกคืบ นั้น ไนกี้ ได้ลองทำรองเท้าสตั๊ดออกสู่ตลาดอย่างจริงจัง โดยทีม แอสตัน วิลล่า ที่ได้แชมป์ฟุตบอล ยูโรเปี้ยน คัพ ในปี 1982 นั้น นักเตะของทีมสิงห์ผยอง ก็ใช้สตั๊ดของ ไนกี้ แทบทั้งนั้น โดยเฉพาะผู้ทำประตูชัยในเกมนัดชิงชนะเลิศอย่าง ปีเตอร์ วิธ ที่เป็นเพื่อนซี้ของ มิค โฮบาน นั้น มีการยืนยันว่าเขาสวมสตั๊ด ไนกี้ ลงเล่นในเกมนั้นจริง ๆ
"ผมยืนยันได้เลยว่า ปีเตอร์ วิธ ยิงประตูนัดชิงชนะเลิศใส่ บาเยิร์น มิวนิค ในปี 1982 ด้วยรองเท้าสตั๊ดของ ไนกี้" โฮบาน กล่าว ซึ่งที่สุดแล้ว ไนกี้ ก็เติบโตขึ้นมาจนครองตลาดฟุตบอลได้อย่างที่พวกเรารู้กัน
Photo : Daily Mail
"ผมมองย้อนกลับไปในเรื่องอดีตเหล่านั้นด้วยความสุข ความชอบ และรู้สึกถึงจิตวิญาณแห่งการเป็นนักบุกเบิกโดยแท้จริง ไม่ใช่แค่ผมคนเดียวเท่านั้น ทีมงานอีกเป็น 100 คน พยายามอย่างมากในการผลักดัน ไนกี้ ตั้งแต่ที่ยังไม่มีใครยอมรับพวกเรา เราทำให้รู้ว่าการมีอยู่ของ ไนกี้ นั้นเป็นเรื่องจริง"
"เราพยายามอย่างมาก ทีมงานแทบกระอักเลือด กว่าที่จะพาเรื่องราวจากจุดเริ่มต้นมาจนถึงทุกวันนี้" มิค โฮบาน กล่าวทิ้งท้าย