เตอร์กูชู มิวนิค : สโมสรฟุตบอลของผู้อพยพตุรกีในลีกเยอรมัน ที่สู้กับลัทธิเหยียดผิว

เตอร์กูชู มิวนิค : สโมสรฟุตบอลของผู้อพยพตุรกีในลีกเยอรมัน ที่สู้กับลัทธิเหยียดผิว

เตอร์กูชู มิวนิค : สโมสรฟุตบอลของผู้อพยพตุรกีในลีกเยอรมัน ที่สู้กับลัทธิเหยียดผิว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เยอรมัน คือ หนึ่งในดินแดนที่มีผู้อพยพอาศัยมากที่สุดในโลก ประชากรราว 12 ล้านคน จากทั้งหมดราว 83 ล้านคนในประเทศแห่งนี้ สืบเชื้อสายจากแรงงานซึ่งเดินทางมาจากทั่วยุโรป ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ไม่มีเมืองไหนในเยอรมันที่จะมีความหลากหลายทางเชื้อชาติเท่ากับ มิวนิค มหานครแห่งแคว้นบาวาเรีย ที่มีลูกหลานผู้อพยพอาศัยอยู่มากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเมือง และหนึ่งในเชื้อสายผู้อพยพที่มีอยู่มากที่สุดในเมืองแห่งนี้ คือ ตุรกี

เรื่องราวของ เตอร์กูชู มิวนิค จึงไม่ใช่แค่ความสำเร็จของสโมสรฟุตบอลชาวตุรกี ที่เลื่อนขึ้นสู่ลีกอาชีพได้เป็นครั้งแรก แต่ยังแสดงถึงการต่อสู้ของผู้อพยพในเยอรมัน ที่กำลังต่อสู้กับลัทธิเหยียดผิว และแนวคิดขวาจัดที่กำลังแพร่หลายในยุโรป

รากฐานจากแรงงานตุรกี

ย้อนกลับไปทศวรรษ 1950s เศรษฐกิจในประเทศเยอรมันตะวันตกเติบโตอย่างรวดเร็ว นำมาสู่ความต้องการแรงงานจำนวนมาก รัฐบาลเยอรมันตะวันตกจึงประกาศนโยบาย Gastarbeiterprogramm หรือโปรแกรมเปิดรับผู้อพยพจากต่างชาติ เพื่อเข้ามาเป็นแรงงานในประเทศเยอรมัน โดยหนึ่งในประเทศที่มีผู้อพยพเข้าสู่มามากที่สุดคือ ตุรกี


Photo: www.huffpost.com

นับตั้งแต่ปี 1961 เป็นต้นมา ชาวตุรกีจำนวนมากอพยพสู่เยอรมันตะวันตก พวกเขากระจายตัวไปทั่วประเทศ ตั้งแต่ ฮัมบูร์ก สู่ มิวนิค เพื่อใช้ชีวิตในฐานะแรงงานระดับล่าง เช่น คนงานเหมือถ่านหิน หรือ คนงานในโรงงานอุตสาหกรรม

แรงงานตุรกีกลายเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เยอรมันตะวันตก สามารถฟื้นตัวกลับเป็นมหาอำนาจแห่งยุโรป แม้พ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ขณะเดียวกัน คุณภาพชีวิตของแรงงานตุรกีก็ไม่เลวร้าย ลูกหลานของพวกเขามีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และได้รับสัญชาติเยอรมัน

อย่างไรก็ตาม เงินทองมหาศาลไม่อาจทดแทนความโหยหาบ้านเกิดที่อยู่ในใจ แรงงานตุรกีในเยอรมันจึงเริ่มรวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือ การเล่นกีฬาฟุตบอล

สโมสรฟุตบอล เตอร์กูชู มิวนิค จึงถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1975 โดยแรงงานชาวตุรกีในเมืองมิวนิค พวกเขาแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของบ้านเกิดอย่างแรงกล้า ด้วยการนำธงชาติตุรกีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตราสโมสร (ควบคู่กับธงของแคว้นบาวาเรีย สีฟ้า-ขาว ที่หลายคนอาจคุ้นเคยจากในตราสโมสร บาเยิร์น มิวนิค) ส่วนคำว่า "เตอร์กูชู" ในชื่อสโมสร มีความหมายว่า "พลังแห่งตุรกี"


Photo : www.dw.com

"โดยพื้นฐานแล้ว สโมสร เตอร์กูชู มิวนิค คือทีมฟุตบอลที่ถูกก่อตั้งโดยชาวตุรกี คุณเห็นได้ชัดจากดวงดาว และพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวที่อยู่ในตราสโมสร ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไม พวกเราถึงเดินทางไปชมการแข่งขัน" ฮากี้ แฟนบอลของ เตอร์กูชู มิวนิค ให้สัมภาษณ์กับ DW Kick off!

ในช่วงแรก เตอร์กูชู มิวนิค จะใช้นักเตะที่มีเชื้อสายตุรกีเท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสโมสรต่างเห็นตรงกันว่า พวกเขาจะยอมเสียตัวตนของชาวตุรกี เพื่อแลกกับความสำเร็จที่กำลังจะเข้ามาในอนาคต ด้วยเหตุนี้ นักเตะที่ปราศจากเชื้อสายตุรกี จึงเริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ เตอร์กูชู มิวนิค

"อัตลักษณ์ของ เตอร์กูชู มิวนิค ยังคงเป็นตุรกี และมันจะเป็นตุรกีตลอดไป แม้ว่าตอนนี้เราจะไม่มีผู้เล่นเชื้อสายตุรกีในทีมมากนัก แต่ถ้าคุณมองไปยัง กาลาตาซาราย หรือ เฟเนร์บาห์เช พวกเขาก็มีนักเตะชาวตุรกีน้อยไม่ต่างจากเรา" ฮากี้ ให้ความเห็น

ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะถูกใจทุกคนหรือไม่ แต่ เตอร์กูชู มิวนิค มีเป้าหมายใหม่ คือ ความทะเยอทะยานที่จะเป็นสโมสรฟุตบอลหมายเลข 2 ในเมืองมิวนิค ซึ่งก้าวแรกของพวกเขาคือการเลื่อนชั้นก้าวขึ้นสู่ลีกา 3 เมื่อฤดูกาลที่ผ่านมา

ก้าวสู่ความสำเร็จ 

ก่อนจะเลื่อนชั้นสู่ลีกา 3 และสร้างประวัติศาสตร์ในฐานะสโมสรฟุตบอลของผู้อพยพที่ก้าวสู่ลีกอาชีพ เตอร์กูชู มิวนิค ผ่านสถานการณ์ล้มลุกคลุกคลานมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น การยุบทีมเมื่อปี 2001 เนื่องจากสโมสรประสบภาวะล้มละลาย หรือการควบรวมกิจการกับสโมสร ATA Spor เมื่อปี 2009 เพื่อพยุงสถานะการเงินของสโมสรให้เดินหน้าต่อไปได้


Photo : www.archyde.com

จุดเปลี่ยนของ เตอร์กูชู มิวนิค ที่ทำให้สโมสรพุ่งทะยานสู่ความสำเร็จ เกิดขึ้นเมื่อปี 2016 เมื่อนักลงทุนชาวตุรกีที่ชื่อว่า ฮาซาน คีฟราน ยื่นมือเข้ามาเป็นเจ้าของใหม่ของทีม โดย คีฟราน มีความสัมพันธ์กับสโมสรอย่างลึกซึ้ง เนื่องจากเคยลงเล่นให้กับ เตอร์กูชู มิวนิค ในช่วงปี 1980s

คีฟรานทุ่มเงินมากกว่า 1 ล้านยูโร ให้แก่ เตอร์กูชู มิวนิค นับตั้งแต่เขาเข้าเป็นเจ้าของสโมสร ด้วยงบประมาณที่มากกว่าทีมอื่น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ เตอร์กูชู มิวนิค จะประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเลื่อนชั้นจากลีกา 6 สู่ ลีกา 3 ของฟุตบอลเยอรมัน ภายในระยะเวลา 3 ปี


Photo : www.mainpost.de

"เรามีนักการเมืองเชื้อสายตุรกีในรัฐสภาเยอรมัน เรามีนายกเทศมนตรีที่มีเชื้อสายตุรกี เราอยู่ในประเทศนี้มายาวนานกว่า 60 ปี เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ามันถึงเวลาแล้ว ที่สโมสรฟุตบอลของชาวตุรกี จะก้าวสู่ลีกฟุตบอลอาชีพในเยอรมัน" แฟนบอลของ เตอร์กูชู มิวนิค รายหนึ่ง แสดงความภูมิใจต่อความสำเร็จของทีม

การเลื่อนชั้นสู่ลีกฟุตบอลอาชีพของ เตอร์กูชู มิวนิค ไม่ใช่ข่าวดีสำหรับชาวตุรกีในมิวนิคเพียงอย่างเดียว เพราะชาวตุรกีทั่วเยอรมันต่างยินดีกับความสำเร็จครั้งนี้ นั่นจึงทำให้ผู้บริหารของ เตอร์กูชู มิวนิค มองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาสโมสรแห่งนี้ ให้กลายเป็นสโมสรฟุตบอลอันดับหนึ่งของชาวตุรกีในเยอรมัน ซึ่งมีประชากรเกือบ 3 ล้านคน

เตอร์กูชู มิวนิค จึงเปลี่ยนผู้เล่นถึง 16 ราย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการลงแข่งขันในลีกา 3 ฤดูกาล 2020-21 ซึ่งปัจจุบัน (อัพเดตล่าสุด 12 มกราคม 2021) พวกเขาทำผลงานได้น่าประทับใจ ด้วยการรั้งอันดับ 6 ของตาราง หลังผ่านการแข่งขัน 17 นัด ด้วยการเสมอกับคู่ปรับร่วมเมืองทั้ง 2 ทีม ไม่ว่าจะเป็น บาเยิร์น มิวนิค II หรือ 1860 มิวนิค แถมเอาชนะจ่าฝูงอย่าง ดินาโม เดรสเดน มาอีกด้วย  


Photo : glamssup.com

"เมื่อแฟนบอลสามารถกลับสู่สนามได้อีกครั้ง ผมคิดว่าเกมเยือนทุกแมตช์ของ เตอร์กูชู มิวนิค จะไม่แตกต่างอะไรจากการเล่นในบ้าน เพราะชาวตุรกีจะเข้ามาให้กำลังใจทีมของเรา ไม่แน่ว่า แฟนบอลที่ตามมาเชียร์ในเกมเยือน อาจจะมีจำนวนมากกว่าแฟนบอลเจ้าถิ่นด้วยซ้ำ" โรมัน เพลสเชอ หัวหน้าแมวมองของ เตอร์กูชู มิวนิค กล่าว

"เราภูมิใจมากที่ได้ลงเล่นในลีกา 3 และผมคิดว่าเรามีทีมที่ดี ตอนนี้หลายทีมในลีกคงรู้แล้วว่า พวกเขากำลังเจอกับอะไร"

สู้เพื่อผู้อพยพ

ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของ เตอร์กูชู มิวนิค กำลังสร้างความตื่นเต้นแก่วงการฟุตบอลเยอรมัน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะยินดีไปกับสโมสรแห่งนี้ มีแฟนบอลจำนวนไม่น้อยที่มองว่า เตอร์กูชู มิวนิค ประสบความสำเร็จโดยการใช้ช่องว่างของกฎ 50+1 ที่ไม่ครอบคลุมลีกกึ่งอาชีพ จนเปิดทางให้ ฮาซาน คีฟราน เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสร


Photo : www.hurriyet.com.tr

เตอร์กูชู มิวนิค จึงไม่ต่างจาก แอร์เบ ไลป์ซิก สโมสรชื่อดังจากบุนเดสลีกา ที่ถูกมองว่าใช้ทางลัดก้าวสู่ความสำเร็จ แทนจะค่อย ๆ ก้าวทีละขั้นตามกฎ 50+1 ซึ่งสโมสรฟุตบอลเกือบทั้งหมดในเยอรมันยึดถือ

"เตอร์กูชู มิวนิค คือสโมสรของชาวตุรกี แต่ความสำเร็จคือสิ่งที่สำคัญที่สุด และความสำเร็จต้องมาก่อน" โรมัน เพลสเชอ ตอบโต้ถึงประเด็นที่สโมสรถูกวิจารณ์

โครงสร้างของสโมสรไม่ใช่ประเด็นเดียวที่ เตอร์กูชู มิวนิค ถูกโจมตีในขณะนี้ สโมสรของชาวตุรกีในเยอรมันแห่งนี้ กำลังตกเป็นเป้าหมายของแฟนบอลที่มีแนวคิดขวาจัด ซึ่งแสดงออกถึงการเหยียดเชื้อชาติและกีดกันผู้อพยพ ในทุกสถานการณ์ที่มีโอกาส ไม่เว้นแม้แต่ในสนามฟุตบอล

เมื่อเดือนตุลาคม ปีที่ผ่านมา มีรายงานว่า พัค อียอง กองกลางชาวเกาหลีใต้ของ เตอร์กูชู มิวนิค ถูกเหยียดสีผิวโดยแฟนบอลของทีม วาลด์โฮฟ มานน์ไฮม์ ขณะเดียวกัน มีแฟนบอลจากหลายสโมสรที่เรียก เตอร์กูชู มิวนิค ด้วยคำว่า "เติร์ก" ซึ่งถือเป็นการเหมารวม และไม่ให้เกียรติชาวตุรกี


Photo : www.newsylist.com

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ เตอร์กูชู มิวนิค ยังมีความเชื่อมโยงกับการเมืองในประเทศเยอรมัน เพราะสโมสรแห่งนี้ถูกต่อต้านโดยพรรคการเมืองขวาจัดที่มีชื่อว่า The III. Path ซึ่งมีแนวคิดแบบนีโอนาซี การแสดงออกของพรรคการเมืองนี้ยังทำให้หลายคนหวั่นใจ เพราะมีรายงานว่า The III. Path มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มฮูลิแกนขวาจัดในฟุตบอลเยอรมัน

การก้าวสู่ลีกา 3 ของ เตอร์กูชู มิวนิค ถือเป็นการท้าทายสังคมเยอรมันในปัจจุบัน ที่แนวคิดขวาจัดกำลังเติบโตและแพร่หลาย จากกระแสต่อต้านผู้อพยพในทศวรรษที่ผ่านมา หลังพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี หรือ อาเอฟเด (AFD) กลายเป็นพรรคฝ่ายค้านอันดับหนึ่งของรัฐสภาเยอรมันในปัจจุบัน


Photo : www.world-today-news.com

"ผมไม่คิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสำหรับชาวเยอรมันโดยทั่วไป แต่ผมไม่ปฏิเสธว่า มีชาวเยอรมันส่วนหนึ่งไม่พอใจที่เห็นเราประสบความสำเร็จ และมาได้ไกลขนาดนี้" ฮากี้ กล่าวถึงปัญหาเหยียดเชื้อชาติที่เกิดขึ้นกับ เตอร์กูชู มิวนิค

"รักษาประเพณี เชื่อมโยงวัฒนธรรม" คือคำขวัญของสโมสร เตอร์กูชู มิวนิค และแฟนบอลทุกคนของทีมยึดมั่นกับคำกล่าวนั้น พวกเขาแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในเชื้อสายตุรกี พร้อมกับความพยายามที่จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับสังคมเยอรมัน ผ่านกีฬาฟุตบอล


Photo : turkgucu.de

เตอร์กูชู มิวนิค จึงมีความหมายมากกว่าทีมฟุตบอล เพราะสโมสรแห่งนี้ คือตัวแทนของผู้อพยพในเยอรมัน ที่กำลังต่อสู้กับความอคติของคนบางกลุ่มที่กีดกันคนต่างเชื้อชาติออกจากสังคม ซึ่งเป็นแนวคิดที่ไม่น่าชื่นชม และเคยทำให้เกิดความสูญเสียมหาศาลแก่มวลมนุษยชาติมาแล้ว

"เตอร์กูชู มิวนิค คือกุญแจที่จะรวบรวมผู้คนเข้าด้วยกัน สโมสรแห่งนี้คือส่วนสำคัญที่จะบอกว่า กีฬาสามารถรวบรวมประเทศและผู้คนเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างไร" ฮากี้ กล่าวทิ้งท้ายเกี่ยวกับสโมสรอันเป็นที่รักของเขา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook