ยูไนเต็ด vs เวนส์เดย์ : เชฟฟิลด์ดาร์บี้ ตำนานเกมสุดเดือด ขนตำรวจมาทั้งเมือง

ยูไนเต็ด vs เวนส์เดย์ : เชฟฟิลด์ดาร์บี้ ตำนานเกมสุดเดือด ขนตำรวจมาทั้งเมือง

ยูไนเต็ด vs เวนส์เดย์ : เชฟฟิลด์ดาร์บี้ ตำนานเกมสุดเดือด ขนตำรวจมาทั้งเมือง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แฟนบอลบ้านเราที่ติดลีกอังกฤษ คงคุ้นเคยกับชื่อศึกคู่ปรับร่วมเมืองอย่าง "ลอนดอน ดาร์บี, เมอร์ซีไซด์ ดาร์บี และ แมนเชสเตอร์ดาร์บี"

แต่สำหรับแฟนบอลที่นั่น "เชฟฟิลด์ ดาร์บี" การปะทะกันของ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด และ เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ สองทีมฟุตบอลจากเมืองขนาดเล็กทางตอนเหนือของประเทศอังกฤษ คือ หนึ่งในเกมผ่าเมืองที่ดุเดือดสุด

ทั้ง 2 สโมสรไม่ใช่ทีมที่ประสบความสำเร็จในโลกฟุตบอล แต่ความร้อนแรงของดาร์บีแมตช์ในเมืองนี้ ดุเดือดยิ่งกว่าเกมคู่อื่นในประเทศอังกฤษ จนต้องทุ่มเงินเฉียด 10 ล้านบาท เพื่อจ้างตำรวจทั้งเมือง มาป้องกันเหตุรุนแรงที่กำลังจะเกิดขึ้น ...

เมืองกำเนิดสโมสรฟุตบอลแห่งแรกโลก 

เชฟฟิลด์ เมืองอุตสาหกรรมเหล็กกล้าทางตอนเหนือของประเทศอังกฤษ มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ฟุตบอลอย่างยาวนาน เพราะสโมสรลูกหนังแห่งแรกของโลก "เชฟฟิลด์ เอฟซี" ก่อตั้งขึ้นที่เชฟฟิลด์ ในปี 1857


Photo : www.thesun.co.uk

ฟุตบอล ก้าวขึ้นมาเป็นกีฬาอันดับหนึ่งของชาวเมืองเชฟฟิลด์ แทนที่กีฬาดั้งเดิมอย่าง "คริกเก็ต" เหตุเพราะประชากรส่วนใหญ่ ล้วนเป็นคนชนชั้นแรงงาน และไม่มีกีฬาไหนที่จะบ่งบอกตัวตนของพวกเขาได้ดีกว่าฟุตบอล

ความนิยมในกีฬาฟุตบอลของคนเมืองเชฟฟิลด์ ทำให้เวลาต่อมา มีการตั้งทีมฟุตบอลอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ขึ้นตรงกับสโมสรคริกเก็ต (เดิมทีฟุตบอลเป็นส่วนหนึ่งของทีมคริกเก็ต) เริ่มจากปี 1867 "เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์" แยกตัวออกมาจากสโมสร "เดอะ เวนส์เดย์ คริกเก็ต คลับ"

 

ต่อมาปี 1889 "เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด" ก็ทำการปลดแอกจาก "เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด คริกเก็ต คลับ" ออกมาตั้งทีมฟุตบอลได้สำเร็จ แม้จะก่อตั้งทีหลังถึง 23 ปี แต่ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด กลับยึดครองความนิยมในเมืองได้มากกว่า 

เนื่องจากพวกเขาเลือกใช้ บรามอลล์ เลน รังเหย้าประจำเมือง สร้างตั้งแต่ปี 1855 ซึ่งเป็นสนามฟุตบอลอาชีพที่เก่าแก่สุดในโลก ซึ่งยังคงเปิดทำการอยู่ (ขณะที่สนามฟุตบอลที่เก่าแก่ที่สุดในโลกซึ่งยังเปิดทำการอยู่ ก็ตั้งอยู่ไม่ไกล เพียงย่านชานเมืองเชฟฟิลด์ คือ แซนดีเกต รังเหย้าของ ฮัลแลม เอฟซี สร้างตั้งแต่ปี 1804) อีกทั้งทำเลที่ตั้งสนาม บรามอลล์ เลน ยังอยู่ใจกลางเมือง ทำให้ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ประกาศตัวเป็น สโมสรฟุตบอลประจำเชฟฟิลด์


Photo : www.stadiumguide.com

ยิ่งไปกว่านั้น เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ยังขโมยฉายา The Blades หรือ ดาบคู่ ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของเมืองเชฟฟิลด์ ที่เป็นแหล่งผลิตโลหะภัณฑ์ชั้นแนวหน้าของประเทศอังกฤษ มาจาก เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ ทำให้ตัวตนของเมืองเชฟฟิลด์ในโลกฟุตบอลทั้งหมด แทบจะอยู่ในมือของสโมสรที่มาทีหลังอย่าง เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด

ส่วน เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ ถึงจะถูกขโมยฉายา และโดนแย่งสนามประจำเมือง แต่พวกเขาคือสโมสรที่ประสบความสำเร็จมาก่อน และหัวก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ในปี 1889 เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ ตัดสินใจย้ายออกไปใช้สนามนอกเมือง เพราะไม่อยากแบ่งค่าตั๋วกับ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด

 

ก่อนที่ปี 1899 สมาชิกของสโมสรจะลงทุนซื้อที่ดินในย่านโอว์เลอร์ตัน (Owlerton) พื้นที่ชานเมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือของเชฟฟิลด์ เพื่อสร้างรังเหย้าถาวรในชื่อ ฮิลส์โบโร สเตเดียม และเปลี่ยนฉายาของสโมสรจาก The Blades ที่ทับซ้อนกับเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด สู่ The Owl หรือ นกเค้าแมว เพื่อให้เกียรติกับเขตที่ตั้งของสนาม


Photo : www.owlstalk.co.uk

ไม่ว่าจะเป็น เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด สโมสรที่เป็นตัวแทนของเมืองต้นกำเนิดฟุตบอล และเจ้าของสนามลูกหนังอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดในโลก หรือ เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ หนึ่งในสโมสรที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ที่สร้างจิตวิญญาณของทีมด้วยตัวเอง

ประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของ 2 สโมสรฟุตบอลในเมืองเชฟฟิลด์ คือ ความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่น ที่ช่วยให้เมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ สามารถทัดเทียมกับเมืองใหญ่รอบข้าง ทั้ง แมนเชสเตอร์, ลิเวอร์พูล และ ลีดส์

แต่สโมสรหมายเลขหนึ่งของเมือง มีได้เพียงหนึ่งเดียว เมื่อ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด และ เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ เผชิญหน้ากัน มันจึงกลายเป็นดาร์บีแมตช์ที่ดุเดือดเลือดพล่าน จนต้องจ่ายเงินหลายล้านบาท เพื่อจ้างตำรวจมารักษาความปลอดภัย

แพ้ใครแพ้ได้ ... แต่ไม่แพ้อีกเชฟฟิลด์ ?

เชฟฟิลด์ ดาร์บี ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ปี 1890 โดยชัยชนะตกเป็นของ เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ ด้วยสกอร์ 2–1 ก่อนที่ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด จะเอาคืนในปีถัดมา ด้วยการคว้าชัยชนะด้วยผลการแข่งขัน 3–2

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 แมตช์คือเกมอุ่นเครื่องที่ไม่ถูกนับเป็นการแข่งขันทางการ กว่า เชฟฟิลด์ ดาร์บี จะเกิดขึ้นในเกมลีก ต้องรอถึงปี 1893 เมื่อ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ได้สิทธิเป็นเจ้าบ้านเปิดสนาม บรามอลล์ เลน รับการมาเยือนของ เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์


Photo : www.englandsoldestfootballclubs.com

ผลลัพธ์ของการพบการอย่างเป็นทางการนัดแรก ทั้งสองทีมเสมอกัน 1–1 ด้วยเหตุนี้ แฟนบอล เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ จึงยึดถือผลการแข่งขันในเกมอุ่นเครื่องเมื่อปี 1890 เพื่อประกาศว่า เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ สามารถเอาชนะ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ได้ก่อน

 

นับแต่นั้นมา ต่างฝ่ายต่างไม่มีใครยอมใครยามพบกัน เพราะนอกจากศักดิ์ศรีที่ค้ำคอในฐานะอริร่วมเมืองแล้ว ทั้ง เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ และ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ต่างเป็นสโมสรที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จกันทั้งคู่ โดย เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ เคยคว้าแชมป์ลีกสูงสุดแค่ 4 ครั้ง ส่วน เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด คว้าแชมปลีกสูงสุดเพียงครั้งเดียว แถมยังนานมาแล้วตั้งแต่ปี 1898

เมื่อปราศจากแชมป์ประดับตู้โชว์ การเอาชนะคู่ปรับท้องถิ่น จึงกลายเป็นเกียรติยศสูงสุดของทั้ง 2 สโมสร โดยการแข่งขันที่ดุเดือนที่สุดของเชฟฟิลด์ ดาร์บี ถูกจารึกไว้ เกิดขึ้นเมื่อปี 1951–52 ฤดูกาลนั้น เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ สามารถคว้าแชมป์ดิวิชั่น 2 และตีตั๋วขึ้นสู่ลีกสูงสุดได้สำเร็จ

แต่การแข่งขันเมื่อวันที่ 8 กันยายน ปี 1951 แชมป์ลีกอย่าง เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ กลับถูก เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด เปิดบ้านถล่มยับเยิน ที่สนามบรามอลล์เลน ในเกมที่สกอร์สุดพลิกผัน เริ่มด้วยเชฟฟิลด์นำก่อน 1–0, ยูไนเต็ดพลิกแซง และถูกตีเสมอ 2–2, ก่อนที่ยูไนเต็ดจะยิงรัวสี่ลูก ขึ้นนำอีกครั้งด้วยสกอร์ 6–2

ผลสุดท้ายหลังจบ 90 นาที เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด เอาชนะด้วยสกอร์ 7–3 นี่คือหนึ่งในเกมที่สร้างความภาคภูมิใจแก่สโมสร เพราะชัยชนะครั้งนี้คือเครื่องยืนยันว่า เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ ไม่ได้เหนือกว่าพวกเขา แม้จะคว้าแชมป์ลีกและตั๋วเลื่อนชั้น (เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด คว้าแชมป์ดิวิชั่น 2 ในปีถัดมา เพื่อตามไปเจอกับเวนส์เดย์ ในดิวิชั่น 1 ฤดูกาล 1953–54)


Photo : www.thestar.co.uk

 

อีกหนึ่งเกมที่โด่งดังมากที่สุดของ เชฟฟิลด์ ดาร์บี คือ "Boxing Day Massacre" หรือ การสังหารหมู่ในวันบ็อกซิ่งเดย์ เป็นการพบกันของคู่ปรับร่วมเมือง ในศึกดิวิชั่น 3 ฤดูกาล 1979–80 เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ ณ ขณะนั้นรั้งอันดับ 5 ของตาราง เปิดบ้านรับการมาเยือนของ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ที่นำเป็นจ่าฝูง

การแข่งขันเกมนี้ดุเดือดตั้งแต่ยังไม่เริ่ม สื่อเรียกการแข่งขันครั้งนี้ว่า "รอบชิงชนะเลิศของยอร์คเชียร์ใต้" เพื่อสื่อถึงตั๋วเลื่อนชั้นซึ่งมีโอกาสอยู่ในมือผู้ชนะ ฝ่ายตำรวจก็เตรียมการเป็นอย่างดี มีการส่งเจ้าหน้าที่ 500 คน ไปประจำการที่ ฮิลส์โบโร สเตเดียม เพื่อป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากมีแฟนบอลหลายพันคนมายืนอยู่หน้าสนาม ตั้งแต่ประตูยังไม่เปิด

"ใช่ครับ เราใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมาก อันที่จริง พวกเราเริ่มวางแผนกันตั้งแต่เดือนสิงหาคม แทบจะทันทีที่พบว่า ยูไนเต็ด จะเจอกับ เวนส์เดย์ ในวันบ็อกซิ่งเดย์ เรารู้ทันทีว่าเกมนี้ต้องมีแฟนบอลมหาศาล" ปีเตอร์ กรัตตัน สารวัตรตำรวจประจำเมืองเชฟฟิลด์ ตอบคำถามของนักข่าวที่บอกว่าใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมากราวกับปฏิบัติการทางทหาร

"คุณจะบอกว่าแบบนั้นก็ได้นะครับ เพราะถ้าคุณได้เห็นคำสั่งของผมที่ออกไป คุณอาจจะเชื่อว่านี่คือปฏิบัติการทางทหารจริง ๆ ก็ได้"

เกมนัดนี้มีจำนวนผู้ชมมากถึง 49,309 คน สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ฟุตบอลดิวิชั่น 3 แต่ตำนานที่แท้จริงคือสิ่งที่เกิดขึ้นในสนาม เมื่อ เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ ถล่ม เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ยับเยิน 4–0 เก็บสามแต้มสำคัญต่อหน้าแฟนบอลเกือบ 5 หมื่นคน

Boxing Day Massacre กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของทั้ง 2 สโมสร เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ รักษาโมเมนตั้มและจบฤดูกาลด้วยอันดับ 3 เลื่อนชั้นสู่ดิวิชั่น 2 ได้สำเร็จ ส่วน เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด กู่ไม่กลับ ตกจากจ่าฝูง จบฤดูกาลด้วยอันดับ 12 ก่อนร่วงสู่ดิวิชั่น 4 ในฤดูกาลถัดมา ทำให้กว่าทั้งสองทีมจะโคจรกลับมาพบ ต้องรอนานถึง 13 ปี กลายเป็นแผลใจที่ยาวนานของแฟนบอล เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด และชัยชนะที่ถูกนำมาพูดถึงไม่รู้จบของสาวก เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ ตลอดช่วงทศวรรษนั้น 

เพื่อนแท้นอกสนาม

ปัจจุบัน เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด และ เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ พบกันมาแล้วทั้งหมด 144 ครั้ง (รวมเกมไม่เป็นทางการ) โดยเป็นทัพดาบคู่ที่คว้าชัยได้มากกว่า ด้วยจำนวน 49 ครั้ง ส่วนเวนส์เดย์ตามมาติด ๆ คว้าชัยไปแล้ว 48 ครั้ง ส่วนที่เหลือเป็นการเสมอกัน 47 ครั้ง 


Photo : www.radiotimes.com

ตัวเลขสถิติดังกล่าวน่าพอได้ว่า นี่เป็นดาร์บีแมตช์ที่ขับเคี่ยวกัน และสูสีกันมากขนาดไหน ? ไม่ว่าเวลาจะผ่านมานานร้อยกว่าปี แต่ความดุเดือดของ เชฟฟิลด์ ดาร์บี ไม่เสื่อมคลายตามกาลเวลา ทุกวันนี้ การพบกันระหว่าง เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด และ เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ ยังถือเป็นหนึ่งในดาร์บีแมตช์ที่เข้มข้นมากสุด โดยเฉพาะบรรยากาศภายในสนามอันสุดยอดจากแฟนบอลทั้งสองทีม 

ทุกคนที่เคยสัมผัสเกม เชฟฟิลด์ ดาร์บี ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แฟนบอลทั้งสองทีมพากันส่งเสียงเชียร์อย่างบ้าคลั่งในทุกจังหวะสำคัญของเกม ไม่ว่าจะเป็นฟรีคิก, เตะมุม หรือ ฟาวล์ ทุกครั้งที่เสียงนกหวีดจากกรรมการดังขึ้น เสียงโห่ร้องจากแฟนบอลทั้ง 2 ฝ่ายจะดังขึ้นตามทันที

ความเดือดทะลุปรอทในของแฟนบอลในสนามแข่งขัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การรักษาความปลอดภัยในเกม เชฟฟิลด์ ดาร์บี จะใช้ตำรวจจำนวนมาก จนอาจเรียกได้ว่า ขนกันมาทั้งเมือง โดยมีการใช้งบประมาณมากถึง 203,000 ปอนด์ หรือมากกว่า 8 ล้านบาท เพื่อรักษาความปลอดภัยในเชฟฟิลด์ ดาร์บี เมื่อเดือนกันยายน ปี 2017


Photo : Football Away Days @AwayDays_

อย่างไรก็ดี แฟนบอลทั้ง 2 ทีม ไม่มีเหตุรุนแรงจากการปะทะนอกสนามมากนัก เพราะความเกลียดชังที่เกิดขึ้นระหว่างทั้งสองสโมสรเกิดขึ้นแค่ในสนามแข่งขัน แต่เมื่อเป็นเรื่องนอกสนาม ทั้ง เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด และ เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ ถือเป็นเพื่อนร่วมเมืองที่ดีต่อกัน 

ฤดูกาล 2011–12 ทั้งสองสโมสรเข้าร่วมโครงการ Supporting Sheffield ที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจท้องถิ่นเข้ามาเป็นสปอนเซอร์คาดหน้าอกของทั้งสองทีม โดยองค์กรไม่แสวงกำไร Westfield Health เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ชุดเหย้าของยูไนเต็ด และชุดเยือนของเวนส์เดย์ 

ส่วนธุรกิจรถยนต์ Gilder Group เป็นสปอนเซอร์ชุดเหย้าของเวนส์เดย์ และชุดเยือนยูไนเต็ด ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้


Photo : www.telegraph.co.uk

ความบาดหมางที่เกิดขึ้นใน เชฟฟิลด์ ดาร์บี ไม่ได้เริ่มต้นจากความเกลียดชัง แต่มาจากความรักในกีฬาฟุตบอลแบบเข้าเส้นฝังรากลึกของชาวเชฟฟิลด์ ที่ทุ่มเทให้แก่สโมสรในดวงใจ

ไม่ว่าจะเป็น เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด หรือ เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ ทั้ง 2 สโมสรคือความภาคภูมิใจของแฟนบอลท้องถิ่น นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้การแย่งชิงความเป็นหนึ่งของทีมฟุตบอลในเมืองแห่งนี้ ดำเนินยาวนานกว่า 100 ปี และจะดำเนินต่อไปตราบนานเท่านาน

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook