ไขเบื้องหลังแทคติกปล่อยข่าวลือซื้อ-ขายนักเตะยุคใหม่ ... ผลประโยชน์ตกที่ใคร ?

ไขเบื้องหลังแทคติกปล่อยข่าวลือซื้อ-ขายนักเตะยุคใหม่ ... ผลประโยชน์ตกที่ใคร ?

ไขเบื้องหลังแทคติกปล่อยข่าวลือซื้อ-ขายนักเตะยุคใหม่ ... ผลประโยชน์ตกที่ใคร ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา "กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์" ผู้รักษาประตูดีกรีทีมชาติไทย ตกเป็นข่าวลืออย่างหนักว่ากำลังย้ายกลับมาเฝ้าเสาในลีกไทยอีกครั้ง ก่อนเดดไลน์ตลาดซื้อขายผู้เล่นบ้านเราจะปิดตัวลง

กระแสข่าวของ กวินทร์ ทำเอาแฟนปรับโหมดตั้งรับแทบไม่ทัน เพราะมีรายงานออกมาจากสื่อว่า เขาเตรียมย้ายไปเป็นสมาชิกของ 2 สโมสรชั้นนำอย่าง การท่าเรือ เอฟซี และ เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ในเวลาไล่เลี่ยกัน 

สุดท้ายหนังเรื่องนี้มาหักมุมเป็นหนที่ 3 เพราะ โอเอช ลูเวิน ต้นสังกัดที่แท้จริงในเบลเยียมเรียกตัว กวินทร์ กลับไปใช้งาน 

แม้บทสรุปอย่างเป็นทางการจะช่างแสนธรรมดา ก็แค่นักเตะหมดสัญญายืมตัว แล้วกลับไปรับใช้ทีมเดิม ตามสัญญาที่ยังเหลืออยู่ ... แต่เคส กวินทร์ กลับเป็นตัวอย่างของข่าวลือที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการลูกหนังไทย และทำให้แฟนบอลสนใจติดตามเป็นอย่างมาก

 

บางครั้งผู้อ่านอาจรู้สึกว่าตัวเองได้เกาะติดสถานการณ์แทบจะเรียลไทม์ ตามรายงานข่าวที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง หลาย ๆ สำนัก แต่คุณไม่อาจรู้เลยว่า เบื้องหลังการปั่นข่าวลือขึ้นมา อาจมีอะไรที่มากกว่านั้น และบางครั้งมันผ่านการกระบวนคิดทบทวนมาเป็นอย่างดี ก่อนจะกรองมาออกให้คุณได้อ่านกัน 

อลงกต เดือนคล้อย ผู้เคยประสบการณ์ทำงานเป็นการ "นักข่าวฟุตบอลไทย" มาก่อน ขออาสาพาทุกท่านไปเจาะโลกแห่งข่าวลือที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน ?

ต้นตอข่าวลือ 

นับตั้งแต่ "ลีกฟุตบอลอาชีพยุคใหม่" อนุญาตให้สโมสรสามารถเปลี่ยนแปลงขุมกำลังได้ทุกครั้ง ยามตลาดซื้อขายนักเตะเปิดทำการ จนเป็นเรื่องปกติที่ทำกันทั่วโลก 

"ข่าวลือ" (Rumour) เกี่ยวกับการโยกย้ายผู้เล่น กลายป็นสิ่งที่แฟนบอลให้ความสนใจ ดังนั้นหน้าที่ของสื่อมวลชน จึงต้องนำเสนอข้อมูลเหล่านั้น เพื่อตอบสนองความต้องการผู้คนจำนวนมากที่สนใจใคร่รู้ถึง "ดีลที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต" ก่อนจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 

 

แต่แฟนบอลเคยสงสัยไหมว่า "นักข่าว" ทราบก่อนคนอื่นได้อย่างไรว่าจะมีการย้ายทีมกิดขึ้น ? ปิติศักดิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์ ผู้สื่อข่าวฟุตบอลไทย สำนักข่าว Goal Thailand อธิบายให้เราฟังดังนี้

Photo : OH Leuven

"ถ้าตามบริบทของลีกไทย สมัยก่อนข่าวลือเกี่ยวกับการย้ายทีมมีน้อย เนื่องจากสโมสรติดต่อกับนักเตะโดยตรง ซึ่งโดยธรรมชาติ ทีมส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครอยากเปิดเผยข้อมูลส่วนนี้อยู่แล้ว จนกว่ากระบวนการเจรจาจะสิ้นสุด"

"แต่ในช่วงหลายปีหลัง การย้ายทีมของนักเตะ มีเอเยนต์เป็นคนกลางระหว่างนักเตะกับทีม ข้อแตกต่างคือ เอเยนต์ สามารถนำนักเตะไปเจรจาได้กับหลายสโมสร แน่นอนว่าเอเยนต์ย่อมต้องการให้นักเตะในการดูแลมีมูลค่ามากขึ้น บางครั้งสื่อก็ได้ข้อมูลเรื่องของการเจรจาย้ายทีมมาจากเอเยนต์"

ไม่ใช่เรื่องแปลกสักเท่าไหร่ หาก เอเยนต์ จะเป็นหนึ่งในแหล่งข่าวเชื่อถือได้ ที่สื่อจะติดต่อเพื่อขุดคุ้ยสอบถาม เกาะติดความเคลื่อนไหวของผู้เล่นที่แฟนบอลให้ความสนใจ เพื่อนำมารายงาน

 

Photo : Madam Pang - มาดามแป้ง - นวลพรรณ ล่ำซำ

เพราะขนาดในต่างประเทศ ซูเปอร์เอเยนต์ชื่อดังระดับโลกมากมายอย่างเช่น มิโน ไรโอล่า หรือ จอร์จ เมนเดส ยังใช้ช่องทางสื่อในการเปิดหน้าออกมาเป็นคนให้ข่าวเอง เพื่อสร้างความสนใจ, เรียกร้องอะไรบางอย่างหรือพยายามทำให้เกิดกระแสข่าวเกี่ยวกับผู้เล่นในการดูแล 

แต่ในบริบทของฟุตบอลไทย ที่สังคม ยังมีการนับถือตามอาวุโส ชนชั้น ฐานะ และต้องเกรงอกเกรงใจกัน เพราะคนทำทีมระดับส่วนใหญ่เป็นผู้มีอิทธิพลระดับประเทศ อาทิ อิทธิพลด้านเศรษฐกิจ, การเงิน, สังคม และการเมือง 

Photo : CGTN

คนทำอาชีพ "เอเยนต์" บ้านเรา จึงอาจไม่ได้ออกพูดโต้ง ๆ เปิดหน้าเปิดตาให้ข่าวกับสื่อด้วยตัวเองเหมือนที่ ไรโอล่า ทำ แต่อาจอาศัยความสนิทสนม เปิดเผยเรื่องเหล่านี้กับนักข่าวที่ไว้ใจได้ และในบางครั้ง ข่าวลือเหล่านั้น ก็อาจเกิดขึ้นจากตัวสื่อที่เต้าข่าวขึ้นมาเอง

 

"โค้ชเตี้ย" สะสม พบประเสริฐ หัวหน้าผู้ฝึกสอน ชลบุรี เอฟซี ในฐานะคนทำทีม เปิดเผยกับ Main Stand ว่า "สื่อมวลชนเป็นอาชีพที่ทำให้ข่าวลือเกิดขึ้น เพราะข่าวประเภทนี้มันขายได้ บางทีก็อาจมีมูล แต่บางครั้งก็เป็นสื่อเต้าขึ้นมาเอง พยายามหาความเชื่อมโยง เช่น ทีมนี้ขาดผู้เล่นบางตำแหน่ง, นักเตะคนไหนดูเหมาะเข้ากับทีมนี้ดี หรือ นักบอลคนนั้นเคยร่วมงานกับโค้ชคนนี้ ส่วนจะจุดกระแสติดหรือไม่ติดก็เป็นเรื่องหนึ่ง ถ้าจุดติดมันก็มีมูลค่า"

เกมแห่งจิตวิทยา และการตลาด  

โดยทั่วไปของข่าวลือในโลกฟุตบอล ก็จะมีทั้งข่าวประเภทที่ว่า นักเตะเนื้อหอมถูกหลายสโมสรให้ความสนใจ, ลีกต่างประเทศอยากได้ตัวผู้เล่นคนนั้นไปร่วมทีม, นักบอลคนไหนกำลังหมดสัญญา-ไม่แฮปปี้กับทีมเดิม และอยากมองหาต้นสังกัดใหม่ ไปจนถึงการโปรโมตผู้เล่นดาวรุ่ง, นักบอลลีกล่างที่คนอาจไม่ค่อยรู้จัก ให้สื่อช่วยนำเสนอเพื่อสร้างมูลค่า

บางข่าวอาจเป็นข้อเท็จจริง แต่บางข่าวก็อาจถูกปล่อยออกมาเพื่อหวังผลทางจิตวิทยา และการตลาด แต่ไม่ว่าถูกปล่อยมาด้วยเหตุผลอะไร "ข่าวลือ" ก็มีพลังในตัวของมัน ที่ทำให้แฟนบอลอยากกดมาอ่าน แม้เนื้อหาในข่าวอาจไม่ได้เกิดขึ้นจริงเลยก็ได้

Photo : The Guardian

 

"ช่วงตลาดซื้อ-ขาย เป็นเวลาที่คนให้ความสนใจติดตามข่าวเยอะ เพราะแฟนบอลอยากรู้ ตื่นเต้นว่าจะได้เห็นทีมที่ตัวเองเชียร์ เสริมทัพใครเข้ามาบ้าง ได้นักเตะเกรดตามที่ตัวเองคาดหวังไหม ยิ่งเป็นบิ๊กดีล คนยิ่งอ่านเยอะ" 

"จริง ๆ ข่าวการย้ายทีมก็เกี่ยวข้องกระแสฟุตบอลภาพรวมด้วยนะ ถ้าปีไหน ผู้เล่นบิ๊กเนมย้ายทีมกันเยอะ กระแสก็คึกคัก แต่ถ้าปีไหนตลาดซื้อ-ขาย ไม่คึกคัก กระแสลีกก็เงียบเหงาตาม" ปิติศักดิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์ นักข่าวจาก Goal Thailand กล่าวถึงพลังของข่าวการซื้อ-ขาย 

ขณะที่ สะสม พบประเสริฐ เฮดโค้ช ชลบุรี เอฟซี แสดงความเห็นว่า ข่าวลือพวกนี้ บางครั้งช่วยเป็นการกระตุ้นทางอ้อมให้การเจรจาตกลงกับระหว่างสโมสรกับทีมได้ข้อสรุปเร็วขึ้น

Photo : Chonburi Football Club

"ถ้ามองในมุมการทำธุรกิจ ข่าวลือเหล่านี้ อาจช่วยเร่งให้ดีลสำเร็จหรือเลิกรากันไปเร็วขึ้น เช่น ตัวเลขค่าเหนื่อยยังตกลงกันไม่ได้ ไม่ถึงยอดที่ต้องการ พอมีข่าวหลุดออกไปว่า นักเตะคนนี้ ค่าเหนื่อยประมาณนี้ ก็อาจทำให้ทีมอื่นหันมาสนใจ เพราะเห็นตัวเลขนี้แล้วสู้ไหว อยากร่วมวงแย่งตัวด้วย"

 

"หรือบางทีสโมสรอาจเจรจากับผู้เล่นคนนี้อยู่ แต่ยังหาบทสรุปไม่ได้ พอมีข่าวลือว่ามีทีมอื่น ๆ สนใจด้วย สโมสรที่คุยอยู่ ก็อาจต้องเร่งสปีดเพื่อปิดดีลให้ลงได้ อะไรแบบนี้ก็มี"

ในมุมมองของคนทำงานเกี่ยวข้องกับการซื้อ-ขายนักเตะโดยตรง เผดิมภาพย์ มาศวาณิช เอเยนต์จาก Lequipe 365 ที่ดูแลนักเตะอย่าง วิกเตอร์ คาร์โดโซ่, เฉลิมพงษ์ เกิดแก้ว, ศฤงคาร พรมสุภะ, รังสรรค์ วิรุฬห์ศรี ฯลฯ ชี้ว่า บางครั้งข่าวลือมีประโยชน์ในแง่ของการช่วยเพิ่มรับรู้ และทำให้เกิดความสนใจในตัวนักเตะมากขึ้น โดยเฉพาะผู้เล่นในลีกล่าง ที่สื่ออาจไม่ค่อยได้นำเสนอ

Photo : Muangthong United FC

"การโปรโมตว่าผู้เล่นคนหนึ่งเล่นดี น่าจับตามอง แน่นอนมันช่วยสร้างมูลค่าให้กับตัวผู้เล่นคนนั้นด้วย ยิ่งลีกล่าง หรือนักเตะที่อาจไม่ค่อยมีชื่อเสียง หากเขาถูกสื่อนำมาพูดถึง ผ่านข้อมูลจากเอเยนต์ มันย่อมช่วยเพิ่มมูลค่าในตัวเขาอยู่แล้ว"

"แต่สิ่งสำคัญคือ นักบอลคนนั้นต้องมีคุณภาพก่อน ถ้านักบอลคนนั้นฝีเท้าไม่ดี ต่อให้เราไปขอร้องให้สื่อออกข่าวสัก 10 สำนัก ก็ไม่มีคนสนใจอยู่ดี ไม่มีใครจดจำ เพราะนักเตะคนนั้นไม่ใช่ของจริง ดังนั้น เอเยนต์ก็ต้องมาคิดว่านักเตะคนไหนที่น่าจะช่วยผลักดันให้มีพื้นที่ออกหน้าสื่อ"

"ส่วนตัว ผมคิดว่าเอเยนต์ ควรพูดให้น้อยที่สุด เพราะสโมสรก็ล้วนต้องการให้การเจรจาเป็นเรื่องความลับ บางครั้งถ้าเราพูดเยอะไป ผลเสียอาจมีมากกว่าผลดี" เผดิมภาพย์ เอเยนต์จาก Lequipe 365 เผย 

 

ยุคสมัยเปลี่ยน ความน่าเชื่อสำคัญ 

ในอดีต สื่อมวลชน มีบทบาทอย่างมากต่อการจุดประเด็นหรือสร้างข่าวลือเรื่องการซื้อขายผู้เล่น ทั้ง หนังสือพิมพ์, นิตยสาร, วิทยุ ดังนั้นนักข่าวในองค์กรสื่อฯ จึงค่อนข้างมีความสนิทสนมกับแหล่งข่าวใกล้ชิดที่เข้าถึงเบื้องลึกเบื้องหลังการย้ายทีม 

ยุคปัจจุบัน หลายอย่างเปลี่ยนไปสิ้นเชิง การกำเนิดของสื่อใหม่ที่เป็นดิจิตัล ได้ทำลายวิธีการแบบเดิม ประกอบกับผู้บริโภคหันมาติดตามข่าวสาร ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น 

นั่นจึงทำให้ "ข่าวลือ" สามารถถูกปั่นขึ้นได้ทั้งจาก สื่อ, ตัวนักข่าว, แฟนบอล หรือแม้กระทั่งคนที่ไม่เปิดเผยตัวตน มาเป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารถึงแฟนบอลโดยตรง แม้กระทั่งบางครั้ง เอเยนต์ อาจให้ข่าวของนักเตะคนเดียวกันกับสื่อ 2 รายไม่เหมือนกัน เพื่อหวังผลที่แตกต่างกันออกไปก็เป็นได้

Photo : Mundo Deportivo

"ทุกวันนี้คนที่ไม่ได้ทำอาชีพสื่อ ก็สามารถปล่อยข่าวลือได้ แฟนบอลก็เปิดเพจเอง เขาอาจได้ข้อมูลมาจากการรู้จักกับนักบอล, ใกล้ชิดกับคนในสโมสร หรือไปดูที่สนามซ้อมแล้วเห็น นักเตะคนใหม่ ในทางหนึ่งมันกระตุ้นให้สื่อต้องทำงานให้มากขึ้น เพราะคนอ่านสามารถเลือกติดตามได้หลากหลายช่องทาง"

"ความน่าเชื่อถือจึงเป็นเรื่องสำคัญ และพยายามหาจุดตรงกลาง แน่นอนว่าอาชีพนักข่าว ย่อมอยากนำเสนอข่าวที่ถูกต้อง และรวดเร็วถึงมือคนอ่าน แต่บางครั้งถ้าเราได้ยินอะไรมาแล้ว รีบตีข่าวเลย ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสโมสรและนักเตะ ถ้าสมมติดีลนี้ยังไม่เสร็จสิ้น แล้วข่าวลือที่เราปล่อยไปไม่เป็นจริง โอเคเราอาจได้ยอดคนอ่านข่าวนั้นเยอะ แต่มันจะผลกระทบระยะยาวถึงความน่าเชื่อถือ"

Photo : Buriram United

ปิติศักดิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์ ผู้สื่อข่าว Goal Thailand ทิ้งท้ายว่า ความถูกต้อง, แม่นยำ เป็นปัจจัยหลักที่ช่วยส่งเสริมให้ ข่าวลือที่ปล่อยออกไปมีน้ำหนัก เป็นที่น่าเชื่อถือ และไม่ทำให้เกิดข้อขัดแย้งในภายหลัง  

นี่คือเรื่องราวเบื้องหลังกลยุทธ์การปล่อยข่าวลือซื้อขาย-นักเตะยุคใหม่ ที่ต่างมีจุดประสงค์ ความต้องการ และเหตุผลในการเผยแพร่แตกต่างกันออกไป 

Photo : J League

แม้ข่าวลักษณะนี้ อาจมีส่วนช่วยให้ "แฟนบอล" ได้ล่วงรู้เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต, "นักเตะ" ได้รับความสนใจมีมูลค่ามากขึ้น, "เอเยนต์" ได้ผลพลอยได้ หากข่าวเหล่านั้น ช่วยกระตุ้นให้มีการย้ายทีมจริง ? "สื่อ-นักข่าว" ได้ยอดวิวและคนติดตามเพิ่มขึ้น 

แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการชูเสื้อประกาศ หรือประกาศอย่างเป็นทางการจากสโมสร การบริโภคข่าวสารประเภทนี้ ก็ยังควรต้องใช้วิจารณญาณ และตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนปักใจเชื่ออยู่ดี 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook