เจ็บ - ปวด - รวด - ร้าว : หลังม่านความสำเร็จบนคราบน้ำตาของนักกีฬาเกาหลีใต้

เจ็บ - ปวด - รวด - ร้าว : หลังม่านความสำเร็จบนคราบน้ำตาของนักกีฬาเกาหลีใต้

เจ็บ - ปวด - รวด - ร้าว : หลังม่านความสำเร็จบนคราบน้ำตาของนักกีฬาเกาหลีใต้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เกาหลีใต้ คือหนึ่งในชาติมหาอำนาจด้านกีฬาของทวีปเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นผลงานในการแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ ที่เป็นแถวหน้าของภูมิภาคทุก 4 ปี หรือการส่งออกนักกีฬาไปเล่นในลีกระดับโลก ทั้งเบสบอล และฟุตบอล อย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ชีวิตการเป็นนักกีฬาของชาวเกาหลีใต้ไม่ได้มีแต่เรื่องที่สวยงาม เพราะฉากหลังพวกเขาต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย ทั้งการฝึกซ้อมอย่างหนัก, ความเครียด, ความกดดัน, ความคาดหวัง ไปจนถึงการถูกบูลลี่ ซึ่งสร้างความเจ็บปวดมากมาย ให้กับนักกีฬาเกาหลีใต้ ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ซึ่งเลยเถิดจนไปสู่การเสียชีวิตมาแล้ว

ซ้อมหนักไม่มีพัก

เกาหลีใต้คือหนึ่งในประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำงานหนัก ซึ่งเป็นอิทธิพลมาจากปรัชญาของ ขงจื่อ นักปรัชญาชาวจีน ที่แพร่กระจายแนวคิดไปทั่วพื้นที่เอเชียตะวันออก

สำหรับชาวเกาหลีใต้ การทำงานหนักเพื่อให้ประสบความสำเร็จ คือความคิดที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของพวกเขามาตั้งแต่กำเนิด 

ตั้งแต่ยุคอดีต ชาวเกาหลีใต้ทำงานหนักมาตั้งแต่สมัยยุคสร้างชาติ หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเขาทำงานอย่างหนักหามรุ่งหามค่ำแทบไม่มีเวลานอน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะในยุคนั้นเกาหลีใต้ถือเป็นประเทศที่ยากจนมาก ไม่ต่างกับประเทศในทวีปแอฟริกา

จากประเทศที่ยากจนรั้งอันดับท้าย ๆ ของเอเชีย กลายเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจ เกาหลีใต้ถือคติ ถ้าตั้งใจทำในเรื่องใด พวกเขาไม่แพ้ชาติใดในโลก ด้วยเหตุนี้ชาวเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร ต้องทุ่มเทให้กับงาน รวมถึงนักกีฬาด้วยเช่นกัน

 

สำหรับการเป็นนักกีฬา ไม่มีวิธีไหนที่จะเป็นการทุ่มเทให้กับงาน และส่งผลดีได้มากไปกว่าการฝึกซ้อม ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ชายหรือหญิง ขอแค่พวกเขาเป็นนักกีฬาชาวเกาหลีใต้ การซ้อมหนักเลือดตาแทบกระเด็น คือ สิ่งที่พวกเขาหลีกเลี่ยงไม่ได้

ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ซน ฮึงมิน ยอดนักฟุตบอลชาวเกาหลีใต้ ที่กว่าจะประสบความสำเร็จโด่งดังไปทั่วโลกแบบทุกวันนี้ เขาต้องฝึกซ้อมอย่างหนักภายใต้การควบคุมสุดโหดโดยคุณพ่อของเขา 

ซน ฮึงมิน ต้องซ้อมฟุตบอลอย่างหนัก 3-4 ชั่วโมงต่อวัน ตั้งแต่ช่วงอายุยังไม่ขึ้นเลขสองหลัก อดทนผ่านบททดสอบที่เข้มงวด ห้ามแสดงอาการเหนื่อยล้า อ่อนแอ ยอมแพ้ออกมาให้เห็น แม้จะเป็นแค่เด็กคนหนึ่งก็ตาม

ไม่ใช่แค่ ซน ฮึงมิน ที่ต้องฝึกซ้อมกับการเล่นกีฬาอย่างเข้มงวด เยี่ยงกับเป็นทหารตั้งแต่วัยเด็ก แต่เยาวชนชาวเกาหลีใต้ที่มีความฝันอยากเป็นนักกีฬา การซ้อมหนักคือเรื่องที่พวกเขาต้องยอมรับ

 

นอกจากนี้ เด็กเกาหลีใต้หลายคนในปัจจุบัน ต้องยอมเสียสละชีวิตวัยเด็ก ไม่มีโอกาสหาความสุข ผ่านการเล่นเกม, ออกไปเที่ยวกับเพื่อน หรือแม้กระทั่งเรียนหนังสือ เพื่อโฟกัสแค่การฝึกซ้อม กับการพัฒนาความสามารถ ต่อการเติบโตเป็นนักกีฬาอาชีพ

"เกาหลีใต้ไม่เหมือนประเทศอื่น เด็กที่นี่ไม่ได้เล่นกีฬาเพื่อความสนุกเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อคุณเริ่มเล่น นั่น คือ การฝึกฝนเพื่อเป็นนักกีฬาอาชีพไปในตัว"

"ถ้าคุณจะเอาจริงเอาจัง เด็กต้องออกจากโรงเรียน เพื่อใช้เวลาทั้งหมดกับการฝึกซ้อม ตั้งแต่เช้าจนถึงดึก" ชุง ฮีจุน อาจารย์มหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาชาวเกาหลีใต้ กล่าว

ผลเสียจากความเครียด และกดดัน

การซ้อมหนักของนักกีฬาเกาหลีใต้ เป็นเรื่องที่น่าแปลกสำหรับหลายชาติ โดยเฉพาะโลกตะวันตกที่มองว่าการฝึกซ้อมเกินตัวของคนเกาหลีใต้ อาจจะส่งผลเสียให้กับนักกีฬามากกว่า เช่น เรื่องอาการบาดเจ็บ ที่อาจส่งผลให้เส้นทางของนักกีฬาหลายคนต้องยุติลงก่อนเวลาอันควร

 

การซ้อมกีฬาหนักตั้งแต่เด็ก นอกจากจะมีความเสี่ยงหยุดอาชีพนักกีฬาของใครหลายคน ก่อนจะถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม ยังนำมาซึ่งความเครียด และความกดดันอย่างหนักแก่เหล่านักกีฬาชาวเกาหลีใต้

สำหรับคนเกาหลีใต้ การทำงานหนักอย่างเดียวนั้นไม่พอ แต่ต้องมีผลลัพธ์ที่ดีด้วยเช่นกัน สำหรับนักกีฬานอกจากจะต้องซ้อมหนักเลือดตากระเด็น ผลงานของพวกเขาต้องแสดงถึงการพัฒนาอยู่เสมอ

หากนักกีฬาชาวเกาหลีใต้ไม่สามารถแสดงถึงการพัฒนาในการฝึกซ้อม พวกเขาหนีไม่พ้นที่จะโดนโค้ช หรือรุ่นพี่ที่เก่งกว่า คอยดุด่าต่อว่าอย่างหนัก หรือการลงโทษต่าง ๆ ไปจนถึงการตบหน้า ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นการทำร้ายร่างกาย ก็สามารถเกิดขึ้นได้ 

เนื่องจากเกาหลีใต้ยังเป็นสังคมที่ระบบอำนาจนิยมมีอิทธิพลสูง ทำให้คนที่มีอำนาจต่ำกว่า ไม่มีสิทธิ์เถียงหรือตอบโต้การใช้อำนาจของผู้ที่มีอำนาจสูงกว่าได้เลย หรือในแง่ของนักกีฬา หมายถึงพวกเขาไม่มีสิทธิ์จะโต้แย้งกับโค้ช หากทำผลงานได้ไม่ดีทั้งในและนอกสนาม พวกเขาต้องก้มหน้ารับการลงโทษจากโค้ชสถานเดียว

 

ขณะเดียวกันชาวเกาหลีใต้ มีความยึดมั่นในแนวคิดแบบ No Pain No Gain หรือ ทองแท้ไม่แพ้ไฟ ที่เชื่อว่านักกีฬาที่เก่งจริงจะต้องก้าวข้ามผ่านบทเรียนที่แสนสาหัสทั้งร่างกาย และจิตใจ เพื่อให้พวกเขาเติบโตเป็นสุดยอดนักกีฬา ส่วนคนที่ยอมแพ้กลางทางถือว่าดีไม่พอที่จะเป็นนักกีฬาอาชีพ


Photo : www.koreaherald.com

ด้วยเหตุนี้ การบูลลี่ หรือการรังแกผู้ที่อ่อนแอกว่า จึงเกิดขึ้นบ่อยครั้งในวงการกีฬาเกาหลีใต้ ในความเป็นจริงแล้ว เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีปัญหาอย่างมาก กับการลบพฤติกรรมบูลลี่ให้หายไปในสังคม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่วัยรุ่นของประเทศต้องเผชิญ ทั้งจากโค้ช หรือครูผู้ฝึกสอน, รุ่นพี่ ไปจนถึงเพื่อนร่วมรุ่น

สำหรับวงการกีฬาเกาหลีใต้ การบูลลี่ถือเป็นปัญหาคลาสสิคมาโดยตลอด เพียงแต่ด้วยความคุ้นชินของคนเกาหลีใต้ และการปิดตามองข้ามปัญหาของคนในสังคม ที่มองว่าการบูลลี่เป็นหนึ่งในวิธีที่จะทำให้นักกีฬาแข็งแกร่งขึ้น ทำให้การรังแกระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ยังคงมีอยู่ต่อไปในเกาหลีใต้

ในแง่หนึ่ง วิธีการปั้นนักกีฬาแบบสุดโหดของเกาหลีใต้ ทำให้พวกเขาเป็นเลิศในหลายเกมการแข่งขัน ทั้งเบสบอล, ฟุตบอล, สกี, เทควันโด, ยูโด หรือมวยปล้ำ แต่อีกด้านหนึ่ง วิธีการอันเข้มงวด บีบเค้นสร้างความยากลำบาก และทรมานไปถึงจิตใจ ส่งผลเสียต่อนักกีฬาหลายคนอย่างน่าใจหาย

 

มนุษย์บางคนไม่สามารถรับมือ กับความกดดัน การถูกโจมตีที่คอยถาโถมเข้ามา รวมถึงการบูลลี่ในรูปแบบต่าง ๆ และแทนที่จะกลายเป็นการแก้ปัญหา ช่วยพัฒนาฝีมือการเล่นกีฬาให้ดีขึ้น กลายเป็นการทำร้าย สร้างบาดแผลในจิตใจ และส่งผลเสียต่อการเล่นกีฬา จนหลายคนไม่สามารถกลับมามีความสุข กับกีฬาที่ตัวเองรักได้อีก

ย้อนไปในปี 2018 กับการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว ที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ ณ เมืองพยองชาง สองนักกีฬาไอซ์สเก็ต คิม โบรัม และ ปาร์ค จิอู ได้กล่าวโทษ นอ โซนยอง ว่าเป็นต้นเหตุของความพ่ายแพ้ในการแข่งขัน และตกรอบหมดสิทธิ์ลุ้นเหรียญรางวัล แต่เมื่อเวลาผ่านไป ชาวเน็ตเกาหลีได้ขุดค้นเรื่องราว และคดีกลับพลิกไปอีกด้าน

กลายเป็นนักกีฬาทั้งสองราย เป็นคนที่คอยกลั่นแกล้ง นอ โซนยอง มาโดยตลอด จนนำมาซึ่งการลงชื่อของชาวเกาหลี 350,000 คน ให้แบนนักกีฬาทั้งสองราย จากการเป็นตัวแทนของชาติ ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น จากปัญหาการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นจริง ในวงการกีฬาเกาหลีใต้

อย่างไรก็ตาม การบูลลี่ในสังคมกีฬาเกาหลีใต้ไม่เคยหายไปไหน และเรื่องราวสามารถแย่ไปมากกว่านั้น ดังเช่นกรณีของ ชเว ซุคฮยอน นักไตรกีฬาที่เสียชีวิต เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจากการฆ่าตัวตาย เพราะไม่สามารถรับแรงกดดัน และการบูลลี่ ด้วยวิธีทำร้ายร่างกาย จากทีมโค้ชของเธอ


Photo : en.triatlonnoticias.com

พ่อของ ชเว ซุคฮยอน ได้กล่าวว่า หลายครั้งที่ลูกสาวของเธอถูกทำร้าย เพียงเพราะหมดแรงในการฝึกซ้อม หรือทำผลงานได้ไม่ตามเป้าหมาย น่าเสียดายที่คนรอบตัวของเธอเลือกจะปิดตากับปัญหาที่เกิดขึ้น จนนำไปสู่เรื่องเศร้าในที่สุด

กรณีของ ชเว ซุคฮยอน เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเท่านั้น กับการฝึกซ้อมที่โหดเกินไป รวมถึงการบูลลี่ ที่นักกีฬาเกาหลีใต้บางคนต้องเผชิญ 

แม้เกาหลีใต้จะสร้างนักกีฬาระดับทีมชาติขึ้นมาได้มากมาย ผ่านวิธีที่เข้มงวดทั้งร่างกาย และจิตใจ แต่สุดท้ายทุกอย่างไม่มีความหมาย หากว่านักกีฬาคนนั้นต้องจากโลกใบนี้ไป เพราะผลที่ตามมาจากการเป็นนักกีฬา ดังเช่นกรณีของ ชเว ซุคฮยอน

หน้าตา และความอับอาย 

สำหรับเกาหลีใต้ กีฬาคือหนึ่งในเครื่องมือประชาสัมพันธ์ประเทศ ไม่ต่างจากวงการดนตรี หรือภาพยนตร์ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา พวกเขาได้ใช้เกมการแข่งขันเป็นเครื่องมือแสดงความยิ่งใหญ่ของประเทศอยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก เกมส์ 1988 และเจ้าภาพร่วมฟุตบอลโลก กับญี่ปุ่น ในปี 2002

การที่นักกีฬาทำผลงานในฐานะตัวแทนของชาติได้อย่างยอดเยี่ยม คือความสำเร็จมหาศาลของพวกเขา เพราะนอกจากชื่อเสียงที่ได้รับ พวกเขาจะได้รับการเชิดชูเป็นฮีโร่ของประเทศ และมีสิทธิพิเศษแตกต่างจากคนอื่น เช่น ได้รับสิทธิ์ลดหย่อนการเกณฑ์ทหาร สำหรับนักกีฬาชาย จาก 2 ปี เหลือเพียงการฝึกพื้นฐาน 4 สัปดาห์เท่านั้น

ในทางตรงกันข้าม หากนักกีฬาชาวเกาหลีใต้ทำผลงานได้อย่างน่าผิดหวัง พวกเขาต้องพบกับการโจมตีจากภาคประชาชนอย่างมหาศาล

เป็นที่รู้กันดีในสังคมเกาหลีใต้ ว่ารัฐบาลของพวกเขาได้ทุ่มงบประมาณจำนวนไม่น้อย ไปกับการพัฒนาคุณภาพด้านกีฬาของประเทศ เพื่อสนับสนุนให้นักกีฬาของชาติ แสดงความเป็นเลิศเหนือประเทศอื่น และการลงทุนนี้ทำให้ประชาชนชาวเกาหลี คาดหวังผลงานที่ดีจากนักกีฬาทีมชาติอยู่เสมอ

ดังนั้น หากนักกีฬาทำผลงานได้ไม่ตามเป้า พวกเขาจะถูกโจมตีอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นการไปโห่ไล่ที่สนามบิน ไปจนถึงโจมตีอย่างเสียหายผ่านโลกอินเทอร์เน็ต

ยกตัวอย่างเช่นในฟุตบอลโลก 2018 แม้ทีมชาติเกาหลีใต้ จะสามารถเอาชนะอดีตแชมป์โลกอย่างเยอรมันได้อย่างสวยงาม แต่ด้วยผลงานที่ตกรอบแรก ทำให้ขุนพล เดอะ ไทเกอร์ส ถูกโจมตีอย่างหนักจากชาวเกาหลีใต้ จนเกิดเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า ด้วยผลงานการเอาชนะทัพอินทรีเหล็ก นักบอลทีมชาติเกาหลีใต้สมควรจะถูกต่อว่าเรื่องผลงานที่ล้มเหลวหรือไม่ ?

สุดท้ายแล้ว นักกีฬาชาวเกาหลีใต้ยังต้องเผชิญความคาดหวังมหาศาลจากแฟน ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นนักกีฬาทีมชาติ ซึ่งไม่มีที่ว่างให้กับความผิดพลาดแม้แต่นิดเดียว

ชีวิตการเป็นนักกีฬาของคนเกาหลีใต้จึงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ต้องเผชิญหน้ากับบททดสอบมากมาย ทั้งการฝึกซ้อมอย่างหนัก แรงกดดัน และความเครียด ที่ถาโถมเข้าใส่ตลอดเวลา ผ่านการฝึกซ้อมที่เข้มงวด และจริงจัง ไปจนถึงความคาดหวังจากสาธารณชน

แนวทางของเกาหลีใต้เป็นเหมือนดาบสองคม ในแง่หนึ่งได้ช่วยสร้างนักกีฬาระดับโลกขึ้นมามากมาย และฝากผลงานให้แฟนกีฬาทั่วโลกได้จดจำ แต่อีกด้านได้ทำลายความฝัน ความสุขในการเล่นกีฬาของใครหลายคนไปตลอดกาล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook