ลูกหวายพลัดถิ่น : ชีวิตแรงงานไทยในไต้หวันที่ใช้ตะกร้อเพื่อระลึกถึงบ้านเกิด

ลูกหวายพลัดถิ่น : ชีวิตแรงงานไทยในไต้หวันที่ใช้ตะกร้อเพื่อระลึกถึงบ้านเกิด

ลูกหวายพลัดถิ่น : ชีวิตแรงงานไทยในไต้หวันที่ใช้ตะกร้อเพื่อระลึกถึงบ้านเกิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ผมว่าตะกร้อทำให้เราหายคิดถึงบ้านครับ ทุกครั้งที่ผมเล่นตะกร้อผมเหมือนได้อยู่บ้าน เจอคนไทย คุยกับคนไทย ไปแข่งที่ต่าง ๆ ก็มานั่งทำอาหารกินกัน พูดคุยกันเหมือนอยู่ไทย"

ตะกร้อ เป็นกีฬาประเภทที่ผูกพันกับชนชั้นแรงงานในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราสามารถเห็นหนุ่มโรงงานเล่นตะกร้อยามเย็น เพื่อผ่อนคลายจากงานที่เหน็ดเหนื่อย ซึ่งทำมาตั้งแต่เช้าจรดเย็น ภาพที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก

สำหรับแรงงานไทย บางครั้งการพลัดถิ่นจากบ้านเกิด เพื่อหางานทำเลี้ยงชีวิตตัวเองและครอบครัว ไม่ได้หยุดที่การจากบ้านมาทำงานในเมืองใหญ่ แต่รวมถึงการเดินทางไปต่างแดน เพื่อหาโอกาสในชีวิตที่ดีกว่าอยู่ที่บ้านเกิด

 

แต่ความผูกพันระหว่าง ตะกร้อ กับแรงงานไทยไม่มีพรมแดน ... แม้แต่บนดินแดนที่อุดมไปด้วยแรงงานหลากสัญชาติอย่าง ไต้หวัน "กีฬาตะกร้อ" ได้กลายเป็นจุดศูนย์กลางในการพบปะพี่น้องเพื่อนร่วมชาติและสร้างสังคมของคนไทยที่ผูกพันแน่นแฟ้นขึ้นมา

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงตามคำบอกเล่าของ วีระ สำราญใจ แรงงานไทยจากจังหวัดสุรินทร์ ผู้ย้ายไปทำงานอยู่ในโรงงานผลิตยางที่ประเทศไต้หวัน จะมาถ่ายเรื่องราวนี้

แรงงาน / กีฬา / ไต้หวัน 

ผมเป็นคนจังหวัดสุรินทร์ครับ มาทำงานที่ไต้หวันก็ประมาณ 10 ปีแล้ว เริ่มจากเป็นพนักงานในโรงงาน ปัจจุบันทำงานอยู่ในโรงงานผลิตยาง ที่ไต้หวันมีคนไทยมาทำงานเยอะ ส่วนใหญ่มาจากภาคอีสานแบบผม คนอุดรธานี คนขอนแก่น มาทำกันเยอะ

 

เหตุผลที่เลือกมาทำงานไต้หวัน เพราะแรงงานที่นี่ได้เงินดีครับ มีเงินส่งกลับไปให้ที่บ้าน รัฐบาลไต้หวันเขาอนุญาตให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานได้ 12 ปี ไต้หวันจึงมีแรงงานหลายชาติครับ ไม่ใช่แค่มีคนไทย พวกมาเลเซีย เวียดนามก็มี

ชีวิตแรงงานที่นี่ก็เหมือนกับที่ไทยครับ ทำงานแต่เช้า เลิกงานห้าโมง ถ้าไม่มีโอที พอวันไหนไม่มีโอทีมันก็จะว่างครับ พอดีตรงโรงงานเขาก็มีพื้นที่ว่างอยู่ ผมก็เอาบริเวณนั้นมาทำลานเล่นตะกร้อกับเพื่อนที่เป็นแรงงานคนไทยเหมือนกัน

ผมเล่นตะกร้อมาตั้งแต่ตอนอยู่ไทย เพื่อนคนอื่นก็เหมือนกัน พอมาอยู่ที่นี่บางทีหลังเลิกงานมันก็ว่าง ก็มารวมกลุ่มกันเล่นตะกร้อ ตอนแรกก็เตะเล่น ๆ ไม่ได้จริงอะไร เหมือนหาอะไรทำ ออกกำลังกาย

เท่าที่ผมรู้ในไต้หวัน ส่วนใหญ่คนชนชั้นแรงงาน จะชอบออกกำลังกายหลังเลิกงาน ถ้าเป็นคนไทย ส่วนใหญ่จะเล่นกันทุกโรงงาน บางโรงงานเล่นตะกร้อ บางโรงงานเล่นฟุตบอล อย่างคนประเทศอื่นเขาก็เล่นเหมือนกัน เช่น เวียดนามจะเล่นฟุตบอล กับวอลเลย์บอล ส่วนฟิลิปปินส์เล่นบาสเกตบอล 

เถ้าแก่ที่นี่เขาค่อนข้างใจดี อย่างของโรงงานผมก็สนับสนุนให้ลูกจ้างเล่นกีฬาได้เต็มที่ อนุญาตใช้พื้นที่ว่างของโรงงานได้เลย ตอนหลังเถ้าแก่ก็ออกตังค์มาติดไฟให้ด้วย พวกผมซื้อพวกไฟ, อุปกรณ์เล่นตะกร้อมาช่วย ๆ กัน เอาไว้เล่นหลังเลิกงาน โรงงานอื่นก็มีเหมือนกัน ทุกวันนี้เวลาแข่งตะกร้อ บางทีก็ตระเวนแข่งตามโรงงานนี่แหละ

 

ไต้หวันเป็นสังคมที่เปิดกว้าง แบบว่าเราสามารถไปเตะตะกร้อที่ไหนก็ได้ อย่างสวนสาธารณะมีที่ว่าง ผมกับเพื่อนก็ไปตีเส้น เอาเสาเอาเน็ตไปวางเล่นตะกร้อ ก็เล่นได้เลย พวกผมเล่น ๆ อยู่ บางทีมีคนไทยด้วยกันเดินผ่าน มาขอแจมด้วยก็มี 

บางทีเราก็ขับรถไปไกล 10 โล 20 โล ไปหาที่เล่นตะกร้อ มีถนนว่าง ๆ เราก็เล่น หรือไปเจอสนามบาสเก่า ๆ เขาไม่ใช้แล้ว ผมก็เปลี่ยนเอามาเป็นสนามตะกร้อแทน สนามเป็นหญ้าหรือเป็นโคลนก็เตะได้หมด

แต่ว่าสมัยก่อน ไม่ได้เป็นเหมือนตอนนี้ สมัยก่อนคนจะเตะโรงงานใครโรงงานมัน หรือไม่ก็เล่นแค่ในโรงงานละแวกที่รู้จักกัน ไม่ได้มีการรวมกลุ่มนัดกันเตะ แข่งแบบจริงจังเหมือนทุกวันนี้ จนกระทั่งผมไปไลฟ์เฟซบุ๊ก ติดตามตะกร้อแรงงานไทยในไต้หวัน แอดมาเลยจ้า ประมาณปี สองปีก่อน ผมอยากไลฟ์สดเฉย ๆ เอาไว้ให้คนอื่นดู เผื่อให้คนไทยจะที่ไต้หวัน หรือคนทางบ้านเราได้ดูว่า เรามีเล่นตะกร้อนะ

 

พอผมไลฟ์สดก็มีคนมาดูเยอะ พวกแรงงานที่เขาดู เขาก็อยากมาเตะด้วย มาแข่งด้วย กลุ่มมันก็ขยายตัวไปเรื่อย ๆ 

ถ้าถามว่าทุกวันนี้แรงงานที่ไต้หวันมารวมตัวกันเตะตะกร้อได้ยังไง ผมว่าเป็นเพราะไลฟ์สดในเฟซบุ๊กนี่แหละ

ตะกร้อชิงรางวัล 

พอพวกเรารู้จักกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็หันมาเตะแข่งชิงรางวัลกันครับ คือแบ่งเป็นสองประเภท หนึ่งคือจัดกันเอง กับฝั่งรัฐบาลเป็นคนจัด

ถ้าจัดกันเอง ก็จะเหมือนจัดแข่งขันตามโรงงานครับ คือแต่ละโรงงานจะเป็นเจ้าภาพจัดงานแข่ง มีค่าสมัครแล้วก็ไปชิงรางวัล โรงงานไหนเป็นคนจัดก็ไปแข่งที่โรงงานนั้น อย่างโรงงานผมก็มีจัดเป็นเจ้าภาพเหมือนกันครับ เฉลี่ยก็ไปแข่งกันประมาณเดือนละครั้ง บางเดือนก็สองครั้ง

 

ส่วนที่ทางรัฐจัดก็มีหลายรายการ มีทั้งของรัฐบาลไต้หวันที่เขาจัด เพราะคนไต้หวันเขาชอบตะกร้อคนไทยครับ เขามองว่าคนไทยเก่งตะกร้อ เขาก็อยากจะเรียนรู้จากคนไทย บางทีเขาก็ส่งนักตะกร้อไต้หวันมาเล่นกับคนไทย เล่นที่โรงงานเลยครับ เพราะคนไต้หวันเขาไม่เคยเตะตะกร้อกับสนามปูน เขาเล่นแต่สนามดี ๆ แต่คนไทยเตะได้หมด

ทุกปีรัฐบาลไต้หวันเขาก็มีจัดการแข่งขันชิงรางวัล ทีมชนะได้ 3 หมื่นบาท รอบแรกเขาจะให้ทีมตะกร้อคนไทยมาสมัครแข่งกัน เอา 6 ทีมเข้ารอบ ไปเจอทีมตะกร้อไต้หวันอีก 2 ทีม แข่งกันทีมไหนชนะก็ได้เงินไป ทางไต้หวันเขาอยากให้คนไต้หวันได้เล่นกับคนไทยเยอะ ๆ จะได้เก่งขึ้น

แล้วก็มีรายการที่จัดโดยสถานฑูตไทย อันนี้ก็จัดทุกปีเหมือนกัน แล้วก็มีการแข่งขันของพวกสถานธรรมในไต้หวัน เขาชอบจัดชิงรางวัลให้คนไทยไปเล่น เพราะจะได้เผยแผ่ศาสนาให้คนไทย ให้เราไปทำกิจกรรมในนั้น แต่มันก็ดีครับ มีแข่งบ่อยประมาณ 2 เดือนครั้ง ทางสถานธรรมก็เปิดให้คนไทยมาใช้พื้นที่เล่นตะกร้อได้ฟรี

 

จริง ๆ การแข่งขันตะกร้อก็มีเยอะตลอดทั้งปี เหมือนกับว่าที่เล่นหลังเลิกงานก็เปลี่ยนมาเป็นการซ้อมเล่นตะกร้อแล้วครับ 

อย่างผมนี่เลิกงาน 5 โมงก็เล่นเลยครับ เตะถึงทุ่ม หรือสองทุ่ม ถ้ามีคนจากโรงงานอื่นมาเตะด้วยก็เลิกดึกกว่านั้น วันไหนไม่มีโอทีก็ซ้อมทุกวันครับ 

ส่วนวัน เสาร์-อาทิตย์ จะโพสต์ในเฟซรวมกลุ่มกัน แล้วก็ไปเตะนอกโรงงาน บางทีช่วงสุดสัปดาห์ก็นัดกันแข่งเตะเดิมพัน รวมทีมมาแข่งกัน ตั้งกติกาจะแข่งแบบไหน แล้วก็แข่งกันเลย เล่นได้ทุกที่ ผมว่าสนุกมากครับเตะตะกร้อ บางคนเขายังเตะไม่เป็น เขาก็อยากมาเล่นด้วย มาเตะแข่งกัน

ทุกวันนี้ผู้หญิงก็มาเล่นด้วยครับ บางทีมีจัดการแข่งขันของผู้หญิง ถึงคนจะไม่ได้เยอะมาก แต่ผมว่าผู้หญิงไทยที่อยู่ที่นี่เขาก็สนใจกันเยอะ

ผมมองว่าสังคมตะกร้อมันกำลังโตนะ ที่ไต้หวันคนไต้หวันเขานิยมขึ้นเรื่อย ๆ 

ช่วงหลังผลงานทีมชาติเขาก็ดีขึ้น เริ่มมีตัวดัง ๆ ไปแข่ง แต่เวลาคนไทยเล่น ก็ยังเล่นในหมู่คนไทยกันเองเป็นหลัก ไม่ได้ไปแข่งกับคนไต้หวัน หรือคนชาติอื่น ยกเว้นตอนไปแข่งรายการของรัฐบาลไต้หวัน

ลูกหวายเชื่อมโยงบ้านเกิด

ทุกวันนี้ถ้าถามว่าทำไมแรงงานไทยถึงเล่นตะกร้อ คงเพราะมันสนุกครับ อีกอย่างคือมันเป็นช่องทางหาเงินด้วย มันได้ทั้งสองอย่าง ไปแข่งขันกันถ้าชนะได้ทั้งเงิน ได้ทั้งความสุข

แต่เอาจริง ๆ ผมว่าตะกร้อทำให้เราหายคิดถึงบ้านครับ ทุกครั้งที่ผมเล่นตะกร้อผมเหมือนได้อยู่บ้าน เจอคนไทย คุยกับคนไทย ไปแข่งที่ต่าง ๆ ก็มานั่งทำอาหารกินกัน พูดคุยกันเหมือนอยู่ไทย

ผมไม่ได้กลับบ้านมานานเหมือนกัน ตั้งแต่มีโรคโควิด-19 ก็ไม่ได้กลับบ้าน เพราะแรงงานมีเวลาลาหยุดกลับบ้านแค่ประมาณเดือนเดียว จะบินกลับไทยไปกักตัว มันก็ไม่คุ้ม ไม่รู้จะกลับไปทำไม

แต่ผมยังสัมผัสได้ถึงสังคมไทยที่อยู่ใกล้ตัว ผมเล่นตะกร้อ ผมได้รู้จักคนไทยที่อยู่ที่นี่มากขึ้น จะนัดเจอกันเพื่อเล่นตะกร้อก็ไม่ยาก ผมโพสต์เฟซบุ๊ก นัดรวมกลุ่มกัน เสาร์-อาทิตย์ก็ไปแข่งตะกร้อ แข่งเสร็จหรือซ้อมเสร็จก็ทำอาหารกินกัน ทำอาหารไทยนี่แหละครับ เพราะวัตถุดิบหาไม่ยากครับ

ผมได้คุย ได้รู้จักคนไทยมากขึ้น จากตะกร้อ เป็นเพื่อนเป็นพี่เป็นน้องกันเพราะตะกร้อ มันก็ช่วยผ่อนคลาย ช่วยให้หายเหงาไปเยอะครับ

บางทีผมไลฟ์สดก็มีพี่น้องจากไทยทักมา มาพูดคุยกันเรื่องตะกร้อ ว่าที่ไต้หวันมีตะกร้อด้วยเหรอ บางคนเขาก็ติดตามตะกร้อไต้หวันที่ผมไลฟ์สด ส่งคอมเมนต์มาคุยตลอด ถ้าใครที่ชอบตะกร้อก็อยากให้มาติดตามตะกร้อแรงงานไทยที่ไต้หวันได้ครับ รับรองสนุกไม่ผิดหวังแน่นอน

สำหรับแรงงานพลัดถิ่นที่ไต้หวัน ตะกร้อเป็นส่วนหนึ่งแรงงานที่เล่นตะกร้อ ทุกวันนี้ตะกร้อมันเป็นเหมือนชีวิตของผม เป็นความสนุก 

บางครั้งไปแข่งก็ได้เงินมา ทำให้ได้เจอคนไทยที่มาอยู่ที่ไต้หวันเหมือนกัน ได้รู้จักกันเป็นสังคมขึ้นมาใหม่ ผมมีความสุขที่ได้เล่นตะกร้อ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook